1 กรกฎาคม พ.ศ.2454 : รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศตั้งกองลูกเสือ
1 กรกฎาคม 2454 รัชกาลที่ 6 ทรงประกาศตั้งกองลูกเสือ โดยมีพระราชประสงค์จะฝึกฝนเด็กชายให้มีความรู้ทางเสือป่า เพื่อจะได้รู้จักทำตนให้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองเมื่อเติบโตขึ้น ลูกเสือกองแรกจัดตั้งขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง ประเทศไทยจัดตั้งกองลูกเสือเป็นลำดับที่ 3 ในโลก หลังจาก อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา
1 กรกฎาคม พ.ศ.2494 : กรมรถไฟหลวง เปลี่ยนฐานะมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ภายใต้ชื่อว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
1 กรกฎาคม พ.ศ. 2494 จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาเห็นสมควรจัดตั้งกิจการรถไฟเป็นเอกเทศ จึงได้เสนอร่าง พระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ต่อรัฐสภา และได้มีพระบรมราชโองการให้ตราเป็นพระราชบัญญัติขึ้นไว้ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับลงวันที่ 30 มิถุนายน 2494 กรมรถไฟหลวง จึงเปลี่ยนฐานะมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ประเภทสาธารณูปการภายใต้ชื่อว่า "การรถไฟแห่งประเทศไทย" (รฟท.) ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2494 เป็นต้นมา โดยมี พลเอกจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เป็นผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยคนแรก
1 กรกฎาคม พ.ศ.2377 : หมอบรัดเลย์มิชชันนารีชาวอเมริกันออกเดินทางจากสหรัฐอเมริกา มุ่งสู่แผ่นดินสยาม
1 กรกฎาคม พ.ศ. 2377 หมอบรัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley, M.D.) มิชชันนารีชาวอเมริกันผู้มีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงต่อแผ่นดินสยาม ออกเดินทางจากบอสตัน สหรัฐอเมริกา พร้อมกับคณะมิชชันนารี A.B.C.F.M. (American Board of Commissioners of Foreign Missions) มุ่งหน้าสู่สยาม โดยเรือ "แคชเมียร์" (Cashmere) ใช้เวลารอนแรมในทะเลเป็นเวลา 6 เดือน ก็มาถึงประเทศสิงคโปร์ในวันที่ 12 มกราคม 2378 และแวะพักอยู่ที่สิงค์โปร์อีก 6 เดือน ก่อนจะเดินทางเข้าสู่สยามในวันที่ 18 กรกฎาคม 2378 เป็นวันเกิดปีที่ 31 ปีพอดี
1 กรกฎาคม พ.ศ.2109 : นอสตราดามุส นักพยากรณ์ชาวฝรั่งเศสผู้ได้รับการขนานนามให้เป็น ราชาโหรโลก เสียชีวิต
1 กรกฎาคม พ.ศ. 2109 นอสตราดามุส (Nostradamus) แพทย์และนักพยากรณ์ชาวฝรั่งเศส ผู้ได้รับการขนานนามให้เป็น "ราชาโหรโลก” เสียชีวิต เดิมชื่อว่า มิเชล เดอ นอสเตรอดัม (Michel de Nostredame) เป็นชาวฝรั่งเศสเชื้อสายยิว เกิดวันที่ 14 ธันวาคม 2046 ที่เมืองแซงต์ เรมี เดอ โปรวองซ์ (Saint-Remy-de-Provence) ประเทศฝรั่งเศส ในครอบครัวพ่อค้าชาวยิว จึงได้รับการศึกษาอย่างดี มีความรอบรู้ในแขนงต่างๆ ทั้งวรรณคดี ประวัติศาสตร์ การแพทย์ สมุนไพร ฯลฯ นอสตราดามุสจบการศึกษาด้านการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยมงต์เปลลีเยร์ (University of Montpellier) ในสมัยที่โรคกาฬโรคกำลังระบาด โดยที่ยังไม่มีรู้สาเหตุ นอสตราดามุสจึงศึกษาและพัฒนายาจนในที่สุดต้องเสียภรรยาและลูกไป จากนั้นเขาจึงออกเดินทางไปทั่วฝรั่งเศสและอิตาลี ค้นคว้าเรื่องยาจนตั้งหลักอีกครั้งที่เมืองซาลอง (Salon) แต่งงานใหม่และเริ่มการทำนายอนาคต ด้วยตระกูลของเขาสืบเชื้อสายมาจากยิวโบราณเผ่าอิสซาการ์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางด้านดาราศาสตร์มาก สามารถตีความปรากฏการณ์ ธรรมชาติต่างๆ ที่ปรากฏบนท้องฟ้าได้ นอสตราดามุสใช้วิธีการพยากรณ์โดยการคำนวณทางดาราศาสตร์ และทำนายจากนิมิต เขาได้บันทึกไว้เป็นโคลงเรียกว่า "Centuries" ผลงานที่มีชื่อเสียงเล่มอื่นได้แก่ "Almanac" และ "Prophecies" คำทำนายของนอสตราดามุสมักจะมีความคลุมเครือและยากที่จะตีความหมาย เพราะเขานิยมใช้ชื่อย่อและรหัสแทนชื่อคนและสถานที่จริง ตัวอย่างคำทำนายของนอสตราดามุสเช่น ฮิตเลอร์จะแพ้สงคราม เหตุการณ์โจมตีตึกเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ สงครามโลกครั้งที่ 3 ฯลฯ เขาเสียชีวิตด้วยโรคเกาต์
2 กรกฎาคม พ.ศ.2321 : ฌอง-ฌาค รุสโซ นักปรัชญาสังคมชาวสวิสเสียชีวิต
2 กรกฎาคม พ.ศ. 2321 ฌอง-ฌาค รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) นักปรัชญาสังคมชาวสวิส ผู้มีอิทธิพลต่อการ ปฏิวัติฝรั่งเศส (French Revolution) ผู้นำคนสำคัญแห่งยุคแสงสว่างทางปัญญา (Enligntenment) เสียชีวิตรุสโซเกิดที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2255 มารดาเสียชีวิตหลังจากคลอดเขาได้เพียง 9 วัน บิดาเป็นช่างนาฬิกาที่ไม่ประสบความสำเร็จ ตอนอายุ 6 ขวบ พ่อของเขาติดคุก จึงต้องไปอยู่กับลุง เขาหัดอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กและเรียนรู้ด้วยตัวเอง ตอนอายุ 16 ปีออกจากเจนีวา เดินทางท่องเที่ยวและหางานทำไปเรื่อยๆ จนได้เป็นผู้ช่วยทูต ในปี 2293 เขาตีพิมพ์หนังสือ Discourse on the Arts and Sciences ซึ่งประสบความสำเร็จและสร้างชื่อให้เขาอย่างมาก อีกสิบเอ็ดปีต่อมาก็ตีพิมพ์นิยายเรื่องแรก Julie, ou la nouvelle Heloise (The New Heloise) จากนั้นก็มีผลงานออกมาเสมอทั้งหนังสือวิชาการและนิยาย ผลงานที่มีชื่อเสียงได้แก่ The Social Contract, or Principles of Political of political Right และ The Confessions of Jean-Jacques Rousseau รุสโซเชื่อว่า ธรรมชาติของมนุษย์เป็นคนดี แต่สังคมทำให้มนุษย์แปดเปื้อน และมนุษย์มีเสรีภาพตามธรรมชาติโดยไม่จำกัด แต่เมื่อมนุษย์รวมตัวเป็นสังคมจึงต้องมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพบางส่วนโดยาการทำ "สัญญาประชาคม" (The Social Contract) เพื่อไม่ให้เกิดการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของกันและกัน เขากล่าวว่า "มนุษย์เกิดมาพร้อมเสรีภาพ แต่ทุกหนทุกแห่ง เขาต้องอยู่ในเครื่องพันธนาการ" ความคิดรุสโซมีอิทธิพลต่อการปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี 2332 และพัฒนาเป็นทฤษฎีสังคมนิยม (socialist theory) และมีส่วนสำคัญของพัฒนาการทางแนวคิด โรแมนติก (Romanticism) ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19
2 กรกฎาคม พ.ศ.2476 : ศาลาเฉลิมกรุง เปิดให้บริการเป็นวันแรก
2 กรกฎาคม พ.ศ. 2476 ศาลาเฉลิมกรุง โรงภาพยนตร์และโรงมหรสพที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย ในขณะนั้น เปิดให้บริการเป็นวันแรก โดยการฉายภาพยนตร์เรื่อง "มหาภัยใต้ทะเล" ทั้งยังเป็นอาคารที่ใช้ เครื่องปรับอากาศ [ระบบไอน้ำ (Chilled Water System)] แห่งแรกในประเทศไทย ในวันนั้นมีประชาชนไปชุมนุมกันอย่างเนืองแน่นจนการจราจรติดขัดไปทั่ว ทั้งนี้ ในสมัยนั้นทั่วพระนครมีโรงภาพยนตร์อยู่ประมาณ 20 โรง ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์ขนาดเล็ก ตัวอาคารเป็นไม้ หลังคามุงสังกะสี มีสภาพเก่าทรุดโทรม ไม่หรูหรา พระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งทรงโปรดภาพยนตร์เป็นพิเศษ จึงทรงมีพระราชดำริที่จะให้มีสถานที่มหรสพขนาดใหญ่ ทันสมัยทัดเทียมต่างประเทศสักแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เพื่อให้เป็นที่อำนวยความบันเทิงแก่ประชาชนทั่วไปและเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองไทยด้วย สถาปนิกผู้ออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างคือ หม่อมเจ้าสมัยเฉลิม กฤดากร และ นายนารถ โพธิปราสาท เป็นวิศวกร ใช้สถาปัตยกรรมแบบเรียบง่าย ผสมผสานระหว่างตะวันตกกับไทย รัชกาลที่ 7 ได้ทรงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์กว่า 9 ล้านบาทในการก่อสร้าง ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2473 โดยพระราชทานนามว่า "ศาลาเฉลิมกรุง" เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ออกแบบ และเป็นอนุสรณ์แห่งงานฉลองพระนครครบ 150 ปี (ปี 2475) ศาลาเฉลิมกรุงเริ่มต้นด้วยการเป็นแหล่งนัดพบของผู้มีการศึกษา ต่อมาเมื่อภาพยนตร์ไทยได้รับความนิยม ศาลาเฉลิมกรุง จึงเปลี่ยนบทบาทมาเป็นศูนย์กลางของความบันเทิงและเป็นแหล่งรวมศิลปินนานาแขนงไว้ที่นี่ ทั้งยังส่งผลให้พื้นที่โดยรอบเกิดการ พัฒนาแปรสภาพเป็นย่านธุรกิจการค้าสำคัญมากมายอีกด้วย เมื่อแหล่งบันเทิงสมัยใหม่ๆ เริ่มเกิดขึ้นมากมายราวดอกเห็ด ประจวบกับกระแสสังคมเปลี่ยนผัน ทำให้ศาลาเฉลิมกรุงต้องหยุดการดำเนินงานชั่วคราวในปี 2536 ปิดปรับปรุงซ่อมแซมและเปิดใหม่อีกครั้งในปี 2538 ปัจจุบัน ศาลาเฉลิมกรุงยังคงเปิดดำเนินการอยู่ ภายใต้การบริหารของ บริษัท เฉลิมกรุงมณีทัศน์ จำกัด มิได้ฉายภาพยนตร์เหมือนโรงภาพยนตร์ทั่วไปในยุคปัจจุบัน แต่ถูกยกระดับให้เป็นโรงมหรสพแห่งชาติ จัดฉายภาพยนตร์และเปิดการแสดงมหรสพสำคัญๆ ในโอกาสต่างๆ
2 กรกฎาคม พ.ศ.2420 : วันเกิด แฮร์มัน เฮสเส กวีชาวเยอรมัน
2 กรกฎาคม 2420 วันเกิด แฮร์มัน เฮสเส (hermann Hesse) (2420-2505) กวีชาวเยอรมัน หนึ่งในนักเขียนวรรณกรรมร่วมสมัยผู้ยิ่งใหญ่ เขาได้รับรางวัลโนเบล เมื่อ พ.ศ. 2489 ผลงานของเขาหลายเล่ม เช่น สิทธารถะ สเตปเปนวูฟล์ และอื่นๆ ได้รับความนิยมจากหลายประเทศ รวมแล้วกว่า ๘๐ ล้านเล่ม
3 กรกฎาคม พ.ศ.2547 : ระบบรถไฟฟ้ามหานคร ของกรุงเทพมหานคร เริ่มเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ
3 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ระบบรถไฟฟ้ามหานคร ของกรุงเทพมหานคร เริ่มเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการ รถไฟฟ้ามหานคร หรือที่ชาวกรุงเทพฯ นิยมเรียกว่า รถไฟฟ้าใต้ดิน เป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนใต้ดินในกรุงเทพมหานคร ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) โดยได้รับสัมปทานจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รถไฟฟ้ามหานครนั้นเป็นระบบซึ่งดำเนินการแยกต่างหากจากระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (รถไฟฟ้าบีทีเอส)
4 กรกฎาคม พ.ศ.2548 : สหรัฐอเมริกาส่งหัวกระสวยเข้าปะทะกับดาวหาง เทมเปล-1สำเร็จ
4 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 "ดีพ อิมแพค" (Deep Impact) ยานอวกาศขององค์การนาซาสหรัฐอเมริกา ส่งหัวกระสวย "อิมแพคเตอร์" (Impactor) เข้าปะทะกับ "ดาวหาง เทมเปล-1" (Comet Tempel-1) เป็นผลสำเร็จ ทั้งนี้ "ปฏิบัติการดีพ อิมแพค" (Deep Impact Mission) เป็นโครงการอวกาศของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ (University of Maryland) ซึ่งได้รับทุนอุดหนุนจากนาซา ในการสร้างยานอวกาศขึ้นไปสำรวจดาวหางเทมเปล 1 ด้วยการส่งกระสวยพุ่งเข้าชน ยานอวกาศดีพอิมแพคถูกส่งขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด เดลตา 2 (Delta II) เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2548 มุ่งสู่ดาวหางเทมเปล 1 ซึ่งมีวงโคจรรูปวงรีอยู่ระหว่างวงโคจรของดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี ยานอวกาศใช้เวลาเดินทางประมาณ 6 เดือน กำหนดถึงดาวหางเทมเปล-1 ในวันที่ 3 กรกฎาคม 2548 หลังจากนั้นหนึ่งวัน ยานจะทำการแยกตัวเป็น 2 ลำคือ “อิมแพคเตอร์” ซึ่งมีน้ำหนัก 370 กิโลกรัม พุ่งเข้าชนนิวเคลียสของเทมเปล-1 ด้วยความเร็ว 10.2 กิโลเมตร/วินาที ทำให้เกิดแรงระเบิดเทียบเท่าระเบิดทีเอ็นที (TNT) จำนวน 4.8 ตัน ทำให้เกิดหลุมขนาดประมาณใหญ่ 10 – 200 เมตร ลึกเท่าตึก 2 – 14 ชั้น ในขณะที่ยาน "ไฟล์บาย” (Fly By) จะบินทิ้งระยะห่างประมาณ 500 เมตร และใช้กล้องโทรทรรศน์ติดตามผลของการกระแทก โดยใช้เครื่องสเปคโตรมิเตอร์วิเคราะห์ฝุ่นซึ่งเกิดจากการกระแทก และรายงานกลับมายังโลก ส่วนดาวหางเทมเปล-1 นั้นค้นพบเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2410 โดยนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ วิลเฮล์ม เทมเปล (Ernst Wilhelm Leberecht Tempel) เป็นดาวหางขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 14 กิโลเมตร วงโคจรเป็นวงรีอยู่ระหว่างดาวเคราะห์ชั้นใน ใช้เวลาโคจรรอบดวงอาทิตย์ 5.5 ปี นักวิทยาศาสตร์คาดว่า การพุ่งชนครั้งนี้จะทำให้เกิดวัตถุและก๊าซฟุ้งกระจาย ออกมาจากโครงสร้างภายใน ซึ่งช่วยในการไขปริศนาโบราณของการกำเนิดระบบสุริยะเมื่อ 4,600 ล้านปีก่อน ปฏิบัติการครั้งนี้มีผู้คนเฝ้าคอยรับชมทั่วโลก แม้จะเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของมนุษย์ แต่นักวิชาการอีกหลายฝ่ายกลับมองว่า ปฏิบัติการดีพ อิมเพ็คครั้งนี้เป็นเพียงการแสดงแสนยานุภาพของ “พี่เบิ้มมะกัน” ที่พยายามจะก้าวจากความเป็น “จ้าวโลก” ไปเป็น “จ้าวจักรวาล” ในวันชาติของตัวเองเท่านั้น อีกทั้งดวงดาวมิใช่เป็นสมบัติของชาติใดชาติหนึ่ง หากแต่เป็นทรัพย์สมบัติของจักรวาลนี้ เช่นเดียวกับมนุษย์ แล้วฝุ่นผงสกปรกอย่างเราจะมีสิทธิ์อะไรที่จะกระทำต่อดาวดวงอื่น ดาวโลกดวงนี้ยังไม่เพียงพออีกหรือ ?
4 กรกฎาคม พ.ศ.2477 : มารี กูรี นักเคมีชาวโปแลนด์เสียชีวิต
4 กรกฎาคม พ.ศ. 2477 มารี กูรี (Maria Sklodowska-Curie) นักเคมีชาวโปแลนด์ผู้ค้นพบรังสีเรเดียม (radium) ผู้หญิงคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบล เสียชีวิต มารี กูรีเกิดเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2410 ที่กรุงวอร์ซอ ประเทศโปแลนด์ บิดาเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์ เขามักจะพาเธอไปห้องทดลองเสมอ ทำให้กูรีหลงรักวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก ระหว่างที่เรียนฟิสิกส์และคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ (ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยปารีส) เธอได้ทำงานเป็นผู้ช่วยในห้องปฏิบัติการทางเคมี ของศาสตราจารย์ทางฟิสิกส์ชื่อ ปิแอร์ กูรี (Pierre Curie) จนพบรัก แต่งงาน และมีลูกด้วยกัน หลังจากเรียนจบ เธอก็ได้เป็นศาสตราจารย์ผู้หญิงคนแรกของมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ เธอกับสามีได้ร่วมกันค้นคว้าทดลองจนค้นพบธาตุ เรเดียม (Radium) ในปี 2441 อีก 4 ปีต่อมาทั้งสองก็สามารถสกัด เรเดียมคลอไรด์ (radium chloride) ได้ ต่อมาก็ค้นพบว่าเรเดียมสามารถรักษาโรคผิวหนังและโรคมะเร็งได้ จึงนำผลงานชิ้นนี้ออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน ส่งผลให้ทั้งคู่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาฟิสิกส์ในปี 2446 หลังจากทีปีแอร์ผู้เป็นสามีเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุเมื่อปี 2449 มารีก็ยังคงทุ่มเทศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับธาตุเรเดียมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ต่อไป จนได้รับรางวัลโนเบลครั้งที่ 2 ในปี 2454 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เธอจัดตั้งแผนกเอกซเรย์เคลื่อนที่เพื่อตระเวนรักษาทหารที่บาดเจ็บตามหน่วยต่างๆ และสามารถรักษาทหารด้วยรังสีเอกซ์ (X Ray) กว่า 100,000 คน หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สงบลง มารีได้กลับมาทำงานอีกครั้ง จนในที่สุดเธอก็ได้รับผลกระทบจากกัมมันตภาพรังสีของเรเดียม ทำให้ไขกระดูกถูกทำลายจนเสียชีวิตในที่สุด นับว่าการค้นพบและสกัดแร่เรเดียมของนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองท่านนี้ได้มีประโยชน์ต่อวงการแพทย์เป็นอย่างมาก เพราะก่อนหน้านั้นมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากที่สุด เพราะเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ จนมีการค้นพบวิธีการรักษาโดยการฉายรังสีเรเดียม
4 กรกฎาคม พ.ศ.2387 : บางกอกรีคอร์เดอร์ หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทยเริ่มออกวางแผง
4 กรกฎาคม พ.ศ. 2387 "บางกอกรีคอร์เดอร์" (Bangkok Recorder) หรือ "หนังสือจดหมายเหตุ” เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย ฉบับปฐมฤกษ์เริ่มออกวางแผง หนังสือพิมพ์ฉบับนี้จัดพิมพ์โดย หมอบรัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley, M.D.) มิชชันนารีอเมริกัน โดยใช้ตัวพิมพ์ที่เรียกว่า “บรัดเลย์เหลี่ยม” จัดพิมพ์ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ในระยะแรกเริ่มออกฉบับรายเดือน ต่อมาเปลี่ยนเป็นรายปักษ์หรือรายครึ่งเดือน แต่ออกได้เพียงสองปีก็ต้องเลิกกิจการ หนังสือพิมพ์บางกอกรีคอร์ดเดอร์ได้นำเอาวิธีการรายงานข่าวและการเขียนบทความแบบวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นของใหม่ในสมัยนั้นเข้ามาด้วย
4 กรกฎาคม พ.ศ.2540 : ยานอวกาศ มาร์ส พาทไฟน์เดอร์ ของสหรัฐอเมริกา ลงจอดบนดาวอังคารเป็นผลสำเร็จ
4 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ยานอวกาศ มาร์ส พาทไฟน์เดอร์ (Mars Pathfinder) ขององค์การนาซา แห่งสหรัฐอเมริกา ลงจอดบนดาวอังคารเป็นผลสำเร็จ โดยใช้เวลาเดินทางจากโลกถึง 7 เดือน อีกสองวันต่อมาได้ปล่อยรถหุ่นยนต์ชื่อ "โซเจอร์เนอร์” (Sojourner) ลงสำรวจก้อนหินและสภาพผิวของดาว ผลการสำรวจระบุถึงความเป็นไปได้ว่า เมื่อประมาณ 2 พันล้านปีมาแล้วดาวอังคารเคยมีน้ำมาก่อน
5 กรกฎาคม พ.ศ.2410 : แอนนา เลียวโนเวนส์ เดินทางกลับสหรัฐอเมริกา
5 กรกฎาคม พ.ศ. 2410 แอนนา เลียวโนเวนส์ (Anna Leonowens) สตรีชาวอังกฤษ ครูผู้สอนภาษาอังกฤษให้แด่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 และพระราชโอรสธิดา เดินทางออกจากประเทศไทยกลับสหรัฐอเมริกา หนึ่งปีก่อนที่รัชกาลที่ 4 จะเสด็จสวรรคต แหม่มแอนนาเดินทางจากสิงคโปร์มาถึงกรุงเทพฯ ในปี 2405 ตามจดหมายเชิญชวนของรัชกาลที่ 4 ผ่านผู้จัดการบริษัทบอร์เนียวประจำสิงคโปร์คือนายวิลเลียม อดัมสัน เพื่อมาเป็น “พระอาจารย์ฝรั่ง” สอนภาษาอังกฤษในราชสำนักสยาม แอนนาอยู่ในสยาม 4 ปี 6 เดือนก็ได้ถวายบังคมลาออกเนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ เธอเดินทางกลับไปสหรัฐอเมริกาโดยแวะพักที่อังกฤษและไอร์แลนด์ ที่นั่นเธอได้เขียนบทความและสารคดีเกี่ยวกับประสบการณ์ในสยามลงนิตยสาร Atlantic Monthly ซึ่งต่อมาได้รับการตีพิมพ์ กลายเป็นหนังสือรวมเล่มเกี่ยวกับชีวิตแอนนาในพระราชสำนักสยาม 2 เล่มคือ "The English Governess at the Siamese Court” ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2413 และ "The Romance of the Harem” ซึ่งต่อมากลายเป็นหนังสือขายดีและสร้างชื่อเสียงให้กับเธอเป็นอย่างมาก หลังจากนั้น มาร์การ์เร็ต ลอนดอน (Margaret Landon) ได้นำชีวิตของแอนนามาแต่งเป็นนิยายขายดีชื่อว่า "Anna and the King of Siam" ในปี 2487 อีกสองปี จอห์น ครอมเวลล์ (John Cromwell) ได้นำชีวประวัติของแอนนามาสร้างเป็นละครเพลงและภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน จากหนังสือทั้งสองเล่มของแอนนาได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างสูงในกรณีที่สตรีชาวยุโรปได้มีอิทธิพลต่อราชสำนักสยามเนื่องจากเนื้อหาในหนังสือบางส่วนแอนนาได้แต่งเติมลงไปว่าเธอมีส่วนในการผลักดันหรือชี้แนะนโยบายหลายอย่างต่อราชสำนักสยาม โดยเฉพาะเรื่องทาสและสิทธิสตรี ยิ่งเมื่อมีการนำชีวิตของเธอมาแต่งเป็นนิยายและสร้างเป็นภาพยนตร์ ก็ยิ่งมีผู้เข้าใจว่าเธอมีอิทธิพลต่อราชสำนักสยามจริงแต่เมื่อมีการสอบสวนเรื่องนี้โดยนักวิชาการ ก็ได้บทสรุปที่เชื่อกันว่าแอนนาแท้จริงแล้วไม่ได้มีบทบาทอะไรมากไปกว่าครูสอนภาษาอังกฤษ ขณะที่นักวิชาการบางส่วนเห็นว่าเธอเป็นสายลับของต่างชาติ จนลุกลามไปถึงการโจมตีแอนนาว่าโกหก หลอกลวง และดูหมิ่นพระเกียรติพระมหากษัตริย์สยาม แม้เธออาจได้รับคำนินทาว่าร้ายหรือคำสรรเสริญเยินยอจากผู้คนในยุคหลัง แต่อย่างไรก็ตามเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของเธอในพระราชสำนักสยามก็ยังคงเป็นที่สนใจใคร่รู้ของผู้คนอยู่ต่อไป ล่าสุดปี 2543 แอนดี เทนแนนท์ (Andy Tennant) ก็ได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์อีกครั้ง นำแสดงโดยโจ เหวินฟะ (Yun-Fat Chow) เป็น “คิงมงกุฎ” และจูดีฟอสเตอร์ (Jodie Foster) เป็นแอนนา ถ่ายทำส่วนใหญ่ในประเทศมาเลเซีย ซึ่งกลายเป็นข่าวครึกโครมและถูกแบนในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อย
5 กรกฎาคม พ.ศ.2230 : เซอร์ไอแซก นิวตัน นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษตีพิมพ์ Principia ออกเผยแพร่เป็นครั้งแรก
5 กรกฎาคม พ.ศ. 2230 เซอร์ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Newton) นักฟิสิกส์ และนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษ ตีพิมพ์ผลงานชิ้นสำคัญคือ "Philosophiae Naturalis Principia Mathematica" หรือ "Principia” ออกเผยแพร่เป็นครั้งแรก เนื้อหาในเล่มอธิบายเรื่อง กฎความโน้มถ่วงสากล (law of universal gravitation) ซึ่งเป็นการวางรากฐาน กลศาสตร์ดั้งเดิม (Classical mechanics) ผ่าน กฎการเคลื่อนที่ (Law of Motion) ของเขา ในผลงานชิ้นนี้ นิวตันได้ประกาศว่าดวงดาวแต่ละดวงในเอกภพล้วนแล้วแต่มีแรงดึงดูดซึ่งกันและกัน โดยที่แรงดึงดูดดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นตามมวลของดาวแต่ละดวง และแรงดังกล่าวนี้ก็คือแรงชนิดเดียวกันกับแรงที่ทำให้วัตถุต่างๆ ต้องตกลงสู่พื้นโลกเสมอ ซึ่งก็คือ "แรงโน้มถ่วง" นั่นเอง ยิ่งดวงดาวอยู่ห่างจากกัน แรงดึงดูดก็จะยิ่งน้อยลง เป็นสาเหตุที่ทำให้ดาวเคราะห์ต่างๆ มีวิถีโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี คำอธิบายที่ชัดเจนเหล่านี้เองที่ทำให้แบบจำลองจักรวาลของอริสโตเติลและปโตเลมี อีกทั้งความเชื่อเรื่องเทหวัตถุที่สืบทอดมาอย่างยาวนานต้องพบกับจุดจบ และก่อให้เกิดวิชาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ยุคใหม่ขึ้นมาแทน ในปี 2535 คริสตจักรโรมันคาทอลิกได้ประกาศยอมรับอย่างเป็นทางการว่า แนวคิดเกี่ยวกับระบบสุริยะจักรวาลของกาลิเลโอนั้นถูกต้อง Principia ของนิวตันได้รับการยกย่องว่าเป็นผลงานที่สำคัญมากที่สุดชิ้นหนึ่งของวงการฟิสิกส์
6 กรกฎาคม พ.ศ.2428 : หลุยส์ ปาสเตอร์ นักเคมีชาวฝรั่งเศสทดสอบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำเร็จ
6 กรกฎาคม พ.ศ. 2428 หลุยส์ ปาสเตอร์ (Louis Pasteur) นักเคมีชาวฝรั่งเศส ประสบความสำเร็จในการทดสอบวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) เป็นครั้งแรก โดยใช้รักษาให้กับเด็กชาย โจเซฟ เมสเตร์ (Joseph Meister) วัย 9 ขวบ ในสมัยนั้น โรคพิษสุนัขบ้าแม้ว่าจะไม่ใช่โรคระบาดที่ร้ายแรงแต่ก็สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้คนมาก เพราะเมื่อผู้ใดที่ถูกสุนัขบ้ากัดแล้วต้องเสียชีวิตทุกราย สัตว์ที่ป่วยด้วยโรคนี้ก็จะต้องตายโดยไม่มีวิธีรักษาหรือป้องกันได้เลย จากการค้นคว้าปาสเตอร์พบว่าเชื้อสุนัขบ้าอยู่ในน้ำลาย ดังนั้นเมื่อถูกน้ำลายของสุนัขที่มีเชื้อโรคอยู่ไม่ว่าจะถูกเลียหรือถูกกัด เชื้อโรคในน้ำลายก็จะซึมเข้าไปทางแผลสู่ร่างกายได้ ปาสเตอร์ได้นำเชื้อมาเพาะวัคซีน แล้วนำไปทดลองกับสัตว์ ปรากฏว่าได้ผลเป็นอย่างดี แต่เขาก็ยังไม่กล้านำมาทดลองกับคน จนกระทั่งวันหนึ่งเด็กชายเมสเตร์ถูกสุนัขบ้ากัด ไหนๆ ก็จะต้องตายอยู่แล้ว พ่อแม่จึงได้นำบุตรชายมาให้ปาสเตอร์ทดลองรักษา ปรากฏว่าเด็กน้อยไม่ป่วยเป็นโรคสุนัขบ้า การค้นพบครั้งนี้ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากนั้นในปี 2431 ปาสเตอร์ได้ก่อตั้ง "สถาบันปาสเตอร์” (Pasteur Institute) ขึ้นที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และได้ขยายสถาบันปาสเตอร์ไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในประเทศไทยใช้ชื่อว่า “สถานเสาวภา” ก่อตั้งในปี 2455 โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปัจจุบันเป็นหน่วยงานในสังกัดสภากาชาดไทย
7 กรกฎาคม พ.ศ.2510 : เปิดใช้ สะพานสารสิน เป็นครั้งแรก
7 กรกฎาคม 2510 เปิด สะพานสารสิน ซึ่งเชื่อมระหว่าง จ. พังงา กับ จ. ภูเก็ต ทำให้สามารถเดินทางไปภูเก็ตได้โดยทางรถเป็นครั้งแรก
7 กรกฎาคม พ.ศ.2473 : เซอร์ อาร์เทอร์ โคนัน ดอยล์ นักประพันธ์ชาวอังกฤษ ผู้แต่ง เชอร์ล็อค โฮล์มส์ ถึงแก่กรรม
7 กรกฎาคม พ.ศ. 2473 เซอร์ อาร์เทอร์ โคนัน ดอยล์ (Sir Arthur Conan Doyle) นายแพทย์นักประพันธ์ชาวอังกฤษ ถึงแก่กรรม เซอร์ อาร์เทอร์ โคนัน ดอยล์ เกิดวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2402 ที่เมืองเอดินเบิร์ก ประเทศสก็อตแลนด์ เรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก จบแล้วทำงานเป็นแพทย์ ระหว่างนั้นเขาก็เริ่มเขียนเรื่องสั้นลงตีพิมพ์ตามนิตยสารต่างๆ อยู่เสมอจนเริ่มมีชื่อเสียงในฐานะนักเขียนตอนอายุ 27 ปี หลังจากนิยายเรื่อง A Study in scarlet ได้รับการตีพิมพ์นิยายเรื่องนี้มีตัวละครเอกชื่อ เชอร์ล็อค โฮล์มส์ (Sherlock Holmes) เป็นผู้ไขปริศนาฆาตกรรม ปรากฎว่าได้รับความนิยมมากจนดอยล์ต้องเขียนต่อมาถึง 12 ตอน จนวันหนึ่งเขารู้สึกเบื่อหน่ายการเขียนนิยายเรื่องนี้ จึงเขียนให้เชอร์ล็อค โฮล์มส์ตาย ทำให้คนอ่านผิดหวังมากถึงขนาดบางคนตามฆ่าเขา และขู่จะเผาบ้าน จนเขาต้องเขียนให้เขียนให้เชอร์ล็อค โฮล์มส์ฟื้นคืนชีพขึ้นมากอีกครั้ง ภายหลังเขาเลิกอาชีพแพทย์มาเขียนหนังสืออย่างจริงจัง ผลงานของเขามีหลากหลายทั้งนิยาย เรื่องสั้น สารคดี บทความเชิงประวัติศาสตร์ ดอยล์เสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2473 เขาเป็นผู้สร้างเชอร์ล็อค โฮล์มส์ ตัวละครนักสืบที่มีชื่อเสียงที่สุดจนทุกวันนี้
8 กรกฎาคม พ.ศ.2040 : วาสโก ดา กามา(Vasco da Gama) นักสำรวจชาวโปรตุเกส เดินทางออกจากลิสบอน มุ่งหน้าไปยังประเทศอินเดีย
8 กรกฎาคม พ.ศ. 2040 (ค.ศ. 1497) วาสโก ดา กามา (Vasco da Gama) นักสำรวจชาวโปรตุเกส เดินทางออกจากลิสบอน มุ่งหน้าไปยังประเทศอินเดีย
9 กรกฎาคม พ.ศ.2524 : หมู่เกาะสุรินทร์ ได้รับการประกาศจัดตั้งให้เป็น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์
9 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 หมู่เกาะสุรินทร์ ได้รับการประกาศจัดตั้งให้เป็น "อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์" เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 29 ของประเทศไทย นับเป็นหมู่เกาะที่มีแนวปะการังน้ำตื้นและน้ำลึกที่สวยงามและสมบูรณ์ที่สุดของเมืองไทยที่มีชื่อเสียงติดอันดับโลก ในอดีตหมู่เกาะแห่งนี้เคยเป็นป่าสงวนแห่งชาติ เป็นพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียมและเคยถูกเสนอให้เป็นค่ายญวนอพยพ แต่เนื่องจากธรรมชาติทั้งบนบกและใต้น้ำมีความอุดมสมบูรณ์มาก กรมป่าไม้จึงพยายามเสนอหให้เป็นอุทยานแห่งชาติ จนประสบความสำเร็จในที่สุด อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์อยู่ในทะเลฝั่งอันดามัน ที่ ต. พระทอง อ. คุระบุรี จ. พังงา มีพื้นที่ 135 ตารางกิโลเมตร (84,357 ไร่) ร้อยละ 76 ของพื้นที่เป็นทะเล ส่วนที่เหลือเป็นแผ่นดิน ประกอบด้วยเกาะ 5 เกาะ ได้แก่ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะตอรินลา (เกาะราบ) เกาะปาจุมบา (เกาะมังกร) และเกาะสต๊อร์ก (เกาะไฟแว่บ) ในบริเวณนี้ยังมีกองหินโผล่พ้นน้ำอีก 2 แห่ง ได้แก่ หินแพและหินกอง และกองหินปริ่มน้ำ "ริเชลิว" ซึ่งเป็นจุดดำน้ำสำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง ปัจจุบันกำลังผนวกเข้ากับอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์นับเป็นห้องเรียนธรรมชาติที่สมบูรณ์ทั้งบนบกและในทะเล มีทั้งป่าดิบชื้น ป่าชายหาด ป่าชายเลนมาประจบกับแนวปะการัง จึงมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก ตั้งแต่ปลาการ์ตูนตัวเล็กๆ ไปถึงปลาขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างฉลามวาฬ หอยมือเสือ ปูเสฉวน นกกระแตผีชายหาด นกชาปีไหน รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น บ่าง นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านของชาวเล "มอแกน" หรือ "ยิบซีแห่งท้องทะเล" ประมาณ 200 คนซึ่งเป็นชาวเลกลุ่มสุดท้ายที่ยังดำรงวัฒนธรรมดั้งเดิมมากที่สุด ในอดีตชาวมอแกนเคยแล่น "เรือก่าบาง" เป็นเรือไม้ระกำเร่ร่อนหาปลาไปทั่วน่านน้ำอันดามัน ปัจจุบันได้ตั้งหมู่บ้านอยู่ที่เกาะสุรินทร์ใต้ ขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว และบางส่วนทำงานเป็นลูกจ้างของอุทยานฯ
10 กรกฎาคม พ.ศ.2528 : เรือเรนโบว์วอริเออร์ของกลุ่มกรีนพีซถูกลอบวางระเบิด
10 กรกฎาคม 2528 เรือเรนโบว์วอริเออร์ ลำแรกของกลุ่ม กรีนพีซ (greenpeace) ถูกลอบวางระเบิดโดยสายลับฝรั่งเศส ขณะจอดเทียบท่าที่ท่าเรือโอ๊คแลนด์ นิวซีแลนด์ เพื่อเตรียมพร้อมก่อนออกเดินทางไปยับยั้งการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของฝรั่งเศสที่หมู่เกาะมูรูรัว