รถยนต์พระที่นั่ง

ตลอดเวลากว่า ๖๐ ปีที่ผ่านมา ชาวไทยทุกคนต่างล้วนซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยทั่วกันว่า พระองค์ท่านทรงห่วงใยไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ และมักจะเสด็จออกเยี่ยมเยียนราษฎรตามถิ่นทุรกันดารอยู่เสมอมิได้ขาด...
 
ในการเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ต่างๆ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนใหญ่แล้วพระองค์ก็ล้วนเป็นที่คุ้นตาของพวกพสกนิกรชาวไทยโดยทั่วไป
 
ด้วยเหตุนี้ ราชพาหนะหรือรถยนต์พระที่นั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเป็นสิ่งที่เราท่านทั้งหลายต่างให้ความสำคัญ อีกทั้งยังอยากมีโอกาสได้เข้าไปชื่นชมโดยใกล้ชิดเพื่อเป็นบุญตาสักครั้งสักคราหนึ่ง
 
ด้วยเหตุนี้ จึงขอนำคุณผู้อ่านไปชื่นชมราชพาหนะหรือรถยนต์หลวง ซึ่งครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เคยทรงเสด็จบุกป่าฝ่าดงไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อเยี่ยมเยียนราษฎร ไม่ว่าจุดหมายปลายทางที่จะทรงเสด็จพระราชดำเนินไปนั้น จะห่างไกลสักเพียงใดก็ตาม
 
สถานที่รวบรวมราชพาหนะหรือรถยนต์หลวงแห่งนี้เป็นสถานที่เก็บรักษารถยนต์หลวงที่ปลดระวางแล้วและได้นำมาจอดแสดงไว้ให้ประชาชนที่สนใจมีโอกาสได้ไปชื่นชม โดยอาคารที่ใช้ในการเก็บดังกล่าวอยู่ในส่วนหนึ่งของพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม
 
อาคารอันเป็นสถานที่เก็บรักษารถยนต์พระที่นั่ง หรือราชพาหนะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แห่งนี้ เป็นอาคารขนาดไม่ใหญ่โตมากนัก โดยได้ถูกจัดให้เป็นที่เก็บรวบรวมรถยนต์พระที่นั่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เคยทรงเสด็จไปตามท้องถิ่นกันดารห่างไกลความเจริญมาแล้วทั่วประเทศ
 
รถยนต์พระที่นั่งซึ่งปลดระวางแล้วและถูกนำมาเก็บไว้ในอาคารดังกล่าวนี้ จะมีอยู่เพียง ๒ ยี่ห้อ คือ แลนด์โรเวอร์ และเชฟโรเล็ต ซึ่งมีลักษณะเหมาะแก่การเดินทางในเส้นทางวิบาก ที่ต้องขึ้นเขาลงห้วยอยู่ตลอดเวลา
 
 


รถพระที่นั่ง Land Rover


รถยนต์พระที่นั่งคันแรก
ของประเทศไทย พ.ศ. ๒๔๔๗
 
รถยนต์พระที่นั่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยทรงเสด็จไปยังที่ต่างๆ เหล่านี้ เมื่อปลดระวางหรือหมดอายุการใช้งานแล้ว ก็จะถูกนำมาจอดเก็บไว้ ณ ที่แห่งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีความสนใจมีโอกาสมาชมและสัมผัสอย่างใกล้ชิด หลังจากเคยเห็นคุ้นตาตามสื่อต่างๆ มาเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว
 
รถยนต์ ถือเป็นเทคโนโลยีของศตวรรษที่ ๒๐ เข้ามาถึงประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อไรนั้น ยังไม่ทราบแน่ชัด เข้าใจว่าคนที่สั่งรถยนต์เข้ามาใช้ในประเทศไทยคนแรกเป็นชาวต่างชาติ ไม่ทราบว่าเป็นยี่ห้อใด
 
มีรายละเอียดบางประการ อธิบายไว้ในสาส์นสมเด็จ อันเป็นลายพระหัตถ์โต้ตอบของพระบรมศานุวงศ์สองพระองค์คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ องค์สถาปนิกผู้รังสรรค์สร้างวัดเบญจมบพิตร กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย
 
โดยลายพระหัตถ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กราบทูลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพว่า รถยนต์คันแรกในประเทศไทยรูปร่างคล้ายรถบดถนน ล้อยางตัน มีหลังคาเป็นปะรำ มีที่นั่งสองแถว ใช้น้ำมันปิโตรเลียม ไฟหน้าลักษณะคล้ายเตาฟู่ เช่นเดียวกับรถยุคแรกๆ
 
ส่วนใหญ่เครื่องยนต์มีกำลังเพียงพอสำหรับวิ่งบนที่ราบ แต่ไม่เพียงพอที่จะขึ้นสะพานได้ ข้อด้อยดังกล่าวจึงทำให้การใช้งานมีขีดจำกัด เนื่องจากบางกอกสมัยนั้นใช้การขนส่งทางเรือเป็นหลัก สะพานข้ามคลองจึงต้องยกสูงเพื่อให้เรือลอดได้ แต่กลับเป็นปัญหาสำคัญในการใช้รถยนต์ หรือยวดยานที่มีล้อ
 
หลังจากนำรถยนต์เข้ามาในเมืองไทยได้ไม่นาน ชาวต่างชาติผู้นั้นก็ขายต่อให้แก่ จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ซึ่งสมควรได้รับการยกย่องว่าเป็นคนไทยคนแรกที่ก่อกำเนิดยุครถยนต์ในประเทศไทย
 
เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีเป็นคนหัวสมัยใหม่ นิยมชมชอบในเรื่องเครื่องยนต์กลไก ทั้งใฝ่รู้ในสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ และพอใจที่จะเป็นเจ้าของเครื่องยนต์กลไกแปลกใหม่ ในทันทีที่มีการจำหน่าย
 
ในลายพระหัตถ์ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเล่าว่า ในตอนแรกที่ซื้อรถคันดังกล่าวมา เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรีไม่สามารถขับได้ เพราะเกียร์แข็ง เข้ายาก ต้องให้น้องชาย คือ พระยาอนุทูตวาที (เข็ม แสงชูโต) แก้ไขให้
 
พระยาอนุทูตวาที มีอายุอยู่ระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๔๑๓ –๒๔๘๒ และมีหัวในเรื่องเครื่องยนต์กลไก และเป็นคนไทยคนแรกที่สามารถพันทุ่นมอเตอร์ได้ เป็นคนไทยคนแรกที่ไปรับจ้างทำงานในประเทศอังกฤษ จึงเป็นคนไทยคนแรกที่สามารถขับรถยนต์ในประเทศไทยด้วย
 
พระยาอนุทูตวาที สามารถเรียนรู้การขับรถยนต์คันดังกล่าวได้อย่างรวดเร็ว และยังได้ถ่ายทอดให้กับผู้อื่นด้วยรถยนต์ของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี วิ่งใช้งานตามถนนในเมืองบางกอกอยู่นานหลายปี
 
ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงจัดพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครขึ้น และทรงขอให้นำรถยนต์คันดังกล่าวมาตั้งแสดงด้วย จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ก็ยอมอนุญาตด้วยความเต็มใจ โดยกราบทูลว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงนำรถไปซ่อมที่กองลหุโทษ
 
กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงทราบต่อมาหลังว่า พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์  ได้สิ้นพระชนม์เสียก่อนที่จะซ่อมเสร็จ และรถก็ทอดทิ้งไว้โดยไม่มีใครดูแล จนเมื่อได้เสด็จไปที่กองลหุโทษ และถามหารถคันดังกล่าว พนักงานก็ทำท่าพิศวง และยิ้มอย่างสลดใจ แล้วนำเสด็จไปยังมุมห้อง
 
ณ ที่นั้น คือกองโลหะที่หลงเหลือจากน้ำมือพ่อค้าเศษเหล็ก และนั่นคือจุดจบของรถยนต์คันแรกในประเทศไทย
 
ในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ มีรถยนต์ ๓ คัน เข้ามาวิ่งตามถนนในเมืองบางกอก ไม่มีการบันทึกไว้ว่าเป็นยี่ห้ออะไร ใครเป็นเจ้าของ
 
ช่วงนั้นรัฐบาลเริ่มเล็งเห็นในบทบาท และความสำคัญของรถยนต์แล้วโดยได้แจ้งความโฆษณาในหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ในปีเดียวกัน ระบุว่าโรงกษาปณ์หลวงมีความต้องการซื้อรถยนต์บรรทุกแวน เพื่อใช้ขนส่งทองแท่ง เงินแท่ง และเหรียญกษาปณ์หนักหนึ่งตัน ต้องวิ่งได้เร็วไม่น้อยกว่า ๑๐ ไมล์ ต่อชั่วโมง พร้อมด้วยหลังคาปะรำสำหรับคนขับ และพนักงานประจำรถ
 
ในปีเดียวกันอีก พระเจ้าลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทรงพระประชวร ต้องเสด็จไปรักษาพระองค์ที่ปารีส ประเทศฝรั่งเศส
จอมพลเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี
 (เจิม แสงชูโต)
 
ขณะที่ประทับอยู่ที่นั่น ได้ทรงสั่งซื้อรถยนต์คันหนึ่ง เป็นรถเดมเลอร์-เบนซ์ ซึ่งถือว่าเป็นรถคันดังกล่าวจาก มองซิเออร์ เอมีเลอ เจลลีเนค ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อนั้น ในประเทศฝรั่งเศส 
 
มองซิเออร์ เอมีเลอ เจลลีเนค มีลูกสาวคนหนึ่ง ชื่อ เมอร์เซเดส ต่อมาภายหลังชื่อนี้ถูกนำไปใช้แทนชื่อ เดมเลอร์ กลายเป็น เมอร์เซเดสเบนซ์ ที่เลื่องลือไปทั่วโลก
 
เมื่อเสด็จกลับประเทศไทยในปลายปีนั้น พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ได้น้อมเกล้าถวายรถคันดังกล่าวแก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นับได้ว่าเป็นรถยนต์พระที่นั่งคันแรกในประวัติศาสตร์ไทย โดยพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงรับหน้าที่เป็นสารถีด้วยพระองค์เอง
 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดปรานรถยนต์พระที่นั่งดังกล่าว เพราะทรงเห็นว่า สะดวกสบาย และเดินทางได้รวดเร็วกว่ารถม้าพระที่นั่ง ในยามว่างจากพระราชกรณียกิจ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ นำเสด็จพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ไปตามที่ต่างๆ
 
ต่อมาทรงเห็นว่า รถยนต์พระที่นั่งคันเดียวไม่พอที่จะใช้งานตามพระราชประสงค์ จึงตัดสินพระทัยที่จะซื้ออีกคันหนึ่ง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ทำหน้าที่นี้เช่นเดียวกับซื้อรถยนต์คันแรก
 
พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ทรงเลือกรถเมอร์เซเดส-เบนซ์อีกคันหนึ่ง โดยนำเข้าจากประเทศเยอรมนี รุ่น ปี พ.ศ. ๒๔๔๘ เครื่องยนต์ ๔ สูบ ๒๘ แรงม้า ความเร็ว ๗๓ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้รับพระราชทานนามว่า “แก้งจักรพรรดิ” นับว่าเร็วที่สุดในยุคนั้น
 
นี่คือเรื่องราวของรถยนต์พระที่นั่ง นับตั้งแต่ยุคแรกตราบกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน โดยรถยนต์พระนั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ยังคงเก็บรักษาอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์รถยนต์หลวง ภายในพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม