แรกมีเพลงสรรเสริญพระบารมี

ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๕   เราไม่มีทั้งเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติ  ซึ่งเป็นธรรมเนียมของตะวันตก ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เรารับนายร้อยเอกทหารอังกฤษตกงานจากอินเดียมาเป็นครูฝึกทหารไทย ๒ คน  ครูฝึกชาวอังกฤษเลยนำเอาเพลง  “God Save the Queen”  อันเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีราชินีอังกฤษ มาให้ทหารแตรไทยหัดเป่า  ใช้เป็นเพลงถวายความเคารพพระมหากษัตริย์ไทยด้วย แต่ก็ใช้เฉพาะในกองทหาร ต่อมาพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร)  ได้ใช้ทำนองเพลงนี้แต่งคำร้องเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมี ให้ชื่อว่า  “เพลงจอมราชจงเจริญ” ใช้ระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๓๙๕-๒๔๑๔  จึงถือได้ว่าเป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีและเพลงชาติแรกของไทย
 
ใน ปี พ.ศ. ๒๔๑๔  พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสสิงคโปร์  ทางการสิงคโปร์ซึ่งอยู่ในปกครองของอังกฤษ ได้ใช้กองดุริยางค์ทหารบรรเลงเพลง  “ก๊อดเซฟเดอะควีน”  ถวายความเคารพ ทรงตระหนักว่าสยามจำเป็นจะต้องมีเพลงของตัวเอง จึงโปรดให้ตั้งคณะครูดนตรีไทยขึ้นเป็นที่ปรึกษา  หาทำนองเพลงที่มีความเป็นไทยมาเป็นเพลงชาติแทนเพลงก๊อดเซฟเดอะควีน
 
คณะครูดนตรีไทยได้เลือกทำนองเพลง “บูหลันลอยเลื่อน” บทพระราชนิพนธ์ในพระบาท สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ซึ่งเรียกกันว่า  “เพลงพระสุบิน”  มาใช้เป็นทำนอง  แต่ให้เฮวุดเซน  (Heutsen) ครูดนตรีในกรมทหารมหาดเล็ก ชาวฮอลันดา  เรียบเรียงทำนองขึ้นใหม่ให้เป็นทางดนตรีตะวันตก ใช้ในระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๓๑
 
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๑  สมัยรัชกาลที่ ๕  เช่นกัน  โปรดให้ปโยตร์สชูโรฟสกี้ (Pyotr Schurovsky)  นักประพันธ์เพลงชาวรัสเซีย  ประพันธ์เพลงประจำชาติขึ้นใหม่  ส่วนคำร้องเป็นของสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์  ซึ่งทรงนิพนธ์ขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีลงสรงของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร  ซึ่งก็คือ เพลงสรรเสริญพระบารมีในปัจจุบัน และใช้เป็นเพลงชาติ ระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๔๗๕ ด้วย
 
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง  เพลงนี้ใช้เป็นเพลงสรรเสริญพระบารมีโดยเฉพาะ แล้วแต่งเพลงชาติขึ้นใหม่.