วันนี้ในอดีต/เดือนมีนาคม

1 มีนาคม พ.ศ.2475 : วันเกิด สุวรรณี สุคนธา เจ้าของบทประพันธ์ เขาชื่อกานต์
     วันเกิด สุวรรณี สุคนธา เจ้าของบทประพันธ์ เขาชื่อกานต์ (พ.ศ. 2513) ซึ่งได้รับรางวัลวรรณกรรมดีเด่นจากองค์การ ส.ป.อ. พ.ศ. 2519 ได้รับรางวัลนวนิยายยอดเยี่ยม จากเรื่อง "พระจันทร์สีน้ำเงิน" พ.ศ. 2524 ได้รับรางวัลชมเชยนิยายเยาวชน จากเรื่อง "สร้อยแสงแดง" พ.ศ. 2540 สุวรรณี สุคนธา เสียชีวิตเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 รวมอายุได้ 52 ปี "เงินย่อมไหลไปสู่มือคนฉลาดกว่าเสมอ คนโง่ คนสิ้นหวังทำงานให้คน ที่ร่ำรวยรวยยิ่งขึ้นไป นี่คือความจริงซึ่งมีให้เห็นอยู่ในสังคมเมืองของเรา ในขณะนี้" ส่วนหนึ่งของบทประพันธ์เรื่อง "เขาชื่อกานต์"
1 มีนาคม พ.ศ.2450 : รัฐบาลไทยเริ่มจัดประกวดพันธุ์ข้าวเป็นครั้งแรกที่เมืองธัญบุรี
     รัฐบาลไทยเริ่มจัดประกวดพันธุ์ข้าวเป็นครั้งแรกที่เมืองธัญบุรี เหตุผลการประกวดปรากฎในประกาศซึ่งเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุแห่งชาติว่า เดิมข้าวไทยเป็นสินค้าใหญ่ แต่ขณะนั้นราคาตกต่ำเมื่อเทียบกับข้าวจากชวา สาเหตุก็เพราะข้าวที่นำมาปลูกและจำหน่ายมีทั้งดีและเลวปนกัน ไม่มีการคัดเลือกจึงเห็นควรจัดประกวดพันธุ์ข้าวขึ้นเพื่อจะได้เป็นพันธุ์ต่อไป ครั้งนั้นมีชาวนาส่งข้าวเข้าประกวดถึง 324 ราย รวมข้าวได้ 165 พันธุ์ ข้าวที่ได้รับรางวัลที่ 1 ชื่อข้าวปิ่นทอง
2 มีนาคม พ.ศ.2534 : สารเคมีที่เก็บไว้ในโกดังของการท่าเรือแห่งประเทศไทยเกิดระเบิดขึ้น
     สารเคมีที่เก็บไว้ในโกดังของการท่าเรือแห่งประเทศไทยเกิดระเบิดและเกิดเพลิงลุกไหม้นานถึง 4 วัน เหตุระเบิดในครั้งนั้นเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที 4 คน บาดเจ็บและเจ็บป่วยเรื้อรังอีกจำนวนมาก จากการติดตามผลของมูลนิธิดวงประทีปและกลุ่มศึกษารณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรมทราบว่ามีคนเข้ารับการรักษา 1,700 คนเศษ ในจำนวนนี้มีหญิงมีครรภ์ 499 ราย มีคนบาดเจ็บสาหัสเนื่องจากการปฏิบัติการ 30 คน หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นมีคนตายอีก 43 ราย
2 มีนาคม พ.ศ.2512 : เครื่องบิน คองคอร์ด เครื่องบินที่เร็วที่สุดในโลก เริ่มทดลองบินวันแรก
     เครื่องบิน คองคอร์ด เริ่มทดลองบินวันแรก เครื่องบินที่เร็วที่สุดในโลกนี้เปิดบินเชิงพาณิชย์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2519 โดยสายการบินบริติชแอร์เวย์ บินจากลอนดอนถึงบาห์เรน และสายการบินฝรั่งเศส บินจากปารีสถึงกรุงริโอ คองคอร์ดได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และยุติการให้บริการไปเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2546 เนื่องจากมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการดูแล
3 มีนาคม พ.ศ.2466 : นิตยสาร TIME ออกวางจำหน่ายเป็นฉบับแรก
     นิตยสาร TIME ออกวางจำหน่ายเป็นฉบับแรก ก่อตั้งโดยนักศึกษาสองคนจากมหาวิทยาลัยเยล Henry R. Luce กับ Briton Hadden ปัจจุบันเป็นหนึ่งในนิตยสารข่าวที่มีผู้อ่านมากที่สุดในโลก
3 มีนาคม พ.ศ.2390 : วันเกิด อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) ผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์
   วันเกิดอเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (Alexander Graham Bell) ผู้ประดิษฐ์โทรศัพท์ เขาเกิดที่ เอดินเบิร์ก (Edinburgh) สกอตแลนด์ นอกจากนี้เขายังเป็นคนแรกที่ค้นคว้าเกี่ยวกับการหาตำแหน่งภูเขาน้ำแข็งด้วยเสียงสะท้อน ซึ่งต่อมาพัฒนาเป็นเครื่องโซนาร์ ประดิษฐ์ท่อสนอร์เกิลสำหรับหายใจใต้น้ำ
4 มีนาคม พ.ศ.2450 : มีประกาศกระทรวงวังว่ารัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เรียกพระที่นั่งใหม่ที่วังสวนดุสิตว่า พระที่นั่งอนันตสมาคม
      มีประกาศกระทรวงวังว่ารัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เรียกนามพระที่นั่งที่จะสร้างขึ้นใหม่ที่วังสวนดุสิตว่า "พระที่นั่งอนันตสมาคม" คงตามนามเดิมของพระที่นั่งซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงเคยสร้างไว้ในพระบรมมหาราชวัง
4 มีนาคม พ.ศ.2332 : สหรัฐอเมริกาประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ
     สหรัฐอเมริกาประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ โดย 2 ใน 3 ของมลรัฐทั้งหมดได้ให้สัตยาบันรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งได้แนวคิดในการแบ่งแยกอำนาจการปกครองมาจากหนังสือเจตนารมย์แห่งกฏหมาย (The Spirit of Laws) ของมองเตสกิเออร์ รัฐธรรมนูญจึงมีการแบ่งอำนาจการปกครองเป็นสามฝ่าย คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ มีลักษณะเป็นระบบคานอำนาจ (checks and balances) นับเป็นรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
5 มีนาคม พ.ศ.2436 : เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในกรรมสิทธิ์ดินแดนฝั่งแม่น้ำโขง
    เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในกรรมสิทธิ์ดินแดนฝั่งแม่น้ำโขง ประเทศไทยได้เสียดินแดนให้แก่ฝรั่งเศสรวม 5 ครั้ง เป็นพื้นที่ทั้งสิ้น 481,600 ตารางกิโลเมตร นับตั้งแต่ปลายรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จนถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โดยไทยต้องยินยอมเสียดินแดนบางส่วนไป เพื่อรักษาเอกราชและดินแดนส่วนใหญ่ไว้ ทำให้พื้นที่ประเทศไทยเหลืออยู่เพียง 513,600 ตารางกิโลเมตร
6 มีนาคม พ.ศ.2537 : เรือสัญชาติปานามาชนกับเรือบรรทุกน้ำมันเอสโซ่ทำให้น้ำมันดีเซลเกือบ 5 แสนลิตร ไหลลงสู่อ่าวไทยใกล้เกาะสีชัง
     เกิดอุบัติเหตุทางทะเลที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยเมื่อเรือสัญชาติปานามา ชื่อ "โนแวนคิง" บรรทุกปุ๋ยจากฟิลิปปินส์ ชนกับเรือบรรทุกน้ำมัน "เอสโซ่" ทำให้น้ำมันดีเซลเกือบ 5 แสนลิตร ไหลลงสู่อ่าวไทยใกล้เกาะสีชัง 

6 มีนาคม พ.ศ.2480 : วันเกิด วาเลนตินา วลาดิมิโรฟนา เทอเรสโควา นักบินอวกาศหญิงคนแรกของโลกที่ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ
     วันเกิด วาเลนตินา วลาดิมิโรฟนา เทอเรสโควา (Valentina Vladimirovna Tereshkova) นักบินอวกาศหญิงคนแรกของโลกที่ขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ชาวรัสเซีย โดยยานอวกาศ วอสตอก หก (Vostok VI) เมื่อวันที่ 16-19 มิถุนายน พ.ศ. 2506 โดยขณะนั้นเธอมีอายุเพียง 26 ปี
7 มีนาคม พ.ศ.2327 : มีพิธีอัญเชิญพระแก้วมรกต จากพระราชวังเดิม กรุงธนบุรี มาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
  มีพิธีอัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรหรือพระแก้วมรกต จากพระราชวังเดิมกรุงธนบุรี มาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งรัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพระบรมมหาราชวังเมื่อมีการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีในปี 2325
8 มีนาคม พ.ศ.2457 : เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในประเทศรัสเซียเพื่อล้มล้างพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 กษัตริย์องค์สุดท้ายของรัสเซีย
    เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในประเทศรัสเซียเพื่อล้มล้างพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 กษัตริย์องค์สุดท้ายของรัสเซีย และการปกครองแบบราชาธิปไตย
8 มีนาคม พ.ศ.2508 : กองทหารนาวิกโยธินสหรัฐ จำนวน 3,500 คน ขึ้นฝั่งเป็นครั้งแรกในช่วงเริ่มต้นสงครามเวียดนาม
    กองทหารนาวิกโยธินสหรัฐ จำนวน 3,500 คน ขึ้นฝั่งเป็นครั้งแรกในช่วงเริ่มต้นสงครามเวียดนาม โดยตั้งฐานทัพอยู่ใกล้ๆ หาดแดง เมืองดานัง
10 มีนาคม พ.ศ.2438 : ออกุส และ หลุยส์ พี่น้องตระกูลลูมิแอร์ ชาวฝรั่งเศส ได้ทดลองนำภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกไว้ ทดลองฉายครั้งแรกอย่างไม่เป็นทางการ
   ออกุส และหลุยส์ พี่น้องตระกูลลูมิแอร์ ชาวฝรั่งเศส ที่คิดค้นกล้องถ่ายและฉายภาพยนตร์ในตัวเดียวกันที่เรียกว่า Cinematographe (ดัดแปลงขึ้นหลังจากได้เห็นเครื่องถ่าย Kinetograph และเครื่องฉายภาพ Kinetoscope ของวิลเลี่ยม ดิคสันและโธมัส เอดิสัน) ได้ทดลองนำภาพเคลื่อนไหวที่บันทึกไว้ ทดลองฉายครั้งแรกอย่างไม่เป็นทางการในวันนี้ และทำให้ความหมายของคำว่าภาพยนตร์สมบูรณ์คือ ภาพยนตร์ต้องเป็นการนำเอาภาพเคลื่อนไหวฉายขึ้นบนจอภาพสีขาวเพื่อให้คนจำนวนมากได้ดูพร้อมกัน
10 มีนาคม พ.ศ.2529 : ดาวหางฮัลเลย์ เริ่มปรากฏบนฟากฟ้าเมืองไทยอีกครั้ง หลังจากครั้งก่อนที่ปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 5
     ดาวหางฮัลเลย์ (halley commet) เริ่มปรากฏบนฟากฟ้าเมืองไทยอีกครั้ง หลังจากครั้งก่อนที่ปรากฏในสมัยรัชกาลที่ 5 ( ดาวหางฮัลเลย์ เป็นดาวหางดวงหนึ่งที่มีความสว่างมาก สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นดาวที่มีการบันทึกข้อมูลไว้มากที่สุดและยาวนานที่สุด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 303 เป็นต้นมา)
11 มีนาคม พ.ศ.2484 : พิธีลงนาม (ในสัญญาสันติภาพ) ความตกลงกรณีพิพาทอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส
     พิธีลงนาม (ในสัญญาสันติภาพ) ความตกลงกรณีพิพาทอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส มีญี่ปุ่นเป็นผู้ไกล่เกลี่ย โดยฝ่ายฝรั่งเศส ยอมยกดินแดนแขวงหลวงพระบางฝั่งขวาแม่น้ำโขง แคว้นจัมปาศักดิ์ และแคว้นเขมร ให้แก่ไทย ความตกลงข้อนี้เป็นที่พอใจของฝ่ายไทยทุกประการ ในการนี้รัฐบาลไทยได้ประกาศให้หยุดราชการในวันที่ 12 มีนาคม 2484 และได้ประดับธงชาติไทยคู่กับธงชาติญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกมีกำหนด 3 วัน กับได้มีการสวนสนามฉลองชัยชนะที่พระนคร เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2484
11 มีนาคม พ.ศ.2498 : เซอร์ อเลกซานเดอร์ เฟลมมิง นักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบ ยาปฎิชีวนะ เพนิซิลิน เสียชีวิตด้วยวัย 73 ปี
     เซอร์ อเลกซานเดอร์ เฟลมมิง (Sir Alexander Fleming ค.ศ. 1881-1988) เสียชีวิตในวันนี้ด้วยวัย 73 ปี เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบ ยาปฎิชีวนะ เพนิซิลิน ขึ้นโดยบังเอิญในปี พ.ศ. 2472 ซึ่งส่งผลเป็นวงกว้างต่อการใช้ยาในการรักษาโรคหลายชนิด
12 มีนาคม พ.ศ.2367 : ประกาศสงครามครั้งแรกกับพม่าอย่างเป็นทางการ
     อังกฤษประกาศสงครามครั้งแรกกับพม่าอย่างเป็นทางการ สงครามครั้งนี้เกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าบาคญีดอ หลังประกาศสงคราม อังกฤษได้ส่งกองทัพบุกแคว้นยะไข่ (Arakan) และยึดร่างกุ้งได้ในเวลาต่อมา
13 มีนาคม พ.ศ.2506 : ที่ประชุมคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ให้กำหนดช้างเผือก เป็นสัตว์ประจำชาติไทย
     ที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการกำหนดต้นไม้ประจำชาติและสัตว์ประจำชาติของกรมป่าไม้ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้กำหนดช้างเผือก (White Elephant) เป็นสัตว์ประจำชาติไทย เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ที่มีบทบาทต่อประเทศไทยมาเป็นเวลานาน ต่อมาในวันที่ 26 พฤษภาคม 2541 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กำหนดเอาวันที่ 13 มีนาคมของทุกปีเป็น "วันช้างไทย" ด้วย
13 มีนาคม พ.ศ.2324 : เซอร์วิลเลียม เฮอร์สเชล นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ค้นพบดาวยูเรนัส (Uranus)
     เซอร์วิลเลียม เฮอร์สเชล (Sir Willam Herschel ค.ศ. 1738-1822) นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษ ค้นพบดาวยูเรนัส (Uranus) ยูเรนัสได้ชื่อมาจากเทพกรีก เทพแห่งสรวงสวรรค์ บุตรของไกอา ลูกชายของเขาคนหนึ่งคือ โครนอส หรือในชื่อโรมันว่า แซทเทิร์น (ดาวเสาร์)
14 มีนาคม พ.ศ.2422 : วันเกิด อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ เจ้าของทฤษฎีสัมพัทธภาพและสูตร E=mc2
    วันเกิด อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ เจ้าของทฤษฎีสัมพัทธภาพและสูตรอันโด่งดัง E=mc2 เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์เมื่อปี 2465 ไอน์สไตน์เป็นชาวยิวที่เกิดในเยอรมนี เมื่อฮิตเล่อร์ขึ้นสู่อำนาจตัดสินใจอพยพจากเยอรมนีไปอเมริกา และคัดค้านการขยายอิทธิพลของลัทธินาซี มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้สหรัฐสร้างอาวุธนิวเคลียร์ ได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลแห่งศตวรรษที่ 20
14 มีนาคม พ.ศ.2337 : อีไล วิทนีย์ ชาวอเมริกัน ได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เครื่องแยกเมล็ดฝ้ายออกจากเส้นใย (cotton gin)
     อีไล วิทนีย์ ชาวอเมริกัน ได้รับสิทธิบัตรการประดิษฐ์เครื่องแยกเมล็ดฝ้ายออกจากเส้นใย (cotton gin) ซึ่งเขาประดิษฐ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2336 สิ่งประดิษฐ์นี้ช่วยใหเกษตรกรผู้ปลูกฝ้ายสามารถทำงานได้เร็วกว่าการใช้มือถึง 50 เท่า ส่งผลให้มีการปลูกฝ้ายกันมากขึ้นจนกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญทางภาคใต้ของอเมริกาและเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมการผลิตฝ้าย การเพิ่มผลผลิตฝ้ายทำให้ความต้องการใช้แรงงานทาสผิวดำมีมากขึ้น จนเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมือง สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ยังเป็ส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดการปฎิวัติอุตสาหกรรมอีกด้วย
15 มีนาคม พ.ศ.2458 : มีพระบรมราชโองการในสมัยรัชกาลที่ 6 ให้มีการเลิกเล่นการพนัน
     มีพระบรมราชโองการในสมัยรัชกาลที่ 6 ให้มีการเลิกเล่นการพนัน โดยถือว่าการเล่นการพนันเป็นของต้องห้ามและเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2459 โดยก่อนหน้านั้นมีการลดจำนวนโรงหวยและเบี้ยให้ลดน้อยลง ซึ่งการพนันกลุ่มที่ถูกยกเลิกนี้ รวมถึงอากรหวยจีน หรือ หวย ก ข ด้วย
16 มีนาคม พ.ศ.2423 :งานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ อัครมเหสีองค์แรกในรัชกาลที่ 5
     งานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ หรือ สมเด็จพระนางเรือล่ม อัครมเหสีองค์แรกในรัชกาลที่ 5 ซึ่งสิ้นพระชนม์พร้อมพระราชธิดา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ จากอุบัติเหตุเรือล่มกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ในงานนี้มีการแจกหนังสือ "สวดมนต์" ซึ่ง ร. 5 ทรงมีพระราชดำริให้พิมพ์แจกเพื่อเป็นพระราชกุศล จำนวน 10,000 เล่ม นับเป็นหนังสืองานศพเล่มแรกของไทย
17 มีนาคม พ.ศ.2464 : ดร. แมรี่ สตูปส์ ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิของสตรีในการคุมกำเนิด เปิดคลินิกคุมกำเนิดแห่งแรกในประเทศอังกฤษ
    ดร. แมรี่ สตูปส์ ผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิของสตรีในการคุมกำเนิด เปิดคลินิกคุมกำเนิดแห่งแรกในประเทศอังกฤษที่กรุงลอนดอน ท่ามกลางกระแสต่อต้านของแพทย์และนักบวชซึ่งกลัวว่าจะเป็นการส่งเสริมให้คนละเมิดศีลธรรม และทำให้ผู้คนมีอิสระในการมีเพศสัมพันธ์ คลินิกนี้บริการให้คำปรึกษาในเรื่องคุมกำเนิดฟรีและบริการคุมกำเนิดในราคาถูกเพื่อช่วยเหลือสตรีซึ่งมีฐานะยากจนที่ต้องแบกภาระในการตั้งครรภ์
18 มีนาคม พ.ศ.2481 : เปิด สวนสัตว์ดุสิต หรือ เขาดินวนา ให้ประชาชนเข้าชม
    เปิด "สวนสัตว์ดุสิต" ให้ประชาชนเข้าชม การเริ่มต้นของสวนสัตว์แห่งนี้มีมาตั้งแต่สมัย ร.5 ระยะแรกสร้างไว้เป็นที่พักผ่อนส่วนพระองค์บริเวณพระราชอุทยานสวนดุสิต มีชื่อว่า "เขาดินวนา" ต่อมาได้รับพระราชทานที่ดินบริเวณเขาดินวนา สนามเสือป่า และสวนอัมพรมาปรับปรุงให้เป็นสวนสัตว์สำหรับประชาชน
18 มีนาคม พ.ศ.2503 : เปิดสำนักงานองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ ถ. ศรีอยุธยา
     เปิดสำนักงานองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ ถ.ศรีอยุธยา มีพันเอกเฉลิมชัย จารุวัสตร์ เป็นผู้อำนวยการคนแรก ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
19 มีนาคม พ.ศ.2495 : รถขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่รู้จักกันในชื่อ รถจิป วิลลี่ (willys jeep) ผลิตได้ 1 ล้านคัน ตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2482
    รถขับเคลื่อนสี่ล้อ ที่รู้จักกันในชื่อ รถจิป วิลลี่ (willys jeep) ผลิตได้ 1 ล้านคัน ตั้งแต่เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. 2482 ในตอนแรก รถคันนี้ออกแบบให้เป็นรถอเนกประสงค์ (General Purpose vehicle) และกลายเป็นสัญลักษณ์ของกองทัพบกอเมริกัน เพราะนิยมใช้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยเรียกชื่อเล่นๆ ว่า จีพี (Gee Pee) ซึ่งต่อมากร่อนเสียงเป็น “จิป” (Jeep)
20 มีนาคม พ.ศ.2270 : เซอร์ ไอแซค นิวตัน นักฟิสิกส์และนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ เสียชีวิตในลอนดอน
    เซอร์ ไอแซค นิวตัน (Sir Isaac Newton พ.ศ. 2185-2270) เสียชีวิตในลอนดอน เขาเป็นนักฟิสิกส์และนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงที่สุดผู้หนึ่งในประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ ผลงานที่สำคัญได้แก่ กฏการเคลื่อนที่ของนิวตัน (Newton’s Laws of Motion) ซึ่งทำให้เกิดวิชากลศาสตร์, การค้นพบกฏความโน้มถ่วง (Gravitation) และแคลคูลัส (Calculus) อันเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งในวิชาคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ นิวตันเป็นผู้สร้างกล้องโทรทัศน์แบบสะท้อนแสงเครื่องแรก และเป็นคนแรกที่ใช้ปริซึมแยกแสงออกเป็นสีต่างๆ ในสเปกตรัม คือ พบว่าแสงสีขาวประกอบด้วยแถบสีต่างๆ ของรุ้งกินน้ำ

21 มีนาคม พ.ศ.2449 : วันเกิด จิม ทอมป์สัน ชาวอเมริกันซึ่งทั่วโลกรู้จักในนาม ราชาไหมไทย
     วันเกิด จิม ทอมป์สัน ชาวอเมริกันซึ่งทั่วโลกรู้จักในนาม "ราชาไหมไทย" จิม ทอมป์สันหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอยขณะไปพักผ่อนที่มูนไลท์ คอทเทจ ในคาเมรอน ไฮแลนด์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นรีสอร์ทใจกลางป่าดงดิบ สาเหตุการหายตัวไปของเขายังคงเป็นปริศนาจนทุกวันนี้
21 มีนาคม พ.ศ.2228 : วันเกิด โยฮันน์ เซบาสเตียน บ๊าค ประพันธกรชาวเยอรมัน อัจฉริยะทางดนตรี
     วันเกิด โยฮันน์ เซบาสเตียน บ๊าค (Johann Sebastian Bach) ประพันธกรชาวเยอรมัน  อัจฉริยะทางดนตรี ผู้แต่งเพลงสำหรับวงออเครสตร้าไว้เป็นจำนวนมาก
22 มีนาคม พ.ศ.2535 : สมัชชาสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปีเป็น วัน World Day for Water
     ในปี พ.ศ.2535 สมัชชาสหประชาชาติ ได้ประกาศให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปีเป็น "วันของโลกสำหรับน้ำ" หรือ "World Day for Water" เพื่อทั้งกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในหมู่มวลมนุษยชาติในเรื่องการอนุรักษ์น้ำ และการพัฒนาแหล่งน้ำ
24 มีนาคม พ.ศ.2493 : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จนิวัติประเทศไทยพร้อม ม.ร.ว. สิริกิติ์ กิติยากร
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จนิวัติประเทศไทยพร้อม ม.ร.ว. สิริกิติ์ กิติยากร พระคู่หมั้น และได้ทรงประทับบนเรือหลวงศรีอยุธยา ที่กองทัพเรือจัดถวาย เป็นเรือพระที่นั่งในคราวเสด็จพระราชดำเนิน จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ นิวัติพระนคร
26 มีนาคม พ.ศ.2439 : ร. 5 พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรก
   ร.5 พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟหลวงสายแรกในพระราชอาณาจักรคือสายนครราชสีมา ซึ่งขณะนั้นสร้างเสร็จตอนหนึ่งระหว่างสถานีกรุงเทพฯ ถึงอยุธยา ถือได้ว่ากิจการรถไฟหลวงของไทยได้ถือกำเนิดตั้งแต่บัดนั้น การรถไฟได้ถือเอาวันที่ 26 มีนาคมเป็น วันสถาปนาการรถไฟของไทย
26 มีนาคม พ.ศ.2370 : บีโทเฟน (Lidwig van Beethoven) ยอดอัจฉริยะทางดนตรีของโลกถึงแก่กรรม
     บีโทเฟน (Lidwig van Beethoven ค.ศ. 1770-1827) ยอดอัจฉริยะทางดนตรีของโลกถึงแก่กรรม แม้เขาจะสูญเสียประสาทการได้ยิน (หูหนวก) เมื่อเริ่มแต่งซิมโฟนีหมายเลขสอง แต่เขาก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อีกมาก ผลงานซิโฟนีทั้งหมดของเขาเป็นผลงานที่มิอาจประเมินค่าได้
27 มีนาคม พ.ศ.2404 : อิตาลีประกาศตั้งกรุงโรม เป็นเมืองหลวง
     อิตาลีประกาศตั้งกรุงโรม เป็นเมืองหลวง
28 มีนาคม พ.ศ.2473 : ประเทศตุรกี เปลี่ยนชื่อกรุง คอนสแตนติโนเปิล อดีตเมืองหลวงของจักรวรรดิไบแซนไทน์และออตโตมัน เป็น อิสตันบูล
     เปลี่ยนชื่อกรุง "คอนสแตนติโนเปิล" อดีตเมืองหลวงของจักรวรรดิไบแซนไทน์และออตโตมัน เป็น "อิสตันบูล" อันเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศตุรกี ตั้งอยู่ที่จุดใต้สุดของช่องแคบบอสพอรัส เป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกตะวันตกและตะวันออก เพราะเป็นเมืองเดียวในโลกที่ตั้งอยู่บนสองทวีปคือเอเชียและยุโรป
29 มีนาคม พ.ศ.2493 : วันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8
  วันถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ณ พระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468 ณ เมืองไฮเดลเบิร์ก ประเทศเยอรมัน เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อพระชนมายุได้ 10 พรรษา จึงต้องมีคณะผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ปฏิบัติหน้าที่แทนพระองค์ เสด็จนิวัติประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จึงได้ถวายราชกิจ เพื่อให้ทรงบริหารโดยพระราชอำนาจ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ได้เกิดเหตุการณ์อันไม่คาดฝัน พระองค์ต้องอาวุธปืน เสด็จสวรรคต ณ ที่นั่งบรมพิมานในพระบรมมหาราชวัง ยังความเศร้าสลด และความอาลัยรักจากพสกนิกรเป็นที่ยิ่ง

30 มีนาคม พ.ศ.2530 : ภาพ Sunflowers ของ Vincent van Gogh ถูกประมูลขายไปในราคาที่ขณะนั้นถือว่าเป็นภาพที่มีราคาแพงที่สุดในโลก
     ภาพ Sunflowers ของ Vincent van Gogh ถูกประมูลขายไปในราคา 22,500,000 ปอนด์ หรือประมาณ 1,350 ล้านบาท ที่สำนักงานประมูลคริสตีส์ (Christie’s) ในขณะนั้นถือว่าเป็นภาพที่มีราคาแพงที่สุดในโลกที่เคยมีมา
31 มีนาคม พ.ศ.2432 : พิธีเปิดหอไอเฟล สัญลักษณ์สำคัญของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส
    พิธีเปิดหอไอเฟล สัญลักษณ์สำคัญของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้แสดงชั่วคราวในงานนิทรรศการปารีสและการฉลองครบรอบร้อยปีแห่งการปฏิวัติฝรั่งเศส ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดย อเล็กซานเดอร์ กุสตาฟ ไอเฟล วิศวกรชาวฝรั่งเศส เมื่อสร้างเสร็จได้กลายเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงที่สุดในโลกเป็นเวลากว่า 40 ปี