-
Category: เกี่ยวกับหอจดหมายเหตุ
-
Published on Friday, 11 September 2015 14:57
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 14629
โดย... คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธ์ุ
ผมมีความตั้งใจที่จะบันทึกเหตุการณ์และเรื่องราวบางเรื่องเกี่ยวกับการจัดทำห้องเก็บเอกสารนี้ โดยมี จุดมุ่งหมายที่จะให้ทั้งตัวผมเองและผู้อ่านได้รับรู้ถึงความเป็นไปตั้งแต่ต้น ว่าการจัดทำนี้เริ่มต้นอย่างไร และเกิดอะไรขึ้นบ้าง พร้อมทั้งตั้งใจว่าจะใช้สมุดนี้เพื่อบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไป เพื่อว่าอาจจะมีประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการต่อไปในอนาคต
เมื่อครั้งที่ผมเดินทางจากกรุงโรม ไปที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในระหว่างเดือนธันวาคม ค.ศ.1988 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณพ่อลังฟังต์ ซึ่งเป็น Archivist ของคณะสงฆ์ M.E.P. คุณพ่อเองเคยทำงานอยู่ที่เมืองไทยนานกว่า 30 ปี การพูดคุยนี้จึงน่าสนใจมากเพราะเราใช้ภาษาไทย และเนื่องจากผมจะค้นคว้าเพื่อเขียนงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์ การพูดคุยนี้ ทำให้ผมมีแนวความคิดและความสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับชีวิตและงานแพร่ธรรมของ Vicar Apostolique ผู้หนึ่งแห่งสยาม คือ Monscigneur Jean Louis Vey ผู้ซึ่งเป็นสังฆราช In Partibus Infidelium แห่ง Geraja และปกครองมิสซังสยาม ตั้งแต่ปี ค.ศ.1875-1909 ดังนั้นหลังจากผมได้ศึกษาจาก หอจดหมายเหตุ ของคณะสงฆ์ M.E.P. ระยะหนึ่งแล้ว ผมได้ทำโครงเรื่องวิทยานิพนธ์ ส่งให้อาจารย์ที่ปรึกษา ในการทำโครงเรื่องนี้ ผมจำเป็นต้องระบุแหล่งข้อมูลที่จะไปค้นคว้าศึกษาต่อไปด้วย แหล่งข้อมูลแหล่งหนึ่งทั้ง คุณพ่อลังฟังต์ และคุณพ่อโรแบต์ โกสเต (คุณพ่อองค์นี้กำลังเขียนประวัติพระศาสนจักรในเมืองไทยและทำงานอยู่ในไทยนานกว่า 30 ปี เช่นกัน) ได้แนะนำผมก็คือ ที่สำนักพระสังฆราชแห่งกรุงเทพฯ นี้เอง ผมจึงตัดสินใจเดินทางมาจากกรุงโรมกลับมากรุงเทพฯเพื่อค้นคว้า โดยตั้งใจจะอยู่ค้นคว้าอีก 2 เดือน เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ วันที่ 18 มกราคม ค.ศ.1989
ผมเรียนถามเรื่องเอกสารเก่าๆ ของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ จากพระคาร์ดินัลมีชัย กิจบุญชู ตั้งแต่วันแรกที่พบกับพระคาร์ดินัล พระคาร์ดินัลก็ได้ชี้แจงว่าเอกสารนั้นคงมีอยู่ 2 แห่ง ที่น่าจะเป็นได้ ก็คือ 1. ที่ตึกพระสังฆราช 2. ที่ตึกโรงพิมพ์อัสสัมชัญ
เพราะตึกนั้นครั้งหนึ่งเป็นตึกโปร์กือว์ (Procure) ผมจึงได้ไปขอดูทั้ง 2 แห่งดังกล่าว และพบว่ามีเอกสารจำนวนมากมายที่ผมต้องการอยู่ที่ตึกโรงพิมพ์อัสสัมชัญ ชั้นที่ 2 ผมจึงนำเรื่องนี้มาปรึกษากับคุณพ่อวรยุทธ กิจบำรุง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการและเป็นเจ้าของบ้านหลังนี้ด้วย คุณพ่อวรยุทธเองก็เป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ เวลาเดียวกันก็เป็นผู้มองเห็นคุณค่าของเอกสาร มีความปรารถนาที่จะจัดทำมานานแล้ว แต่ด้วยเหตุผลหลายประการไม่สามารถจัดทำได้ เรา 2 คนจึงปรึกษากัน และตกลงว่า ในระยะเวลาที่ผมอยู่ที่กรุงเทพฯ เราจะร่วมกันจัดทำขึ้นมา หรืออย่างน้อยได้เริ่มลงมือทำก่อนอื่นผมกับ คุณพ่อวรยุทธ ก็ได้ขึ้นมาดูเอกสารและหนังสือเก่าๆ ที่มีอยู่ด้วยกัน ผมพบว่ามีเอกสารมากมายที่บรรดา พระสังฆราช อุปสังฆราช หรือเลขาฯ พระสังฆราช ได้เก็บเอาไว้ ทั้งที่อยู่ในแฟ้มอย่างดี อยู่ในกล่องต่างๆ ที่แยกหมวดหมู่ไว้อย่างมีระเบียบรวมทั้งที่กองๆ กันไว้อยู่ในตู้ และในกล่องต่างๆ แต่เนื่องจากมิได้ถูกเก็บรักษาเพียงแต่ถูกทิ้งๆ ไว้อย่างนั้น
รอการจัดการเอกสารมากมายจึงเสียหายไปมาก เมื่อเราได้พิจารณาสถานที่แล้วเราก็พบว่าสถานที่นี้ คือ ชั้นที่ 2 ของโรงพิมพ์อัสสัมชัญ อัสสัมชัญ มีความสวยงามมาก ทั้งศิลปะ ในการก่อสร้าง รวมทั้งตู้ต่างๆ ที่ใช้และมีอยู่บนนี้ ก็เข้ากับลักษณะของห้องได้เป็นอย่างดี ประกอบกับมีห้องใหญ่ๆ อยู่หลายห้องเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า หากบนนี้เราจะสามารถ จัดห้องๆ หนึ่งเป็นห้องเก็บเอกสาร อีกห้องหนึ่งเป็นห้องสมุด โดยมีห้องโถงกลางนั้นจัดเป็นห้องอ่านหนังสือได้แล้วก็จะเป็นการเหมาะสมที่สุด คุณพ่อวรยุทธเห็นด้วยทันที และพร้อมที่สนับสนุนเต็มที่เพื่อให้โครงการที่พูดคุยกันนี้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา แต่การเริ่มต้นงานนี้มิใช่ง่าย
เพราะเมื่อเรามองดูโดยรอบแล้วปรากฏว่า เอกสารทั้งหมดจะต้องมีการจัดแยกออกเป็นหมวดหมู่หรือแบ่งเป็นประเภททั้งหมด หนังสือต่างๆที่มีกันมากมายจำเป็นจะต้องมีตู้เพิ่มเติม การจัดแบ่งเป็นประเภทหนังสือต่างๆ ก็มิใช่ง่ายเช่นเดียวกัน ผมกับคุณพ่อวรยุทธได้คุยกันอยู่หลายวันจึงตกลงกันว่า หากจะทำก็จำเป็นจะต้องลงทุน ประการแรก ก็คือ ต้องหาผู้ช่วย และเพื่อให้งานนี้เริ่มต้นได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น จึงตกลงที่จะพยายามหาผู้ช่วยมาช่วยกันทำงานนี้ สัก 4 คน คุณพ่อวรยุทธ ได้ติดต่อไปยังกลุ่มเยาวชนที่รู้จักที่วัดท่าจีน ได้มาเพียง 1 คน คือ คุณอรสา ชาวจีน ส่วนผมนั้นได้ปรึกษาเรื่องนี้กับคุณพ่อสุรสิทธิ์ ชุ่มศรีพันธุ์ เจ้าอาวาสวัดบางบัวทอง ซึ่งก็สนับสนุนเรื่องนี้เช่นกัน ได้ส่งคุณครูไชยพร บุญลาภ และคุณภิญโญ อภิญญาพิพัฒน์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง คนหนึ่งให้มาช่วยงานนี้ ทั้งหมดนี้ได้ กำหนดให้ วันที่ 23 มกราคม ค.ศ.1989 เป็นวันเริ่มต้นงานนี้
วันจันทร์ที่ 23 มกราคม ค.ศ.1989 ผมและผู้ช่วยทั้ง 3 คน รวมถึงผู้ที่คุณพ่อวรยุทธ ส่งมาจากสื่อมวลชน คือ คุณแอ้ว ได้เริ่มต้นทำงานกัน ถ้าหากจะนับว่าเป็นวันเริ่มต้นห้องเก็บเอกสารของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ก็คงจะไม่ผิดอะไร เราทั้งหมดเริ่มงานกันด้วยความสับสนพอสมควร เรายึดห้องโถงกลางเป็นที่ทำงาน จัดสถานที่กันเล็กน้อย แล้วก็ตกลงกันว่า ครูไชยพร และคุณภิญโญ ให้ขนหนังสือทั้งหมดออกมาไว้ที่ห้องโถงกลาง โดยพยายามแยกออกมาเป็นหมวดหมู่หนังสือประเภทต่างๆ เท่าที่จะทำได้โดยให้แยกหนังสือที่เป็นชุดๆ ไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ก็มีหนังสือด้านประวัติศาสตร์ เทวศาสตร์ ปรัชญา ความรู้ทั่วไป พิธีกรรม คำสอน ส่วนคุณอรสา และคุณแอ้ และผมเอง พยายามแยกแยะเอกสารต่างๆ ให้เข้าแฟ้มแบบคร่าวๆ ไปก่อน ก็ต้อง มีการกำจัดฝุ่น และกำจัดมอดไปด้วยเป็นธรรมดา วันต่อมาคุณแอ้ว ไม่สามารถมาช่วยได้อีกแต่ก็มีคุณกิ่งดาว ชาวแพรกน้อย นักศึกษารามคำ แหงจากวัดท่าจีนมาช่วยงานแทน เป็นอันว่าบุคลากรที่เราต้องการ 4 คน ก็ครบถ้วน งานก็เริ่มต้นแล้ว
จากนั้นตู้ต่างๆ ก็ได้รับการชำระล้าง หนังสือต่างๆ ก็ถูกนำมาแยกเป็นหมวดหมู่ที่ห้องโถงกลาง ทำให้ห้องดูเล็กไปถนัดตา ในท่ามกลางกองหนังสือต่างๆ เหล่านั้น ผมจึงตัดสินใจย้ายห้องจัดเอกสารมาจัดอยู่ที่ห้องเก็บเอกสารปัจจุบัน และก็ทำที่ห้องนี้เรื่อยมาจนถึงตอนนี้ ในระหว่างนี้อุปกรณ์ต่างๆ ก็พยายามจัดหามาเท่าที่ได้ เช่น แฟ้มใหม่ๆ เครื่องเขียนด้วย งานแบบนี้จะให้เสร็จแบบทันตาเห็นนั้นคงเป็นไปไม่ได้แน่นอนผมกับคุณพ่อวรยุทธได้ช่วยกันออกแบบเครื่องหมายเล็กๆ อันหนึ่งเพื่อประทับไว้บนเอกสารทุกแผ่น เพื่อให้เป็นเอกสารที่สามารถใช้อ้างอิงได้ และหลังจากที่ประทับเครื่องหมายนี้แล้ว ก็จะทำการลงเลขที่ในภายหลัง งานสำคัญและค่อนข้างจะยาก ก็คือ
งานแยกประเภทเอกสาร เพราะว่าการจัดแยกนี้ต้องจัดแยกให้ง่ายที่สุดสำหรับการค้นคว้า หมวดหมู่ที่จะแยกก็ต้องแยกให้สอดคล้องกับระบบการบริหารในแต่ละสมัยนั้นด้วย เอกสารที่พบก็มีอยู่หลายแบบ อาทิเช่น จดหมายติดต่อกับราชการไทย จดหมายจากฝรั่งเศส กรุงโรม รวมทั้งจากพวกมิชชันนารีเอง จากบรรดาสัตบุรุษที่ต่างๆ จากองค์การต่างประเทศที่ให้ความช่วยเหลืองานมิชชันนารีและยังมีเรื่องเกี่ยวกับที่ดิน เรื่องราวของคณะนักบวชต่างๆ ใน แต่ละสมัยของ Vicar Aporlolique จัดอยู่ในช่วงสมัยแตกต่างกันไป ทำให้ผมเองก็เริ่มสับสนว่าจะคัดแยกเอกสารแบบใดจึงจะง่ายที่สุดสำหรับการค้นคว้า เมื่อผมพิจารณาดูว่า
1. เวลาที่ผมมีอยู่ในกรุงเทพฯ นี้มีน้อยมาก ไม่สามารถทำทุกอย่างให้เสร็จลงได้อย่างแน่นอน
2. ผมจำเป็นต้องมีเวลาเพื่อการศึกษาค้นคว้าด้วย
การจัดแยกเอกสารแบบที่ง่าย และเร็วที่สุดรวมทั้งมีประโยชน์ในการพิจารณาค้นคว้าของผมด้วย ก็คือ การจัดแยกเอกสารแบ่งตามยุคสมัย Vicar Aporlolique ประกอบกับเอกสารที่มีนั้นโดยส่วนใหญ่จะเริ่มต้นตั้งแต่สมัย พระสังฆราชปัลเลอกัว จนถึงปัจจุบัน จึงตัดสินใจว่าให้แยกเอกสารออกมาให้เข้ากับยุคสมัย แต่เอกสารที่จะต้องจัดให้เข้าที่เรียบร้อยนั้น ก่อนอื่นทั้งหมดที่เร่งรีบสำหรับผมก็คือ เอกสารสมัยพระสังฆราช Jean Louis Vey นั่นเอง โดยมีความคิดว่า หากสามารถทำเสร็จได้ ผมจะมีเวลาอ่านหนังสือและศึกษาด้วย ในขณะเดียวกันผู้ช่วยทั้งหมดก็จะสามารถยึดถือเป็นแบบอย่างไปพลางๆ ก่อนในขณะที่ผมจะต้องกลับไปเรียนต่อที่กรุงโรมไม่สามารถให้คำปรึกษาได้อีกต่อไปด้วย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พวกเราต่างก็ช่วยกันจัดเรียงเอกสารที่เกี่ยวกับพระสังฆราช Vey และเก็บเอกสารอื่นๆ เอาไว้ต่างหากก่อน
ในระหว่างนั้นครูไชยพรก็ไม่สามารถช่วยงานได้อีกต่อไปแต่คุณพ่อสุรสิทธิ์ ก็ได้ส่งบราเดอร์ สุนัย สุขชัย มาช่วยงานแทน แต่ถึงกระนั้นบราเดอร์สุนัย ก็สามารถมาช่วยงานได้เพียง 1 อาทิตย์เท่านั้น ในขณะที่คุณอรสา และคุณกิ่งดาว พยายามจัดเอกสาร คุณภิญโญก็ช่วยในการจัดหาหนังสือ และดูแลตู้ต่างๆ การค้นหนังสือเก่าๆ ออกมาเรียงใหม่ ทุกคนก็พบถึงปัญหาเช่นเดียวกัน ปัญหานั้นก็คือ ตัวมอดซึ่งทำลายกระดาษ บางครั้งก็พบจำนวนมากๆ ด้วยกัน แต่ก็มิใช่พบแค่ตัวมอดก็พบสิ่งที่มีค่ามากกว่าเช่นกัน เช่น ได้พบแหวนทองคำ 1 วง พร้อมกับกำไลฝังพลอยอีก 1 วง ถูกกระดาษหนังสือพิมพ์เก่าๆ ห่อเอาไว้โดยไม่อาจจะทราบที่มาได้เลยได้พบแบงค์เงินสมัย รัชกาลที่ 8 อีก 40 บาท การค้นพบเหล่านี้ก็เป็นความสนุกและบรรเทาใจ จนทำให้การทำงานเริ่มสนุกขึ้นแต่ผมก็จะไม่ขอเล่าว่าได้พบอะไรบ้าง เพราะดูว่าจะไม่จำเป็นเท่าที่ควร ในระหว่างการทำงานนี้ เราก็ได้รับแจ้งว่าโอกาสฉลองครบ 84 ปีของโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ในวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 1989 นี้ องค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จมาที่โรงเรียน และจะเข้าชมโรงพิมพ์อัสสัมชัญ คุณพ่อวรยุทธมีความปรารถนา ที่จะจัดนิทรรศการหนังสือเก่าที่จัดพิมพ์ที่นี่ขึ้น ก็ดูว่าจะเป็นการบังเอิญเช่นกัน เพราะเราได้พบบัญชีรายชื่อหนังสือต่างๆ ที่บรรดามิชชันนารีได้เรียบเรียงขึ้นตั้งแต่สมัย พระสังฆราชลาโน และพิมพ์ที่อัสสัมชัญนี้ เราจึงได้เริ่มต้นค้นหาหนังสือตามรายชื่อเหล่านั้นซึ่งมีอยู่ประมาณ 50 กว่าเล่ม การค้นหานี้ใช้เวลาอยู่หลายวัน เมื่อพบก็จะนำเข้าเก็บไว้ในกล่องพิเศษต่างหาก น่าเสียดายที่หาเท่าไหร่ก็ไม่ตรงตามรายชื่อนั้นเลยเราก็จำเป็นต้องเอาเท่าที่ได้ นอกจากนี้เรายังพยายามค้นหาหนังสืออื่นๆ ที่พิมพ์ที่โรงพิมพ์นี้ คัดแยกออกมาต่างหากเพื่อจะได้ดูวิวัฒนาการของการพิมพ์ในแต่ละยุคสมัย จนมาถึงเวลานี้เราก็หยุดงานค้นหาแล้ว แต่ก็คงจะไม่เสียหายอะไรเพราะต่อมาเราทราบว่า สมเด็จพระเทพฯ จะไม่แวะเยี่ยมโรงพิมพ์แล้วคุณพ่อวรยุทธก็ไม่ท้อถอยก็บอกว่าจะหาทางโชว์หนังสือเหล่านี้ให้จงได้ เรื่องนี้ก็แล้วแต่คุณพ่อวรยุทธ
เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อเราเริ่มงานนี้ได้ไม่นาน คุณพ่อลาร์เก ได้มาที่นี่และขึ้นมาเยี่ยมงานที่กำลังทำกันคุณพ่อลาร์เก สนใจงานที่เรากำลังทำอย่างมากได้ถามถึงจดหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งพระเทววงศ์ฯ ซึ่งตอนนั้นได้เป็นเจ้ากระทรวงการต่างประเทศ เขียนถึงคุณพ่อ Colombet แสดงความเสียใจถึงการมรณภาพของพระสังฆราช Vey ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1909 สำเนาจดหมายนี้พบในหนังสือประวัติศาสตร์พระศาสนจักรสากลและในประเทศไทย และพบอีกในจดหมายเวียนที่พ่อ Colombet เขียนถึงสัตบุรุษคริสตังค์เพื่อแจ้งเกี่ยวกับมรณภาพของพระสังฆราช Vey แต่ว่าพวกเราหาจดหมายต้นฉบับเท่าไรก็หาไม่พบ แต่อย่างน้อยเราก็ยังพบสำเนา ซึ่งก็นับว่าดีแล้ว
นอกจากนี้ คุณพ่อลาร์เก ก็ยังให้ความสนใจต่อเอกสารต่างๆ ที่พวกเรากำลังจัดเตรียมอยู่มาก พร้อมทั้งขอเอกสารที่เห็นว่าสำคัญเพื่อให้เราจัดส่งไปให้คุณพ่อแปลในโอกาสต่อไป นอกจากคุณพ่อลาร์เก ก็ยังมีคุณพ่อดาเนียล ขึ้นมาดูบัลลังก์ที่ตั้งอยู่ในห้อง เพราะแม้คุณพ่อดาเนียลจะอยู่ที่นี่มาก่อน แต่ก็ไม่เคยเห็นเลย พระคาร์ดินัลก็ถือโอกาสมาเยี่ยมงานด้วยเช่นเดียวกัน รวมทั้งมีพระสงฆ์บางองค์ที่ให้ความสนใจ เช่น คุณพ่อประยุทธ ชลหาญ, คุณพ่อวุฒิเลิศ, คุณพ่อสุรสิทธ์ และคุณพ่อชาญชัย วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ.1989 ทางโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์จัดให้มีงานฉลองครบรอบ 84 ปีโรงเรียน จัดงานใหญ่มาก
เชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี มาเป็นประธาน พิธีเริ่มด้วยการรับเสด็จ หน้าวัด และวงดุริยางค์ของโรงเรียน ประกอบด้วยนักเรียนจำนวนมาก เวลาบ่าย 16.30 น. จากนั้นก็มีการเข้าเฝ้าภายในตัวโบสถ์อัสสัมชัญ ผู้รับเสด็จประกอบด้วยพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู, มาแมร์ มีเรียม, มาแมร์หลุยส์, อธิการฟรังซัวส์ ชีรานนท์ และผู้ใหญ่จำนวนหนึ่ง ภายในตัวโบสถ์ได้รับการตกแต่งอย่างสวยงามเพื่อให้สมพระเกียรติ เริ่มพิธี พระคาร์ดินัล มีชัย กล่าวรายงานเกี่ยวกับการก่อสร้างโบสถ์อัสสัมชัญถวายจบแล้ว มาแมร์มีเรียม เจ้าคณะแขวง ได้อ่านสุนทรพจน์ถวาย สมเด็จพระเทพฯ กล่าวตอบ แล้วอธิการ ฟรังซัว จิรานนท์ และครูอาวุโสขึ้นรับเหรียญจากสมเด็จพระเทพฯ จากนั้นเชิญผู้ที่ต้องการถวายเงินตามพระราชอัธยาศัย ได้เงินถวายทั้งสิ้น 1 ล้านแปดแสนกว่าบาท จากนั้นเชิญผู้ที่มีพระคุณต่อโรงเรียนเข้ารับโล่จากสมเด็จพระเทพฯ จบพิธีแล้วก็ออกจากโบสถ์มารับการแสดงฟ้อนรำของนักเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ แล้วจึงเสด็จชมนิทรรศการต่างๆ ที่จัดไว้ ในการจัดนิทรรศการนี้ทางโรงพิมพ์อัสสัมชัญ ในโอกาสครบรอบ 200 ปีโรงพิมพ์ ได้ไปจัดนิทรรศการหนังสือเก่าไว้ด้วย โดยให้พวกเราช่วยกันจัดในการจัดครั้งนี้เราได้นำหนังสือที่แต่งโดยมิชชันนารีฝรั่งเศส ตั้งแต่เล่มแรกที่มีมาแสดงโดยถือตามบัญชีหนังสือที่แต่ง พบอยู่ในแฟ้มเอกสารโรงพิมพ์ นอกจากนี้เรายังได้นำรูปภาพของพระสังฆราชสำคัญๆ บางองค์มาติดโชว์ด้วย รวมทั้งจดหมายลายพระหัตถ์ของรัชกาลที่ 5
สมเด็จพระเทพฯ ได้ให้ความสนใจพอสมควร พระองค์ใช้เวลาอยู่ที่นิทรรศการนี้ประมาณ 10 นาที ทางโรงพิมพ์ยังได้ยกเอาเครื่องตัดกระดาษ และเครื่องมือการพิมพ์เก่าๆ มาแสดงด้วย แผนกทำปกหนังสือมาสาธิตการทำปกหนังสือถวาย เมื่อสมเด็จพระเทพฯ เสด็จมาถึงนั้น ทางโรงพิมพ์ได้ถวายหนังสือพจนานุกรม ลาติน ฝรั่งเศส ไทย ที่ทำโดย พระสังฆราช กืออาซ แห่งมิสซังลาว ซึ่งปรับปรุงจากหนังสือเล่มเดียวกันของพระสังฆราช Pallegoix และของพระสังฆราช Vey และยังได้ถวายหนังสือรวมเล่มอุดสารด้วย หลังจากที่สมเด็จพระเทพฯ เสด็จเยี่ยมชมนิทรรศการต่างๆ เสร็จแล้วก็เสด็จกลับ เวลาประมาณ 18.00 น. ผมได้คิดถึงหนังสือต่างๆ ที่ครั้งหนึ่งพระคาร์ดินัล มีชัย ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งชื่อว่าคณะกรรมการชำระประวัติศาสตร์ในความอุปถัมภ์ของคณะเซอร์ร่า แห่งประเทศไทย โดยมีสำนักงานอยู่ที่ ตึกปิยะการุณย์ มีคุณพ่อลาร์เก และคุณปอล เซเวียร์ เป็นผู้รับผิดชอบ แต่คณะกรรมการชุดนี้ เสร็จงานไป เรียบร้อยแล้วตั้งแต่หลายปีก่อนนี้ และเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผมได้ไปนำกุญแจตู้เอกสารจาก คุณปอล เซเวียร์ มาเก็บ เอาไว้ที่พระคาร์ดินัล ผมเห็นว่าหนังสือต่างๆ ที่เก็บไว้ที่นั่น เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ด้านประวัติศาสตร์ และควรจะนำมาเก็บรักษาไว้เพื่อใช้ประโยชน์ต่อไป ผมจึงเรียนขออนุญาตจาก พระคาร์ดินัล ซึ่งท่านไม่ ขัดข้องประการใด มอบกุญแจตู้เอกสารให้ ผมเองกับคุณอรสา และคุณกิ่งดาว จึงไปที่ ตึกปิยะการุณย์และเรียนให้อธิการอาเดลา ได้ทราบ
จากนั้นจึงนำหนังสือทั้งหมดมาเก็บไว้ด้วยกัน โดยรวมไว้ในตู้เดียวกันตามที่คุณพ่อวรยุทธได้เสนอแนะมา มิให้ปะปนกับหนังสือที่มีอยู่แล้ว เพราะอาจเกรงว่าจะมีการสับสนเรื่องความเป็นเจ้าของของหนังสือเหล่านี้ในภายหลัง ในวันนี้เองคุณพ่อบรูโน ได้มาเยี่ยมเยียมและขอดูเอกสารต่างๆ ที่เราจัดทำเอาไว้ คุณพ่อได้ให้ความสนใจอย่างมาก และจะมาอีกในโอกาสต่อไป งานคัดแยกเอกสารต่างๆ ตอนนี้ก็กำลังดำเนินต่อไป โดยคุณอรสา และคุณกิ่งดาว ซึ่งมาถึงตอนนี้ทั้ง 2 คน ก็มีความรู้พอสมควรที่จะทำงานด้านนี้แล้ว ขณะนี้กำลังคัดแยกประเภทเอกสารของ พระสังฆราช Perros ซึ่งคาดว่า อีกนานกว่าจะสามารถทำให้เสร็จได้ งานของเราเริ่มต้นขึ้นมาแบบกระทันหัน และผมก็อาจเรียกงานทั้งหมดนี้เป็นเพียงงานชั่วคราวยังไม่สามารถที่จะถือว่าเป็นงาน“หอจดหมายเหตุ” ที่สมบูรณ์ และถูกต้องได้ การแบ่งหมวดหมู่ประเภทเอกสาร ก็ทำไปเท่าที่เห็นว่าเหมาะสม แต่เชื่อว่าจะถูกต้องตามหลักวิชาการ ดังนั้น การทำงานด้านหอจดหมายเหตุต่อๆ ไปก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากต้องมีการลงทุนอีกมาก รวมทั้งต้องใช้วิชาการเข้ามาช่วยอีกหลายด้าน แต่เมื่อเรามาพิจารณาดูเอกสารและหนังสือต่างๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ผมเห็นว่าเป็นเอกสารที่มีคุณค่ามากพอที่จะลงทุน และเปิดกว้างเพื่อการศึกษาค้นคว้าต่อไป น่าเสียดายที่ผมเองก็มิได้ศึกษาด้านนี้โดยตรง ความรู้ด้านนี้เท่าที่ทำอยู่ก็เพียงได้รับมาจากการเห็นจากที่ต่างๆ เท่านั้น บุคคลากรของเราควรได้รับการอบรม และส่งไปศึกษางานด้าน “หอจดหมายเหตุ” บ้าง เช่น จากกรมศิลปากรหอจดหมายเหตุ ของมหาวิทยาลัยพายัพ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การเริ่มต้นก็ดีกว่าการไม่ลงมือทำอะไรเลย ผมจะเดินทางกลับกรุงโรมในวันจันทร์ที่ 13 มีนาคม ค.ศ.1989 ด้วยสายการบินไทย ออกจากดอนเมือง เวลา 23.15 น. เวลานี้จึงไม่ค่อยมีเวลาจะบันทึกอะไรต่อ กลับมาแล้วก็จะเขียนต่อก็แล้วกัน วันพุธที่ 5 กรกฎาคม ค.ศ.1989 เดินทางถึงกรุงเทพฯ ส่วนงานห้องเอกสารนี้ได้เริ่มมาหลายเดือนแล้ว มีความก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ คุณอรสาและคุณกิ่งดาวได้จัดเอกสารสมัยพระสังฆราชแปร์รอสและพระสังฆราช Chorin เสร็จเรียบร้อยแล้ว แม้ว่ายังไม่ได้ลงหมายเลขเพราะจะต้องรอคอย การตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็นับว่าทั้ง 2 คนนี้ ต้องได้ใช้ความพยายามและความอดทนอย่างมาก เพื่อให้งานนี้ได้ดำเนินเรื่อยมาจนถึงตอนนี้ จนทุกวันนี้ผมเองก็ยังไม่ได้เริ่มตรวจสอบเอกสารเลยเพราะมีงานอื่นๆ ที่จะต้องทำต่อไปนี้ ขอรายงานงานที่ได้ทำมาจนถึงวันนี้ ตั้งแต่ผมกลับมาถึงเมืองไทยครั้งนี้
1. การขนเอกสารจากวัดกาลหว่าร์ มาเก็บรักษาไว้ที่ห้องเอกสาร
คุณพ่ออนันต์ เอี่ยมมโน เจ้าอาวาส ได้เปิดตู้เซฟเก่าและพบว่ามีเอกสารจำนวนหนึ่งที่ควรเก็บรักษาไว้อย่างดี จึงได้แจ้งมาให้ผมไปขนมาและจัดเก็บรักษาไว้ที่นี่ ในบรรดาเอกสารเหล่านี้ มีเอกสารเกี่ยวกับที่ดิน และเอกสารอื่นๆ ของวัดกาลหว่าร์ วันที่ 12 กรกฏาคม พวกเราทั้ง 3 คน จึงเดินทางไปที่วัดและขนเอกสารมาเก็บรักษาไว้ที่นี่ โดยทำการคัดแยกเอกสารเก็บไว้มารวมที่เดียวกันไปก่อนในบรรดาเอกสารเหล่านี้มีชิ้นหนึ่งที่เป็นรายงานของพระสังฆราช Perros กล่าวถวาย รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ในโอกาสเสด็จเยี่ยมโบสถ์อัสสัมชัญ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1946
คุณพ่อลาร์เก ได้พยายามขอต้นฉบับนี้ แต่ผมก็สงสัยว่า คุณพ่อลาร์เกต้องการต้นฉบับนี้ไปทำไมในเมื่อในหนังสือ “ DOCUMENT ” เรื่องบุญราศีสองคอนที่คุณพ่อเป็นผู้ทำเอง มีเอกสารชิ้นนี้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตามเราก็ได้จัดการถ่ายสำเนาส่งไปให้คุณพ่อลาร์เกตามที่ต้องการ
2. ทางสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เริ่มให้ความสำคัญต่อการจัดตั้งห้องเก็บเอกสารมากขึ้น
งานนี้อันที่จริง ควรขึ้นตรงต่อเลขาธิการของมิสซัง แต่ปัจจุบันคุณพ่อชาญชัย เป็นผู้ดูแลอยู่และก็ให้การสนับสนุนมากจริงๆ ผมกับคุณพ่อชาญชัยได้คุยกันถึงกฎหมายพระศาสนจักร NO. 486-491 ว่าด้วยเรื่องห้องเก็บเอกสารจนในที่สุด คุณพ่อชาญชัยก็ได้จัดการเสนอเป็นโครงการที่เป็นรูปเป็นร่างขึ้น และโครงการนี้ก็ได้ถูกนำเข้าไปพิจารณาในสภาสงฆ์และที่ปรึกษาแล้ว งานที่ได้ทำต่อมาก็คือ คุณพ่อชาญชัยได้ใช้ห้องทำงานเดิมเป็นของคุณพ่อสวัสดิ์ให้เป็นห้องเก็บเอกสาร ปัจจุบันของมิสซังอีกห้องหนึ่ง พวกเราจึงได้ไปเริ่มทำการคัดแยกเอกสารในห้องนี้อีกเป็นห้องที่ 2 ได้สั่งต่อตู้ใหม่เพื่อเก็บเอกสารให้เป็นระเบียบเรียบร้อย งานที่นี่คงต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควร เอกสารส่วนใหญ่ที่พบในเวลานี้ ก็คือ เอกสารที่เกี่ยวกับที่ดิน การเช่าซื้อ และการขายที่ดิน ค่าเช่าที่ห้องแถว เอกสารที่จะเก็บ ไว้ในห้องนี้ จะเป็นเอกสารที่อยู่ในสมัย พระอัครสังฆราช ยวง นิตโย และพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เวลานี้อยู่ในกล่องและเก็บไว้ชั้นที่ 2 ของสำนักมิสซัง รวมทั้งเอกสารใหม่ๆ ที่จะค่อยๆ ทยอยเข้ามาเก็บรักษาไว้ด้วย งานที่ห้องนี้ได้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 21 กรกฏาคม
ยังมีงานอีกหลายอย่างที่จะต้องทำที่หอประชุมชั้น 2 โรงเรียนอัสสัมชัญคอลเลจ โดยมี ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย เป็นผู้ตัดริบบิ้นเปิดงาน ในงานนี้มีบรรดาทูตานุทูตประเทศต่างๆ แขกผู้มีเกียรตินายถนัด คอมันตร์ พระสงฆ์ นักบวชชาย-หญิงและสัตบุรุษมาร่วมในงานเป็นจำนวนมาก สำหรับนิทรรศการนั้นเป็นภาพทางประวัติศาสตร์ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสยาม(ไทย) และนครรัฐวาติกัน ภาพทั้งหมดนี้ทางห้องเอกสารเป็นผู้จัดทำ และในโอกาสนี้ยังได้ออกหนังสืออีก 1 เล่ม มีชื่อเดียวกับนิทรรศการ เนื้อหาส่วนใหญ่ของหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสยามและวาติกันโดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระสันตะปาปาและพระมหากษัตริย์ไทยโดยมีมิชชันนารีฝรั่งเศสเป็นตัวเชื่อมโยง กล่าวถึงความสัมพันธ์ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชจนถึงรัชกาลปัจจุบัน (รัชกาลที่ 9 แห่งกรุงรัตน โกสินทร์) มีเอกสารอ้างอิงมากมาย เอกสารหลายๆ ฉบับเป็นเอกสารที่ส่วนใหญ่ไม่เคยทราบมาก่อนโดยเฉพาะนักประวัติศาสตร์ไทยเป็นเอกสารที่มีประโยชน์ และมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ไทยมาก วันที่ 29 กรกฎาคม ค.ศ.1995 มีพิธีบูชามิสซาปิดการฉลองความสัมพันธ์ไทย-วาติกัน ที่อาสนวิหารอัสสัมชัญบางรัก กรุงเทพฯ เวลา 17.15 น. สำหรับนิทรรศการ 25 ปี ความสัมพันธ์ไทย-วาติกัน ได้มีโรงเรียนในเครือคาทอลิกและ บางหน่วยงานให้ความสนใจขอยืมไปจัดนิทรรศการให้นักเรียนและผู้ที่สนใจได้ดูกันได้แก่ โรงเรียนวาสุเทวี, โรงเรียนกุหลาบวัฒนา, โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์, มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC), วิทยาลัยแสงธรรมและสื่อมวลชน คาทอลิกแห่งประเทศไทย นำไปจัดที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล สามเสน ในวันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม 1995, วันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1995 สื่อมวลชนคาทอลิก ได้นำนิทรรศการ 25 ปี ไทย-วาติกันไปแสดงให้นักเรียน ครูที่สามเสน พร้อมทั้งหนังสือเก่าๆ ภาพที่จัดขยายเพิ่มสำหรับงานนี้อีก 20 กว่าภาพ เป็นภาพหนังสือเก่าๆ เช่น ดรุณศึกษาวิชาครู, คำสอนฯลฯมีเด็กประมาณ 1,000 คน พระสังฆราชยอด พิมพิสาร เป็นประธาน พิธีเริ่ม เวลา 8.00-12.00น. วันที่ 27 - 30 สิงหาคม ค.ศ.1995 ได้จัดนิทรรศการให้สภาการศึกษาคาทอลิก ที่โรงแรมเอเชีย พัทยา เอานิทรรศการไทย-วาติกันภาพหนังสือเก่า รวมประมาณ 80 ภาพไปแสดง ได้รับความสนใจมาก มีผู้บริหารจาก ทั่วประเทศ 400 กว่าคน ไปร่วม พร้อมทั้งนิทรรศการภาพยนตร์ (100 ปี) ด้วย มีทาง ABAC และ AC บราเดอร์ เลอชัย ติดต่อขอใช้ต่อเดือนมกราคม ค.ศ.1996 ในงานนี้ได้นำวีดีโอ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทย-วาติกัน ความยาว 20 นาทีไปด้วย และในโอกาสฉลอง 75 ปี อาสนวิหารอัสสัมชัญ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม มิสซา เวลา 19.00 น. ได้พิมพ์หนังสืออนุสรณ์ออกมา 1 เล่ม ได้ใช้ภาพต่างๆ ของวัดของห้องเอกสารเป็นจำนวนมาก วันที่ 15 กันยายน ค.ศ.1995 คุณมาริษา เกสรกุล ในนามของวัดซางตา ครู้ส ขอยืมรูปนิทรรศการ เพื่อไปจัดในโอกาสฉลองวัดวันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน ในหัวใจความเป็นมาของชาวโปรตุเกสในสยาม วันที่ 11 กันยายน ค.ศ.1995 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ขอยืมรูปนิทรรศการความสัมพันธ์ 25 ปี ไทย-วาติกัน ไปจัดนิทรรศการระหว่างวันที่ 18 - 22 กันยายน ค.ศ.1995 ที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ในโอกาสที่พระราชินีฟาบีโอลา พระราชินีแห่งเบลเยี่ยมเสด็จเยือน
ปี ค.ศ.1994 งานที่ห้องเอกสารทำส่วนใหญ่เป็นงานที่เกี่ยวกับการดำเนินเรื่องคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เพื่อขอแต่งตั้งเป็นบุญราศี มีหน้าที่ค้นหาเอกสารทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับคุณพ่อ นิโคลาส ซึ่งได้เอกสารจำนวนมาก เช่น ใบศีลล้างบาป, ใบรายงานผลการเรียนและความประพฤติจากบ้านเณร บางนกแขวกและบ้านเณรปีนัง, จดหมายที่เป็นลายมือของคุณพ่อนิโคลาส ซึ่งเขียนถึงพระสังฆราช, บทความต่างๆ ที่เขียนโดยคุณพ่อนิโคลาส, เอกสารที่คนร่วมสมัยเขียนต่างๆ ที่กล่าวถึงด้วย เช่น หนังสือสารสาสน์, LE TRAIT D’ UNION (สงฆ์สัมพันธ์) เป็นต้น,
เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเบียดเบียนศาสนา และเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินจำคุก และชีวิตในคุกจนถึงวันมรณภาพ, เอกสารที่ได้รับจากพยานที่เคยรู้จักคุณพ่อและสนิทสนมกับคุณพ่อและท้ายที่สุดเอกสารที่มาจากผู้สวดภาวนาวอนขอให้คุณพ่อช่วยเหลือและได้คิดว่าเป็นอัศจรรย์ แต่จดหมายเหล่านี้ช่วยเราแน่ใจได้ว่าคริสตชนเคารพและยึดถือคุณพ่อเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์เราทำการศึกษาเอกสารเหล่านี้ที่ค้นได้ และเขียนประวัติของคุณพ่อนิโคลาสแบบสรุป เอกสารที่รวบรวมได้ทั้งหมดนี้ทางคณะกรรมการได้มีมติให้ทำเป็นเล่มเอกสารทั้งหมดมีจำนวน 739 หน้า เราได้ทำทั้งหมด 30 เล่ม ผู้ดำเนินเรื่องทางกรุงโรมได้ขอแปลเอกสารทั้งหมดเป็นภาษายุโรป ได้แก่ ภาษาอังกฤษ, ภาษาฝรั่งเศส, ภาษาลาตินรวมทั้งภาษาอิตาเลียนด้วย เอกสารภาษาง. ฝรั่งเศส เป็นลายมือเขียน ข้าพเจ้าได้พิมพ์และได้ขอให้คุณพ่อลังฟังต์ คณะกรรมการฝ่ายประวัติศาสตร์ช่วยตรวจแก้ เอกสารที่เป็นภาษาวัด ข้าพเจ้าได้พิมพ์เป็นภาษาไทยแล้วหาคนแปลเป็นภาษาอังกฤษ ส่วนเอกสารภาษาลาติน ข้าพเจ้าก็ได้ทำเป็นตัวพิมพ์แล้วขอให้ คุณพ่อปิยะ โรจนะมารีวงศ์ ช่วยตรวจสอบ ประชุมกรรมการบุญราศี กรณีคุณพ่อนิโคลาส ที่ตึกสำนักมิสซังฯ (ห้องประชุมชั้น 2) เตรียมเอกสารและทำสำเนาเอกสารราชการไทย และภาษาวัดที่แปลเป็นภาษาอังกฤษแล้วให้คุณพ่อ Fik Patrick (Postulator) ตรวจเช็ค เพื่อคัดเลือกเฉพาะเอกสารที่มีประโยชน์จริงๆ ส่งเอกสารกรณีคุณพ่อนิโคลาส ฉบับภาษาไทย จำนวน 57 แผ่น ให้คุณชาตรี ถาวร สัตบุรุษวัดราชินีแห่งสันติสุข ซอย 101 แปลเป็นภาษาอังกฤษ คิดค่าแปลแผ่นละ 30 บาท ส่งต้นฉบับหนังสือ ชื่อประวัติคุณพ่อนิโคลาส ให้โรงพิมพ์อัสสัมชัญ ส่งพิมพ์จำนวน 2,000 เล่ม พร้อมใบแสดงความคิดเห็น หนังสือเล่มนี้จะใช้แจกเพื่อเผยแพร่ประวัติคุณพ่อนิโคลาสให้ทุกคนรู้จักมากขึ้น ความคิดเห็นเรื่องบุญราศียังต้องการ Public Opinion อีกมาก ในการดำเนินเรื่องคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เพื่อขอแต่งตั้งเป็นบุญราศีนั้นผู้ที่ได้รับแต่งตั้งเป็น Postulator ที่กรุงโรม คือคุณพ่อFik Patrick ได้แจ้งว่า ความคิดเห็นสาธารณะ (Public Opinion) มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการดำเนินเรื่องนี้ ยังได้รับความคิดเห็นมากเท่าไรยังเป็นผลดีต่อห้องเอกสารฯ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบงานนี้
จึงจัดพิมพ์หนังสือประวัติ คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง ซึ่งมีเนื้อหาละเอียดพอสมควรเพื่อเผยแพร่ให้คนรู้จักท่านมากขึ้น พร้อมทั้งมีแบบสอบถามให้ผู้อ่านแสดงความคิดเห็น ส่งกลับมายังสำนักมิสซังฯ หนังสือนี้พิมพ์ทั้งหมดจำนวน 2,000 เล่ม คุณพ่อวรยุทธ กิจบำรุง ได้นำไปแจกในโอกาสสัมมนาพระสงฆ์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯประจำปี ระหว่างวันที่ 8-12 มกราคม ค.ศ.1996 เพื่อให้พระสงฆ์จากวัดต่างๆ นำไปแจกสัตบุรุษของตน (ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดพิมพ์โปสเตอร์และโบร์ชัวเผยแพร่ไปบางแล้ว) จำนวน 2,000 เล่ม ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของสัตบุรุษและมีผู้ขอเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทางห้องเอกสารจึงจัดพิมพ์เพิ่มจำนวน 5,000 เล่ม และขณะนี้ได้มีผู้ส่งใบแสดงความคิดเห็นเข้ามาบ้างแล้ว
ส่วนการจัดเตรียมเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณพ่อนิโคลาส เพื่อเตรียมเปิดกระบวนการพิจารณาการขอแต่งตั้งคุณพ่อนิโคลาสเป็นบุญราศี ที่บ้านผู้หว่านในปี ค.ศ.1998 พิมพ์เอกสารทุกชิ้นที่เป็นลายมือเขียนทุกภาษา (ไทย, ลาติน, ฝรั่งเศส ฯลฯ) สำหรับเอกสารที่เป็นภาษาไทย จัดหาคนแปลเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด Scan เอกสารทุกแผ่นเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ทำรายละเอียดย่อๆ ของเอกสารทุกชิ้นแบ่งหมวดหมู่และทำทะเบียน จัดเตรียมเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง เพื่อเตรียมเปิดกระบวนการพิจารณาการขอแต่งตั้งเป็นบุญราศี ซึ่งจะจัดให้มีขึ้นที่บ้าน ผู้หว่าน สามพราน นครปฐม ระหว่างวันอังคารที่ 13–วันศุกร์ที่ 23 มกราคม ค.ศ.1998 จัดพิมพ์ เอกสารทุกชิ้นที่เป็นลายมือเขียน ทุกภาษา สำหรับภาษาไทย ต้องจัดแปลเป็นภาษาอังกฤษ Scan เอกสารทุกแผ่นเข้าคอมพิวเตอร์ และใช้โปรแกรมจัดการเพื่อเอกสารชัดเจน อ่านง่ายขึ้น เป็นวิธีการที่ดีกว่าการถ่ายเอกสาร เนื่องจากเอกสารส่วนใหญ่อยู่ในสภาพที่เก่า เปิดกระบวนการพิจารณาการขอแต่งตั้งคุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุงเป็นบุญราศี พิธีเปิดมีขึ้นวันที่ 13 มกราคม ค.ศ.1998 ที่บ้านผู้หว่าน สามพราน โดยมีพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เป็นประธาน เริ่มพิธีเปิดเวลา 10.30 น.
ในพิธีนี้ นอกจากบุคลากรต่างๆ ในกระบวนการพิจารณาของศาลพระศาสนจักร ยังมีพระสังฆราช นักบวช และสัตบุรุษ มาร่วมในพิธีเปิดด้วย กระบวนการนี้เป็นการพิจารณาในศาล พระศาสนจักรของสังฆมณฑลท้องถิ่นที่ยื่นเรื่องเสนอขอให้กรุงโรมพิจารณาบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นบุญราศี หรือเป็นนักบุญ เป็นขั้นตอนแรกที่ทางสังฆมณฑลท้องถิ่นจะต้องจัดทำ เพื่อให้รายละเอียดเรื่องราวประวัติรวมถึงคำยืนยันซึ่งจะให้การในศาล เพื่อบันทึกใช้เป็นหลักฐานเหมือนเป็นคำร้องขอต่อพระศาสนจักรส่วนกลางอย่างเป็นทางการ
ใช้เวลาดำเนินการ 10 วัน เพื่อรวบรวมเอกสาร ตรวจสอบ และประทับตรา หลังจากนั้นจะทำการปิดผนึกเอกสารทั้งหมดด้วยและประทับตราเพื่อส่งไปยังสมณกระทรวง ว่าด้วยเรื่องการแต่งตั้งเป็นนักบุญที่กรุงโรม จำนวน 2 ชุด และจะเก็บไว้ที่สังฆมณฑล 1 ชุด ส่วนต้นฉบับ Orinal จะเก็บรักษาไว้ที่ห้องเอกสาร การพิจารณาในศาลในระดับพระศาสนจักรท้องถิ่นก็หมดหน้าที่เท่านี้ กระบวน การต่อไปเป็นหน้าที่ของกรุงโรมพิธีปิดกระบวนการพิจารณามีขึ้นวันศุกร์ที่ 23 มกราคม ค.ศ.1998 ที่บ้านผู้หว่าน สามพราน ได้รวบรวมภาพที่เกี่ยวข้องกับคุณพ่อนิโคลาส ได้แก่ ภาพสมัยคุณพ่ออยู่บ้านเณรเล็กบางนกแขวก ภาพบ้านสามเณรเล็กในสมัยนั้น ภาพบ้านเณรปีนัง วัดต่างๆ ที่คุณพ่อเคยไปอยู่ ได้จัดทำสำเนาภาพต่างๆ เหล่านี้ เพื่ออัดขยายทำนิทรรศการต่อไป
ในวันที่ 12 มกราคม ค.ศ.2000 ณ อาสนวิหารอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ ได้มีการเปิดหลุมศพ คุณพ่อนิโคลาส ผอบเบญจรงค์ 3 ใบ ซึ่งบรรจุกระดูกส่วนต่างๆของร่างกายที่คัดเลือกแล้วอัญเชิญพระธาตุของคุณพ่อนิโคลาส ซึ่งบรรจุในโลงศพแล้ว มาตั้งไว้ในโลงแก้วที่เตรียมไว้บริเวณพระแท่นด้านซ้ายของอาสนวิหารอัสสัมชัญ และได้ทำสมุดบันทึกรายชื่อผู้เข้าร่วมในพิธีการย้ายอัฐิ คุณพ่อนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุงทำประวัติของคุณพ่อนิโคลาส เพื่อจัดส่งไปยังกรุงโรม สำหรับพิมพ์หนังสือที่จะใช้ในพิธีสถาปนา วันที่ 5 มีนาคม ค.ศ.2000 ที่จัตุรัส มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม โดย สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ในวันนั้นมีพิธีสถาปนาบุญราศีทั้ง 44 องค์ จาก 5 ประเทศ มีผู้เข้าร่วมในพิธีประมาณ 100,000 คน 1 มิถุนายน ค.ศ.2003 พิธีเปิดโลงบรรจุบุญราศีคุณพ่อนิโลลาส และได้มีการเคลื่อนย้ายอัฐิจากอาสนวิหารอัสสัมชัญบางรัก ผ่านสถานที่ต่างๆ ไปยังวัดนักบุญเปโตร สามพราน นครปฐม ขบวนอัฐิมาถึงวัดนักบุญเปโตร คุณพ่อเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช กล่าวรายงานมอบอัฐิแด่พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู เพื่อส่งต่อให้คุณพ่อประทีป กีรติพงศ์ เจ้าอาวาสวัดนักบุญ เปโตร ที่ลานหน้าวัดนักบุญเปโตร แรงศรัทธาจากทั่วทุกทิศไทย ร่วมพิธีเปิดเสกสักการะสถานบุญราศีนิโคลาส บุญเกิด กฤษบำรุง พระคาร์ดินัลไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู พระอัครสังฆราชแห่งอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เป็นประธานในพิธีเปิดเสกสักการสถานบุญราศีนิโคลาสบุญเกิด กฤษบำรุง พระสงฆ์และมรณสักขี โอกาสวันสมโภชพระจิตเจ้าและบวชพระสงฆ์ 7 องค์ เป็นพระสงฆ์อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ 5 องค์ เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 2003
ในปี ค.ศ. 2001 ได้มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่ห้องเอกสาร ดังนี้
• คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ผู้จัดการห้องเอกสารและแผนกประวัติศาสตร์
• นางสุกัญญา เหมพรวิสาร ผู้ช่วยแผนกห้องเอกสารและงานธุรการ
• นางสาวพิศมัย ไตรธาตรี ผู้ช่วยแผนกห้องเอกสารและงานธุรการ
งานด้านต่างๆ ของห้องเอกสารได้ดำเนินการปรับปรุงการทำงานมาเรื่อยๆ มีการส่งบุคลากรไปอบรมร่วมกับสมาคมจดหมายเหตุสยาม เพื่อนำความรู้ที่ได้รับการอบรมมาปรับ ปรุงงานด้านจดหมายเหตุฯ แหล่งความรู้ภายในองค์การเดียวกันที่มีอยู่ คือ เอกสารที่เกิดจากการบริหารและ ดำเนินงานตามหน้าที่ของฝ่ายและแผนกต่างๆ ในองค์กร ซึ่งมีรูปแบบต่างๆ กัน บางฝ่ายหรือแผนก มีการบันทึกข้อมูลบนกระดาษ, ฟิล์ม, แผ่นจานเสียง, ม้วนเทป, ซีดี, ดีวีดี ฯลฯ ซึ่งมีรูปแบบที่หลาก หลาย เช่น จดหมาย เอกสารแผ่นใสในแฟ้มเอกสาร บันทึกข้อมูลประจำวัน แผนที่ ภาพถ่าย เทปบันทึกเสียง วีดีโอ รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้และสิ่งของที่องค์กรจัดหา รวบรวมและสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการดำเนินการภารกิจต่างๆ และเป็นประโยชน์ต่อบุคคล หน่วยงานต่างๆในองค์กรและสังคม เอกสารทั้งหมดของหอจดหมายเหตุฯ ได้นำมาแยกประเภท ดังมีรายการดังต่อไปนี้
Deposit I เอกสารพระสังฆราช เอกสารจะเรียงลำดับสมัยการปกครองของพระสังฆราช และวัน/เดือน/ปี ของเอกสาร
Deposit II เอกสาร หนังสือ ของสังฆมณฑลต่างๆ ทั้ง 10 สังฆมณฑลในประเทศไทย
Deposit I I I เอกสารหนังสือของวัดต่างๆในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
Deposit IV เอกสารหนังสือของ คณะนักบวชชายในประเทศไทย
Deposit V เอกสารหนังสือของ คณะนักบวชหญิงในประเทศไทย
Deposit VI เอกสารหนังสือของหน่วยงานและองค์กรในเครือคาทอลิก
Deposit VII เอกสารหนังสือของบ้านเณรต่างๆ ในประเทศไทย
Deposit VIII เอกสารหนังสือของโรงเรียนในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ โรงเรียนของนักบวชชาย-หญิง และโรงเรียนในเครือคาทอลิก
Deposit IX หนังสือประวัติพระศาสนจักรไทย (ศจ.ท.)
Deposit X หนังสือประวัติศาสตร์ไทย (ปศ.ท.)
Deposit XI หนังสือประวัติพระศาสนจักรสากล (ศจ.ส.)
Deposit XII หนังสือประวัติศาสตร์สากล (ปศ.ส.)
Deposit XIII หนังสือประวัติพระศาสนจักรเอเซีย (ศจ.อ.)
Deposit XIV หนังสือประวัติศาสตร์เอเซีย (ปศ.อ.)
Deposit XV หนังสือนิตยสารในเครือคาทอลิก
Deposit XVI หนังสือวิทยานิพนธ์
Deposit XVII ภาพถ่าย และเอกสารในระบบดิจิตอล
หลังจากที่ทางหอจดหมายเหตุฯได้แยกเอกสารตามประเภทต่างๆ ข้างต้นแล้ว ในปีต่อมาได้มีการจัดพิมพ์หนังสือประวัติมิสซังกรุงสยาม ค.ศ.1662-1811 ผู้แต่ง บาทหลวง อาเดรียง โลเน คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส แปลโดย ปอล ซาเวียร์ สงวนลิขสิทธิ์ตามพระบัญญัติ 2003 จำนวน 292 หน้า พิมพ์ครั้งแรก เดือนเมษายน ค.ศ.2003 จำนวน 500 เล่ม ISBN 974-91128-8-1 พิมพ์ที่โรงพิมพ์อัสสัมชัญ
ในวันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน ค.ศ.2005 ได้รับแจ้ง สมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ได้สวรรคต เวลา 21.37 น. ของวันเสาร์ที่ 2 เมษายน ค.ศ.2005 ตามเวลาในประเทศอิตาลี หรือตรงกับเวลา 02.37 น. ของวันอาทิตย์ที่ 3 เมษายน ค.ศ. 2005 ตามเวลาในประเทศไทย เช้าตรู่วันอังคารที่ 5 เมษายน ค.ศ.2005 คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ ได้มีโอกาสติดตามพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย กิจบุญชู ไปกรุงโรม คำนับพระศพท่าน พิธีปลงพระศพ มีขึ้นวันศุกร์ที่ 8 เมษายน ค.ศ.2005 เวลา 10.00 น. ที่มหาวิหารนักบุญเปโตร หลุมฝังพระศพ ณ ใต้มหาวิหารนักบุญเปโตร กรุงโรม นครรัฐวาติกัน ต่อจากนั้นพระคาร์ดินัล ไมเกิ้ลมีชัย กิจบุญชู เข้าห้องประชุมเพื่อคัดเลือกสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ใหม่ วันที่ 19 เมษายน ค.ศ. 2005 เวลา 18.10 น. พระคาร์ดินัลผู้ที่กำหนดไว้ออกมาประกาศ Habemus Papam ชื่อ Josephus พระคาร์ดินัล Ratzinger พระองค์ทรงใช้นามว่า Benedict ที่ 16 หลังจากเสร็จการคัดเลือกพระสันตะปาปาแล้ว พระคาร์ดินัล ไมเกิ้ล มีชัย และคุณพ่อสุรชัย เดินทางกลับถึงประเทศไทยวันจันทร์ที่ 25 เมษายน ค.ศ. 2005 โดยมี ท่านสมณทูต Savatore Pennacchio มายืนรอรับพระคาร์ดินัล ที่ทางออกของเครื่องบิน พร้อมกับคุณพ่อวรยุทธ กิจบำรุง ได้นำช่างกล้องและนักข่าวมาติดตามการกลับมาของพระคาร์ดินัลที่สนามบินด้วย การเดินทางไปกรุงโรมครั้งนี้ของคุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ มีความหมายมากและน่าจดจำ คุณพ่อเองจึงได้เขียนบันทึกนี้ไว้กันลืม และได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ “บันทึก พระคาร์ดินัลไทยไปเลือกตั้งพระสันตะปาปา Road to the Canclave”
ในปี ค.ศ.2006 คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธุ์ ผู้จัดการแผนกประวัติศาสตร์ได้มีโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการและการท่องเที่ยวเลขานุการวัดในอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ครั้งที่ 1 ที่ศูนย์สังฆมณฑลเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 13-17 กุมภาพันธ์ ค.ศ.2006 เพื่อให้เลขานุการวัดเข้าใจการทำงานด้านการจัดทำทะเบียนและเอกสารของวัด ในทิศทางที่ถูกต้องเพื่อให้การจัดทำรายงานประจำปีเป็นไปอย่างถูกต้อง และชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อให้เลขานุการวัดได้ทำความรู้จักกันและทำงานประสานงานกันได้ดียิ่งขึ้น และเพื่อให้เลขานุการวัดได้มีโอกาสไปเที่ยวพักผ่อนร่วมกัน.
งานด้านจดหมายเหตุของหอจดหมายเหตุอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ ไม่ได้หยุดอยู่กับที่ ได้มีการพัฒนางาน ด้านการจัดเก็บข้อมูล งานซ่อมและอนุรักษ์เอกสารอย่างต่อเนื่อง หนังสือเก่ามีการ อบและห่อใหม่ ได้มีการจัดเก็บเอกสาร รูปภาพด้วยระบบดิจิตอล สำหรับผู้ต้องการเอกสารข้อมูลต่างๆ