-
Category: วันนี้ในอดีต
-
Published on Monday, 22 May 2017 04:38
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 7399
1 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 : วันสถาปนา มหาวิยาลัยทักษิณ
1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 วันสถาปนามหาวิยาลัยทักษิณ (มท.) มหาวิทยาลัยของรัฐ ตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา หลังจากที่พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยทักษิณได้ผ่านกระบวนการตามกฎหมายครบทุกขั้นตอน และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม 2539 และมีผลบังคับใช้ในวันนี้แต่เดิมสถาบันการศึกษาแห่งนี้มีจุดเริ่มต้นจากการขยายการศึกษาออกสู่ภูมิภาคของวิทยาลัยวิชาการศึกษา ซึ่งได้กระจายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้แก่นักเรียนในส่วนภูมิภาคได้มีโอกาสศึกษาต่อ จึงมีการจัดตั้ง วิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลาขึ้น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2511 ต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และได้ขยายงานต่อมาเรื่อยๆ จนเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณดังปัจจุบัน
1 พฤศจิกายน พ.ศ.2484 : พิธีเปิดอนุสาวรีย์เมาต์รัชมอร์
1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2484 เปิดอนุสาวรีย์เมาต์รัชมอร์ (Mt. Rushmore National Memorial) อนุสาวรีย์แห่งนี้สร้างขึ้นบนหน้าผาหินแกรนิต ใช้เวลาสร้างถึง 14 ปี บริเวณภูเขารัชมอร์ ใน แบลค ฮิลล์ ของมลรัฐเซาท์ดาโกตา (Black Hills of South Dakota) โดยมีความสูงประมาณ 18 ม. ประกอบไปด้วยศีรษะของประธานาธิบดี จอร์ช วอชิงตัน (Gorge Washington), โทมัส เจฟเฟอร์สัน (Thomas Jefferson), อับราฮัม ลินคอน (Abraham Lincoln) และ ธีโอดอร์ รูสท์เวลล์ (Theodore Roosevelt)
1 พฤศจิกายน พ.ศ.2455 : หนังสือคีตาญชลีได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรก
1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2455 "คีตาญชลี" (Gitanjali) หนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ของ รพินทรนาถ ฐากูร กวีเอกแห่งชมภูทวีป ได้รับการตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษครั้งแรก โดยสมาคมอินเดียในกรุงลอนดอน คีตาญชลีเป็นหนังสือรวมกวีนิพนธ์ประเภทที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า “Lyrics” หรือกาพย์แสดงความในใจของกวี ต้นฉบับเป็นภาษาเบงกาลี ดำเนินเรื่องอยู่ที่การยึดเอาพระผู้เป็นเจ้ามาเป็นเป้าหมาย คำว่า พระผู้เป็นเจ้า แม้จะตรงกับคำว่า “God” ในภาษาอังกฤษก็จริง แต่ก็หาได้มีความหมายตรงกับ God ในทรรศนะของศาสนาคริสต์ หรือศาสนาอิสลามทีเดียวไม่ หาก God ในที่นี้ตรงกับคำในภาษาสันสกฤตว่า "ปรมาตมัน” หรือที่บางแห่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Absolute Soul” ซึ่งเป็นคำสอนของลัทธิเวทานต (Vedanta) แห่งคัมภีร์อุปนิษัท "คีตาญชลี" เป็นภาษาสันสกฤต เกิดจากคำว่า “คีต” สนธิเข้ากับคำ “อัญชลี” มีความหมายว่า "การบูชาด้วยบทเพลง" ฉบับพากษ์ไทยแปลโดย อ. กรุณา และ อ. เรืองอุไร กุศลาสัย จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แม่คำผาง คีตาญชลีแปลว่าการบูชาด้วยบทเพลง เป็นหนังสือกวีและปรัชญาชีวิต เดิมเขียนเป็นภาษาเบงกาลี หนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในโลกตะวันตก ส่งผลให้รพินทรนาถ ฐากูรได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2456 เป็นคนแรกของเอเซีย และเป็นคนแรกที่ไม่ใช่ชาวยุโรปที่ได้รางวัลนี้
1 พฤศจิกายน พ.ศ.2432 : วันก่อตั้งโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา
1 พฤศจิกายน พ.ศ.2432 วันก่อตั้ง โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา โรงพยาบาลจิตเวชแห่งแรกของไทย โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลคนเสียจริตขึ้นที่ปากคลองสาน รับผู้ป่วยไว้รักษาครั้งแรก 30 คน ชื่อว่า "โรงพยาบาลคนเสียจริต" ต่อมาในปี 2475 ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น "โรงพยาบาลโรคจิต ธนบุรี" ภายหลังในปี 2497 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา" ปัจจุบันนอกจากให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชแล้ว ยังให้บริการบำบัดรักษาโรคทางสมอง และเป็นสถาบันฝึกอบรมจิตแพทย์และพยาบาลจิตเวช
2 พฤศจิกายน พ.ศ.2373 : โชแปง คีตกวีชาวโปแลนด์ ตัดสินใจเดินทางจากบ้านเกิดมาที่กรุงปารีส
2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2373 โชแปง (Fryderyk Franciszek Chopin ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นภาษาฝรั่งเศส Frédéric François Chopin) คีตกวีชาวโปแลนด์ ตัดสินใจเดินทางจากบ้านเกิดมาที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสเพราะทนความบีบคั้นภายใต้การปกครองของรัสเซียไม่ได้ และตัดสินใจใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ที่นี่เพื่อเป็นนักเปียโนและนักประพันธ์เพลง ที่นี่เขาได้ประพันธ์บทเพลงเอาไว้มากมาย อาทิ "บัลลาดหมายเลข 1 โอปุสที่ 23", มูฟเมนท์ที่สองของคอนแชร์โต้หมายเลขหนึ่ง, Polonnaise ซึ่งเขาแต่งให้โปแลนด์บ้านเกิด โชแปงเสียชีวิตด้วยโรควัณโรคในวัยเพียง 39 ปี เขาเป็นคีตกวีในกลุ่มโรแมนติก (Romanticism)
3 พฤศจิกายน พ.ศ.2500 : ไลก้า สุนัขอวกาศตัวแรกของโลก ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศไปโคจรรอบโลก
3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2500 ไลก้า (Leika แปลว่า เห่า) สุนัขอวกาศตัวแรกของโลก ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศไปโคจรรอบโลกด้วยยานสปุตนิค 2 ของสหภาพโซเวียต ตามโครงการสปุตนิค เชื่อหรือไม่ว่าไลก้า สุนัขพันธุ์ไซบีเรียน ฮัสกีเพศเมีย ที่ถูกจับมาจากข้างถนนในกรุงมอสโก นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ยานสปุตนิก 2 ไม่ได้ออกแบบให้กลับสู่โลกอย่างสมบูรณ์ เรื่องของไลก้าจึงจบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่เราไม่รู้แน่ชัดนัก ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ประเมินว่า ไลก้ามีชีวิตอยู่ได้ ระหว่าง 4-10 วันในวงโคจร บางคนก็บอกว่า อาหารมื้อท้ายๆ ของเธอมีภาวะเป็นพิษ บางส่วนก็อ้างว่าไลก้าขาดออกซิเจนเมื่อแบตเตอรี่ของระบบเกื้อชีวิตหมด ยานสปุตนิก 2 อยู่ในวงโคจรนาน 163 วัน โคจรรอบโลกครบรอบในเวลา 1 ชั่วโมง 42 นาที รวม 2,370 รอบ ในท้ายสุด โลงศพของไลก้าก็ตกลงสู่โลกและไหม้สลายหมดไปในอากาศเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2501 อีก 40 ปีให้หลัง อนุสาวรีย์ของสุสานอวกาศก็ได้มีการสร้างขึ้นนอกกรุงมอสโก โดยมีรูปของไลก้าเห่าขณะสวมชุดนักบินอวกาศ
3 พฤศจิกายน พ.ศ.2428 : รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ พันเอกเจ้าหมื่นไวยวรนาถยกกองทัพไปปราบฮ่อ
3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าหอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ พันเอกเจ้าหมื่นไวยวรนาถ (เจิม แสงชูโต) หรือ "พระนายไวย" ยกกองทัพไปปราบฮ่อ ณ หัวเมืองหลวงพระบาง โดยเดินทัพไปทางเมืองพิไชย (อุตรดิถต์ปัจจุบัน) เรียกว่ากองทัพด้านเหนือ ด้วยอาวุธแบบใหม่จากกำลังทหารแบบใหม่ ฝ่ายไทยจึงสามารถตีฝ่าปราการกอไผ่ เอาชนะพวกฮ่อได้โดยสิ้นเชิง รัชกาลที่ 5 จึงได้ทรงแต่งตั้งพันเอกเจ้าหมื่นไวยวรนาถ ให้เป็น พลตรีพระยาสุรศักดิ์มนตรี และพระราชทานรางวัลแก่แม่ทัพนายกองโดยทั่วกัน
5 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 : เกิดวิกฤติการณ์คลองสุเอซ
5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 เกิดวิกฤติการณ์คลองสุเอซ เริ่มจากประธานาธิบดีนัสเซอร์แห่งอียิปต์ โอนคลองสุเอซมาเป็นของอียิปต์ สร้างความหวั่นเกรงว่าจะมีการปิดคลองแห่งนี้ซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงน้ำมันจากอ่าวเปอร์เซียไปสู่ยุโรป สามเดือนต่อมาอิสราเอลได้เคลื่อนกำลังบุกอียิปต์ ขณะที่อังกฤษและฝรั่งเศสก็เคลื่อนทัพเข้าไปในบริเวณนั้น นัยว่าเพื่อสนับสนุนคำสั่งหยุดยิงของสหประชาชาติ แต่เป้าหมายที่เท้จริงคือการชิงอำนาจในการควบคุมคลองสุเอซกลับคืนมา
6 พฤศจิกายน พ.ศ.2521 : พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงผนวช
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ มีพระทัยศรัทธาจะอุปสมบทในพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ ทรงผนวชในวันจันทร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2521 เวลา 15.00 น. ตรงกับวันขึ้น 7 ค่ำ เดือน 12 ปีมะเมีย ณ พัทธสีมาพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และสมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ปุณฺณโก) ถวายอนุสาสน์ ผนวชแล้วเสด็จฯ ไปประทับ ณ พระตำหนักปั้นหย่า วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก) เป็นพระอภิบาลผนวชอยู่ 15 วันจึงลาผนวช
6 พฤศจิกายน พ.ศ.2404 : วรรณคดีนิราศลอนดอนออกจำหน่ายครั้งแรก
6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2404 นิราศลอนดอน วรรณคดีผลงานของ หม่อมราโชทัย (ม.ร.ว. กระต่าย อิศรางกูร ณ อยุธยา) ออกจำหน่ายครั้งแรก นิราศเรื่องนี้แต่งขึ้นเมื่อครั้งเดินทางไปอังกฤษในฐานะล่ามของคณะราชฑูตไทย ใน พ.ศ. 2400 (สมัย ร. 4) นับเป็นนิราศเรื่องแรกที่กล่าวถึงบ้านเมืองในประเทศตะวันตก ผู้แต่งประสงค์จะพรรณารายละเอียดเกี่ยวกับการเดินทางไปอังกฤษเป็นสำคัญ นับเป็นหนังสือบทกลอนเล่มแรกที่พิมพ์ขาย โดยหม่อมราโชทัยขายลิขสิทธิ์ให้แก่หมอบรัดเลย์ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ เมื่อปี 2404 ในราคา 400 บาท ซึ่งนับเป็นการขายกรรมสิทธิหนังสือครั้งแรกในเมืองไทย นิราศลอนดอนเป็นทั้งวรรณคดี และจดหมายเหตุพงศวดารชิ้นสำคัญ
7 พฤศจิกายน พ.ศ.2510 : อเมริกาส่งยานอวกาศเซอร์เวเยอร์ 6 ขึ้นสู่วงโคจรเพื่อสำรวจดวงจันทร์
7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2510 สหรัฐอเมริกา ส่ง ยานอวกาศเซอร์เวเยอร์ 6 (Surveyor VI) ขึ้นสู่วงโคจรเพื่อสำรวจดวงจันทร์ ก่อนจะถ่ายภาพพื้นผิวของดวงจันทร์กว่า 30,000 ภาพ และส่งข้อมูลกลับมายังโลก ยานอวกาศเซอร์เวเยอร์ 6 เป็นยานอวกาศที่ไม่มีมนุษย์บังคับ ยานอวกาศเซอร์เวเยอร์เป็นโครงการศึกษาอวกาศที่สหรัฐอเมริกากำลังแข่งขันกับสหภาพโซเวียต ยานอวกาศเซเวเวยอร์ลำสุดท้ายคือ เซอร์เวเยอร์ 7 ซึ่งนาซ่าส่งไปลงบนดวงจันทร์อย่างนิ่มนวลเป็นลำสุดท้าย ความสำเร็จของโครงการเซอเวเยอร์ส่งผลให้สหรัฐฯ นำไปพัฒนาต่อในโครงการอพอลโล
7 พฤศจิกายน พ.ศ.2460 : เกิด การปฏิวัติรัสเซีย เป็นครั้งที่สองในปีเดียวกัน
7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2460 เกิดการปฏิวัติรัสเซีย (Russian Revolution) เป็นครั้งที่สองในปีเดียวกัน (ครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนมีนาคม) เมื่อ วลาดิมีร์ อิลยิช เลนิน (Vladimir Llyich Lenin) ผู้ยึดมั่นในอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ตามแนวคิดของคาร์ล มารกซ์ เข้าโค่นล้มรัฐบาลชั่วคราวของ อเล็กซานเดอร์ เกเรนสกี้ (Alexander kerensky) ณ พระราชวังฤดูหนาวในกรุงเปโตรกราด (เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) แล้วก่อตั้งรัฐบาลของพรรค บอลเชวิก (Bolshevik) การปฏิวัติครั้งนี้ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองรัสเซียตามมา ต่อมารัฐบาลภายใต้การนำของเลนินได้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์เป็นประเทศแรกของโลกและประกาศตั้งสหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (USSR) ในปีพ.ศ.2465 หลังการขึ้นสู่อำนาจของเลนิน ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้แผ่ขยายไปในหลายประเทศ และมีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของโลกในศตวรรษที่ 20
8 พฤศจิกายน พ.ศ.2336 : พิพิธภัณฑ์ ลูฟว์ (Louvre Museum) เปิดให้บริการประชาชน
8 พฤศจิกายน พ.ศ.2336 พิพิธภัณฑ์ ลูฟว์ (Louvre Museum) เปิดให้บริการประชาชนโดยคณะปฎิวัติฝรั่งเศส (French revolutionary Government) สิ่งจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์จัดว่ามีทั้งจำนวน และคุณค่ามหาศาล
9 พฤศจิกายน พ.ศ.2532 : รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเยอรมนีตะวันออกเริ่มทะลายกำแพงเบอร์ลิน
รัฐบาลคอมมิวนิสต์ของเยอรมนีตะวันออกเริ่มทะลายกำแพงเบอร์ลิน (Berliner Mauer-Berlin Wall) อนุญาตให้ชาวเยอรมัน ตะวันออกเดินทางสู่เยอรมนีตะวันตกได้โดยเสรี การรื้อทำลายสัญลักษณ์สำคัญของการแบ่งแยกประเทศและโลกในยุคสงครามเย็นครั้งนี้ สร้างความปิติยินดีให้ชาวยเรอมันและเป็นการปูทางไปสู่การรวมประเทศเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้งในปีต่อมา การทะลายกำแพงเบอร์ลินครั้งนี้ได้นำไปสู่การสิ้นสุดสนธิสัญญาวอร์ซอ และเป็นจุดเริ่มต้นของการล่มสลายของสหภาพโซเวียต กำแพงแห่งนี้เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2504 เริ่มทะลายกำแพงในวันนี้ และเริ่มทุบทำลายตัวกำแพงวันที่ 13 มิถุนายน 2533 แต่ได้เหลือกำแพงบางช่วงไว้เป็นอนุสรณ์ และในภายหลัง ซากกำแพงบางส่วนก็ถูกจำหน่ายเป็นของที่ระลึก ส่วนบางส่วนก็ถูกนำไปตั้งแสดงที่อื่น การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินเป็นขั้นตอนแรกของการรวมชาติเยอรมนี ซึ่งต่อมาได้ถือเอาวันนี้เป็นวันชาติของประเทศเยอรมนีใหม่
9 พฤศจิกายน พ.ศ.2417 : เปิดใช้งานประภาคารสันดอน เป็นวันแรก
เปิดใช้งาน "ประภาคารสันดอน" เป็นวันแรก ประภาคารแห่งนี้เป็นประภาคารสมัยใหม่แห่งแรกของไทยที่สร้างขึ้นตามมาตรฐานสากล ตั้งอยู่ที่ปากแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้เรือใช้เป็นที่สังเกตในเวลากลางคืนเพื่อผ่านสันดอนป่าน้ำเจ้าพระยา เริ่มสร้างในปี พ.ศ. 2413 แล้วเสร็จปี พ.ศ. 2414 แต่เปิดใช้ประโยชน์ในการเดินเรือวันนี้ ลักษณะไฟเป็นไฟวาบสีขาว ทุก 20 วินาที สูง 44 ฟุต เห็นได้ไกล 10 ไมล์ มอบหมายให้มิสเตอร์ฟอร์ด ชาวเยอรมันเป็นเจ้าพนักงานจุดตะเกียงและดูแลรักษา ชื่อว่า "Bar of Regent Lighthouse" เพื่อเป็นเกียรติแก่สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ผู้คิดสร้างประภาคารนี้ขึ้นประภาคารนี้ ประภาคารนี้ได้เลิกใช้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2472 เพราะร่องน้ำเปลี่ยนไป รวมเวลาที่ได้ในราชการ 55 ปี 22 วัน
10 พฤศจิกายน พ.ศ.2471 : จักรพรรดิฮิโตฮิโตเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิญี่ปุ่น องค์ที่ 124
10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 จักรพรรดิฮิโตฮิโต ( Hirohito) เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิญี่ปุ่น องค์ที่ 124 ครองราชย์ในช่วง 2469-2532 พระองค์เกิดที่ปราสาทอะโอะยะมะ ในกรุงโตเกียว เป็นบุตรของจักรพรรดิโยะชิฮิโตะ กับเจ้าหญิงซะดะโกะ มีพระนามในวัยเด็กคือ เจ้าชายมิจิ พระองค์ทรงเป็นผู้มีบทบาทที่สำคัญในสงครามโลกครั้งที่สองโดยเป็นผู้นำญี่ปุ่นเข้าร่วมฝ่ายอักษะ ร่วมกับนาซีเยอรมันและฟาสซิสต์ของอิตาลี ภายหลังจากการเสียชีวิตขององค์จักรพรรดิได้รับขนานนามว่า จักรพรรดิโชวะ หรือ โชวะเทนโน
10 พฤศจิกายน พ.ศ.2531 : ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ถูกนำกลับคืนสู่ไทยอีกครั้ง
10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ ทับหลังศิลาโบราณวัตถุล้ำค่าของไทย ซึ่งถูกลักลอบนำไปจากปราสาทหินเขาพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นเวลาเกือบ 30 ปี กลับคืนสู่ไทยอีกครั้ง โบราณวัตถุชิ้นนี้เป็นประติมากรรมศิลาจำหลักบนทับหลังประตูของปรางค์ประธาน ด้านทิศตะวันออกของปราสาทหินพนมรุ้ง โบราณวัตถุชิ้นนี้ มานิต วัลลิโภดม ภัณฑารักษ์พิเศษ แห่งกรมศิลปากร ได้สำรวจและบันทึกภาพไว้เมื่อ พ.ศ. 2503 ปรากฎว่าทับหลังชิ้นนี้นั้น หักออกเป็นสองท่อน ตกอยู่ที่เชิงประตูปรางค์ประธาน และต่อมาทับหลังทั้งสองชิ้น ได้สูญหายไปอย่างไร้ร่องรอย จนปี พ.ศ. 2508 จึงได้ พบทับหลังชิ้นนี้ขนาด 1 ใน 3 ของด้านขวาที่ร้านขายของเก่าแห่งหนึ่ง กรมศิลปากรจึงได้ยึดมาเก็บรักษาไว้ แล้วนำไปประดับไว้ที่เดิม เมื่อมีการซ่อมปราสาทแต่ยังขาดชิ้นส่วนของทับหลังที่เหลืออีกสองส่วน ต่อมาในปี 2515 ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ไปพบทับหลังส่วนที่เหลือซึ่งเป็นรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่สถาบันศิลปะชิคาโก (The Art Institute of Chicaco) ประเทศสหรัฐอเมริกาโดยบังเอิญ จึงแจ้งให้กรมศิลปากรทราบ จนเกิดการเรียกร้อง จนผู้ครอบครองยอมคืนให้ในที่สุด
11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451 : ร.5 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปทรงม้า
11 พฤศจิกายน พ.ศ.2451 พระพุทธเจ้าหลวง (ร.5) เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดพระบรมรูปทรงม้า นอกจากนี้ยังเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีวางศิลาพระฤกษ์สร้างพระที่นั่งอนันตสมาคม ณ พลับพลาในสวนแป๊ะเต๋ง บริเวณสนามหน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน พิธีนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก ร.ศ. 112 ซึ่งจัดขึ้นในวโรกาสที่พระองค์ทรงครองราชสมบัติเป็นเวลา 40 ปี ซึ่งถือได้ว่ายาวนานกว่าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดในประวัติศาสตร์ขณะนั้น พระบรมรูปทรงม้านี้พระองค์ทรงนำแบบอย่างมาจากพระบรมรูปของพระเจ้าหลุยส์แห่งฝรั่งเศส ที่กรุงปารีส ปั้นโดยช่างชาวฝรั่งเศสชื่อจอร์จ เซาโล โดยหล่อด้วยโลหะทองบรอนซ์ ยึดติดกับแท่นทองบรอนซ์ เป็นที่ม้ายืน หนาประมาณ 25 เซนติเมตร ประดิษฐานบนแท่นรอง ทำด้วยหินอ่อน สูงประมาณ 6 เมตร กว้าง 2 เมตรครึ่ง ยาว 5 เมตร สร้างขึ้นด้วยเงินที่ประชาชนได้เรี่ยไรสมทบทุน ส่วนพระที่นั่งอนันตสมาคมนั้นออกแบบโดยนาย เอ็ม อมานโย ชาวอิตาเลียน และนายซี อัลเลกรีเป็นวิศกร และเจ้าพระยายมราช เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง เสร็จสมบูรณ์ในปี 2485 ใช้งบประมาณก่อสร้าง 15 ล้านบาท จัดเป็นสถาปัตยกรรมแบบอิตาเลียน สมัยเรอเนสซอง มีลักษณะรูปโดมแบบเดียวกับมหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ในกรุงโรม
12 พฤศจิกายน พ.ศ.2383 : วันเกิด ฟรองซัว ออกุสต์ โรแดง ประติมากรผู้ยิ่งใหญ่ชาวฝรั่งเศส
12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2383 วันเกิด ฟรองซัว ออกุสต์ โรแดง (Auguste Rodin) ประติมากรผู้ยิ่งใหญ่ชาวฝรั่งเศส ประติมากรคนสำคัญแห่งยุคอิมเพรสชั่นนิสม์ เขาศึกษาประติมากรรมในปารีส และเริ่มทำงานเป็นประติมากรที่นี่ ก่อนจะย้ายไปบรัสเซลส์ ภายหลังได้ย้ายกลับปารีสอีกครั้ง เขาได้สร้างผลงานประติมากรรมชิ้นสำคัญได้แก่ The Kiss, The Thinker, The Gate of Hell งานหลัง ๆ ชองเขาได้รับแรงบรรดาลใจจากกวีนิพนธ์ The inferno ของดังเต เธอะ คิส (Unte the kid) เช่น The Gates of Hell และรูปปั้น The Thinker นำเสนอภาพของดังเตเมื่อยามครุ่นคิด เป็นประติมากรรมที่มีชื่อเสียงมากอีกรูปแบบหนึ่งของโรแดง เขาได้ปั้นรูปเหมือน ของคนสำคัญในสมัยนั้นไว้จำนวนหนึ่ง รวมทั้งนักประพันธ์ โอโนเร บาลซาค และวิคเตอร์ ฮูโก
13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 : รพินทรนาถ ฐากูร กวีเอกชาวอินเดียได้รับรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม
13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2456 ราชบัณฑิตยสภาแห่งประเทศสวีเดน ณ กรุงสต๊อกโฮม ประกาศมอบรางวัลโนเบล สาขาวรรณกรรม ประจำปี 2456 ให้ รพินทรนาถ ฐากูร (Robindronath Thakur) กวีเอกชาวอินเดีย จากหนังสือรวมบทกวีชื่อ "คีตาญชลี" (Gitanjali) นับเป็นชาวเอเซียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม หนังสือเล่มนี้เป็นรวมกวีนิพนธ์ประเภทที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า Lyrics หรือกาพย์แสดงความในใจของกวี การดำเนินเรื่องอยู่ที่การยึดเอาพระผู้เป็นเจ้ามาเป็นเป้าหมาย คำว่า พระผู้เป็นเจ้า แม้จะตรงกับคำว่า God ในภาษาอังกฤษก็จริง แต่ก็หาได้มีความหมายตรงกับ God ในทรรศนะของศาสนา คริสต์ หรือศาสนาอิสลามทีเดียวไม่ หาก God ในที่นี้ตรงกับคำในภาษาสันสกฤตว่า ปรมาตมัน หรือที่บางแห่งแปลเป็นภาษาอังกฤษว่า The Absolute Soul ซึ่งเป็นคำสอนของลัทธิเวทานต (Vedanta) แห่งคัมภีร์อุปนิษัท "คีตาญชลี" เป็นภาษาสันสกฤต เกิดจากคำว่า คีตสนธิเข้ากับคำ อัญชลี เป็น คีตาญชลี มีความหมายว่า "การบูชาด้วยบทเพลง" ฉบับพากษ์ไทยแปลโดย อ.กรุณา และ อ.เรืองอุไร กุศลาสัย จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แม่คำผาง
13 พฤศจิกายน พ.ศ.2450 : วันพระราชสมภพ สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งลาว
13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2450 วันพระราชสมภพ สมเด็จพระเจ้าศรีสว่างวัฒนา กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งพระราชอาณาจักรลาว ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์เมื่อปี พ.ศ. 2518
14 พฤศจิกายน พ.ศ.2457 : รัชกาลที่ 6 ทรงประกอบพระราชพิธีเปิด การประปากรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ
14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกอบพระราชพิธีเปิด "การประปากรุงเทพฯ” อย่างเป็นทางการ ซึ่งขณะนั้นสังกัดกรมช่างสุขาภิบาล กระทรวงนครบาล ทำให้ประชาชนในกรุงเทพฯ เริ่มมีน้ำประปาใช้กันเป็นครั้งแรก ต่อมารัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติการประปานครหลวงให้โอนกิจการประปากรุงเทพ กรมโยธาเทศบาล การประปานนทบุรี การประปาเทศบาลนครธนบุรี และประปาเทศบาลสมุทรปราการ รวมเป็นกิจการเดียวกันเรียกว่า "การประปานครหลวง" เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2510 ปัจจุบันการประปานครหลวงนำน้ำดิบมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำแม่กลองมาผ่านกรรมวิธี ผ่านขั้นตอนการตกตะกอน การกรอง การฆ่าเชื้อโรค และการตรวจสอบคุณภาพ ได้มาตรฐานที่กำหนดตามมาตรฐาน องค์การอนามัยโลก ก่อนจะส่งไปตามเส้นท่อให้ใช้ตามบ้าน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้การรับรองว่าน้ำประปาในพื้นที่บริการของการประปานครหลวงทุกเขตสะอาดปลอดภัย ดื่มได้ และประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคม 2542
15 พฤศจิกายน พ.ศ.2499 : รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดสะพานผ่านพิภพลีลา
15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดสะพานผ่านพิภพลีลา ซึ่งเป็นสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิม เชื่อมถนนราชดำเนินใน และราชดำเนินกลาง เดิมเป็นสะพานโค้งมีโครงเหล็ก แต่รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างใหม่ให้กว้างและงดงามขึ้นเช่นเดียวกับสะพานมัฆวานรังสรรค์ เพื่อรับกับถนนราชดำเนินในที่สร้างขยายใหม่ สะพานแห่งนี้มีความเอียงน้อยมากเกือบเสมอกับระดับถนน และมีราวลูกกรงสะพานเป็นเหล็กดัดที่มีลวดลายงดงาม หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงมาโดยตลอด เมื่อมีการก่อสร้างสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ก็ได้ขยายและเบี่ยงสะพานผ่านพิภพลีลาให้พ้นทางลาดของสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าจนไม่หลงเหลือเหล็กดัดปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน
15 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 : คณะราษฎร์ จัดให้มีการเลือกตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย
15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 คณะราษฎร์ จัดให้มีการเลือกตั้ง ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม และรวมเขต โดยให้ผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลในจังหวัดนั้นๆ เป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ต่อไป การเลือกตั้งครั้งนี้มีอัตราส่วนพลเมือง 2 แสนคน ต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน มีสมาชิกสภาผู้แทนประเภทที่ 1 ได้รับเลือกตั้งทั้งหมด 78 คน ปรากฎว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์สูงถึง 78.82 %
16 พฤศจิกายน พ.ศ.2446 : กองทัพบกได้จัดทำ คทาจอมพล ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายรัชกาลที่ 5
16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2446 กองทัพบกได้จัดทำ คทาจอมพล ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในฐานะองค์จอมทัพไทย ในพระราชพิธีทวีธาภิเษก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท นับเป็นครั้งแรกที่มีคทาจอมพลขึ้นในประเทศไทย พระราชพิธีทวีธาภิเษกเป็นพระพิธีการสมโภช ที่ ร. 5 ได้ครองราชย์สมบัติยืนนาน มาเป็นสองเท่า ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระบรมชนกนาถ พระคทาจอมพลองค์แรกนี้มีลักษณะเป็นรูปทรงกระบอก ยาว 35 เซนติเมตร ยอดคทาเป็นรูปหัวช้างสามเศียรลงยาสีขาว เหนือหัวช้างเป็นรูปพระเกี้ยว ตอนท้ายคทาเป็นรูปทรงกระบอกตัด องค์พระคทาทำด้วยทองคำหนัก 40 บาท ใต้หัวช้างลงมาเป็นลายนูนรูปหม้อกลศ พระคทาองค์นี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้เป็นประจำตลอดรัชกาล
17 พฤศจิกายน พ.ศ.2513 : 17 พฤศจิกายน กำเนิด "เม้าส์" ตัวแรกของโลก
เมาส์ถูกประดิษฐ์ขึ้นในปี 1963 โดย ผู้คิดค้นประดิษฐ์เม้าส์มีชื่อว่า ดร. ดักลาส คาร์ล อิงเกิลบาร์ต Douglas Carl Engelbart ที่สถาบันวิจัยสแตนฟอร์ด (Stanford Research Institute) หลังจากการทดสอบการใช้งานอย่างละเอียด (เมาส์เคยมีอีกชื่อนึงว่า “บัก” (bug) แต่ภายหลังได้รับความนิยมน้อยกว่าคำว่า “เมาส์”) มันเป็นหนึ่งในการทดลองอุปกรณ์ชี้ (Pointing Device) สำหรับ Engelbart's oN-Line System (NLS) ส่วนอุปกรณ์ชี้อื่นออกแบบมาเพื่อการเคลื่อนไหวในร่างกายส่วนอื่นๆ เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ติดกับคางหรือจมูก แต่ท้ายที่สุดแล้วเมาส์ก็ได้รับการคัดเลือกเพราะง่ายต่อการใช้งาน
เมาส์ตัวแรกนั้นมีขนาดใหญ่ และใช้เฟือง 2 ตัววางในลักษณะตั้งฉากกัน การหมุนของแต่ละเฟืองจะถูกแปลไปเป็นการเคลื่อนที่บนแกนในปริภูมิ 2 มิติ เองเกลบาทได้รับสิทธิบัตรเลขที่ US3541541 ในวันที่ 17 พฤศจิกายน ค.ศ.1970 ชื่อ X-Y Position Indicator((ตัวระบุตำแหน่ง X-Y สำหรับระบบแสดงผล) ในตอนนั้น ตั้งใจจะพัฒนาจนสามารถใช้เมาส์ได้ด้วยมือเดียว
เมาส์แบบต่อมาถูกประดิษฐ์ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 โดย บิล อิงลิช (Bill English) ที่ศูนย์วิจัยของบริษัท ซีรอกส์ (Xerox PARC) โดยแทนที่ล้อหมุนด้วยลูกบอลซึ่งสามารถหมุนไปได้ทุกทิศทาง การเคลื่อนไหวของลูกบอลจะถูกตรวจจับโดยล้อเล็กๆ ภายในอีกทีหนึ่ง เมาส์ชนิดนี้คล้ายๆ กับแทร็กบอล และนิยมใช้กับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลตลอดทศวรรษที่ 1980 และ 1990 ทำให้การใช้เมาส์และคีย์บอร์ดในเวลาเดียวกันสามารถเป็นจริงได้
เมาส์ในปัจจุบันได้รับรูปแบบมาจาก École polytechnique fédérale de Lausanne (EPFL) ภายใต้แรงบันดาลใจของ ศาสตราจารย์ Jean-Daniel Nicoud ร่วมกับวิศวกรและช่างนาฬิกาชื่อ André Guignard ซึ่งการดำเนินงานครั้งนี้ทำให้เกิดบริษัท โลจิเทค (Logitech) ผลิตเมาส์ที่ได้รับความนิยมสูงเป็นยี่ห้อแรก
18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2502 : ภาพยนตร์เรื่อง Ben-Hur เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ที่กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา
18 พฤศจิกายน พ.ศ.2502 ภาพยนตร์แนวอีพิกเรื่อง Ben-Hur ซึ่งเสนอเรื่องราววีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของเจ้าชายยิวในยุคคริสตกาล นำแสดงโดย ชาร์ลตัน เฮสตัน (Charlton Heston) เปิดฉายรอบปฐมทัศน์ที่กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลออสการ์มากที่สุดในประวัติศาสตร์คือ 11 รางวัล (จากการเสนอชื่อ 12 รางวัล)
18 พฤศจิกายน พ.ศ.2471 : ภาพยนตร์การ์ตูนประกอบเสียงเรื่องแรกของโลก Steamboat Willie ออกฉายรอบแรก
18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 Steamboat Willie หรือ วิลลี่เรือกลไฟ ภาพยนตร์การ์ตูนที่มีเสียงพูดเรื่องแรกของโลก และภาพยนตร์การ์ตูนประกอบเสียงและดนตรีเรื่องแรกของโลก สร้างโดย วอลท์ ดีสนีย์ ออกฉายรอบแรกที่กรุงนิวยอร์ค นำแสดงโดย มิกกี้ เม้าส์ ตัวการ์ตูนที่โด่งดังที่สุดของวอลท์ ดีสนีย์ และนับเป็นการปรากฏตัวบนจอภาพยนตร์ครั้งแรกของมิกกี้ เม้าส์ อีกด้วย
19 พฤศจิกายน พ.ศ.2036 : คริสตอเฟอร์ โคลัมบัส เป็นชาวยุโรปคนแรกที่ย่ำลงบนแผ่นดินเปอร์โตริโก
19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2036 (ค.ศ. 1493) คริสตอเฟอร์ โคลัมบัส กลายเป็นชาวยุโรปคนแรกที่ย่ำลงบนแผ่นดินเปอร์โตริโก
20 พฤศจิกายน พ.ศ.2340 : รัชกาลที่ 1 ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์วรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์
20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2340 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์วรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ เป็นเรื่องยาวเขียนลงสมุดไทยถึง 102 เล่ม จึงจบบริบูรณ์ ถ้าหากพิมพ์เป็นหนังสือขนาดแปดหน้ายกในปัจจุบัน จะหนาถึง 2,976 หน้า รามเกียรติ์นี้เป็นวรรณคดีเรื่องสำคัญของไทย มีต้นเค้ามาจาก "มหากาพย์รามยณะ" ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ จากอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู วรรณคดีเรื่องนี้มีหลักฐานเก่าแก่ที่สุดในเมืองไทยคือพบในสมัยอยุธยาแต่ยังไม่สมบูรณ์ เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิษกขึ้นครองราชเป็นต้นราชวงศ์จักรี ตอนนั้นบ้านเมืองยังระส่ำระส่าย หลังจากเพิ่งพ้นศึกสงคราม พระองค์จึงทรงเร่งฟื้นฟูปฏิสังขรบ้านเมืองด้วยการปรับปรุงศาสนา กฎระเบียบต่างๆ ประเพณี และโดยเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรม พระองค์ทรงใช้วรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์เป็นเครื่องมือในการฟื้นฟู
21 พฤศจิกายน พ.ศ.2410 : หนังสือแสดงกิจจานุกิจ หนังสือไทยเล่มแรกที่อธิบายความรู้ทางวิทยาศาสตร์ตีพิมพ์สำเร็จเป็นครั้งแรก
21 พฤศจิกายน พ.ศ.2410 หนังสือแสดงกิจจานุกิจ ตีพิมพ์สำเร็จเป็นครั้งแรก เป็นหนังสือไทยเล่มแรกที่อธิบายความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์และศาสนาอย่างทันสมัยที่สุด จัดพิมพ์โดย เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) เหตุที่ท่านจัดทำหนังสือเล่มนี้ เพราะเห็นว่าตำราไทยสมัยนั้นไม่มีสาระแก่นสาร ไม่ทำให้ผู้อ่านนำไปคิดต่อ ความรู้ในหนังสือไม่ทันสมัย ท่านจึงรวบรวมเอาสิ่งที่ขณะนั้นยังไม่ทราบกันมาตีพิมพ์ นอกจากนี้ท่านยังนำเสนอแก่นของพุทธศาสนาเพื่อเป็นการลบล้างการโจมตีพุทธศาสนาของหมอสอนศาสนาที่พยายามเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในประเทศไทย หนังสือเล่มนี้ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทั้งในหมู่คนไทยและต่างชาติ และมีผู้สนใจนำบางตอนไปแปลเป็นภาษาอังกฤษ ตีพิมพ์ที่กรุงลอนดอน เมื่อปี พ.ศ. 2413 (ค.ศ. 1870) โดยใช้ชื่อว่า เดอะ โมเดิน บุดดิสท์ (The Modern Buddhist) หนังสือเล่มนี้ได้รับการยกย่องในต่างประเทศ เป็นหนังสือสำคัญที่ให้ความรู้ด้านพุทธศาสนาและเกือบจะนับได้ว่าเป็นหนังสือเล่มแรกของไทยที่ได้มีการนำออกไปแปลและพิมพ์จำหน่ายในต่างประเทศ
24 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 : วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี
24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 วันประสูติ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพรรณวดี พระราชธิดาพระองค์เดียวในรัชกาลที่ 6 กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ขณะทรงพระเยาว์ได้ทรงพระอักษรและประทับรักษาพระอนามัย ณ ประเทศอังกฤษ กว่า ๒๐ ปี ก่อนจะเสด็จนิวัติประเทศไทยในปี 2502 และได้ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะด้านสังคมสงเคราะห์ โดยเสด็จออกเยี่ยมราษฎรตามหัวเมืองทั้งใกล้ไกล พร้อมพระราชทานพระอนุเคราะห์แก่ผู้ยากไร้อยู่เสมอ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้ทรงรับสถาบันและองค์กรต่างๆ ไว้ในพระอุปถัมภ์เป็นจำนวนกว่า ๓๐ แห่ง เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปการ วชิรพยาบาล กิจการลูกเสือ-เนตรนารี ตลอดจนการสังคมสงเคราะห์อื่นๆ
24 พฤศจิกายน พ.ศ.2402 : ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษตีพิมพ์หนังสือ On the Origin of Species
24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2402 ชาร์ลส์ ดาร์วิน (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ตีพิมพ์หนังสือ "On the Origin of Species"ซึ่งเป็นหนังสือที่เขาอธิบายถึงทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ซึ่งเป็นผลจากการศึกษาธรรมชาติจากหมู่เกาะกาลาปากอส เนื้อหาพูดถึงทฤษฎีวิวัฒนาการ ซึ่งดาร์วินเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายเกิดขึ้นตามธรรมชาติและวิวัฒนาการเพื่อดำรงชีวิตรอด ผ่านทางการคัดเลือกโดยธรรมชาติ คือสิ่งมีชีวิตจะต้องต่อสู้ดิ้นรนกับสภาพธรรมชาติรอบตัว สิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงก็จะมีชีวิตรอด แนวคิดนี้ได้ทำลายความเชื่อดั้งเดิมที่ว่ามนุษย์เกิดมาจากพระเจ้า หนังสือเล่มนี้ได้รับความสนใจจนจำหน่ายหมด หลังจากวางแผงไม่นาน ทั้งจากกลุ่มที่นิยมวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและกลุ่มที่ปฏิเสธการมีอยู่ของพระเจ้า
26 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 : พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต
26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคต เวลา 1.45 น. ของเช้าวันที่ 26 พฤศจิกายน ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ด้วยพระโรคพระอันตะ (ลำไส้) หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นรัชกาลที่ 7 สืบสนองพระองค์สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช ตลอดสมัยรัชกาลที่ 6 พระองค์ได้สร้างผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครไว้เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ในปี 2524 องค์การยูเนสโกได้ยกย่องพระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก
27 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 : พิธีเปิด เขื่อนสิรินธร
27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เสด็จทรงเปิด "เขื่อนสิรินธร" หลังจากที่เริ่มก่อสร้างในปี 2510 เขื่อนสิรินธรเป็นเขื่อนประเภทหินถมแกนดินเหนียว สร้างปิดกั้นแม่น้ำลำโดมน้อยสาขาของแม่น้ำมูล ที่บริเวณแก่งแซน้อย ตำบลช่องเม็ก อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี มีความสูง 42 เมตร ยาว 940 เมตร สันเขื่อนกว้าง 7.5 เมตร อ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ประมาณ 288 ตารางกิโลเมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ 1,966.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับกักเก็บน้ำสูงสุด 142.2 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ความสามารถในการผลิตไฟฟ้า 90 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง สามารส่งน้ำไปใช้ในระบบชลประทานในพื้นที่ 152,200 ไร่ ข้อมูลข้างต้นคือข้อมูลจากภาครัฐ หากแต่ความจริงอีกด้าน เขื่อนแห่งนี้ได้สร้างปัญหาต่างๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นการเวนคืนที่ดินซึ่งชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม ผู้สูญเสียที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัย ต้องอพยพจากถิ่นฐานเดิม 6,000 คน จาก 1,270 ครอบครัว ซึ่งส่วนหนึ่งยังไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อมาชุมนุมเรียกร้องก็ถูกทางการเข้าสลายการชุมนุมเช่นเดียวกับชาวบ้านที่ปากมูล
28 พฤศจิกายน พ.ศ.2063 : กองเรือของโปรตุเกสค้นพบมหาสมุทรแปซิฟิก
28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2063 กองเรือของโปรตุเกส ภายใต้การควบคุมของ เฟอร์ดินานด์ มาเจแลน (Ferdinand Magellan) เป็นชาวยุโรปกลุ่มแรกที่ค้นพบ มหาสมุทรแปซิฟิก (Pacific Ocean) โดยแล่นเรือจากมหาสมุทรแอทแลนติกผ่านทางช่องแคบอเมริกาใต้ แล้วมาพบกับมหาสมุทรกว้างใหญ่อีกแห่งที่คลื่นลมสงบมาก จนเขาตั้งชื่อว่า Pacific ซึ่งมาจากภาษาละตินแปลว่า ความสงบ-สันติ
29 พฤศจิกายน พ.ศ.2472 : ริชาร์ด อีเวลิน ไบรด์ นักบินชาวอเมริกันสามารถขับเครื่องบินถึงขั้วโลกใต้ได้เป็นครั้งแรก
29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 ริชาร์ด อีเวลิน ไบรด์ (Richard Evelyn Byrd) นักบินชาวอเมริกัน สามารถขับเครื่องบินถึงขั้วโลกใต้ได้เป็นครั้งแรก ด้วยเครื่องบินปีกคู่ NC-4 โดยบินจาก Ross Ice Shelf ไปถึงขั้วโลก แล้วบินกลับ ใช้เวลา 18 ชั่วโมง 41 นาที
30 พฤศจิกายน พ.ศ.2417 : วันเกิด วินสตัน เชอร์ชิลล์ รัฐบุรุษของอังกฤษ
30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2417 วันเกิด วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Sir.Winston Churchill) รัฐบุรุษของอังกฤษ ผู้นำพาประเทศผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เชอร์ชิลล์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีวาระแรกระหว่างปี 2483-2488 โดยได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังจากเยอรมนีบุกฝรั่งเศส เขาเป็นผู้นำสหราชอาณาจักรฝ่าวิกฤตสงครามโลกครั้งที่สองได้อย่างเข้มแข็ง และเป็นหนึ่งในผู้นำที่สำคัญของฝ่ายสัมพันธมิตร ร่วมกับประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลท์ แห่งสหรัฐอเมริกา และโจเซฟ สตาลิน ผู้นำของสหภาพโซเวียต เชอร์ชิลล์กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้งในปี 2494 ก่อนจะลาออกเมื่อปี 2498 นอกจากนี้เขายังเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ โดยเขาได้รับรางวัลโนเบลสาขา วรรณกรรม ในปี พ.ศ. 2496 อีกด้วย
30 พฤศจิกายน พ.ศ.2378 : วันเกิด มาร์ค ทเวน นักเขียนชาวอเมริกัน
30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2378 วันเกิดแซมมวล แลงฮอร์น คลีเมนซ์ (Samuel Langhorne Clemens) นักเขียนชาวอเมริกันเจ้าของนามปากกา มาร์ค ทเวน (Mark Twain) ผลงานที่มีชื่อเสียงคือวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง การผจญภัยของทอม ซอว์เยอร์ (The Advanture of Tom Sawyer) ได้รับการขนานขามว่าเป็นยอดแห่งวรรณกรรมเยาวชนของอเมริกา และเรื่อง การผจญภัยของฮักเคิล เบอร์รี ฟินน์ (The Advanture of Huckleberry Finn) ซึ่งเป็นภาคต่อจากทอม ซอว์เยอร์ ผลงานของมาร์ค ทเวนล้วนแต่เป็นผลจากการใช้ชีวิตของเขา ทั้งคนขับเรือกลไอน้ำ นักขุดทอง และนักหนังสือพิมพ์ วิลเลียม ฟอล์คเนอร์ (William Faulkner) ได้เขียนถีงมาร์ค ทเวน ไว้ว่าเขาเป็น "นักเขียนอเมริกันแท้ๆ คนแรก และพวกเรานับแต่นั้นมาเป็นทายาทของเขา"