วันนี้ในอดีต/เดือนมกราคม

1 มกราคม พ.ศ.2507 : เริ่มยกเลิกการจดทะเบียนจักรยานสามล้อและจักรยานสามล้อนั่งส่วนบุคคล
 
เริ่มยกเลิกการจดทะเบียนจักรยานสามล้อและจักรยานสามล้อนั่งส่วนบุคคล ที่ใช้ในจังหวัดพระนคร และธนบุรี ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อลดปัญหาจราจร ปัญหาจากการอพยพของคนต่างจังหวัดเข้ามาประกอบอาชีพถีบสามล้อ ปัญหาความสะอาดและความเป็นระเบียบของบ้านเมือง
1 มกราคม พ.ศ.2406 : วันประสูติ พระองค์เจ้าหญิงเสาวภาผ่องศรี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 4
 
วันประสูติ พระองค์เจ้าหญิงเสาวภาผ่องศรี พระราชธิดาในรัชกาลที่ 4 ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5 และเฉลิมพระปรมาภิไธยเป็น สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ทรงเคยเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในสมัยที่รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป รวมถึงเป็นนายกสภานายิกาสภาอุณาโลมแดง (สภากาชาดไทยในปัจจุบัน) เป็นพระองค์แรก
2 มกราคม พ.ศ.2488 : สะพานพระราม 6 ถูกทำลายจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตร
 
สะพานพระราม 6 ซึ่งเป็นทางลำเลียงยุทธสัมภาระทางรถไฟของญี่ปุ่นในช่วง สงครามมหาเอเชียบูรพาหรือสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกทำลายจากการทิ้งระเบิดของเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตร
2 มกราคม พ.ศ.2464 : การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดเดินขบวนรถไฟสายใต้
 
การรถไฟแห่งประเทศไทยเปิดเดินขบวนรถไฟสายใต้ติดต่อกับชายแดนมาเลเซีย ระหว่างสถานี บางกอกน้อย-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 990 กิโลเมตรขึ้นเป็นครั้งแรก
3 มกราคม พ.ศ.2458 : ร.6 ทรงวางศิลาฤกษ์ โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ตึกบัญชาการของ "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" (โรงเรียนมหาดเล็กเดิม) ต่อมาโรงเรียนข้าราชการพลเรือนฯ นี้ได้รับการจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย พระราชทานนามว่า "จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ ร.5 ทั้งนี้ตึกบัญชาการดังกล่าวคือตึกคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ต่อมาได้เปลี่ยนการสะกดชื่อเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ตาม พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ.2522
3 มกราคม พ.ศ.2435 : วันเกิด เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน ผู้แต่งเทพนิยาย ลอร์ด ออฟ เดอะ ริง
 
วันเกิด เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน (John Ronald Reuel Tolkien) ผู้แต่งเทพนิยายเรื่อง ฮอบบิท (Hobbit) และ ลอร์ด ออฟ เดอะ ริงค์ (The Lord of The Ring) เขาเป็นศาสตราจารย์สาขาแองโกล-แซกซอน ตั้งแต่ ค.ศ.1925 - ค.ศ.1945 และด้านภาษาและวรรณคดีอังกฤษ ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดตั้งแต่ ค.ศ. 1945 - ค.ศ.1959 ผลงานของเขาได้รับการยอมรับว่ามีการใช้ภาษาที่ลุ่มลึกและมีผู้ตีความภาษาของเขากันอย่างกว้างขวาง
4 มกราคม พ.ศ.2525 : พิธีเปิดทางด่วน เฉลิมมหานคร ช่วงดินแดง-ท่าเรือ
 
พิธีเปิดทางด่วน "เฉลิมมหานคร" ช่วงดินแดง-ท่าเรือ อย่างเป็นทางการในวาระสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ทางด่วนสายนี้มีระยะทางประมาณ 8.9 กิโลเมตร เป็นหนึ่งในเส้นทางสามสายของทางด่วน "เฉลิมมหานคร" ทางด่วนโครงการแรกของไทย ซึ่งจัดสร้างโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ทางด่วนอีกสองสายคือ สายบางนา-ท่าเรือ และสายดาวคะนอง-ท่าเรือ
4 มกราคม พ.ศ.2352 : วันเกิด หลุยส์ เบรลล์ ชาวฝรั่งเศสผู้ประดิษฐ์ อักษรเบรลล์
 
วันเกิด หลุยส์ เบรลล์ (Louis Braille) ชาวฝรั่งเศสผู้ประดิษฐ์ "อักษรเบรลล์” ซึ่งเป็นระบบการอ่านสำหรับคนตาบอด เบรลล์ประสบอุบัติเหตุขณะกำลังเล่นอยู่ในร้านทำรองเท้าของพ่อจนทำให้เขาตาบอดสนิทเมื่ออายุ 3 ขวบ เมื่ออายุได้ 15 ปี เขาได้คิดประดิษฐ์อักษรเบรลล์ซึ่งเป็นอักษรสำหรับให้คนตาบอดใช้มือคลำอ่าน อาศัยแนวคิดจากตัวโดมิโนที่มี 6 จุด จัดวางไว้เป็นกลุ่มสร้างเป็นลักษณะจุดนูนแทนค่าพยัญชนะต่างๆ เขาสามารถสร้างอักษรที่แตกต่างกันออกมาได้ 63 แบบ ซึ่งสามารถแทนค่าตัวอักษรทุกตัวที่มีอยู่ได้จนหมดสิ้น รวมทั้งเครื่องหมายวรรคตอนและคำย่อต่างๆ ลักษณะของจุดนูนช่วยให้คนตาบอดอ่านได้ด้วยการสัมผัส คือใชปลายนิ้วลูบไปบนลายนูน ในช่วงเวลาที่เบรลล์ยังมีชีวิตอยู่ อักษรเบรลล์ที่เขาคิดค้นขึ้นยังไม่เป็นที่แพร่หลาย จนกระทั่งหลังจากเขาได้เสียชีวิตไปแล้ว ระบบอักษรดังกล่าวจึงค่อยๆ เป็นที่ยอมรับและแพร่หลาย กลายเป็นภาษามาตรฐานสำหรับคนตาบอดทั่วโลก
5 มกราคม พ.ศ.2476 : สหรัฐอเมริกาเริ่มก่อสร้างสะพาน Golden Gate ข้ามอ่าวซานฟรานซิสโก
 
สหรัฐอเมริกาเริ่มก่อสร้างสะพาน Golden Gate ข้ามอ่าวซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ตัวสะพานยาว 1,280 เมตร กว้าง 27 เมตร สูงจากระดับน้ำทะเล 67 เมตร มีทางรถยนต์ 6 ทาง รถบรรทุก 3 ทาง รถไฟ 2 ทาง ใช้งบประมาณก่อสร้างราว 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
5 มกราคม พ.ศ.2398 : วันเกิด คิง แคมป์ จิลเลตต์ ชาวอเมริกันผู้คิดประดิษฐ์มีดโกนหนวดแบบใหม่
 
วันเกิด คิง แคมป์ จิลเลตต์ (King Camp Gillete) ชาวอเมริกันผู้คิดประดิษฐ์มีดโกนหนวดแบบใหม่ที่ปลอดภัยและไม่ต้องเสียเวลาลับ โดยร่วมมือกับ วิลเลียม นิกเคอร์สัน ออกแบบใบมีดโกนสองคมปลอดอันตรายแบบใช้แล้วทิ้ง ให้สวมเข้าในเดือยสำหรับยึดเกาะ และมีด้ามจับและหัวที่ปรับได้ ต่อมาทั้งสองได้ก่อตั้งบริษัทผลิตใบมีดโกนยี่ห้อ Gillette จนได้รับความนิยมไปทั่วโลกกระทั่งทุกวันนี้

6 มกราคม พ.ศ.2426 : วันเกิด คาลิล ยิบราน ศิลปินชาวเลบานอน
 
วันเกิด คาลิล ยิบราน (Kahlil Gibran) นักปรัชญา นักประพันธ์ กวี และศิลปินชาวเลบานอน ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่า "วิลเลียมเบลคแห่งศตวรรษที่ 20" งานชิ้นแรกๆ ของยิบราน เป็นบทเขียนและบทกวีภาษาอาหรับ ผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดคือกวีนิพนธ์ชื่อ ปรัชญาชีวิต (The Prophet) ซึ่งกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ซึ่งได้ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 1 ภาษา และนิยมอ่านแพร่หลายกันทั่วโลก กล่าวได้ว่าผลงานของยิบรานได้มีอิทธิพลและสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนคนรุ่นหลังเป็นอย่างมาก

7 มกราคม พ.ศ.2153 : กาลิเลโอ กาลิเลอี นักดาราศาสตร์ชาวอิตาเลียน ค้นพบดวงจันทร์บริวารที่ใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสบดี
 
กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) นักดาราศาสตร์ชาวอิตาเลียน ค้นพบดวงจันทร์บริวารที่ใหญ่ที่สุดของดาวพฤหัสบดี 4 ดวง คือ Io. Uropa, Ganymede and Callisto ชื่อดังกล่าวได้รับการตั้งขี้นอย่างเป็นทางการหลังจากกาลิเลโอเสียชีวิตไปแล้ว ต่อมาดาวบริวารทั้ง 4 มีชื่อเรียกรวมเพื่อเป็นเกียรติแก่กาลิเลโอว่า "Galilean moons"
8 มกราคม พ.ศ.2447 : ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากจันทบุรีไปจนหมด หลังจากยึดครองมาเป็นเวลากว่า 11 ปี
ฝรั่งเศสถอนทหารออกจากจันทบุรีไปจนหมด หลังจากยึดครองมาเป็นเวลากว่า 11 ปี เพื่อค้ำประกันว่าไทยจะปฏิบัติตามสัญญาฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม 2436 ที่ทำไว้กับฝรั่งเศส กรณีวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 ซึ่งเกิดจากความขัดแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ในดินแดนริมฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง
9 มกราคม พ.ศ.2493 : หนังสือพิมพ์ ข่าวภาพ รายสัปดาห์ ออกวางแผนฉบับปฐมฤกษ์
 
หนังสือพิมพ์ "ข่าวภาพ" รายสัปดาห์ ออกวางแผนฉบับปฐมฤกษ์ เป็นฉบับประจำวันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2493 มี 16 หน้า ราคา 1 บาท จัดทำโดย กำพล วัชรพล, เลิศ อัศเวศน์ และ วสันต์ ชูสกุล ต่อมาได้พัฒนาเป็นหนังสือพิมพ์รายสามวัน รายวันชื่อว่าหนังสือพิมพ์ เสียงอ่างทอง และพัฒนาเป็นหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ในที่สุด
9 มกราคม พ.ศ.2472 : รัชกาลที่ 7 เสด็จฯ วางศิลาฤกษ์ สะพานพุทธยอดฟ้า
 
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จฯ วางศิลาฤกษ์ สะพานพุทธยอดฟ้า หรือชื่ออย่างเป็นทางการ สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (Memorial Bridge) โดย กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเป็นเจ้าหน้าที่ก่อสร้าง นาย อี. ฟอร์โน เป็นสถาปนิก สร้างตามแบบของบริษัท ดอร์แมนลอง (DORMAN LONG & CO.LTD) ประเทศอังกฤษ ใช้งบประมาณ 4 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างในปี 2471 เนื่องในโอกาสที่สถาปนากรุงเทพมหานครครบ 150 ปี ในปี 2475 พระองค์จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสิ่งที่เป็นอนุสรณ์ถึงความรำลึกในพระกรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ผู้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร ตัวสะพานเป็นเหล็กยาว 229.76 เมตร กว้าง 16.68 เมตร ท้องสะพานสูงเหนือน้ำ 7.50 เมตร และสามารถยกสะพานช่วงกลางขึ้นด้วยไฟฟ้า เปิดช่องกว้าง 60 เมตรเพื่อให้เรือใหญ่ผ่านได้สะดวก
9 มกราคม พ.ศ.2433 : รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิด อู่เรือหลวง ณ กรมอู่ทหารเรือ
 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิด อู่เรือหลวง ณ กรมอู่ทหารเรือ เพื่อซ่อมและสร้างเรือรบ เนื่องจากเวลานั้นมีจำนวนเรือหลวงเพิ่มมากขึ้น อู่เรือหลวงนี้สร้างขึ้นที่โรงหล่อซึ่งหมายถึงที่ว่าการกรมทหารเรือ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของวัดระฆังโฆสิตาราม อู่หลวงดังกล่าวเป็นแบบอู่ไม้ ต่อมาได้ขยายเป็นอู่คอนกรีตในปี 2447 ต่อมาอู่เรือหลวงได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กรมอู่ทหารเรือ" และใช้มาจนถึงทุกวันนี้ และกำหนดให้ทุกวันที่ 9 มกราคมของทุกปีเป็นวันสถาปนากรมอู่ทหารเรือ
10 มกราคม พ.ศ.2472 : ตินติน หรือ แตงแตง ตัวการ์ตูนที่สร้างสรรค์โดย จอร์จ เรมี เปิดตัวเป็นครั้งแรกในยุโรป
 
ตินติน หรือ แตงแตง (Tintin) ตัวการ์ตูนที่สร้างสรรค์โดย จอร์จ เรมี (Georges Remi) ซึ่งใช้นามปากกาว่า “แอร์เช่” (Herge’ มาจากการสลับอักษรตัวแรกของชื่อและนามสกุล R G แล้วออกเสียงสำเนียงฝรั่งเศส) นักเขียนการ์ตูนและศิลปินชาวเบลเยียม เปิดตัวเป็นครั้งแรกในยุโรปเป็นภาษาฝรั่งเศส เนื้อเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัยของนักข่าวหนุ่มตินตินกับสุนัขคู่ใจชื่อ “สโนวี่” ที่ร่วมเดินทางไปในดินแดนต่าง ๆ ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ ทะเลทราย รวมถึงในประเทศต่างๆ เช่น จีน รัสเซีย อียิปต์ คองโก สหรัฐอเมริกา และยังไปไกลถึงดวงจันทร์ในอวกาศก่อนที่ นีล อาร์มสตรองจะขึ้นไปเยียบดวงจันทร์เสียอีก หลังจากนั้นการ์ตูนเรื่องนี้ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกเรื่องหนึ่ง ถูกตีพิมพ์กว่า 200 ล้านเล่ม และแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 50 ภาษาทั่วโลก
10 มกราคม พ.ศ.2419 : วันประสูติ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ บิดาแห่งสหกรณ์ไทย
 
10 มกราคม พ.ศ.2419 วันประสูติ พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ทรงเป็นบิดาแห่งสหกรณ์ไทยและรัตนกวีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าของนามปากกา น.ม.ส. ซึ่งมาจากพระนามเดิม พระราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส ทรงเป็นพระโอรสใน กรมพระราชวังบรววิไชยชาญ (พระองค์เจ้า ยอดยิ่งยศ) กับเจ้าจอมมารดาเปี่ยม (เล็ก) ทรงเป็นต้นสกุล “รัชนี” ผลงานเด่นได้แก่ พระนลคำฉันท์, นิทานเวตาล, จดหมายจางวางหร่ำ และยังทรงออกหนังสือพิมพ์หลายฉบับ เช่น ลักวิทยา, ประมวญมารค ฯลฯ
11 มกราคม พ.ศ.2507 : ลูเทอร์ เทอรี่ แพทย์ชาวอเมริกาแถลงข่าวว่าการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอดและโรคร้ายอื่นๆ
 
ลูเทอร์ เทอรี่ (Luther Leonidas Terry) นายแพทย์ใหญ่แห่งกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา แถลงข่าวเปิดตัวรายงานฉบับแรกของคณะที่ปรึกษาด้านบุหรี่และสุขภาพที่มีข้อสรุปว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปอดและโรคร้ายอื่นๆ นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลอเมริกาเปิดเผยถึงพิษภัยของบุหรี่ให้สาธารณชนได้รับรู้อย่างเป็นทางการ และเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการรณรงค์เพื่อลดการสูบบุหรี่ในอเมริกา
11 มกราคม พ.ศ.2329 : วิลเลียม เฮอร์เชล ค้นพบ ทิเทเนีย และ โอเบอรอน ดวงจันทร์บริวารของดาว ยูเรนัส
 
วิลเลียม เฮอร์เชล (William Herschel) นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ค้นพบ ทิเทเนีย และ โอเบอรอน (Titania and Oberon) ดวงจันทร์บริวารของดาว ยูเรนัส (Uranus) ก่อนหน้านั้นในปี 2324 เขาค้นพบดาวยูเรนัสโดยบังเอิญขณะที่กำลังส่องกล้องโทรทัศน์ศึกษาดาวฤกษ์ หลังจากที่เขาได้ค้นพบดวงจันทร์ของดาวยูเรนัส 2 ดวงแรกแล้วก็ได้มีนักดาราศาสตร์คนอื่นๆ ค้นพบดวงจันทร์เพิ่มขึ้นอีกรวมกันถึง 20 ดวง แต่ก็คาดกันว่าดาวยูเรนัสน่าจะมีดวงจันทร์บริวารมากกว่านั้น
12 มกราคม พ.ศ.2512 : เจเนวิฟ คลอฟิลด์ สุภาพสตรีตาบอดชาวอเมริกันเริ่มก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดในประเทศไทย
 
เจเนวิฟ คลอฟิลด์ (Genevieve Caulfield) สุภาพสตรีตาบอดชาวอเมริกันเริ่มก่อตั้ง โรงเรียนสอนคนตาบอด ที่ศาลาแดง กรุงเทพฯ นับเป็นโรงเรียนสอนเด็กพิการแห่งแรกในประเทศไทยนอกจากนั้นเธอยังเป็นผู้นอักษรเบรลล์มาเผยแพร่แก่คนตาบอดในประเทศไทยเป็นครั้งแรก และเป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จากนั้นเธอก็ยังคงทำกิจกรรมช่วยเหลือคนตาบอดในประเทศไทยตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิตในปี 2515
12 มกราคม พ.ศ.2476 : รัชกาลที่ 7 และพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จประพาสยุโรป
 
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 และพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จประพาสยุโรป และประทับอยู่ที่ประเทศอังกฤษ และเสด็จสวรรคตด้วยโรคพระหทัยพิการ ในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 รวม พระชนมายุ 48 พรรษา
13 มกราคม พ.ศ.2456 : รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระทำพิธีเปิด สถานีวิทยุโทรเลข แห่งแรกของประเทศไทย
 
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงกระทำพิธีเปิด สถานีวิทยุโทรเลข แห่งแรกของประเทศไทย ที่ตำบลศาลาแดง และได้ทรงส่งพระราชโทรเลขทางวิทยุโทรเลขไปยัง สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งอุปราชปักษ์ใต้ ณ สถานีวิทยุโทรเลขสงขลาเป็นฉบับปฐมฤกษ์ (ขณะนี้เป็นอาคารที่ขึ้นทะเบียนโบราณสถานแห่งชาติแล้ว ตั้งอยู่ในพื้นที่โรงเรียนเตรียมทหาร กรมยุทธศึกษาทหาร)
13 มกราคม พ.ศ.2380 : หมอบรัดเลย์ หมอสอนศาสนาชาวอเมริกันเริ่มการผ่าตัดครั้งแรกในประเทศไทย
 
หมอบรัดเลย์ หมอสอนศาสนาชาวอเมริกันเริ่มการผ่าตัดครั้งแรกในประเทศไทย ในงานฉลองวัดประยูรวงศาวาส หลังจากที่กระบอกปืนใหญ่ที่เอามาทำเป็นไฟพะเนียงอย่างดอกไม้ไฟธรรมดาเพื่อทำให้เป็นของแปลก แต่เกิดระเบิดแตกออกเป็นชิ้นน้อยและชิ้นใหญ่ ถูกคนที่อยู่ในที่นั้นตาย 8 คน และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก และมีพระสงฆ์องค์หนึ่งซึ่งกระดูกแขนแตก จำเป็นต้องตัดแขนทิ้งเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้ หมอบรัดเลย์จึงตัดแขนพระองค์นั้นในที่เกิดเหตุโดยไม่มีการใช้ยาสลบ สมัยนั้นคนไทยยังไม่รู้เลยว่าจะตัดร่างกายมนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ ด้วยพระสงฆ์ที่ทนการผ่าตัดได้ ไม่นานเท่าใดก็หายดี

14 มกราคม พ.ศ.2429 : รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามบรมราชกุมาร เป็นตำแหน่งรัชทายาท นับเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีตำแหน่ง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช แทนตำแหน่ง พระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล หรือที่เรียกว่า วังหน้า ซึ่งมีมาแต่สมัยอยุธยา
14 มกราคม พ.ศ.2385 : มีการพิมพ์ปฏิทินเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
 
มีการพิมพ์ปฏิทินเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีหลักฐานบันทึกไว้ในหนังสือ บางกอกคาเลนดาร์ ฉบับปี 2413 หน้า 5 โดย หมอบรัดเลย์ ได้บันทึกไว้ว่าเริ่มมีการพิมพ์ปฏิทินครั้งแรกในเมืองไทย (“14 First Calendar print in B. 1842”) แต่ไม่ได้ระบุลักษณะของปฏิทิน เข้าใจกันว่าอาจเป็นปฏิทินเล่มและพิมพ์โดยหมอบรัดเลย์

14 มกราคม พ.ศ.2285 : เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ เสียชีวิต
 
เอ็ดมันด์ ฮัลเลย์ (Edmond Halley) นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญด้านดาวหาง เสียชีวิตที่ประเทศอังกฤษ ก่อนหน้านั้นในปี 2248 เขาใช้กฎแห่งแรงโน้มถ่วงของนิวตันในการตั้งสมมุติฐานว่าดางหางซึ่งโคจรผ่านโลกในปี 2074, 2150 และ 2225 เป็นดาวหางดวงเดียวกัน และทำนายว่าดาวหางนี้จะโคจรมาเยือนโลกในอีก 76 ปีข้างหน้า เมื่อปรากฏว่าดาวหางดวงนี้กลับมาจริงๆ ในปี 2301 ตามที่เขาทำนายไว้ ดาวหางดวงนี้จึงได้รับการตั้งชื่อว่า “ดาวหางฮัลเลย์” เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา ดาวหางฮัลเลย์เป็นดาวหางที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดเพราะมีความสุกสว่างที่สุดและสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า รวมทั้งมีหางที่ยาวมาก มีระยะเวลาในการโคจรโดยเฉลี่ยประมาณ 76 ปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ต่างๆ ดาวหางฮัลเลย์โคจรผ่านโลกครั้งล่าสุดในปี 2529 และจะกลับมาปรากฏอีกครั้งในปี 2604
15 มกราคม พ.ศ.2477 : พิธีเปิด อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี
 
พิธีเปิด อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ซึ่งข้าราชการ และประชาชนชาวนครราชสีมาได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อบรรจุอัฐิของ ย่าโม โดยได้ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบร่วมกับ พระเทวาภินิมมิตร ประติมากรเลื่องชื่อในสมัยนั้น นับเป็นอนุสาวรีย์ของสามัญชนสตรีคนแรกของประเทศ เริ่มก่อสร้างในปี 2476 อนุสาวรีย์หล่อด้วยทองแดงรมดำ สูง 1.85 เมตร หนัก 325 กิโลกรัม แต่งกายด้วยเครื่องยศพระราชทาน ในท่ายืน มือขวากุมดาบ ปลายดาบจรดพื้น มือซ้ายท้าวสะเอว หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ตั้งอยู่บนฐานไพทีสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสองซึ่งบรรจุอัฐิของท่าน
15 มกราคม พ.ศ.2472 : วันเกิด มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน
 
วันเกิด มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr) นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เกิดที่แอตแลนตา รัฐจอร์เจีย เป็นบุตรชายของพระแบปทิส จบการศึกษาด้านศาสนาจาก โครเซอร์ เพนซิลวาเนีย และมหาวิทยาลัยบอสตัน ต่อมาได้กลายเป็นผู้นำขบวนการเรียกร้องสิทธิความเสมอภาคของสีผิว โดยใช้หลักอหิงสาแบบมหาตมะคานธี คิงได้เรียกร้องสิทธิของคนผิวดำตลอดชีวิต จนกระทั่งได้รับรางวัลสันติภาพเคเนดี ในปี 2506 คิงได้แสดงสุนทรพจน์ที่มีชื่อเสียง I Have a Dream ในปี 2507 และรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปี 2511 เขาถูกลอบยิงถึงแก่ชีวิตที่เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี จากนั้นมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมทางเชื้อชาติจวบจนทุกวันนี้
15 มกราคม พ.ศ.2302 : British Museum กรุงลอนดอน เปิดอย่างเป็นทางการ
 
British Museum เปิดอย่างเป็นทางการ เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกที่ยังคงเปิดบริการมาจนถึงปัจจุบัน เริ่มก่อสร้างในปี 2296 ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ นับว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของมนุษย์ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก ภายในรวบรวมวัตถุทางโบราณคดีต่างๆ จากทั่วโลกไว้กว่า 13 ล้านชิ้น รวมไปถึงภาพและและเอกสารที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย แต่ละปีมีผู้เข้าชมกว่า 700,000 คน
16 มกราคม พ.ศ.2501 : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงวางศิลาฤกษ์ สถาบันราชประชาสมาสัย
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทรงวางศิลาฤกษ์ สถาบันราชประชาสมาสัย ที่สถาบันโรคเรื้อนพระประแดง จ. สมุทรปราการ ซึ่งชื่อสถาบันราชประชาสมาสัยนั้นทรงพระราชทานนามในปี 2503 หมายความว่าพระมหากษัตริย์และประชาชนย่อมต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ตั้งขึ้นเพื่อเร่งรัดโครงการควบคุมโรคเรื้อนให้หมดสิ้นไปจากประเทศไทย ต่อมาได้กำหนดวันนี้ของทุกปี เป็น "วันราชประชาสมาสัย" เพื่อรณรงค์เรื่องโรคเรื้อน เผยแพร่ความรู้ และหาทุนในการดำเนินการอีกด้วย
16 มกราคม พ.ศ.2464 : วันสถาปนา กรมอุทกศาสตร์
 
วันสถาปนา กรมอุทกศาสตร์ กิจการอุทกศาสตร์เริ่มมีครั้งแรกในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี 2399 โดยรัฐบาลได้ได้อนุญาตให้อังกฤษส่งเรือหลวงซาราเซน เข้ามาสำรวจอุทกศาสตร์ในอ่าวไทย เพื่อจัดทำแผนที่เดินเรือที่สำคัญบริเวณอ่าวไทย ต่อมาในปี 2439 ได้มีการก่อตั้งกองแผนที่ทะเล ขึ้นตรงต่อกรมทหารเรือ ในปี 2457 ได้เปลี่ยนชื่อกองแผนที่ทะเลเป็น “กองอุทกศาสตร์ทหารเรือ” ในปี 2464 ได้ยกขึ้นเป็น “กรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ” วันนี้ของทุกปีจึงถือเป็นวันสถาปนากรมอุทกศาสตร์
16 มกราคม พ.ศ.2336 : ไทยเสียเมือง มะริด ทวาย และ ตะนาวศรี ให้แก่พม่า
 
ไทยเสียเมือง มะริด ทวาย และ ตะนาวศรี ให้แก่พม่า หลังจากที่รัฐบาลอังกฤษและรัฐไทยได้ทำสนธิสัญญา กำหนดเส้นเขตแดน ระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า ส่งผลให้คนไทยประมาณ 30,000 คนในขณะนั้น กลายเป็นบุคคลที่สูญเสียสัญชาติ ไปพร้อมกับการเสียพื้นที่ไปประมาณ 55,000 ตารางกิโลเมตร แต่รัฐบาลพม่าเองก็ไม่ยอมรับว่าคนเหล่านี้เป็นคนพม่า จึงถูกกดขี่ข่มแหง ถูกละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงไม่ต่างจากชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ล่าสุดเมื่อปลายปี 2549 คนไทยกว่า 3,000 คนได้หลบหนีเข้ามาพึ่งแผ่นดินไทยบริเวณจังหวัดระนอง-ชุมพร แต่เนื่องจากไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีบัตรประชาชน จึงต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ถูกข่มขู่รีดไถ ถูกกด-โกงค่าแรงเหมือนแรงงานพม่า โดยที่ไม่มีสิทธิแจ้งความ และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2549 ตัวแทนคนไทยกลุ่มนี้ก็ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลอังกฤษ ผ่านเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทย ให้รับผิดชอบเรื่องสัญชาติไทยให้กับคนไทยพลัดถิ่นกลุ่มนี้
16 มกราคม พ.ศ.2488 : วันประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เป็นวันครูวันแรก
 
"วันครู" คณะรัฐบาลนำโดย นายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2499 ให้วันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น "วันครู" โดยถือเอาวันที่ประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2488 เป็นวันครูวันแรก เนื่องจากต้องการจะสนับสนุนและยกย่องเกียรติของครูให้มีสิทธิเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือนทั่วไป ทางราชการได้กำหนดให้วันนี้เป็น "วันครู" ขึ้นเป็นครั้งแรก
17 มกราคม พ.ศ.2484 : เกิดเหตุการณ์ ยุทธนาวีที่เกาะช้าง จังหวัดตราด
 
เกิดเหตุการณ์ "ยุทธนาวีที่เกาะช้าง" จังหวัดตราด โดยเรือรบของราชนาวีไทยรบกับกองทัพเรือของฝรั่งเศส ที่รุกล้ำน่านน้ำไทยเข้ามาเพื่อจะระดมยิงหัวเมืองชายทะเลทางภาคตะวันออกของประเทศไทย หลังจากกรณีพิพาทอินโดจีน โดยฝรั่งเศสมีเรือ 5 ลำ ของไทยมี 3 ลำ ได้แก่เรือรบหลวงธนบุรี เรือรบหลวงสงขลา และเรือรบหลวงชลบุรี ส่งผลให้กองเรือของฝรั่งเศสถูกยิงจนต้องล่าถอยออกไป ส่วนฝ่ายไทยเรือรบหลวงธนบุรีก็ถูกยิงจม มีผู้เสียชีวิต 36 คน วันนี้ของทุกๆ ปี กองทัพเรือถือว่าเป็นวันสดุดีและบำเพ็ญกุศลแก่ผู้เสียชีวิตในการรบแห่งราชนาวี
17 มกราคม พ.ศ.2472 : ป๊อบอาย (Popeye) ปรากฏตัวครั้งแรกในการ์ตูนช่องเรื่อง Thimble Theatre
 
ป๊อบอาย (Popeye) ปรากฏตัวครั้งแรกในการ์ตูนช่องเรื่อง Thimble Theatre ซึ่งวาดโดย Elizie Segar ป๊อปอายได้รับการตีพิมพ์มาแล้วเป็นเวลา 10 ปี เดิมการ์ตูนเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว Olive Oyl และ Ham Gravy แม้ป๊อบอายจะเปิดตัวครั้งแรกในฐานะตัวประกอบ แต่เขากลับกลายมาเป็นดาราเด่นของเรื่องในเวลาต่อมา และเป็นหนึ่งในตัวการ์ตูนที่มีคนจดจำได้มากที่สุด
17 มกราคม พ.ศ.2249 : วันเกิด เบนจามิน แฟรงคลิน รัฐบุรุษและนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน
 
วันเกิด เบนจามิน แฟรงคลิน (Benjamin Franklin) รัฐบุรุษและนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน เกิดที่เมืองบอสตัน ครอบครัวของเขาค่อนข้างจะยากจน เขาจึงเรียนหนังสือได้เพียง 2 ปีก็ต้องลาออกมาช่วยกิจการทำสบู่ และเทียนไขของครอบครัว พออายุ 12 ปีก็ไปช่วยพี่ชายทำกิจการโรงพิมพ์ ก่อนจะแยกมาเปิดโรงพิมพ์ของตนเองตอนอายุ 17 ปี ช่วงนี้เขาได้เขียนบทความลงหนังสือพิมพ์ ภายหลังได้เข้ามาเล่นการเมือง จากนั้นก็เริ่มสนใจปรากฏการณ์ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า จึงเริ่มศึกษาทดลองอย่างจริงจัง จนกระทั่งค้นพบประจุไฟฟ้าในอากาศ เขาเป็นผู้ประดิษฐ์สายล่อฟ้าเพื่อลดความเสียหายจากฟ้าผ่า แต่เขาก็ไม่ได้นำสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ไปจดสิทธิบัตร เนื่องจากเห็นว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ง่ายไม่ซับซ้อน ทุกคนสามารถทำใช้เองได้ นอกจากนั้นเขายังประสบความสำเร็จอีกหลายด้าน เช่นเป็นนักเขียน บรรณาธิการ นักหนังสือพิมพ์ นักการฑูต เป็นผู้หนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯ หลุดพ้นจากการเป็นประเทศอาณานิคมของประเทศอังกฤษ เป็นผู้ร่างคำประกาศอิสรภาพของอเมริกา และมีส่วนสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของสหรัฐอเมริกาด้วย เบนจามิน แฟรงคลินนับเป็นหนึ่งใน บิดาผู้ก่อตั้งประเทศสหรัฐอเมริกา (Founding Fathers of the United States) ถึงแก่กรรมที่เมืองฟิลลาเดลเฟีย เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2333 ขณะอายุ 84 ปี
18 มกราคม พ.ศ.2483 : วันสิ้นพระชนม์ จอมพลเรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์ วรพินิต
 
วันสิ้นพระชนม์ จอมพลเรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์ วรพินิต พระราชโอรสองค์ที่ 33 ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำรงตำแหน่งที่สำคัญทางการทหารและทางราชการหลายตำแหน่ง นอกจากนั้นยังทรงพระปรีชาสามารถในงานดนตรี ทรงพระนิพนธ์เพลงไทย เพลงฝรั่งและเพลงไทยเดิมไว้จำนวนมาก เช่นเพลงวอทซ์ปลื้มจิต, วอทซ์ชุมพล, เพลงมหาฤกษ์ เพลงพญาโศก ฯลฯ กระทั่งทรงได้รับการขนานพระนามเป็น "พระบิดาแห่งเพลงไทยเดิม" สิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคไตและพระหทัย ตำนักประเสบัน เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย ในขณะที่ทรงพระชนมายุ 63 ปี
18 มกราคม พ.ศ.2425 : วันเกิด Alan Alexander Milne ผู้สร้างการ์ตูน วินนี่ เดอะ พูห์
 
วันเกิด Alan Alexander Milne ผู้สร้างการ์ตูน วินนี่ เดอะ พูห์ (Winnie-the-Pooh) เขาเกิดในครอบครัวครูที่สก็อตแลนด์ แต่ไปเติบโตที่อังกฤษ หัดอ่านหนังสือตั้งแต่อายุ 2 ขวบ เมื่ออายุ 24 ปีได้เป็นบรรณาธิการนิตยสารแนวเสียดสีขบขันชื่อ "Punch" ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ขณะเขาเป็นทหารได้ใช้เวลาว่างในการเขียนบทละครเรื่อง "Mr.Pim Passes By" ซึ่งโด่งดังมากในปี 2462 หลังจากเขามีลูกชายชื่อ Chritopher Robin จึงเริ่มเขียนเรื่อง "วินนี่ เดอะ พูห์" ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากของเล่นของลูกชายนั่นเอง
18 มกราคม พ.ศ.2320 : กัปตัน เจมส์ คุก นักเดินเรือชาวอังกฤษ ค้นพบหมู่เกาะฮาวาย
 
กัปตัน เจมส์ คุก (James cook) นักเดินเรือชาวอังกฤษ ค้นพบเกาะแห่งหนึ่งซึ่งเขาให้ชื่อว่า "เกาะแซนด์วิช" (Sandwich Island) ต่อมารู้จักกันดีในชื่อ หมู่เกาะฮาวาย (Hawaii Island) นอกจากนี้เขายังเป็นผู้คนพบเกาะอีกหลายแห่ง เช่น เกาะนิวซีแลนด์ เป็นต้น
19 มกราคม พ.ศ.2545 : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ อาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อาคารออกแบบโดย เฮลมุต ยาห์น (Helmut Jahn) สถาปัตนิกชาวอเมริกัน-เยอรมัน โครงสร้างหลักประกอบด้วยเหล็กและแก้ว ซึ่งยาห์นบอกว่าเป็น "สถาปัตยกรรมแห่งศตวรรษที่ 21" สถามบินแห่งนี้เริ่มเปิดทดลองใช้สนามบินเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2549 และเปิดบริการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กันยายน 42549 ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งโครงการประมาณ 155,000 ล้านบาท
19 มกราคม พ.ศ.2489 : เปิดประชุมสมัชชาองค์การสหประชาชาติครั้งแรก
 
เปิดประชุมสมัชชา องค์การสหประชาชาติ ครั้งแรกที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ผลปรากฏว่า เฮนรี่ สปาร์ค (Paul Henri Spaak) ชาวเบลเยี่ยมได้รับเลือกเป็นประธานสมัชชาใหญ่ครั้งแรก และผู้แทนไทยได้รับเลือกเป็นประธานสมัชชาสมัยที่ 11 คือ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์
19 มกราคม พ.ศ.2279 : วันเกิด เจมส์ วัตต์ วิศวกรและนักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ
 
วันเกิด เจมส์ วัตต์ (James Watt) วิศวกรและนักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ ผู้พัฒนากำลังและประสิทธิภาพของเครื่องจักรไอน้ำซึ่งออกแบบโดย โทมัส นิวโคเมน ให้ดีมากขึ้น เครื่องจักรไอน้ำมีบทบาทสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเกิดขึ้นในอังกฤษช่วงปลายศตวรรษที่ 18 นอกจากนั้นเขาเป็นผู้บัญญัติศัพท์ "แรงม้า" (horsepower) และหน่วยวัตกำลังที่เรียกว่า วัตต์ (watt) ก็ได้ชื่อตามชื่อของเขา

20 มกราคม พ.ศ.2539 : สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นองค์ประธานในพิธีปล่อยเรือหลวงจักรีนฤเบศร
 
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีปล่อย เรือหลวงจักรีนฤเบศร ลงน้ำ ณ อู่เรือบาซาน ประเทศสเปน ก่อนจะขึ้นระวางประจำการเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2540 เป็นเรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ลำแรกและลำเดียวในขณะนี้ของราชนาวีไทย ใช้ปฏิบัติภารกิจด้านยุทธการและช่วยเหลือภัยพิบัติตลอดน่านน้ำไทยทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ระวางขับน้ำเต็มที่ 11,485.5 ตัน ยาว 182.50 ม. กว้างสุด 30.50 ม. กินน้ำลึก 6.25 ม. ใช้เครื่องยนต์ดีเซล 2 เครื่อง กำลัง 11,780 แรงม้า และเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ จำนวน 2 เครื่อง กำลัง 44,250 แรงม้า ความเร็วสูงสุด 26 นอต ทหารประจำเรือ 601 คน ทหารประจำหน่วยบิน 758 คน สามารถบรรทุกเครื่องบินขึ้นลงทางดิ่ง (SEA HARRIER) ได้ 9 เครื่อง และเฮลิคอปเตอร์ (SEA HAWK) อีก 6 เครื่อง ใช้งบประมาณในการสร้าง 7 พันล้านบาท
20 มกราคม พ.ศ.2413 : วันเกิด พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ
 
วันเกิด พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ เกิดที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบล บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 15 ปี และอุปสมบถเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2436 ที่วัดเลียบ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี จากนั้นได้เข้าฝึกปฏิบัติธรรม ในสำนักวิปัสสนากับอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ได้เริ่มศึกษาพระธรรมวินัยและฝึกปฏิบัติสมาธิ เดินจงกรม ต่อมาได้แสวงหาวิเวก บำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ ตามราวป่าชัฎ ป่าช้า และลงมาศึกษากับนักปราชญ์ในกรุงเทพฯ จากนั้นก็ธุดงค์ไปทั่วภาคกลาง-อีสาน ท่านได้ปฏิบัติตนอย่างสมถะเป็นตัวอย่างพร้อมกับการสั่งสอนธรรมะแก่ประชาชนทั่วไปตลอดมาจนกระทั่งมรณะภาพในปี 2492 ที่วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร ขณะอายุ 80 พรรษา นับได้ว่าท่านเป็นพระเถระที่มีเกียรติคุณเด่นที่สุดในด้านวิปัสสนาธุระรูปหนึ่งในยุคปัจจุบัน จนมีศิษย์จำนวนมาก
20 มกราคม พ.ศ.2411 : ร.5 เสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อยอด พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม
 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินทรงเททองหล่อยอด พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม พระปฐมเจดีย์เป็นพระเจดีย์ใหญ่และสูงที่สุดในประเทศไทย เป็นปูชนียสถานอันศักดิ์สิทธิ์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้ภายใน สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยทวารวดี
21 มกราคม พ.ศ.2453 : วันเกิดครูเอื้อ สุนทรสนาน
 
วันเกิด เอื้อ สุนทรสนาน หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ครูเอื้อ นักร้อง นักแต่งเพลง และเป็นผู้ก่อตั้งวงดนตรี สุนทราภรณ์ เกิดที่บ้าน อ. อัมพวา จ. สมุทรสงคราม ต่อมาได้เรียนดนตรีกับ พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทะยะกร) เริ่มทำงานในกรมมหรสพ และได้ร้องเพลง “ในฝัน” ในภาพยนตร์เรื่อง “ถ่านไฟเก่า” เป็นครั้งแรก ต่อมาได้ตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ ขณะทำงานอยู่ที่กรมโฆษณาการ หรือกรมประชาสัมพันธ์ในปัจจุบัน มีผลงานเพลงกว่า 1,000 เพลง ครอบคลุมทั้งเพลงเทศกาล เพลงสถาบัน เพลงรัก เพลงสะท้อนสังคม และอื่นๆ อีกมากมาย ครูเอื้อเสียชีวิตเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 รวมอายุได้ 71 ปี
22 มกราคม พ.ศ.2491 : หลวงกลการเจนจิตผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย เสียชีวิต
 
หลวงกลการเจนจิต (เภา วสุวัต) ผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทย เสียชีวิต เขาเป็นช่างถ่ายภาพยนตร์มืออาชีพประจำกองภาพยนตร์เผยแพร่ข่าว กรมรถไฟหลวง ผลงานของท่านได้สร้างชื่อเสียงจนผู้คนยุคนั้นเรียกหนังของกรมรถไฟหลวงว่า "หนังหลวงกล" ทั้งยังเป็นผู้ดัดแปลงสร้างอุปกรณ์ภาพยนตร์เสียงร่วมกับพี่น้องตระกูล วสุวัต และสร้างหนังไทยพูดได้เรื่องแรกคือ หลงทาง

22 มกราคม พ.ศ.2486 : รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศให้ใช้คำว่า สวัสดี เป็นคำทักทาย
 
รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ประกาศให้ใช้คำว่า สวัสดี เป็นคำทักทายเมื่อแรกพบกัน เป็นครั้งแรก คำว่า "สวัสดี" บัญญัติโดย พระยาอุปกิตศิลปสาร (นิ่ม กาญจนาชีวะ) เริ่มนำใช้ครั้งแรกในปี 2476 ขณะที่เป็นอาจารย์อยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ โดยทดลองใช้ในหมู่นิสิตก่อน อีก 62 ปีต่อมาเป็นยุคชาตินิยม จอมพล ป. จึงนำมาใช้อย่างเป็นทางการ คำว่าสวัสดี มาจากคำว่า "โสตถิ" ในภาษาบาลีหรือคำว่า "สวัสดิ" ในภาษาสันสกฤติ ซึ่งเป็นคำที่ใช้ในวรรณคดีไทยและในบทสวดมนต์มานานแล้ว
23 มกราคม พ.ศ.2424 : วันประสูติ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน
 
วันประสูติ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระนามเดิม พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร ราชโอรสองค์ที่ 35 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 กับเจ้าจอมมารดาวาด (กัลยาณมิตร) ต้นสกุล ฉัตรชัย ทรงเป็นทหารช่าง ทรงนำรถจักรดีเชลมาใช้เป็นประเทศแรกในเอเชีย ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงเป็นองค์แรก นอกจากนี้ยังทรงเป็นผู้วางรากฐานเรื่องการบิน การไปรษณีย์โทรเลข จัดตั้งสถานีวิทยุ ทรงสร้างถนนหลวงและสะพานหลายแห่ง เช่น สะพานพุทธยอดฟ้าฯ สะพานพระราม 6 เป็นต้น

24 มกราคม พ.ศ.2400 : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชสาส์น ถึงสมเด็จพระนางวิกตอเรียมหาราชินี
 
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระราชสาส์น ถึงสมเด็จพระนางวิกตอเรียมหาราชินีแห่งสหราชอาณาจักร อันได้แก่บริเตนใหญ่ ไอร์แลนด์และประเทศในอาณานิคม มีใจความว่า พระเจ้ากรุงบริตาเนียได้ส่งทูตานุทูตอังกฤษเข้ามาเจรจาทางพระราชไมตรีกับกรุงสยามสองครั้งแล้ว ฝ่ายกรุงสยามควรจะให้ทูตานุทูตสยามออกไปคำนับให้ถึงพระเจ้ากรุง พระเจ้ากรุงบริตาเนีย
24 มกราคม พ.ศ.2391 : เจมส์ วิลสัน มาร์แชล พบแร่ทองคำบริเวณแม่น้ำอเมริกาในเมืองโคโลมานำไปสู่ยุคตื่นทอง
 
เจมส์ วิลสัน มาร์แชล คนงานก่อสร้างโรงเลื่อย พบแร่ทองคำบริเวณแม่น้ำอเมริกาในเมืองโคโลมา แคลิฟอร์เนีย การค้นพบของเขานำไปสู่ยุคตื่นทองใน ค.ศ.1849 ที่ผู้คนจากทั่วสารทิศหลั่งไหล ไปยังแคลิฟอร์เนียเพื่อแสวงหาโชคจากขุมทองที่นั่น จนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในการอพยพครั้งใหญ่ที่สุด ในประวัติศาสตร์และนำความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่แคลิฟอร์เนีย
25 มกราคม พ.ศ.2485 : ประเทศไทยประกาศสงครามต่ออังกฤษและอเมริกาในสงครามโลกครั้งที่ 2
 
สงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศไทยประกาศสงครามต่ออังกฤษและอเมริกาในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม
26 มกราคม พ.ศ.2331 : ผู้อพยพชาวอังกฤษกลุ่มแรกประกอบด้วยนักโทษและผู้คุมเริ่มตั้งถิ่นฐานครั้งแรกในออสเตรเลีย
 
ผู้อพยพชาวอังกฤษกลุ่มแรกประมาณ 1,000 คนประกอบด้วยนักโทษและผู้คุม นำโดยกัปตันอาร์เธอร์ฟิลลิป เริ่มตั้งถิ่นฐานครั้งแรกในออสเตรเลียที่ ปอร์ต แจ๊กสัน (Port Jackson) บริเวณอ่าวซิดนีย์ อันเป็นที่ตั้งนครซิดนีย์ในปัจจุบัน
27 มกราคม พ.ศ.2482 : บริษัทแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด เปลี่ยนชื่อเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด
 
"บริษัทแบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด" เปลี่ยนชื่อเป็น "ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด" หลังจากรัฐบาลเปลี่ยนชื่อประเทศจาก "สยาม" เป็น "ไทย" ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ นายกกรรมการแบงก์สยามกัมมาจลในขณะนั้นเป็นผู้ประทานนามใหม่ให้ โดยทรงให้เหตุผลว่า "... ’กัมมาจล’ " แปลว่าการกระทำไม่เคลื่อนไหว แต่กิจการธนาคารไหวติงอยู่เรื่อยจึงจะดี"
28 มกราคม พ.ศ.2529 : ยานขนส่งอากาศแชลเลนเจอร์ระเบิดกลางอากาศหลังทะยานจากศูนย์อวกาศเคนเนดี้
 
ยานขนส่งอากาศแชลเลนเจอร์ระเบิดกลางอากาศหลังทะยานจากศูนย์อวกาศเคนเนดี้ แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา เพียง 73 วินาที ลูกเรือทั้งเจ็ดคนเสียชีวิต นับเป็นอุบัติเหตุร้ายแรงที่สุดที่เกิดกับโครงการขนส่งอวกาศของสหรัฐฯ และทำให้สหรัฐฯ หยุดโครงการขนส่งอวกาศของสหรัฐฯ และทำให้สหรัฐฯ หยุดโครงการอวกาศไปอีกเกือบ 3 ปี
29 มกราคม พ.ศ.2500 : จอร์น อุตซัน สถาปนิกชาวเดนมาร์ก ชนะการประกวดออกแบบโรงอุปรากรซิตนีย์ ประเทศออสเตรเลีย
 
จอร์น อุตซัน สถาปนิกชาวเดนมาร์ก ชนะการประกวดออกแบบโรงอุปรากรซิตนีย์ (Sydney Opera House) ประเทศออสเตรเลีย จากผู้เข้าประกวดทั้งหมด 233 รายทั่วโลก แต่ปรากฏว่าแบบของ อุตซัน ไม่สามารถก่อสร้างได้จริงด้วยเทคโนโลยีทางวิศวกรรมในยุคนั้น โดยเฉพาะส่วนหลังคาซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไขแบบอีกหลายปี อุตซันดำเนินโครงการอยู่จนถึงปี 2509 จึงลาออกเนื่องจากความขัดแย้งเรื่องงบประมาณและการออกแบบ รวมทั้งไม่พอใจที่รัฐบาลปฏิเสธการจ่ายเงินล่วงหน้าให้ตามสัญญา เดิมทีแผนการก่อสร้างโอเปราเฮาส์กำหนดจะใช้เวลาสี่ปี แต่ด้วยปัญหาต่างๆ จึงทำให้ใช้เวลาก่อสร้างจริงถึง 14 ปี
30 มกราคม พ.ศ.2491 : มหาตมา คานธี ถูกยิงเสียชีวิต
 
นาถูราม โคทเส ยิง มหาตมา คานธี ผู้นำทางการเมือง และ จิตวิญญาณของชาว อินเดีย เสียชีวิต ในเมืองเดลี
ภาพ "นาถูราม โคทเส" เป็นชาวนครปูเน (Pune) ประเทศอินเดีย เป็นนักเคลื่อนไหวและนักหนังสือพิมพ์ชาวฮินดูทวา (Hindutva) ผู้เป็นมือลอบสังหารมหาตมา คานธี ร่วมกับผู้ร่วมก่อการอื่นอีกเจ็ดคน
มูลเหตุของการลอบสังหาร:
เกิดจากสิ่งที่ โคทเส เห็นว่าเป็นการก่อวินาศกรรมซ้ำซากของคานธี ต่อผลประโยชน์ของชาวฮินดู โดยใช้ยุทธวิธีการแบล็กเมล์ "อดอาหารจนเสียชีวิต" ต่อหลายประเด็นปัญหา ในมุมมองของโคทเส คานธียกผลประโยชน์ให้แก่มุสลิมในหลายวิถีทางซึ่งดูอยุติธรรมและต่อต้านชาตินิยม เขากล่าวโทษคานธีสำหรับการแบ่งประเทศอินเดีย ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายแสนคนในความไม่สงบทางศาสนาที่ปะทุขึ้น

30 มกราคม พ.ศ.2449 : ร.5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้บริษัท แบงก์ สยามกัมมาจลทุนจำกัด ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์
 
ร.5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศพระราชทานอำนาจพิเศษให้ "บริษัทแบงก์สยามกัมมาจลทุนจำกัด" ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้อย่างเป็นทางการ นับเป็นธนาคารแห่งแรกของคนไทย
31 มกราคม พ.ศ.2514 : อพอลโล 14 เดินทางสู่ดวงจันทร์ จากแหลมคาร์นาเวอร์รัล รัฐฟลอริด้า ได้สำเร็จ
 
อพอลโล 14 เดินทางสู่ดวงจันทร์โดยนักบินอวกาศ อเลน บี. เชพเพิร์ด เจ อาร์, เอดการ์ ดี มิทเชลล์ และ สตูท เอ รูสา จากแหลมคาร์นาเวอร์รัล รัฐฟลอริด้า ได้สำเร็จ เชพเพิร์ดเป็นอเมริกันคนแรกในอวกาศ และเป็นนักบินอวกาศคนที่ 5 ที่เดินบน ดวงจันทร์ เชพเพิร์ดและมิทเชลล์อยู่บนดวงจันทร์เกือบ 34 ชม. เพื่อติดตั้งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ และเก็บตัวอย่างหินบนดวงจันทร์ โดยเดินทางกลับยังโลกในวันที่ 9 ก.พ. อย่างปลอดภัย