จุดกำเนิดเสด็จประพาสต้น

การปลอมพระองค์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ ไปเยี่ยมเยียนราษฎรของพระองค์อย่างใกล้ชิดอย่างไม่ถือพระองค์นั้น นำความปลาบปลื้มมาสู่พสกนิกรชาวไทยทั่วหน้าโดยเฉพาะราษฎรที่อยู่ตามหัวเมืองต่างๆ เพราะเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ทรงให้ความใกล้ชิดกับราษฎรอย่างแท้จริง อันเป็นหนึ่งในเหตุผลของสมัญญานามที่ได้รับว่า ทรงเป็น “พระปิยมหาราช” การเสด็จประพาสต้นของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ นี้ มีสาเหตุด้วยกันสองประการ
 
คือทรงไม่ค่อยสบายพระวรกาย เนื่องจากทรงตรากตรำทำงานโดยแทบจะไม่มีเวลาพักนั้นประการหนึ่ง ประการที่สอง ทรงได้รับคำกราบทูลแนะนำให้งดพระราชกิจสักพักหนึ่ง เพื่อจะได้ผ่อนคลายความวิตกกังวลในเรื่องต่างๆ ดังที่ ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ กล่าวไว้ในหน้า ๒๙ ในหนังสือ ร.๕ กับกรุงสยามว่า “ควรปลอมพระองค์ในการประพาสต้นเพื่อพักผ่อนรักษาพระองค์ตามคำกราบทูลของนายแพทย์ โดยจะต้องประพาสไปให้พ้นจากความรำคาญ อย่าให้ต้องเป็นพระราชธุระในราชกิจอย่างใดทั้งสิ้น เป็นระยะเวลาสักคราวหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระดำริชอบด้วยตามคำแนะนำของหมอ และความคิดเห็นของพระบรมวงศานุวงศ์”
 
หรือที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงบันทึกไว้ในจดหมายฉบับที่ ๑ หน้า ๑ ว่า “เหตุที่จะเสด็จประพาสต่อไปในคราวนี้ได้ทราบว่า เมื่อก่อนจะเสด็จขึ้นมาบางปะอิน พระเจ้าอยู่หัวไม่ใคร่จะทรงสบาย หมายจะเสด็จฯ ขึ้นมาพักรักษาพระองค์ตามเคย ก็มีพระราชกังวลและพระราชกิจติดตามขึ้นมา หาเวลาพักไม่ใคร่ได้ จึงไม่ทรงสบายมากไป เสวยไม่ได้และบรรทมไม่หลับทั้งสองอย่าง หมอเห็นว่าจะต้องเสด็จประพาสเที่ยวไปให้พ้นความรำคาญ อย่าให้เห็นพระราชธุระในราชกิจอย่างใดๆ เสียสักคราวหนึ่ง จึงจะรักษาพระองค์ให้ทรงสบายได้ดังเก่าโดยเร็ว”
 
การเสด็จประพาสเช่นนี้ หรือที่เรียกว่ากันว่า “ประพาสต้น” มีลักษณะที่สำคัญ คือ
 
๑. เป็นการประพาสโดยไม่โปรดให้มีการจัดการรับเสด็จรายทางเป็นทางการ
 
๒. ไม่มีท้องตราสั่งหัวเมืองให้จัดทำที่ประทับแรม
 
๓. พระเจ้าอยู่หัวทรงพอใจจะเสด็จฯ ที่ใด บรรทมที่ใด เสวยอะไรได้ดังพระประสงค์ ไม่มีหมายกำหนดการล่วงหน้า
 
๔. ทรงมีพระประสงค์ที่จะไม่แสดงพระองค์ให้คนรู้จัก
 

ภาพเรือหางแมงป่อง หรือ "เรือต้น" พาหนะหลักที่ใช้ในการเสด็จประพาสต้นของรัชกาลที่ ๕
 
๕. ส่วนใหญ่เป็นการเสด็จประพาสทางเรือที่ใช้เรือธรรมดาๆ  เช่นเรือมาด ๔ แจว ๖ แจว ในตอนแรกเพียงไม่กี่ลำ ในภายหลังจึงมีเรือยนต์มาเพิ่มเติม บางครั้งมีการเสด็จประพาสทางรถไฟผสมผสานด้วย โดยปลอมปนไปกับราษฎรที่โดยสารรถไฟไปโดยไม่ให้มีใครทราบ ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ บันทึกไว้ในหน้า ๓ ว่า “๒๐ กค เสด็จรถไฟชั้นที่ ๓ ประทับปะปนไปกับราษฎร เพื่อให้ทราบว่าราษฎรอาศัยไปมากันอย่างไร เสด็จฯโดยรถไฟไปลงที่โพธารามหาเสวยเย็นที่นั่น แล้วหาเรือล่องกลับลงมาเมืองราชบุรี” สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบายถึงขบวนเสด็จประพาสต้นที่ไม่ใช่กระบวนเรือหลวงอย่างปกติไว้ในหน้า ๙๔ ว่า “การเสด็จประพาสต้นครั้งนั้น จึงมิเสด็จฯ โดยกระบวนหลายหลวงอย่างเคยเสด็จฯ เลียบมณฑลมาแต่ก่อน มีแต่เรือพลับพลาพ่วงเรือไฟไป ถ้าจะประทับแรมที่ไหนก็จอดเรือพลับพลาประทับแรมที่นั่น ไม่ให้ปลูกพลับพลาฝาเลื่อน แต่ถึงกระนั้นมีเรือพลับพลาลำด้วยกันและเป็นเรือขึ้นไปจากกรุงเทพฯ เมื่อกระบวนเรือพลับพลาผ่านไปทางไหน ผู้คนก็รู้ว่าเป็นกระบวนเสด็จฯ ที่ตามวัดพระสงฆ์ก็ลงสวดถวายไชยมงคล ตามบ้านเรือนราษฎรก็แต่งตั้งเครื่องบูชารับเสด็จฯ ตลอดทาง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสว่า เสด็จฯ ในเรือพลับพลาไม่เห็นแปลกอันใดกับเสด็จเลียบมณฑลอย่างแต่ก่อน ไม่สมกับที่เสด็จฯ ไปเที่ยวประพาสเพื่อแต่สำราญพระราชหฤทัยอย่างเดียว จึงทรงพระราชดำริให้จัดกระบวนใหม่ เรียกในพวกที่ตามเสด็จฯ ว่า “กระบวนประพาสต้น” คือทรงเรือมาดเก๋ง ๔ แจว อย่างเช่นที่ข้าราชการใช้กันลำหนึ่ง พ่วงเรือไฟเล็กไปแต่ ๒ ลำ เวลาเข้าปล่อยกระบวนเรือพลับพลาให้ตรงไปยังที่ประทับแรม เสด็จฯในกระบวนประพาสต้นแต่โดยลำพังตามหลังกระบวนเรือพลับพลาไปห่างๆ บ้าง บางทีก็แยกไปคนละทาง เสด็จฯไปพบที่ไหนเหมาะดังเช่นวัดหนึ่งวัดใด ซึ่งมีศาลาร่มรื่นรโหฐานก็จอดแวะเรือพระที่นั่งขึ้นไปประทับทำเครื่องเสวยเวลากลางวัน เสวยแล้วจึงเสด็จฯ ลงเรือประพาสต้น ตามไปยังเรือพลับพลาแรมในเวลาเย็นๆ เสด็จประพาสอย่างนี้ทุกวันไม่บอกให้ผู้ใดทราบ ผู้คนตามระยะทางจึงเข้าใจว่าเสด็จฯ ในกระบวนเรือพลับพลา เวลาเรือกระบวนประพาสต้นไปที่ไหน ก็ไม่มีใครใคร่รู้จัก ได้ทอดพระเนตรเห็นการงานของราษฎรที่เป็นอยู่ในพื้นเมือง โดยมิได้เตรียมรับเสด็จฯ และบางทีก็สนทนากับราษฎรได้ทรงทราบกิจสุขทุกข์ที่เขากราบทูล โดยเขาสำคัญว่าบอกเล่าแก่คนสามัญเกิดประโยชน์ประจักษ์แจ้งแก่พระราชหฤทัยขึ้นด้วยอีกประการหนึ่ง จึงพอพระราชหฤทัยในการที่เสด็จฯ อย่างประพาสต้นยิ่งกว่าเสด็จฯ โดบกระบวนหลวง”
 
๖. ในด้านเสบียงอาหาร ผู้ที่ตามเสด็จฯ ในขบวนจะคอยจัดหาอาหารเครื่องครัวไปทำเลี้ยงกันเองในตอนแรก ดังเช่นที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ได้บันทึกไว้ในหน้า ๑๒ ว่า “จึงตกลงกะการให้มีเครื่องครัวปัจจุบันติดไปในเวลาเสด็จประพาสต้น คือมีหม้อข้าว เตาไฟ ถ้วยชามและเครื่องครัวบรรทุกไปในเรือมหาดเล็ก กำหนดว่าให้ถึงตลาดจะมีที่ซื้อเสบียงอาหาร และไปหาที่ครัวเลี้ยงกันในระยะทางทุกโอกาสที่จะมีจะทำได้” และทรงเล่าต่อว่า หน้าที่ในการครัวนี้ก็มักจะช่วยกันทำตามความถนัดในหมู่ผู้ที่ตามเสด็จด้วยกัน ดังที่บันทึกว่า “ใครทำกับข้าวของกินเป็นก็มีหน้าที่เป็นหน้าเตาสำหรับทำกับข้าวกิน ที่หุงข้าวดีเป็นพนักงานหุงข้าว” ต่อมาภายหลังจึงโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มเรือสำหรับหุงหาอาหารรับผิดชอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ พระกระยาหารที่เสวย ก็เสวยเหมือนกันกับผู้ตามเสด็จฯ หรือแล้วแต่มีผู้จัดถวายจากเรือนชานที่ต้อนรับพระองค์ บางครั้งถึงกับเสวยด้วยมือเปล่าก็มี อาหารที่เสวย เช่น น้ำพริก ปลาแห้ง ปลาทู แกงไก่
 

ภาพขบวนเรือเสด็จประพาสต้น ณ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์
 
๗. ในการเสด็จประพาสต้นนี้มีผู้ร่วมตามเสด็จฯ หรือบางคนเรียก “เพื่อนเที่ยว” อยู่หลายพระองค์ และหลายท่าน บุคคลสำคัญที่สุดพระองค์หนึ่งก็คือ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ (พระยศในขณะนั้น) ผู้ทรงเล่าเรื่องเสด็จประพาสต้นในทำนองจดหมายเหตุโดยใช้พระนามแฝงว่า “นายทรงอานุภาพ” ที่เขียนจดหมายเล่าเหตุการณ์ถึง “พ่อประดิษฐ์” พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ กรมหลวงสรรพาตรศุภกิจ และจมื่นเสมอใจราช ผู้ดำรงยศในขณะนั้นเป็นหลวงศักดิ์นายเวร ผู้มีนามว่า “อ้น” ล้วนแต่เป็นเพื่อนเที่ยวหรือผู้ตามเสด็จฯ ใกล้ชิด ในบางครั้งก็มีพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าลูกเธอ และฝ่ายในติดตามเช่น พระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช สมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรีฯ กับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร แม้กระทั่งเจ้าจอมก๊กออบางท่านก็ยังได้ตามเสด็จประพาสต้นในบางคราวด้วย มีเจ้าจอมเอี่ยม เจ้าจอมเอิบ และเจ้าจอมเอื้อน เป็นต้น เพื่อนเที่ยวต่างก็มีหน้าที่แบ่งๆ กันไป เช่นพนักงานพาหนะ พนักงานการครัว พนักงานกองล้างชาม ซึ่งมีหน้าที่หลายอย่าง นับตั้งแต่ตรวจหาสถานที่ว่าที่ใดเหมาะที่จะทำครัว และเลี้ยงอาหารได้และยังมีหน้าที่อื่นๆ อีก ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงอธิบายไว้ในหน้า ๑๓ ว่า “คือในกองนี้มีสบู่ แปรงผ้าสำหรับเช็ด และส้มสำหรับฟอก จัดลงไว้ในหีบซึ่งเที่ยวซื้อเอาตามตลาดเหมือนกับหีบปิกนิกเป็นเครื่องมือสำหรับตัว พอจอดเรือเข้าไปพนักงานกองล้างชามก็ต้องขึ้นก่อน เที่ยวหาโอ่งอ่างและน้ำสำหรับใช้ให้พอการ ครั้นได้ที่แล้วต้องลงมือล้างถ้วยชาม ฟอกด้วยสบู่ให้สะอาดหมดคาว และเรียบเรียงไว้จ่ายแก่พวกหน้าเตาให้ทันต้องการใส่กับข้าว ล้างชามเสร็จแล้วคราวนี้ต้องปูพรมตั้งกระโถนคนทีและยกกับข้าวไปเรียบเรียง เสร็จแล้วพนักงานล้างชามยังมีหน้าที่ที่จะต้องเชื้อเชิญบริษัทให้พร้อมกันมาบริโภคอาหารจึงเป็นเสร็จธุระ” การเสด็จประพาสต้นนั้นมีอยู่ด้วยกันสองครั้งในปี พ.ศ. ๒๔๔๗ ทรงเริ่มต้นจากบางปะอิน เสด็จฯ ไปราชบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ซึ่งในครั้งนี้มีเจ้าจอมก๊กออตามเสด็จฯ ด้วย ส่วนในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ ทรงประทับเรือพระที่นั่งจากกรุงเทพฯ ไปนนทบุรี ปทุมธานี อยุธยา สระบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ กำแพงเพชร และหลังจากนั้นก็เสด็จฯ ไปหัวเมืองอีกหลายครั้ง โดยประทับรถไฟและเรือพระที่นั่ง การเสด็จฯ หัวเมืองเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้คำที่ลงท้ายด้วย “ต้น” อยู่หลายคำด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ประพาสต้น เพื่อนต้น เครื่องต้น เรือต้น หรือแม้กระทั่งช้างต้น ม้าต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่มีที่มาที่ไปจากการเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้ทั้งสิ้น พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ ในหนังสือประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕ ให้คำนิยามของประพาสต้นในหน้า ๑๓-๑๔ ว่า “พระองค์โปรดการเสด็จประพาสไปตามหัวเมืองต่างๆ ในพระราชอาณาจักร  เพื่อทรงเยี่ยมเยือนอาณาประชาราษฎร์ และดูสภาพของบ้านเมืองทั้งที่เป็นการเสด็จประพาสตรวจราชการหัวเมืองอย่างเป็นทางการ และพระองค์โปรดที่จะเสด็จฯ อย่างสามัญชนเที่ยวเล่น โดยไม่ให้มีท้องตราสั่งหัวเมืองให้จัดที่ประทับแรมหรือเตรียมการอะไร สุดแต่พระองค์พอพระราชหฤทัยที่จะประทับที่ไหนก็ประทับที่นั่น บางครั้งพระองค์เสด็จฯ ทางเรือเล็ก หรือเสด็จฯโดยสารทางรถราง รถไฟ มิให้ใครรู้จักพระองค์ ทำให้มีเรื่องราวสนุกสนานที่เล่าขานกันในหมู่เพื่อนเที่ยว การเสด็จอย่างไม่ทางการครั้งนั้นเรียกกันว่าเสด็จประพาสต้น” หรือสมเด็จกรมพระดำรงฯ ในหนังสือเสด็จประพาสต้นหน้า ๙ บันทึกไว้ว่า “แต่วันนี้กว่าจะเสด็จฯ กลับมาถึงเมืองราชบุรีเกือบยามหนึ่ง ด้วยต้องทวนน้ำเชี่ยวมาก เหนื่อยหอบมาตามกัน เริ่มเรียกการประพาสวันนี้ว่า ประพาสต้น และเป็นมูลเหตุที่เรียกการประพาสไปรเวตในวันหลังๆ ว่า ประพาสต้นต่อมา” 
 

ภาพฝีพระหัตถ์ทรงถ่ายคราวเสด็จประพาสต้น ที่วัดพรหมเทพาวาส จังหวัดสิงห์บุรี
 

ภาพฝีพระหัตถ์ทรงถ่ายคราวเสด็จประพาสต้น ที่ศาลากลางจังหวัดอ่างทอง
ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นก่อนการเสด็จประพาส
ซึ่งศาลากลางหลังนี้ยังคงปรากฏอยู่จนปัจจุบันนี้
 
ที่มาของ “เรือต้น” นั้นเริ่มจากการทรงเรือมาด ๔ แจว เป็นเรือพระที่นั่งและทรงหาซื้อเรือสำหรับตามเรือพระที่นั่งอีกลำหนึ่ง และได้เรือมาดประทุน ๔ แจว แถวๆ วัดเพลงมาอีกลำ ซึ่งมีที่มาได้หลายประการอยู่ ประการแรกอาจหมายถึงเรือเครื่องต้น ประการที่สองอาจหมายถึงเรือต้นในกาพย์เห่เรือที่ว่า “ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย”  ประการที่สามคือที่มาจากชื่อคน หลวงนายศักดิ์ที่ตามเสด็จประพาสนั้นมีหน้าที่คุมเครื่องมหาดเล็กตามเสด็จ และท่านมีชื่อตัวว่า  “อ้น นรพัลลภ” เวลาล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ ทรงมีรับสั่งจะเรียก “ตาอ้น” เรือลำนี้จึงหมายถึง “เรือตาอ้น” เมื่อออกเสียงเรียกเร็วๆ เรือตาอ้นจึงเพี้ยนไปเป็นเรือต้น ซึ่งต่อมาได้นำมาเรียกเรือมาด ๔ แจว ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งที่ใช้เสด็จประพาสเช่นนี้ว่า เรือต้น ที่ใช้เสด็จประพาสต้น ขบวนเรือที่ใช้เสด็จประพาสต้นประกอบไปด้วย เรือกลไฟที่ใช้จูง เรือทรงที่มักเป็นเรือมาด ๔ แจว หรือ ๖ แจว เรือเครื่องและเรือพายเล็ก ภายหลังที่เสด็จกลับจากยุโรปใช้เรือยนต์ในการนี้ด้วย จึงทำให้คนผิดสังเกตรู้ล่วงหน้าว่าจะเสด็จที่ไหนมากกว่าครั้งก่อนๆ ส่วนคำว่า “เครื่องต้น” หมายถึง การแต่งตัวตามสบายอย่างราษฎรสามัญ เป็นการแต่งตัวที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ แต่งฉลองพระองค์แบบเรียบง่ายหลวมๆ ตลอดเวลาที่เสด็จประพาส และทรงเรียกเครื่องทรงชนิดนี้ว่า “เครื่องต้น” ดังที่ พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ ในหนังสือประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕ หน้า ๓๕ ได้อ้างถึงพระราชหัตถเลขาไว้ ความว่า “รูปทรงเครื่องต้น พระราชทานหลวงศักดิ์ นายเวรต้นผู้ที่ได้ตามเสด็จต้น และเป็นต้นเหตุต้นไว้ใต้พระบรมรูปแล้ว พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยกำกับไว้ด้วย” เพื่อนต้น คือราษฎรที่ทรงคุ้นเคยด้วยกันในเวลาที่เสด็จประพาสต้น มีทั้งชายและหญิง พลาดิศัย สิทธิธัญกิจในหนังสือประพาสต้นในรัชกาลที่ ๕ หน้า ๗๐ ให้ความหมายของเพื่อนต้นว่า “เพื่อนต้น คือพวกคฤหบดี และราษฎรที่ได้ทรงคุ้นเคยเป็นที่ชอบพระราชอัธยาศัย มีอยู่แทบทุกมณฑลที่ได้เสด็จและประพาส พวกนี้ทุกๆ คนย่อมมีความสวามิภักดิ์ หมั่นมาเฝ้าแหน และเวลามีการงานอันเป็นโอกาส เช่นทางบำเพ็ญพระราชกุศล ก็พากันมาช่วยงานไม่ใคร่ขาด” เพื่อนต้นที่เด่นๆ ก็มี (เจ็กฮวด) นายฮวด และยายผึ้ง ผู้ที่ได้ต้อนรับพระองค์ด้วยอาหารง่ายๆ ที่ปรุงไว้สำหรับครอบครัวในตอนเย็น บ้านเจ๊กฮวดไม่ใช้ช้อนส้อมพระองค์ก็มิได้รังเกียจ ตรัสว่าทรงใช้มือเปิปข้าวก็ได้ ก่อนกลับก็ได้พระราชทานเงินให้ไว้ ๑๐๐ บาท และโปรดให้นายฮวดยกฐานะเป็นมหาดเล็กเรือนนอก นายฮวดได้มีโอกาสเฝ้าล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ อีกสองสามคราว คือคราวที่ยายผึ้งมารดาถึงแก่กรรม และคราวที่เสด็จประพาสเพชรบุรีและนายฮวดนำมะม่วงไปถวายทรงให้เงินพระราชทานนายฮวดทั้งสองครั้ง
 

ภาพฝีพระหัตถ์ทรงถ่ายครอบครัวของหมื่นปฏิพัทธ์ภูวนาท (นายช้าง)
ผู้เอ่ยปากฝากซื้อปืนเมาเซอกับล้นเกล้า ร.๕ ด้วยเข้าใจว่าทรงเป็นขุนนางตามเสด็จฯพระเจ้าแผ่นดิน
 
ด้วยสิทธิพิเศษของการเป็นเพื่อนต้น เมื่อล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต นายฮวดได้รับพระบรมราชานุญาต (ทรงสั่งไว้ก่อนเสด็จสวรรคต) ให้เข้าไปกราบถวายบังคมพระบรมโกศได้เป็นพิเศษ เพื่อนต้นอีกท่านหนึ่งที่มีชื่อกล่าวขวัญเป็นพิเศษคือนายช้างและอำแดงพลับ ที่คลองบางหลวงผู้ซึ่งคิดว่าพระองค์เป็นขุนนางในล้นเกล้าฯ ตอนที่เสด็จถึงบ้านนายช้างนั้นเป็นช่วงที่ทรงหาที่ทำครัวพอดี บ้านนายช้างเลยเป็นที่เสด็จร่วมทำครัวกับเจ้าของบ้านด้วย มิหนำซ้ำนายช้างถึงกล้าเอ่ยปากฝากซื้อปืนเมาเซอกับล้นเกล้า ร.๕ เสียอีก ภายหลังนายช้างได้รับพระราชทานยศศักดิ์เป็นถึงหมื่นปฏิพัทธ์ภูวนาท โปรดพระราชทานเงินเป็นพิเศษ แก่เพื่อนต้นของพระองค์ทั้งเจ๊กฮวดและนายช้างก่อนจะเสด็จกลับ เพื่อนต้นเหล่านี้ยังได้รับสิทธิพิเศษหลายอย่างต่อมา เช่น ได้รับของฝากจากยุโรปและโปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าที่กรุงเทพฯได้ โดยเฉพาะหลังจากที่ทรงสร้าง “เรือนต้น” เรือนทรงไทยที่ริมอ่างหยกใกล้ๆ พระที่นั่งวิมานเมฆ พระองค์โปรดรับรองและจัดงานเลี้ยงแก่เพื่อนต้นของพระองค์ท่านที่นี่ โดยทรงปรุงพระกระยาหารด้วยพระองค์เองเลี้ยงเพื่อนต้นด้วย ดังคำสัมภาษณ์ หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล โดย ส.ศิวรักษ์ หน้า ๑๒๙ “งานขึ้นเรือนต้น แบบพิศดาร แม้แต่พระเจ้าแผ่นดินก็เสด็จในโรงครัว ปรุงแกงอะไรต่ออะไร พวกเพื่อนต้นก็ได้มากินเหมือนกัน กินที่เฉลียงอัฒจันทร์เรือนต้น ตาช้างยายพลับอะไรนี่ได้มาเหมือนกัน” สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพในเสด็จประพาสต้นหน้า ๓๓ ทรงเล่าถึงสิทธิพิเศษที่เพื่อนต้นเหล่านี้ได้รับจากพระเจ้าอยู่หัวของพวกเขา “ใช่แต่เท่านั้น บรรดาราษฎรที่ได้เสด็จไปทางคุ้นเคยในเวลาเสด็จประพาส พระองค์มิทรงละลืม ในเวลาต่อมาเมื่อคนเหล่านั้นเข้ามาถึงกรุงเทพฯ จะเข้าไปเฝ้าแหน ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานโอกาสให้เข้าเฝ้าได้ตามความปรารถนา บางทีถึงรับสั่งให้เข้าไปรับพระราชทานเลี้ยงในพระราชวัง รับสั่งเรียกพวกที่คุ้นเคยเหล่านี้ว่าเป็นเพื่อนต้น มีอยู่ทั้งชายหญิงแทบทุกหัวเมืองที่ได้เสด็จประพาส” เมื่อครั้งเสด็จยุโรป ร.ศ. ๑๒๖ ได้ทรงหาของฝากมีไม้เท้าเป็นต้น เข้ามาฝากเพื่อนต้น เมื่อพวกเหล่านั้นทราบว่าเสด็จกลับ เข้ามาเฝ้าเยี่ยมก็ได้พระราชทานของฝากไม้เท้าพระราชทานแลเป็นเครื่องยศสำหรับพวกเพื่อนต้นถือเข้าเฝ้า ทั้งเวลาเข้ามาเฝ้าในกรุงเทพฯ และเฝ้าตามหัวเมือง เวลาเสด็จประพาสไม่ว่าที่ใด เมื่อพระองค์เสด็จสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันนี้ ทรงเคารพต่อพระรราชนิยมของสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้พวกเพื่อนต้นเข้ามาทำบุญให้ทานในงานพระบรมศพและถวายพระเพลิงเหมือนกับเป็นข้าราชการ และยังพระราชทานเครื่องประดับไม้เท้าสลักอักษรพระนามจปร ให้ติดไว้เป็นที่ระลึก ทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เฝ้าแหนเพ็ดทูลพระองค์ได้ต่อไป เหมือนกับเมื่อครั้งสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทุกประการ 
 
พระมหากรุณาธิคุณที่เสด็จประพาสต้นเยี่ยมเยียนสารทุกข์สุขดิบของราษฎรได้ทราบถึงความเดือดร้อน ข้อกราบทูลร้องทุกข์จากตัวเจ้าทุกข์เอง นับเป็นประโยชน์สุขแก่ราษฎรตามหัวเมืองที่เสด็จไปอย่างที่มิเคยมีกษัตริย์ใดทรงทำมาก่อน พระมหากรุณาธิคุณนี้จึงตราตรึงอยู่ในดวงใจของชาวไทยสืบไป.
 
ข้อมูลจากหนังสือ เซนส์แอนด์ซีน หน้า 58-63