การพิมพ์และการขายลิขสิทธิ์

การพิมพ์เริ่มมีขึ้นในเมืองไทยตั้งแต่ตอนปลายรัชกาลที่ ๓ แต่หนังสือส่วนมากเกี่ยวเนื่องในเรื่องศาสนา เพราะผู้ที่นำเครื่องพิมพ์เข้ามาตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกนั้นเป็นพวกคณะมิชชันนารีอเมริกัน คือ หมอบรัดเลย์ โดยได้พิมพ์คำสอนศาสนาคริสต์เป็นภาษาไทย เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๓๗๙ ณ บริเวณซึ่งได้รับนามภายหลังว่า ตรอกกัปตันบุช และโรงพิมพ์ของคณะแบปติสต์ของหมอจันดเล (J.H. Chandler) 
 

หมอแดน บีช บรัดเลย์ มิชชันนารีอเมริกัน
(ภาพจากหนังสือ Historical Sketch
 of Protestant Missions in Siam 1828-1928)
 
 
คนไทยที่พยายามตั้งโรงพิมพ์ขึ้นบ้างในระยะนั้นก็คือ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งในเวลานั้นทรงผนวชประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทรงตั้งโรงพิมพ์ขึ้นตรงที่เป็นตำหนักเพชรในปัจจุบันนี้ ปรากฏว่า เมื่อหมอบรัดเลย์หล่อตัวพิมพ์ภาษาไทยชุดใหม่ได้สำเร็จในเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๓๘๕ ก็ได้นำไปถวายเจ้าฟ้ามงกุฎ ที่วัดบวรนิเวศวิหารชุดหนึ่ง
 
ส่วนที่มาของการขายลิขสิทธิ์นั้น เนื่องมาจากในการพิมพ์หนังสือสมัยแรกส่วนมากเก็บเอาเรื่องเก่าๆ มาพิมพ์ เจ้าของเรื่องส่วนมากถึงแก่กรรมไปหมดแล้ว เช่น เอาเรื่องนิราศต่างๆ ของสุนทรภู่มาพิมพ์ หรือหมอสมิทเอาเรื่องพระอภัยมณีมาพิมพ์ขายจนร่ำรวย แล้วจึงสืบหาทายาทของสุนทรภู่เพื่อจะตอบแทน ที่เป็นเรื่องจีนก็ไปขอจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เพราะท่านเล่นเรื่องจีนหาคนแปลไว้มากเรื่อง ค่าลิขสิทธิ์ในสมัยนั้นคงไม่คิดเป็นเงินทองอะไรกัน พิมพ์แล้วอาจจะเอาหนังสือไปให้เป็นการตอบแทนบ้างก็ได้
 
หนังสือบทกลอนเล่มแรกที่พิมพ์ขายและผู้เขียนได้ค่าลิขสิทธิ์ก็คือ นิราศลอนดอน ของหม่อมราโชทัย (หม่อมราชวงศ์กระต่าย อิศรางกูร) โดยหมอบรัดเลย์ซื้อกรรมสิทธิ์ไปพิมพ์ในราคา ๔๐๐ บาทเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๔ และตีพิมพ์จำหน่ายครั้งแรกในปีเดียวกันนั้นเอง เมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๐๔.