-
Category: โรงเรียนและการศึกษาคาทอลิกในประเทศไทย
-
Published on Tuesday, 20 October 2015 02:04
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3951
ในสมัยโบราณเด็กๆ ต้องเรียนหนังสือกับพระ ซึ่งก็เรียนพออ่านออกเขียนได้เท่านั้น เมื่อไทยเริ่มมีโรงเรียนในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕
การที่เด็กๆ ต้องเรียนกับพระ ก็เพราะตามประเพณีพ่อแม่นิยมส่งบุตรหลานที่เป็นชายไปอยู่กับพระเพื่อให้เด็กปรนนิบัติรับใช้ พระท่านจะ ทำการอบรมสั่งสอนกิริยามารยาท วิชาความรู้ทางหนังสือและการช่างต่างๆ ให้
ส่วนบุตรหลานที่เป็นหญิงส่วนใหญ่จะไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะไม่มีสถานที่เรียน ก็จะอยู่บ้านช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านเย็บปักถักร้อย หรือประกอบอาชีพตามพ่อแม่ อีกประการหนึ่งในสมัยโบราณไม่นิยมให้เด็กผู้หญิงรู้หนังสือ เพราะกลัวว่าเมื่อรู้หนังสือแล้วโตขึ้นมาจะเขียนเพลงยาว (จดหมายรัก) โต้ตอบกับผู้ชาย ผู้หญิงก็เลยไม่รู้หนังสือ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ 4 ปีเศษ พระองค์ทรงเห็นว่าประเทศสยามจะเจริญก้าวหน้า ทัดเทียมนานาอารยประเทศได้ ทางหนึ่งก็ด้วยการให้การศึกษาแก่ราษฎรทั่วไปทั้งชายและหญิง
ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมราชวังเป็นครั้งแรก โดยโปรดเกล้าฯให้พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นอาจารย์ใหญ่ถวายการสอนหนังสือให้เจ้านายเล็กๆ ทั้งพระองค์ชาย พระองค์หญิง และสอนบุตรหลานของเสนาบดีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นการทดลองดู
ต่อมาก็โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษขึ้นอีกโรงเรียนหนึ่ง แต่ตั้งอยู่ไม่นานก็โปรดเกล้าฯ ให้ไปสอนที่พระราชวังนันทอุทยาน (สวนอนันต์) ตั้งอยู่ฝั่งธนบุรี ในปี พ.ศ. 2423 โปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งยังเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร จัดตั้งโรงเรียนสำหรับสอนนักเรียนนายร้อย นายสิบ กรมทหารมหาดเล็กขึ้นในพระบรมมหาราชวังอีกโรงหนึ่ง
พระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง
ครั้นถึงปี พ.ศ. 2424 จำนวนนักเรียนมีมากขึ้น สถานที่เรียนคับแคบ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายไปตั้งที่พระตำหนักสวนกุหลาบ ในพระบรมมหาราชวัง แล้วต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบเป็นโรงเรียนพลเรือนโดยเฉพาะ
สำหรับหนังสือที่ใช้เป็นแบบเรียนในระยะเริ่มต้นของโรงเรียนนี้ เป็นหนังสือที่พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่ง มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 6 เล่ม คือ หนังสือมูลบทบรรพกิจ วาหนิติกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ และพิศาลการันต์ ถ้านักเรียนเรียนจบ 6 เล่มนี้ก็นับได้ว่าจบหลักสูตรชั้นต้น เรียนจบหลักสูตรแล้ว
พระบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
ต่อมาปี พ.ศ. 2427 โปรดเกล้าให้มีการไล่หนังสือ (คือการสอบไล่) นักเรียนประโยคหนึ่งขึ้นเป็นครั้งแรก ปรากฏว่ามีนักเรียนสอบได้เพียง 3 คนเท่านั้น
หนึ่งในสามนี้ มีหม่อมราชวงศ์เปีย (เจ้าพระยาพระเสด็จฯ) มาลากุล ณ อยุธยา รวมอยู่ด้วยท่านหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2427 โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ตั้งโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรเล่าเรียนขึ้นที่วัดมหรรถพาราม กรุงเทพฯ โรงเรียนนี้จึงเป็นโรงเรียนหลวงสำหรับราษฎรเป็นแห่งแรก
แต่พอตั้งโรงเรียนที่วัดมหรรณพาราม ราษฎรก็เกิดการเข้าใจผิดคิดว่าจะจับเด็กไปเป็นทหาร จึงโปรดเกล้าฯให้ประกาศชี้แจงว่าต้องการจะให้เด็กรู้หนังสือเท่านั้น
เมื่อราษฎรเข้าใจ เหตุการณ์จึงได้สงบไป และตั้งแต่นั้นมาราษฎรก็นิยมส่งบุตรหลานของตนเข้าเรียนมากขึ้นทุกปี ครั้นพอถึงปี พ.ศ. 2428 โปรดเกล้าฯให้เพิ่มประโยค 2 ขึ้นเป็นประโยคสุดท้ายสำหรับนักเรียนที่สอบได้ประโยคหนึ่ง เพื่อเข้ารับราชการ
การที่ให้โรงเรียนตั้งอยู่ในวัดก็เพราะจะได้อาศัยเช่น ศาลาดินหรือศาลาการเปรียญเป็นสถานที่สอนหนังสือ โดยไม่ต้องไปปลูกสร้างอาคารเรียนให้เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน
เมื่อได้จัดตั้งโรงเรียนตามวัดให้ราษฎรได้เล่าเรียนหลายแห่งแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมศึกษาธิการสำหรับควบคุมการศึกษาและโรงเรียนต่างๆ ขึ้นในปี พ.ศ. 2430 และโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นผู้บังคับบัญชากรมศึกษาธิการที่ตั้งขึ้นใหม่นี้
เจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี
(ม.ร.ว. เปีย มาลากุล)
กรมศึกษาธิการเมื่อแรกมี ตั้งอยู่ที่ในพระบรมมหาราชวัง ข้างประตูพิมานไชยศรี เมื่อตั้งกรมศึกษาธิการแล้วก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงแบบเรียน กล่าวคือ เลิกใช้ตำราเรียน 6 เล่มดังกล่าว เปลี่ยนมาใช้หนังสือแบบเรียนเร็ว ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงนิพนธ์แทน หนัง สือแบบเรียนเร็วดังหล่าวคือ ต้นกำเนิดของ ก-ไก่ ข-ไข่ ฃ-ขวด ค-ความ ฆ-ระฆัง ง-งู ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพทรงคิดชื่อให้เอง
ปี พ.ศ. 2435 โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกระทรวงธรรมการขึ้น โดยมีกรมขึ้นกับกระทรวงนี้ 4 กรม คือ กรมศึกษาการ กรมพิพิธภัณฑ์ กรมพระบาล และกรมธรรมการสังฆการี พ.ศ. 2441 โปรดเกล้าให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการศึกษาหัวเมือง
โดยเฉพาะในปลายปี พ.ศ. 2444 ปรากฏว่ามีโรงเรียนที่ขึ้นกับกระทรวงมหาไทย 79 โรง มีนักเรียนจำนวน 7,500 คนที่กล่าวมาคือ กำเนิดร้อยกว่าปีมาแล้วของการศึกษาประชาบาล ที่ครูประชาบาลในยุคนั้นเรียกร้องให้แยกออกจากกระทรวงมหาดไทย
โดยกลุ่มหนึ่งเรียกร้องให้ตั้งเป็น “สำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ” ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งขณะนั้นสภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเป็นเอกฉันท์รับหลักการร่างพระราชบั ญญัติเกี่ยวกับการโอนการศึกษาประชาบาล จากกระทรวงมหาไทยไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการตามที่รัฐบาลเสนอ
นั่นเป็นเรื่องในอดีต ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงสลับก้าวไกลมากแล้ว....
จาก...หนังสือบันทึกสยาม หน้า31-35 โดย นวโชติ จรัสแสง