-
Category: เรื่องเก่า เล่าอดีต
-
Published on Thursday, 24 November 2016 03:17
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 8240
นับแต่โบราณมา คนเรานิยมตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำหรือใกล้น้ำกันเป็นส่วนมาก ไม่เฉพาะแต่คนไทยเท่านั้น แม้ทุกชาติทุกภาษาก็เป็นเช่นนี้ ทั้งนี้เพื่อสะดวกแก่การดำรงชีพ ด้วยน้ำเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งของมนุษย์ เป็นทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภค และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ แม่น้ำยังเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ ด้วยการเดินทางบกตามถนนก็มี แต่ไม่สะดวกและเจริญอย่างปัจจุบัน เพราะดินแดนที่อยู่ลึกจากทางน้ำเข้าไปเมื่อออกนอกเมืองแล้วมักจะเป็นป่าทึบเสียเป็นส่วนมาก เต็มไปด้วยอันตรายทั้งจากโจรผู้ร้ายและสัตว์ป่าที่ดุร้าย ด้วยเหตุนี้คนจึงนิยมเดินทางทางน้ำกัน ทั้งการติดต่อสื่อสารและการค้าขาย พาหนะทางน้ำคือ เรือ จึงเป็นพาหนะที่สำคัญ สามารถบรรทุกสิ่งของได้มากและเสียค่าใช้จ่ายน้อย จึงมีการต่อเรือให้มีขนาดและแบบต่างๆ เพื่อความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ที่จะนำมาใช้ในวิถีชีวิต ดังนั้นจึงเห็นว่ามีเรือหลายแบบเพื่อใช้ประโยชน์ในการต่างๆ เช่น เรือบด เรือแจว เรือเป็ด เรือฉลอม เรือแซ เรือเอี่ยมจุ้น เรือสำปั้น เรือสำเภา เป็นต้น เรือเหล่านี้ล้วนแต่นำมาใช้ในการต่างๆ กัน เช่น ใช้สัญจรไปมา ใช้บรรทุกของไปขาย และเป็นเรือรบเพื่อป้องกันข้าศึกและลำเลียงยุทโธปกรณ์ ดังนั้นเรือแต่ละประเภทจะมีการประดับตกแต่งเพื่อความสวยงามด้วย
การประดับตกแต่งเรือก็ขึ้นอยู่กับลักษณะหน้าที่ของเรือและฐานะของผู้เป็นเจ้าของเรือด้วย ส่วนมากแล้วเรือของราษฎรจะมีลักษณะเรียบง่ายไม่ตกแต่งลวดลายมากนัก แต่เรือของเจ้านายและขุนนางชั้นสูงมักจะได้รับการตกแต่งหรือต่อขึ้นอย่างงดงามวิจิตรบรรจง เพื่อแสดงถึงฐานะของผู้ใช้หรือเจ้าของ
เรือนั้นนอกจากจะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันแล้ว ในสมัยโบราณเรือยังถูกนำมาใช้ในการประกอบพระราชพิธีตามความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ เช่น พิธีอาศยุช ที่ทำกันในเดือน ๑๑ อันเป็นพิธีสังเวยพระนารายณ์ (วิษณุ) ปางเกษียรสมุทรและพระลักษมี คือ เรือพระที่นั่งชัยเฉลิมธรณินกับเรือพระที่นั่งชัยสินธุพิมาน พิธีจองเปรียงหรือสมัยใหม่เรียกว่าประเพณีลอยกระทง
สำหรับประเพณีทางพระพุทธศาสนา การบำเพ็ญบุญเนื่องในเทศกาลออกพรรษาเดือน ๑๑ คือ การทอดกฐินถือว่าเป็นการทำบุญที่สำคัญยิ่งงานหนึ่งของพุทธศาสนิกชน การทำบุญในงานนี้จึงจัดขบวนกันใหญ่โต ถ้าไปทางบกจะมีพวกกลองยาวหรือเถิดเทิงนำหน้าริ้วขบวนผู้คนแต่งกายกันอย่างงดงามพาหนะเชิญผ้ากฐินก็ตกแต่งอย่างวิจิตร ถ้าวัดตั้งอยู่ริมน้ำผู้คนที่ไปทำบุญจัดขบวนมาทางน้ำก็มักจะเป็นขบวนเรือที่ใหญ่เช่นกัน มีการตกแต่งเรืออย่างสวยงามเท่าที่จะจัดทำได้ ยิ่งสวยงามเท่าไหร่ก็แสดงถึงความหน้ามีตา ฐานะของเจ้าภาพเท่านั้น และยิ่งเป็นการบำเพ็ญพระราชกุศลของพระมหากษัตริย์ก็ย่อมต้องมีการจัดริ้วขบวนอย่างเต็มที่ เรือที่ใช้ในพระราชพิธีนั้น ปกติก็มีการตกแต่งงดงามอยู่แล้ว เมื่อนำเรือต่างๆ ที่งดงามจัดรวมเข้าเป็นขบวนเดียวกันยิ่งเพิ่มความโอ่อ่าแสดงพระบารมียิ่งขึ้น ริ้วขบวนเรือนี้เรียกว่า กระบวนพยุหยาตราชลมารค ซึ่งนอกจากจะใช้ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินซึ่งถือว่าเป็นการจัดขบวนเรือที่ยิ่งใหญ่แล้ว ยังมีพระราชพิธีอื่นๆ เช่น พระราชพิธีอัญเชิญพระพุทธรูปที่สำคัญจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่ง การอัญเชิญแห่พระราชสาส์นและราชทูตของพระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่น ที่ทรงส่งมาเป็นการเจริญพระราชไมตรี นอกจากนี้ในเวลาที่มีการผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่ พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ที่เสด็จเสวยราชย์ จึงมีการจัดกระบวนพยุหยาตราเลียบพระนครแสดงพระบารมีให้พสกนิกรของพระองค์ได้ชื่นชม ซึ่งจะมีทั้งทางบกทางน้ำเรียกว่า ขบวนพยุหยาตราชลมารค ซึ่งก็จะมีการจัดริ้วขบวนเรือพระราชพิธีด้วย แต่ในพระราชพิธีที่เกี่ยวกับขบวนพยุหยาตราชลมารคที่ถวายผ้าพระกฐินในเทศกาลออกพรรษา เพราะมีการบำเพ็ญพระราชกุศลทุกปี แต่ในสมัยปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการประกอบพระราชพิธีนี้สูง จึงมิค่อยได้กระทำกัน ปัจจุบันจึงกล่าวได้ว่าเป็นพระราชพิธีที่หาดูได้ยาก
นอกจากพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินที่ต้องใช้เรือพระที่นั่งแล้ว ก็ปรากฏว่าในพระราชพิธีลอยพระประทีป หรือที่สมัยโบราณเรียกว่า พระราชพิธีจองเปรียง และคนไทยปัจจุบันรู้จักกันว่าลอยกระทงนั้น ในสมัยโบราณการประกอบพระราชพิธีนี้ก็มีการใช้เรือพระที่นั่งและเรือดั้ง เรือกันด้วย นั่นคือให้พันพรหมราชทำหมายบอกล้อมวงบริเวณที่ใช้ประกอบพระราชพิธี มีพลเรือน ทหาร และกรมท่าทอดทุ่นใหญ่น้อย ตามหมายที่ตั้งทุกกอง
พวกที่ทอดทุ่นริ้วสายใน พวกปลัดกรมนั่งเรือคฤห์ ซึ่งใช้เรือรูปสัตว์เขียนลายน้ำมันไปทอดทุ่น ด้านขวา ๔ ทุ่น ด้านซ้าย ๔ ทุ่น ทางเหนือน้ำสุดเป็นเรือของขุนเทพราช ส่วนสุดท้ายสุดเป็นเรือของขุนศรีนรินทร์ ริ้วสายนอกให้พวกกองทำลุ กองเกณฑ์หัดฝรั่ง กองสนม และกองตำรวจ ทอดทุ่น ริ้วสายกลาง เป็นเรือพิณพาทย์ มีกลองแขกนำ มีเรือนอก ๒ ลำ เป็นเรือคอยจุดดอกไม้เพลิง ตรงกลางเป็นเรือบัลลังก์ขนานที่จะมาทรงลอยพระประทีป ด้านหน้าของเรือบัลลังก์ขนาน มีเรือตำรวจในทอดอยู่ ส่วนทางหน้าฉานเป็นเรือของกรมพระตำรวจใหญ่ กองกลางมีเรือดั้งของกรมอาสา และเรือกัน นอกจากนี้จะเห็นได้ว่าการทอดทุ่นยั่งมีเรือปืนที่เรียก “กันโบด” (Gun Boat) ๔ ลำ อยู่ด้านเหนือน้ำ ๒ ลำ ใต้น้ำอีก ๒ ลำ
ชั้นนอกออกไปเป็นเรือสำหรับกันเรืออื่นๆ มิให้ผ่านเข้ามาในบริเวณที่จะประกอบพระราชพิธี โดยมีพวกอาสาจามคอยตีฆ้องกระแตบอกเตือน ส่วนพวกนครบาลซึ่งทอดทุ่นอยู่ในชั้นนอกสุดนั้นคอยเก็บสิ่งต่างๆ ที่ลอยมาตามน้ำออกไปในยามค่ำก็มียามตำรวจติดโคมเพชร โคมสาน และโคมกลีบบัวส่องเพื่อไม่ให้พวกเล่นเรือในคืนนั้นผ่านเข้ามาในเขตด้วยการตีฆ้องกระแตเตือน ในรูปเรือสัตว์ของพวกตำรวจจะมีปืนจ่ารงติดตั้งอยู่ ส่วนบนตลิ่งทั้งสองด้านมีพันพุฒิ และพันเทพราชไปตั้งกองรักษาความปลอดภัย โดยทางฝั่งตะวันออกมี ๖ กรม ทหารใน ทหารเลือกหอย ทหารกองรักษาพระองค์ กองอาสาญี่ปุ่น กรมไพรีคลังสินค้า ส่วนทางฝั่งตะวันตกมีกองรักษาความปลอดภัย ๑๐ กรม เป็นพวกกองตระเวน
เมื่อได้เวลาเสด็จฯ ถึงเจ้าพนักงานก็จะชักโคมสัญญาณขึ้นยอดเสา บรรดาเรือทุ่นก็จะจุดโคมรายบรรดาพิณพาทย์และกลองแขกก็ประโคม ทหารก็เป่าแตร พระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ลงเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ล่องไปที่เรือบัลลังก์ขนานในกระบวนก็มีเรือตั้งบุษบกประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์จำลองลำหนึ่ง ตั้งพุ่มพานทองอีกลำหนึ่ง เรือในริ้วกระบวนถัดไปมีเรือขโมดยา เรือดั้ง เรือรูปสัตว์ ซึ่งล้วนตั้งคฤห์กัญญาคาดผ้าแดงลายทอง ส่วนเรือพระที่นั่งต้นมี เรือนาค เรือครุฑ เรือหงส์ เรือเหรา เรือกิ่งแก้ว เรือเอกไชย เรือกราบ เรือพวกนี้ตั้งบัลลังก์มณฑปตรงกลางลำ มีม่านปักดิ้นทอง ในเรือกราบล้วนเป็นเรือของพวกขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ซึ่งการจัดเรือพระราชพิธีในพระราชพิธีจองเปรียง กับเรือในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินจะคล้ายกัน เพียงแต่ริ้วเรือในพระราชพิธีจองเปรียงไม่ใหญ่โตอย่างในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน
ความเป็นมาของเรือพระราชพิธี
บรรดาเรือหลวงที่มีใว้ใช้ในราชการนั้น ได้สร้างขึ้นมาเพื่อให้มีพอเพียงแก่การราชการ เช่น การเดินทางติดต่อส่งข่าวสาร การใช้เป็นพาหนะทางน้ำเพื่อเดินทางไปในที่ต่างๆ ตลอดจนการใช้เป็นเรือรบขับไล่ข้าศึกที่มารุกราน และการขนส่งบรรทุกทหารและยุทโธปกรณ์เพื่อไปปราบปรามบรรดาหัวเมืองที่อยู่ริมน้ำหรือริมทะเล ซึ่งทำได้รวดเร็วกว่าการเดินทางทางบก โดยเฉพาะการจัดเรือเป็นรูปขบวนทัพนั้นมีมาแต่สมัยโบราณแล้ว โดยที่มิได้มีการแบ่งเหล่าทหารออกเป็น ทหารบกและทหารเรือ อย่างชัดเจน แต่ในยามสงครามทหารใช้ได้ทั้งการรบทางบกและทางทะเล ถ้ายกทัพไปทางทะเลมีการคัดเลือกแม่ทัพนายกองที่มีความชำนาญทางทะเลเป็นผู้นำทัพ และที่เรียกว่าเรือรบนั้นในสมัยโบราณใช้เรือทุกประเภทที่มีกะเกณฑ์กันไป ที่เป็นเรือหลวงมักจะมีขนาดใหญ่และยาวกว่าเรือธรรมดา ซึ่งในยามว่างศึกก็นำมาใช้เป็นเรือค้าขายขนส่งสินค้ากับต่างประเทศ เดิมมักเป็นเรือสำเภาซึ่งบรรทุกคนและสินค้าได้มากและแข็งแรงพอที่จะโต้คลื่นลมในทะเลได้
สำหรับเรือหลวงที่นำมาใช้ในพระราชพิธีนั้น ส่วนมากจะเป็นเรือที่มีความใหญ่และยาวพอสมควร สามารถใช้ฝีพายพายไปได้เร็วจึงมักมีรูปเพรียว และเดิมใช้เป็นเรือรบประเภทเรือขับไล่ในน้ำเสียมาก ซึ่งแต่เดิมเรือรบทางแม่น้ำมี ๔ ชนิด คือ เรือแซ เรือไชย เรือศีรษะสัตว์หรือเรือรูปสัตว์ และเรือกราบ เรือรบสร้างขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. ๒๐๙๑-๒๑๑๑) พระองค์โปรดเกล้า ให้ดัดแปลงเรือแซ ซึ่งเป็นเรือลำเลียงสำหรับใช้บรรทุกทหารและอาวุธยุทธภัณฑ์ต่างๆ ให้เป็นเรือไชย กับเรือศีรษะสัตว์ โดยวางปืนใหญ่ประเภทปืนจ่ารงให้ยิงได้จากหัวเรือ ซึ่งจัดว่าเป็นต้นแบบของเรือรบในสมัยต่อมา เรือแซเป็นเรือยาว ใช้ตีกรรเชียงประมาณลำละ ๒๐ คน ส่วนเรือไชยและเรือศีรษะสัตว์เป็นเรือยาวแบบเรือแซ แต่เปลี่ยนกรรเชียงเป็นใช้พายและบรรทุกทหารให้ลงประจำเรือได้ลำละ ๖๐-๗๐ คน ซึ่งเมื่อพายแล้วไปได้รวดเร็วกว่าเรือแซ และให้ชื่อใหม่ว่า “เรือไชย”
การสร้างเรือ
จากเอกสารของชาวฝรั่งเศสได้บันทึกเกี่ยวกับ เรือของราชอาณาจักรสยาม รัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไว้ว่า “เรือนั้นลำยาวและแคบมาก มักจะทำขึ้นจากซุงท่อนเดียว ใช้สิ่วเจาะเอาตามความยาว แล้วถากด้วยเครื่องมือเหล็กแล้วนำขึ้นแขวนย่างไฟ และค่อยๆ เบิกไปให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้โดยไม่ให้เนื้อไม้แตก เรือเหล่านี้มีราคาแพง เรือลำหนึ่งๆ ใช้ฝีพายรวม ๕๐-๖๐ คน”
ที่ตกแต่งกันอย่างสวยงามและทำด้วยฝีมือประณีตก็มีเหมือนกัน แตกต่างกันไปตามสถานภาพของบุคคลที่เป็นเจ้าของเรือ เรือของขุนนางชั้นผู้ใหญ่นั้นมีฝีพาย ๕๐-๖๐ คน ที่กลางลำยกพื้นใช้เป็นที่นั่งของขุนนางเหล่านั้น เครื่องตกแต่งมีแต่ตัวไม้กับเสื่อลำแพนเท่านั้น แต่ประดิษฐ์ลวดลายสวยงามมาก หลังคาเรือกัญญาของพวกออกญาทำเป็นสามชั้น ของพวกออกพระกับออกหลวง ซึ่งลำเล็กมาหน่อยมีสองชั้น ส่วนของพวกขุนนางอื่นๆ นั้นมีชั้นเดียว เรือของประชาชนไม่มีหลังคาเลย ถึงจะมีก็ไม่ตกแต่งประดับประดาอะไรทั้งนั้น ทำเป็นรูปหลังคายาวและต่ำ การที่ทำประทุนเรือแบบนี้ก็เพื่อป้องกันแดดและฝนโดยแท้ มีแต่เรือของเสนาบดีผู้ใหญ่สองท่านเท่านั้นที่ทาทอง และหลังคาคลุมด้วยผ้า ทำเป็นเรือเปลือกหอยและสูงกว่าเรือลำอื่นๆ มีอยู่บ่อยเหมือนกันที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานเรือทาทองล่องชาดให้เป็นบำเหน็จแก่ขุนนางซึ่งมีความงามเกือบเท่าๆ กับของเสนาบดี แต่จะนำออกใช้ได้เฉพาะในโอกาสตามเสด็จพระราชดำเนิน และในงานพระราชพิธีอย่างตามหมายกำหนดการเท่านั้น
เรือกัญญาของพวกผู้หญิงมีสกุลแตกต่างจากเรือของพวกข้าราชการ เพียงกั้นเรือนยอดเสียทุกด้านเท่านั้นและใช้ทาสหญิงเป็นฝีพาย
นอกจากนี้ยังมีบันทึกเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินโดยทางชลมารคไว้ด้วยว่า “...การจัดตั้งริ้วขบวนน่าดูมาก... มีเรือกว่า ๒๕๐ ลำจอดเรียงรายอยู่เป็นระยะทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำในจำนวน ๒๐ หรือ ๓๐ ลำ...นำเรือพระที่นั่งทรงเป็นคู่ๆ ไปข้างหน้า เรือพระที่นั่งนั้นใช้ฝีพายพวกแขนแดงซึ่งมีความชำนาญมากและได้รับเลือกเฟ้นมาเป็นพิเศษ ทุกคนสวมหมวก เสื้อเกราะ ปลอกเข่าและปลอกแขนทำด้วยทองคำทั้งสิ้นน่าดูแท้ๆ เวลาเขาพายพร้อมๆ กันเป็นจังหวะจะโคนพายนั้นทาทองเหมือนกัน เสียงพายกระทบกันเบาๆ ประสานกับทำนองเพลงที่เขาเห่ยอพระเกียรติพระเจ้าแผ่นดินคล้ายเสียงดนตรีที่เสนาะโสตของพวกชาวเมืองเป็นอันมาก... พระวิสูตรเรือพระที่นั่งทรงนั้นประดับด้วยอัญมณีอันมีค่า และบนยกพื้นนั้นปูลาดด้วยพรมอย่างดีที่นำมาจากต่างประเทศทางตะวันออก มีขุนนางหนุ่ม ๖ คนหมอบเฝ้าอยู่เป็นประจำที่ ตรงท้ายเรือมีบังสูรย์ปักไว้เป็นสำคัญ เพื่อให้เป็นที่สังเกตว่า ผิดจากลำอื่นๆ มีเรืออีก ๒ ลำ ซึ่งใหญ่โตและงดงามเสมอกันแล่นขนาบไปข้าง เขาเรียกเรือแซงรักษาพระองค์ และเรืออีกสองลำซึ่งไม่ใหญ่โตและงดงามเท่าสองลำแรก แต่ปิดพระวิสูตรลงหมดทุกด้านแล่นตามมา เพราะบางทีพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จเสวยพระสุธารสหรือพระกระยาหาร นอกจากว่าเสด็จฯ ถึงพลับพลาที่ประทับหรือพระตำหนักแรมระหว่างทางเสด็จพระราชดำเนินเท่านั้น จึงจะเสด็จขึ้นประทับเสวยที่นั่น เรือทาทองอีก ๕๐ ลำรูปพรรณต่างๆ กัน แต่ก็งดงามไม่แพ้กันตามเสด็จพระราชดำเนินไปอย่างมีระเบียบ อันเป็นการสมทบขบวนการแห่แหนเท่านั้น เพราะจะมีอยู่ราว ๑๐ หรือ ๑๒ ลำที่อยู่ใกล้เรือพระที่นั่งเท่านั้นที่มีผู้คนลงเต็มลำ มีเรือทรงพระราชบุตรของเสนาบดีผู้ใหญ่ และขุนนางคนสำคัญที่โดยเสด็จพระราชดำเนินเท่านั้น ขุนนางอื่นๆ จะโดยเสด็จฯ ก็เฉพาะแต่วันพระราชพิธีซึ่งจะมีเรือต่างๆ รวมกันถึงสองร้อยกว่าลำ ซึ่งเป็นเรือที่ไม่สู้จะงดงามเท่าใดนัก ถึงจะใหญ่โตและมีรูปพรรณอย่างเดียวกัน แต่แล่นไปได้รวดเร็วเสมอ หรือเร็วกว่ารถม้าโดยสารระหว่างหัวเมืองต่อหัวเมืองของเราเสียอีก”
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีกล่าวถึงเรือพระที่นั่งอยู่บ้าง ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระชัยราชา เมื่อพระองค์เสด็จไปเมืองเชียงไกร เชียงกราน พ.ศ. ๒๐๘๑ ปรากฏชื่อเรือ ๒ ลำ ในขบวนกองทัพเรือคือ เรืออ้อมแก้วแสนเมืองมา และเรือไกรแก้ว ซึ่งโดนพายุเสียหายและต่อมาในรัชกาลพระมหาจักรพรรดิ พ.ศ. ๒๐๙๑ เมื่อครั้งที่ทรงผนวชอยู่นั้น ขุนพิเรนทรเทพ ได้ส่งเรือพระที่นั่งชัยสุพรรณหงส์ไปรับที่วัดราชประดิษฐานเพื่อนิมนต์ให้ลาสิกขาบทและเสด็จขึ้นเสวยราชย์ ต่อมา พ.ศ. ๒๐๙๕ โปรดเกล้าฯ ให้แปลงเรือแซงเป็นเรือชัยและเรือศีรษะสัตว์
ต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่ง คือเรือพระที่นั่งอลงกตนาวา เรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย เรือพระที่นั่งพระครุฑพาหนะ เรือพระที่นั่งชลวิมานกาญจนบวรนาวา เรือที่นั่งนพรัตนพิมานกาญจนอลงกตมหานาวาเอกชัย เรือพระที่นั่งจิตรพิมานกาญจนมณีศรีสมรรชัย เรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ นอกจากนี้มีเรือขบวนซึ่งได้แก่ เรือดั้งเรือกัน เรือชัย เรือรูปสัตว์ และเรือขนาน
รัชกาลสมเด็จพระเทพราชา ปรากฏชื่อเรือพระที่นั่งไกรสรมุขพิมาน และเรือที่นั่งบัลลังก์ม่านทอง ซึ่งชื่อหลังนี้เข้าใจว่าเป็นการลอกลักษณะเรือมากกว่าที่จะเป็นชื่อเรือ รัชกาลพระเจ้าเสือ มีเรือพระที่นั่งมหานาวาท้ายรถ และเรือพระที่นั่งเอกชัย ส่วนรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมีเรือพระที่นั่งไกรสรมุขพิมานและเรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย
ลักษณะหน้าที่ และความเป็นมาของเรือพระที่นั่งและเรือในริ้วกระบวน
ในการเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำของพระมหากษัตริย์ในสมัยโบราณนั้น เข้าใจว่าแต่ก่อนจะมีเรือ ๒ สำรับ เป็นเรือทองอันหมายถึง เรือที่แกะสลักลวดลายและลงรักปิดทองสำรับหนึ่ง สำหรับเสด็จฯ ในขบวนที่เป็นพระราชพิธี ส่วนอีกสำรับหนึ่งเป็นเรือไม้ซึ่งมักจะใช้ทรงในเวลาปกติทั่วไป ไม่ปะปนกัน
จากการจัดริ้วขบวนเรือ ปรากฏชื่อเรือต่างๆ จำนวนมากที่มาร่วมในขบวน ซึ่งเรือเหล่านี้มีลักษณะแตกต่างกันไปตามความสำคัญและลักษณะที่มา คือ
๑. เรือประตู มีลักษณะเป็นเรือกราบกลางลำมีกัญญาเรียกกันว่า เรือกราบกัญญา ทำหน้าที่เป็นเรือนำริ้วขบวน มีข้าราชการผู้ใหญ่ชั้นปลัดทูลฉลองนั่งในกัญญาลำละ ๑ ท่าน
๒. เรือพิฆาต เป็นเรือรบไทยโบราณประเภทหนึ่ง มีปืนจ่ารงตั้งที่หัวเรือสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มี ๕ คู่ ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มี ๖ คู่ ภายหลังตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา มี ๑ คู่ คือเรือเสือทะยานชล และเรือเสือคำรณสินธุ์ หัวเรือทำเป็นรูปหัวเสือ มีคฤห์สำหรับขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายทหารนั่ง แต่ในสมัยอยุธยาใช้เรือแซ เรือพิฆาตนี้มีนายเรือ นายท้าย ฝีพาย และคนนั่งคฤห์ รวม ๓๑ นาย
๓. เรือดั้ง เป็นเรือไม้ทาสีน้ำมัน ไม่มีลวดลายอย่างใด ใช้เป็นเรือขบวนสายนอก กลางลำมีคฤห์ ซึ่งมีนายทหารนั่งลำละ ๑ นาย ในเรือนี้มีพลปืน ๔ นายและนายเรือนายท้าย และฝีพายลำละ ๒๙-๓๕ คน ขึ้นอยู่กับขนาดของเรือและมีคนกระทุ้งเส้า ลำละ ๒ นาย เรือที่กระทุ้งเสาในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นพวกเรือไชย ซึ่งเป็นเรือชนิดที่มีทวนหัวตั้งสูงและงอนขึ้นไป กล่าว่ามีลักษณะเช่นเดียวกับเรือกิ่ง แต่ปัจจุบันเรือตั้งหัวเรือปิดทอง ถ้าหัวเรือยังเขียนลายน้ำยา ใช้เป็นเรือประจำสมณศักดิ์พระราชาคณะ
๔. เรือกลองนอก-กลองใน เป็นพวกเรือกราบ นายท้าย ฝีพายลำละ ๓๐ คน นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการกระบวนพยุหยาตรานั่งคฤห์พร้อมนายทหารในเรือกลองนอกและมีผู้บัญชาการกระบวนพร้อมทนาย นั่งคฤห์เรือกลองใน ภายในเรือมีพนักงานปี่ชวา และกลองแขกบรรเลงลำละ ๖ นาย
๕. เรือตำรวจนอก-ตำนวจใน ใช้เรือกราบ มีนายเรือ มีนายเสือ นายท้าย และฝีพายในสองลำไม่เท่ากัน ลำหนึ่ง ๒๒ นาย อีกลำหนึ่งมี ๒๗ นาย มีพระตำรวจหลวงชั้นปลัดกรมนั่งคฤห์
๖. เรือรูปสัตว์ เป็นเรือที่แกะสลักหัวเรือเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ทั้งสัตว์จริงและสัตว์ในเทพนิยาย ความเป็นมาของเรือรูปสัตว์ หรือ เรือศีรษะสัตว์นี้ สันนิษฐานอาจเกิดขึ้นได้ ๒ ทางคือ
๑.) อาจได้รับอิทธิพลมาจากเขมรทั้งนี้เพราะที่ปราสาทนครวัด ได้มีภาพสลักรูปเรือ ที่มีหัวเรือเป็นรูปสัตว์ เช่น รูปหงส์ รูปนาค รูปเหรามังกร ซึ่งอาจทำขึ้นเพื่อความสวยงาม ประสาทนครวัดมีอายุระหว่าง พ.ศ. ๑๖๕๓-๑๗๒๐
๒.) อาจได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ซึ่งที่อินเดียนั้นบรรดาขุนรถจะมีตราประจำตำแหน่งของตนติดอยู่ที่รถ และไทยเรานำมาเป็นตราติดที่เรือ คือทำเป็นรูปหัวเรือเสีย เวลาเข้าในริ้วขบวนก็ทราบว่าเรือลำใดเป็นของกรมใดหรือขุนนางผู้ใด และแต่เดิมขุนนาง หรือเสนาบดีถ้ามิได้ตามเสด็จฯ ก็ไม่ได้เข้าในริ้วขบวน แต่ในสมัยหลังแม้นว่าเสนาบดีมิได้ตามเสด็จ ก็เกณฑ์เรือไปโดยตนเองไม่ต้องควบคุมไปก็ได้
๗. เรือแซ ใช้เรือกราบ เป็นเรือของทหาร อยู่ตรงขบวนเรือพระที่นั่ง ในริ้วขบวนปกติมี ๒ คู่
๘. เรือริ้ว หมายถึงว่า เรือที่เข้าขบวนยาวเป็นเส้นเป็นสาย หลายเส้นหลายสายเรียงกันขนานกัน เรือทุกลำที่ต้องเกณฑ์เข้าขบวนจัดเป็นเรือริ้วทั้งสิ้น เรือขบวนมีธงประจำเรือ ตั้งแต่เรือและท้ายเรือ ถ้าเป็นเรือรูปสัตว์ก็มีธงเฉพาะท้ายเรือบรรดาเรือแซงปักท้ายทุกลำ จึงสมกับคำที่ว่า “เรือริ้วทิวธงสลอน”
๙. เรือกิ่ง ในริ้วขบวนจัดเป็นเรือที่เป็นเครื่องประดับยศ เกิดขึ้นครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง บ้างก็ว่าในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ) พ.ศ. ๒๑๖๓-๒๑๗๑ กล่าวว่าพระองค์มีรับสั่งให้เอากิ่งดอกเลาประดับเรือ ต่อมาภายหลังพนักงานจึงคิดเขียนลายกิ่งไม้ที่โขนเรือโปรดเกล้าฯ ใหเรียกชื่อเรือชนิดนี้ว่า “เรือพระที่นั่งกิ่ง” คือเป็นเรือชั้นสูงสุด มิได้โปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นใดประทับเว้นแต่บางครั้งโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเรือทรงผ้าไตร หรือเชิญผ้าทรงสะพัก พระพุทธรูป หรือพานพุ่มดอกไม้ และเป็นเรือทรงพระชัยในขบวนพระยุหยาตราชลมารค ถวายผ้าพระกฐิน เรือพระที่นั่งกิ่งที่เคยใช้เป็นเรือทรงผ้าไตรแต่เดิมมาที่ปรากฏในทำเนียบแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา คือ เรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย ต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๐ สร้างเรือพระที่นั่งประภัสสรไชยชำรุด (ผุพังเหลือแต่โขนเรือ) จึงใช้เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งกิ่งแทน
๑๐. เรือคู่ชัก เดิมใช้สำหรับเป็นเรือชักลากเรือพระที่นั่งชนิดพายไม่เรียกว่าเรือพระที่นั่งขนานหรือบัลลังก์ขนาน แต่ต่อมาได้เลิกใช้ไปเพราะไม่สะดวกรวดเร็ว เรือพระที่นั่งขนานจึงเปลี่ยนมาใช้เรือพระที่นั่งกิ่งแทน แต่ยังคงเรือคู่ชักไว้ เรือคู่ชักนี้เป็นเรือดั้ง ในสมัยรัตนโกสินทร์ เรือดั้งคู่ชักมีชื่อว่า เรือทองแขวนฟ้าและเรือทองบ้าบิ่น เรือทั้งสองลำนี้นำหน้าเรือพระที่นั่งลำทรงเรือแขวนฟ้า (หรือบางทีก็เป็น ทองขวานฟ้า) ให้พลพายเป็นคนชาวบ้านใหม่ขึ้นกับหลวงสุเรนทรวิชิต ส่วนเรือทองบ้าบิ่น ใช้พลพายเป็นชาวบ้านโพธิ์เรียงขึ้นอยู่กับหลวงอภัยเสนา และตรงกับครั้งกรุงศรีอยุธยาทุกอย่าง ผิดกันแต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ว่าเป็น “เรือพระที่นั่ง” ตามแบบชั้นหลังว่าเป็นเรือคู่ชัก ซึ่งมีโขนเรือและท้ายเรือไม่ปิดทอง ห้อยพู่สีขาวกับสักหลาดดาดหลังคากัญญาปักทองเฉพาะตรงขอบ
เรือดั้งคู่ชักมีสิทธิผิดกับเรืออื่นที่แห่เสด็จ เพราะเรือพระที่นั่งนั้นบรรดาพลพายต้องถูกคัดเลือกเอาแต่เฉพาะพวกที่มีกำลังพายเรือ แล่นเร็วและพายทนกว่าพวกพลนายของเรืออื่น เรือดั้งคู่ต้องพายนำให้เห็นทันหนีเรือพระที่นั่ง ถ้าหากจะหนีไม่พ้นพอหัวเรือพระที่นั่งเกี่ยวแนวท้ายเรือคู่ชักเข้าไป เรียกกันว่า “เข้าดั้ง” เรือคู่ชักก็ใช้อุบายแกล้งคัดเรือให้ใกล้กันจนช่องน้ำแคบ เรือพระที่นั่งไม่สามารถจะพายแทรกกลางแข่งขึ้นไปได้
๑๑. เรือไชย เป็นเรือชนิดที่ทวนหัวตั้งงอนสูงขึ้นไป มีลักษณะเช่นเดียวกับเรือกิ่ง เรือไชยนี้เดิมเป็นเรือที่ข้าราชการ นั่งในริ้วกระบวนและมีพนักงานคอยกระทุ้งเส้าให้จังหวะ แต่ถ้าเป็นเรือที่นั่งเจ้านายและเรือประตูเรียกว่า เรือเอกไชย
๑๒. เรือโขมดยา โขมาด แปลว่า หัว ยา หมายถึง น้ำยาที่เขียนลายที่หัวเรือ แต่ลักษณะเรือโขมดยาครั้งกรุงศรีอยุธยา หัวเรือท้ายเรือ เรียบเชิดขึ้น มีลายแกะเป็นรูปกลีบบัวสำหรับผูกผ้า ตรงกลางตั้งคฤห์ดาดผ้าแดง
๑๓. เรือพระที่นั่งทรง เรือพระที่นั่งลำทรง ถ้าเป็นขบวนพยุหยาตราชลมารคใหญ่ ใช้เรือพระที่นั่งกิ่งทอดพระที่นั่งบุษบกเป็นที่ประทับปักฉัตรเครื่องสูงหักทองขวาง มีพนักงานถวายอยู่งานพระกรดบังพระสูรย์ พัดโบก มีนักสราชเชิญธงท้ายเรือ สี่มุมบุษบกมีมหาดเล็กเชิญพระแสงรายตีนตอง ในการเสด็จพระราชดำเนิน ถวายผ้าพระกฐิน มีมหาดเล็กเชิญหอก พระมหากฐินอยู่เบื้องหน้าบุษบกอีก ๒ นาย
สรุป
กระบวนพยุหยาตราชลมารค หมายถึง ริ้วกระบวนเรือที่จัดขึ้นในการที่พระเจ้าแผ่นดินในสมัยโบราณ เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่างๆ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์ และที่เป็นการพระราชพิธีซึ่งได้ประกอบการมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยสุโขทัยแล้ว ประกอบการนี้เรื่อยมาตลอดทั้งในสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์และได้สืบทอดมาจนปัจจุบัน แม้ว่าแต่เดิมมาจะเป็นการเสด็จฯ ในขบวนทัพและประกอบการพระราชพิธีต่างๆ หลายอย่าง เช่น พระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน พระราชพิธีบรมราชาภิเษก การเสด็จฯ ไปนมัสการรอยพระพุทธบาท การอัญเชิญพระพุทธรูปที่สำคัญจากหัวเมืองเข้ามาประดิษฐานในเมืองหลวงตลอดจนการต้อนรับราชทูตจากต่างประเทศ เป็นต้น
การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคนี้กล่าวได้ว่า วิวัฒนาการมาจากการจัดกระบวนทัพเรือ ซึ่งในยามที่ว่างศึก เพื่อเป็นการฝึกซ้อมเรียกระดมพลโดยที่กองทัพเรือเหล่านี้จะตกแต่งอย่างสวยงามมีสัญลักษณ์แสดงสังกัดโดยใช้โขนเรือตามรูปสัตว์สัญลักษณ์เข้าริ้วขบวนพยุหยาตรา มีการประโคมดนตรีไปในขบวนเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินอีกด้วย ทั้งยังจัดเป็นการแสดงออกถึงเอกลักษณ์ทางด้านวัฒนธรรมประเพณีอย่างหนึ่งของชาติ และพระราชวงศ์ซึ่งได้ทรงแสดงพระบารมีแผ่ไพศาลเป็นที่แซ่ซ้องสรรเสริญและเป็นศูนย์รวมจิตใจของพสกนิกรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารโดยทั่วไป การจัดริ้วขบวนได้แบ่งออกเป็น ๒ แบบ เรียกว่า ขบวนพยุหยาตราใหญ่ซึ่งจัดเป็น ๔ สายและขบวนพยุหยาตราน้อยจัดเป็น ๒ สาย ซึ่งต่างกันโดยทราบได้จากจำนวนเรือในริ้วกระบวนว่ามีมากน้อยเพียงใดนั่นเอง การจัดริ้วขบวนมีระเบียบการจัด แบ่งออกเป็น ๕ ตอน คือ ขบวนนอกหน้า ขบวนในหลัง ขบวนเรือพระราชยาน ขบวนในหลัง และขบวนนอกหลัง ซึ่งเมื่อได้ชื่นชมแล้วจะพบแต่ความสวยงามความโอ่อ่าตระการตา สมพระเกียรติ สมมติเทพแห่งพระมหากษัตริยาธิราช เจ้าแห่งสยามประเทศ ที่มีอารยธรรมอันสูงส่งมาแต่โบราณกาล.