-
Category: วันนี้ในอดีต
-
Published on Monday, 22 May 2017 04:40
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 8136
1 เมษายน พ.ศ.2558 : วันโกหกโลก
วันโกหกโลก วันที่ 1 ทีไรคนไทยเป็นสุขใจทุกที เพราะเป็นวันเงินเดือนออก แถมยังเป็นวันที่นักเสี่ยงโชคร่าเริงสุดๆ เพราะเป็นวันหวยออกนั่นเอง
แต่สำหรับชาวฝรั่ง วันที่ 1 เมษายน กลับเป็นวันที่พวกเขาเรียกกันว่า "April Fool’s Day" ซึ่งก็คือ วันแห่งการโกหก หรือเรียกอีกชื่อว่า วันเมษาหน้าโง่ เป็นวันที่ทุกคนสามารถแกล้งกันสนุกสนานด้วยการโกหก โดยไม่ถือโทษโกรธกัน ดังนั้น อาจะมีการปล่อยข่าว (ลือ) ต่างๆ นานา ก่อนจะมาเฉลยทีหลังว่า เป็นเรื่องไม่จริงแต่อย่างใด เช่น การปล่อยข่าวลือดาราดังเสียชีวิต เป็นต้น
1 เมษายน พ.ศ.2524 : เอื้อ สุนทรสนาน ผู้ก่อตั้งวงสุนทราภรณ์ ถึงแก่กรรม
ครูเอื้อเป็นนักดนตรี นักร้อง นักแต่งเพลง ผู้ก่อตั้งวง สุนทราภรณ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2453 ที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสาคร เริ่มเรียนดนตรีกับ พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทะยะกร) หัดสีไวโอลินและเป่าแซกโซโฟน ในปี 2467 เป็นนักดนตรีประจำกองเครื่องสายฝรั่งหลวง ที่กรมมหรสพ ได้ร้องเพลง ในฝัน ในภาพยนตร์เรื่อง ถ่านไฟเก่า เป็นครั้งแรก ต่อมาได้ตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์เมื่ออยู่กรมโฆษณาการ (กรมประชาสัมพันธ์ปัจจุบัน) มีผลงานเพลงกว่า 1,000 เพลง ครอบคลุมทั้งเพลงเทศกาล เพลงปลุกใจ เพลงสถาบัน เพลงรัก เพลงสะท้อนสังคม เพลงรำวง เพลงลีลาส ฯลฯ ทั้งที่บันทึกเสียงแล้ว และยังไม่ได้บันทึกเสียง อีกกว่า 700 เพลง ท่านได้รับแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ถึง 4 ครั้ง และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุด ตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ ในปี 2518
1 เมษายน พ.ศ.2432 : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกาศพระบรมราชโองการให้ถือวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่
ประกาศพระบรมราชโองการให้ถือวันที่ 1 เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ จากเดิมที่เคยถือวันขึ้นปีใหม่ 2 ครั้ง คือ วันขึ้น 1 ค่ำเดือนห้า ซึ่งเป็นอิทธิพลจากลัทธิพราหมณ์ และวันสงกรานต์ อีกทั้ง ในปีนี้วันที่ 1 เมษายน (รัตนโกสินทร์ศก. 108) ก็ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำเดือนห้าพอดี
1 เมษายน พ.ศ.2435 : จัดตั้งกระทรวงศึกษาธิการ (เดิมคือกระทรวงธรรมการ) ทำหน้าที่บริหารงานด้านการศึกษาของชาติเป็นสำคัญ
ตั้งกระทรวงศึกษาธิการ (เดิมคือกระทรวงธรรมการ) มีพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เป็นเสนาบดีคนแรก ทำหน้าที่บริหารงานด้านการศึกษาของชาติเป็นสำคัญ
2 เมษายน พ.ศ.2395 : พระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก
พระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรก ตรงกับสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยทรงมีพระดำริว่าวันที่พระองค์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกนั้นเป็นมหามงคลสมัย ซึ่งประเทศทั้งปวงที่มีพระเจ้าแผ่นดินย่อมนับถือวันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล จึงได้ทรงพระราชดำริจัดการพระราชกุศลพระราชทานชื่อว่า "ฉัตรมงคล" นี้ขึ้น การพระราชพิธีฉัตรมงคลเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงริเริ่มนั้น มีสวดมนต์เลี้ยงพระ เวียนเทียนสมโภชพระมหาเศวตฉัตรที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในปัจจุบันได้กำหนดให้วันที่ 5 พฤษภาคม เป็น วันฉัตรมงคล
2 เมษายน พ.ศ.2394 : พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคต พระราชสมภพเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2330 เป็นพระราชโอรสองค์ใหญ่ ในสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 กับเจ้าจอมมารดาเรียม ทรงเสวยราชสมบัติเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2367 ก่อนหน้านั้นได้ทรงรับราชการหลายหน้าที่ด้วยกันคือ กำกับราชการกรมท่าและกรมตำรวจ ทรงว่าราชการกรมพระคลังมหาสมบัติ เป็นแม่กองกำกับลูกขุน ณ ศาลหลวงและตุลาการทุกศาล ทรงค้าขายทางสำเภาจีน นำเงินรายได้เข้าท้องพระคลังเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้น ได้ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนา รวบรวมสรรพตำราวิทยาการต่างๆ พัฒนาการเศรษฐกิจไทยหลายๆ ด้าน โดยการเจริญสัญญาทางพระราชไมตรีกับต่างประเทศ ทำให้รัฐมั่งคั่งเป็นอันมาก
2 เมษายน พ.ศ.2498 : วันพระราชสมภพของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
วันพระราชสมภพของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชธิดาองค์ที่ 2 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พระนามเดิมว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย แต่ข้าราชบริพารเรียกกันทั่วไปว่า "ทูลกระหม่อมน้อย"
ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยศักดิ์ขึ้นเป็น "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี" เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2520 ทรงเริ่มการศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา จากนั้นทรงเข้าศึกษาคณะอักษรศาสตร์ สาขาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทรงศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านจารึกภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และปริญญาโท สาขาภาษาบาลีและสันสกฤต จากภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
หลังจากนั้นทรงเข้าศึกษาระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พระองค์ทรงมีความสามารถหลายด้าน เช่น ประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ วรรณคดี ดนตรีและนาฏศิลป์ ทรงได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ในปี 2534 และรางวัลอินทิรา คานธี สาขาสันติภาพ การลดอาวุธและการพัฒนา ในปี 2547 พระองค์มักจะเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรร่วมกับพระบาทสมเด็จกพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถมาตลอด ด้วยทรงมีพระจริยวัตรงดงาม ยิ้มแย้มแจ่มใจ และอารมณ์ดี จึงทรงเป็นที่เคารพรักของประชาชนไทยเป็นอย่างมาก
3 เมษายน พ.ศ.2516 : โทรศัพท์มือถือเครื่องแรกถูกผลิตขึ้น
โทรศัพท์มือถือ (mobile or cell phone) เครื่องแรกถูกผลิตขึ้น โดย มาร์ติน คูเปอร์ (Martin Cooper) ผู้จัดการทั่วไปของบริษัท โมโตโตลา (Motorola) คูเปอร์ก็ได้ทดลองใช้โทรศัพท์มือถือโมโตโรลา DynaTAC ซึ่งเป็นต้นแบบ โทรไปหา โจเอล เอ็งเจล (Joel Engel) หัวหน้านักวิจัยของบริษัท AT&T และ Bell Labs ก่อนที่โทรศัพท์มือถือ Motorola DynaTAC 8000X จะออกวางจำหน่ายในปี 2526 ไดนาแทคของคูเปอร์จึงเป็นโทรศัพท์มือถือที่ปฏิวัติโลกแห่งการสื่อสารในยุคนั้น
3 เมษายน พ.ศ.2452 : วันสถาปนา โรงเรียนเสนาธิการทหารบก
วันสถาปนา โรงเรียนเสนาธิการทหารบก โดย จอมพลสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ได้ทรงริเริ่มก่อตั้งในขณะที่ทรงรับตำแหน่งเสนาธิการทหารบก เพื่อให้การศึกษาแก่นายทหารที่จะทำหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการ ทรงจัดการวางแนวทางหลักสูตรการศึกษาโรงเรียนเสนาธิการ และการคัดเลือกนายทหารที่มีคุณสมบัติอันเหมาะสมเข้ารับการศึกษา นอกจากนี้ยังทรงเรียบเรียงตำรา เรื่อง “พงษาวดารยุทธศิลปะ“ และเอกสารอื่นๆ ที่ใช้เป็นตำราศึกษาในโรงเรียนเสนาธิการยุคต้นอีกจำนวนมาก ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาของโรงเรียนเสนาธิการสืบจนถึงปัจจุบันนี้
4 เมษายน พ.ศ.2556 : วันภาพยนตร์แห่งชาติ
วันภาพยนตร์แห่งชาติ หรือ วันหนังไทย ตรงกับวันที่ 4 เมษายน ของทุกปี โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานให้วันนี้เป็น วันภาพยนตร์แห่งชาติ โดยเดิมสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ นอกจากจะได้มีการจัดการประกวดประกาศผลภาพยนตร์แห่งชาติแล้ว ยังได้จัดกิจกรรมพิเศษเพื่อหนังไทยขึ้นมาอีกงานควบคู่กันไป ในวันที่ 4 เมษายน แต่ต่อมาได้ย้ายประกาศผลภาพยนตร์มาอยู่ในช่วงเดือนมกราคม
4 เมษายน พ.ศ.2531 : คณะรัฐมนตรีมีมติระงับการสร้างเขื่อนน้ำโจน
คณะรัฐมนตรี มีมติระงับการสร้างเขื่อนน้ำโจน ซึ่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (ในสมัยนั้น) ได้พยายามผลักดันให้มีการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าปิดกั้นลำน้ำแควตอนบน บริเวณเขาน้ำโจน เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี โดยฝ่ายนักอนุรักษ์คนสำคัญ เช่น สืบ นาคะเสถียร หมอบุญส่ง เลขะกุล ได้เข้าคัดค้านอย่างเต็มที่ เนื่องจากการสร้างเขื่อนจะทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 85,625 ไร่ ที่ระดับความสูง 370 ม. น้ำจะท่วมใจกลางป่าทุ่งใหญ่ฯ เป็นพื้นที่ประมาณ 80,000 ไร่ ต้องใช้เวลาในการก่อสร้างและตัดไม้ออกจากบริเวณอ่างเก็บน้ำนานถึง 3 ปีครึ่ง เงินทุนที่ใช้ในการก่อสร้างกว่า 12,000 ล้านบาท เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 3.6 ของประมาณการความต้องการพลังงานไฟฟ้าปี 2532 การสร้างเขื่อนน้ำโจนก็คือการทำลายป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ผืนป่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งได้รับการประกาศจากองการณ์ยูเนสโกให้เป็น พื้นที่มรดกทางธรรมชาติของโลก
4 เมษายน พ.ศ.2124 : ฟรานซิส เดรก เดินทางรอบโลกสำเร็จเป็นคนแรก
ฟรานซิส เดรก (Sir Francis Drake) เป็นนักเดินเรือชาวอังกฤษคนแรกที่เดินทางรอบโลกสำเร็จ เขาออกจากท่าเรือในอังกฤษด้วยเรือ โกลเดนไฮนด์ (Goldenhinde) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2120 เข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ผ่านช่องแคบแมกเจลัน ผ่านแหลมกูดโฮป เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2123 แล้วผ่านเกาะเปลิวกลับสู่อังกฤษ โดยใช้เวลาถึง 3 ปีในการเดินทางรอบโลก ตอนแรกออกเดินทางพร้อมกับกองเรือของอังกฤษอีก 5 ลำแต่ถูกพายุเสียหายเหลือเพียงเรือโกลเดนไฮน์กลับมาเพียงลำเดียว ปีต่อมา สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 1 ได้ทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นอัศวิน หรือ เซอร์ (Sir)
4 เมษายน พ.ศ.2484 : ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกออกฉายรอบปฐมทัศน์
พระเจ้าช้างเผือก หรือ The King of the White Elephant ภาพยนตร์ไทยเสียงภาษาอังกฤษในฟิล์ม ของ บริษัท ปรีดีภาพยนตร์ ออกฉายรอบปฐมทัศน์พร้อมกันถึง 3 ประเทศได้แก่ กรุงเทพฯ นิวยอร์ก และสิงคโปร์ ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างในปี 2483 จากบทประพันธ์ของปรีดี พนมยงค์ เป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่ได้เค้าโครงมาจากสงครามช้างเผือกและสงครามยุทธหัตถีของพระมหาจักรพรรดิ มีเนื้อหาสะท้อนแนวคิดด้านสันติภาพ นำเสนอธรรมะในการปกครองแผ่นดิน คัดค้านกระแสชาตินิยมและต่อต้านสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างประเทศ กำกับโดย สันห์ วสุธาร นำแสดงโดย เรณู กฤตยากร สุวัฒน์ นิลเสน ไพลิน นิลเสน หลวงศรีสุรางค์ฯ และประดับ รบิลวงศ์ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีส่วนในการสื่อสารกับสหประชาชาติ โดยเฉพาะอังกฤษและสหรัฐอเมริกาว่าไทยปรารถนาสันติภาพมากกว่าจะร่วมประกาศสงคราม จนวันที่ 16 สิงหาคม 2488 นายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้สำเร็จราชการแผ่นดินลงนามประกาศสันติภาพ ให้ถือว่าการประกาศสงครามที่รัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม เคยประกาศมาก่อนหน้านี้เป็นโมฆะ ทำให้ชาติไทยรอดพ้นจากการเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม แต่ภาพยนตร์ “พระเจ้าช้างเผือก” ได้ทำหน้าที่ประกาศสันติภาพให้ไทยไว้ล่วงหน้าไปแล้ว
5 เมษายน พ.ศ.2450 : วันเกิด อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดที่บางกอกใหญ่ จังหวัดธนบุรี เป็นบุตรของมหาอำมาตย์ตรี พระยาธรรมสารเวทย์วิเศษ-ภักดีฯ (ทองดี ธรรมศักดิ์) อธิบดีศาลอุทธรณ์ในสมัยนั้น กับ คุณหญิงชื้น ธรรมศักดิ์ เข้าศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญ สำเร็จเป็นเนติบัณฑิตจากโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม เมื่อปี 2471 ปีต่อมาได้ทุนเล่าเรียน รพีบุญนิธิ ไปศึกษาวิชากฎหมายที่ The Middle Temple London ประเทศอังกฤษ จากนั้นกลับเมืองไทยมาเป็นผู้พิพากษากระทรวงยุติธรรม ต่อมาได้เป็นอธิบดีศาลอุทธรณ์ และประธานศาลฎีกา เคยเป็นคณบดีคณะนิติศาสตร์ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นประธานองคมนตรีระหว่างปี 2518 – 2541 ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ท่านได้รับการโปรดเกล้าให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 12 ของไทย ซึ่งนับเป็นนายกฯ พระราชทานคนแรกของไทย สัญญา ธรรมศักดิ์นับว่าเป็นผู้ที่ยึดมั่นอุดมการณ์ ความยุติธรรมและเที่ยงธรรม ทำงานโดยไม่หวั่นเกรงอิทธิพลใดๆ นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ที่สนใจพุทธศาสนาและใช้ธรรมะเป็นหลักในการดำเนินชีวิตร่วมกับการทำงานด้านยุติธรรมมาตลอดชีวิต ท่านเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ขึ้นในปี 2477 ท่านถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2545
6 เมษายน พ.ศ.2475 : สะพานพระพุทธยอดฟ้าเปิดใช้อย่างเป็นทางการ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด สะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ หรือ สะพานพระพุทธยอดฟ้า สะพานแห่งนี้เป็นสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมฝั่งพระนครกับกรุงธนบุรี เพื่อเป็นอนุสรณ์และระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณใน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ที่ได้ทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร สร้างในปี 2472 ในโอกาสที่สถาปนากรุงเทพฯ ครบ 150 ปี พร้อมกับพระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี โดยใช้แบบของบริษัทดอร์แมน ลอง (DORMAN LONG & CO.LTD) ประเทศอังกฤษ ตัวสะพานเป็นเหล็กยาว 229.76 เมตร กว้าง 16.68 เมตร สูงเหนือน้ำ 7.50 เมตร และสามารถยกตอนกลางขึ้นด้วยแรงไฟฟ้า เปิดช่องกว้าง 60 เมตรเพื่อให้เรือใหญ่ผ่านได้สะดวก รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2472 ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 4 ล้านบาท
6 เมษายน พ.ศ.2452 : โรเบิร์ต เพียรี เดินทางถึงขั้วโลกเหนือเป็นคนแรก
โรเบิร์ต เพียรี (Robert Edwin Peary) นักสำรวจชาวอเมริกัน เป็นคนแรกที่เดินทางไปถึง ขั้วโลกเหนือ (North Pole) เพียรีเกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2399 ที่รัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา เข้าเป็นนาวิกโยธินสหรัฐในปี 2424 ระหว่างปี 2429-2434 เขาเคยสำรวจทวีปอาร์คติก (Arctic) บริเวณเกาะกรีนแลนด์ เขาได้เรียนรู้เทคนิคการดำรงชีพอยู่ท่ามกลางอากาศหนาวเย็นในทวีปน้ำเข็งจากชาวเผ่าอินนุยท์ (Inuit) ในปี 2441-2448 เขาเริ่มออกสำรวจขั้วโลกเหนือแต่ไม่สำเร็จ และวันที่ 1 มีนาคม 2452 เขาได้ออกสำรวจขั้วโลกเหนืออีกครั้งและไปตั้งแคมป์ที่ขั้วโลกเหนือได้สำเร็จในวันที่ 6 เมษายน พร้อมกับเพื่อนชาวอเมริกัน Matthew Henson ชาวเอสกิโม 4 คนได้แก่ Ootah, Egigingwah, Seegloo, Ooqueah และสุนัขลากเลื่อนอีก 40 ตัว
6 เมษายน พ.ศ.2439 : การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกยุคใหม่ครั้งแรก
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกยุคใหม่ (Olympic Games) เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ โดยมีนักกีฬาคนสำคัญของฝรั่งเศสชื่อ บารอน ปิแอร์ เดอ คูเบอร์แตง (Baron Pierre de Coubertin) เป็นผู้ริเริ่มและชักชวนหลายประเทศตั้งคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ซึ่งจัดขึ้น 4 ปีต่อ 1 ครั้ง โดยให้ประเทศสมาชิกหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกิดขึ้นเมื่อกว่า 1,200 ปีก่อนคริสตกาล ในยุคแรกๆ นักกีฬาจะต้องเปลือยกายเข้าแข่งขัน เพื่อประกวดความงามของกล้ามเนื้อ ส่วนใหญ่จะเป็นกีฬาการต่อสู้ เพื่อพิสูจน์ความแข็งแรง และห้ามผู้หญิงเข้าชม ภายหลังได้ปรับปรุงกีฬาและกฎกติการแล้วย้ายลงมาจัดที่เชิงเขาโอลิมปัส โอลิมปิกจัดมาเรื่อยๆ จนถึงปี พ.ศ. 936 (ค.ศ. 393) จักรพรรดิธีโอดอซิอุซที่ 1 (Theodosius I) แห่งโรมัน ได้ทรงประกาศให้ยกเลิก เพราะมีการจ้างนักกีฬาเข้ามาเล่นเพื่อหวังรางวัล และผู้เล่นปรารถนาสินจ้างมากกว่าการเล่นเพื่อสุขภาพของตน รวมทั้งมีการพนันขันต่อ อันเป็นทางวิบัติซึ่งผิดไปจากวัตถุประสงค์เดิม
6 เมษายน พ.ศ.2325 : รัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์ เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาหรือฝั่งธนบุรีมาที่ฝั่งตะวันออก โดยทรงทำพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 21 เมษายนปีเดียวกัน และทรงพระราชทานนามพระนครแห่งนี้ว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์" ซึ่งเป็นชื่อเมืองที่ยาวที่สุดในโลก ต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้จัดให้มีพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ทั้ง 5 รัชกาล และทรงประกาศให้เป็น "วันจักรี" ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
7 เมษายน พ.ศ.2488 : เรือรบ ยามาโตะ ของญี่ปุ่นจมสู่ก้นทะเล
เรือรบ ยามาโตะ (Yamato) ของญี่ปุ่นจมลงบริเวณทางเหนือของเกาะโอกินาวา เรือยามาโตะเป็นเรือประจัญบานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างมาจนถึงปัจจุบัน มีขนาดยาว 250 เมตร มีปืนขนาด 460 มม. ใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยบรรจุไว้ในเรือ ตั้งเรียงรายอยู่รอบลำซึ่งมีเกราะป้องกันตอปิโดหนาถึง 8 นิ้ว มีระวางขับน้ำถึง 69,100 ตัน จนใครๆ ต่างก็เชื่อว่าเรือลำนี้ไม่มีทางจมเด็จขาด ช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพสหรัฐอเมริกาบุกยึดเกาะโอกินาวาเพื่อเข้ายึดกรุงโตเกียว นักรบญี่ปุ่นได้ยืนหยัดสู้อย่างทรหด เรือยามาโตะก็ได้รับคำสั่งให้เข้าปฏิบัติการ KIKUSUI 1 ซึ่งแปลว่า ดอกเบญจมาศลอยน้ำ โดยมีภารกิจล่อฝูงบินอเมริกันให้ออกไปจากน่านน้ำเกาะโอกินาวา เช้าวันที่ 6 เมษายน 2488 เมื่อเรือยามาโตะเดินทางยังไม่ถึงน่านน้ำโอกินาวา ฝ่ายนาวิกโยธินสหรัฐฯ จับสัญญาณได้จึงส่งฝูงบินโจมตี 380 ลำ รุมทิ้งระเบิดเรือยามาโตะเป็นเวลาเกือบ 2 วัน จนในที่สุดเรือยามาโตะได้จมสู่ก้นทะเลพร้อมลูกเรือเกือบ 2,500 คน มีผู้รอดชีวิตเพียง 269 คนเท่านั้น
7 เมษายน พ.ศ.2491 : วันก่อตั้ง องค์การอนามัยโลก (WHO)
วันก่อตั้ง องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) องค์การสาขาขององค์การสหประชาชาติ (UN) ทำหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพและอนามัยของประชาชนโลกให้มีระดับสูงสุดเท่าที่จะทำได้ มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ กรุงเจนิวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 192 ประเทศทั่วโลก จากนั้นได้มีการกำหนดให้วันที่ 7 เมษายนของทุกปีเป็นวันอนามัยโลก โดยมีการจัดงานในทุกประเทศสมาชิกเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพอนามัย
7 เมษายน พ.ศ.2490 : เฮนรี ฟอร์ด ผู้ก่อตั้งฟอร์ด มอเตอร์ ถึงแก่กรรม
เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) ถึงแก่กรรม เขาเป็นนักธุรกิจชาวอเมริกันผู้บุกเบิกการผลิตรถยนต์และผู้ก่อตั้งบริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ ในปี 2447 ในสมัยที่สังคมอเมริกันยังนิยมรถม้า และมองว่ารถยนต์ยังเป็นสิ่งไร้สาระ ไว้ใจไม่ได้ และมีราคาสูงเกินจะไขว่คว้า แต่ด้วยความสามารถของฟอร์ด เขาเริ่มใช้ระบบสายพานการผลิตในรถยนตร์เป็นครั้งแรก ทำให้การผลิตรถยนต์รวดเร็วและได้จำนวนมากๆ ในปี 2451 รถยนต์ Ford Model T ของเขาก็ออกจำหน่ายเป็นครั้งแรก ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากอเมริกันชนเป็นอย่างดี เพราะเป็นรถยนต์ที่สวยงาม มีความแข็งแรงทนทาน และมีราคาถูกกว่ารถยนต์ญี่ห้ออื่นในตลาดเกือบครึ่ง เขามีส่วนในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนตร์ให้ก้าวหน้าขึ้นกลายเป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20
7 เมษายน พ.ศ.2440 : รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปครั้งแรก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปเป็นครั้งแรก โดยเรือพระที่นั่งมหาจักรีเพื่อทอดพระเนตรการปกครองของอารยะประเทศ รวมเวลา 7 เดือน พระองค์ได้ทรงเห็นบ้านเมืองที่มีการพัฒนาแล้ว รวมไปถึงระบบการคมนาคมขนส่ง ถนนหนทางที่สวยงามสะดวกสะบาย หลังจากเสด็จกลับจากถึงสยาม จึงมีพระราชดำริที่จะพัฒนาบ้านเมืองให้ทันสมัยเทียมเท่าต่างประเทศ
7 เมษายน พ.ศ.2310 : กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ครั้งที่ 2
กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ครั้งที่ 2 ในรัชสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ หลังจากถูกพม่าล้อมกรุงอยู่ 1 ปี 2 เดือน ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะแตก เจ้าเมืองตาก เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงต้องเสียทีแก่พม่าเป็นแน่แท้ จึงได้รวบรวมไพร่พลราว 500 คนตีฝ่าวงล้อมข้าศึกออกไปตั้งมั่นที่เมืองจันทบุรี จากนั้นก็ได้รวบรวมไพร่พลยกกลับไปตีข้าศึกเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2310 และสามารถกอบกู้เอกราชยึดกรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้ แต่ทรงเห็นว่าหากจะตั้งบ้านเมืองขึ้นมาใหม่คงจะเป็นเรื่องยาก เพราะกรุงศรีอยุธยาถูกทำลายจนเสียหายยับเยิน อีกทั้งข้าศึกก็รู้จักพื้นที่ในกรุงศรีอยุธยาอย่างปรุโปร่งหมดแล้ว ดังนั้นพระองค์จึงมีพระราชดำริ ให้ย้ายเมืองหลวงจากกรุงศรีอยุธยามายังกรุงธนบุรี และทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2311 เป็นกษัตริย์พระองค์แรกและพระองค์เดียวแห่งแผ่นดินกรุงธนบุรี พระนามว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
8 เมษายน พ.ศ.2537 : สะพานมิตรภาพไทย-ลาว เปิดใช้อย่างเป็นทางการ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นประธานร่วมในพิธีเปิด สะพานมิตรภาพไทย-ลาว ข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมระหว่าง อ.เมืองหนองคายกับนครเวียงจันทน์ สะพานแห่งนี้ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 30 ปี สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือของ 4 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ลาว และไทย ตัวสะพานมีความยาว 1.20 กิโลเมตร กว้าง 15 เมตร มีช่องสำหรับเดินรถ 2 ช่องทาง ซึ่งตรงช่วงกลางสะพานออกแบบไว้สำหรับสร้างทางรถไฟ เชิงสะพานมีด่านตรวจคนเข้าเมืองสะพานแห่งนี้ได้ช่วยสร้างความสัมพันธ์ไทย-ลาว ให้กระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ชาวอีสานและชาวลาวเรียกสะพานนี้ว่า "ขัวมิดตะพาบ"
8 เมษายน พ.ศ.2430 : กรมยุทธนาธิการ ถูกจัดตั้งขึ้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติ จัดตั้ง กรมยุทธนาธิการ ขึ้น โดยรวมกิจการ ทหารบก และ ทหารเรือ ไว้ด้วยกันเพื่อจัดกำลังทหารให้ทันสมัยทัดเทียมอารยประเทศ มีประสิทธิภาพ และให้หน่วยทหารต่างๆ ในกรมทหารมหาดเล็ก ไปขึ้นตรงกับกรมยุทธนาธิการ โดยมี สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศฯ เป็นเสนาบดีและต่อมาได้ยกฐานะเป็นกระทรวงยุทธนาธิการ เมื่อ 1 เมษายน 2433 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 6 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น กระทรวงกลาโหม (Ministry of Defense) มีหน้าที่ป้องกันประเทศ เพิ่มขีดความสามารถด้านการทหาร รักษาผลประโยชน์ของชาติ และสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับประเทศเพื่อนบ้าน
8 เมษายน พ.ศ.2327 : รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯให้สร้าง เสาชิงช้า
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ ให้ พระครูสิทธิชัย (กระต่าย) สร้าง เสาชิงช้า บริเวณหน้าวัดสุทัศน์เทพวราราม เสาชิงช้าทำด้วยไม้สักทาสีแดงชาดสูงประมาณ 21 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางฐานกลมประมาณ 10.5 เมตร ฐานกลมก่อเป็นฐานปัทม์ทำด้วยหินล้างสีขาว พื้นบนปูกระเบื้องดินเผาสีแดง มีบันได 2 ขั้น ทั้ง 2 ด้าน กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2492 เสาชิงช้าใช้ใน พิธีโล้ชิงช้า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ พิธีตรียัมปวาย เป็นการต้อนรับพระอิศวร หนึ่งในเทพเจ้าของของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งจะเสด็จลงมาสู่โลกในวันขึ้น 7 ค่ำเดือนยี่ วันนั้นจะมีการแห่พระเป็นเจ้าไปถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัว พิธีโล้ชิงช้ามีมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เดิมจัดในเดือนอ้าย (ธันวาคม) ครั้นเมื่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์จึงได้เปลี่ยนมาทำในเดือนยี่ (มกราคม) ต่อมาได้ยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 7 ทั้งนี้ เสาชิงช้าได้ชำรุดและมีการซ่อมแซมอยู่หลายครั้ง ล่าสุดกรุงเทพมหานครได้ตรวจพบร่องรอยเสาชิงช้าที่ชำรุดเมื่อปี 2547 จึงทำการซ่อมแซมและเปลี่ยนเสาชิงช้าใหม่ โดยทำพิธีบวงสรวงเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2549 โดยนำไม้สักทองจำนวน 6 ต้นมาจากจังหวัดแพร่ จากนั้น กทม. จะนำเนื้อเยื่อจากไม้สักทองไปเพาะชำเป็นกล้าไม้ 1 ล้านต้นเพื่อปลูกทดแทนที่จังหวัดแพร่
9 เมษายน พ.ศ.2528 : พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ
พระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ณ เมรุมาศ ท้องสนามหลวง สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์ ประสูติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2447 เป็นพระธิดาใน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ กับ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี เมื่อทรงเจริญพระชันษาได้ ๒ ปี พระบิดาได้นำเข้าไปถวายตัวแด่ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ตามราชประเพณีสมัยก่อน อภิเษกสมรสกับ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในปี 2468 หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน 2475 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปประเทศอังกฤษ เมื่อรัชกาลที่ 7 ได้เสด็จสวรรคต สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ยังทรงประทับอยู่ในประเทศอังกฤษต่อไป ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 คนไทยในอังกฤษได้รวมตัวกันจัดตั้ง ขบวนการเสรีไทย พระองค์ก็ได้พระราชทานพระกรุณาช่วยเหลือกิจการของเสรีไทยในประเทศอังกฤษมาตลอด ในปี 2492 รัฐบาลได้กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เชิญเสด็จกลับสู่กรุงเทพฯ พร้อมกับพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2527 ณ พระตำหนักวังศุโขทัย
9 เมษายน พ.ศ.2520 : ไทยโทรทัศน์เปลี่ยนเป็นองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย
บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด เปลี่ยนฐานะเป็น องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ทั้งนี้ บริษัท ไทยโทรทัศน์ จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 บริหาร สถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทยทีวี ช่อง 4 (บางขุนพรหม) เป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย แพร่ภาพครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2498 ภายหลังรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2520 เพื่อดำเนินกิจการสื่อสารมวลชนของรัฐให้มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นที่น่าเชื่อถือต่อสาธารณชน อ.ส.ม.ท.จึงรับโอนกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียง ท.ท.ท. และสถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทยทีวีสี ช่อง 9 มาดำเนินการต่อ โดยรัฐบาลได้มอบทุนประเดิมจำนวน 10 ล้านบาท จากนั้นเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2545 อ.ส.ม.ท. ได้เปลี่ยนเป็น โมเดิร์นไนน์ ทีวี (Modern 9 TV)
9 เมษายน พ.ศ.2510 : เครื่องบิน โบอิง 737 ออกบินครั้งแรก
เครื่องบิน โบอิง 737 (Boeing 737) เริ่มออกบินเป็นครั้งแรก โบอิง 737 ผลิตโดย บริษัท Boeing Commercial Airplanes ประเทศสหรัฐอเมริกา ปีต่อมาก็เริ่มออกให้บริการโดยสายการบิน Lufthansa ประเทศเยอรมนี โบอิง 737 จัดเป็นเครื่องบินลำตัวแคบ (Narrow-body aircraft) คือมีที่นั่งแถวละ 6 คน ใช้เครื่องยนต์ไอพ่น (Jet engine) 2 เครื่อง รุ่นแรกจุผู้โดยสารได้ 118 คน ลำตัวยาว 28.6 ม. ปีกยาว 28.3 ม. สูง 11.3 ม. นักหนัก 28.120 กก. เพดานบินสูงสุดที่ 35,000 ฟุต ทำความเร็วสูงสุดได้ 0.82 มัค บรรจุดเชื้อเพลงได้ 17,860 ล. เครื่องบินโบอิง 737 ได้มีการพัฒนาต่อมาอีกกว่าสิบรุ่น รุ่นล่าสุดคือ 737-900ER ซึ่งเริ่มผลิตในปี 2549 ที่ผ่านมา โบอิง 737 นับเป็นเครื่องบินโดยสารระยะกลาง-ไกลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก ปัจจุบันมียอดขายกว่า 5 พันลำ ราคาขายลำละ 47-80.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกา
9 เมษายน พ.ศ.2480 : กรมทหารอากาศ ยกฐานะเป็น กองทัพอากาศ
กรมทหารอากาศ ยกฐานะขึ้นเป็น กองทัพอากาศ ขึ้นกับ กระทรวงกลาโหม โดยมี นาวาอากาศเอก พระเวชยันต์รังสฤษฎ์ เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศคนแรก กิจการบินของไทยเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 ในปี 2454 เมื่อ ชารลส์ แวน เด็น บอร์น (Charles Van Den Born) นักบินชาวเบลเยียมได้นำเครื่องบินมาแสดงในประเทศไทยเป็นครั้งแรกที่สนามม้าสระปทุม จากนั้นกระทรวงกลาโหมได้ตั้ง แผนกการบิน ขึ้นในกองทัพบก พร้อมทั้งได้คัดเลือกนายทหารบก 3 คนไปศึกษาวิชาการบินที่ประเทศฝรั่งเศส ปี 2457 แผนกการบินได้ยกฐานะขึ้นเป็น กองการบินทหารบก จากนั้นปี 2461 ได้ยกฐานะเป็น กรมอากาศยานทหารบก อีก 3 ปีต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กรมอากาศยาน ปี 2478 ยกฐานะเป็น กรมทหารอากาศ ก่อนที่จะยกฐานะเป็นกองทัพอากาศในที่สุด กองทัพอากาศจึงได้ถือเอาวันที่ 9 เมษายนของทุกปีเป็น “วันกองทัพอากาศ”
10 เมษายน พ.ศ.2455 : เรือไททานิค ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์
ไททานิค (RMS Titanic) ออกเดินทางเที่ยวปฐมฤกษ์จากท่าเรือเซาแทมป์ตัน ประเทศอังกฤษ มุ่งหน้าสู่เมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ไททาทิคเป็นเรือเดินสมุทรของบริษัท The White Star Line (Oceanic Steam Navigation Company) มีความยาว 269 เมตร กว้าง 28 เมตร มีระวางความจุ 46,328 ตัน ลำเรือสูงจากระดับน้ำ 18 เมตร ขับเคลื่อนด้วยใบพัด 3 ใบจากเครื่องจักรไอน้ำจากความร้อนของถ่านหิน กำลัง 50,000 แรงม้า (hp) สามารถทำความเร็วได้ 23 น็อท หรือ 43 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และมีปล่องควัน 4 ปล่อง สามารถบรรจุผู้โดยสารได้ถึง 3,547 คน พร้อมทั้งสามารถบรรจุสิ่งของไปรษณียภัณฑ์ได้อีกจำนวนมาก เรือไททานิคจึงมีชื่อนำหน้าว่า RMS (Royal Mail Steamer) ไททานิคนับเป็นเรือที่หรูหรา ใหญ่โต และแข็งแรงที่สุดในต้นศตวรรษที่ 20 ถึงขนาดเชื่อกันว่าจะไม่มีวันอับปาง แต่เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้นไททานิคก็ประสบอุบัติเหตุชนภูเขาน้ำแข็งเมื่อกลางดึกคืนวันที่ 14 เมษายนปีเดียวกันและจมลงในมหาสมุทรแอตแลนติคเหนือในเช้าวันต่อมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 1,500 คน จากผู้โดยสารราว 2,300 คนเนื่องจากเรือมีเสื้อชูชีพไม่พอและมีเรือกู้ภัยเพียง 20 ลำ นับเป็นหนึ่งในอุบัติเหตุทางเรือที่ร้ายแรงที่สุดของโลก
11 เมษายน พ.ศ.2513 : ยานอะพอลโล 13 ออกเดินทางไปดวงจันทร์
ยานอะพอลโล 13 (Apollo 13) ขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา เดินทางไปปฏิบัติภารกิจบนดวงจันทร์ โดยมีลูกเรือ 3 คนได้แก่ เจมส์ โลเวลล์ (James A Lovell) จอห์น สวิกเกิร์ต (John L Swigert) และ เฟรด ไฮส์ (Fred W Haise) อีกสองวันต่อมา ก่อนที่จะเข้าสู่วงโคจรของดวงจันทร์ พวกเขาต้องเผชิญสถานการณ์เฉียดตายในอวกาศ เมื่อถังออกซิเจนในยานบัญชาการเกิดระเบิด ทำให้ไม่สามารถนำยานอวกาศลงดวงจันทร์ได้ตามแผน พวกเขาต้องประคองยานที่อยู่ในสภาพเสียหายโคจรรอบดวงจันทร์เป็นเวลากว่า 90 ชั่วโมงจึงสามารถนำยานกลับสู่พื้นโลกได้สำเร็จในวันที่ 17 เมษายนปีเดียวกัน
11 เมษายน พ.ศ.2436 : พิธีเปิดการเดินรถไฟสายแรกของสยาม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จพระราชดำเนินทรงทำพิธีเปิดการเดินรถไฟสายแรกของสยาม คือ รถไฟสายปากน้ำ จากกรุงเทพฯ - สมุทรปราการ ระยะทาง 21 กิโลเมตร โดยรัฐบาลได้อนุมัติสัมปทานก่อสร้างและดำเนินกิจการโดย บริษัทรถไฟปากน้ำ ของชาวเดนมาร์ก มีสัญญาสัมปทาน 50 ปี เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2434 แล้วเสร็จในปี 2436 ค่ารถไฟในสมัยนั้น ไปกลับ 1 บาท มี 10 สถานี สถานีละ 1 เฟื้อง สถานีต้นทางคือสถานีหัวลำโพง รถจะหยุดรับส่งคนโดยสารที่ ศาลาแดง บ้านกล้วย พระโขนง บางนา สำโรง ศีรษะจระเข้ (หัวตะเข้) บ้านนางเกรง มหาวง แล้วก็ถึงปากน้ำ เมื่อครบกำหนด 50 ปี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2479 รัฐบาลก็ได้ซื้อทรัพย์สินของรถไฟสายนี้ ต่อมายกเลิกกิจการไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2503 เพื่อขยายถนนพระราม 4
12 เมษายน พ.ศ.2534 : สงครามอ่าวเปอร์เซียยุติลงอย่างเป็นทางการ
สงครามอ่าวเปอร์เซีย (Persian Gulf War) ยุติลงอย่างเป็นทางการ สงครามอ่าวเปอร์เซียร์เกิดจากการที่กองทัพอิรักบุกประเทศคูเวตเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2533 เนื่องจากอิรักต้องการคุมแหล่งน้ำมันของโลกและปัญหาการแย่งชิงพรมแดนกับคูเวต จากนั้นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้มีมติเป็นเอกฉันท์ประณามการรุกรานและประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจแก่อิรัก พร้อมทั้งเรียกร้องให้อิรักถอนกำลังออกจากคูเวตภายในวันที่ 15 มกราคม 2534 เมื่อครบกำหนดเส้นตาย ประธานาธิบดีจอร์จ เอช. ดับเบิลยู. บุช (George H. W. Bush) แห่งสหรัฐอเมริกาก็เปิดฉากโจมตีทางอากาศในอิรักและคูเวตเมื่อวันที่ 17 มกราคมปีเดียวกัน กองกำลังพันธมิตรร่วมมือโจมตีอิรักอย่างต่อเนื่องด้วยยุทธการ พายุทะเลทราย จากนั้นกองกำลังพันธมิตรได้เปิดฉากการโจมตีภาคพื้นดินต่ออิรักจนได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาด และมีการประกาศหยุดยิงเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ปีเดียวกัน สงครามครั้งนี้ได้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ทหารและประชาชนผู้บริสุทธิ์ฝ่ายอิรักเสียชีวิตประมาณ 200,000 ศพและบาทเจ็บอีกนับไม่ถ้วน ส่วนฝ่ายสหประชาชาติเสียชีวิตประมาณ 378 ศพและบาทเจ็บอีกประมาณ 1,000 คน
12 เมษายน พ.ศ. 1839 วันสถาปนาเมือง เชียงใหม่
โดย พ่อขุนเม็งราย พ่อขุนรามคำแหง และ พ่อขุนงำเมือง ทรงร่วมกันก่อสร้างเมืองใหม่ขึ้น ณ ที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง บริเวณเชิงดอยสุเทพ เพื่อให้เป็นศูนย์กลางแห่งอาณาจักรล้านนา จากนั้นได้ทรงขนานนามว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์ เชียงใหม่" ในอดีตเชียงใหม่มีฐานะเป็นนครรัฐอิสระ ปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์มังราย จนถึงปี 2101 ตกอยู่ใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยาและพม่าอยู่หลายครั้ง จนกระทั่ง เจ้ากาวิละ และ พระยาจ่าบ้าน ขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จ รัชกาลที่ 1 จึงโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้ากาวิละขึ้นเป็น พระเจ้าบรมราชาธิบดีกาวิละ ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือในฐานะประเทศราชของสยาม ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้โปรดให้ยกเลิกเมืองประเทศราชในภาคเหนือ จัดตั้งการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล เรียกว่ามณฑลพายัพ และในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้ปรับปรุงการปกครองเป็นจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2476 จนถึงปัจจุบัน
13 เมษายน พ.ศ.2402 : รัชกาลที่ 4 ทรงโปรดเกล้าฯให้ขุดคลองมหาสวัสดิ์ขึ้น
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขุด คลองมหาสวัสดิ์ ขึ้น เพื่อเชื่อมระหว่างแม่น้ำนครชัยศรีกับแม่น้ำเจ้าพระยา สำหรับใช้เป็นเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ และเป็นเส้นทางคมนาคม โดยให้ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำบุนนาค) และ พระภาษีสมบัติบริบูรณ์ เป็นแม่กองจ้างชาวจีนขุด เริ่มลงมือเมื่อวันที่ 13 กันยายนปีเดียวกัน เสร็จเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม รวมเป็นเงินค่าแรงทั้งสิ้น 1,101 ชั่ง 10 ตำลึง คลองมหาสวัสดิ์ยาว 28 กิโลเมตร ปัจจุบันคลองมหาสวัสดิ์ยังคงมีสภาพธรรมชาติที่งดงาม น้ำในคลองยังใสสะอาด สองฝั่งคลองเต็มไปด้วยสวนผลไม้ สวนกล้วยไม้ อีกทั้งนาบัวที่ผลิดอกชูช่อน่าชม กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งหนึ่งที่น่าสนใจ
13 เมษายน พ.ศ.2525 : การประชุมสมัชชาโลกว่าด้วยผู้สูงอายุ
การประชุมสมัชชาโลกว่าด้วยผู้สูงอายุ (World Assembly on Aging) ถูกจัดขึ้น ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ในที่ประชุมได้พิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับผู้สูงอายุไว้ 3 ประการ คือ ด้านมนุษยธรรม ด้านการพัฒนา และด้านการศึกษา และได้กำหนดให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเป็นผู้สูงอายุ (Elderly) ซึ่งใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก จากนั้นคณะรัฐมนตรีได้ลงมติ เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมปีเดียวกัน อนุมัติให้วันที่ 13 เมษายน ของทุกปีเป็น "วันผู้สูงอายุแห่งชาติ"
14 เมษายน พ.ศ.2470 : โรงงานผลิตรถยนต์ วอลโว่ ก่อตั้งขึ้น
โรงงานผลิตรถยนต์ วอลโว่ (Volvo) ก่อตั้งขึ้นที่เมืองกูเตนเบิร์ก ประเทศสวีเดน โดย แอสซาร์ การ์เบรียลส์สัน (Assar Gabrielsson) และ กุสตาฟ ลาร์สัน (Gustav Larson) ได้จดทะเบียนบริษัท AB Volvo ในปี 2454 โดยแยกตัวจากิจการผลิตลูกปืน (Bearing) ญี่ห้อ SKF บริษัทวอลโว่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2469 แล้วจึงเริ่มสร้างโรงงานในวันที่ 14 เมษายน 2470 พร้อมกับเปิดตัวรถยนต์วอลโว่รุ่นแรก Volvo OV 4 อย่างเป็นทางการ วอลโว่ผลิตทั้งรถยนต์ รถบรรทุก รถบัส รถอุตสาหกรรมหนัก เครื่องยนต์เรือ และอุปกรณ์อากาศยาน ปัจจุบันมีพนักงานทั่วโลกกว่า 83,000 คน นับเป็นรถยนต์ยี่ห้อหนึ่งที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ทั้งนี้ชื่อ Volvo มาจากภาษาละตินแปลว่า "I roll"
15 เมษายน พ.ศ.2062 : วันเกิด ลีโอนาร์โด ดา วินชี
วันเกิด ลีโอนาร์โด ดา วินชี (Leonardo da Vinci) (พ.ศ. 1995-2062) ชาวอิตาลี ผู้ได้รับฉายาว่า "ผู้รอบรู้จักรวาล" (universal man) เพราะเป็นผู้ที่มีความชำนาญหลายด้านเป็นทั้ง จิตรกรเอก ประติมากร นักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ รอบรู้เรื่องกายวิภาคศาสตร์ สถาปัตยกรรม ดาราศาสตร์ พฤกษศาสตร์ เจ้าของภาพที่ยิ่งใหญ่ของโลกชื่อ อาหารเย็นมื้อสุดท้าย (The Last Supper) และ โมนาลิซ่า
18 เมษายน พ.ศ.2398 : การลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring treaty)
มีการลงนามใน สนธิสัญญาเบาว์ริง (Bowring treaty) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาทางการค้าระหว่างประเทศสยามกับอังกฤษ ในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาล ที่ 4 โดย เซอร์ จอห์น เบาว์ริง (Sir. John Bowring) ได้เชิญพระราชสาสน์ของ สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย พร้อมด้วยเครื่องราชบรรณาการเข้ามาทำสนธิสัญญาทางไมตรี คณะของเบาว์ริงเดินทางมาถึงปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2398 ในสมัยนั้นชาวตะวันตกได้เข้ามาทำการค้าและล่าอาณานิคมกับประเทศแถบตะวันออกมากขึ้น รัชกาลที่ 4 ได้ตระหนักถึงภัยจากลิทธิจักวรรดินิยม จึงยอมตกลงทำสัญญาทางการค้าเพื่อรักษาเอกราช แต่ก็ต้องแลกกับการสูญเสียอำนาจอธิปไตยทางการศาล และมีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เกิดขึ้น สนธิสัญญาเบาว์ริงทำให้เกิด การค้าเสรี ถือเป็นการสิ้นสุดของการผูกขาดการค้าต่างประเทศ โดยพระคลังสินค้าของกษัตริย์และเจ้านายสยาม ต่อมา สนธิสัญญาเบาว์ริงได้กลายเป็นต้นแบบของการทำสนธิสัญญาทางการค้ากับประเทศต่างๆ ที่เข้ามาเจรจากับสยาม สนธิสัญญาเบาว์ริงใช้บังคับอยู่นานกว่า 70 ปี จนกระทั่งมีการแก้ไขและค่อยๆ ยกเลิกไปในสมัยรัชกาลที่ 6 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง แต่กว่าไทยจะมีเอกราชสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อในปี 2482 ในสมัยรัฐบาล พลตรี ป. พิบูลสงคราม ที่มีการแก้ไขและลงนามในสนธิสัญญาใหม่กับโลกตะวันตกและญี่ปุ่นทั้งหมด
19 เมษายน พ.ศ.2514 : สถานีอวกาศของรัสเซีย ซัลยุต 1 ถูกส่งสู่วงโคจรของโลก
ซัลยุต 1 (salyut 1) สถานีอวกาศของรัสเซีย เป็นสถานีอวกาศแห่งแรกที่ถูกส่งขึ้นไปสู่วงโคจรของโลก นับเป็นการเริ่มต้นของ ยุคอวกาศ อีก 3 วันจากนั้นโซเวียตก็ส่งยานอวกาศ โซยุส 10 (Soyuz 10) เพื่อนำมนุษย์อวกาศ 3 คนเข้าไปประจำการอยู่ในสถานีอวกาศซัลยุต 1 แม้ยานโซยุส 10 จะสามารถต่อเชื่อมเข้ากับสถานีอวกาศได้สำเร็จ แต่ก็เกิดความขัดข้องทางเทคนิค ทำให้มนุษย์อวกาศไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติภารกิจในสถานีอวกาศได้ ต่อมาวันที่ 6 มิถุนายนปีเดียวกัน โซเวียตจึงประสบความสำเร็จในการส่งมนุษย์เข้าไปประจำการอยู่ในสถานีอวกาศซัลยุต 1 ใน ปฏิบัติการโซยุส 11 (Soyuz 11) หลังจากที่สถานาอวกาศซัลยุต 1 โคจรรอบโลก 2,929 รอบ หรือ 175 วัน เชื้อเพลิงก็ถูกเผาไหม้หมดและกลับลงสู่ผิวโลกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมปีเดียวกัน ซัลยุต 1 นับเป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของโลกที่เป็นฐานสำคัญสำหรับการบุกเบิกอวกาศของมนุษย์
19 เมษายน พ.ศ.2440 : การแข่งขันบอสตัน มาราธอน ครั้งแรกที่เมืองบอสตัน
การแข่งขัน บอสตัน มาราธอน (Boston Marathon) เริ่มจัดขึ้นครั้งแรกที่เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา นับเป็นการแข่งขัน วิ่งมาราธอน ประจำปีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก การแข่งขันครั้งนี้เกิดจากความคิดของ จอห์น แกรมห์ (John Graham) ผู้จัดการทีมนักกีฬาโอลิมปิกของสหรัฐฯ โดยการสนับสนุนของนักธุรกิจนาม เฮอร์เบิร์ต ฮอลตัน (Herbert H. Holton) ในการแข่งขันครั้งนั้นมีระยะทางรวม 24.5 ไมล์ เริ่มจาก Irvington Oval ไปสู่ Metcalfe’s Mill เมืองแอชแลนด์ (Ashland) ผลปรากฏว่า จอห์น แม็คเดอร์ม็อทท์ (John J. McDermott) ชาวนิวยอร์กเป็นผู้ชนะ ทำเวลาได้ 2:55:10 ชม. ต่อมาในปี 2451 ได้มีการเพิ่มระยะทางเป็น 26 ไมล์ 385 หลา (42.195 กม.) ตามมาตรฐานกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่ ซึ่งใช้มาจนทุกวันนี้ ในปี 2509 ได้เปิดให้ผู้หญิงเข้าร่วมแข่งขันเป็นครั้งแรก และในปี 2518 ได้เพิ่มการแข่งขันประเภทวีลแชร์เข้ามาด้วย สถิติสูงสุดคือ 2:22:17 ชม. ซึ่ง แอมบี เบอร์ฟุต (Amby Burfoot) ทำไว้เมื่อปี 2511 แม้ในครั้งแรกจะมีผู้เข้าร่วมแข่งขันเพียง 15 คนแต่ปัจจุบันการแข่งขันบอสตันมาราธอนมีผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 2 หมื่นคน ทั้งนี้การแข่งขันวิ่งมาราธอนในกีฬาโอลิมปิกสมัยใหม่จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2439 เพื่อระลึกถึง ฟิดิปปิเดส (Pheidippides) พลส่งสาร ที่วิ่งจากสมรภูมิทุ่งมาราธอนมายังกรุงเอเธนส์ (ระยะทางประมาณ 42 กม.) เพื่อแจ้งข่าวชัยชนะของกรีกต่อจักรวรรดิเปอร์เซียเมื่อ 490 ปีก่อนคริสตกาล หลังจากที่แจ้งข่าวเสร็จแล้วเขาก็ล้มลงขาดใจตาย
19 เมษายน พ.ศ.2477 : ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin ) ถึงแก่กรรม
ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin ) (พ.ศ. 2352-2425) นักปราชญ์และนักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษถึงแก่กรรม เขาเป็นผู้ต่อสู้บากบั่นเพื่อพิสูจน์ให้โลกรับรู้เกี่ยวกับทฤษฎีวิวัฒนาการ มานุษยวิทยา ชาติพันธุ์วิทยา และจิตวิทยา โลงบรรจุร่างของเขาถูกฝังไว้ที่มุมหนึ่งในวิหารเวสมินสเตอร์แห่งอังกฤษ
20 เมษายน พ.ศ.2487 : วันเกิด ขรรค์ชัย บุนปาน ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชน
วันเกิด ขรรค์ชัย บุนปาน ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชน เกิดที่ราชบุรี เรียนจบจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มเขียนบทกวี เรื่องสั้น นวนิยายและบทความคอลัมน์ลงตามหน้านิตยสารและหนังสือพิมพ์ต่างๆ มาแต่ครั้งอดีต เช่น สยามรัฐรายวัน, สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์, เฟื่องนคร, ชาวกรุง, วิทยาสารปริทัศน์ ฯลฯ ภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ได้ก่อตั้งนิตยสาร ประชาชาติรายสัปดาห์ และพัฒนามาเป็น ประชาชาติรายวัน และขยายกิจการเป็น มติชนรายวัน และ มติชนรายสัปดาห์ นอกจากใช้ชื่อจริงในทางการประพันธ์แล้วเขายังมีอีกหลายนามปากกา อาทิ บุญมือ ชนบท, ช้าง เฟื่องนคร, ขรรค์ชัยศรี, หวานเย็น, หมากรุก เป็นต้น เขาได้รับรางวัล ช่อการะเกดเกียรติยศ ในปี 2548 ปัจจุบันเป็นประธานกรรมการบริษัท มติชนจำกัด (มหาชน) เจ้าของเครือข่ายหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์คุณภาพของไทย
20 เมษายน พ.ศ.2445 : สามารถสกัด เรเดียม คลอไรด์ บริสุทธิ์ได้เป็นครั้งแรก
ปิแอร์ กูรี (Pierre Curie) และ มารี กูรี (Marie Curie) คู่สามีภรรยานักเคมีชาวโปแลนด์ สามารถสกัด เรเดียม คลอไรด์ (radium chloride) บริสุทธิ์ได้เป็นครั้งแรก ก่อนหน้านั้นในปี 2441 ทั้งคู่ได้ค้นพบธาตุ เรเดียม (Radium) จากแร่ พิทซ์เบลนด์ (Pitchblende) ซึ่งเป็นออกไซด์ชนิดหนึ่งของแร่ยูเรเนียม จากนั้นทั้งสองก็พยายามสกัดแร่เรเดียมให้บริสุทธิ์ จนได้เรเดียมคลอไรด์ ซึ่งสามารถแผ่รังสีได้มากกว่ายูเรเนียมถึงกว่า 2 ล้านเท่า ต่อมาก็ค้นพบว่าเรเดียมสามารถรักษาโรคผิวหนังและโรคมะเร็งได้ แล้วนำผลงานชิ้นนี้ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ส่งผลให้ทั้งคู่ได้รับรางวัล โนเบล สาขาฟิสิกส์ ในปี 2446 หลังจากทีปีแอร์ผู้เป็นสามีเสียชีวิตเมื่อปี 2449 มารีก็ยังคงทุ่มเทศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับธาตุเรเดียมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป จนได้รับรางวัลโนเบลอีกครั้งในปี 2454 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เธอจัดตั้งแผนกเอกซเรย์เคลื่อนที่เพื่อตระเวนรักษาทหารที่บาดเจ็บตามหน่วยต่างๆ และสามารถรักษาทหารด้วยรังสีเอกซ์กว่า 100,000 คน หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลง มารีได้กลับมาทำงานอีกครั้ง จนในที่สุดเธอก็ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีของเรเดียม ทำให้ไขกระดูกถูกทำลายและเสียชีวิตในวันที่ 4 กรกฎาคม 2477 นับว่าการค้นพบและสกัดแร่เรเดียมของนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองท่านนี้ได้มีประโยชน์ต่อวงการแพทย์เป็นอย่างมาก เพราะก่อนหน้านั้นมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากที่สุด เพราะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ จนมีการค้นพบวิธีการรักษาโดยการฉายรังสีเรเดียม
20 เมษายน พ.ศ.2405 : ทดสอบการฆ่าเชื้อด้วยวิธีการ พาสเจอร์ไรซ์เซชันครั้งแรก
หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส และ คล็อด เบร์นาร์ (Claude Bernard) นักสรีรศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ได้ทดสอบการฆ่าเชื้อด้วยวิธีการ พาสเจอร์ไรซ์เซชัน (pasteurization) เป็นครั้งแรก โดยเขาค้นพบเชื้อจุลินทรีย์ในระหว่างการศึกษาสาเหตุที่ทำให้ไวน์เสียรสขณะบ่ม เขาพบว่าหากนำไวน์ไปอุ่นให้ร้อน จะช่วยฆ่าแบคทีเรียที่จะเปลี่ยนไวน์ให้เป็นน้ำส้มสายชูได้ เขาจึงทดลอง โดยการนำของเหลวเช่น น้ำนม ไปต้มที่อุณหภูมิ 145 องศาฟาเรนไฮต์ แล้วทำให้เย็นลงอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อให้จุลินทรีย์ตายหมด ก่อนนำไปบรรจุใส่ขวด จากนั้นใช้สำลีอุดปากขวดเพื่อป้องกันไม่ใช้เชื้อจุลินทรีย์เข้าไป ผลปรากฎว่านมสดอยู่ได้นานกว่าปกติ โดยที่ไม่เน่าเสีย จากนั้นปาสเตอร์ได้นำวิธีการดังกล่าวไปใช้กับเครื่องดื่มชนิดอื่น เช่น เหล้า เบียร์ และไวน์ วิธีการพาสเจอร์ไรซ์จึงแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบันนี้
21 เมษายน พ.ศ.2532 : วันสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา สมเด็จพระญาณสังวร วัดบวรนิเวศฯ เป็น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระสังฆราชประสูติเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2456 ที่ อ.เมืองกาญจนบุรี มีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร พระชนกชื่อ นายน้อย คชวัตร พระชนนีชื่อ นางกิมน้อย คชวัตร ปี 2469 บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) จ.กาญจนบุรี เมื่ออายุครบ 20 พรรษาก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุวัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี จากนั้นได้ทรงทำทัฬหีกรรม (ญัตติซ้ำ) เป็นธรรมยุต ที่วัดบวรนิเวศวิหารเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2476 ทรงสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคในปี 2484 อีก 6 ปีต่อมาได้เป็นพระราชาคณะสามัญที่พระโสภนคณาภรณ์ และได้เลื่อนขั้นขึ้นตามลำดับจนได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ลำดับที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2532 ท่านได้ทรงงานด้านพุทธศาสนาหลายอย่าง แสดงธรรมเทศนาหลายที่ ทรงเลือกให้เป็นพระอภิบาล (พระพี่เลี้ยง) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2499 ด้วย นอกจากนั้นยังทรงนิพนธ์บทความและหนังสือทางพุทธศาสนา อธิบายหลักธรรมต่างๆ ไว้จำนวนมาก
21 เมษายน พ.ศ.2399 : ทาวน์เซนด์ แฮร์ริส เดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย
ทาวน์เซนด์ แฮร์ริส (Townsend Harris) กงสุลอเมริกันประจำประเทศญี่ปุ่น เดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย ในสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ก่อนจะเดินทางไปถึงท่าเรือชิโมดะ (Shimoda) เมืองท่าของ อ.ชิสุโอกะ (Shizuoka) แคว้นชุบุ (Chubu) ที่เกาะฮอนชู (Honshu) ภาคกลางของญี่ปุ่นเมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมปีเดียวกัน แฮร์ริสเป็นเป็นกงสุลคนแรกที่ได้รับการมอบหมายจากประธานาธิบดี แฟรงคลิน เพียซ (Franklin Pierce--ปธน. คนที่ 14 ของสหรัฐอเมริกา) ให้เดินทางมาสร้างสัมพันธไมตรีกับประเทศญี่ปุ่น จนเกิดสนธิสัญญาทางการค้าฉบับแรกระหว่างสหรัฐฯ-ญี่ปุ่นคือ สนธิสัญญาแฮร์ริส (Harris Treaty) ในอีก 2 ปีต่อมา เขาเดินทางกลับอเมริกาในปี 2404 สนธิสัญญาของแฮร์ริสนับเป็นการปิดประตูต้อนรับชาติตะวันตกของญี่ปุ่น ส่วนประเทศสยาม เมื่อทราบข่าวว่ากงสุลอเมริกาเดินทางมาถึงก็ได้จัดขุนนางออกไปรับ จัดหาที่พักให้อย่างดี รอจนได้เวลาแล้วก็ให้ทูตอัญเชิญอักษรสาส์นขึ้นถวาย รัชกาลที่ 4 พระองค์ได้ทรงสนทนาเป็นภาษาอังกฤษกับแฮร์ริส พร้อมกับทรงมีพระราชสาสน์ไปพระราชทานช้างให้แก่ประเทศอเมริกา แต่ประธานาธิบดี ลินคอล์น (Abraham Lincoln) ก็ได้ตอบปฏิเสธมาภายหลัง
21 เมษายน พ.ศ.2325 : วันสถาปนา กรุงเทพมหานคร
วันสถาปนา กรุงเทพมหานคร หลังจากที่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีเมื่อวันที่ 6 เมษายนปีเดียวกัน จากนั้นได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากฝั่งธนบุรีมาที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วจัดพิธี ยกเสาหลักเมือง ขึ้นในวันนี้ พร้อมทั้งพระราชทานนามพระนครใหม่ว่า "กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” เป็นชื่อเมืองที่ยาวที่สุดในโลก มีความหมายว่า “พระนครอันกว้างใหญ่ดุจเทพนคร อันเป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นนครที่ไม่มีใครสามารถรบชนะ มีความงามอันมั่นคงและเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้ว 9 ประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงเปลี่ยนจาก “…บวรรัตนโกสินทร์…” เป็น “…อมรรัตนโกสินทร์…” เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2514 รัฐบาลได้รวม จังหวัดพระนคร และ จังหวัดธนบุรี เข้าด้วยกันเป็น นครหลวงกรุงเทพธนบุรี และในปี 2515 เปลี่ยนเป็นชื่อเป็น กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ เสาหลักเมืองมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 75 ซม. สูง 27 ซม. แต่ชำรุดจึงสร้างใหม่ในรัชกาลที่ 4 ทำด้วยไม้ชัยพฤกษ์สูง 108 นิ้ว ฐานเป็นแท่นกว้าง 70 นิ้ว ตั้งอยู่ภายในอาคารยอดปรางค์ ภายในศาลหลักเมืองยังมีเทวรูปสำคัญ คือ เทพารักษ์ เจ้าพ่อหอกลอง พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง เจ้าพ่อเจตคุปต์ และพระกาฬไชยศรี
22 เมษายน พ.ศ.2527 : แอนเซล อดัมส์ (Ansel Easton Adams) เสียชีวิต
แอนเซล อดัมส์ (Ansel Easton Adams) ปรมาจารย์ด้านการถ่ายภาพขาวดำชาวอเมริกัน เสียชีวิต อดัมส์เกิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2445 ที่ซาน ฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย เขาไม่ชอบระบบการเรียนการสอนในห้องเรียน จึงออกจากโรงเรียนตอนอายุ 12 ขวบ แล้วจ้างครูมาสอนที่บ้าน ตอนเด็กๆ เคยใฝ่ฝันอยากเป็นนักเปียโน แต่เมื่อได้เห็นภาพถ่ายของ พอล สแตนด์ (Paul Strand) เขาก็หลงไหลการถ่ายภาพมาตั้งแต่นั้น ตอนอายุ 17 ปีเขาเข้าเป็นสมาชิกองค์กรอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เซียร์รา คลับ (Sierra Club) และเริ่มถ่ายภาพอย่างจริงจัง เขาเดินทางไปถ่ายภาพตามอุทยานแห่งชาติต่างๆ ทั่วอมเริกา และสถานที่สำๆ ในโลก และเริ่มมีชื่อเสียงในฐานะช่างภาพขาวดำ โดยเฉพาะภาพทิวทัศน์ (Landscape) เขาเป็นผู้คิดค้นทฤษฎี Zone System ซึ่งเป็นระบบที่แบ่งค่าความแข้มของแสงออกเป็นโซนตั้งแต่สีขาวไปจนถึงดำ 10 โซน เพื่อช่วยให้ช่างภาพสามารถควบคุมปริมาณของแสงบนฟิล์มเนกาตีฟได้ตามต้องการ ทั้งในขั้นตอนการวัดแสงถ่ายภาพ ล้างฟิล์มและอัดภาพ เพื่อที่จะได้ภาพที่มีโทนครบถ้วนตั้งแต่มืดสนิทไปจนถึงสว่าง ระบบโซนของเขานับว่ามีประโยชน์ต่อวงการถ่ายภาพทั้งขาวดำและสีเป็นอย่างมาก นอกจากเป็นศิลปินภาพถ่ายที่มีผลงาน และได้รับรางวัลจำนวนมากแล้ว เขายังเป็นครู เป็นนักเขียน และเป็นนักอนุรักษ์ธรรมชาติคนสำคัญคนหนึ่ง
23 เมษายน พ.ศ.2107 : วันเกิด วิลเลียม เช็คสเปียร์ (William Shakespeare)
กวีและนักเขียนบทละครชาวอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เกิดที่เมืองสแตรตฟอร์ด (Stratford) ริมฝั่งแม่น้ำเอวอน (Avon) ประเทศอังกฤษ แต่งงานตอนอายุ 18 ย้ายไปอยู่ที่ลอนดอนในปี 2128 ทำงานเป็นนักแสดงและเขียนบทละคร ต่อมเขาเข้าร่วมงานกับคณะละคร Lord Chamberlain’s Men และได้เข้าแสดงประจำที่โรงละคร Globe Theatre บทละครของเขาได้รับความนิยมอย่างมากจนได้รับพระราชูปถัมภ์ในปี 2146 คณะละครของเขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งส่งผลให้เขาสามารถซื้อบ้านหลังใหญ่และใช้ชีวิตอย่างสุขสบายจนวาระสุดท้ายของชีวิตที่เมืองสแตรตฟอร์ด เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2159 เกิดและตายวันเดียวกัน เชคสเปียร์มีผลงานบทละครประมาณ 38 เรื่อง และโคลงขนาดยาว (sonnet) อีกประมาณ 154 บท ทั้งโศกนาฏกรรม (Tragedy), สุขนาฏกรรมหรือตลกขบขัน (Comedy) และละครอิงประวัติศาสตร์ ผลงานที่โด่งดังได้แก่ Romeo and Juliet, King Lear, Hamlet, Othello, Macbeth, Midsummer Night’s Dream ฯลฯ เชคสเปียร์ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเขียนบทละครผู้ที่เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงแก่แท้ในจิตใจของมนุษย์ ผลงานของเขามักจะสะท้อนถึง ความโลภ ตัณหา ความรัก กิเลสในจิตใจของมนุษย์ทุกเพศทุกวัย ทุกชนชั้นวรรณะ ตั้งแต่กษัตริย์ นักรบ พระ พ่อค้า โจร ชาวบ้านไปจนถึงข้าทาส ได้อย่างถึงแก่น บทละครของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ ถูกนำไปแสดงตามโรงละครทั่วโลก และถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มาจนถึงทุกวันนี้
24 เมษายน พ.ศ.2533 : นำกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ขึ้นสู่อวกาศเป็นผลสำเร็จ
กระสวยอวกาศดิสคัฟเวอรี (Space Shuttle Discovery) นำ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope : HST) ขึ้นสู่อวกาศเป็นผลสำเร็จ โดยองค์การนาซา (NASA) ของสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้กล้องโทรทัศน์อวกาศตัวนี้ตั้งชื่อขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ เอ็ดวิน ฮับเบิล (Edwin Hubble) นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันผู้พิสูจน์ให้เห็นว่ามีแกแลกซีอยู่อีกมากมายเลยจากทางช้างเผือกออกไป ฮับเบิลเป็นกล้องกล้องโทรทรรศน์ที่โคจรเหนือผิวโลกประมาณ 611.5 กิโลเมตร เพื่อศึกษารังสีอัลตราไวโอเลต สำรวจชั้นโอโซนและถ่ายรูปวัตถุต่างๆ ในอวกาศ ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 20 ปี ใช้เงินทุนประมาณ 1.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฮับเบิลสามารถและได้ภาพที่มีชื่อเสียงเช่น เนบิวลาอินทรีย์ (Eagle Nebula) ถูกถ่ายเมื่อปี 2537 กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลนับว่ามีส่วนสำคัญในการเปิดหูเปิดตาชาวโลกให้เห็นความงามในขอบเขตของเอกภพที่กว้างใหญ่กว่าที่เคยคาดการณ์ไว้
24 เมษายน พ.ศ.2513 : จีนส่งดาวเทียม ดงฟางหง 1 ดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่ห้วงอวกาศ
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน ประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียม ดงฟางหง 1 (Dong Fang Hong 1) ดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่ห้วงอวกาศ ดงฟางหงพัฒนาและสร้างโดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนจากสถาบัน Chinese Academy of Space Technology นำโดย Tsien Hsue-shen มีน้ำหนักเพียง 173 กิโลกรัม ส่งที่ฐาน Jiuquan Satellite Launch Center โดยจรวด Changzheng-1 (CZ-1 หรือ Long March-1) วัตถุประสงค์หลักของดาวเทียมดวงนี้คือการกระจายเสียงเพลง Dong Fang Hong ซึ่งมีความหมายว่า The East is Red หรือตะวันออกสีแดง เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่าน ประธานเหมา เจ๋อ ตง ดาวเทียมดวงนี้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานเพียง 20 วัน หลังจากหมดอายุก็กลับสู่พื้นโลกเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมปีเดียวกัน หลังจากประสพความสำเร็จของดงฟางหง 1 ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่ 5 ในโลกที่สามามารถส่งดาวเทียมสู่อวกาศได้ ต่อจากสหภาพโซเวียต สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น
24 เมษายน พ.ศ.2517 : ผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ได้รับการประกาศให้เป็น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า
ผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ได้รับการประกาศให้เป็น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทั้งนี้เมื่อปี 2508 นายประเสริฐ อยู่สำราญ ป่าไม้เขตบ้านโป่ง ได้เห็นความสมบูรณ์ผืนป่าและมีการลักลอบล่าสัตว์กันมาก จึงทำหนังสือถึงกรมป่าไม้ให้กำหนดเขตดังกล่าวเป็นเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่า ในปี 2510 กรมป่าไม้ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจและเห็นชอบพร้อมสั่งให้เจ้าหน้าที่ไปกำหนดแนวเขตพื้นที่ ปี 2516 ได้มีคณะบุคคลกลุ่มหนึ่งนำอาวุธสงครามและเฮลิคอปเตอร์ของทางราชการเข้าไปตั้งแคมป์ ล่าสัตว์มาฉลองวันเกิดกันอย่างสนุกสนาน ตอนขากลับเกิดอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม กลายเป็นข่าวใหญ่กระจายไปทั่วประเทศและต่างประเทศ กรมป่าไม้จึงได้เร่งผลักดันจนสามารถประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรได้ในที่สุด เขตฯ ทุ่งใหญฯ มีพื้นที่ 2,000,000 ไร่ ต่อมาปี 2534 ได้มีการขยายพื้นที่เพิ่มเติมเป็น 2,279,500 ไร่ นับเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ในเขต อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และ อ. อุ้มผาง จ. ตาก หากนับรวมพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกันแล้ว ถือได้ว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร-ห้วยขาแข้ง เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นหัวใจของผืนป่าตะวันตกซึ่งมีพื้นที่รวมกันกว่า 11 ล้านไร่ เป็นป่าผืนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับผืนป่าของประเทศพม่า เป็นแหล่งอาศัยกระจายพันธุ์ของสัตว์ป่าๆ จำนวนมาก และพืชพรรณนานาชนิด ป่าตะวันตกผืนนี้จึงมีความสำคัญมากจนได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็น มรดกโลกทางธรรมชาติ เมื่อปี 2534 จากแรงผลักดันที่สำคัญของ สืบ นาคะเสถียร เจ้าหน้าที่กรมป่าไม้และนักอนุรักษ์คนสำคัญของไทย
25 เมษายน พ.ศ.2496 : เจมส์ วัตสัน และ ฟรานซิส คริก ประกาศค้นพบ โครงสร้างดีเอ็นเอ
นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน และ ฟรานซิส คริก (Francis Harry Compton Crick) นักอณูชีววิทยาชาวอังกฤษ ประกาศการค้นพบ โครงสร้างดีเอ็นเอ (DNA) ว่าเป็นสายคู่ที่บิดพับเป็นเกลียวคล้ายบันไดเวียน แบบที่เรียกว่า “ดับเบิล เฮลิกซ์” (double helix) ในวารสาร Natute วารสารเก่าแก่และมีชื่อเสียงฉบับหนึ่ง แม้บทความดังกล่าวจะมีความยาวเพียงหน้าเดียว แต่ส่งผลกระทบต่อวงการวิทยาศาสตร์อย่างมาก เพราะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ผู้คนในยุคสมัยนั้นหันมาสนใจจนยอมรับในที่สุดว่า ดีเอ็นเอน่าจะเป็นสารพันธุกรรมมากกว่าโปรตีน การค้นพบดีเอ็นเอครั้งนี้ส่งผลให้วัตสันและคริกได้รับรางวัล โนเบล สาขาฟิสิกส์ ในปี 2505 ร่วมกับ มอริส วิลคินส์ (Maurice Wilkins)
25 เมษายน พ.ศ.2449 : วันเกิด มาลัย ชูพินิจ นักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทย
นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์คนสำคัญของไทย เกิดที่อำเภอเมืองกำแพงเพชร เข้าไปเรียนมัธยมที่กรุงเทพจนจบ ม.8 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นเป็นครูที่โรงเรียนวัดสระเกศ ไม่นาก็ลาออกมาทำงานหนังสือพิมพ์ โดยเริ่มต้นที่หนังสือพิมพ์ไทยใต้ ที่ จ.สงขลา ก่อนจะกลับกรุงเทพฯ มาร่วมงานกับ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่หนังสือพิมพ์ สุภาพบุรุษ รายปักษ์ นอกจากนั้นก็เคยทำงานกับหนังสือพิมพ์ ไทยใหม่ ผู้นำ ประชาชาติ และประชาชาติรายสัปดาห์ ก่อนจะหยุดงานหนังสือพิมพ์ไปทำสวนมะพร้าวที่ จ.ชุมพร อยู่พักหนึ่ง แต่ไม่นานก็ทนคิดถึงกลิ่นน้ำหมึกไม่ได้ ตัดสินใจกลับมากรุงเทพฯ รวมกับเพื่อนออกหนังสือพิมพ์ ประชามิตรรายวัน อีกครั้ง ตลอดชีวิตได้สร้างผลงานไว้มากมาย ทั้งด้านสารคดี บทความ กีฬา ปรัชญา นวนิยาย เรื่องสั้น บทละคร คาดกันว่าผลงานของมาลัย ชูพินิจมีประมาณ 3,000 เรื่อง นับว่าเป็นนักประพันธ์ที่มีผลงานมากที่สุดคนหนึ่งของไทย นามปากกาหลายชื่ออาทิ น้อย อินทนนท์, แม่อนงค์, พลับพลึง, ม.ชูพินิจ, เรไร, เรียมเอง, ลูกป่า, วิชนี ฯลฯ เมื่อปี 2505 ได้รับพระราชทานปริญญาดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผลงานที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก เช่น นวนิยายชุด ล่องไพร, ทุ่งมหาราช, รวมเรื่องสั้นของ เรียมเอง, ทุ่งโล่งและดงทับ ฯลฯ มาลัย ชูพินิจ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2506
25 เมษายน พ.ศ.2417 : วันเกิด กูลิเอลโม มาร์โกนี ผู้คิดค้นวิทยุโทรเลข
วิศวกรไฟฟ้าและนักประดิษฐ์ชาวอิตาเลียน เกิดที่เมืองโบโลญญา (Bologna) ตอนแรกเขาสนใจวิทยาศาสตร์และอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2431 เขาประดิษฐ์และตรวจจับคลื่นวิทยุ ซึ่งต่อมาเขาได้พัฒนาเป็นระบบ โทรเลขไร้สาย (wireless telegraph) หรือ วิทยุโทรเลข (radiotelegraph) ซึ่งช่วยในการส่งโทรเลขผ่านทางคลื่นวิทยุแทนสายไฟฟ้าอย่างเดิม เขาทดลองต่อหน้าสาธารณเมื่อปี 2438 อีกสองปีต่อมาวิทยุโทรเลขของเขาก็มีรัศมีการใช้งาน 19 กิโลเมตร จากนั้นเขาได้ก่อตั้งบริษัท จีอีซี-มาร์โกนี อิเล็กทรอนิกส์ (GEC-Marconi Electronics Ltd.)ในปี 2444 เขาสามารถส่งสัญญาณคลื่นวิทยุข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก จากเมืองโพลดู (Poldhu) ประเทศอังกฤษถึงเมืองเซนต์จอห์นส์ (Saint John’s) บนเกาะนิวฟาวด์แลนด์ แม้ระบบโทรเลขไร้สายจะมีการพัฒนามาแล้วกว่า 50 ปี แต่มาร์โกนีเป็นผู้ที่พัฒนาและพิสูจน์ให้เห็นว่ามันสามารถใช้งานได้จริงและยังประสบความสำเร็จทางธุรกิจอีกด้วย ส่งผลให้เขาได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ในปี 2452 มาร์โกนีเสียชีวิตเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2480
25 เมษายน พ.ศ.2402 : เริ่มขุด คลองสุเอซ ในประเทศอียิปต์
เริ่มขุด คลองสุเอซ (The Suez Canal) ในประเทศอียิปต์ เชื่อมต่อระหว่างเมืองพอร์ทเซด (Port Said) ฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียนกับเมืองสุเอซ ที่ฝั่งทะเลแดง มีความยาว 162 กิโลเมตร กว้างประมาณ 60-300 เมตร ใช้เวลาขุด 10 ปี เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2412 คลองสุเอซออกแบบโดย แฟร์ดินองด์ เดอ เลซเซปส์ (Ferdinand de Lesseps) นักการทูตชาวฝรั่งเศส ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลอียิปต์และต่อมารัฐบาลอังกฤษเข้าซื้อหุ้นกรรมสิทธิ์ส่วนใหญ่ คลองสุเอซช่วยย่นระยะทางการเดินเรือระหว่างยุโรปกับเอเชียให้สั้นลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่ต้องแล่นเรืออ้อมแหลมกูดโฮปที่ทวีปแอฟริกา คลองสุเอซแบ่งเป็นส่วนเหนือและใต้ โดยมีทะเลสาบเกรทบิทเทอร์ (Great Bitter) อยู่ตรงกลาง ในตอนแรกๆ ต้องมีที่กั้นน้ำ (The canal lock) ให้เรือแล่นผ่านเข้าไปที่ละช่วงๆ เนื่องจากน้ำทะเลทั้งสองฝั่งมีระดับไม่เท่ากัน แต่ปัจจุบันถูกถอดออกไปแล้วเพราะระดับน้ำทะเลทั้งสองฝั่งใกล้เคียงกัน ปัจจุบันมีเรือเดินสมุทรแล่นผ่านปีละกว่า 20,000 ลำ คลองสุเอซนับเป็นคลองขนาดใหญ่ที่ขุดขึ้นโดยฝีมือมนุษย์
25 เมษายน พ.ศ.2262 : โรบินสัน ครูโซ นิยายของ เดเนียล ดีโฟ ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก
นิยายของ เดเนียล ดีโฟ (Daniel Defoe) ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก นักวิชาการด้านวรรณกรรมส่วนหนึ่งเชื่อว่าโรบินสัน ครูโซเป็นนิยายภาษาอังกฤษเรื่องแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ นิยายเล่มนี้เล่าเรื่อง โรบินสัน ครูโซ ซึ่งออกเดินเรือออกผจญภัยในท้องทะเล เมื่อเรืออับปางเขาไปติดอยู่ที่เกาะห่างไกลแห่งหนึ่งถึง 28 ปี เขาต้องพยายามหาทางดำรงชีวิตรอดอยู่ในเกาะดงดิบ เผชิญกับคนป่า ต้องต่อสู้กับสัตว์ร้าย ภยันตรายต่างๆ รอบตัวและความโดดเดี่ยวของตัวเอง นิยายเรื่องนี้ดีโฟได้แรงบันดาลใจมากจากชีวิตจริงของ อเล็กซานเดอร์ เซลเคิร์ค (Alexander Selkirk) ชาวสก็อตที่เคยติดเกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่ 4 ปี รวมกับที่ผู้แต่งเคยเดินทางท่องเที่ยวไปในดินแดนต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลที่มาให้เขานำมาคิดและจินตนาการเขียนหนังสือประเภทต่างๆ ประมาณ 400 เล่มหนังสือเล่มนี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจของนักเดินทางหลายคนจนปัจจุบันนี้
26 เมษายน พ.ศ.2456 : รัชกาลที่ 6 ทรงเปิดปาสตุรสภา (Pasteur Institute)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด ปาสตุรสภา (Pasteur Institute) ก่อนหน้านี้ ปี 2455 พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระดำริที่จะจัดตั้งสถานที่ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เนื่องจาก หม่อมเจ้าหญิงบันลุศิริสาร ดิศกุล พระธิดาได้สิ้นชีพิตักษัยด้วยโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นก็ได้นำความกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 6 และได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อาศัยตึกหลวงที่ถนนบำรุงเมืองเป็นที่ทำการผลิตและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เมื่อสร้างเสร็จให้เรียกชื่อว่า "ปาสตุรสภา" ตามชื่อ หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis pasteur) นักเคมีชาวฝรั่งเศสผู้พบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ต่อมาปี 2460 รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้โอนจากกระทรวงมหาดไทยไปสังกัดสภากาชาดไทย และเปลี่ยนชื่อเป็น "สถานปาสเตอร์" ต่อมาในปี 2463 ได้ทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่สภากาชาดไทย เพื่อจัดสร้างที่ทำการของสถานปาสเตอร์แห่งใหม่ขึ้นที่ถนนพระราม 4 และได้พระราชทานนาม "สถานเสาวภา" เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์ เทิดพระเกียรติ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพระพันปีหลวง และได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2465 จัดตั้งเป็นที่ทำการของสถานเสาวภา สภากาชาดไทยสืบมาจนถึงทุกวันนี้
26 เมษายน พ.ศ.2436 : วันสถาปนา สภากาชาดไทย
วันสถาปนา สภากาชาดไทย ซึ่งพัฒนามาจาก สภาอุณาโลมแดง ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้นในวันนี้ ทั้งนี้ในปี 2436 (ร.ศ. 112) ได้เกิด กรณีพิพาท ร.ศ. 112 ระหว่างสยามกับฝรั่งเศสเรื่องดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง มีการสู้รบเป็นเหตุให้ทหารได้รับบาทเจ็บล้มตายจำนวนมาก แต่ปรากฎว่าไม่มีองค์กรใดเข้าไปช่วยเหลือพยาบาล ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ จึงได้รวบรวมสตรีอาสาสมัครขึ้น แล้วนำความกราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูล พระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตตั้ง สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม ขึ้นเพื่อช่วยเหลือด้านการพยาบาลแก่ทหารที่ได้รับบาทเจ็บ รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชกระแสว่า เป็นความคิดอันดีตามแบบอย่างประเทศที่เจริญแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งสภาอุณาโลมแดงขึ้น ต่อมา รัชกาลที่ 5 ทรงทรงบริจาคทรัพย์รวมกับทุนของสภาอุณาโลมแดง สร้างโรงพยาบาลของสภากาชาดสยามขึ้นเมื่อปี 2457 ชื่อว่า "โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์" เพื่อเป็นอนุสรณ์ ในพระราชบิดา ต่อมาก็ได้เปลี่ยนชื่อ “สภาอุณาโลมแดง” เป็น “สภากาชาดไทย” เพื่อมิให้เรียกชื่อสับสน เมื่อปี 2463 คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ ได้รับรองสภากาชาดไทย ปีต่อมาสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (เดิมคือ สันนิบาตสภากาชาด) ได้รับสภากาชาดไทยเข้าเป็นสมาชิก
26 เมษายน พ.ศ.2431 : รัชกาลที่ 5 ทรงประกอบพิธีเปิดโรงพยาบาลศิริราช
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีเปิด โรงศิริราชพยาบาล นับเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของสยาม ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2424 เกิดการระบาดของอหิวาตกอย่างหนัก รัชกาลที่ 5 จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลชั่วคราวขึ้นในชุมชนต่างๆ แม้เมื่อโรคระบาดเริ่มลดลงก็ยังคงให้โรงพยาลเหล่านี้ดำเนินการต่อไป ด้วยทรงตระหนักว่ากิจการโรงพยาบาลเป็นสิ่งจำเป็น ต่อมาปี 2429 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อสร้างโรงบยาบาลถาวรแห่งแรกขึ้น ณ บริเวณที่ดินของกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข (วังหลัง) ที่ฝั่งธนบุรี ในระหว่างเตรียมการก่อสร้าง สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ พระราชโอรส ได้ประชวรด้วยโรคบิด สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2430 รัชกาลที่ 5 ทรงเศร้าโศกเป็นอย่างมาก ถึงกับทรงมีพระราชปณิธานอย่างแรงกล้าที่จะสร้างโรงพยาบาลขึ้นให้สำเร็จ เมื่อเสร็จงานพระเมรุแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อโรงเรือนและเครื่องใช้ต่างๆ ไปสร้างโรงพยาบาล อีกทั้งยังพระราชทานทรัพย์ของเจ้าฟ้าสิริราชกกุธภัณฑ์ แก่โรงพยาบาลอีกด้วย ต่อมาได้พระราชทานนามว่า โรงศิริราชพยาบาล ตามพระนามของเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ แต่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า โรงพยาบาลวังหลัง ต่อมาได้เปลี่ยนเชื่อเป็น โรงพยาบาลศิริราช มาจนทุกวันนี้
27 เมษายน พ.ศ.2064 : เฟอร์ดินานด์ มาเจแลน นักสำรวจชาวโปรตุเกส เสียชีวิต
นักสำรวจชาวโปรตุเกส เสียชีวิตในสงครามของชาวพื้นเมืองที่เกาะมัคตาน (Mactan Island) ประเทศฟิลิปปินส์ มาเจแลนเป็นกับตันของกองเรือสเปน ได้นำกองเรือเดินทางมาถึงเกาะฮอมอนฮอน (Homonhon) ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2063 กองเรือสเปนได้รับการต้อนรับจากชาวพื้นเมืองอย่างดี แต่ในระหว่างนั้นกำลังมีสงครามอยู่กับเมืองลาปูลาปู (Lapu-Lapu City) มาเจแลนและลูกเรือจึงอาสาเข้าไปช่วยเพื่อพิสูจน์ความจริงใจ จนถูกชาวมัคตานสังหารในที่สุด จากนั้นลูกเรือสเปนที่เหลือก็ได้ออกเดินทางกลับไปถึงสเปนในปี 2065 นับเป็นการเดินทางรอบโลกครั้งแรก ภายหลังได้มีการสร้างอนุสาวรีย์บริเวณจุดที่แม็กเจลแลนเสียชีวิตที่เมืองลาปูลาปู จังหวัดเซบู (Cebu) ประเทศฟิลิปปินส์ และตั้งชื่อ ช่องแคบมาเจแลน (Straits of Magellan) ซึ่งอยู่ระหว่างปลายสุดแผ่นดินใหญ่อเมริกาใต้กับหมู่เกาะเตียรร์รา เดล ฟูเอล โก (Tierra del Fuego) ประเทศชิลี นอกจากนั้นยังนำไปใช้ตั้งชื่อหมู่กาแล็กซีเล็ก ๆ ที่เห็นบนท้องฟ้าแถบใต้ยามค่ำคืน ตามที่เขาได้สังเกตเห็นและบันทึกเอาไว้เป็นคนแรก ชื่อว่า เมฆามาเจแลน (Magellanic Clouds)
27 เมษายน พ.ศ.2382 : รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระบรมราชโองการ ประกาศเรื่องห้ามสูบฝิ่นและค้าฝิ่น
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จ้างโรงพิมพ์หมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกัน พิมพ์พระบรมราชโองการ ประกาศเรื่อง ห้ามสูบฝิ่นและค้าฝิ่น เป็นใบปลิวจำนวน 9,000 ฉบับ นับเป็นเอกสารทางราชการฉบับแรกที่ใช้วิธีการพิมพ์ด้วยตัวอักษรไทย และพิมพ์โดยโรงพิมพ์ในประเทศสยาม โดยสั่งซื้อตัวพิมพ์มาจากประเทศสิงคโปร์
28 เมษายน พ.ศ.2406 : วันประสูติพระองค์เจ้าชายจิตรเจริญ
วันประสูติพระองค์เจ้าชายจิตรเจริญ สถาปนาเป็นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (2406-2490) พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 ศิลปินที่ยิ่งใหญ่ของไทย นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ผู้ทรงรอบรู้ทั้งด้านภาษาและวรรณคดี ช่างศิลป์ไทยทั้งสถาปัตยกรรม จิตรกรรม ดนตรีและละคร ทรงออกแบบและควบคุมการก่อสร้างพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ซึ่งเป็นงานสถาปัตยกรรมชิ้นเอกคู่บ้านคู่เมือง ทรงได้รับเลือกเป็นบุคคลสำคัญของโลกในการฉลองครบรอบ 100 ปี บุคคลสำคัญของโลกขององค์การยูเนสโก ในปี 2506 นับเป็นคนไทยคนที่สองที่ได้รับเกียรติอันนี้
29 เมษายน พ.ศ.2516 : เฮลิคอปเตอร์ ของกองทัพบก ประสบอุบัติเหตุ
เฮลิคอปเตอร์ 1 ใน 2 ลำของกองทัพบกซึ่งคณะนายทหารนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่และพลเรือนใช้เดินทางไปตั้งแคมป์ลักลอบล่าสัตว์ในบริเวณป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรี โดยใช้พาหนะและอาวุธของทางราชการ ประสบอุบัติเหตุตกกลางทุ่งนาที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม มีผู้เสียชีวิต 6 ศพ และบาดเจ็บสาหัส 4 คน พบซากสัตว์ที่บรรทุกมาเป็นจำนวนมาก จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ให้สัมภาษณ์ว่าคณะบุคคลในเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวไปปฏิบัติราชการลับ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเป็นคดีอื้อฉาวมากในขณะนั้น
30 เมษายน พ.ศ.2518 : สงครามเวียดนามยุติลงอย่างเป็นทางการ
สงครามเวียดนาม (Vietnam Wars) ยุติลงอย่างเป็นทางการ หลังจากที่ทหารเวียดนามเหนือเข้ายึดเมืองไซ่ง่อนได้สำเร็จ สงครามเวียดนามเกิดขึ้นหลังจากมีการทำอนุสัญญาเจนิวา ในปี 2497 ซึ่งได้กำหนดให้แบ่งเวียดนามออกเป็นสองส่วนโดยใช้เส้นรุ้งที่ 17 เหนือ ก่อนที่เวียดนามเหนือเริ่มรุกรานเวียดนามใต้ในปี 2502 นับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามที่ยาวนานกว่า 10 ปี สงครามเวียดนามเป็นสงครามระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์ซึ่งสหภาพโซเวียตและจีนให้การสนับสนุน คือ เวียดนามเหนือ กับ เวียดนามใต้ ซึ่งเป็นฝ่ายประชาธิปไตยที่สหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตร (รวมทั้งประเทศไทย) สนับสนุน สหรัฐฯ ต้องทุ่มเทงบประมาณและสูญเสียชีวิตของทหารไปจำนวนมาก เนื่องจากไม่คุ้นเคยกับสภาพพื้นที่และการต่อสู้แบบกองโจรของทหารเวียดกง นักศึกษาและประชาชนชาวอเมริกันจำนวนมากออกมาเดินขบวนประท้วงสงครามนี้ ในที่สุดก็มีการลงนามใน ข้อตกลงสันติภาพปารีส (Paris Peace Accords) เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2516 หลังจากอเมริกาถอนกำลังทหารออกไป กองทัพเวียดนามเหนือก็บุกยึดไซ่ง่อนได้สำเร็จ เวียดนามทั้งสองรวมเข้าด้วยกันเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2518 แล้วประกาศใช้ชื่อประเทศใหม่ว่า สาธารณรัฐเวียดนาม ในเวียดนามเรียกสงครามครั้งนี้ว่า "สงครามปกป้องชาติจากอเมริกา" หรือ "สงครามอเมริกัน" ในสงครามครั้งนั้นมีทหารอเมริกันเสียชีวิตจำนวน 58,226 นาย และบาทเจ็บอีกจำนวน 153,303 นาย คาดว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในสงครามครั้งนี้ประมาณ 900,000 – 4,000,000 คน
30 เมษายน พ.ศ.2518 : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดทำการซื้อขายอย่างเป็นทางการครั้งแรก
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Securities Exchange of Thailand) เปิดทำการซื้อขายขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรก ทั้งนี้ ตลาดทุนไทยยุคใหม่เริ่มต้นหลังจากมีกการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ.2504 - 2509) และได้มีการเสนอให้จัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ที่มีระบบระเบียบ ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ.2510 - 2514) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 โดยมี นายศุกรีย์ แก้วเจริญ เป็นกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยคนแรก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่ภายใต้การกํากับดูแลของสํานักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดให้มีแหล่งกลางสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อส่งเสริมการออมทรัพย์และการระดมเงินทุนในประเทศ ตลท. ทำหน้าที่เป็นตลาดรองเพื่อแลกเปลี่ยนซื้อขายตราสารทุนของบริษัทต่างๆ ที่ขึ้นทะเบียนไว้ และ เพื่อให้สามารถระดมเงินทุนเพิ่มเติมจากสาธารณะได้โดยสะดวก เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2534 ได้เปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษเป็น The Stock Exchange of Thailand (SET)
30 เมษายน พ.ศ.2332 : จอร์จ วอชิงตัน รับตำแหน่ง ปธน.คนแรกของอเมริกา
จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา เขาเป็นผู้บัญชาการกองทัพของฝ่ายอาณานิคม (Continental Army) เอาชนะกองทัพอังกฤษในสงครามประกาศอิสรภาพอเมริกา (American War of Independence) แล้วได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีคนแรก ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย ระหว่างปี 2332-2340 เขาได้รับการยกย่องให้เป็น บิดาแห่งสหรัฐอเมริกา ได้รับการสดุดีว่า “เป็นหนึ่งทั้งในยามศึก ในยามสงบ และในใจของเพื่อนร่วมชาติ” เขาเป็น 1 ใน 4 ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ได้รับการสลักรูปใบหน้าไว้ที่อนุสรณ์สถานแห่งชาติเมาท์ รัชมอร์ (Mount Rushmore) มีการนำชื่อของเขาไปตั้งเป็นชื่อเมืองหลวงและรัฐทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกาคือ กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. (Washington D.C.) นอกจากนี้ใบหน้าของเขาปรากฏบนธนบัตรราคา 1 ดอลลาร์สหรัฐ และเหรียญ 25 เซนต์
30 เมษายน พ.ศ.2231 : สมเด็จพระนารายณ์ฯ เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคา
สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จทอดพระเนตรสุริยุปราคา ร่วมกับคณะบาทหลวงฝรั่งเศส และข้าราชบริพารฝ่ายไทย ณ พระที่นั่งเย็น พระที่นั่งตำหนักกลางทะเลชุบศร เมืองลพบุรี พระนารายณ์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 27 ของกรุงศรีอยุธยา เป็นพระโอรสของพระเจ้าปราสาททองกับพระราชเทวี เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่พระองค์หนึ่งของไทย ทรงสนพระทัยในวิทยาการของตะวันตก โดยเฉพาะเรื่องดาราศาสตร์ ทรงใช้กล้องดูดาวสังเกตการณ์เรื่องจันทรุปราคาและสุริยุปราคา พระนารายณ์ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญตลอดรัชกาลของพระองค์ ทั้งด้านการทหาร วรรณคดี และการทูต โดยเฉพาะการส่งคณะราชทูตไปเชื่อมสัมพันธไมตรีกับฝรั่งเศส ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14