แรกสอนภาษาอังกฤษในสยาม

 
 
ในสมัยรัชกาลที่ ๒ และที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มมีทูตตะวันตกเข้ามาติดต่อกับไทย แต่ก็ไม่สามารถเจรจาตกลงอะไรกันได้ เพราะไม่มีคนไทยพูดภาษาอังกฤษได้เลย ต้องใช้คนมลายูเป็นล่าม ซึ่งก็ไม่มีความชำนาญลึกซึ้งในภาษาอังกฤษเหมือนกัน ต้องแปลอังกฤษเป็นมลายู แล้วแปลมลายูเป็นไทยอีกต่อ ความคลาดเคลื่อนจึงมีมาก
 
ก่อนขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๔ เจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงเป็นเจ้านายพระองค์แรกที่สนิทสนมกับชาวตะวันตกคือ พระสังฆราชฌอง บับติสต์ ปัลเลอกัว ชาวฝรั่งเศส ตั้งแต่ครั้งยังจำพรรษาอยู่ที่วัดสมอราย หรือวัดราชาธิวาส ติดกับวัดคอนเซ็ปชัญ หรือวัดบ้านเขมร ที่พระสังฆราชปัลเลอกัว เป็นเจ้าอธิการไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนความรู้กันเป็นประจำ เมื่อทรงย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ทรงเล็งเห็นว่าฝรั่งจะเข้ามามีอิทธิพลในย่านนี้ และสยามจำต้องเกี่ยวข้องด้วย การเรียนภาษาอังกฤษจะทำให้รู้ถึงความนึกคิดของกันและกัน ตอนนั้นนอกจากไม่มีคนไทยพูดกับฝรั่งได้แล้ว ยังไม่สามารถล่วงรู้เหตุการณ์ภายนอกประเทศด้วย นอกจากคำบอกเล่าของคนจีน คนอินเดีย และคนมลายูที่เดินทางไปมา ซึ่งก็ไม่ชัดเจน คนไทยจึงอยู่แต่ในโลกใบเก่า
 
ด้วยเหตุนี้ จึงทรงเปิดการสอนภาษาอังกฤษขึ้นเป็นครั้งแรกของกรุงสยาม
 
นายแพทย์เจสซี คาสแวล มิชชันนารีอเมริกัน ซึ่งในพงศาวดารเรียกว่า “หมอหัศกัน” ผู้เป็นครูสอนนักเรียนภาษาอังกฤษรุ่นแรก ได้บันทึกไดอารี่ ในวันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๘๘ ไว้ว่า
 
“วันนี้เริ่มสอนภาษาอังกฤษแก่เจ้าฟ้าที่วัด ข้าพเจ้าสอนตั้งแต่ ๙.๐๐-๑๐.๐๐ น. ในชั้นเรียนมี ๑๕ คน ๑ ใน ๓ เป็นพระสงฆ์ ที่เหลือเป็นชาวบ้านธรรมดา ข้าพเจ้าสอนในวันจันทร์ อังคาร พฤหัสบดี และศุกร์”
 
นักเรียนภาษาอังกฤษรุ่นแรกๆ นั้น นอกจากมีเจ้าฟ้ามงกุฎ หรือ “เจ้าฟ้าใหญ่” แล้ว ยังมี “เจ้าฟ้าน้อย” หรือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นต้น ส่วนสามัญชนก็มี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เมื่อครั้งเป็น “หลวงนายสิทธิ์” และเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) เป็นต้น
 
ความรู้ภาษาอังกฤษทำให้นักเรียนรุ่นนี้สามารถสนทนาเจรจากับฝรั่งได้ และสั่งตำราต่างประเทศมาศึกษา จนสามารถนำวิทยาการตะวันตกมาพัฒนาประเทศได้มาก
 
หมอคาสแวลไม่ยอมรับค่าจ้างในการสอน แต่กลับทูลขอเปิดสอนศาสนาคริสต์ในวัดบวร ซึ่งเจ้าฟ้ามงกุฎก็ประทานอนุญาตให้ใช้ศาลาที่ด้านหน้าโบสถ์ ๑ หลังเป็นที่สอน แสดงให้เห็นถึงความใจกว้างของศาสนาพุทธ ไม่ถือศาสนาอื่นเป็นคู่แข่งที่จะต้องกีดกัน ทั้งยังเป็นการท้าพิสูจน์ศรัทธาของชาวพุทธด้วย
 
เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฎขึ้นครองราชย์ บรรดามิชชันนารีได้นำพระเกียรติคุณไปเผยแพร่ไปในนานาประเทศ ทำให้นักเรียนในยุโรป อเมริกา และเอเชีย ได้เขียนจดหมายมาทูลถามความรู้เกี่ยวกับประเทศสยาม ซึ่งก็ทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบตามประสงค์ ซึ่งลายพระราชหัตถเลขาประเภทนี้ยังปรากฏในปัจจุบันอยู่มาก.