-
Category: ประวัติโรงพยาบาล
-
Published on Saturday, 11 February 2017 02:24
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3467
ประวัติโดยย่อของ
พระยาอัศวินอำนวยเวท
(นายแพทย์ อัลฟองซ์ ปัวซ์)
นายแพทย์อัลฟองซ์ ปัวซ์ (Dr. Alphonse Poix) หรือที่คนไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 รู้จักในนาม “หมอปัวซ์” เป็นแพทย์ชาวฝรั่งเศส ที่เดินทางเข้ามาประเทศสยามราว ค.ศ.1897 (พ.ศ.2440) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาเมื่อโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ได้สร้างเสร็จเรียบร้อยใน ค.ศ. 1898 คุณหมอได้รับหน้าที่เป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ นับได้ว่าท่านเป็นแพทย์คนแรกของโรงพยาบาลแห่งนี้ อีกทั้งรับหน้าที่เป็นแพทย์ประจำสถานกงสุลฝรั่งเศส
ต่อมาคุณหมอปัวซ์ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ทำหน้าที่เป็นแพทย์ประจำพระองค์ร่วมกับแพทย์ชาวต่างชาติอีกสองท่าน ท่านยังเป็นแพทย์ประจำราชสำนักเพื่อรักษาเหล่าเชื้อพระวงศ์ และรักษาบุคคลทั่วไป ชื่อของคุณหมอปรากฏในบันทึกของพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ ไกรฤกษ์) เรื่อง จดหมายเหตุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรจนถึงสวรรคต ความว่า
“วันที่ 20 ตุลาคม เวลา 3 โมงเช้า คุณพนักงานออกมาบอกว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถ มีรับสั่งให้มหาดเล็ก ไปตามหมอเบอร์เกอร์ หมอไรเตอร์ และหมอปัวซ์ ให้รีบมาเฝ้าโดยเร็ว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จออกมารับสั่ง แก่ข้าพเจ้า (พระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ) ให้จัดอาหารเลี้ยงหมอ และจัดที่ให้หมออยู่ประจำ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป.... สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการมาฟังพระอาการ มากด้วยกัน ตั้งแต่ 5 ทุ่มได้บรรทมหลับเป็นปรกติ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนสรรพสิทธิประสงค์ หมอฝรั่ง หมอไทย และมหาดเล็ก อยู่ประจำพรักพร้อมกันตลอดทุกเวลา....วันเสาร์ ที่ 22 ตุลาคม เวลาเช้า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ และหมอฝรั่ง 3 คน ขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าก็ขึ้นไปด้วยตามเคย เมื่อกลับลงมาเห็นกิริยา ท่าทางของหมอ และเจ้านายไม่สู้ดี ได้ความว่า พระอาการหนักมาก พระบังคนเบาที่คาดว่าจะมีก็ไม่มี พิษของพระบังคนเบาซึม ไปตามเส้นพระโลหิตทั่วพระองค์ จึงทำให้เป็นพิษเซื่องซึมบรรทมหลับ อยู่เสมอ หมอตั้งพระโอสถถวาย เร่งให้มีพระบังคนเบาแรงขึ้นทุกที...
พวกหมอฝรั่งประชุมกัน เขียนรายงานพระอาการยื่นต่อเจ้านาย เสนาบดีว่าพระอาการมาก เหลือกำลังของหมอ ที่จะถวายการรักษาแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนพิษณุโลกประชานาถ และพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จมาแต่เช้า ได้ทอดพระเนตรรายงาน พระอาการที่หมอทำไว้ ทรงปรึกษาหารือเห็นพร้อมกันว่า ควรให้ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ มาเฝ้าตรวจพระอาการดูด้วย.... พระอาการตั้งแต่เช้าไปจนเย็น ไม่มีพระบังคนหนัก และเบาเลย พระหฤทัยอ่อนลงมาก ยังบรรทมหลับเซื่องซึมอยู่เสมอ เวลาย่ำค่ำสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนครสวรรค์ฯ และหมอฝรั่งขึ้นไปเฝ้าตรวจพระอาการ ข้าพเจ้าได้ขึ้นไปด้วย และเห็นหายพระทัยดังยาวๆ และหายพระทัยทางพระโอษฐ์ พ่นแรงๆ จนเห็นพระมัสสุไหวได้แต่ไกล สังเกตดูพระเนตร ไม่จับใครเสียแล้ว ลืมพระเนตรคว้างอยู่อย่างนั้นเอง แต่พระกรรณยังได้ยิน สมเด็จพระบรมราชินีนาถ กราบทูลว่าเสวยน้ำ ยังทรงพยักพระพักตร์รับได้ และกราบทูลว่าพระโอสถแก้พระศอแห้ง ของพระองค์เจ้าสายฯ ก็ยังรับสั่งว่า "ฮือ" แล้วยกพระหัตถ์ขวาและซ้าย ที่สั่นขึ้นเช็ดน้ำพระเนตร คล้ายทรงพระกันแสง พระนางเจ้าสุขุมาลมารศรี พระราชเทวี ซับเช็ดพระเนตรด้วยผ้าซับพระพักตร์ ชุบน้ำถวาย หมอฉีดพระโอสถถวาย ช่วยบำรุงพระหฤทัยให้แรงขึ้นตั้งแต่เวลานี้ต่อไป หมอฝรั่งนั่งประจำคอยจับพระชีพจร ตรวจพระอาการผลัดเปลี่ยนกัน ประจำอยู่ที่พระองค์ การหายพระทัยค่อยเบาลงๆ ทุกที พระอาการกระวน กระวายอย่างหนึ่งอย่างใด ไม่มีเลย คงบรรทมหลับอยู่เสมอ เจ้านายจะขึ้นไปเฝ้าอีกครั้ง ก็พอหมอรีบลงมาทูลว่า เสด็จสวรรคตเสียแล้วด้วยพระอาการสงบ เมื่อเวลา 2 ยาม 45 นาที”
และบันทึกของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่รัชกาลที่ 5 ทรงพระประชวรและสวรรคต ได้กล่าวถึงคุณหมอปัวซ์ไว้ว่า
“...เวลา ๘ ล.ท.เศษ หมอขึ้นไปตรวจพระอาการ, ว่ามีพระองค์ร้อนปรอดขึ้น ๑๐๑ เศษ. หมอปัวซ์ว่ามีทางที่ต้องระวังในเรื่องพระบังคนเบา, เพราะมีพระโรคไตพิการชนิดเรื้อรัง (chronic Nephritis) ซึ่งไม่เปนโรคร้ายแรงก็จริงอยู่, แต่ก็มีโรคอื่นมักพลอยซ้ำ หมอได้ตกลงกันถวายพระโอสถรักษาทางพระวักกะ (ไต). หมอปัวซ์ว่าในวันนั้นยังไม่ต้องวิตก เพราะแรกเริ่มเดิมทีประชวรด้วยพระธาตุเสียและพระบังคนผูก, เสวยพระโอสถระบายมาก พระบังคนหนักก็ออกมากเปนน้ำ, ทั้งมีทรงพระอาเจียนด้วย นับว่าน้ำได้ออกมากแล้วทั้ง ๒ ทางนี้ จึ่งไม่มีพระบังคนเบา. อีกประการ ๑ หมอว่าพระโลหิตฉีดขึ้นพระเศียรมาก, จึ่งไม่พอที่จะบังคับพระวักกะให้ทำการตามน่าที่... วันที่ ๒๒ เวลาเที่ยงคืนล่วงแล้วสักหน่อย ๑ ปวดพระบังคนหนัก, แต่หาได้มีพระบังคนออกมาไม่, มีแต่พระวาตะ, แต่ข้อนี้หมอกล่าวว่าเปนพยานอยู่ว่าพระอุทรทำงานแล้ว, จึ่งตกลงว่าให้ยอมถวายพระกระยาต้ม ถ้าจะโปรดเสวย. ฝ่ายหมอฝรั่งอยากให้ถวายน้ำสูปไก่, แต่เจ้านายเห็นกันว่า ทูลกระหม่อมได้ทรงบ่นอยากเสวยพระกระยา, ไม่ให้เสวยท่านก็ทรงบ่นว่าจะให้อด ฉนั้นถ้าได้เสวยพระกระยาอาจจะทำให้สบายพระราชหฤทัยขึ้นได้ และถ้าเสวยลงก็ต้องเข้าใจว่าไม่มีข้อเสียหายอันใด จะเปนเครื่องบำรุงพระกำลังดีขึ้นเสียอีก ในระหว่างเที่ยงคืนกับ ๑ ล.ท.เสวยสูปได้ ๒ ช้อน. ๑ ล.ท.เศษ ไปพระบังคนหนัก, ซึ่งหมอตรวจว่าไม่มีพิษสงอะไร หมอปัวซ์ออกไปผสมพระโอสถขับพระบังคนเบาอีก”
เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงสวรรคต นายแพทย์ปัวซ์ยังคงเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ และเป็นแพทย์หลวงประจำพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในรัชสมัยนี้ได้ปรากฏชื่อของคุณหมอเมื่อครั้งที่ถวายการรักษาพระบรมวงศานุวงศ์ เช่น
จากบันทึกของคุณข้าหลวงของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายาในล้นเกล้ารัชกาลที่ 6 เขียนเล่าไว้ในกรณีการตกพระโลหิตของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ว่า
“...วันหนึ่งตอนสายๆ ขึ้นไปเฝ้าบนพระที่นั่งพิมานจักรี ดิฉันยังเด็กไม่ทราบเรื่องอะไรดี พบมีคนอยู่หลายคนแล้วที่ห้องเสวยกลางวัน และมีพระแท่นของสมเด็จตั้งอยู่ เห็นมีผู้ชายเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี (ม.ร.ว. ปุ้ม มาลากุล) เจ้าคุณแพทย์พงศา (สุ่น สุนทรเวช) หรือหลวงไวทย์จำไม่ได้แน่แต่มีหมอปัวซ์เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทล้นเกล้าล้นกระหม่อมอยู่พร้อมกัน ในมือเจ้าพระยาธรรมฯ เชิญพานทององค์ใหญ่มาก มีผ้าขาวปูอยู่ในพานนั้น เห็นล้นเกล้าฯ ท่านทรงพระกรรแสงซับพระเนตรด้วยผ้าเช็ดพระพักตร์ เราหน้าตื่นถามพี่ๆ ผู้ใหญ่ก็ได้ความว่า สมเด็จฯ ท่านทรงแท้งพระโอรสพระชันษาได้ ๗ เดือนเสียแล้ว...”
เพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานเบื้องพระยุคลบาทมาหลายปีตั้งแต่ครั้งรัชสมัยของพระชนกนาถ ดังนั้นรัชกาลที่ 6 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบรรดาศักดิ์แด่นายแพทย์ปัวซ์ ขึ้นเป็น “พระยาอัศวินอำนวยเวท” (Phya Asvin Amnueyvej) อีกทั้งท่านยังได้รับเหรียญตราชั้น Légion d’honneur จากรัฐบาลฝรั่งเศส จากการรับหน้าที่ประจำหน่วยแพทย์ของโรงพยาบาลราชนาวีฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่ 1
ในหนังสือประวัติการแพทย์แผนโบราณของไทย โดย ขุนนิทเทสสุขกิจ (ถมรัตน์ พุ่มชูศรี) ได้ให้คำอธิบายถึงราชทินนามของพระยาอัศวินอำนวยเวทไว้ว่า
“...เมื่อพูดถึงเรื่องเทวดาที่เป็นครูพวกแพทย์ ขอพูดถึง อัศวิน สักหน่อย อัศวิน หรือ อัศวินิกุมารา เป็นเทวดาฝาแฝดคู่หนึ่งโดยปรกติขับรถรบเทียมม้า เป็นเทวะแห่งรุ่งอรุณ เป็นผู้นำโชคลาภ เป็นหมอเทวดาประจำเทวดาทั้งหลาย เมื่อเทวดาองค์ใดเจ็บไข้ไม่สบาย เป็นหน้าที่ของหมอเทวดาอัศวินเป็นผู้รักษาพยาบาล พระมหาธีรราชเจ้า จักรีที่ ๖ ทรงทราบเรื่องดี จึงทรงใช้คำอัศวินเฉพาะแพทย์เท่านั้น ดังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแพทย์ฝรั่งประจำราชสำนักคนหนึ่งที่เรียกกันว่าหมอปัวซ์ เป็นพระยาอัศวินอำนวยเวท แต่คำ อัศวิน ปัจจุบันนี้ เห็นเป็นตำแหน่งของเทวดาหรือคนอีกหลายคนที่เก่ง ได้ชื่อเป็นอัศวิน”
นอกจากพระยาอัศวินฯจะทำหน้าที่ต่างๆที่กล่าวมาแล้ว ท่านยังมีตำแหน่งราชการในกระทรวงวัง ท่านเป็นผู้ลงนามรับการในเอกสารรับรองการสวรรคตของรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ทั้งยังเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ (honorary consulting) ด้านอายุรกรรมของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และสภาอุณาโลมแดงแห่งสยาม (สภากาชาดไทย)
ในค.ศ. 1930 (พ.ศ. 2473) พระยาอัศวินฯ ได้เกษียนจากตำแหน่งต่างๆ และเดินทางกลับประเทศฝรั่งเศสในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1931 (พ.ศ. 2474) ภายหลังจากที่ทำหน้าที่ด้านการแพทย์ในประเทศสยามถึง 34 ปี โดยในหนังสือพิมพ์ Bangkok Time ได้กล่าวถึงพระยาอัศวินฯไว้ว่า “The career of Dr. Poix is largely the history of the St. Louis Hospital” และในหนังสือพิมพ์ The Straits Times ฉบับวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1931 ได้กล่าวว่า “His duties at the hospital by no means represent his work in Siam... Dr. Poix has worked through a very interesting period of medical development in Siam”
ในช่วงบั้นปลายชีวิตของพระยาอัศวินฯ ท่านได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับการพบปะกับเหล่าศิลปินและนักดนตรี เพราะท่านมีความสามารถในการเล่นเชลโล (cello)