-
Category: เรื่องเก่า เล่าอดีต
-
Published on Tuesday, 11 October 2016 04:08
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 28286
ชาวสยามในที่นี้หมายถึงคนที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในที่ราบลุ่มในภาคกลางประเทศไทย ซึ่งเป็นภูมิประเทศที่ราบลุ่มเต็มไปด้วย หนอง คลอง บึง น้ำท่วมนานหลายเดือนในแต่ละรอบปี เป็นเรื่องที่น่าจะเป็นอุปสรรคของการมีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตั้งเป็นชุมชนเมือง แต่ชาวสยามเลือกมาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ในลักษณะนี้และใช้ความชาญฉลาดปรับปรุงอุปสรรคนั้นให้มาเป็นประโยชน์ในการมีชีวิต รวมทั้งปรับตัวให้มีความสุขกับสิ่งแวดล้อมแบบนั้น กลายเป็นคนเมืองน้ำ พัฒนาสร้างสรรค์ชุมชนคนเมืองน้ำใหญ่น้อยขึ้นมากมาย และเมื่อราว ๒-๓ ศตวรรษก่อน ชุมชนคนเมืองน้ำของชาวสยามบางแห่งมีขนาดใหญ่ระดับมหานครมีประชากรอาศัยนับแสนคน เช่นพระนครศรีอยุธยาและกรุงเทพมหานคร เรื่องนี้เป็นหลักฐานของภูมิปัญญาที่ยิ่งใหญ่อีกเรื่องหนึ่งของชาวสยาม และเป็นเหตุผลสำคัญที่พระนครศรีอยุธยาได้รับการยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นเมืองมรดกโลกในฐานะเป็นชุมชนคนเมืองน้ำที่น่าศึกษาของโลก
ชุมชนคนเมืองน้ำต้องมีชีวิตที่ผูกพันกับสายน้ำ เช่น สร้างบ้านเรือนลอยน้ำอยู่บนน้ำ (เรือนแพ) ขุดคลองเล็กคลองน้อยเชื่อมต่อกันใช้เป็นทางสัญจรแทนถนน ใช้เรือค้าขายรวมตัวกันเป็นตลาดน้ำ สร้างสรรค์เรือรูปแบบต่างๆ ขึ้น มีวัฒนธรรมและการบันเทิงพันพัวกับสายน้ำที่อยู่รอบๆ ตัว เช่น ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค การแข่งเรือประเพณีลอยกระทง และเรื่องอาหารการกินต่างๆ ที่หาได้จากทุ่งและลำน้ำ
ว่ากันด้วยเรื่องการสร้างสรรค์เรือขึ้นใช้ของชาวสยามคนเมืองน้ำ
เส้นทางน้ำในภาคกลางประเทศไทยมีทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติรวมทั้งขุดขึ้นโดยมนุษย์ มีหลักฐานว่าการขุดคลองเชื่อมโยงต่อกันในภาคกลางประเทศไทยเกิดขึ้นตั้งแต่ครั้งต้นสมัยอยุธยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือคลองลัดแม่น้ำ ทำให้เส้นทางน้ำของภาคกลางประเทศไทยเชื่อมโยงต่อกันได้เป็นตารางคล้ายใยแมงมุม เรือจึงเป็นพาหนะสำคัญในกิจกรรมต่างๆ เช่น ใช้ลำเลียงสินค้า ใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้เดินทางติดต่อ ใช้ประกอบพิธี ใช้ทำสงคราม ใช้ในพิธีกรรมและพิธีการต่างๆ เป็นต้น การสร้างสรรค์เรือจึงต้องสร้างขึ้นให้เหมาะสมกับภารกิจต่างๆ ตามไปด้วย เช่น เรื่อเพื่อใช้ติดต่อค้าขายก็ต้องมีขนาดใหญ่ ท้องเรือกว้างใช้สำหรับบรรทุกสินค้า ส่วนเรือที่ใช้ในชีวิตประจำวันคือ เรือขนาดเล็กใช้พายไปมาได้เร็วว่องไว ส่วนเรือที่ใช้ในราชสำนักหรือสำหรับชนชั้นสูงก็ต้องสวยงามมากขึ้นไปอีก ด้วยการสลักลวดลายปิดทองประดับกระจกเป็นต้น อีกทั้งยังมีเหตุผลอื่นที่ทำให้การสร้างสรรค์เรือมีรูปแบบใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น แต่เดิมนิยมใช้เรือที่ขุดจากซุงไม้ขนาดต่างๆ แต่เมื่อได้เห็นเทคนิคการสร้างสรรค์เรือจากโลกภายนอก โดยเฉพาะจากชาวจีนและชาวตะวันตกด้วยการนำแผ่นไม้มาประกอบกันคือ เรือต่อ ทำให้ท้องเรือมีขนาดกว้างใหญ่มากกว่าเรือขุด บรรทุกคนและสินค้าได้มากขึ้น จึงนำเทคนิคนั้นมาปรับใช้ให้เป็นเรืองของตน
ภาพวาดรูปเรือหลวงครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ปรากฏอยู่ในหนังสือที่ราชทูตฝรั่งเศสคือ ม.เดอ ลาลูแบร์บันทึกไว้
คือ Du Royaume de Siam เมื่อครั้งเดินทางมาเจริญสัมพันธไมตรีกับสยามในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ รูปจากหนังสือ Du Royaume de Siam โดย S. de La Loubère 1691
อนึ่ง แต่ละภูมิภาคในประเทศไทยต่างมีรูปแบบเรือที่สร้างสรรค์ขึ้นใช้เป็นเอกลักษณ์ เช่น เรือหางแมงป่องคือ เรือที่เป็นเอกลักษณ์ใช้กันในลุ่มแม่น้ำปิง เรือฮ่าม (ง่าม) คือเรือที่เป็นเอกลักษณ์ใช้กันในภาคอีสานต่อกับภาคเหนือแถบริมแม่น้ำโขง เป็นต้น แต่ทว่าการที่ภูมิภาคต่างๆ เกือบทุกภาคในประเทศไทยไม่มีความจำเป็นต้องใช้เรือมากเท่ากับชุมชนคนเมืองน้ำในภาคกลางประเทศไทย การสร้างสรรค์เรือรูปแบบต่างๆ นอกพื้นที่ภาคกลางจึงมีรูปแบบไม่หลากหลายตามไปด้วย
ในที่นี้จะขอกล่าวเฉพาะเรื่องเรือที่ใช้ในแม่น้ำและลำคลองต่างๆ ในภาคกลางประเทศไทยซึ่งเป็นเรื่องราวของเรือที่ใช้กันในอดีต แต่เรือบางรูปแบบยังใช้สืบเนื่องถึงปัจจุบัน หากแยกตามลักษณะทางชนชั้นของเรือคือ เรือหลวง และ เรือราษฎร และเป็นเรือที่ใช้พายหรือ แจวเท่านั้น หลักฐานเก่าสุดของเรือทั้งสองกลุ่มนี้มีอายุอย่างน้อยครั้งสมัยอยุธยาประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ ปีก่อน กล่าวคือ
เรือหลวง คือเรือที่ใช้ในพระราชกรณียกิจและในพระราชพิธีต่างๆ ของราชสำนัก เช่น การอัญเชิญพระราชสาสน์ การออกศึกสงคราม การเสด็จพระราชดำเนินไปในที่ต่างๆ เช่น การถวายผ้าพระกฐิน เสด็จฯ ไปทรงนมัสการพุทธศาสนสถานตามหัวเมือง เป็นต้น หลักฐานสำคัญเรื่องเรือหลวงครั้งสมัยอยุธยาปรากฏอยู่ใน สมุดภาพริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราทางชลมารคฉบับหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งมีประวัติว่า “จำลองจากภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยาเมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๙” ซึ่งมีการขยายความต่อมาว่าน่าจะเป็นภาพกระบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) ครั้งเสด็จฯขึ้นไปทรงนมัสการพระพุทธบาทเมืองสระบุรีต้นฉบับเป็นสมบัติของหม่อมเจ้าปิยะภักดีนารถ ปัจจุบันสมุดไทยจำลองเล่มนี้เก็บรักษาอยู่ หอสมุดแห่งชาติ จากสมุดภาพดังกล่าวมีภาพเรือร่วมในกระบวน ๑๑๕ ลำขบวนแห่ เป็นริ้วขบวนเรือ ๕ ขบวน ขบวนเรือทหารรักษาพระองค์ จากนั้นคือขบวนเรือสำคัญสุดคือ ขบวนเรือพระที่นั่ง และระวังท้ายขบวนด้วยขบวนเรือทหารรักษาพระองค์ และขบวนเรือทหารกองนอก ตามลำดับ
สมุดริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราทางชลมารค ฉบับหอสมุดแห่งชาติ จำลองภาพจิตรกรรม
ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ว่ากันว่าคือขบวนพยุหยาตราทางชลมารคครั้งรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
(ครองราชย์ พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) เสด็จฯ ขึ้นไปทรงนมัสการพระพุทธบาทเมืองสระบุรี
เรือที่เข้าขบวนทั้งหมดมีหลายรูปแบบ เรือต้นขบวน (ทหารกองนอก) คือ เรือพิฆาฏ เรือแซ เรือชัย เรือสำหรับทหารรักษาพระองค์คือเรือมีโขนหัวเรือเป็นรูปสัตว์ชนิดต่างๆ เช่น ราชสีห์ คชสีห์ ม้า เลียงผา กระบี่ (ลิง) นกอินทรี นกหัสดิน นกเทศ นกหงอนตั้ง สิงโต กิเลน สิงห์ มกร นาค เหรา ครุฑ รวมทั้งเรือโขมดญา และเรือเอกชัย สำหรับขบวนเรือพระที่นั่งคือเรือที่มีทวนเรือตั้งสูงปลายงอน เรียงลำแถวเดียวตรงกลางขบวนรวม ๗ ลำ สำหรับเรือพระที่นั่งลำทรงคือ เรือศรีสามารถไชย (ศรีสมรรถไชย)
เรือศรีสามาถไชย (ศรีสมรรถไชย) คือเรือพระที่นั่งลำทรงของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
จากสมุดริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราทางชลมารคฉบับหอสมุดแห่งชาติ
ขนาดของเรือพระที่นั่งระบุไว้ในตำรา แต่มีชาวต่างชาติที่ได้เห็นเรือขบวนพระที่นั่งของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชต่างบันทึกเรื่องนี้ไว้ เช่น ม.เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตพิเศษจากพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งราชอาณาจักรฝรั่งเศสซึ่งเดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชอาณาจักรสยามเมื่อ พ.ศ. ๒๒๓๐ ระบุว่า เรือพระที่นั่งคือเรือที่ขุดจากซุงท่อนเดียวยาว ๓๒-๔๐ เมตร มีการร้องเห่ออกเสียงเพื่อให้จังหวะในการพายพร้อมกัน มีฝีพายประจำเรือประมาณ ๑๕๐ คน พายปิดทองทั้งเล่ม
บันทึกชาวฝรั่งเศสอีกท่านหนึ่งคือ บาทหลวงเดอ ซัวซีย์ ซึ่งมีโอกาสเห็นขบวนเสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากพระนครศรีอยุธยาไปยังพระตำหนักที่บางปะอินเมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๒๒๕ ว่ามีเรือร่วมในขบวนเสด็จฯ กว่าสองร้อยลำ และได้บรรยายความรู้สึกเมื่อเห็นขบวนเสด็จฯ ว่า ไม่มีคำใดวิจิตรพอสำหรับบรรยายสิ่งที่ได้เห็น
แน่ชัดว่าการตกแต่งโขนหัวเรือให้เป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น นกอินทรี นาค สิงห์ เลียงผา ม้า มังกร และครุฑยุดนาค ครั้งสมัยอยุธยาคือเรือสำหรับขุนนางใช้นั่งในขบวนพยุหยาตรา โขนหัวเรือบางรูป เช่น รูปราชสีห์ คือเรือตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีสมุหนายก ส่วนโขนหัวเรือรูปคชสีห์ คือเรือตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีสมุหกลาโหม
เรือตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีสมุหนายกครั้งสมัยอยุธยา มีโขนหัวเรือรูปราชสีห์
จากสมุดภาพริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราทางชลมารค ฉบับหอสมุดแห่งชาติ
เรือตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีสมุหกลาโหมครั้งสมัยอยุธยามีโขนหัวเรือรูปคชสีห์
จากสมุดภาพริ้วกระบวนแห่พยุหยาตราทางชลมารค ฉบับหอสมุดแห่งชาติ
หลักฐานโขนหัวเรือหลวงครั้งสมัยอยุธยายังเหลือให้ศึกษา ๑ ชิ้น คือ โขนหัวเรือหลวงรูปครุฑ ปัจจุบันจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา พระนครศรีอยุธยา ครุฑสวมกระบังหน้าและตกแต่งลำตัวด้วยเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ ประวัติที่ได้รับมามีว่า เดิมอยู่ในศาลเทพารักษ์ซึ่งเข้าใจว่าอยู่แถบโรงเรือหลวงของราชสำนักอยุธยาที่ท่าวาสุกรี ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามพระราชวังหลวงทางทิศเหนือ เมื่อศาลพังใน พ.ศ. ๒๔๔๖ จึงได้เก็บมาไว้ในพิพิธภัณฑ์
หัวเรือหลวงรูปครุฑ สวมกระบังหน้าและตกแต่งลำตัวด้วยเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ศิลปะอยุธยา
อาจจะสร้างขึ้นในระหว่าง พ.ศ. ๒๑๕๐-๒๒๐๐ ไม้ลงรักปิดทองสูง ๑๘๔ ซม.
สมบัติของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
สำหรับเรือราษฎรหรือเรือพื้นบ้านของชุมชนคนเมืองน้ำภาคกลางประเทศไทยมีหลายรูปแบบ และบางรูปแบบคงเหลือแต่ชื่อโดยไม่มีผู้ใดรู้จักว่าเป็นเรือที่มีรูปแบบอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น หากได้อ่านหนังสือชื่อ ฟื้นความหลัง เขียนโดยท่านนักปราชญ์ใหญ่แห่งสยามคือ ท่านเสฐียรโกเศศ (พระยาอนุมานราชธน) มีเนื้อหาตอนหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาว่า ในท้องน้ำเจ้าพระยาเดิมมี เรือหมู เรือพลู เรือกุแหละ ใช้ โดยมีคำอธิบายเพิ่มเติมจากท่านผู้เขียนว่า “เรือพลูเหมือนเรือหมูแต่ใหญ่กว่า” “เรือกุแหละเหมือนเรือพลูแต่เล็กกว่าเรือพลู”
สำหรับเรือหมูนั้นยังคงใช้กันอยู่ในภาคกลางประเทศไทยแถบพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ลพบุรี เป็นเรือขุดเสริมกราบขนาดเล็ก มีหัวและหางเหลาเป็นแท่งขอบเว้าและส่วนปลายเป็นมุมแหลม หากเรือพลูเหมือนเรือหมูแต่ใหญ่กว่าเรือหมูก็คงพอจะสันนิษฐานได้ว่าเรือพลูน่าจะมีรูปแบบอย่างไร แต่สำหรับเรือกุแหละที่ท่านอธิบายว่าเล็กกว่าเรือพลูก็จะทำให้นึกถึงว่าเรือกุแหละคล้ายเรือหมูอีก เพราะท่านอธิบายว่าเรือกุแหละมีลักษณะคล้ายเรือพลูแต่มีขนาดเล็กกว่า อย่างไรก็ตามคำอธิบายเรือรูปแบบเรือทั้งสองยังไม่กระจ่างอยู่ดี หรืออาจจะสรุปได้โดยอัตโนมัติว่า เรือพลู เรือกุแหละและเรือหมูคือเรือที่มีรูปแบบใกล้เคียงกันแต่ต่างกันที่ขนาด ส่วนจะต่างกันที่ขนาดเป็นนิ้ว ศอกหรือว่าเป็นวาเท่าไรนั้น เข้าใจว่าคงไม่มีผู้ใดทราบได้ นอกจากท่านผู้เขียนเรื่องฟื้นความหลัง
พิธีแห่ขันหมากสู่เรือแพ ๒ ชั้น ริมแม่น้ำลพบุรีในภาคกลางประเทศไทย
มีเรือสมุดหมูและเรือมาจอดเทียบหน้าเรือนรุปจากนางสาวผ่องศรี ธาราภูมิ
ประเด็นที่ยกขึ้นมาพิจารณาดังกล่าวนี้ จึงเป็นเรื่องที่แน่ชัดว่า เมื่อประมาณ ๖๐-๗๐ ปีก่อนคือ ยุคที่ท่านผู้เขียนหนังสือเรื่องฟื้นความหลังยังมีชีวิต ท่านยังรู้จักรูปแบบเรือที่หลากหลาย แต่ข้อมูลเรื่องเดียวกันนี้สำหรับคนไทยยุคปัจจุบันน่าจะเป็นเรื่องที่ถูกลบไปจากความทรงจำแล้ว ทำให้ชวนคิดต่อไปว่าความรู้เรื่องภูมิปัญญาในอดีตของคนไทย คือเรื่องที่พวกเราคนไทยยุคต่อๆ มาละเลยและไม่ให้ความสำคัญทั้งๆ ที่เป็นเรื่องของการสั่งสมประสบการณ์มายาวนานและได้รับการพัฒนาครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิต ดังตัวอย่างของการสูญเสียความรู้เรื่องรูปแบบที่สร้างสรรค์ขึ้นใช้กันในอดีต เช่น เรือพลู เรือกุแหละ
เมื่อครั้งผมกับพรรคพวกช่วยกันจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เรือพื้นบ้านที่วัดยาง ณ รังสี ตำบลตะลุง อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๙ ได้มีโอกาสได้รวบรวมเรือ จำแนกและศึกษาทำให้ได้ข้อมูลที่อยากจะเล่าสู่กันฟังดังนี้คือ
เรือพื้นบ้านของภาคกลางประเทศไทยมีเทคนิคการทำเรือที่สำคัญสองแบบคือ เรือขุดและเรือต่อ และเข้าใจว่าเรือขุดเป็นเทคนิคการทำเรือที่เก่าแก่กว่า และการขุดเรือเป็นคุณสมบัติพื้นเมืองอย่างแท้จริง ส่วนเทคนิคอีกแบบ คือการต่อเรือนั้นคงเป็นเทคนิคเข้ามาภายหลัง และน่าจะเป็นอิทธิพลที่ได้รับจากโลกภายนอก เช่น จากจีนและชาวตะวันตก
การใช้ขวานผึ่งถากท่อนไม้ให้เป็นโกลนเรือ ภาพวาดสมัยรัชกาลที่ ๖
ที่พระอุโบสถวัดมหาธาตุวรวิหาร จังหวัดเพชรบุรี
ชนิดของไม้ที่นิยมนำมาใช้ขุดทำเรือหรือต่อเรือคือ ไม้ตะเคียนและไม้สัก
เรือพื้นบ้านทั้งเรือขุดและเรือต่อ มีแบบและชื่อต่างๆ กันดังนี้คือ
เรือชะล่า
เป็นเรือขุดจากซุงไม้ทั้งต้น นิยมขุดจากซุงไม้สัก ปากเรือไม่เบิกกว้าง ท้องเรือแบน ความกว้างของลำเรือเท่ากันเกือบตลอดลำ หัวและหางเรือถากเป็นแผ่นแบนและปลายตัดตรง พบใช้มากแถบลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบน คือนครสววรค์ กำแพงเพชร นิยมใช้ถ่อไปตามลำน้ำที่มีน้ำไม่ลึกมากนัก หรือถ่อเข้าไปในทุ่งเพื่อลงเบ็ด บรรทุกข้าวฟ่อน บรรทุกหญ้า
เรือหมู
เป็นเรือขนาดเล็กเสริมกราบ ปกติจะมีขนาดเล็กกว่าเรือพายม้า มีหัวและหางเหลาเป็นแท่งขอบเว้าและส่วนปลายเป็นมุมแหลม ใช้เป็นเรือประจำบ้านหรือหาปลา น่าจะเป็นเรือพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์ของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา
เรือสำปั้น
เป็นเรือต่อที่มีหัวและหางตัดตรง ส่วนหางจะเชิดสูงกว่าหัวเรือ มีประวัติว่าเดิมเป็นแบบของเรือชาวจีน ที่ต่อขึ้นด้วยไม้สามแผ่น แต่คยไทยได้ปรับปรุงให้ต่อด้วยๆไม้ ๕ แผ่น ทำให้เพรียวขึ้น เรือสำปั้นมีหลายขนาด สำหรับขนาดเล็กมีหัวและหางยาวเพรียวนั่งได้เพียงคนเดียวเรียก สำปั้นเพรียว เป็นเรือที่พระใช้สำหรับบิณฑบาต
เรือพายม้า
เป็นเรือขุดสริมกราบ หัวและหางเรือถากให้เป็นแท่งแบนปลายตัดและงอนสูงเล็กน้อย กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงระบุในพระนิพนธ์สาสน์สมเด็จว่า เป็นเรือที่พบเห็นทั่วไปในประเทศพม่า คงจะเพี้ยนมาจากชื่อเดิมว่า เรือพม่า กลายเป็นเรือ พายม้า ประโยชน์ใช้สอยของเรือพายม้าคือ บรรทุกสินค้า บรรทุกคนโดยสาร หากมีขนาดใหญ่ตรงท้ายเรือจะมีประทุนสำหรับใช้พักอาศัย พบเห็นได้ทั่วไปในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา-ป่าสัก
เรือกระแชง
เป็นเรือต่อขนาดใหญ่ ท้องเรือโค้งกลม ที่เรียกว่าเรือกระแชงนั้นเป็นเพราะแต่เดิมใช้กระแซงคือใบเตยหรือใบจากนำมาเย็บเป็นแผงทำเป็นประทุนบังแดดฝน แต่ปัจจุบันนิยมใช้สังกะสีใช้เป็นเรือสำหรับบรรทุกข้าวเปลือก ข้าวสาร ไม้ฟืน เคลื่อนที่โดยใช้แจวหรือถ่อรวมทั้งใช้เรือยนต์ลากจูง
เรืออีโปงหรือเรือหลุมโปง
เป็นเรือขุดจากต้นตาล จัดเป็นเรือประเภทไม่ถาวร ใช้สำหรับถ่อหรือแจวโดยสารไปมา หรือบรรทุกของเล็กๆ น้อยๆ ได้ เรือรูปแบบนี้คือเรือทำเองได้ง่าย เป็นเรือของผู้ไม่มีทรัพย์ พบว่าเป็นรูปแบบเรือที่ใช้ในหมู่ชาวนาในประเทศกัมพูชาด้วย
เรือป๊าบ
เป็นเรือต่อ ลักษณะคล้ายเรือสำปั้นแต่ต่างกันที่หัวและหางเรือป๊าบค่อนข้างมน มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่ารูปร่างของเรือป๊าบคล้ายผลแตงโมผ่าซีก แต่มีหัวและท้ายยื่นโผล่ออกไป ใช้เป็นเรือประจำบ้านหรือบรรทุกของได้บ้าง
เรือบด
เป็นเรือต่อขนาดเล็ก ท้องเรือมีทั้งแบนและเป็นสันแหลมแบบเรือฝรั่ง หัวหางของเรือเรียว ปกติมันมีแผ่นไม้ตัดเป็นรูปโค้งปีกกาปิดส่วนหนึ่งของด้านบนหัวและทายเรือ (เรียกตะปิ้ง) ใช้เป็นเรือประจำบ้าน
เรือเข็ม
เป็นเรือต่อขนาดเล็ก หัวและหางเรือชี้แหลม (เหมือนเข็ม ปลาเข็ม) มีพนักพิงกลางลำเรือ นิยมทำให้นั่งได้เพียงคนเดียวโดยนั่งเหยียดขาไปข้างหน้า ใช้พายสองใบ เรือแบบนี้สามารถพายได้เร็วสำหรับไปธุระ ไปเที่ยว
เรือมาด
เป็นเรือขุดไม่เสริมกราบ หัวและหางเรือถากให้เป็นแท่งแบนปลายตัดแต่ไม่งอนสูงมากเท่ากับเรือพายม้า มีทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ สำหรับขนาดใหญ่ใช้บรรทุกข้าว ไม้ฟืน หิน โดยใช้แจวให้เคลื่อนที่ ส่วนเรือมากขนาดเล็กใช้ถ่อหรือพายไปตามทุ่งเพื่อหาปลา หรือบรรทุกของที่มีน้ำหนักน้อย
ตัวอย่างของรูปแบบเรือทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของเรือพื้นบ้านที่คนไทยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาใช้ เรือบางแบบอาจจะหาดูได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เรือหมู เรือพายม้า เรือชะล่า แต่เรือบางแบบเช่น เรือสำปั้น เรือกระแซง เรือป๊าบ ยังคงพบเห็นใช้กันมาจวบจนปัจจุบัน
ข้อมูลจากหนังสือ เซนส์แอนด์ซีน หน้า 34-45