-
Category: วันนี้ในอดีต
-
Published on Monday, 22 May 2017 04:39
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 9154
1 ตุลาคม พ.ศ.2491 : พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ถึงแก่อนิจกรรม
พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย ถึงแก่อนิจกรรมที่ประเทศมาเลยเซีย ชื่อเดิมคือ ก้อน หุตะสิงห์ เป็นบุตตของนายฮวด กับนางแก้ว หุตะสิงห์ เกิดที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2427เรียนมัธยมที่โรงเรียนอัสสัมชัญวิทยาลัย ต่อโรงเรียนกฏหมายกระทรวงยุติธรรม(เนติบัณฑิตสยาม) และศึกษาต่อที่โรเรียนมิดเดิล เทมเปิล (เนติบัณฑิต) ที่ประเทศอังกฤษ หลังจากการปฏิวัติสยามเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 คณะราษฎรได้มีมติแต่งตั้งพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็น ประธานคณะกรรมการราษฎร ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในการบริหาร เทียบเท่ากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน เข้าดำรงตำในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 พร้อมกับเสนอรายชื่อ คณะกรรมการราษฎร หรือ คณะรัฐมนตรี ชุดแรกของไทย ภายหลังจากการประชุมสภาผู้แทนคณะราษฎรครั้งแรก ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ต่อมาวันที่ 10 ธันวาคม ปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร จึงเปลี่ยนจาก "ประธานคณะกรรมการราษฎร" มาเป็น "นายกรัฐมนตรี" วันที่ 1 เมษายน 2476 พระยานโนปกรณ์ฯ ได้กราบบังคมทูลรัชกาลที่ 7 ขอให้ทรงประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ด้วยเหตุผลว่าคณะรัฐมนตรีมีความแตกแยก ในกรณี “โครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ” ซึ่งร่างโดย นายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งมีลักษณะเป็นสหกรณ์เต็มรูปแบบ แต่ไม่ทำลาย กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของ เอกชน โดยให้รัฐซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมด้วยพัทธบัตร มีดอกเบี้ยประจำปี และให้การประกันแก่ราษฎรตั้งแต่เกิดจนตาย แต่พระยามโนปกรณ์ฯ และขุนนางบางส่วนที่ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ ได้กล่าวหานายปรีดีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ และเนรเทศออกไปอยู่ฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2476 ความขัดแย้งระหว่างคณะรัฐมนตรีกับคณะราษฎรรุนแรงมากขึ้นเรื่อย จนในที่สุด พระยาพหลพลพยุหเสนา และ หลวงพิบูลสงคราม ทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2476 (ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกของไทย) ปลดพระยามโนปกรณ์ฯ ออกจากตำแหน่งแล้วเนรเทศไปยังปีนัง ประเทศมาเลเซีย พำนักอยู่ที่นั่นจนถึงแก่อนิจกรรม
1 ตุลาคม พ.ศ.2411 : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นกษัตริย์รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี ขณะทรงมี พระชนมพรรษาเพียง 15 ปี โดยมี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราช การแทนพระองค์ จนทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว จึงเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติอีกครั้งเมื่อปี 2416 ก่อนจะประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2411 เมื่อพระชนมายุ 15 พรรษา เมื่อเริ่มรัชกาลจึงต้องมีผู้สำเร็จราชการคือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จนกระทั่งทรงมีพระชนมายุถึง 18 พรรษาจึงมีพระราชอำนาจเต็ม พระองค์ทรงปฏิรูปการปกครองบ้านเมืองให้ทันสมัยขึ้น ทรงผนึกแผ่นดินล้านนา ทรงออกพระราชบัญญัติให้เลิกทาส ในยุคนั้นประเทศตะวันตกเริ่มเข้ามาล่าอาณานิคม พระองค์ได้เสด็จไปต่างประเทศเพื่อทอดพระเนตรความเจริญในประเทศตะวันตก แล้วนำกลับมาพัฒนาบ้านเมือง ขณะเดียวกันก็เสด็จประพาสต้น เพื่อศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่แท้จริงของราษฎร นอกจากนี้ยังทรงบำรุงความผาสุขของประชาชน โดยทรงริเริ่มสิ่งใหม่ๆ เช่น การรถไฟ ไฟฟ้า ไปรษณีย์โทรเลข โรงพยาบาล การศึกษา ศาสนา และทรงส่งเจ้านายหลายพระองค์ไปศึกษาในยุโรปเพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศ ทรงมีพระมเหสีและเจ้าจอมทั้งหมด 92 พระองค์ ทรงมีพระราชโอรส-ธิดา รวมทั้งสิ้น 77 พระองค์ การพัฒนาของพระองค์ส่งผลให้สยามเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว พระองค์จึงได้รับถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระปิยะมหาราช และมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน ต่อมาได้มีการกำหนดให้วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันปิยมหาราช" รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2453 ขณะพระชนมายุได้ 58 พรรษา ทรงครองราชย์นาน 42 ปี
1 ตุลาคม พ.ศ.2411 : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เสด็จสวรรคต วันพระราชสมภพคือ 18 ตุลาคม 2347 เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2394 ภายหลังจากที่รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคต เถลิงถวัลยราชสมบัติเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2394 รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญ ได้แก่ ทรงแก้ไขธรรมเนียมข้าราชการเข้าเฝ้าให้สวมเสื้อเช่นประเทศตะวันตก ทรงทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการต่างประเทศกับชาติตะวันตก (สนธิสัญญาเบาว์ริง) ทรงนำสยามรอดพ้นจากการตกเป็นอาณานิคมของตะวันตก ทรงสนพระทัยเรียนรู้ภาษาตะวันตกและวิชาการของตะวันตก เช่น วิทยาศาสตร์และดาราศาสตร์ จนทรงสามารถทำนายการเกิดสุริยุปราคาที่ ต.หว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้อย่างแม่ยำ จนได้รับการขนานพระนามว่า “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” ทรงดำรงสิริราชสมบัติเป็นเวลา 18 ปี จึงเสด็จสวรรคต
2 ตุลาคม พ.ศ.2412 : วันเกิด มหาตมะ คานธี นักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพ
2 ตุลาคม พ.ศ. 2412 วันเกิด มหาตมะ คานธี (Mahatma Gandhi) มหาบุรุษ นักต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและเอกราชของอินเดีย ชื่อเต็มคือ โมฮันทาส การามจันทร์ คานธี (Mohandas Karamchand Gandhi) เกิดที่จังหวัดโพรบันดาร์ (Porbandar) รัฐคุชราต ทางตะวันตกของอินเดีย ในวรรณะแพศย์ (พ่อค้า) บิดาเป็นข้าราชการ มารดาเป็นแม่บ้านที่เคร่งศาสนา คานธีแต่งงานตั้งแต่อายุ 13 ปี ตามธรรมเนียมของชาวฮินดูในสมัยนั้น ในวัยเด็กเขาไม่ใช่คนเรียนเก่ง หรือมีความสามารถพิเศษอย่างปรากฏใดชัดเจน ญาติๆ จึงแนะนำให้เขาไปเรียนที่อังกฤษ (ประเทศเจ้าอาณานิคมของอินเดียสมัยนั้น) เพื่อโอกาสก้าวหน้าทางการงานในอนาคต คานธีเดินทางไปอังกฤษในวัย 18 ปี เข้าเรียนนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน (University College London) เรียนจบแล้วกลับอินเดีย ก่อนจะเดินทางไปรับตำแหน่งที่ปรึกษาทางกฎหมายที่ประเทศแอฟริกาใต้ ประเทศอาณานิคมของอังกฤษ ที่ชาวอินเดียอพยพไปทำงานกันมากที่นี่เขาได้พบประสบการณ์เหยียดสีผิวตั้งแต่วันแรกๆ ที่ไปถึง คือซื้อตั๋วรถไฟชั้น 1 แต่ถูกขับไล่ให้ไปนั่งชั้น 3 แต่เขาไม่ยอม จึงถูกจับโยนลงจากรถไฟ ความอับอายครั้งนั้นกลายเป็นตัวจุดประกายให้เขาอยากเปลี่ยนแปลงสังคม จากนั้นเขาก็จัดชุมนุมชาวอินเดีย อันนำไปสู่การเรียกร้องสิทธิของชาวอินเดียในแอฟริกาใต้ เมื่ออังกฤษออกกฎหมายห้ามชาวฮินดูแต่งงานกับมุสลิม คานธีได้กล่าวปราศรัยโจมตีกฎหมายฉบับนี้ จนเกิดการประท้วงในวงกว้างทั่วแอฟริกาใต้ ทำให้กฎหมายฉบับนี้ถูกยกเลิกไปในที่สุด คานธีกลับอินเดียในปี 2458 ขณะนั้นชาวอินเดียสิ้นหวังที่จะเป็นอิสระจากอังกฤษ แต่คานธีพยายามปลุกระดมชาวอินเดียให้ลุกขึ้นเรียกร้องเอกราช เมื่อเกิดการสังหารหมู่ชาวอินเดียที่อำมริสาในปี 2462 ชาวอินเดียรู้สึกโกรธแค้นมาก อยากจะแก้แค้นคืน แต่คานธีได้กล่าวปราศรัยให้ประชาชนเปลี่ยนความโกรธเป็นการให้อภัย จนกลายเป็นหลัก "อหิงสา” หรือ "สัตยาเคราะห์” (Satyagraha) จากนั้นก็หาวิธีต่อต้านอังกฤษ โดยการปฏิเสธกฎหมายอังกฤษที่ไม่เป็นธรรม เช่น กฎหมายผูกขาดเกลือ ซึ่งคานธีนำชาวอินเดียนับแสนเดินทางไกลไปผลิตเกลือที่เรียกว่า "ซอลท์ มาร์ช” (Salt March) ในปี 2473 นอกจากนั้นเขายังชวนให้ชาวอินเดียนำเสื้อผ้าของอังกฤษมาเผาไฟ แล้วหันไปสวมเสื้อผ้าพื้นเมือง คานธีทำเป็นตัวอย่างโดยการปั่นด้ายเองและนุ่งผ้าฝ้ายพื้นเมืองเนื้อหยาบ สวดมนต์และปฏิบัติธรรมเป็นกิจวัตร คานธีถูกจับขังคุกหลายครั้ง โดยไม่ขอประกันตัว ในที่สุดท่ามกลางกระแสกดดันจากนานาชาติ อังกฤษจึงยอมคืนเอกราชให้อินเดียในวันที่ 14 สิงหาคม 2490 ส่วนชาวมุสลิมแยกออกไปตั้งประเทศปากีสถาน จนเกิดความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูกับมุสลิม มีการปะทะกันจนมีผู้เสียชีวิตกว่า 5 แสนคน คานธีออกมาประท้วงโดยการอดอาหาร แต่พวกหัวรุนแรงทั้งสองฝ่ายไม่เห็นด้วยกับคานธีที่ต้องการรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียว ในที่สุดก็ถูกลอบสังหารโดย นาธุราม กอดเส (Nathuram Godse) ชาวฮินดูหัวรุนแรงซึ่งเชื่อว่าคานธีสนับสนุนฝ่ายอิสลาม ขณะเดินทางไปสวดมนต์ที่กรุงนิวเดลี เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2491 ขณะอายุได้ 78 ปี ประชาชนนับล้านร่วมไว้อาลัยในพิธีศพซึ่งจัดขึ้นยาวนาน 13 วัน คานธีคือผู้นำในการเรียกร้องอิสรภาพของอินเดียคืนจากอังกฤษ โดยใช้สันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง และยึดมั่นอยู่บนหลักอสิงหา ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นต้นแบบของการประท้วงอย่างสันติของคนทั่วโลก
2 ตุลาคม พ.ศ.2493 : การ์ตูนเรื่อง พีนัตส์ (Peanuts) ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก
2 ตุลาคม พ.ศ. 2493 การ์ตูนเรื่อง "พีนัทส์" (Peanuts) ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก ในหนังสือพิมพ์ 7 ฉบับในสหรัฐอเมริกา การ์ตูนเรื่องนี้วาดโดย ชาร์ลส์ ชูลซ์ (Charles M. Schulz) เรื่องนี้เป็นการ์ตูนช่องที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์ เขาทำให้ตัวการ์ตูนอย่าง "ชาร์ลี บราวน์” และหมาน้อย "สนูปปี” ให้เป็นตัวการ์ตูนยอดนิยมไปทั่วโลก การ์ตูนพีนัตส์ มีผู้อ่านกว่า 355 ล้านคน ใน 75 ประเทศ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ 2,600 ฉบับ 21 ภาษา นอกจากนี้ยังถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์การ์ตูนเป็นตอนพิเศษอีกหลายตอน การ์ตูนช่องพีนัทส์ฉบับสุดท้ายตีพิมพ์ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2543 หลังจากที่ชูลซ์ผู้เขียนเสียชีวิต นับเป็นการ์ตูนช่องที่ยาวนานที่สุดในโลกที่เขียนโดยผู้เขียนคนเดียว
3 ตุลาคม พ.ศ.2456 : วันประสูติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
3 ตุลาคม พ.ศ. 2456 วันประสูติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร ประสูติที่ อ.เมืองกาญจนบุรี พระชนกชื่อ นายน้อย คชวัตร พระชนนีชื่อ นางกิมน้อย คชวัตร ปี 2469 บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดเทวสังฆาราม (วัดเหนือ) จ.กาญจนบุรี เมื่ออายุครบ 20 พรรษาก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุวัดเทวสังฆาราม จ.กาญจนบุรี จากนั้นได้ทรงทำทัฬหีกรรม (ญัตติซ้ำ) เป็นธรรมยุต ที่วัดบวรนิเวศวิหารเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2476 ทรงสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยคในปี 2484 อีก 6 ปีต่อมาได้เป็นพระราชาคณะสามัญที่พระโสภนคณาภรณ์ และได้เลื่อนขั้นขึ้นตามลำดับจนได้รับพระราชทานสถาปนาขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ลำดับที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2532 ท่านได้ทรงงานด้านพุทธศาสนาหลายอย่าง แสดงธรรมเทศนาหลายที่ ทรงเลือกให้เป็นพระอภิบาล(พระพี่เลี้ยง) ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในระหว่างที่ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2499 ด้วย นอกจากนั้นยังทรงนิพนธ์บทความและหนังสือทางพุทธศาสนา อธิบายหลักธรรมต่างๆ ไว้จำนวนมาก
3 ตุลาคม พ.ศ.2436 : สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ ทรงลงนามในสนธิสัญญาไทยกับฝรั่งเศส
3 ตุลาคม พ.ศ. 2436 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ได้ทรงลงนามใน "สนธิสัญญาสันติภาพ" เพื่อสงบศึกกับฝรั่งเศส ภายหลังจากที่ไทยปะทะกับเรือรบฝรั่งเศสในเหตุการณ์ "การรบที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา" (The Naval Action at Paknam) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2436 (ร.ศ. 112) ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ “วิกฤติการณ์ ร.ศ. 112” หรือ "กรณีพิพาทไทย-ฝรั่งเศส ร.ศ. 112” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อกองทัพฝรั่งเศสส่งเรือรบ 2 ลำ คือ เรือแองกองสตองต์ (Inconstant) และ เรือโกแมต์ (Comete) โดยมีเรือสินค้า "เจ. เบ. เซย์” (Jean Baptist Say) เป็นเรือนำร่อง รุกล้ำฝ่าสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามา หมู่ปืนใหญ่ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าและหมู่เรือรบซึ่งเป็นแนวป้องกันของไทยได้ยิงสกัดถูกเรือสินค้าเสียหาย เรือรบของฝรั่งเศสจึงยิงตอบโต้ โดนเรือมกุฎราชกุมารของไทยเสียหาย และทหารไทยเสียชีวิต 8 นายและบาดเจ็บ 40 นาย ส่วนทหารฝรั่งเศสเสียชีวิต 3 นายและบาดเจ็บอีก 3 นาย จากนั้นเรือรบฝรั่งเศสทั้งสองก็แล่นฝ่าเข้ามาที่สถานกงสุลฝรั่งเศส ถนนเจริญกรุง สนธิสัญญาฉบับดังกล่าวกำหนดให้สยามชดใช้ค่าเสียหายให้ฝรั่งเศสเป็นเงินจำนวน 3 ล้านฟรังก์ ตีเป็นเงินไทยประมาณ 1,560,000 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนในสมัยนั้น) รวมทั้งบังคับให้รัฐบาลสยามยอมสละดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตลอดถึงเกาะแก่งในแม่น้ำโขงทั้งหมด เป็นพื้นที่ 143,000 ตารางกิโลเมตร และฝรั่งเศสได้ยึดเมืองจันทบุรีไว้ในอารักขานานกว่า 10 ปี (ระหว่างปี 2436-2447) จนกว่าสยามจะชดใช้ค่าเสียหายจนครบ ผลจากกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสครั้งนี้ทำให้สยามต้องเสียดินแดนเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งนับเป็นการเสียเนื้อที่ครั้งใหญ่ที่สุด นักวิชาการในรุ่นหลังเห็นพ้องกันว่า ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่เป็นเหตุให้สยามจำต้องสูญเสียดินแดนในครั้งนี้ คือการขาดแผนที่ ซึ่งระบุเขตแดนของประเทศไว้อย่างชัดเจน ฝ่ายสยามขาดความช่ำชองในการใช้ภาษาอันแยบยลทางการทูตอย่างชาวยุโรป อีกทั้งกองทัพเรือของสยามเพิ่งเริ่มต้นขึ้นจึงต้องจ้างทหารต่างชาติมาช่วย ส่วนหารของสยามสมัยในสมัยนั้นยังขาดวินัยของทหาร และขาดความช่ำชองในการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยจากตะวันตก แม้จะมีกำลังอาวุธที่พอจะต่อต้านกองกำลังฝรั่งเศสได้ ทั้งปืนใหญ่ และเรือรบอย่าง "เรือพระที่นั่งมหาจักรี" ซึ่งเป็นเรือลาดตระเวนติดปืนอาร์มสตรอง พร้อมระวางขับน้ำ 2,400 ตัน หัวเรือใช้ชนสิ่งกีดขวางได้ ระวางขับน้ำของเรือลำนี้สูงกว่าเรือทั้งสามของฝรั่งเศสรวมกัน แต่เรือที่มีสมรรถนะสูงลำนี้กลับไม่ได้ร่วมสมรภูมิรบ เพราะมีคำสั่งอย่างเข้มงวดไม่ให้เคลื่อนย้าย เว้นแต่จำเป็นต้องใช้เป็นพระราชพาหนะเท่านั้น
4 ตุลาคม พ.ศ.2212 : เรมแบรนดท์ฟาน ไรน์ ศิลปินเอกของโลกเสียชีวิต
4 ตุลาคม พ.ศ. 2212 เรมแบรนดท์ฟาน ไรน์ (Rembrandt Harmensz van Rijn) หนึ่งในศิลปินเอกของโลกชาวดัทช์ เสียชีวิต ขณะอายุได้ 63 ปี เรมบรันต์เกิดใน "ยุคทองของศิลปะดัทช์” (Dutch Golden Age ระหว่างปี 2127-2245) เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2149 ที่เมืองไลเดน ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นลูกเจ้าของโรงสี เข้าโรงเรียนภาษาละตินและเรียนต่อในมหาวิทยาลัยที่บ้านเกิด ขณะเดียวกันก็เริ่มสนใจการวาดภาพและตัดสินใจเอาจริงเอาจังทางนี้ จากนั้นได้ย้ายไปอยู่ที่อัมสเตอร์ดัม ศูนย์กลางศิลปะแห่งเนเธอร์แลนด์ เขาเรียนกับศิลปินมีชื่อหลายคน เขาฝึกฝนฝีมือจนเปิดสตูดิโอรับเขียนภาพเหมือน และเริ่มประสบความสำเร็จในฐานะจิตรกร มีผู้ว่าจ้างให้วาดภาพจำนวนมาก กระทั่งสามารถซื้อคฤหาสน์หรูในราคาแพงลิบ แต่เขาไม่สามารถชำระเงินได้หมด เพราะใช้จ่ายไปกับของสะสมจำพวกอาวุธ เครื่องดนตรี เสื้อผ้า และของประดับตกแต่งโบราณ จึงถูกบีบให้เป็นบุคคลล้มละลาย ต้องย้ายไปเช่าบ้านหลังเล็กๆ ภรรยาและลูกเสียชีวิต แม้เรมแบรนดท์ในวัย 50 ปีกลายเป็นบุคคลล้มละลาย แต่ความนิยมชมชอบในภาพเขียนของเขากลับสวนทาง เรมแบรนดท์เป็นศิลปินหัวขบถ ไม่สนใจธรรมเนียมปฏิบัติของสังคม แทนที่จะวาดภาพวาดเรื่องราวในตำนานโบราณ บุคคลในประวัติศาสตร์ หรือภาพแนวศาสนาที่ได้เค้าโครงมาจากคัมภีร์ไบเบิล ตามแนวทางศิลปะในยุคนั้น เขากลับแหกขนบ วาดภาพสุนัขกำลังถ่าย ผู้ชายยืนปัสสาวะ จัดองค์ประกอบภาพแบบใหม่ คือไม่จัดท่าทางเพื่อจะบ่งบอกว่าใครเป็นใคร ใบหน้าของแต่ละคนแสดงอารมณ์ต่างกัน ใส่องค์ประกอบแปลกปลอม เช่น สุนัข หรือเด็ก คนจร ขอทาน กรรมกร เข้าไปในภาพ จัดแถวที่ดูสับสนวุ่นวาย ไม่เป็นระเบียบ ดังที่เห็นในผลงานชิ้นเอกของเขาคือ "The Night Watch” และ "The Anatomy Lesson of Dr. Nicolaes Tulp” หรือภาพเหมือนตัวเองวาดเป็นพระสาวกปอล รูปชายชราอ้วนกลม แววตาแฝงความเศร้า เรมแบรนดท์ได้รับอิทธิพลเรื่องการจัดแสงและเงาจาก การาวัจจิโอ (Michelangelo Merisi da Caravaggio) ศิลปินอิตาเลียน เขาได้ประยุกต์การใช้แสงเงาให้เป็นเอกลักษณ์ของเขาเองจนได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินที่มีอัจฉริยภาพในการจัดองค์ประกอบภาพอย่างมีพลัง จัดแสงและเงาได้อย่างมีน้ำหนักและมีมิติ อีกทั้งยังเป็นจิตรกรที่มีความสามารถในการวาดภาพเหมือนเป็นเลิศ นอกจากเป็นจิตกรเอกแล้ว เรมแบรนดท์ยังเป็นศิลปินภาพพิมพ์กัดกรด (Etching) ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะของยุโรปด้วย เรมแบรนดท์ทิ้งมรดกทางศิลปะไว้จำนวนมาก ภาพจิตรกรรมสีน้ำมันเกือบ 800 ภาพ ภาพพิมพ์ประมาณ 500 ภาพ และวาดเส้นประมาณ 100 ภาพ
4 ตุลาคม พ.ศ.2447 : พิธีเปิดบุคคลัภย์ (Book Club) สำนักงานทดลองกิจการแบบธนาคารพาณิชย์แห่งแรก
4 ตุลาคม พ.ศ. 2447 (ร.ศ.123) พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ได้ทรงประกอบพิธีเปิด "บุคคลัภย์” (Book Club) สำนักงานทดลองดำเนินกิจการแบบธนาคารพาณิชย์แห่งแรกขึ้น ที่ตึกแถวสองชั้นของกรมพระคลังข้างที่ ตำบลบ้านหม้อ พระนคร โดยทรงออกหนังสือแจ้งความเรื่องตั้งบุคคลัภย์ว่าเป็นกิจการห้องสมุดสาธารณะ ในขณะที่การดำเนินงานที่แท้จริงคือธุรกิจธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากทรงไม่แน่ใจว่าการดำเนินการจะสำเร็จหรือไม่ ต่อมาเมื่อกิจการประสบความสำเร็จ จึงได้มีการก่อตั้งธนาคารในรูปแบบบริษัทจำกัดเป็นครั้งแรกคือ "บริษัทแบงก์สยามกัมมาจลทุน จำกัด” ในวันที่ 30 มกราคม 2449 โดยพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน พระบรมราชานุญาตจาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้อย่างเป็นทางการ นับเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของคนไทย โดยได้รับพระราชทาน ตราอาร์มแผ่นดินให้เป็นตราประจำธนาคาร ในปี 2482 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด” โดยมีสำนักงานทรัพย์สินส่วน พระมหากษัตริย์และกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ในปี 2518 ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)” (Siam Commercial Bank Public Company Limited) ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่บริเวณถนนรัชดาภิเษก ใกล้สี่แยกรัชโยธิน
4 ตุลาคม พ.ศ.2500 : สหภาพโซเวียตส่งดาวเทียม สปุตนิก 1 ขึ้นสู่วงโคจร
4 ตุลาคม พ.ศ. 2500 สหภาพโซเวียต ส่ง สปุตนิก 1 (Sputnik 1) ดาวเทียมดวงแรกของโลก ขึ้นสู่วงโคจรรอบโลกด้วยจรวดอาร์-7 (R-7) จากศูนย์อวกาศไบร์โคนูร์ คอสโมโดรม ในประเทศคาซัคสถาน สปุตนิก 1 เป็นดาวเทียมในโครงการสปุตนิก (Sputnik Programe) สปุตนิก 1 เป็นดาวเทียมรูปร่างกลม มีเส้นผ้าศูนย์กลาง 58 เซนติเมตร หนักประมาณ 83 กิโลกรัม มีเสารับ-ส่งสัญญาณอยู่ 2 เสา ภารกิจคือการสำรวจพื้นผิวของโลกและชั้นบรรยากาศ ปฏิบัติภารกิจบนอวกาศโดยโคจรอยู่ห่างจากพื้นผิวโลกประมาณ 250 กิโลเมตร ภารกิจมีระยะเวลา 3 เดือน เมื่อแบตเตอรีหมด ดาวเทียมจะเผาไหม้ตัวเองและชิ้นส่วนบางชิ้นตกลงมาบนผิวโลกเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2501 สปุตนิก 1 นับเป็นความภูมิใจของชาวรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้นำแห่งวิทยาศาสตร์อวกาศ ในสมัยนั้นสหรัฐอเมริกายังมีเทคโนโลยีด้อยกว่า เมื่อสปุตนิกลอยบนฟากฟ้าก็ตกใจเพราะกลัวว่าดาวเทียมโซเวียตจะบรรทุกระเบิดนิวเคลียร์มาถล่ม โครงการสปุตนิกนับเป็นการเริ่มต้นยุคแห่งการแข่งขันด้านอวกาศ ปัจจุบันได้มีการสร้างดาวเทียมสปุตนิกจำลองแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์อวกาศในประเทศรัสเซีย พิพิธภัณฑ์อวกาศแห่งสถาบันสมิธโซเนียน อเมริกา และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ กรุงลอนดอน อังกฤษ
6 ตุลาคม พ.ศ.2502 : รัฐบาลกัมพูชา เรียกร้องกรรมสิทธิ์เหนือเขาพระวิหาร
รัฐบาลกัมพูชา ยื่นฟ้องต่อศาลโลก หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เรียกร้องกรรมสิทธิ์เหนือ เขาพระวิหาร ในเขตอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษของไทย โดยอ้างว่าประเทศไทยละเมิดอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารซึ่งเป็นของกัมพูชา ตั้งแต่ปี 2497 เป็นต้นมา และขอเรียกร้องให้คืนอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารคืนแก่กัมพูชา การไต่สวนพิจารณาคดียาวนานถึง 3 ปี มีการนัดพิจารณาสืบพยานทั้งหมด 73 ครั้ง จนในที่สุด เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2505 ศาลโลกก็ตัดสินให้กัมพูชาเป็นฝ่ายชนะคดีด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 เสียง ยังผลให้ประเทศไทยต้องยินยอมทำตามข้อเรียกร้องทั้ง 2 ข้อของกัมพูชา หลังจากแพ้คดี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ยินยอมให้นักศึกษาเดินขบวนประท้วงคำตัดสิน และปิดทางขึ้นปราสาทซึ่งอยู่ในเขตประเทศไทย เป็นการตอบโต้กัมพูชา เหลือเพียงทางขึ้นเป็นช่องเขาแคบๆ สูงชันและอันตราย ในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของกัมพูชา เขาพระวิหารก็ถูกส่งปิด-เปิดให้เข้าชมอยู่หลายครั้งตามสถานการณ์ภายในประเทศ ก่อนจะเกิดความร่วมมือกันอีกครั้งระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวจนถึงปัจจุบันนี้ เขาพระวิหารนับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของ จ. ศรีสะเกษ
6 ตุลาคม พ.ศ.2519 : เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 19
เกิดเหตุการณ์ "6 ตุลา 19" เหตุการณ์ล้อมฆ่าหมู่นิสิตนักศึกษาและประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ที่ชุมนุมประท้วงขับไล่ จอมพล ถนอม กิตติขจร (ซึ่งหนีออกนอกประเทศหลังเหตุการณ์ "14 ตุลา 16” แล้วบวชเณรที่สิงคโปร์ก่อนจะเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศวิหาร) ออกนอกประเทศ แต่ฝ่ายตรงข้ามกล่าวหาว่าเป็นการชุมนุมของคอมมิวนิสต์ต่างชาติที่ต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ เหตุการณ์นี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตำรวจตระเวนชายแดน ทหาร กลุ่มนวพล กลุ่มพิทักษ์ชาติไทย กลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และอื่นๆ พร้อมอาวุธสงครามครบมือได้เข้ากวาดล้างและจับกุมผู้ที่ชุมนุมอย่างรุนแรง เหตุการนี้ทางรัฐบาลระบุว่ามีผู้เสียชีวิต 39 ศพ แต่เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญูระบุว่า 530 คน (แต่มีการคาดการณ์กันว่ามีผู้เสียชีวิตจริงๆ กว่าพันคน) บาทเจ็บและสูญหายอีกจำนวนมาก ถูกจับกุมข้อหากบฎ 3,094 คน เป็นชาย 2,432 คน หญิง 662 คน ในตอนเย็นวันเดียวกันนี้ คณะทหารในนาม “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช และแต่งตั้ง นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมา หลังจากเหตุการณ์นี้ ได้มีการพิจารณาคดีในศาลยืดยาวถึง 3 ปี โดยแกนนำนักศึกษา 19 คนถูกคุมขังตีตรวนโดยตลอด แต่ฝ่ายผู้เข้าล้อมปราบไม่มีผู้ใดได้รับการลงโทษ ต่อมาก็ได้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ทำให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์นี้ ไม่ต้องถูกสอบสวนลงโทษแต่อย่างใด เหตุการณ์ “6 ตุลา 19” นับเป็นการสังหารหมู่นิสิตนักศึกษาประชาชนอย่างโหดร้ายทารุณที่สุด กลายเป็นบาทแผลทางประวัติศาสตร์ และเป็นคำถามที่ยังไม่มีใครกล้าตอบ
9 ตุลาคม พ.ศ.2538 : พล.ต.ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงแก่อสัญกรรม
9 ตุลาคม พ.ศ. 2538 พล.ต.ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช นักปราชญ์ นักเขียน นักการเมือง และศิลปินแห่งชาติ ปูชนียบุคคลท่านหนึ่งของไทย ถึงแก่อสัญกรรม น้องชายของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช (อดีตนายกในปี 2488-2519) ม.ร.ว. คึกฤทธิ์เกิด 20 เมษายน 2454 ในเรือกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เป็นโอรสของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าคำรบ กับหม่อมแดง (บุนนาค) เรียนมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นไปเรียนต่อวิชาปรัชญา เศรษฐศาสตร์ และการเมือง จากวิทยาลัยควีนส์ (The Queen’s College) มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กลับมารับราชการที่กรมสรรพากร และกระทรวงการคลัง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าเป็นทหาร ต่อมาได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็นพลตรีในปี 2531 เริ่มเล่นการเมืองตั้งแต่ปี 2488 โดยก่อตั้ง พรรคก้าวหน้า ต่อมาได้ยุบรวมกับ พรรคประชาธิปัตย์ จากนั้นก่อตั้ง พรรคกิจสังคม ในปี 2517 และขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 ของไทยเมื่อปี 2518 นอกจากบทบาทางการเมืองท่านยังมีบทบาทสำคัญในด้านหนังสือพิมพ์และวรรณกรรมด้วย โดยก่อตั้ง หนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ในปี 2493 นอกจากนี้ยังมีผลงานทั้ง นวนิยาย เรื่องสั้น บทความ เรื่องแปล สารคดี ผลงานที่สำคัญได้แก่ "สี่แผ่นดิน", "ไผ่แดง", "กาเหว่าที่บางเพลง" ฯลฯ ท่านได้รับยกย่องเป็น ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ในปี 2528
11 ตุลาคม พ.ศ.2512 : ยานอวกาศอะพอลโล 7 ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร
11 ตุลาคม พ.ศ. 2512 อะพอลโล 7 (Apollo 7) ยานอวกาศลำแรกในปฏิบัติการอพอลโล (Apollo mission) ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศเป็นเวลา 11 วัน โดยมีนักบินอวกาศสามคนได้แก่ วอลเตอร์ เชียร์รา (Walter Schirra), ดอน ไอส์ลี (Donn Eisele) และ วอลเตอร์ คันนิงแฮม (Walter Cunningham) มีการทดลองส่งภาพจากอวกาศ และการทดลองอื่นๆ ก่อนที่ อะพอลโล 11 จะไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จในปีต่อมา
11 ตุลาคม พ.ศ.2476 : เกิดเหตุการณ์ กบฏบวรเดช
11 ตุลาคม พ.ศ. 2476 เกิดเหตุการณ์ "กบฏบวรเดช” ซึ่งเป็นกบฎครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างขุนนางเก่าที่นิยมเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎร์ผู้ทำการอภิวัตน์การปกครอง โดยคณะทหารในนาม "คณะกู้บ้านกู้เมือง” นำโดย พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม พล.ต. พระยาจินดาจักรัตน์ พล.ต. พระยาทรงอักษร และ พ.อ. พระยาศรีสิทธิสงคราม ได้นำกองกำลังทหารหัวเมืองจากนครราชสีมา สระบุรี และพระนครศรีอยุธยา บุกเข้ายึดดอนเมืองและพื้นที่ทางด้านเหนือของพระนคร โดยตั้งกองอำนวยการใหญ่อยู่ที่สโมสรทหารอากาศ กรมอากาศยานดอนเมือง ระหว่างวันที่ 11-25 ตุลาคม 2476 แล้วยื่นหนังสือเรียกร้องให้ฝ่ายรัฐบาลลาออก โดยอ้างเหตุผลว่า คณะรัฐมนตรีปล่อยให้มีการดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และไม่พอใจที่ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ซึ่งคณะผู้ก่อการมองว่ามีความคิดแบบคอมมิวนิสต์ กลับมาร่วมคณะรัฐบาล นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) นายกรัฐมนตรี ได้ตอบปฏิเสธ และส่งกำลังกองผสมนำโดย หลวงพิบูลสงคราม เข้าปราบปรามจนได้ชัยชนะในวันที่ 25 ตุลาคม 2476 จากนั้น พระองค์เจ้าบวรเดช ได้เสด็จลี้ภัยการเมืองไปยังอินโดจีนของฝรั่งเศส ต่อมารัฐบาลได้ก่อสร้าง "อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” (คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อ "อนุสาวรีย์หลักสี่”) ขึ้นที่บริเวณหลักสี่ เขตบางเขน เพื่อเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ปราบกบฎครั้งนี้
12 ตุลาคม พ.ศ.2035 : คริสตอเฟอร์ โคลัมบัส ค้นพบทวีปอเมริกา
12 ตุลาคม พ.ศ. 2035 คริสตอเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) นักเดินเรือชาวอิตาเลียน ค้นพบ ทวีปอเมริกา โดยแล่นเรือมาขึ้นฝั่งที่ เกาะบาฮามาส์ (Bahamas) ทางตะวันออกของรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศคิวบาในปัจจุบัน และตั้งชื่อว่า "เกาะซาน ซัลวาดอร์" (San Salvador Island) ซึ่งเขาเชื่อว่าเป็นประเทศอินเดีย และเรียกชาวอเมริกันพื้นเมืองว่า "อินเดียน” (Indians) ซึ่งออกมาต้อนรับคณะของนักสำรวจอย่างเป็นมิตร ทั้งนี้โคลัมบัสได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์สเปนคือ พระเจ้าเฟอร์ดินานด์ ที่ 2 (Ferdinand II of Aragon) และ พระนางเจ้าอิสซาเบลลา ที่ 1 (Isabella of Castile) ให้ออกค้นหา “โลกใหม่” หรืออินเดียและจีนเพื่อค้าขายเครื่องเทศ ผ้าไหมและยาฝิ่น โคลัมบัสพร้อมกับลูกเรือ 90 คนและเรือ 3 ลำได้แก่ "ซานตา มาเรีย" (Santa Maria), "พินตา" (Pinta) และ "ซานตา คลารา" (Santa Clara) ออกจากท่าเรือเมืองเปลูซ (Palos) ประเทศสเปน เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2035 แล่นเรือไปทางทิศตะวันตกข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ไปถึงเกาะบาฮามาส์ จากนั้นเขาเดินเรือต่อไปจนถึงคิวบา ไฮติ และกลับถึงสเปนในวันที่ 15 มีนาคม 2036 จากนั้นเขาก็ออกเดินเรือค้นหาโลกใหม่อีกสามเที่ยว ไปถึง เปอร์โตริโก จาเมกา ตรินิแดด เวเนาซุเอลา และคอคอดปานามา โดยไม่เคยไปถึงโลกใหม่ที่เขาค้นหา แต่อย่างไรก็ตาม โคลัมบัสก็เชื่อมาตลอดจนเสียชีวิตว่าดินแดนที่เขาค้นพบนั้นคือทวีปเอเชีย ภายหลังได้มีการกำหนดให้วันที่ 12 ตุลาคมของทุกปีให้เป็น "วันโคลัมบัส" (Columbus Day) มีการเฉลิมฉลองกันในสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในทวีปอเมริกาใต้ ในอดีตเคยเชื่อกันว่าโคลัมบัสเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ค้นพบอเมริกา แต่จริงๆ แล้ว เลฟ เอริคสัน (Leaf Erikson) ชาวไวกิ้งเคยเดินทางมาพบทวีปอเมริกาก่อนหน้านี้ และเคยมีนิคมชาวไวกิ้งทางตะวันออกของแคนาดาในศตวรรษที่ 11
12 ตุลาคม พ.ศ.2486 : โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร
12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 โรงเรียนประณีตศิลปกรรม ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร โรงเรียนแห่งนี้ก่อตั้งโดยศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี (เดิมชื่อ Corrado Feroci) ชาวอิตาเลียนที่เดินทางมารับราชการในประเทศไทยเมื่อสมัยรัชกาลที่ 6 ระยะแรกเปิดสอนวิชาจิตรกรรมและปฏิมากรรมให้แก่นักเรียนและข้าราชการโดยไม่คิดค่าเล่าเรียนและกิจการไดเจริญเติบโตมาเป็นลำดับ ต่อมาปี 2478 ได้รวมเอาโรงเรียนนาฏยดุริยางคศาสตร์ ซึ่งตั้งอยู่ที่วังหน้า และเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "โรงเรียนศิลปากร" ก่อนจะเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรดังกล่าว เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงทางด้านศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และโบราณคดี ปัจจุบันเปิดสอนครอบคลุมทุกสาขาวิชา โดยแบ่งออกเป็น 3 วิทยาเขตได้แก่วิทยาเขตวังท่าพระ (ศิลปะโบราณคดี) วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม (อักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์) และวิทยาเขตเพชรบุรี (สัตวศาสตร์ เทคโนโลยีการอาหาร สารสนเทศศาสตร์)
12 ตุลาคม พ.ศ.2448 : รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศจัดตั้งหอสมุดสำหรับพระนคร
12 ตุลาคม พ.ศ. 2448 รัชกาลที่ 5 ทรงประกาศให้รวมกิจการหอพระสมุดสามแห่ง คือ หอพระมณเฑียรธรรม หอพระสมุดวชิรญาณและหอพุทธศาสนสังคหะ จัดตั้งเป็น "หอสมุดสำหรับพระนคร" พระราชทานให้ปวงชนชาวไทยมีแหล่งศึกษาหาความรู้ ทำให้หอพระสมุดที่เดิมเป็นประโยชน์เฉพาะเจ้านายขุนนาง ได้ใช้ประโยชน์โดยประชาชนทั่วไปด้วย จัดเป็นห้องสมุดสาธารณะแห่งแรกของไทย และเป็นต้นกำเนิดของ "หอสมุดแห่งชาติ" ในปัจจุบัน
12 ตุลาคม พ.ศ.2435 : วันเปิดทำการสอนของโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์
12 ตุลาคม พ.ศ. 2435 วันเปิดทำการสอนของโรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งในบริเวณโรงเลี้ยงเด็ก ตึกสายสวลีสัณฐาคาร วัตถุประสงค์เพื่อที่จะให้กุลบุตรกุลธิดา ได้รับความรู้มีการศึกษา โรงเรียนฝึกหัดอาจารย์ได้พัฒนาโดยลำดับ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วิทยาลัยครูพระนคร ในวันที่ 6 มีนาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามให้วิทยาลัยครูพระนครใหม่ว่า สถาบันราชภัฏ ในปี 2535 เป็นวาระครบรอบ 100 ปี ของการจัดตั้งสถาบัน
13 ตุลาคม พ.ศ.2536 : วันสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ
13 ตุลาคม พ.ศ. 2536 วันสิ้นพระชนม์ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ หรือ ท่านจักร ทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ทรงเป็นโอรสใน พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตนจาตุรนต์ ทรงสำเร็จการศึกษาทางด้านการเกษตรจากรประเทศสหรัฐอเมริกาและฟิลิปปินส์ พระองค์ทรงมีความสามารถพิเศษทางด้านการประพันธ์คำร้องและทำนองเพลงพระราชนิพนธ์ เช่นเพลง แสงเทียน ยามเย็น สายฝน และเพลงอื่นๆ อีกนับร้อยเพลง ตอนที่ดำรงตำแหน่งรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่านทรงเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งวงดนตรี KU Band วงดนตรีประจำมหาวิทยาลัยวงแรกของประเทศไทยด้วย
13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคต
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เวลา 15.52 นาฬิกา ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช รัฐบาลประกาศไว้ทุกข์ถวายความอาลัยเป็นเวลา 1 ปี สำนักพระราชวังมีหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพระหว่างวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ถึง 21 มกราคม พ.ศ. 2560 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง คณะรัฐมนตรีมีมติประกาศให้วันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันสวรรคตและวันหยุดราชการเพื่อให้ประชาชนน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและได้กำหนดให้มีพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพขึ้นในวันที่ 25-29 ตุลาคม พ.ศ. 2560
14 ตุลาคม พ.ศ.2547 : พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี เสด็จขึ้นครองราชย์
14 ตุลาคม พ.ศ. 2547 พระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี แห่งราชอาณาจักรกัมพูชา เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงเป็นพระราชโอรสใน สมเด็จพระนโรดม สีหนุ กับ สมเด็จพระราชินีนโรดม มณีนาถ สีหนุ สมเด็จพระนโรดมสีหนุวรมัน ได้สละราชสมบัติเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2547 และทรงขอให้รัฐบาลกัมพูชาเลือกกษัตริย์กัมพูชาพระองค์ใหม่ขึ้นครองราชสมบัติแทน ในที่สุดรัฐบาลกัมพูชาได้อัญเชิญเจ้านโรดมสีหมุนี ขึ้นครองราชย์และจัดพระราชพิธีราชาภิเษก ไปเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2547
14 ตุลาคม พ.ศ.2469 : หนังสือวินนี เดอะ พูห์ ตีพิมพ์เป็นครั้งแรก
14 ตุลาคม พ.ศ. 2469 วินนี เดอะ พูห์ (Winnie the Pooh) หนึ่งในหนังสือชุดหมีพูห์ ซึ่งประพันธ์โดย เอ.เอ . มิล์น (Alan Alexander Milne) ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกและเป็นเล่มแรกที่ทำให้เจ้าหมีพูห์ เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง หนังสือชุดหมีพูห์ เป็นหนังสือเด็กชุดคลาสสิกที่ได้รับความนิยมตลอดกาล ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ กว่า 25 ภาษา ได้รับการตีพิมพ์ไปแล้วกว่า 70 ล้านเล่ม ภาพประกอบในหนังสือเล่มนี้เป็นฝีมือของ Ernest H. Shepard การ์ตูนเรื่องนี้ เอ.เอ.มิล์น เขียนเรื่องนี้โดยได้แบบตัวละครมาจากลูกชายของเขา คริสโตเฟอร์ โรบิน (Christopher Robin) หมีวินนี ในสวนสัตว์ลอนดอนซึ่งเป็นสัตว์ตัวโปรดของคริสโตเฟอร์ รวมทั้งเหล่าตุ๊กตารูปสัตว์ต่างๆ อย่าง ตุ๊กตาหมีวินนี เดอะ พูห์, พิกเล็ต, ทิกเกอร์ หรือ อียอร์ การกำเนิดหนูน้อยคริสโตเฟอร์ โรบิน ในปี 1920 เป็นเหตุการณ์ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์วรรณกรรมเยาวชน
14 ตุลาคม พ.ศ.1609 : วิลเลียม ดยุคแห่งนอร์มังดีนำทัพชาวนอร์มันสู้กับอังกฤษ
14 ตุลาคม พ.ศ. 1609 วิลเลียม ดยุคแห่งนอร์มังดี นำทัพชาวนอร์มัน ซึ่งตั้งถิ่นฐานแถบภาคเหนือของฝรั่งเศสรุกรานอังกฤษจนได้ชัยชนะเหนือพระเจ้าฮาโรลด์ที่ 2 กษัตริย์ของชาวแซกซัน ในการรบที่เฮสติงส์ วิลเลียม เป็นชาวนอร์มันคนแรกที่ขึ้นเป็นกษัตริย์อังกฤษในเวลาต่อมา และเป็นที่รู้จักกันในชื่อ "วิลเลียมผู้พิชิต" (William The Conqueror)
14 ตุลาคม พ.ศ.2516 : เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา วันมหาวิปโยค
14 ตุลาคม พ.ศ.2516 วันประชาธิปไตย เกิดเหตุการณ์ "14 ตุลา" หรือ "วันมหาวิปโยค" นับเป็นการแสดงพลังทางการเมืองของประชาชนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ เมื่อนิสิต นักศึกษาและประชาชนกว่า 500,000 คนชุมนุมประท้วงเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญและคัดค้านอำนาจรัฐบาลเผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจร (ซึ่งทำรัฐประหารยึดอำนาจตัวเองเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514) การเดินขบวนเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกไปตามถนนราชดำเนินสู่ลานพระบรมรูปทรงม้า ก่อนจะปะทะระกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารกลายเป็นการจราจล และเกิดการนองเลือด มีนักศึกษาและประชาชนสูญเสียชีวิต 77 คนและบาทเจ็บ 857 คน เหตุการณ์สงบลงในค่ำวันที่ 15 ตุลาคม เมื่อ 3 ทรราช ถนอม ประภาส ณรงค์ หนีออกนอกประเทศ และมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ คนใหม่ ปัจจุบันได้มีการก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าวบริเวณ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง พร้อมทั้งก่อตั้งมูลนิธิ 14 ตุลา ขึ้นด้วย ต่อมาได้มีการกำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันประชาธิปไตย" เพื่อรำลึกถึงพลังบริสุทธิ์ของคนหนุ่มสาวที่เสียสละชีวิตเพื่อประชาธิปไตย
15 ตุลาคม พ.ศ.2423 : วันเกิด แมรี สโตปส์ แพทย์ผู้บุกเบิกวิชาการวางแผนครอบครัว
วันเกิด แมรี สโตปส์ (Dr. Marie Stopes) แพทย์ผู้บุกเบิกวิชาการวางแผนครอบครัว นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี และนักเขียนชาวสก็อต เกิดที่แคว้นเอดินเบิร์ก ประเทศสก็อตแลนด์ ในครอบครัวนักวิชาการ พ่อเป็นนักโบราณคดี แม่ก็เป็นคนหัวสมัยใหม่ที่มีความรู้ เธอเข้าเรียนคณะพฤษศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน จบแล้วไปทำวิจัยที่ญี่ปุ่นครึ่งปี ก่อนจะกลับมาเรียนวิชาเกี่ยวกับพืชดึกดำบรรพ์ (Palaeobotany) โดยเป็นนักศึกษาผู้หญิงคนแรกของคณะวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ เธอแต่งงานในปี 2454 แต่ไม่กี่ปีก็เลิกกันเพราะสามีมีปัญหาเรื่องกามตายด้าน ในสมัยนั้นสังคมยังถือเรื่องเพศเป็นสิ่งที่ต้องปกปิด สังคมสุภาพชนไม่กล้าพูดถึง อีกทั้งยังไม่มีการเรียนการสอนเรื่องเพศศึกษากันอย่างเป็นทางการ จนเรื่องเพศเป็นสิ่งลี้ลับ ผู้คนขาดความรู้เรื่องเพศ เธอจึงศึกษาเรื่องนี้และเขียนหนังสือคู่มือเกี่ยวกับเพศศึกษาเล่มแรกออกมาคือ "วิวาห์แสนสุข" (Married Love) ซึ่งตีพิมพ์ในอังกฤษในปี 2461 เป็นหนังสือที่ก่อให้เกิดความตกตะลึงในหมู่ผู้อ่าน กลายเป็นหนังสือที่ขายดีทันที แม้จะถูกกระแสต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมและผู้ที่เคร่งศาสนาบ้าง ต่อมาวันที่ 17 มีนาคม 2464 เธอก็เปิดคลินิกวางแผนครอบครัว (Family Planning Clinic) แห่งแรกที่กรุงลอนดอน เพื่อให้คำปรึกษาในเรื่องการวางแผนครอบครัวฟรี และบริการคุมกำเนิดในราคาถูกเพื่อช่วยเหลือสตรีในครอบครัวยากจนที่ต้องแบกภาระในการเลี้ยงดูบุตร ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านของแพทย์และนักบวช ซึ่งกลัวว่าจะเป็นการส่งเสริมให้คนละเมิดศีลธรรม และทำให้ผู้คนมีอิสระในการมีเพศสัมพันธ์ การเปิดคลินิกของเธอได้มีผลทางสังคมครั้งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 คือได้เปลี่ยนทรรศนะคติเรื่องการใช้ชีวิตคู่ว่า คู่สามีภรรยาสามารถควบคุม วางแผนครอบครัว และให้กำเนิดบุตรเมื่อพร้อม เธอถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2501
16 ตุลาคม พ.ศ.2521 : คาโรล โยเซฟ วอยตีวา ทรงได้รับเลือกเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ที่ 265
16 ตุลาคม พ.ศ. 2521 คาโรล โยเซฟ วอยตีวา (Karol Jozef Wojtyla) บิชอพแห่งประเทศโปแลนด์ ทรงได้รับเลือกเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาองค์ที่ 265 จากสภาที่ปรึกษาของสมเด็จพระสันตะปาปา มีพระนามว่า "สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอล ที่ 2” (John Paul II) นับเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกที่ไม่ใช่ชาวอิตาเลียนในรอบ 466 ปี ขณะเข้ารับตำแหน่งนั้นท่านมีพระชนมายุ 58 พรรษา ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีอายุน้อยที่สุดที่ได้เป็นพระสันตะปาปา ทรงดำรงตำแหน่งประมุขสูงสุดของคริสต์ศาสนานิกายโรมันแคธอลิค หลังจากรับตำแหน่ง ท่านได้เดินทางไปเยี่ยมเยียนประเทศต่างๆ กว่า 100 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยเมื่อวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2527 ทรงเดินทางไปเทศนาและต่อต้านสงคราม คอมมิวนิสต์ ฟาสซิสต์ เผด็จการ ทุนนิยม วัตถุนิยม การทำแท้ง และการกระทำอันผิดศีลธรรม ขณะเดียวกันพระองค์ก็ส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์กับผู้นำของศาสนาต่างๆ พระองค์ทรงสถาปนานักบุญ 446 องค์ และบุญราศีอีก 996 องค์ ท่านประชวรและเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2548 ทรงปกครองศาสนจักรรวมระยะเวลาทั้งสิ้น 26 ปี 15 วัน ซึ่งยาวนาน ที่สุดเป็นอันดับที่ 3 ตามประวัติศาสตร์ของศาสนจักรนิกายโรมันคาทอลิก จากนั้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2548 พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ ที่16 (Pope Benedict XVI) ได้ขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขแห่งศาสนจักรองค์ต่อมา
18 ตุลาคม พ.ศ.2499 :พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงแถลงถึงพระราชดำริที่จะเสด็จออกบรรพชาอุปสมบท
18 ตุลาคม พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกสีหบัญชร ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พระบรมมหาราชวัง ทรงมีพระราชดำรัสแถลงถึงพระราชดำริในการที่จะเสด็จออกบรรพชาอุปสมบทแก่ประชาชนที่มาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พระบรมมหาราชวัง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีทรงพระผนวช ทั้งนี้พระราชพิธีทรงพระผนวชมีขึ้นในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๙๙ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระราชดำรัสในวันนั้น
18 ตุลาคม พ.ศ.2347 : วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
18 ตุลาคม พ.ศ. 2347 วันวิทยาศาสตร์ไทย วันพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อปี 2394 รวมดำรงสิริราชสมบัติ 16 ปี 6 เดือน ทรงมีพระราชโอรส-พระราชธิดาทั้งหมด 82 พระองค์ ทรงผนวชอยู่นานตลอดรัชกาลที่ 3 ระหว่างนั้นทรงศึกษาวิชาการทางพุทธศาสนาจนแตกฉานในรพระไตรปิฎก ทรงเชี่ยวชาญภาษาบาลีเป็นอย่างยิ่ง เมื่อทอดพระเนตรเห็นวัตรปฏิบัติอันหย่อนยานของสงฆ์บางส่วนในสมัยนั้น จึงได้ทรงตั้งธรรมยุติกนิกายขึ้นเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ นอกจากนั้นยังสนพระทัยในวิชาการแขนงต่างๆ โดยเฉพาะดาราศาสตร์ ทรงทำนายการเกิดสุริยุปราคาที่บ้านหว้ากอได้อย่างแม่ยำ ภายหลังจึงมีการยกย่องพระองค์ให้เป็น "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" และในปี 2525 ได้กำหนดให้วันที่ 18 ตุลาคม ของทุกปีเป็น "วันวิทยาศาสตร์ไทย"
19 ตุลาคม พ.ศ.2513 : อาคารเวิร์ลเทรดเซนเตอร์ 1 เริ่มเปิดใช้งานเป็นวันแรก
19 ตุลาคม พ.ศ. 2513 อาคาร "เวิร์ลเทรดเซนเตอร์ 1” (One World Trade Center) เริ่มเปิดใช้งานเป็นวันแรก ก่อนที่อาคารจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ในอีกสองปีต่อมา อาคารแห่งนี้มีความสูง 417 เมตรหรือ 110 ชั้น นับเป็นตึกที่สูงที่สุดและใหญ่ที่สุดในโลกในขณะนั้น ตึกเวิร์ลเทรดฯ ออกแบบส่วนใหญ่โดยสถาปนิกชาอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่นชื่อ มิโนรุ ยามาซากิ (Minoru Yamasaki) ควบคุมการก่อสร้างโดยวิศวกรชาวอเมริกันชื่อ เลสลี โรเบิร์ตสัน (Leslie E. Robertson) เริ่มก่อสร้างเริ่มในปี 2509 สามารถเปิดตึกเวิร์ลเทรดฯ ทั้ง 7 อาคารได้ในปี 2516 ต่อมาตึกแฝดเวิร์ลเทรดฯ 1-2 ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และระบบทุนนิยม เคยถูกไฟไหมใหญ่ในปี 2518 เกิดเหตุระเบิดในปี 2536 ก่อนที่จะถูกเครื่องบินโดยสารที่ถูกผู้ก่อการร้ายจี้เข้าพุ่งชนจนตึกแฝดทั้งคู่ถล่ม ในวันที่ 11 กันยายน 2544 กลายเป็น "โศกนากรรม 9/11” และยังส่งผลให้ตึกเวิร์ลเทรดฯ 4, 5 และ 6 เสียหายไปด้วย หลังจากเหตุการณ์ 9/11 ก็ได้มีการซ่อมแซมอาคารที่เหลือและก่อสร้างอาคารให้เป็นอนุสรณ์สถานชื่อว่า "Freedom Tower” สูง 541 เมตรแทนตึกเวิร์ลเทรดฯ 1 เปิดใช้งานเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2549
19 ตุลาคม พ.ศ.2515 : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสาธิตให้ผู้แทนรัฐบาลสิงคโปร์ชมการทดลองฝนหลวง
19 ตุลาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงควบคุมการทดลอง ปฏิบัติการฝนหลวง สาธิตให้ผู้แทนของรัฐบาลสิงคโปร์ชม ณ อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน ทั้งนี้ “โครงการพระราชดำริ ฝนหลวง” เกิดขึ้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ปี 2495 เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อน ทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกรที่ขาด แคลนน้ำ อุปโภค บริโภค และการเกษตร จึงได้มีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทาน โครงการพระราชดำริฝนหลวง ให้กับ ม.ร.ว. เทพฤทธิ์ เทวกุล ไปดำเนินการ ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นโครงการค้นคว้าทดลอง ปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงขึ้น ต่อมาปี 2512 โครงการฝนหลวงประสบความสำเร็จมากจึ้น จึงได้ตราพระราชกฤษฎีกาก่อตั้งสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงขึ้นในปี 2518 ต่อมาประเทศไทยได้จดทะเบียนกิจกรรมฝนหลวง กับองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก แห่งสหประชาชาติ เป็นครั้งแรกในปี 2525 และนำความรู้ด้านการสร้างฝนเทียมนี้เผยแพร่ไปยังต่างประเทศที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำฝน จากนั้นองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกจึงได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อม ถวายเครื่องหมายเชิดชูเกียรติ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2540 จากนั้นรัฐบาลไทยก็มีมติเทิดพระเกียรติพระองค์ในฐานะ "พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย" เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2543 และกำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคม ของทุกปีเป็น "วันเทคโนโลยีของไทย" เริ่มครั้งแรกในปี 2544 ส่วนพระองค์เองได้ทรงยกย่อง ม.ร.ว.เทพฤทธิ์ เทวกุล ให้เป็น "บิดาแห่งฝนหลวง"
20 ตุลาคม พ.ศ.2516 : พิธีเปิดโรงอุปรากรซิดนีย์ อย่างเป็นทางการ
พิธีเปิดโรงอุปรากรซิดนีย์ (Sydney Opera House) อย่างเป็นทางการโดยสมเด็จพระราชินีอลิซาเบธที่ 2 (Queen Elizaveth II) ซิดนีย์ โอเปร่า เฮาส์ ตั้งอยู่ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เป็นหนึ่งในสถาปัตยกรรมที่สวยงามที่สุดในโลก และเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของออสเตรเลีย
20 ตุลาคม พ.ศ.2501 : จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อรัฐประหารยึดอำนาจ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี (ซึ่งพร้อมใจลาออก) รัฐประหารครั้งนี้ต่อเนื่องมาจากรัฐประหารครั้งก่อน ซึ่งจอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2500 โดยอาศัยเหตุจากการเดินขบวนประท้วง การประท้วงการเลือกตั้งสกปรก และการแย่งอำนาจกันเองในหมู่ทหาร จากนั้นจอมพลสฤษดิ์ได้แต่งตั้งนายพจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีและจัดให้มีการเลือกตั้งพลโทถนอม กิตติขจร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ไม่สามารถบริหารราชการไปอย่างราบรื่น ในที่สุดจอมพลสฤษดิ์ ในนาม "คณะปฏิวัติ" ก็ได้ทำการรัฐประหารอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2501 โดยอาศัยทั้งเหตุความแตกแยกของพรรคร่วมรัฐบาลและที่สำคัญคือ ภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์จากนั้นจอมพลสฤษดิ์ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพร้อมๆ กับการใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จหรือ ม.17 ให้อำนาจนายกฯ อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด สามารถสั่งจับกุมคุมขังหรือประหารชีวิตใครก็ได้ที่เห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ส่งผลให้เกิดการปราบปรามผู้มีแนวคิดสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์อย่างรุนแรง
21 ตุลาคม พ.ศ.2474 : วันทำพิธีฝังศพโธมัส อัลวา เอดิสัน
วันทำพิธีฝังศพโธมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) นักประดิษฐ์ผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าของสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ 1,097 รายการ ในโอกาสนี้ประเทศอเมริกาได้ให้เกียรติแก่เขาโดยการดับไฟและปิดสวิตช์เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชิ้นนาน 1 นาที
21 ตุลาคม พ.ศ.2422 : หลอดไฟฟ้าหลอดแรกของโธมัส อัลวา เอดิสัน ส่องสว่างขึ้นเป็นครั้งแรก
หลอดไฟฟ้า หลอดแรกของ โธมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) ส่องสว่างขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านั้นเซอร์ฮัมฟรี เดวี่ (Sir Humphry Davy) เคยประดิษฐ์หลอดไฟฟ้าชื่อว่า "Arc Light" แต่เส้นลวดไม่สามารถทนความร้อนได้สูง หลอดของเขาจึงมีอายุการใช้งานสั้น เอดิสันจึงได้ทดลองใช้วัสดุกว่า 10,000 ชนิดเป็นไส้ จนพบว่าเส้นใยฝ้ายนำไปเผาไฟ จากนั้นจึงนำไปบรรจุไว้ในหลอดสูญญากาศ หลอดไฟของเอดิสันสามารถจุดให้แสงสว่างได้นานถึง 45 ชั่วโมง หลอดไฟฟ้าชนิดนี้มีชื่อว่า "Incandesent Electric Lamp" และในที่สุดเขาก็พบว่าเส้นใยของไม้ไผ่ในประเทศญี่ปุ่นมีคุณภาพดีกว่าแต่ถึงกระนั้นหลอดไฟฟ้าของเอดิสันก็ยังไม่เป็นที่นิยมเท่าไรนัก เพราะราคาค่าไฟฟ้าในขณะนั้นแพงมาก
21 ตุลาคม พ.ศ.2417 : วันประสูติพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายรพีพัฒนศักดิ์
วันประสูติ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าชายรพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระราชโอรสองค์ที่ 14 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเข้าศึกษาชั้นมัธยมในกรุงลอนดอนเป็นเวลา 3 ปี ก่อนสอบเข้าเรียนนิติศาสตร์ที่สำนักไครส์เชิช มหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ตั้งแต่พระชันษาเพียง 18 ปี และเรียนจบได้เกียรตินิยมภายในเวลา 3 ปี หลังจากนั้นพระองค์จึงกลับมาทำงานที่เมืองไทย เคยดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม และได้รับการยกย่องเป็นพระบิดาแห่งกฏหมายไทย ทรงเป็นต้นตระกูล "รพีพัฒน์"
21 ตุลาคม พ.ศ.2376 : วันเกิด อัลเฟรด โนเบล ผู้ประดิษฐ์ไดนาไมต์
วันเกิด อัลเฟรด โนเบล (Alfred Nobel) นักเคมีชาวสวีเดน ผู้ประดิษฐ์ดินระเบิดร้ายแรงที่เรียกว่า ไดนาไมต์ แต่เขาไม่พอใจที่ไดนาไมต์ถูกนำไปใช้ทางทหาร เขาจึงยกเงินในพินัยกรรมให้เป็นรางวัลสำหรับส่งเสริมสันติภาพและการศึกษาด้านต่างๆ คือ ฟิสิกส์ เคมี การแพทย์ วรรณกรรมและสันติภาพ เริ่มมีต้งแต่ 2444 ต่อมาในปี 2512 ได้มีการเพิ่มรางวัลในสาขาเศรษฐศาสร์ การมอบรางวัลโนเบลจัดขึ้นเป็นประจำในวันที่ 10 ธันวาคมของทุกปี (และจะเว้นระยะได้ไม่เกิน 5 ปี) ผู้พระราชทานคือสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรสวีเดน
21 ตุลาคม พ.ศ.2443 : วันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า
วันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีหรือ สมเด็จย่า ทรงมีพระนามเดิมว่า สังวาลย์ ตะละภัฏ เข้าเรียนที่โรงเรียนสตรีวิทยา จากนั้นเข้าโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์ และหญิงพยาบาลแห่งศิริราช หลังจากสำเร็จการศึกษา ทรงได้รับการคัดเลือกให้ไปทรงศึกษาวิชาพยาบาลต่อที่ โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2463 ได้มีพิธีอภิเษกสมรสกับ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่วังสระปทุม ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อประชาชนไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะด้านการแพทย์ ทรงจัดตั้งหน่วยแพทย์อาสาเดินทางไปรักษาผู้ป่วยในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ ทรงตั้งมูลนิธิขาเทียมออกจัดทำขาเทียมให้ผู้พิการ นอกจากนั้นยังมีโครงการพัฒนาด้านการเกษตรและสิ่งแวดล้อมมากมายอาทิโคงการเกษตรหลวงดอยตุงจังหวัดเชียงราย สวรรคตวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 พระชนม์มายุ 95 พรรษา ต่อมาได้มีการกำหนดให้วันที่ 21 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันพยาบาลแห่งชาติ", "วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ", "วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ", "วันรักต้นไม้แห่งชาติ" และ "วันอาสาสมัครไทย"
22 ตุลาคม พ.ศ.2499 : พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระผนวช
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน 2499 ได้พระสมณนามว่า "ภูมิพโลภิกขุ" และเสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหยาที่วัดบวรนิเวศวิหาร ขณะที่ทรงดำรงสมณเพศพระองค์ได้ทรงเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเช่นเดียวกับพระภิกษุทั่วไป ทั้งการทำวัตรและการบิณฑบาตร ในระหว่างนั้นได้แต่งตั้งพระบรมราชีนินาถให้ทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแทน
23 ตุลาคม พ.ศ.2453 : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยราชสมบัติ
23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จเสวยราชสมบัติ ทรงเป็นพระราชโอรสที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ พระราชกรณียกิจที่สำคัญๆ ของพระองค์ อาทิ ทรงก่อตั้งโรงเรียนมหาดเล็กหลวงซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวชิราวุธวิทยาลัย ทรงก่อตั้งกองเสือป่า ทรงก่อตั้งกองลูกเสือ เปลี่ยนธงชาติจากธงช้างเผือกมาเป็นธงไตรรงค์ ตั้งเมืองดุสิตธานีเพื่อเป็นเมืองทดลองใช้ระบอบประชาธิปไตย ประกาศสงครามกับเยอรมัน ออสเตรีย ฮังการี ในสงครามโลกครั้งที่ 1 อยู่ฝ่ายสัมพันธมิตร เสด็จสวรรคต เมื่อ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2468
23 ตุลาคม พ.ศ.2453 : พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต
23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 วันปิยมหาราช พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จสวรรคตรวมพระชนมพรรษา 58 พรรษา พระองค์ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร ให้ร่มเย็นเป็นสุข ทรงโปรดการเสด็จประพาสต้น เพื่อศึกษาวิถีชีวิตของราษฎร ทรงสนพระทัยในวิชาความรู้ และวิทยาการสมัยใหม่แขนงต่างๆ ทั้งการศึกษา การทหาร การคมนาคม การรถไฟ ฯลฯ การพัฒนาของพระองค์ส่งผลให้สยามประเทศพัฒนาเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว พระองค์จึงได้รับถวายพระราชสมัญญานามว่า สมเด็จพระปิยะมหาราช และมีความหมายว่า พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชน ต่อมาได้มีการกำหนดให้วันที่ 23 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันปิยมหาราช"
24 ตุลาคม พ.ศ.2446 : วันเกิด หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล บุคคลสำคัญของโลกและศิลปินแห่งชาติ
หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล บุคคลสำคัญของโลกและศิลปินแห่งชาติ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและผู้ก่อตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หม่อมหลวงปิ่นเกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2446 ณ บ้านถนนอัษฎางค์ กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรคนที่ 6 ใน 13 คน ของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล) และท่านผู้หญิงเสงี่ยม พระเสด็จสุเรนทราธิบดี (เสงี่ยม มาลากุล ณ อยุธยา (นามสกุลเดิม วสันตสิงห์)) หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2538 สิริอายุได้ 91 ปี 11 เดือน 11 วัน และเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 ท่านได้รับการประกาศเชิดชูเกียรติจากองค์การยูเนสโกยกย่องท่านเป็น "นักการศึกษาดีเด่นของโลก ในสาขาวรรณกรรมและสื่อสาร" ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวเตรียมอุดมทุกคน โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา อันเชิญรูปปั้น ฯพณฯ ศ.หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล จากหอวชิราวุธานุสรณ์ มาประดิษฐาน ห้อง 57 ตึก 1 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2545 ในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2546 เป็นวาระครบรอบ 100 ปีของ ฯพณฯ ศ. ม.ล. ปิ่น มาลากุล โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาจึง ดำริที่จะจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณของท่าน นับแต่นี้ต่อไปก็จะมีเพียงการสานต่อแนวความคิดของ ฯพณฯ ให้ปรากฏเป็นผลสมเจตจำนง อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์ของเยาวชน และสังคมไทยตลอดไป
24 ตุลาคม พ.ศ.2488 : องค์การสหประชาชาติได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ
24 ตุลาคม พ.ศ. 2488 องค์การสหประชาชาติ หรือ "ยูเอ็น” (United Nation : UN) ได้รับการสถาปนาอย่างเป็นทางการ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง โดยมีประเทศสมาชิกผู้เริ่มก่อตั้ง 51 ประเทศ นำโดยประเทศมหาอำนาจของโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และจีน ลงนามให้สัตยาบันรับรอง “กฎบัตรสหประชาชาติ” (United Nations Charter) ซึ่งเป็นธรรมนูญของสหประชาชาติมีผลบังคับใช้ ยูเอ็นเป็นองค์การระหว่างประเทศ ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ทั่วโลกเกิดสันติภาพและความยุติธรรม มีความมั่นคงระหว่างประเทศ พัฒนาสัมพันธ์ไมตรีระหว่างประเทศ แก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม มนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน และเป็นศูนย์กลางความร่วมมือและประสานงานของชาติต่างๆ ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 192 ประเทศ (เกือบทุกประเทศในโลก) สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงนิวยอร์ก และถือเอาวันที่ 24 ตุลาคม ของทุกปีเป็น "วันสหประชาชาติ"
25 ตุลาคม พ.ศ.2473 : พิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกในประเทศไทย
25 ตุลาคม พ.ศ.2473 พระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรกในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานปริญญาบัตร แก่บัณฑิตทางแพทย์ (เวชชบัณฑิตชั้นตรี หรือแพทยศาสตร์บัณฑิตในปัจจุบัน) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสำเร็จการศึกษาใน พ.ศ.2471 และ 2472 และเป็นประเพณีสืบทอดมาจนทุกวันนี้
27 ตุลาคม พ.ศ.2447 : ประกาศเลิกใช้ เงินพดด้วง
27 ตุลาคม พ.ศ. 2447 ประกาศเลิกใช้เงินพดด้วงทุกชนิด เนื่องจากความต้องการเงินตราไทยมีมากเพราะการค้าระหว่างประเทศขยายตัว การผลิตเงินพดด้วงไม่ทันใช้ รัชกาลที่ 5 จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ออกประกาศลงวันที่ 27 ตุลาคม 2447 มีความสำคัญว่า ได้โปรดให้สั่งว่า เงินพดด้วงซึ่งได้จำหน่ายออกจากพระคลังฯ ใช้กันแพร่หลายอยู่ในพระราชอาณาจักรเวลานี้ มีลักษณะปลอมแปลงได้ง่าย สมควรให้เลิกใช้เงินพดด้วงเสีย โดยตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2447 เป็นต้นไป ให้เลิกใช้เงินพดด้วงทุกชนิด ยกเป็นเงินตราที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
27 ตุลาคม พ.ศ.2271 : วันเกิด กับตันเจมส์ คุก นักเดินเรือชาวอังกฤษ
27 ตุลาคม พ.ศ. 2271 วันเกิด กัปตันเจมส์ คุก (Captain James Cook) นักสำรวจ นักเดินเรือ และนักทำแผนที่ชาวอังกฤษ เขาเดินทางไปยังมหาสมุทรแปซิฟิก 3 ครั้ง และได้ทำแผนที่แนวชายฝั่งและหมู่เกาะต่างๆ เอาไว้ คุกเป็นบุคคลหนึ่งที่ได้เข้ามาสำรวจประเทศออสเตรเลีย หมู่เกาะฮาวาย นิวฟาวด์แลนด์ นิวซีแลนด์ เขาเป็นนักเดินเรือคนแรกที่เดินเรือรอบโลกสำเร็จ
28 ตุลาคม พ.ศ.2539 : สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรเสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ
28 ตุลาคม พ.ศ. 2539 สมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร และเจ้าฟ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินบะระ พระราชสวามี เสด็จฯ เยือนไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโอกาสปีกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี
28 ตุลาคม พ.ศ.2429 : พิธีเปิดอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ ท่าเรือนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา
28 ตุลาคม พ.ศ. 2429 พิธีเปิดอนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพ ณ เกาะเบตโล (Bedloes) ท่าเรือนิวยอร์ค สหรัฐฯ อนุสาวรีย์นี้ออกแบบโดย เฟเดอริก โอกูสต์ บาร์ตอลดี (Auguste Bartholdi) และดำเนินการสร้างโดย อะเล็กซานเดอร์ กุสตาฟ แอฟแฟล ผู้สร้างหอไอเฟล อนุสาวรีย์ชิ้นนี้เป็นของขวัญจากชาวฝรั่งเศสแก่สหรัฐฯ สร้างขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพ ในวาระเฉลิมฉลองมิตรภาพระหว่างฝรั่งเศสและอเมริกา เป็นสัญลักษณ์แห่งอิสรภาพของสหรัฐอเมริกาที่ประชาชนและอาวุธของฝรั่งเศสได้มีส่วนช่วยกอบกู้และดำเนินมาครบ 100 ปี และเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพอันยาวนานและอุดมการณ์ร่วมของทั้งสองชาติ อนุสาวรีย์เทพีเสรีภาพเป็นประติมากรรมโลหะที่ใหญ่ที่สุดในโลก สร้างและประกอบขึ้นใหม่ ใช้เวลา 15 ปี ก่อนแยกส่วนแล้วบรรทุกลงเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ไปยังสหรัฐฯ เพื่อประกอบขึ้นใหม่
29 ตุลาคม พ.ศ.2524 : การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดทดลองใช้ ทางด่วน สายดินแดง-ท่าเรือ
29 ตุลาคม พ.ศ. 2524 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย เปิดทดลองใช้ ทางด่วนสายดินแดง-ท่าเรือ ซึ่งเป็นเส้นแรกของระบบทางด่วนขั้นที่ 1
30 ตุลาคม พ.ศ.2453 : อองรี ดูนังต์ ผู้ก่อตั้งสภาการกาชาดสากลเสียชีวิต
30 ตุลาคม พ.ศ. 2453 อองรี ดูนังต์ (Jean Henri Dunant) นักธุรกิจและนักเคลื่อนไหวทางสังคมชาวสวิส ผู้ริเริ่มก่อตั้ง สภาการกาชาดสากล (International Committee of the Red Cross : ICRC) เสียชีวิต ดูนังต์เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2371 เกิดที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในครอบครัวนักธุรกิจที่เคร่งศาสนาและรักการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ดูนังต์จึงอุทิศตนเพื่อสังคมมาตั้งแต่เด็ก ในระหว่างทำงานธนาคาร เขาถูกส่งไปดูงานต่างประเทศและได้ผ่านไปที่สมรภูมิซอลเฟริโน (Battle of Solferino) ประเทศอิตาลี ซึ่งเขาได้เห็นทหารบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก จากนั้นจึงกลับไปเขียนบทความเพื่อผลักดันให้มีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อดูแลทหารและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในสงคราม ภายหลังจากดูนังต์เสียชีวิตจึงได้มีการจัดตั้ง "คณะกรรมการระหว่างประเทศเพื่อบรรเทาทุกข์ทหารบาดเจ็บ” (International Committee for the Relief of Wounded Combatants) เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2406 ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น "สภากาชาดสากล” (International Commitee of the Red Cross) และเจริญเป็นปึกแผ่นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ สัญลักษณ์ของกาชาดคือเครื่องหมายกากบาทแดง ซึ่งเป็นการให้เกียรติประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในฐานะที่เป็นต้นกำเนิดกาชาด ต่อมาได้ถือเอาวันที่ 8 พฤษภาคมของทุกปีซึ่งตรงกับวันเกิดของอังรี ดูนังต์ เป็น "วันที่ระลึกกาชาดสากล”
รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์คุณหญิงโมเป็น ท้าวสุรนารี
30 ตุลาคม พ.ศ. 2369 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ คุณหญิงโม ภริยาของพระยามหิศราธิบดี (พระยาปลัด) ที่ปรึกษาราชการแห่งเมืองนครราชสีมา ขึ้นเป็น "ท้าวสุรนารี” จากวีรกรรมที่ใช้อุบายต่อสู้กับทหารลาวของ เจ้าอนุวงศ์ แห่งเวียงจันทน์ ซึ่งก่อกบฎยกทัพมาตีเมืองนครราชสีมา หลังจากเจ้าอนุวงศ์ยึดเมืองนครราชสีมาสำเร็จ และได้กวาดต้อนชาวโคราชไปเป็นเชลย รวมทั้งคุณหญิงโมด้วย ระหว่างการเดินทางคุณหญิงโมได้ออกอุบายขอมีดพร้าจอบเสียมจากทหารลาว ว่าจะนำไปตัดไม้ทำที่พักแรม แต่แท้จริงได้นำมาเสี้ยมไม้เก็บซ่อนไว้เป็นอาวุธ ทั้งยังหลอกล่อให้การเดินทางล่าช้า เพื่อรอกำลังสนับสนุนจากรุงเทพฯ จนเมื่อเข้าเขตทุ่งสัมฤทธิ์ เมืองพิมาย คุณหญิงโมจึงวางแผนโจมตีกองทัพของเจ้าอนุวงศ์จนได้รับชัยชนะ ต้องล่าถอยออกไป ก่อนที่ทัพจากกรุงเทพฯ จะมาสมทบ จากความดีความชอบครั้งนี้ รัชกาลที่ 3 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์ คุณหญิงโมเป็นท้าวสุรนารี พร้อมเครื่องยศทองคำ เช่น ถาดทองคำ จอกหมาก กู่ ตลับทองคำสามใบ เต้าปูนทองคำ คนโทน้ำทองคำ ขันทองคำ เป็นต้น นับเป็นสตรีสามัญชนในประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นวีรสตรีของชาติ ทั้งนี้ท้าวสุรนารีได้กลายเป็นความสนใจของคนทั่วไปอีกครั้ง หลังจากที่ สายพิณ แก้วประเสริฐ นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี” โดยได้วิเคราะห์และตั้งคำถามว่า วีรกรรมของท้าวสุรนารีมีจริงหรือไม่ และหากมีอาจไม่กล้าหาญโดดเด่นตามที่รับรู้กันในปัจจุบัน สายพิณได้วิเคราะห์จากเอกสารในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งไม่ปรากฏว่ามีวีรกรรมของท้าวสุรนารี แต่ไปปรากฏในเอกสารเมื่อต้นรัชกาลที่ 5 ด้วยข้อความสั้นๆ ว่าคุณหญิงโมเป็นผู้นำสตรีชาวโคราชเป็นกองหนุนในการรบเท่านั้น อีกทั้งเอกสารสำคัญเกี่ยวกับเหตุการณ์กบฏเจ้าอนุวงศ์ก็ไม่ได้ระบุวีรกรรมของท้าวสุรนารีไว้แม้แต่น้อย สายพิณจึงวิเคราห์ว่าวีรกรรมของท้าวสุรนารีอาจถูกเสริมแต่งขึ้นเกินจริง ด้วยเหตุผลทางด้านการเมืองการปกครอง การวิเคราะห์เช่นนี้ได้สร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวโคราชเป็นอย่างมาก
31 ตุลาคม พ.ศ.2527 : นางอินทิรา คานธี นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย ถูกยิงเสียชีวิต
31 ตุลาคม พ.ศ. 2527 นางอินทิรา คานธี (Indira Gandhi) นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย ถูกยิงเสียชีวิต โดยสาเหตุอาจมาจากเรื่องการขัดแย้งระหว่างศาสนาในประเทศ เธอเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอินเดีย เป็นหลานสาวของนายกฯ จาวาฮารัล เนรู ซึ่งเป็นนายกคนแรกของอินเดีย แม้จะมีนามสกุลว่าคานธี แต่ก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับมหาตมะ คานธี