ธนาคารแห่งแรกของสยาม

ในสมัยรัชกาลที่ ๔ หลังจากไทยเปิดประตูกับประเทศตะวันตกแล้ว ก็มีธนาคารของชาวตะวันตกตามเข้ามาเปิดบริการลูกค้าของตนในกรุงเทพฯ เช่น ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้  ธนาคารชาร์เตอร์ด  ธนาคารอินโดจีน  นอกจากนี้ในปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ยังมีชาวอังกฤษคบคิดกันจะตั้ง “แบงก์หลวงกรุงสยาม” กำหนดทุนจดทะเบียน ๑ ล้านปอนด์สเตอริงโดยให้คนไทยซื้อหุ้นได้ไม่เกิน ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ทำท่าว่าจะยึดการคลังของประเทศ
 

ธนาคารไทยพาณิชย์ที่ตลาดน้อย
 
ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจ้าอยู่หัว และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ซึ่งตามเสด็จประพาสยุโรป ดูงานการธนาคารมาเป็นเวลา ๙ เดือน จึงทรงดำริตรงกันที่จะตั้งสถาบันการเงินของไทยขึ้นบ้าง
 
แม้จะถูกขัดขวางอยู่มาก แต่ในที่สุดสถาบันการเงินแห่งแรกของคนไทยก็แอบเปิดขึ้นได้ในวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๔๗  ในชื่อ  “บุคคลัภย์” ให้มีความหมายเป็น  “Book Club”  มีเงินทุนเพียง ๓๐,๐๐๐ บาท ใช้ตึกแถวของพระคลังข้างที่  ที่บ้านหม้อเป็นสำนักงานแห่งแรก
 
เกี่ยวกับชื่อ  “บุคคลัภย์” นั้น กรมหมื่นมหิศราฯ ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าฯ ลงวันที่ ๑๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๘ ไว้ว่า
 
“สำหรับคนไทยฟัง ก็คิดแปลเล่นขันๆ ไม่รู้ว่าอะไร ถ้าฝรั่งฟังก็เข้าใจว่าปับบลิกไลเบรรี และทำอะไรต่ออะไรให้เคลือบคลุม เพื่อไม่ให้ทราบว่าจัดแบบแบงก์กิง...”
 
ใน “หนังสือแจ้งความเรื่องตั้งบุคคลัภย์” ก็ยังแสดงว่าเป็นการตั้งห้องสมุด มีหนังสือให้สมาชิกยืมอ่าน โดยเชิญชวนให้มาใช้บริการว่า
 
“ไม่ว่าผู้มีบรรดาศักดิ์สูงต่ำอย่างใด เมื่อมีความพอใจเป็นสหายของบุคคลัภย์ ก็จะเป็นได้ไม่เลือกหน้า...สหายผู้แรกเข้าจะต้องช่วยเงินใช้สอยครั้งแรกเป็นเงิน ๑ บาท ต่อไปอีกปีละ ๑ บาท”
 
แสดงตนเป็นกลลวงบางกลุ่ม แต่ในทางปฏิบัติ บุคคลัภย์ดำเนินธุรกิจธนาคารพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ รับฝากเงินโดยให้ดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี  ซึ่งในช่วงแรกมีคนฝากเงินถึง ๘๐,๐๐๐ บาท
 
เมื่อบุคคลัภย์ประสบความสำเร็จ เป็นที่เชื่อถือของคนไทย และความลับที่ต้องแอบเปิดรู้กันไปทั่วแล้ว จึงเปิดตัวเป็นธนาคารอย่างเต็มตัว โดยกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษ จัดตั้งเป็น “บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด” โปรดเกล้าฯ  ให้ใช้ตราอาร์ม แผ่นดิน มีข้อความว่า “ตั้งโดยพระบรมราชานุญาต” ติดหน้าธนาคารเป็นแห่งแรก จนในสมัยรัชกาลที่ ๖  จึงเปลี่ยนตราอาร์มทุกแห่งเป็นตราครุฑ
 
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๑ บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ได้ย้ายจากบ้านหม้อไปอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ตลาดน้อย สัมพันธวงศ์
 
ต่อมาในวันที่ ๒๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๒ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด” เพื่อรับกับการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก “สยาม" เป็น “ไทย”