แม่น้ำเจ้าพระยาในประวัติศาสตร์

 
ในประวัติศาตร์ของชาติไทย ได้มีชาวต่างชาติเดินทางมาสู่กรุงศรีอยุธยาและกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งทางการทูต ทางการค้า ทางการศาสนา ตลอดจนการท่องเที่ยว และได้บันทึกสิ่งที่พบเห็นตลอดลำน้ำเจ้าพระยา บันทึกของชาวต่างชาติให้ความรู้ทางประวัติศาสตร์แก่เราได้เป็นอย่างดี ดังนั้นจึงขอนำส่วนหนึ่งของบันทึกชาวต่างชาติที่เกี่ยวกับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเรียงลำดับตามระยะเวลาจากสมัยอยุธยาถึงรัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
 
เมอซิเออ เดอ ลา ลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ที่เดินทางมาถวายพระราชสาส์นเจริญพระราชไมตรีกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้บรรยายถึงแม่น้ำเจ้าพระยาว่า
 
“...แม่น้ำ (Menam) ไหลผ่านตั้งแต่เมืองเชียงใหม่จนกระทั่งตกทะเล กล่าวคือจากเหนือมาใต้ คำว่า แม่น้ำ นี้ มีความหมายเช่นเดียวกับแม่น้ำ (Mere-eau) อันแปลว่าลำน้ำใหญ่ (grande eau) แม่น้ำนี้ได้รับน้ำจากลำน้ำลำห้วยหลายสายระเรื่อยมาทั้งสองฟากฝั่งจากเทือกเขาทั้งสองด้านที่กล่าวถึงนั้น แล้วก็ไหลลงสู่ปากอ่าวสยามแยกออกเป็นสามแคว แควที่ใช้ในการเดินเรือได้สะดวกนั้นคือลำน้ำสายทางด้านทิศตะวันออก”
 

เรือนแพบริเวณปากน้ำโพ จุดกำเนิดแม่น้ำเจ้าพระยา
รัชกาลที่ ๕ ทรงฉายเมื่อคราวเสด็จประพาสต้น
 
บาทหลวงกีย์ ตาชารด์ ซึ่งร่วมเดินทางมาในคณะราชทูตเชอร์วาลิเอร์ เดอ โชมองต์ ของพระเจ้าหลุยส์ ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ได้บรรยายถึงลักษณะของสันดอนแม่น้ำเจ้าพระยา
 
“...เราไปถึงปากน้ำในตอนกลางคืนค่อนข้างดึก ที่ตรงนั้นมีความกว้างราวหนึ่งลิเออ และเมื่อแล่นทวนน้ำขึ้นไปสักครึ่งลิเออ ความกว้างของแม่น้ำลดลงเหลือเพียงหนึ่งในสี่ของลิเออ และเหนือขึ้นไปอีกเล็กน้อยตอนกว้างที่สุดก็เหลือประมาณร้อยหกสิบก้าวเท่านั้น แม่น้ำของเขางดงามมากและมีความลึกพอสมควร สันดอนนั้นเป็นกองโคลนในทะเลอยู่ตรงปากทางเข้าแม่น้ำ ตอนน้ำขึ้นสูงสุดจะมีความลึกเพียงสิบสองถึงสิบสามฟุตเท่านั้นเอง ทิวทัศน์ของแม่น้ำนั้นงดงามนัก ทั้งสองฟากฝั่งเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่เขียวชอุ่มอยู่เป็นอาจิณ และเบื้องหลังออกไปเป็นท้องทุ่งอันไพศาลแลสุดสายตาเต็มไปด้วยต้นข้าว...”
 
และเชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง นายทหารเรือฝรั่งเศสที่ร่วมเดินทางมาในคณะราชทูต เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ ก็บรรยายถึงสันดอนแม่น้ำเจ้าพระยาความว่า
 
“...เราเดินทางต่อไปเรียบร้อยจนถึงสันดอน (ปากแม่น้ำเจ้าพระยา) ได้ทอดสมอลงเมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน พ.ศ. ๒๒๒๘ นับตั้งแต่วันออกจากท่าเรือเมืองเบรสต์ เราเดินทางมารวมเวลาหกเดือนเศษ
 
สันดอนนี้ไม่ใช่อื่นไกล คือ เนินดินและโคลนที่กระแสน้ำซัดลงมาทิ้งไว้ห่างจากปากน้ำประมาณสองร้อยเส้น ที่ตรงเส้นนี้น้ำตื้นมากเวลามีน้ำขึ้นก็ไม่ลึกเกินกว่าสองวาครึ่ง เหตุฉะนั้นเรือขนาดใหญ่จึงข้ามสันดอนไปไม่ได้...”
 
เชอวาลิเอร์ เดอ ฟอร์บัง ได้พรรณาถึงแม่น้ำเจ้าพระยาและบ้านเรือนริมฝั่งแม่น้ำไว้ว่า
 
“เมื่อเรือมาถึงปากน้ำ ก็ค่ำมืดลง แม่น้ำนี้เป็นแม่น้ำใหญ่ที่สุดแม่น้ำหนึ่งในบูรพาทิศ คนไทยเรียกชลธารนี้ว่า  “แม่น้ำ” ซึ่งแปลว่า “แม่ของน้ำ” เวลานั้นน้ำทะเลกำลังไหลขึ้น เรือต้องทวนน้ำเราจึงแวะเข้าฝั่ง ได้แลเห็นเรือขัดแตะมุงหลังคาจากสามหรือสี่เรือน ม.วาแชร์บอกข้าพเจ้าว่าผู้ว่าราชการปากน้ำอยู่ที่หมู่บ้านนั้น”
 
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จอห์น ครอว์เฟิร์ด ทูตชาวอังกฤษเดินทางเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศไทยในรัชกาลที่ ๒ ได้บรรยายถึงแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ว่า
 
“...บริเวณที่ใกล้กับแม่น้ำเหนือขึ้นไปประมาณ ๑๒ ไมล์ เป็นบริเวณที่ไม่เหมาะกับการเพาะปลูก เนื่องจากน้ำเค็มและบางครั้งก็มีน้ำท่วม ...พ้นจากช่วงนี้ไปและตลอดทางไปจนถึงเมืองหลวงสองฝั่งแม่น้ำเริ่มเป็นที่ดอนเราจะสังเกตเห็นผืนแผ่นดินที่มีการเพาะปลูกอย่างอุดมสมบูรณ์ ทั้งนาข้าว สวนผลไม้ และท่ามกลางพื้นที่เกษตรกรรมนั้นมีหมู่บ้านตั้งอยู่มากมาย...”
 

ภาพแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงหน้าวัดอรุณราชวรารามในสมัยรัชกาลที่ ๔-๕
 
ถึงรัชกาลที่ ๔ บันทึกรายวันของเซอร์ จอห์น เบาริง อัครราชทูตอังกฤษซึ่งอัญเชิญพระราชสาสน์ของสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียเข้ามาเจริญพระราชไมตรีกับประเทศสยามได้บรรยายสภาพภูมิศาสตร์ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ว่า
 
...แม่น้ำมีลักษณะงดงามหนาแน่นไปด้วยพืชพรรณอันอุดมยิ่ง ตามริมฝั่งมองเห็นกระท่อมไม้ไผ่เป็นระยะๆ ท่ามกลางใบไม้หลายชนิดซึ่งมีสีเขียวสดใสงดงามอย่างชนิดงานศิลปะไม่อาจลอกเลียนได้ ผลไม้และดอกไม้ห้อยอยู่ตามกิ่งไม้นับเป็นพันๆ เราสังเกตว่าแม้แต่สัตว์ป่าก็แทบจะไม่ตื่นกลัวเมื่อเราเข้ามาใกล้ ปลาแหวกว่ายตลอดสองฝั่งที่เต็มไปด้วยโคลน นกนั่งมองเราขณะที่เราผ่านไป บ้างก็บินไปรอบๆ เหนือศีรษะเรา...
 
...เรามาถึงจุดหมาย (กรุงเทพฯ) ในเวลาประมาณ ๖ นาฬิกา มองเห็นแสงของหิ่งห้อยส่งประกายวาบวับเป็นจำนวนมาก เสียงที่เกือบจะเหมือนเสียงคนของตุ๊กแกส่งเสียงร้องบ่อยๆ การ้องเสียงดัง และสุนัขยิ่งเห่าดังกว่า ดูเหมือนว่าในเขตอากาศร้อนชื้นนี้จะมีความกระปรี้กระเปร่าอันน่าอัศจรรย์ในชีวิตของพืชและสัตว์ ตลอดจนพลังอำนาจและความรื่นรมย์และดูเหมือนว่ามนุษย์จะมีความสำคัญน้อยกว่าที่อื่นๆ เมื่อเทียบกับความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติ แมลง สัตว์ ต้นไม้ดำรงชีวิตอยู่ในลักษณะที่แตกต่างจากที่พวกเราเห็นมันในเขตอากาศอันน่าซึมเศร้าของพวกเรา...”
 
อเล็กซานเดอร์ อังรี มูโอต์ นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศส ที่เดินทางมาสำรวจดินแดนไทย ลาว กัมพูชา ในสมัยรัชกาลที่ ๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ ได้บันทึกไว้ว่า
 
“...แม่น้ำเจ้าพระยา (Meanam) มีความงดงามสมกับฉายา “Mother of Waters” และมีความลึกขนาดที่เรือกลไฟที่มีขนาดใหญ่ที่สุดยังสามารถแล่นเลียบริมฝั่งแม่น้ำไปได้โดยปราศจากอันตราย ใกล้จนสามารถได้ยินเสียงนกที่เกาะอยู่บนกิ่งไม้ส่งเสียงร้องอย่างร่าเริงและเสียงหึ่งๆของแมลงนับหมื่นนับแสนตัว ดังก้องไปทั่วดาดฟ้าเรือตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน  ทัศนียภาพโดยทั่วๆไปดูงดงามราวกับภาพวาด ตลอดสองฝั่งแม่น้ำมีบ้านเรือนตั้งอยู่เป็นจุดๆ ไกลออกไปแลเห็นหมู่บ้านปลูกเรียงรายอยู่เป็นหย่อมๆ สร้างความหลากหลายแก่ทัศนียภาพเป็นอย่างยิ่ง...”
 

แม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยรัชกาลที่ ๕ มองเห็นเรือพระที่นั่งมหาจักรีเทียบท่าราชวรดิษฐ
 

แม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยรัชกาลที่ ๗ ยังคงมองเห็นเรือสำเภาขนาดเล็ก
ของชาวจีนเข้าเทียบท่าขนส่งสินค้าอยู่บริเวณปากคลองตลาด
 
และเทาเซนต์ แฮรีส ทูตชาวอเมริกันที่เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีกับประเทศสยามได้บรรยายถึงแม่น้ำเจ้าพระยาไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ไว้ว่า
 
“...ภาพภูมิประเทศในตอนนี้สวยงามอย่าสุดที่จะพรรณนา น้ำกำลังขึ้นและเกือบจะท่วมฝั่งดิน มีต้นไม้ยื่นลงมาเหนือสายน้ำหลายแห่งทอดกิ่งก้านสัมผัสกับพื้นน้ำ ที่นี่เราเห็นต้นฝ้าย ต้นไผ่เหลือง (feather bamboo) หมาก และมะพร้าว ไม้จำพวกลำเจียกและเตย กับต้นไม้อื่นๆ ที่ข้าพเจ้าไม่รู้จักเพิ่มเติมจากที่ข้าพเจ้ากล่าวถึงไว้แล้ว (ยกเว้นต้นโกงกาง) แสงแดดยามตะวันคล้อยต่ำทอมาอ่อนๆ ผ่านกลุ่มเมฆบางๆ ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างดูมีชีวิตชีวาและสดชื่น ด้วยอากาศอันเย็นฉ่ำเหมือนดังได้อยู่ ณ สรวงสวรรค์ หลังจากที่เราต้องทนอุดอู้อยู่กับอากาศร้อนจัด ณ ที่จอดเรือนอกสันดอนมาแล้ว
 
...สีเขียวชอุ่มช่างสวยงามมากและอุดมสมบูรณ์ยิ่งนัก ท่ามกลางสีอันสวยสดนี้ สีเขียวอ่อนของต้นโกงกางจะจับตาตั้งแต่ขณะแรกที่ท่านเข้าไปใกล้ฝั่งจนพอเห็นความอ่อนแอของสีอย่างเด่นชัด สีเขียวของต้นโกงกางนี้มีอยู่เรื่อยขึ้นไปตามลำแม่น้ำเป็นระยะทางไกลพอดู ครั้นแล้ว (เหนือปากน้ำขึ้นมา) สีเขียวของต้นโกงกางก็จะผสมกับสีเขียวเข้มกว่าของต้นสนและต้นจาก...”
 
ถึงรัชกาลที่ ๕ พระเจ้านิโคลาสที่ ๒ แห่งรัสเซีย เมื่อครั้งทรงเป็นมกุฎราชกุมารได้เสด็จเยือนประเทศสยาม ได้ให้เจ้าชายอี ออคทอมสกี้ บันทึกสิ่งที่พบเห็นในการเดินทางและเมื่อถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ได้บันทึกไว้ว่า
 
“...เวลาเช้าตรู่ เรือหลวงก็ค่อยๆ แล่นผ่านปากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาอย่างช้าๆ ถ้าจะว่ากันตามหลักแล้ว ...ชายฝั่งที่แลเห็นนั้นก็แสดงให้เห็นชัดว่ามีซากใบไม้ทับถมอยู่หนาทีเดียว ฉะนั้นการเพาะปลูกจึงได้ผลงอกงามเป็นอันมากจากพื้นดินอันอุดมสมบูรณ์ได้...
 
...แม่น้ำเจ้าพระยา (แม่ผู้เป็นใหญ่ของน้ำ) ซึ่งทำให้ผืนแผ่นดินที่ราบอันกว้างใหญ่ตามลุ่มแม่น้ำอุดมสมบูรณ์ เป็นชื่อที่ผู้คนพลเมืองพากันตั้งให้เหมือนกับที่เรียกแม่น้ำไนล์ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ตั้งแต่บริเวณพื้นที่ราบในภาคกลางต่ำลงมาตลอดไปจนถึงในอ่าว นอกจากนั้นยังทำให้ชายฝั่งตื้นเป็นแนวยาวลงไปทางใต้มากขึ้นทุกที เมื่อประมาณสองสามร้อยปีมานี่เอง ที่ๆ เราเห็นวัดตั้งอยู่ท่ามกลางความเขียวชอุ่มขณะนี้ เคยเป็นชายหาดอันว่างเปล่าและมีลมพัดแรงมากมาก่อน...”
 
กรุงเทพมหานครอันตั้งอยู่ ๒ ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน เมื่อ ๓๐๐-๔๐๐ ปีก่อนในสมัยอยุธยานั้น มีชื่อว่าเมืองบางกอก และยังมีสภาพเป็นเมืองเล็กๆ ดังบันทึกของชาวต่างชาติที่เดินทางมากรุงศรีอยุธยา ดังนี้
 
ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม (รัชกาลที่ ๒๑ แห่งกรุงศรีอยุธยา) นายอดัม เดนตัน ผู้แทนการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ ที่เข้ามาทำการค้าที่กรุงศรีอยุธยา ได้บันทึกว่า
 
“จากชายฝั่งของประเทศสยาม ตนและพวกสหายได้เดินทางขึ้นไปตามแม่น้ำ ๒๕ ไมล์ ก็ถึงเมืองๆ หนึ่ง ชื่อบางกอก (Bancope =Bangkok) ณ เมืองนี้พวกเขาได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี เดินทางไกลไปอีก ๑๐๐ ไมล์ ก็ถึงกรุง (ของสยาม) ที่นั่นพระเจ้าแผ่นดินและประชาชนจัดหาสิ่งที่พวกเขาประสงค์ให้ทุกอย่าง”
 

ภาพวาดแผนที่กรุงศรีอยุธยาโดยลา ลูแบร์ ราชทูตชาวฝรั่งเศส
ซึ่งได้วาดไว้ในหนังสือ คิงดอมออฟสยามช่วงปี ค.ศ. ๑๖๘๗-๑๖๘๘
 
สมัยพระเจ้าปราสาททอง (รัชกาลที่ ๒๔ แห่งกรุงศรีอยุธยา) นายเยเรเมียส ฟาน ฟลีต ผู้อำนวยการทางการค้าของบริษัทอินเดียตะวันออกของฮอลันดา ประจำกรุงศรีอยุธยาได้กล่าวถึงเมืองบางกอกว่า
 
“บางกอกเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีกำแพงล้อมรอบ ตั้งอยู่ทางริมฝั่งแม่น้ำห่างจากทะเลประมาณ ๗ ไมล์ และมีทุ่งน่าที่อุดมสมบูรณ์ แม่น้ำเจ้าพระยา (Menam) และแม่น้ำท่าจีน (Taatsyn) มาบรรจบกันที่จุดนี้รอบๆ เมืองมีบ้านเรือนตั้งอยู่จำนวนมาก และมีทุ่งนาที่อุดม...”
 
บันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟาน ฟลัตนี้ ทุกวันนี้รู้จักกันในชื่อ “พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวัน วลิต” อันเป็นพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา “เวอร์ชั่นฝรั่ง” และเป็นพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี
 
สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (รัชกาลที่ ๒๗ แห่งกรุงศรีอยุธยา) บาทหลวงกีย์ ตาชารด์ บาทหลวงคณะเยซูอิตฝรั่งเศสได้บันทึกถึงเมืองบางกอกว่า
 
“...เมืองบางกอก (Bancok) อันเป็นเมืองด่านแห่งแรกของราชอาณาจักรซึ่งตั้งอยู่ลึกจากปากน้ำเป็นระยะทางสิบลิเออ (ประมาณ ๓๐ ไมล์)...”
 
สำหรับสถานที่สำคัญริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในประวัติศาสตร์นั้น สถานที่สำคัญในสมัยอยุธยาคงเหลือแต่ชื่อ จากบันทึกของชาวต่างชาติได้กล่าวถึง ด่านขนอนที่เมืองบางกอกป้อมแก้ว ป้อมทับทิมที่เมืองตลาดขวัญ (นนทบุรี) และโกดังสินค้าของฮอลันดาที่กรุงศรีอยุธยา
 
พ่อค้าชาวดัตช์ในสมัยพระเจ้าทรงธรรมได้บันทึกถึงขนอนบางกอกอันเป็นด่านภาษีแห่งแรกเมื่อเดินทางถึงราชอาณาจักรสยามไว้ว่า
 
“...ขนอนบางกอก (Canen Bangkok) ซึ่งเรือและสำเภาทุกลำไม่ว่าจะมาจากชาติใดก็ตามจะต้องหยุดจอดทอดสมอและแจ้งให้ด้านนี้ทราบก่อนว่าจะเข้ามาเพื่อจุดประสงค์อันใด บรรทุกสินค้ามาจากไหน มีผู้ใดมากับเรือบ้าง และมีสินค้าอะไรบ้างที่บรรทุกมา ก่อนที่เรือเหล่านั้นจะล่วงล้ำหรือเดินทางเข้าไปกว่านั้น จากบางกอกขึ้นมาประมาณ ๑ ไมล์ มีด่านศุลกากรอีกแห่งหนึ่งเรียกว่า บ้านตะนาว ซึ่งเรือทุกลำที่จะขึ้นไปยังกรุงศรีอยุธยาจะต้องหยุดตรวจอีกครั้งหนึ่ง เพราะอยู่ในรัศมีไม่ไกลจากกรุงศรีอยุธยา
 
ในทำนองเดียวกัน เมื่อเรือจะกลับออกไป และเมื่อผ่านด่านภาษี ที่บ้านตะนาวอีกก็จะต้องหยุดทอดสมอเพื่อแจ้งให้ทราบว่าจะออกเดินทางไปไหนมีสินค้าสัมภาระและบรรทุกใครออกไปบ้าง ในเรื่องเกี่ยวกับระเบียบปฏิบัตินั้นผู้ที่ออกไปจะต้องได้รับหนังสือพระราชทานสำคัญเสียก่อนเรียกว่า ตราหรืออีกนัยหนึ่งก็คือ เอกสารที่ใช้แทนหนังสือเดินทาง (ใบผ่าน) ซึ่งจะต้องนำไปแสดงที่ด่านภาษีที่บางกอก ซึ่ง ณ ที่นี่ เรือจะต้องหยุดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อจ่ายอากรแผ่นดินสำหรับเรือและสินค้า หากไม่ปฏิบัติตามนี้แล้วไม่ว่าจะเป็นนายเรือหรือเจ้านายอื่นๆ ก็ตาม จะถูกยึดเรือทันที”
 

ภาพเรือสำเภาขนส่งสินค้าขนาดเล็กในอดีต
 
บาทหลวงเดอ ชัวซีย์ ในคณะราชทูตฝรั่งเศสชุดแรกที่เดินทางมาประเทศสยาม ได้พรรณาเรื่องป้อมปืนที่เมืองตลาดขวัญไว้ว่า
 
“...เมื่อเช้านี้ เราผ่านป้อมปืนสร้างด้วยไม้สองป้อมซึ่งยิงสลุดให้แก่เรา ป้อมหนึ่งสิบนัด อีกป้อมหนึ่งแปดนัด ที่ป้อมทั้งสองนี้มีแต่ปืนเหล็กหล่อ และดินดำดีมาก ป้อมทางขวามองของข้าพเจ้าชื่อป้อมแก้ว (Hale de crystal) และป้อมทางซ้ายมือชื่อ ป้อมทับทิม (Hale derubis) ที่ตรงนี้เจ้าเมืองบางกอกได้มาอำลาท่านราชทูตด้วยสุดเขตการปกครองของตนแล้ว และเจ้าเมืองจังหวัดตลาดขวัญ (Teland-couan) ได้ลงเรือบังลังก์มาเยี่ยมคำนับ เรือของเขามีฝีพายถึงหกสิบคน”
 
และนิโกลาส์ แชรแวส ชาวฝรั่งเศสที่เดินทางมาราชอาณาจักรสยาม และพำนักอยู่นานถึง ๕ ปีได้เขียนหนังสือสือเกี่ยวกับราชอาณาจักรสยาม และกล่าวถึงโรงสินค้าของฮอลันดาริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่กรุงศรีอยุธยาไว้ว่า
 
“สำหรับพวกชาวฮอลันดานั้น...อาคารที่พวกเขาสร้างขึ้นริมฝั่งแม่น้ำในบริเวณใกล้นครหลวง (อยุธยา) นั้นนับว่างามและโอ่อ่าที่สุดในราชอาณาจักร... พวกเขายังมีอาคารอีกหนึ่งที่ใกล้ปากน้ำ อันเป็นทำเลที่เหมาะสำหรับการจอดเทียบเรือมาก แต่ก็ไม่แน่ใจว่าจะอยู่ไปได้นานสักเท่าไหร่ เพราะตั้งอยู่ใกล้ชายป่านัก ด้วยปรากฏว่ามีเสือมาเยือนอยู่บ่อยๆ วันหนึ่งกะลาสีหลายคนดื่มเหล้าแล้วนอนหลับไปเสือเลยมาลากเอาไปกินเสีย”
 
สถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เกือบทั้งหมดล้วนสูญสลายไปตามกาลเวลา ในปัจจุบันยังคงเหลือโบราณสถานสำคัญสมัยอยุธยาอยู่เพียง ๒ แห่ง ทั้ง ๒ แห่งต่างเป็นโบราณสถานที่มีขนาดใหญ่โต มีความสำคัญในประวัติศาสตร์โดยอยู่ที่อยุธยาแห่งหนึ่งและอยู่ที่กรุงเทพฯ อีกแห่งหนึ่ง
 
โบราณสถานสำคัญริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือ วัดไชยวัฒนาราม
 
วัดไชยวัฒนาราม ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก นอกเกาะเมืองอยุธยาเป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๒๔ แห่งกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นต้นราชวงศ์ปราสาททองโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๓ เป็นวัดที่ใหญ่โตและสวยงามที่สุดวัดหนึ่งในกรุงศรีอยุธยา
 
วัดไชยวัฒนาราม มีพระปรางค์องค์ใหญ่อย่างวัดพระราม วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะในสมัยอยุธยาตอนต้น เนื่องจากในรัชกาลนี้ ไทยได้เขมรกลับมาอยู่ใต้อำนาจจึงได้สร้างพระปรางค์อย่างสถาปัตยกรรมขอมเพื่อแสดงพระบรมเดชานุภาพของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองว่าทรงอยู่เหนืออาณาจักรขอม
 
พระปรางค์ประธาน หรืออาจเรียกอย่างโบราณว่า “องค์พระศรีรัตนมหาธาตุ” นั้นมีปรางค์บริวาร ๔ องค์อยู่บนฐานเดียวกันล้อมรอบด้วยพระระเบียงทั้ง ๔ ด้าน โดยมีพระเมรุทิศและพระเมรุรายอยู่ทั้ง ๘ ทิศ เป็นผังพระมหาธาตุที่สง่างามที่สุดมีเค้าให้เห็นเหมือนปราสาทนครวัด
 
แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณช่วงโค้งน้ำตะวันตกของพระนคร มองเห็นป้อมวิไชยประสิทธิ์ หรือ
ป้อมวิไชยเยนทร์ ในสมัยกรุงศรียุธยาซึ่งเป็นที่ตั้งของ "ขนอนบางกอก" ด่านเก็บภาษี
และตรวจสอบสินค้าสำคัญของชาวต่างชาติก่อนเดินทางสู่กรุงศรีอยุธยา
 

พระสมุทรเจดีย์ ปากแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ
สัญลักษณ์สำคัญของนักเดินเรือในสมัยรัตนโกสินทร์ว่า "ได้เดินทางมาถึงสยาม" แล้ว
 
วัดไชยวัฒนารามเป็นโบราณสถานที่สวยงามที่สุดที่เหลืออยู่ของกรุงศรีอยุธยา โบราณสถานสำคัญริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่กรุงเทพมหานครคือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์
 
ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ตั้งอยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ ในเขตบางกอกใหญ่ ฝั่งธนบุรี เดิมชื่อป้อมบางกอก หรือป้อมวิไชยเยนทร์ ตามชื่อเจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ซึ่งเป็นแม่กองอำนวยการสร้าง
 
ประวัติของป้อมวิไชยประสิทธิ์นั้น ในสมัยอยุธยา เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ได้เสนอให้สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สร้างป้อมใหญ่ที่เมืองบางกอกทั้ง ๒ ฝั่งน้ำเจ้าพระยา และทำสายโซ่ใหญ่ขึงไว้ ๒ ฝั่งขวางลำน้ำไว้   เพื่อป้องกันเรือข้าศึกซึ่งมาจากทางทะเล   สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์เป็นแม่กองอำนวยการสร้าง
 
ใน พ.ศ. ๒๒๒๘ เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองด์ ราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งเดินทางมาเจริญพระราชไมตรี ได้เคยขึ้นพักแรมคืนหนึ่ง ณ ตึกรับรองของป้อมทางฝั่งตะวันตก และเมื่อคณะราชทูตเดินทางกลับ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงขอเรือเอกเชอวาลิเออ เดอ ฟอร์บัง นายทหารฝรั่งเศสไว้เป็นครูฝึกทหารไทย และต่อมาได้พระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นออกพระศักดิ์สงคราม มีตำแหน่งเป็นเจ้าเมืองบางกอก (ไม่น่าเชื่อว่า กรุงเทพมหานครในอดีต (เมืองบางกอก) เคยมีผู้ว่า (เจ้าเมือง) เป็นฝรั่ง และยิ่งกว่านั้น เจ้าพระยาวิไชยเยนทร์ ก็เคยเป็นถึงสมุหนายกในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตำแหน่งสมุหนายกในสมัยโบราณก็คือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน ดังนั้น ประเทศไทยก็เคยมีนายกรัฐมนตีเป็นฝรั่ง)
 
ออกพระศักดิ์สงครามได้มาบัญชาการอยู่ที่ป้อมวิไชยเยนทร์ได้ปรามปราบกบฏมักกะสันที่มาโจมตีป้อม ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดเกล้าฯ ให้นายพลเดส์ฟาร์ชพร้อมก้วยกองทหารฝรั่งเศสมาประจำรักษาป้อมที่เมืองบางกอก ครั้นถึงสมัยสมเด็จพระเพทราชา เกิดการต่อสู้รบระหว่างทหารไทยกับทหารฝรั่งเศส ณ ป้อมวิไชยเยนทร์ทั้ง ๒ ฝั่ง ไทยเป็นฝ่ายชนะกองทหารฝรั่งเศสต้องยอมคืนป้อมที่เมืองบางกอกแก่ไทย และออกจากประเทศไทยไปทั้งหมด ป้อมวิไชยเยนทร์ฝั่งตะวันตกเสียหายมาก สมเด็จพระเพทราชาจึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อลง เหลือแต่ป้อมวิไชยเยนทร์ฝั่งตะวันตกป้อมเดียว
 

การเล่นเรือใบในบริเวณปากน้ำสมุทรปราการ
 
ใน พ.ศ. ๒๓๑๑ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ทรงเลือกที่ตั้งพระราชวังอยู่ติดกับป้อมวิไชยเยนทร์ฝั่งตะวันตก ด้วยเป็นชัยภูมิที่ดียิ่ง และเมื่อได้สร้างกำแพงพระนครและบูรณะป้อมวิไชยเยนทร์ จึงโปรดเกล้าพระราชทานนามป้อมใหม่ว่า ป้อมวิไชยประสิทธิ์
 
และในปลายรัชกาล สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีก็ทรงถูกสำเร็จโทษ ณ ป้อมวิไชยประสิทธิ์แห่งนี้
 
ปัจจุบันป้อมวิไชยประสิทธิ์ยู่ในเขตกองทัพเรือ เป็นที่ตั้งเสาธงราชนาวีและธงประจำตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ และติดตั้งปืนใหญ่สำหรับยิงสลุตในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา
 
เรื่องของแม่น้ำเจ้าพระยาในประวัติศาสตร์ก็น่าจะจบลงเพียงนี้ แต่ความจริงยังมีสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่มีความเกี่ยวเนื่องกับแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นพิเศษ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าจะต้องนำมาเสนอท่านผู้อ่านเป็นการส่งท้าย นั่นก็คือ พระสมุทรเจดีย์
 

ภาพวาดเรือสำเภาและเรือเดินสมุทรของชาวต่างชาติ
บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งชาวฝรั่งเศสได้วาดไว้
 
พระสมุทรเจดีย์ หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า พระเจดีย์กลางน้ำ เป็นพระเจดีย์ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชดำริจะสร้างพระเจดีย์ขึ้นที่เกาะน้อยในแม่น้ำเจ้าพระยาที่เมืองสมุทรปราการ เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าการสร้างป้อมปราการที่เมืองสมุทรปราการก็เพื่อจะรักษาพระพุทธศาสนา ทรงพระราชทานนามไว้ว่า พระสมุทรเจดีย์ แต่การสร้างพระสมุทรเจดีย์มาสำเร็จในรัชกาลที่ ๓ โดยเป็นพระเจดีย์ไม้สิบสองสูง ๑๓ วา ๒ ศอก ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์และสร้างพระเจดีย์กลมสูง ๒๐ วา ครอบคลุมพระเจดีย์ไม้สิบสององค์เดิม
 
พระสมุทรเจดีย์นี้ได้เป็น “จุดเด่น” ของประเทศสยาม เมื่อเรือชาวต่างชาติ มาถึงปากน้ำเจ้าพระยาเห็นพระสมุทรเจดีย์ก็หมายถึงได้มาถึงแผ่นดินสยามแล้ว และเหตุที่เรียกพระเจดีย์กลางน้ำก็เพราะเดิมแผ่นดินที่ตั้งพระสมทุรเจดีย์มีลักษณะเป็นเกาะอยู่กลางน้ำ
 
อนึ่ง พระสมุทรเจดีย์เป็นพระเจดีย์ทรงกลมหรือที่เรียกพระเจดีย์ทรงลังกา หรือพระเจดีย์ทรงระฆังที่มีสัดส่วนงดงามที่สุดเหนือพระเจดีย์ทรงกลมทั้งปวง
 
คาร์ล บ็อค นักธรรมชาติวิทยาชาวนอร์เวย์ ได้เดินทางมาสำรวจดินแดนไทยด้านภูมิศาสตร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้บันทึกไว้ว่า
 
“...พอผ่านสันดอนมาแล้วก็ถึงเกาะเล็กๆ กลางแม่น้ำที่มีวัดสร้างอยู่เรียกว่า “พระเจดีย์สมุทรปราการ” ยอดพระสมุทรเจดีย์ที่ปิดทองไว้เหลืองอร่ามกับยอดเจดีย์อื่นรอบๆ มองเห็นเด่นอยู่เหนือยอดไม้เป็นประกายงดงามเมื่อต้องแสงแดดยามเย็น ข้าพเจ้านึกอยู่ในใจว่า ในที่สุดข้าพเจ้าก็ได้เข้ามาอยู่ในดินแดนแห่งวัดวาอารามและช้างแล้ว
 
ประเทศสยามเท่าที่นักเดินทางได้เห็นเพียงแวบแรกที่ปากน้ำก็เป็นตัวอย่างอันงดงามพอแล้วสำหรับสิ่งอื่นที่จะได้ชมต่อไปจนทั่วประเทศ ตามที่คอนสแตนติ-โนเปิลมีชื่อว่าเป็นเมืองแห่งสุเหร่ากรุงเทพฯ ก็ควรจะได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งวัด และไม่ใช่แต่ในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใกล้เคียงเท่านั้น ในชนบทอันห่างไกลที่บัดนี้มีคนอยู่เพียงเล็กน้อยหรือเคยมีคนอยู่มาก่อนจะต้องมีวัดพร้อมด้วยพระประธานและหมู่พระพุทธรูปและมีพระเจดีย์นับจำนวนไม่ถ้วนล้อมรอบวัด”
 
และนายเออร์เนสต์ บัง นักเขียนชาวอังกฤษซึ่งเข้ามารับราชการอยู่ในกระทรวงธรรมการในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้บรรยายถึงงานสมัสการพระสมุทรเจดีย์ไว้ว่า
 
“...สิ่งที่นับว่าดึงดูดความสนใจมากที่สุดตรงบริเวณปากแม่น้ำก็คือพระเจดีย์อันงดงามซึ่งเป็นที่รู้จักกันในนาม “พระเจดีย์กลางน้ำ” ...งานประเพณีกลางน้ำ จะถูกจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีคนกรุงเทพฯ นับพันๆ คนจะพากันเดินทางไปเที่ยวงานทั้งทางเรือ และทางขบวนรถไฟนำเที่ยวบริเวณพื้นน้ำรอบๆ องค์พระเจดีย์เนืองแน่นไปด้วยรถบรรทุก ผู้คนแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีสันฉูดฉาดบาดตาถือของสำหรับถวายพระสงฆ์ ซึ่งมีทั้งนาฬิการาคาถูก กาน้ำชา ดอกไม้ประดิษฐ์และลูกแก้วสำหรับใช้ประดับโบสถ์เช่นเดียวกับที่เราเห็นแขวนอยู่ตามต้นคริสต์มาส นอกจากนี้ตอนกลางวันยังจัดให้มีการแข่งเรือ ส่วนตอนกลางคืนมีการแข่งขันร้องเพลงระหว่างลูกเรือซึ่งเป็นคู่แข่งขันกัน หลังจากนั้นทุกคนก็ร่วมรับประทานอาหารและสังสรรค์อย่างสนุกสนาน...”
 
ข้อมูลจากหนังสือ เซนส์แอนด์ซีน หน้า 20-28