แหม่มแอนนาครูสอนภาษาอังกฤษ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นคุณประโยชน์ของภาษาอังกฤษ ดังนั้นเมื่อเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติได้เพียง ๔ เดือน ทรงมีรับสั่งให้พวกมิชชันนารีจัดหาหญิงในพวกมิชชันนารีเข้าไปสอนภาษาอังกฤษให้ฝ่ายในโดยผลัดเปลี่ยนกันเข้าไปสอนอาทิตย์ละ ๒ วัน เริ่มสอนในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๓๙๔ แต่สอนอยู่ได้ประมาณ ๓ ปีก็หยุด ต่อมามิสเตอร์วิลเลียม อดัมสัน ผู้จัดการบริษัทบอร์เนียว จำกัด ที่สิงคโปร์ ได้เลือก นางแอนนา เลียวโนเวนส์ ส่งเข้ามา กัปตันนุช (ผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระวิสูตรสาครดิฐ) ได้นำนางแอนนาเข้าเฝ้าเมื่อตอนบ่ายวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๔๐๕

แหม่มแอนนา เลียวโนเวนส์ 
ครูสอนภาษาอังกฤษในราชสำนัก ภาพนี้ถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๕
 
การสอนหนังสือในครั้งนั้นได้แบ่งออกเป็นสองผลัด คือ ภาคเช้าสอนบรรดาพระโอรสและพระราชธิดา ซึ่งมีพระชนมายุระหว่าง ๕ ถึง ๑๑ พรรษา มีพระองค์เจ้าหญิงยิ่งเยาวลักษณ์ อรรคราชสุดาพระราชธิดาพระองค์แรกในรัชกาลที่ ๔ มีพระชนม์ได้ ๑๑ พรรษา สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เป็นต้น ส่วนภาคบ่ายสอนบรรดาเจ้าจอมมารดาและเจ้าจอมที่ยังสาวทั่วไป สอนวันละ ๓ ชั่วโมง
 
แอนนาได้เป็นครูเจ้านาย และเป็นราชเลขานุการิณีในรัชกาลที่ ๔ อยู่ ๕ ปี ๖ เดือน ก็กราบถวายบังคมลาออกจากหน้าที่ เนื่องจากสุขภาพทรุดโทรม แล้วกลับไปประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ตามนางแอน นาและลูกก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นอันมาก ปรากฏว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๒ ก็ได้เคยพระราชทานเงิน ๔๐๐ เหรียญไปให้ และในปี พ.ศ. ๒๔๒๔ หลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ ลูกชายของนาง ก็เข้ามารับราชการและภายหลังได้ตั้งบริษัท หลุยส์ ที. เลียวโนเวนส์ จำกัด ที่สี่พระยา
 
แอนนาได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทยไว้สองเล่ม คือ An English Governess at the Court of Siam และ The Romance of the Harem เรื่องทั้งสองนี้ถูกวิจารณ์มาก นายเอียน กริมเบิล นักประวัติศาสตร์ชาวสกอต ได้กล่าวในรายการวิทยุบีบีซีว่า หนังสือทั้งสองเล่มนี้เป็นประเภทที่พวกบ้าคลั่งศาสนาแอบนอนอ่านใต้ผ้าปูที่นอน หนังสือทั้งสองเล่มนี้มีคำพูดของนางแอนนาที่เกี่ยวกับศาสนาและข้อความเลวๆ อยู่มาก นายเอียนยังกล่าวอีกว่า นางแอนนาเป็นผู้ที่ก่อความเสื่อมเสียและเป็นหญิงสกปรก
 
ในสมัยต่อมาได้มีผู้นำมาเขียนใหม่ใช้ชื่อว่า Anna and the King of Siam และมาร์กาเรต แลนดอน   นำมาทำเป็นละครและภาพยนตร์ชื่อว่า The King and I เป็นการแสดงวัฒนธรรมไทยอย่างไม่ถูกต้อง รัฐบาลไทยจึงห้ามนำมาเผยแพร่ในประเทศ