ประวัติการศึกษาคาทอลิกในประเทศไทย

เมื่อกล่าวถึง “การศึกษาคาทอลิก” ช่วยให้เห็นถึงอัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิกจากอดีตสู่ปัจจุบัน เพื่อมุ่งสู่อนาคตที่ท้าทาย พระศาสนจักรตระหนักถึงความสำคัญในการให้การศึกษาแก่เยาวชนไทยมานานหลายศตวรรษ โดยมีการจัดการเรียนการสอนตามหลักธรรมคำสอนของ พระเยซูเจ้าที่สอนว่ามนุษย์เป็นผู้มีศักยภาพ มีสติปัญญาและสามารถพัฒนาตนสู่ความดีงาม ในท่ามกลางกระแสสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง  การศึกษาคาทอลิกมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสอนให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับโลกและสิ่งสร้างทั้งหลาย รวมทั้งมนุษย์ที่พระเจ้าสร้างขึ้นด้วยความรัก โดยเน้นคุณธรรม ให้นักเรียนเติบโตทั้งร่างกายและจิตใจ ดังนั้น สถานการศึกษาคาทอลิกจึงเกี่ยวข้องกับนักเรียนและผู้ปกครอง สมัยก่อนนั้นสถานศึกษาตั้งอยู่ใกล้กับโบสถ์คาทอลิกที่มีบาทหลวงดูแลรับผิดชอบ ทั้งงานด้านอภิบาล พิธีกรรม และการศึกษา แต่ละท้องที่มีวัฒนธรรมขององค์กรที่คล้ายกัน รายงานเล่มนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการศึกษาคาทอลิกในประเทศไทย โดยแบ่งเนื้อหาออกได้ดังนี้ 
 
ประวัติและความเป็นมาของการศึกษาคาทอลิกในประเทศไทย
วูด (Wood, 1933 : 97) ให้รายละเอียดว่า การเผยแผ่คริสต์ศาสนาเริ่มเข้ามาถึงดินแดนสยามจากการเดินเท้าข้ามมหาสมุทรของชาวยุโรป ซึ่งตอนนั้นตรงกับช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยชาวตะวันตกชาติแรกที่เข้ามาสร้างความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ คือ โปรตุเกส (อ้างถึงใน วิทยาลัยแสงธรรม 2533 : 9-11) เมื่ออัลฟองโซ เดอ อัลบูเคร็ก  (Alfonso De Albuquerque) ชาวโปรตุเกสยึดมะละกาได้ใน ค.ศ. 1511  มะละกาจึงกลายเป็นศูนย์กลางแห่งหนึ่งของการประกาศพระคริสตธรรมในตะวันออกไกล  ซึ่งนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ก็เคยผ่านมาที่นี่ในพ.ศ.2088 และ พ.ศ.2090 อัลบูเคร็ก ได้ส่งทูตมายังกรุงศรีอยุธยามาในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (ค.ศ.1491-1529) ทูตเหล่านั้นได้รับการต้อนรับอย่างดี ถือว่าเป็นการเปิดรับความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกอย่างเป็นทางการครั้งแรกของกรุงศรีอยุธยา 
 
ชาวตะวันตกเห็นว่า กรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีที่มั่งคั่งและเป็นศูนย์กลางทางการค้านานาชาติที่สำคัญอย่างยิ่งในภูมิภาคนี้ จากหนังสือ “ราชอาณาจักรและประชาชนชาวสยาม”  (The Kingdom and People of Siam) บาวริ่ง (:Bowring, 1977 : 104-106) ได้ระบุถึงบันทึกของชาวสเปนในสมัยนั้น ที่ได้กล่าวถึงกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า เป็นราชธานีที่มั่งคั่งและทำการติดต่อค้าขายกับชนชาติต่างๆ มากมาย เมื่ออำนาจของโปรตุเกสเสื่อมลงในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 17 ในขณะที่ฮอลันดากับอังกฤษขยายอำนาจ ส่วนในสยามและเวียดนามนั้นฝรั่งเศสก็เป็นผู้ขยายอำนาจ พร้อมกับสร้างฐานอำนาจในเวียดนามเพื่อจะล่าอาณานิคม แต่เรื่องที่น่าสนใจนั้นคือ ฝรั่งเศสเริ่มขยายอำนาจด้วยกิจกรรมของมิชชันนารีชาวฝรั่งเศสเอง โดยเฉพาะมิชชันนารีแห่งคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (Missionnaires Etrangeres De Paris : M.E.P.) ซึ่งดำเนินตามนโยบายของสมณกระทรวงเผยแผ่ความเชื่อ (Propaganda Fide) 
 
สมณกระทรวงเผยแผ่ความเชื่อได้แสวงหาบุคคลจากฝรั่งเศส โดยได้รับความช่วยเหลือจาก บาทหลวงอเล็กซานเดอร์ เดอ โรดส์ (Alexander De Rhodes) ได้จัดส่งพระสังฆราชชุดแรก 3 องค์ เพื่อให้มาทำงานในฐานะผู้แทนพระสันตะปาปาในภูมิภาคตะวันออกไกล เช่น จีน โคชินจีน และตังเกี๋ย ซึ่งในช่วงนั้นเองกำลังมีการเบียดเบียนศาสนาอย่างรุนแรง จึงไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศดังกล่าวได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้พระสังฆราชต้องหยุดรออยู่ที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อรอให้เหตุการณ์ต่างๆ สงบก่อน หลังจากที่พระสังฆราชและมิชชันนารีได้เห็นสถานการณ์ทั่วไปของประเทศสยามแล้วจึงตัดสินใจตั้งศูนย์เผยแผ่ศาสนาของคณะที่กรุงศรีอยุธยา แม้ว่าจะมีปัญหากับมิชชันนารีของระบบปาโดรอาโด (Padroado) ก็ตาม
 
พระสังฆราช ปีแอร์ ลังแบร์ต เดอ ลา มอตต์ (Pierre Lambert De La Motte) ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชแห่งเบริธ (Berythe) เป็นผู้แทนพระสันตะปาปาสำหรับไปดูแลในโคชินจีน และอีก 5 แคว้นในประเทศจีน เช่น เจอเจียง (Zhejiang) ฟูเจี้ยน (Fujian) กวางตุ้ง (Guangdong) เจียงซี (Jiangxi) และไฮนาน (Hainan) ท่านออกเดินทางจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ.2203 พร้อมมิชชันนารีชุดแรกของคณะบาทหลวงมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ได้แก่ บาทหลวงยัง เดอ บูจส์ (Jean De Bourges) และบาทหลวงเดย์ดีเอร์ (Deydier) มาถึงกรุงศรีอยุธยา เมืองหลวงของอาณาจักรสยามในขณะนั้นเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2205 ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (วิทยาลัยแสงธรรม, 2533:21)
 
ประชุมพงศาวดาร ภาคที่ 31 เล่ม 18 ระบุว่า “...พระเจ้าแผ่นดินสยามจึงได้พระราชโองการโปรดเกล้าให้ส่งคนไทยไปเล่าเรียนที่บ้านบาทหลวง 10 คน และพระราชทานพระราชานุญาตให้คณะบาทหลวงเทศนาสั่งสอนได้ตามพอใจ และจะไปไหนมาไหนได้ทุกแห่งเว้นแต่ในพระราชวังเท่านั้น...” พระสังฆราชแห่งเบริธ (Berythe) ได้เขียนจดหมายขอพระราชทานที่ดินสำหรับปลูกสร้างโรงเรียนและวัด (29 พฤษภาคม พ.ศ. 2208) ประชุมพงศาวดารภาคที่ 31 เล่ม 18 ระบุว่า “...ข้าพเจ้าเห็นว่าการที่ทรงพระกรุณาโปรดให้นักเรียนมาศึกษาหาความรู้และเล่าเรียนวิชาของประเทศยุโรป 10 คนนั้น ข้าพเจ้าต้องระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอีกชั้นหนึ่ง จึงกระทำให้ข้าพเจ้านึกถึงการที่จะตั้งโรงเรียนขึ้นหลังหนึ่ง สำหรับสอนวิชาต่างๆ ซึ่งเป็นวิชาที่จำเป็นสำหรับประเทศอันใหญ่หลวงเพื่อจะได้เป็นที่นิยมของประเทศ อื่นๆ ในโลกนี้...”  ในครั้งนั้นสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้พระราชทานที่ดินบ้านปลาเห็ด (Banphahet) สำหรับเป็นที่พักอาศัย สร้างโบสถ์ บ้านพักและโรงเรียน ประชุมพงศาวดารภาคที่ 31 เล่ม 18 ระบุว่า “...ในประเทศนี้บรรดาชาวต่างประเทศต่างๆ ได้อยู่ร่วมกันเป็นหมู่ๆ เรียกกันว่า “ค่าย” เพราะฉะนั้นที่อยู่ของคณะบาทหลวงฝรั่งเศสเป็นอันมาก...” สอดคล้องกับที่วิทยาลัยแสงธรรม (2533 : 32) ระบุว่า พระสังฆราช ปีแอร์ ลังแบร์ต เดอ ลามอตต์ (Pierre Lambert De La Motte) จึงสร้างอาคาร 2 ชั้น  ขึ้นหลังหนึ่งชั้นบนใช้เป็นวัดน้อย ชั้นล่างใช้เป็นห้องเรียน สถานที่นี้ได้ชื่อเรียกว่า “ค่ายนักบุญโยเซฟ” และสอดคล้องกับสนั่น เมืองวงษ์ (2518) ที่กล่าวว่า ระบบโรงเรียนในประเทศไทย   เพิ่งเริ่มต้นในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อบาทหลวงชาวฝรั่งเศสเข้ามาเผยแผ่ศาสนา โดยบาทหลวงได้จัดตั้งโรงเรียนของคริสตชนขึ้นเพื่อสอนศาสนาและรวบรวมนักเรียนไปสั่งสอนวิชาความรู้ให้ด้วยแต่ไม่ปรากฏว่าทางราชการได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นแต่อย่างใด... 
 
ส.พลายน้อย (2532) ระบุว่า พระสังฆราชเกียรตินามแห่งเบริธ ได้สร้างโรงเรียนสามเณรขึ้น เข้าใจว่าตั้งอยู่ที่เกาะมหาพราหมณ์ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งต่อมามีนักเรียนต่างชาติเข้ามาเรียนภาษามากกว่า 700 คน
 
กรมศิลปากร (2526) ระบุว่า พระสังฆราชเกียรตินามแห่งเบริธ ได้สรุปเรื่องทั้งหมดนี้ในจดหมายที่เขียนใน พ.ศ. 2509 ว่า “ณ กรุงสยามเรามีเด็กไทยสองสามคนซึ่งพระเจ้าแผ่นดินให้สอนหนังสือ ให้เรามีโรงเรียนเล็ก ๆ หลายโรงเรียนสำหรับสอนคริสตชนของเรา”
 
สรุปแล้วการจัดการศึกษาคาทอลิกในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นเริ่มต้นใน พ.ศ. 2208 เมื่อพระสังฆราช ปีแอร์ ลังแบร์ต เดอ ลามอตต์ (Pierre Lambert De La Motte) สร้างโรงเรียนคาทอลิกแห่งแรกขึ้นในประเทศสยามมีชื่อว่าวิทยาลัยทั่วไป (General College) หรือสามเณราลัย เพื่อให้การฝึกอบรมเยาวชนให้เป็นบาทหลวงเพื่องานเผยแผ่ศาสนา อย่างไรก็ตาม โรงเรียนดังกล่าวก็รับเด็กอื่น ๆ ด้วย ตั้งแต่อายุสิบขวบเศษขึ้นไป เพื่อเรียนวิชาที่เหมือนกับประเทศฝรั่งเศส ทั้งทางวิชาการทางโลกและทางศาสนา รวมทั้งวิทยาศาสตร์ ปรัชญาและเทววิทยา หลังจากนั้นบรรดามิชชันนารีที่ได้ออกไปประกาศศาสนาในจังหวัดต่าง ๆ ได้ก่อตั้งโรงเรียนขึ้นอีกหลายแห่ง ดังต่อไปนี้
 
ที่ภูเก็ต ใน พ.ศ. 2214
 
ที่ลพบุรี ใน พ.ศ. 2216
 
ที่บางกอก ใน พ.ศ. 2217
 
ที่พิษณุโลก ใน พ.ศ. 2218
 
ที่จันทบุรี  ใน พ.ศ. 2250
 
โรงเรียนที่ก่อตั้งโดยมิชชันนารีเหล่านี้เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นเป็นเอกเทศ อยู่นอกวัดและนอกวัง ให้บริการในด้านการศึกษาแก่บุคคลทั่วไป จึงถือได้ว่าเป็นโรงเรียนตามความหมายทั่วไปและเป็นโรงเรียนเอกชนคาทอลิก
 
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ศาสนา และการศึกษารวมเป็นกระบวนการเดียวกัน ทุกคนได้รับการศึกษาอบรมฝึกฝนเรียนรู้จากวัด ทั้งด้านการศึกษาพระธรรม และศิลปะวิทยาการต่างๆ ดังนั้นเมื่อคณะมิชชันนารีได้จัดการศึกษาแบบยุโรปขึ้นในสมัยอยุธยา จึงเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาในสมัยนั้น
 
ประวัติการศึกษาหน้าแรก
ของการศึกษาคาทอลิกในสังคมไทย
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์มิชชันนารีชาวโปรตุเกส คณะอาร์โมเนียนหรือเอสโตเรียน ได้เข้ามาในสยาม ตั้งแต่ พ.ศ. 2056 และตั้งหลักแหล่งพำนักที่กรุงศรีอยุธยา ดังที่เรียกว่า “ค่ายโปรตุเกส” นครศรีธรรมราช (ละคร) ปัตตานี ภูเก็ต และสมุย (Mergui) พร้อมกับนักแสวงหาโชคที่เป็นพ่อค้าและผู้เชี่ยวชาญด้านปืนใหญ่ (Bressan,L,2000:1) 
 
มิชชันนารีชาวฮอลันดา และชาวสเปนแห่งคณะดอมินิกันเข้ามาใน พ.ศ. 2109/ค.ศ. 1566
 
คณะฟรังซิสกัน พ.ศ. 2125/ค.ศ. 1582
 
คณะเยสุอิต พ.ศ. 2150/ค.ศ. 1607
 
คณะออกุสติเนียน พ.ศ. 2220/ค.ศ. 1677
 
มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส พ.ศ. 2205/ค.ศ. 1662
 
การเข้ามาของมิชชันนารีนั้นมีจุดประสงค์เพื่อติดตามอภิบาลคริสตชนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในสยาม ต่อมามีพ่อค้าและนักล่าอาณานิคมจากประเทศสเปน โปรตุเกส ฮอลันดา ได้เข้ามาค้าขาย ผสมผสานกับพวกมุสลิมจากประเทศตะวันออกกลางมากขึ้น มิชชันนารีได้ติดตามเข้ามามากขึ้นตามลำดับ แต่ภารกิจหลักของมิชชันนารีอยู่ที่การเผยแผ่ศาสนาในประเทศจีน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ มะละกา เวียดนาม และเขมรมากกว่าสยาม แต่กระนั้นสยามก็เป็นเป้าหมายหนึ่งของการเข้ามาของกลุ่มพ่อค้าต่างชาติและมิชชันนารี และเนื่องมาจากกระแสของการศึกษาได้เริ่มก่อตัวขึ้น
 
การศึกษาคาทอลิกในสังคมสมัยอยุธยา ระยะเริ่มก่อตัว 
การศึกษาคาทอลิกได้เริ่มมีบทบาทในการจัดการศึกษาสำหรับคนไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 (พ.ศ. 2034-2072) เมื่อชาวโปรตุเกสซึ่งเป็นชนชาติแรกที่เข้ามาในอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา เพื่อค้าขาย รับราชการทหาร การฝึกสอนทหารในการใช้อาวุธปืน และทำสงครามช่วยเหลือกองทัพกรุงศรีอยุธยาในการสู้รบกับประเทศเพื่อนบ้านจนได้รับชัยชนะ ประชาชนชาวโปรตุเกสจึงได้รับพระราชทานที่ดินและให้ปลูกสร้างบ้านเรือนอาศัยได้อย่างถาวร เมื่อมีประชาชนชาวโปรตุเกสอาศัยอยู่ในดินแดนต่างประเทศที่ใด ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ถือเป็นภารกิจหน้าที่อย่างน้อยจะมีพระสงฆ์คาทอลิก หรือบาทหลวงเดินทางมากับเรือทุกลำ ที่เดินทางออกจากยุโรป เพื่อมาทำหน้าที่อภิบาลดูแลชีวิตจิตวิญญาณ และการปฏิบัติศาสนกิจของคนยุโรป บางครั้งจะมีบาทหลวงมาอภิบาลด้านศาสนกิจและอบรมสั่งสอนลูกหลานในดินแดนต่างประเทศ เป็นช่วงเวลาสั้นๆ หรือหลายปี
 
ในขณะที่มิชชันนารีชาวโปรตุเกสได้พำนักอยู่กรุงศรีอยุธยานั้น กลุ่มมิชชันนารีเหล่านี้ได้จัดตั้งสถานศึกษาสอนเด็กชายชาวโปรตุเกส เด็กชาวเวียดนามจากตังเกี๋ย โคชินไชน่า มาลวาร์และเด็กชาวจีนที่อพยพมาอยู่ในสยาม ได้แก่คนที่นับถือศาสนาคาทอลิก หรือบุคคลในสังกัดของตนและชาวบ้านที่สนใจ โดยสอนวิชาความรู้แบบยุโรป ใช้หลักสูตรการศึกษาตะวันตกที่เน้นเนื้อหาสาระการสอนคุณธรรม และพระธรรมคำสอนทางศาสนาในลักษณะไม่บังคับให้นับถือศาสนา
 
จากเอกสารประวัติศาสตร์บันทึกว่าในระหว่าง พ.ศ. 2199-2202 มิชชันนารีแห่งคณะเยสุอิต ชาวอิตาเลียน เกาะซิซิลี คือ บาทหลวงโทมัส เดอ วาลกัวร์เนรา (Fr.Thomas De Valuguarnera) ซึ่งเป็นบุคคลที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยปาแลร์โม และโรม ได้รวบรวมเด็กและผู้สนใจสอนความรู้ให้ในบริเวณบ้านพักของตน ทั้งดำเนินการสอนในระบบโรงเรียน และต่อมาได้จัดสร้างอาคารถาวรเป็นวิทยาลัยการศึกษา โดยได้รับการสนับสนุนทางการเงินจาก ชาวโปรตุเกสที่ร่ำรวยคนหนึ่งที่อพยพหนีมาจากมาเก๊า ชื่อ นายเซบาสเตีย แอนเดร เดอ ปอนเต (Mr.Sebastino Andre De Ponte) ที่ถวายเงินก้อนใหญ่จำนวน 12,000 สกู๊ดี ให้บาทหลวงวาลกัวร์เนรา(Fr.Valuguarnera) เพื่อก่อสร้างวิทยาลัยชื่อ Du Savoir สร้างเสร็จใน พ.ศ. 2204 ตั้งอยู่ในบริเวณหมู่บ้านโปรตุเกสด้านทิศใต้ นับเป็นจุดเริ่มการศึกษาครั้งแรกในกรุงศรีอยุธยา เป็นการจัดการศึกษาเฉพาะสำหรับชาวโปรตุเกส และชาวต่างชาติ แต่ก็เปิดสอนสำหรับคนไทยที่สนใจด้วย
 
อย่างไรก็ดีในระหว่างนี้ กระแสการเผยแผ่ศาสนาของกลุ่มมิชชันนารียังหลั่งไหลเข้าสู่เอเชียตะวันออกอย่างต่อเนื่อง  และใน พ.ศ. 2205 คณะสงฆ์มิชชันนารีชาวฝรั่งเศส  คณะมิซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ได้เดินทางเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา ด้วยเหตุผลที่ว่า ไม่สามารถเดินทางเข้าไปในประเทศจีนและเวียดนามได้ตามเป้าหมายเดิม ประกอบกับเห็นว่าสยามในรัชกาลของสมเด็จพระนารายณ์เป็นอาณาจักรที่เข้มแข็ง มีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งใกล้และไกล เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศจีน ประเทศอินโดนีเซีย ฯลฯ รวมทั้งมีวัตถุดิบ สินค้าพื้นเมืองเครื่องเทศที่ดีมีคุณภาพสูง เป็นดินแดนที่มีความสมบูรณ์มาก ประชาชนมีวัฒนธรรมดีงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีอัธยาศัยไมตรี และต้อนรับมิตรประเทศที่มาเยือน ที่สำคัญคือสยามมีการติดต่อค้าขายกับประเทศต่างๆ มากมาย กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญในย่านภูมิภาคนี้ กษัตริย์เป็นพ่อค้าคนกลางในการค้าขายกับต่างประเทศ สนใจแลกเปลี่ยนสินค้าพื้นเมืองกับอาวุธยุทโธปกรณ์และการทหาร เพื่อการป้องกันประเทศและแสนยานุภาพ เช่น ปืนใหญ่ เรือกลไฟและการสร้างกำแพงเมือง มีผลิตภัณฑ์ทันสมัยจากต่างประเทศ ดังนั้น เมื่อมีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าประเทศ จึงต้องการฝึกสอนอบรมเกี่ยวกับการใช้อาวุธปืน การต่อสู้แบบตะวันตก การใช้เรือกลไฟ และการก่อสร้างปราสาทราชวัง ด้วยปัจจัยดังกล่าวทำให้คณะสงฆ์มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสเข้ามาและพำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยา ได้จัดตั้งวิทยาลัยการศึกษา โดยพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระนารายณ์ เพื่อจัดการศึกษาแบบยุโรปสำหรับคนพื้นเมือง ฝึกสอนอบรมคนพื้นเมืองให้เป็นพระสงฆ์คาทอลิก เพื่อทำหน้าที่อภิบาลและเผยแผ่คริสต์ศาสนาในสยาม 
 
การศึกษาจากต่างประเทศได้เริ่มต้นขึ้นในช่วงดังกล่าวนี้ โดยมีวัตถุประสงค์คือการฝึกสอนคนให้รู้จักใช้สินค้า ใช้อาวุธในการต่อสู้และสงคราม การบำรุงรักษาและก่อสร้างกำแพงเมือง โดยมีมิชชันนารีเป็นที่ปรึกษาและผู้สอน รวมทั้งเป็นทูตเจรจาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศคู่ค้าขายหรือเพื่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ เพราะมิชชันนารีเหล่านี้เป็นผู้มีความสามารถทางการเจรจาเชิงการทูต มีความเป็นกลางมากกว่าพวกพ่อค้าและนักล่าอาณานิคม ในขณะเดียวกันมิชชันนารีได้สั่งสอนอบรมคริสตชน ซึ่งส่วนมากเป็นคนต่างชาติหรือลูกครึ่ง จนถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์จึงได้จัดการศึกษาอบรมสำหรับคนไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก
 
ระบบการศึกษาวิทยาลัยการศึกษา (General College) จัดการศึกษาออกเป็น 3 ส่วนคือ 
1. โรงเรียนเทววิทยา จัดสอนปรัชญาและศาสนา
2. โรงเรียนมนุษยศาสตร์ จัดสอนเกี่ยวกับความรู้ด้านมานุษยวิทยา สังคม ประวัติศาสตร์ และความรู้วิทยาการทั่วไป
3. โรงเรียนขั้นปฐม จัดสอนเด็กที่ยังไม่มีพื้นฐานมาก่อน โดยใช้ภาษาลาตินและฝรั่งเศสเป็นหลัก
 
ต่อมาได้จัดสอนเป็นภาษาไทยเมื่อมีครูคนไทยสมัครเป็นผู้ช่วยสอน อย่างไรก็ตามมีนักศึกษาจากประเทศต่างๆ ในเขตภูมิภาคนี้เข้ามาศึกษาหลายเชื้อชาติ จึงทำให้ลักษณะของวิทยาลัยการศึกษาเป็นสถาบันการศึกษานานาชาติ ที่จัดการสอนโดยใช้ภาษาลาตินเป็นภาษาหลัก และเป็นภาษาที่ใช้ในการศึกษาของยุโรปในยุคสมัยนั้น รวมทั้งเป็นภาษาสื่อการเรียนการสอนของสถาบัน จุดประสงค์หลักของวิทยาลัยการศึกษาที่มิชชันนารีได้ก่อตั้งขึ้นคือ เป็นสถาบันสำหรับการฝึกอบรมพระสงฆ์คาทอลิก และจัดการศึกษาให้ความรู้วิทยาการสมัยใหม่และศาสนาแก่ศึกษา ผู้สนใจ โดยจัดการศึกษาเป็น 3 ลำดับคือ  
1. ระดับเบื้องต้น (Elementary School) 
2. ระดับล่าง (Lower School) เทียบเท่าระดับมัธยมศึกษา
3. ระดับสูง (Upper School) เทียบเท่าระดับอุดมศึกษา
 
พร้อมกันนี้ได้จัดนักศึกษาออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้
 
1. กลุ่มนักศึกษาโคชินไชน่าและเวียดนาม ฝึกสอนโดยบาทหลวงชาวฝรั่งเศส สอนพูด อ่านภาษาลาตินให้คล่องแคล่วจนสามารถสื่อสารได้เหมือนกับนักศึกษายุโรป
 
2. กลุ่มนักศึกษา 20 คนจากจีน ญี่ปุ่น อินเดีย โปรตุเกส ฯลฯ ฝึกสอนโดยมิชชันนารีคณะฟรังซิสกัน ชาวโปรตุเกสสอนให้รู้จักและคุ้นเคยกับภาษา หรือเรียนภาษาเบื้องต้น ด้วยบทภาวนาพิธีกรรมและบทเพลง
 
3. กลุ่มนักศึกษาสยามซึ่งมีจำนวนมาก ต้องแบ่งออกเป็น 2 ห้องเรียน สอนโดยครูชาวสยามที่สมัครมาช่วยสอนและอยู่ประจำกับคณะมิชชันนารีโดยได้รับความเห็นชอบจากภรรยา
 
การจัดการศึกษาและชั้นเรียน ใช้ระบบการศึกษาแบบฝรั่งเศส เป็นแนวจัดการเรียนการสอนในสมัยนั้น หลักสูตรการเรียนการสอนเป็นเรื่องศาสนาเป็นหลัก หนังสือแบบเรียนพื้นฐานที่ใช้คือ พระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่ และหนังสือจำลองแบบพระคริสต์ของโทมัส อา แคมปิส (Thomas a Kempis) เป็นหนังสือรำพึงฝึกจิตสมาธิ
 
สิ่งที่น่าสนใจคือ วิธีการสอนที่มิชชันนารีใช้ภาษาลาตินเป็นภาษาหลักเพื่อให้นักศึกษาทุกคนที่เป็นคนหลายเชื้อชาติ ได้สามารถศึกษาและอ่านหนังสือ ฟังคำสอน คำบรรยาย การสอนในชั้นเรียนได้ ผู้สอนทุกคนรู้จักภาษาลาตินดี เพราะเป็นภาษาที่ใช้สอนในสถาบันการศึกษาชั้นสูงมากมายในยุโรปสมัยนั้น มิชชันนารีอาจใช้ภาษาฝรั่งเศสบ้างในการอธิบาย สื่อสาร การจัดการสอนเช่นนี้ เป็นแบบการศึกษาอบรมดั้งเดิมซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในยุโรป และถูกกล่าวถึงในกลุ่มนักเขียนวรรณกรรมคลาสสิค และเทววิทยาในสมัยนั้น นักศึกษานานาชาติ ที่ศึกษาในวิทยาลัยนี้สามารถเรียนรู้ภาษาต่างๆ ได้ดีจนสามารถใช้สื่อสารและถ่ายทอดแลกเปลี่ยน ความรู้กันได้ อย่างไรก็ตามมิชชันนารียังตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทย (สยาม) และกรรมการในคณะอำนวยการสอนของวิทยาลัย มีคนที่รู้จักภาษาไทยและภาษาบาลีด้วย (Journal de la Mission, 1674 : 64) และเป็นผู้สอนภาษาแก่สามเณรรวมทั้งสอนมิชชันนารีที่ยังไม่รู้จักภาษาไทยอีกด้วย 
 
ข้อสังเกตเกี่ยวกับการศึกษาในยุคสมัยนั้นคือ วิทยาศาสตร์ยังไม่มีบทบาทสำคัญเท่ากับเทววิทยา ปรัชญาและอักษรศาสตร์ ดังนั้นมิชชันนารีจึงมุ่งความสำคัญของการศึกษาตามยุคสมัย และสามารถจัดการได้อย่างสำเร็จตามวัตถุประสงค์ แม้ว่าจะเป็นการจัดการสอนสำหรับคนตะวันออกที่มีความยุ่งยากในการศึกษาเชิงนิรนัย (Deductive Method) เพื่อเข้าใจความคิดแบบนามธรรมและหลักการทั่วไปของความรู้ต่าง ๆ แต่ถนัดการศึกษาความหมายแบบรูปธรรม และการทำงานร่วมกันอย่างเรียบง่าย ความสำเร็จดังกล่าวหมายถึงการคัดเลือกคน การจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับความต้องการที่นักศึกษาสามารถศึกษาได้ 
 
การศึกษาคาทอลิกในสังคมสมัยอยุธยา ระยะรุ่งเรือง
ใน พ.ศ. 2228 สามเณรและนักศึกษา 2 คน เป็นชาวสยามคนหนึ่งชื่อสามเณร แอนโทนี ปินโต และคนโคชินไชน่าอีกหนึ่งคน ได้สอบผ่านวิทยานิพรธ์ระดับปริญญาเอกต่อพระพักตร์สมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 11 และพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส
 
การสอบวิทยานิพนธ์ครั้งที่ 2 เป็นการจัดขึ้นภายในพระราชวังที่กรุงศรีอยุธยา โดยมีทูตฝรั่งเศสคือ เชอวาริเยร์ เดอ โชมองต์ และขุนนางผู้ใหญ่ 2 ท่าน ซึ่งเป็นผู้แทนสมเด็จพระนารายณ์เป็นประธาน พร้อมกับผู้แทนชาวอังกฤษ ชาวดัชท์ มัวร์และชาติอื่นๆ เป็นแขกเกียรติยศรับเชิญคณะผู้สอบได้รับคัดเลือกจากนักเทวศาสตร์ คือ มิชชันนารีคณะเยสุอิต คณะออกุสติเนียน คณะฟรังซิสกัน และคณะดอมินิกัน ส่วนผู้เข้าสอบมีดังนี้ นายแอนโตนิโอปินโต(Antonio Pinto) คน ไทยเชื้อสายโปรตุเกสสามารถสอบผ่านและตอบคำถามวิทยานิพนธ์ได้อย่างฉลาดปราดเปรื่อง เป็นที่ชื่นชมของผู้ร่วมฟังการสอนโดยถ้วนหน้า หลังจากนั้นหกเดือน ปินโต  ได้เดินทางไปสอบวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ ปารีส
 
การขยายตัวของโรงเรียน
การจัดการศึกษาของคณะมิชชันนารี ไม่ได้กำจัดอยู่ที่วิทยาลัยการศึกษาที่กรุงศรีอยุธยาเท่านั้น มิชชันนารีได้บริการรับใช้สังคมและจัดการศึกษาสำหรับเยาวชนชาวสยาม ด้วยวิสัยทัศน์ของการจัดการศึกษานานาชาติ ที่ต้องขยายการศึกษาออกไปให้ถึงประชาชนจำนวนมาก ในพื้นที่หรือท้องถิ่นทุกแห่งที่พวกเขาเดินทางไปถึง ด้วยเหตุนี้พวกเขาได้จัดตั้งโรงเรียนใกล้วัดในจังหวัดและมณฑลต่างๆ ที่มีศูนย์กลางหรือวัดคาทอลิกตั้งอยู่ ขณะเดียวกันภารกิจการเผยแผ่ศาสนาได้ขยายตัวออกไปในพื้นที่ต่าง ๆ ตามลำดับขั้นตอนดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
 
การศึกษาของสตรี
การจัดตั้งคณะนักบวชหญิงหรือคณะชี (A community of nuns) เป็นงานส่วนหนึ่งในการจัดตั้งวิทยาลัยการศึกษา คณะนักบวชหญิงจะเป็นกลุ่มที่รับภารกิจหน้าที่สอนและฝึกอบรมเยาวชนหญิง ที่มีความจำเป็นเทียบเท่าการจัดการศึกษาอบรมเยาวชนชาย พระสังฆราช ลังแบร์ต เดอ ลามอตต์ ได้ขอนักบวชหญิง 2 ใน 3 คณะนักบวชหญิงจากประเทศฝรั่งเศสมาฝึกหัดสตรี และก่อตั้งคณะนักบวชหญิงขึ้นเป็นคณะแรก ความคิดดังกล่าวนี้ท่านไม่ได้ปรึกษาคณะมิชชันนารี แต่ในพ.ศ. 2215 แผนการก่อตั้งคณะนักบวชหญิงได้เริ่มขึ้นในกรุงศรีอยุธยา ชื่อว่า “คณะรักไม้กางเขน” (Lovers of the Cross) ภารกิจสำคัญของคณะคือการทำงานดูแลวัด ช่วยเหลือพระสงฆ์และเป็นครู สอยเยาวชนหญิงและแม่บ้าน หลังจากที่ได้รับการฝึกอบรมที่เหมาะสมแล้ว (Launay 1920: 116) สองปีต่อมา ได้ก่อตั้งโรงเรียนสำหรับเยาวชนหญิงขึ้นสองแห่งคือ ที่กรุงศรีอยุธยา และที่เมืองตะนาวศรี (Launay 1920 : 37,41) ซึ่งจัดการศึกษาแยกชั้นเรียน ชาย หญิงไม่รวมกัน เพราะเป็นกฎของพระศาสนจักรในสมัยนั้นที่กำหนดให้การจัดการศึกษาต้องแยกเพศชาย และเพศหญิงไม่ให้เรียนร่วมกัน 
 
ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่เชื่อถือได้คือ มิชชันนารีจะจัดตั้งโรงเรียนหรือชั้นเรียนสำหรับเยาวชนสตรีและผู้ใหญ่ในทุกแห่งที่มีนักบวช “รักไม้กางเขน” นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการจัดการศึกษาสำหรับสตรีในสยาม บรรดาผู้รับบริการจากคณะนักบวชหญิงนี้ประกอบด้วย ผู้สนใจศึกษาศาสนา ผู้ประกาศรับเป็นคริสตชนใหม่ สตรีคาทอลิก เยาวชนหญิงและแม่บ้าน ฯลฯ ทุกคนต้องการเรียนและฝึกฝนอบรมกับนักบวชหญิงเหล่านี้ บทเรียนและสิ่งที่ฝึกสอนดูตามความเหมาะสมของผู้เรียน สำหรับเยาวชนหญิงจะสอนให้อ่านเขียนหนังสือ ขับร้องเพลง เลขคณิตเบื้องต้น และการทำงานบ้าน ได้แก่ การทำขนม เย็บปักถักร้อย งานดูแลบ้าน
 
สำหรับแม่บ้านหรือสตรีทั่วไป จะเป็นการฝึกดูแลบ้าน การเป็นแม่ที่ดีและภรรยาที่รู้จักหน้าที่และปกครองบ้าน ทุกชั้นเรียนจะมีการสอนข้อพระธรรมคำสอนและศาสนา
 
การศึกษาคาทอลิกในสมัยอยุธยา ระยะเสื่อม 
ตลอดรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ การศึกษาคาทอลิกได้เติบโตและแพร่ขยายกิจการไปอย่างมาก การที่บาทหลวงหรือกลุ่มชาวคริสต์คาทอลิกได้มีบทบาทในการจัดการศึกษาอย่างเป็นทางการแก่ประชาชนชาวสยามนั้น เป็นเพราะพระมหากษัตริย์ทรงให้การยอมรับกลุ่มชาวคริสต์คาทอลิกและมิชชันนารีอย่างเปิดเผยและทรงให้การอุปถัมภ์ด้วย เพราะเห็นประโยชน์ทางการเมืองการปกครอง แต่ถึงกระนั้นกระแสการเปลี่ยนแปลงที่นำไปสู่ความเสื่อมของการศึกษาคาทอลิกในยุคนี้ก็เริ่มก่อตัวและปรากฏเด่นชัดในบันทึกหลายฉบับ เช่น การที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงให้เกียรติยกย่องมิชชันนารีและสนพระทัยในคำสอนศาสนา และมีการปราบกบฏพระภิกษุไทยกับการรับสั่งให้ปิดวัด หรือการที่ “ฟอลคอน” เสนาบดีคนโปรดของพระนารายณ์ ซึ่งมีอำนาจมากในทางการเมืองการปกครองในสมัยนั้น และยังมีบทบาทเป็นผู้นำประชาคมชาวคริสต์คาทอลิก ได้ใช้อำนาจที่มีในการกดขี่บีบคั้นขุนนางไทย ประชาชน ตลอดจนพระภิกษุในพุทธศาสนา การที่ขุนนางไทยมองว่ากลุ่มชาวคริสต์คาทอลิกพยายามดึงคนเข้ารีต เปรียบเสมือนการเสียกรุงให้กับคนต่างชาติ เป็นต้น ล้วนเป็นชนวนให้เกิดความไม่พอใจในหมู่คนชาวสยาม จนเกิดการรวมตัวและลุกขึ้นปฏิวัติรัฐประหารโดยการนำของพระเพทราชา ซึ่งหลังการปฏิวัติครั้งนี้มีการกวาดล้างคณะบาทหลวงต่างชาติ รวมถึงการปิดสถานศึกษาวิทยาลัยต่างๆ ของกลุ่มมิชชันนารีด้วย และหลังจากยุคนี้การศึกษาคาทอลิกในสังคมไทยก็เสื่อมลงไปตามลำดับ จนกระ ทั่งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ซึ่งพอสรุปเหตุการณ์สำคัญๆ ได้ดังนี้
 
ใน พ.ศ. 2231 สมเด็จพระนารายณ์ประชวรหนัก พระเพทราชาและคณะไม่ประสงค์ให้ฟอลคอนยกพระปีย์ให้ขึ้นครองราชย์ ได้ทรงก่อการปฏิวัติรัฐประหารและสั่งจับฟอลคอน ต่อมาจึงสำเร็จโทษ ครั้งนั้นฟอลคอนได้เรียกนายพลแดฟาร์ชมาวางแผนป้องกันและอารักขา แต่เมื่อ พระเพทราชาได้ทรงขึ้นเสวยราชย์แล้ว ได้รับสั่งให้จับพลพรรคของฟอลคอน และบุตรสองคนของ  นายพลแดฟาร์ชเป็นตัวประกัน ส่วนนายพลแดฟาร์ชได้หนีไปหลังจากแลกตัวประกันแล้ว พร้อมกับได้จับขุนนางไทยเป็นตัวประกันด้วยพระสังฆราชลาโนที่รับเป็นนายประกันให้กับพลพรรคของนายพลแดฟาร์ช จึงถูกรุมประชาทัณฑ์และจับขังคุกที่กรุงศรีอยุธยาพร้อมกับมิชชันนารีคนอื่นๆ อีก 5 คน วัดใหญ่น้อยที่กรุงศรีอยุธยา ลพบุรี บางกอก พิษณุโลกและสุโขทัยถูกปล้นและทำลายเช่นเดียวกับสามเณราลัยนักบุญยอแซฟและสามเณราลัยที่ตำบลมหาพราหมณ์ ได้ถูกทำลายเหลือแต่กำแพงเท่านั้น ในเวลาเดียวกันมิชชันนารีถูกจำกัดสิทธิไม่ให้ออกไปทำงานนอกนครหลวง 
 
พ.ศ. 2231 พระสังฆราชลาโนได้รับการปล่อยจากคุกหลังจากถูกขังในคุกเป็นเวลา 21 เดือน แต่ในพ.ศ. 2228-2229 ได้เกิดโรคไข้ทรพิษระบาดอีก ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก ส่วนใหญ่เป็นเด็กประมาณ 80,000 คน พระสังฆราชลาโนได้ทรงกราบทูลแนะมาตรการบางอย่างเพื่อต่อสู้กับโรคนี้ พระมหากษัตริย์ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาสั่งให้ประชาชนปฏิบัติตามคำแนะนำของท่าน การที่มิชชันนารีลดน้อยลงและมีการเปลี่ยนแปลงย้ายสถานที่ไปมาระหว่างกรุงศรีอยุธยากับมหาพราหมณ์ทำให้การศึกษาไม่เจริญก้าวหน้าทำให้สามเณรลดลงเหลือประมาณ 20-35 คน จากที่ได้กล่าวมานี้อาจเรียกได้ว่า ยุคนี้เป็นยุคมืดหรือ “ยุคเสื่อมและหยุดชะงักของการศึกษาคาทอลิก” 
 
วิวัฒนาการของการศึกษาคาทอลิกในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2310 ดูเหมือนว่าการศึกษาคาทอลิกจะปิดฉากลง แต่บรรดามิชชันนารีก็ยังคงทำงานอยู่ และสภาพบ้านเมืองไม่เอื้ออำนวยให้การจัดการศึกษาเป็นไปได้มากและสะดวกเท่าใดนัก ภารกิจด้านการศึกษาจึงเป็นลักษณะอย่างไม่เป็นทางการ กลุ่มมิชชันนารีได้พยายามทำหน้าที่ทางการศึกษาตามจิตตารมณ์ของพระศาสนจักรอยู่เช่นเดิม ต่อมามิชชันนารีได้เข้ามาสมทบเพิ่มเติมมากขึ้น จึงได้จัดการศึกษาอบรมขึ้นใหม่เป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ของการทำงานเพื่อพัฒนาสังคมไทยสามารถแบ่งได้ตามพัฒนาการและยุคสมัยของสังคมไทยดังนี้ 
 
การศึกษาคาทอลิกยุคก่อนการฟื้นฟู
(สมัยกรุงธนบุรี-รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ) สมัยธนบุรี 
ระหว่างการกอบกู้เอกราชและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงเมื่อ พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้าตากสินได้ทรงทำการบูรณะและพัฒนาเมืองให้อยู่ในสภาพดีและเจริญก้าวหน้า ทรงติดต่อ สัมพันธไมตรีกับประเทศจีนและประเทศในภูมิภาคใกล้เคียงเพื่อทำการค้าขาย เพื่อหารายได้มาใช้ในการบูรณะพัฒนาอาณาจักร อีกทั้งทรงมีการติดต่อกับมิชชันนารีเพื่อชักชวนให้ชาวยุโรปเข้ามาค้าขายในประเทศให้มากขึ้นดังเดิม บางครั้ง สมเด็จพระเจ้าตากสินได้เสด็จมาเยี่ยมบาทหลวงกอร์ที่บางกอก ปัจจุบันคือวัดซางตาครู้ส ซึ่งแต่ก่อนนั้นบาทหลวงกอร์ได้ลี้ภัยไปอยู่ประเทศเขมร เมื่อทราบว่าพระยาตากทำการรบชนะท่านจึงกลับมาบางกอก พระเจ้าตากสินทรงรับสั่งให้สร้างกำแพงใหม่ ทรงโปรดให้คริสตชนและชาวโปรตุเกสหลายคนรับราชการในกองทัพรักษาพระองค์ และให้พวกเขาอยู่รอบๆ พระองค์ในเวลารบ
 
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2314 พระสังฆราชเลอบองกับมิชชันนารีคนหนึ่งคือ บาทหลวงการ์โนลต์  ได้นำสิ่งของแปลกๆ หลายอย่างจากผู้สำเร็จราชการเมืองปอนดิเชรี มาถวายพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าตากสินทรงต้อนรับพระสังฆราชด้วยพระทัยดี และพระราชทานที่ดินเพิ่มให้แก่วัดซางตาครู๊ส กับเรือ 2 ลำเป็นการขอบพระทัยสำหรับของขวัญ
 
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่าในพ.ศ. 2310 แล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรีได้กู้อิสรภาพและได้สร้างกรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้เข้ารับราชการกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงพระปรีชาสามารถในการรบจนเป็นที่โปรดปราน นับเป็นขุนพลคู่พระทัยฝ่ายขวา ได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพในสงครามครั้งสำคัญหลายครั้ง ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ใน พ.ศ. 2319
 
เมื่อสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ปราบการจลาจลที่เกิดขึ้นในปลายรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จนบ้านเมืองอยู่ในความสงบเรียบร้อย
 
ใน ปี พ.ศ. 2325 เกิดจลาจลขึ้นในบ้านเมือง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงปราบปรามจนราบคาบ ข้าราชการทั้งหลายจึงพร้อมใจกันอัญเชิญขึ้นปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ ต่อมาโปรดให้สร้างราชธานีใหม่ขึ้นทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา คือ กรุงเทพมหานคร 
 
ในปลายสมัยพระเจ้าตากสิน พระองค์ทรงมีพระสติคุ้มดีคุ้มร้าย ทรงกดขี่ข้าราชบริพารและชาวต่างชาติ ทรงขับไล่บรรดามิชชันนารีออกจากกรุงธนบุรี ข้าราชบริพารคริสตังได้รับความลำบากมาก เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้พระองค์เป็นที่เกลียดชังของประชาชนและนายทหาร ได้มีการก่อกบฏขึ้นในที่สุดพระยาจักรี ซึ่งกลับมาจากการรบกับเขมรก็ได้สำเร็จโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินและองค์รัชทายาทแล้ว จึงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ ทรงพระนามว่าพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกหรือพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทรงย้ายราชธานีมาฝั่งกรุงเทพฯดังที่กล่าวมาแล้ว ในสมัยนั้นมีศึกสงครามเกิดขึ้นบ่อยๆ ทรงแผ่ขยายอำนาจออกไปในหลายพื้นที่ เช่น ประเทศลาว ประเทศเขมร เป็นต้น
 
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ 
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (พ.ศ. 2325-2352)
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองบางกอก ซึ่งเป็นชัยภูมิที่เหมาะสมกว่ากรุงธนบุรี ได้ทรงสถาปนาราชวงศ์จักรี ทรงเร่งทำการบูรณปฏิสังขรณ์ปรับปรุงบ้านเมือง วัดวาอารามและสิ่งก่อสร้างทั้งหลาย รวมทั้งปราสาท กำแพงเมือง คูคลองทั้งหลายให้เข้มแข็งมั่นคงเพียงพอที่จะต้านทานข้าศึกที่อาจมาบุกโจมตีได้ ทรงชำระกฎหมายสังคายนาพระไตรปิฎกและพระธรรมคำสอนในพระพุทธศาสนาให้เป็นระเบียบแบบแผนและถูกต้อง เพื่อเป็นหลักให้ประชาชนได้ยึดถือปฏิบัติ
 
ในปลายสมัยพระเจ้าตากสิน พระองค์ทรงคุ้มดีคุ้มร้าย ถูกกล่าวหาว่าทรงสติฟั่นเฟือน
 
มัยรัชกาลที่ 2 : พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (พ.ศ. 2352-2367) 
เมืองสยามมีการพัฒนาและเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นตามลำดับ ปลอดจากภัยสงครามภายนอกและได้แผ่อาณาเขตไปทางกัมพูชาและมลายูและเป็นยุคที่ศาสนา และวรรณกรรมมีความเจริญ รุ่งเรืองมากสมัยหนึ่ง
 
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการศึกษาคาทอลิก จากอดีตจนถึงปัจจุบันนับตั้งแต่รอยต่อสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี จนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ช่วงรัชกาลที่ 2 มีสถิติจำนวนนักศึกษาของมิชชันนารีมากขึ้น แสดงว่าตั้งแต่ พ.ศ. 2208-2318 มิชชันนารีได้จัดการศึกษาสำหรับคนพื้นเมือง ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติที่เกิดในเมืองสยาม หรือเป็นคนพื้นเมืองในเขตประเทศเพื่อนบ้านที่มาศึกษาในกรุงศรีอยุธยา เพื่อเตรียมฝึกหัดเป็นบาทหลวง มิชชันนารีหรือครูคำสอนมีจำนวนทั้งสิ้น 847 คน (Arens,Bruno และ สุธิดา ว่องวิทย์, 2000) 
 
สรุปว่า ในสมัยกรุงธนบุรี มิชชันนารีได้เดินทางกลับเข้ามาในเมืองสยามอีกครั้งซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หลังจากนั้น มิชชันนารีได้ลงมือทำงานทันที สิ่งแรกที่พวกท่านไม่ลืมเลยคือ การเปิดโรงเรียนสอนเยาวชนไทยให้รู้หนังสือควบคู่ไปกับการสอนศาสนาแก่ผู้สนใจ จากเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นการย้ำถึงจิตใจของมิชชันนารีได้ว่า “การศึกษาหรือการสอนหนังสือเป็นสิ่งที่อยู่ในหัวใจของพวกเขาเสมอ” แม้ว่าจะประสบความยากลำบากมากเพียงใดก็ตาม เขายังทำภารกิจที่สำคัญนี้ให้กับคนไทยคือ การจัดการศึกษาซึ่งในยุคก่อนการฟื้นฟูนี้มิชชันนารีได้จัดพิมพ์หนังสือสอน  อ่านด้วยอักษรโรมันแบบอักขระญวน  ที่มิชชันนารีได้ประดิษฐ์ขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา เพื่อเป็นเอกสารสำหรับการเรียนการสอน
 
บรรดามิชชันนารียังได้ฝึกอบรมภคินีจำนวนหนึ่ง ให้ทำหน้าที่เป็นครูสอนผู้หญิงและเด็ก ในสถานศึกษาหรือวัดทุกแห่งที่ได้ฟื้นฟูและจัดตั้งขึ้นใหม่ ทั้งในเมืองหลวงและต่างจังหวัด การสอนดำเนินไปด้วยดี มีผู้สนใจเรียนมากขึ้นเป็นลำดับ ส่วนมากยังเป็นคนพื้นเมืองที่เป็นคนต่างชาติที่เกิดในสยาม หรือประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ทั้งชายและหญิง ผู้ชายบางคนได้เข้ามารับการศึกษาเพื่อเตรียมตัวบวชเป็นพระสงฆ์ จึงอาจกล่าวได้ว่า สามเณราลัยที่เลิกกิจการไปก็กลับได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่อีกครั้ง
 
การศึกษาคาทอลิกยุคฟื้นฟู (รัชกาลที่ 3-รัชกาลที่ 4)
สมัยรัชกาลที่ 3 : พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2367-2394) 
สถานการณ์ภายในประเทศในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินนโยบายปกป้องประเทศ เพราะทรงรู้สึกว่าจะมีภัยมาจากการล่าอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก ด้วยเหตุนี้จึงทรงเริ่มไม่ไว้ใจบรรดามิชชันนารีฝรั่งเศส ดังนั้น เพื่อจะออกจากกรุงเทพฯ มิชชันนารีจะต้องมีหนังสืออนุญาต ถ้าไม่มีอาจถูกจับและนำกลับไปที่เมืองหลวงโดยใช้กำลังบังคับ
 
พระสังฆราชท่านหนึ่งชื่อ กูร์เวอซี (พ.ศ.2377-2384) ได้รับการแต่งตั้งต่อจากพระสังฆราชฟลอรังส์ ได้ประกาศนโยบายจัดตั้งโรงเรียนประถมศึกษา เป็นภารกิจสำคัญที่มิชชันนารีต้องปฏิบัติในการให้การศึกษากับคนไทยควบคู่ไปกับงานแพร่พระศาสนา “การตั้งโรงเรียนเป็นเรื่องสำคัญ” เพราะว่าชาวสยามได้เข้าใจคริสต์ศาสนาแบบผิดๆ มาตลอด ดังนั้น พระสงฆ์ชาวพื้นเมืองและมิชชันนารีได้พยายามเปิดโรงเรียนประถมขึ้นในทุกวัด เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กชายและหญิง จัดการศึกษาแบบให้เปล่า แต่ความยุ่งยากที่สำคัญคือ การหาครูดีๆ มาสอน...คณะภคินีรักไม้กางเขนเป็นผู้ช่วยดีเยี่ยมสำหรับโรงเรียนเด็กหญิง (โกสเต ,โรแบรต์, 1996 : 195) ในด้านของพ่อแม่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือนัก ไม่ค่อยส่งลูกๆ ไปโรงเรียน แม้จะเป็นการจัดให้เปล่าก็ตาม ทั้งนี้พระสังฆราชกูร์เวอซีมองเห็นความสำคัญของโรงเรียน ได้ดำเนินการด้วย “ลมหายใจกับงานแพร่ธรรมของมิชชันนารี” โดยเริ่มจากคนจีน ชาวกะเหรี่ยง ชาวลาว และชาวลีกอร์ ในพ.ศ. 2380 (โกสเต,โรแบรต์,1996 : 194) และได้สร้างอาคารวัดขึ้นใหม่หลายแห่ง เช่น วัดคอนเซ็ปชัญ และวัดจันทบุรี
 
ใน พ.ศ. 2377 บาทหลวงปัลเลอกัวซ์ ได้เริ่มเตรียมพจนานุกรมภาษาไทย รวบรวมได้สองหมื่นห้าพันคำ และมีโครงการทำพจนานุกรภาษาลาวด้วย ท่านได้แลกเปลี่ยนความรู้ภาษาลาติน ฝรั่งเศส บาลี วรรณกรรมของพุทธศาสนาของสยาม วิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และวิชาการของตะวันตกกับพระภิกษุวชิรญาณภิกขุ (เจ้าฟ้ามงกุฎ) ก่อให้เกิดมิตรภาพ ที่ลึกซึ้ง ต่อมาพระองค์ได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (ลาเกร์, วิกตอร์, 2539 : 173 ; Costet, Robert, 1996 : ฉบับแปล 204)
 
ใน พ.ศ. 2378 บาทหลวงปัลเลอกัวซ์ ได้เปิดวิทยาลัยให้กับครอบครัวที่มีชื่อเสียงในหมู่คนไทยกลางกรุงเทพฯ มีมิชชันนารี 2 ท่าน เป็นผู้ดำเนินการสอน
 
ใน พ.ศ. 2384 บาทหลวงอัลบรังและบาทหลวงรังแฟง ไปเยี่ยมนครชัยศรี พบว่ามีชาวจีนมากกว่าชาวสยาม ท่านได้เปิด “โรงเรียน” สำหรับผู้เรียนคำสอนโดยใช้วิธีการแบบที่วัดกาลหว่าร์ คือครูจะสอนอ่านและเขียนเป็นอักษรโรมันและไทย มีการขับร้อง เรียนเลขคณิตเบื้องต้น และวิชาคำสอนเป็นวิชาที่สำคัญ
 
เมื่อพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์มาอยู่ที่วัดอัสสัมชัญ ซึ่งมีคริสตชนอยู่แล้วในทุกถิ่น เรียกว่า “ค่ายคริสตัง” ทุกค่ายจะมีโรงเรียนเปิดรับเด็กคนต่างศาสนา  หน้าที่ของพระสงฆ์ประจำค่ายคือ การสอนคำสอนแก่คริสตชน โปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ ติดต่อกับคนต่างศาสนา บางครั้งออกไปเทศน์สอนตามถนนและสถานที่สาธารณะต่างๆ ได้รับคำเย้ยหยันและคำสบประมาทของผู้เดินทางไปเสมอ ๆ 
 
ในการเดินทางไปเยี่ยมคริสตชนใหม่ของมิชชันนารีปกติใช้เรือแจว หรือเดินเท้า เกวียนหรือขี่ช้าง ศัตรูร้ายกาจของมิชชันนารีคือ ยุงและมดไฟ ภายหลังมีการใช้ยาควีนินที่นำมาจากยุโรปและอเมริกา เพื่อใช้รักษาโรคไข้มาลาเรีย
 
ข้อสังเกตที่น่าสนใจคือ โรแบรต์ โกสเต (Costet, Robert, 1996 : 214) มีความเห็นว่าบรรดามิชชันนารีส่วนใหญ่ดูเหมือนไม่ได้ศึกษาอย่างเข้าใจเกี่ยวกับพุทธศาสนา และไม่รู้ภาษาบาลีแต่พยายามใช้การโต้แย้งตามหลักวิทยาศาสตร์ เหตุผลและจิตสำนึกของคนสยาม แม้จะได้อ่านหนังสือประวัติพระพุทธศาสนาของ ยูจีน บูมอฟ (Eugene Bumouf : 1801-1852) ซึ่งเป็นนักปราชญ์ชาวยุโรปคนแรกที่ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ การประกาศสอนศาสนาจึงไม่เป็นที่ยอมรับเท่าที่คาดหวัง อย่างไรก็ตาม มีอุปสรรคบางอย่างคือ ชาวสยามคิดว่า “ฝรั่ง” เป็นสายลับของชาวยุโรป หากเกิดสงครามขึ้นคริสตชนจะต้องทรยศประเทศและหันไปหาชาวยุโรปแน่นอน
 
ด้านการศึกษาบรรดามิชชันนารียังได้จัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับคำสอนของศาสนาคริสต์จำนวนมาก เป็นอักขระโรมันผสมวรรณยุกต์ เพื่อให้อ่านออกเสียงเป็นภาษาไทยและได้จัดพิมพ์เป็นอักษรสยามในเวลาต่อมา หนังสือสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาไทยมีดังนี้ เช่น 
 
“ไวยากรณ์ภาษาไทย” ขนาด 121 หน้า
 
“พจนานุกรมลาติน-ไทย สำหรับมิสซังสยาม” ขนาด 497 หน้า
 
“เอกสารแนะนำภาษาสยาม ศัพท์อังกฤษ” ขนาด 267 หน้า หนังสือประวัติศาสตร์ 
 
  ฯลฯ งานเขียนต่าง ๆ เหล่านี้เป็นของพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์
 
ประวัติศาสตร์ไทยและการศึกษาคาทอลิก ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยกรุงรัตน โกสินทร์ในรัชกาลที่ 3 ได้จารึกนวตกรรมใหม่ทางสังคม ด้านการศึกษาในระบบ หรือการจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบแบบแผน คือ การศึกษาแบบยุโรปที่มิชชันนารีได้นำมาเผยแพร่ในเมืองสยาม ต่อมาสังคมไทยได้ยอมรับการศึกษาระบบโรงเรียน เป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาคนและประเทศ เรียกว่า “ยุคบุกเบิกการศึกษาคาทอลิก” 
 
สมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2394-2411) 
ใน ปี พ.ศ. 2402 พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ได้พิมพ์หนังสือ “กฎข้อบังคับของมิสซังไทย” เป็นภาษาลาติน เป็นหนังสือที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของมิชชันนารี หรือพระสังฆราช พระสงฆ์ในการทำงานแพร่ธรรมกับสัตบุรุษ
 
ใน ปี พ.ศ. 2404 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงส่งคณะทูตไปเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิแห่งฝรั่งเศส และสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 มีบาทหลวงลาร์โนดีร่วมเดินทางไปกับคณะทูตนี้ด้วยและทำหน้าที่เป็นล่าม เมื่อเดินทางไปถึงฝรั่งเศส เรือรบฝรั่งเศสสามลำมารับทูตสยาม และเมื่อได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 ที่กรุงโรม พระองค์ได้มีพระดำรัสตอบต่อพระเจ้าแผ่นดินสยาม ทำให้บรรดามิชชันนารีชื่นชมมาก และบรรดาทูตต่างมีความยินดีกับทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ไปเห็นในยุโรป
 
เมื่อพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ถึงแก่มรณภาพแล้ว พระสังฆราชดือปองด์ได้รับแต่งตั้งต่อจากท่าน และสืบงานต่อเนื่องมา จะเห็นว่ามิชชันนารีได้แสวงหาวิธีการที่เหมาะสมในการจัดการศึกษาและสอนศาสนาให้กับคนไทย เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งมิชชันนารีบางท่านไม่เข้าใจวิถีชีวิตและจิตใจของคนไทยเท่าที่ควร ในที่สุด มิชชันนารีได้ค้นพบและประกาศเป็นนโยบาย “จัดการประถมศึกษา” โดยให้ถือว่า “โรงเรียนเป็นเรื่องสำคัญ” และเป็นหน้าที่ของมิชชันนารีทุกคนที่จะต้องเปิดโรงเรียนประถมขึ้นในทุกวัด ทั้งในเมืองหลวงและต่างจังหวัด แม้ว่าจะต้องประสบกับปัญหายุ่งยากลำบากเท่าใดก็ตาม
 
การจัดการศึกษาคาทอลิกในสมัยรัตนโกสินทร์ จึงได้เริ่มฟื้นฟูและพัฒนาขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ด้วย “ลมหายใจใหม่” กับงานแพร่ธรรมของมิชชันนารี สิ่งที่น่าสังเกตคือการจัดตั้งโรงเรียนในเมืองไทยนี้เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ประเทศในยุโรป และสหรัฐอเมริกาได้จัดตั้งโรงเรียนในทุกเขตวัด และมีการปรับระบบการศึกษาตะวันตกจากการศึกษาในวัด เป็นการศึกษาแบบมวลชน ทุกคนตระหนักชัดเจนว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกหลาน เป็นภารกิจสำคัญของทุกวัดในยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้ถือเป็นนโยบายปฏิบัติ การศึกษาของมิชชันนารีเป็นที่นิยมและแพร่หลายมากขึ้นตามลำดับ ทำให้มิชชันนารีต้องทำงานสองด้าน ประสบกับปัญหาครูสอนขาดแคลนบ้าง ไม่มีเงินเพียงพอบ้าง แต่ทุกอย่างก็ได้รับการแก้ไขด้วยดี ในขณะเดียวกันได้อบรมและฝึกหัดหญิงสาวมาเป็นภคินีหรือนักบวชพื้นเมือง มาทำหน้าที่ครูสอนหนังสือในโรงเรียนทุกแห่งของวัดเท่าที่จะสามารถร่วมกับครูคำสอนได้
 
ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิชชันนารีได้รับการสนับสนุนให้มีเสรีภาพในการประกาศสอนศาสนามากขึ้น สามารถจัดตั้งโรงเรียนได้อย่างเสรีพระสังฆราชปัลเลอกัวซ์จึงได้ทุ่มเทและสนับสนุนจัดการศึกษาอย่างเต็มความสามารถทำให้การศึกษาคาทอลิกกลับฟื้นฟูขึ้นมาอย่างมากในแผ่นดินสยาม จึงเรียกยุคนี้ว่า “ยุคการศึกษาคาทอลิกฟื้นฟู” 
 
การศึกษาคาทอลิกยุคคืนชีพ (รัชกาลที่ 5- รัชกาลที่ 6)
สมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2411-2453)
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นครองราชย์ใน พ.ศ. 2411 พระองค์ได้ทรงยกเลิกประเพณีการหมอบกราบต่อหน้าพระที่นั่ง และใน พ.ศ. 2417 ได้ทรงประกาศกฎหมายฉบับแรกเรื่องการเลิกทาส มิชชันนารีได้เป็นผู้มีส่วนขยายผลให้กฎหมายนี้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางในจังหวัดต่าง ๆ 
 
ใน ปี พ.ศ. 2412  ภคินีคณะรักไม้กางเขนที่อารามสามเสนและจันทบุรียังคงทำหน้าที่เป็นครูสอนในวัดและโรงเรียนของวัด
 
ใน ปี พ.ศ. 2415 มิชชันนารีได้จัดหาอารามที่บางช้างเพื่อใช้เป็นที่สอนเด็กหญิง หรือเด็กกำพร้าและสอนคำสอนสำหรับผู้ที่สมัครเตรียมตัวเป็นภคินี และได้ส่งภคินีไปอยู่ที่วัดดอนกระเบื้อง แปดริ้วอีกด้วย
 
ใน ปี พ.ศ. 2416-2439 มีครูคำสอนในวัดต่างๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีการฝึกอบรมเพื่อเตรียมครูคำสอนเหล่านี้ในการสอนในโรงเรียน มิสซังให้การสนับสนุนโรงเรียนเด็กชายและเด็กหญิงอย่างเต็มที่
 
ใน ปี พ.ศ. 2439 พระสังฆราชเวย์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งต่อจากพระสังฆราชดือปองด์ ท่านได้อธิบายความจำเป็นที่จะต้องมีโรงเรียนในทุกชุมชนคริสตชนเพื่อสามารถเรียน “ศาสนาและบทสวดภาวนา” ได้ง่ายขึ้น โรงเรียนเหล่านี้เปิดเป็นระยะเวลาห้าหรือหกเดือนต่อปี ในช่วงที่พ่อแม่ไม่ต้องการใช้เด็กมากนัก เช่นเดียวกันจำนวนมิชชันนารีก็เพิ่มจำนวนเป็น 53 องค์ ใน พ.ศ. 2441
 
ใน ปี พ.ศ. 2421 มิชชันนารีไปฟื้นฟูชุมชนคริสตชนที่เมืองพิษณุโลกและภาคเหนืออีกครั้ง แต่ไม่ประสบผลอะไรมากนัก หลังจากนั้นพระสังฆราชเวย์ ได้ส่งบาทหลวงโปรดมไปทำงานแพร่ธรรมในภาคอีสานของประเทศสยาม เริ่มจากสระบุรี ที่เรียกกันว่า “แก่งคอย” โคราช และอุบลราชธานี ที่หมู่บ้านบุ่งกะแทว มิชชันนารีได้ไถ่ทาส ซึ่งเป็นชาวพวน ชาวลาว มารวมกันตั้งหมู่บ้าน ทำอาชีพเลี้ยงตนเองและศึกษาพระธรรมคำสอน 
 
การศึกษาในสมัยพระสังฆราชเวย์ (พ.ศ. 2418-2452) 
พระสังฆราชเวย์ บริหารกิจการศาสนาคาทอลิก ในทิศทางสนับสนุนการปฏิรูปการปกครองและบริหารประเทศ โดยเน้นความสำคัญของการจัดการศึกษาที่ดีมีคุณภาพ เพื่ออบรมสั่งสอนเยาวชนให้เป็นคนดีมีคุณธรรม ด้วยการจัดตั้งสถาบันการศึกษาหลายแห่งเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ก่อนสมัยปกครองของท่าน จำนวน 49 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ ซึ่งส่วนมากเน้นการสอนความรู้ระดับประถมศึกษา และการฝึกอบรมด้านอาชีพควบคู่กับการสั่งสอนอบรมศาสนาสถาบันการศึกษาที่สำคัญและเป็นการจัดการศึกษาแบบยุโรปที่นำมาจัดการเรียนการสอนในประเทศไทย คือ โรงเรียนอัสสัมชัญ (Assumption College) สำหรับเด็กชายและโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ (Assumption Convent) สำหรับเด็กหญิง ได้รับความร่วมมือจากคณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ลักษณะการจัดการเรียนการสอนแตกต่างจาการจัดการศึกษาของไทยอย่างชัดเจน ในขณะที่เด็กชายและเด็กหญิงส่วนมากไม่ได้มีโอกาสรับการศึกษาเลย
 
ในรายงานของคณะสงฆ์มิสซังต่างประเทศประจำปี พ.ศ.2427 พระสังฆราชเวย์ ได้ยืนยันว่าเป็นสิ่งสำคัญที่มิชชันนารีต้องจัดการศึกษาแก่เยาวชนและผู้ใหญ่ในต่างจังหวัด และเพิ่มขึ้นในกรุงเทพฯ สำหรับคนยุโรปและคนไทยที่สนใจเรียนรู้ภาษายุโรป มิชชันนารีโปรแตสแตนท์ได้จัดตั้งโรงเรียนบ้านสำเหร่หรือกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยในปัจจุบัน
 
บาทหลวงกอลมเบต์เจ้าอาวาสวัดอัสสัมชัญ ได้จัดตั้งโรงเรียนประจำวัดโดยใช้อาคารบ้านเณรเป็นสถานศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในเขตวัด ในช่วงแรกไม่มีผู้คนสนใจเรียนนัก เพราะพ่อแม่ของเด็กในสมัยนั้นไม่นิยมการศึกษา ด้วยความอุตสาหะวิริยะไม่ยอมล้มเลิกของท่านที่เห็นความสำคัญของการศึกษา และต้องการจัดให้เยาวชนได้รับการศึกษาที่ดี บาทหลวงกอลมเบต์ ได้ไปหาเด็กตามบ้านทุก ๆ วัน แจกสตางค์นิดหน่อยให้มาเรียน 
 
ใน ปี พ.ศ. 2422 ท่านได้จัดให้มีแผนกภาษาอังกฤษควบคู่ไปกับภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเปิดอยู่ก่อนแล้ว จากนั้นท่านเริ่มวางแผนการศึกษาที่สมบูรณ์ 
 
ใน ปี พ.ศ. 2428 โดยความเห็นชอบของพระสังฆราชเวย์จึงได้จัดตั้งโรงเรียนอัสสัมชัญโดยเปลี่ยนจากโรงเรียนประจำวัด ได้จัดหลักสูตรการเรียนการสอนเป็น 3 ภาค คือ ภาษาไทย ภาษาฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษ เปิดรับกุลบุตรทั่วไปในพระนคร จำนวนเด็กเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ 
 
กิจการโรงเรียนอัสสัมชัญเป็นที่นิยมมาก ผู้ปกครองได้ส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนมากขึ้น จนต้องสร้างอาคารเรียนหลังใหม่ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแ ละสมเด็จพระราชินีนาถได้ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สมทบการก่อสร้างจำนวน 4,000 บาท และยังได้เงินสมทบจากพ่อค้าชาวจีนและยุโรป โดยสร้างเสร็จใน ปี  พ.ศ. 2432 อำนวยการสอนโดยบาทหลวงกอลมเบต์ (Fr.Colombet) ร่วมกับมิชชันนารี 2 คน ครูต่างประเทศ 9 คน และครูไทย 2 คน
 
ใน ปี พ.ศ. 2439 มีนักเรียนเพิ่มเป็น 390 คน เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วทุกคนมีงานทำ ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างดี
 
พระสังฆราชเวย์ได้มอบหมายให้บาทหลวงกอลมเบต์ เดินทางไปติดต่อคณะนักบวชชายจากประเทศฝรั่งเศสมาเป็นผู้รับผิดชอบจัดการศึกษาในโรงเรียนอัสสัมชัญ และมีคณะนักบวชหญิงมารับผิดชอบการศึกษาที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์
 
สมัยรัชกาลที่ 6 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2453-2468)
เป็นยุคที่ประเทศไทยกำลังพัฒนาประเทศให้ประสบความเจริญก้าวหน้า ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง ด้วยพระมหากษัตริย์องค์ก่อนๆ ทรงวางรากฐานและเน้นกระบวนการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยแบบตะวันตก บนพื้นฐานแห่งภูมิปัญญาตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อให้สังคมไทยมีเกียรติภูมิแห่งการพัฒนาความคิดของสังคมและประชาชาติ
 
การจัดการศึกษาของมิชชันนารีในยุคนี้ มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงทางความคิดและวิธีจัดการศึกษา ที่มิชชันนารีได้รับผลจากการประชุมสังคายนาวาติกัน ครั้งที่ 1 ณ กรุงโรม เป็นการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดีขึ้น 
 
การศึกษาคาทอลิกยุค “ผู้หว่าน” (รัชกาลที่ 7 – รัชกาลที่ 8) 
สมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ. 2468-2477)
พระมหากษัตริย์ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ปี พ.ศ. 2475 ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและการพัฒนาประเทศ ประชาชนจึงนิยมส่งลูกหลานเข้าศึกษาเล่าเรียนมากเพิ่มขึ้น ในขณะที่รัฐได้เร่งจัดการศึกษาและขยายการศึกษาออกไปยังภูมิภาคจังหวัดต่างๆ อย่างกว้างขวางและเต็มกำลังความสามารถ เพราะตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาที่จะช่วยสร้างคนให้เป็นคนดี เป็นกำลังของชาติ ถือเป็นภารกิจที่มิชชันนารีจะต้องร่วมมือกับรัฐที่จะเพาะหว่านเมล็ดพันธุ์ทางการศึกษาสำหรับประชาชนและร่วมรับผิดชอบในการพัฒนาประเทศชาติ
 
ความร่วมมือของการศึกษาคาทอลิกกับรัฐ ในการพัฒนาการศึกษาและการพัฒนาประเทศดังกล่าว แสดงถึงความตระหนักถึงบทบาทและความรับผิดชอบต่อสังคมไทย และร่วมมือพัฒนาการศึกษาให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2475 ประกอบรัฐได้สนับสนุนเรื่องสิทธิเสรีภาพของบุคคลในฐานะเป็นพลเมืองของชาติ ทำให้สังคมทุกส่วนและองค์กรศาสนาจัดการศึกษาสำหรับประชาชนได้อย่างอิสระและพร้อมที่จะทุ่มเทกำลังรับใช้สังคม
 
มิชชันนารีได้ขยายงานแพร่ธรรมออกไปในเขตภาคใต้ และจัดตั้งเป็นมิสซังราชบุรี โดยมอบให้อยู่ในความดูแลของมิชชันนารีคณะซาเลเซียนของนักบุญยอห์น บอสโก ซึ่งได้เข้ามาในประเทศสยามใน พ.ศ. 2470 เริ่มกิจการอภิบาลและการศึกษาอบรมสำหรับเยาวชนชายที่โรงเรียนอาชีวะศึกษาดอนบอสโก และงานอภิบาลเยาวชน งานธรรมทูตในมิสซังราชบุรีและเขตภาคใต้   ใน พ.ศ. 2473
 
ส่วนกิจการของภราดาคณะเซนต์คาเบรียล ได้ขยายการศึกษาเป็นโรงเรียนเซนต์คาเบรียล สามเสน โรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชยการ โรงเรียนเซนต์ปอล แปดริ้ว (ปัจจุบันเป็นโรงเรียนเซนต์หลุยส์ ฉะเชิงเทรา) โรงเรียนมงฟอร์ต เชียงใหม่ และโรงเรียนอัสสัมชัญ ศรีราชา
 
ภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ได้ขยายเป็นโรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์ คอนแวนต์ สามเสน โรงเรียนเซนต์ปอล แผนกหญิง แปดริ้ว (ปัจจุบันเป็นโรงเรียนเซนต์แอนโทนี ฉะเชิงเทรา)
 
การฝึกหัดครู มิชชันนารีได้จัดตั้งสถานฝึกหัดครู “ทาทาซีโอ” ที่แปดริ้ว เพื่อเป็นการฝึกอบรมครูสำหรับสอนเด็ก ภายหลังเลิกกิจการไป
 
 ใน พ.ศ. 2487 ได้แบ่งเขตงานอภิบาลและแพร่ธรรมเป็นมิสซังจันทบุรี มอบหมายให้อยู่ในความดูแลของพระสงฆ์พื้นเมือง
 
สมัยรัชกาลที่ 8 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (พ.ศ. 2477-2489) 
ในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  พ.ศ. 2475 ในครั้งนั้นรัชกาลที่ 7 ได้ทรงสละราชสมบัติ และรัชกาลที่ 8 เสด็จขึ้นครองราชย์ รัฐบาล ได้ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการปรับเปลี่ยนผู้นำทางการเมือง มีทหารมากกว่าพลเรือนในการเป็นผู้นำ จึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย ภายใต้การนำของทหารเป็นเวลานานพอสมควร ในขณะเดียวกัน ได้มีการพัฒนาการด้านความคิดและบทบาทของภาคประชาชนมากขึ้น 
 
ภายใต้สถานการณ์ทางสังคมดังกล่าว การศึกษาคาทอลิกโดยการสนับสนุนของมิชชันนารีและพระศาสนจักรคาทอลิก ได้ร่วมมือกับรัฐทั้งในการจัดตั้งโรงเรียนคาทอลิก ในเขตพื้นที่ชุมชนต่างจังหวัด และร่วมมือพัฒนาชุมชนบริเวณวัดคาทอลิกในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดด้วยเช่นกัน
 
สรุปว่า การศึกษาคาทอลิก “ยุคผู้หว่าน” นี้ เป็นยุคที่มิชชันนารีได้ตอบรับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการขยายการศึกษาออกไปในเขตภูมิภาคให้กว้างขวาง เพื่อคนไทยทุกคนจะได้รับการพัฒนา รัฐบาลได้จัดโครงการส่งเสริมพัฒนาการศึกษาของประชาชน
 
การศึกษาจึงเป็นเครื่องมือที่สำคัญ และสำคัญมากยิ่งขึ้นไปตามลำดับของกาลเวลา การพัฒนา ทำให้ศักยภาพของความเป็นมนุษย์เปลี่ยนแปลงก้าวหน้ามากขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ คนไทยไม่ต้องปรับตัวมากกับการศึกษาแบบตะวันตก จากความพากเพียรพยายามของมิชชันนารี การศึกษายิ่งได้แผ่ขยาย หรือ “หว่าน” ออกไปในผืนแผ่นดินอย่างกว้างขวางมากเท่าใด ก็จะเติบโตมากขึ้นอย่างไม่รู้จักสิ้นสุด จิตสำนึกต่อความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและประเทศชาติของคนไทยได้พัฒนามากขึ้น จนถึงกับอาสาเข้ามาพัฒนาประเทศ มิชชันนารีได้จัดการศึกษาและดำเนินงานแพร่ธรรมต่อไปอย่างต่อเนื่อง 
 
การศึกษาคาทอลิก “ยุคแตกหน่อต่อกิ่ง” (รัชกาลที่ 9 - ปัจจุบัน)
สมัยรัชกาลที่ 9 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (พ.ศ. 2489 - 2016)
พระองค์ทรงขึ้นครองราชย์ สืบต่อจากพระเชษฐาธิราช โดยมีคณะรัฐบาลเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในระยะแรก เนื่องจากยังทรงพระเยาว์และยังไม่ทรงสำเร็จการศึกษา
 
หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาแล้ว ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ และประกาศการปกครองโดยธรรม ทรงดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม นำประชาชนอยู่อย่างร่มเย็นผาสุก จนได้รับพระนามว่า “พ่อของแผ่นดิน” 
 
ในด้านการศึกษาในยุคนี้ ได้มีแผนการศึกษาดังต่อไปนี้
แผนการศึกษา พ.ศ. 2494 ที่เปรียบเสมือน “พิมพ์เขียว” ที่มีสาระสำคัญว่าการปรับปรุงแผนการศึกษา 2479 ให้ทันสมัย โดยเน้นการศึกษาภาคบังคับ 4 ปี และอาชีวะศึกษา การปรับปรุงการฝึกหัดครู
 
แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2503 มีสาระสำคัญคือจัดการศึกษา 4 ระดับ คือ อนุบาล ประถม มัธยม อุดมศึกษา ในช่วงแผนการศึกษานี้ได้วางแผนการศึกษา 3 แผน ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ (ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์,2532 : 398 - 402) 
 
แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504 - 02509) มุ่งกระจายการศึกษาไปสู่ท้องถิ่นให้ทั่วถึง และปรับปรุงคุณภาพการศึกษา
 
แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510 - 2514) มุ่งเสริมการผลิตกำลังให้สอดคล้องกับความต้องการของเศรษฐกิจและสังคม
 
แผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515 - 2519) มุ่งแก้ไขปัญหาการศึกษาในระดับต่างๆ เช่นการพัฒนาการอาชีวะศึกษา การฝึกหัดครูจนถึงปริญญาตรี การจัดตั้งมหาวิทยา ลัยในภูมิภาครวมทั้งสนับสนุนให้เอกชนเปิดสอนในระดับอุดมศึกษา
 
ในช่วงนี้ได้เกิดวิกฤตการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยของหมู่นักศึกษา ทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาขึ้น ในยุคนี้จึงมีคำขวัญในหมู่นักศึกษาว่า เป็นยุคแห่งการแสวงหา
 
แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2520 มุ่งจัดการศึกษาในโรงเรียนและการศึกษานอกโรงเรียนให้สัมพันธ์กัน และจัดแบ่งการประถมจาก 7 ปี เหลือ 6 ปี มัธยมเพิ่มจาก 5 ปี เป็น 6 ปี ในช่วงแผนการศึกษานี้ รัฐบาลได้ใช้แผนพัฒนาการศึกษา 3 แผน ซึ่งมีสาระสรุปได้ดังนี้
 
แผนพัฒนาการศึกษาฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 - 2524) เน้นการปรับปรุงโครงสร้างระบบบริหาร การศึกษา
 
 แผนพัฒนาการศึกษาฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525 - 2529) เน้นเรื่องการปรับปรุงคุณภาพการศึกษา และความเสมอภาคทางการศึกษา
 
แผนพัฒนาการศึกษาฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530 - 2534) เน้นเรื่องการจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาประเทศและแก้ไขภาวะเศรษฐกิจ
 
ในแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ ได้ประกาศใช้หลักสูตรประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น พ.ศ. 2521 และหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ. 2524
 
แผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2535 มุ่งจัดการศึกษาเพื่อปวงชน เป็นการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ตลอดชีวิต และให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา มุ่งเน้นพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้านการเรียนการสอน ด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ การอนุรักษ์ภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ซึ่งรัฐได้จัดการศึกษาตามแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ 2 ฉบับ มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
 
แผนพัฒนาการศึกษาฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535 - 2539) มุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
 
แผนพัฒนาการศึกษาฉบับที่ 8 (พ.ศ.2540-2544) มุ่งพัฒนาคุณภาพของมนุษย์และยึดหลัก มนุษย์เป็นศูนย์กลางของการพัฒนา เพื่อเสริมสร้างสังคมไทยให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
 
สรุปการศึกษาคาทอลิกโดยรวมตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงสมัยปัจจุบัน 
จากการศึกษาในหัวข้อ “ประวัติการศึกษาคาทอลิกในประเทศไทย” มีความคิดเห็นว่าการให้การศึกษาในยุคแรกนั้นยังไม่เป็นทางการ ไม่มีระบบแบบแผนเหมือนในยุคปัจจุบัน การสอนมีลักษณะเป็นไปในเชิงพาณิชย์และเป็นสื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการสอนศาสนาและวิทยาการความรู้ด้านต่างๆ 
 
ต่อมาเริ่มมีการพัฒนาการศึกษาให้เป็นระบบ โดยการก่อตั้งโรงเรียนหรือวิทยาลัยขึ้น ใช้ระบบการศึกษาของชาวยุโรป มุ่งเน้นที่การให้การศึกษาและสืบทอดศาสนา
 
จึงเห็นได้อย่างชัดเจนในเรื่องการศึกษาที่ค่อยๆ เจริญเติบโตขึ้นมาในแต่ละยุคดังที่ได้กล่าวมาในข้างต้นแล้ว แม้ว่าจะพบอุปสรรคที่ทำให้การศึกษาต้องหยุดชะงัก แต่ด้วยความพากเพียร และความมุ่งมั่นของบรรดามิชชันนารีที่พยายามถ่ายทอดความรู้ให้กับคนไทยอย่างสม่ำเสมอเรื่อยมา ทำให้การศึกษาในประเทศไทยได้รับการพัฒนาและปรับปรุงให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต
 
มีการกำหนดนโยบายและแผนการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม ระบุว่า โรงเรียนเป็นสถานการศึกษาและเป็นองค์การที่สำคัญของสังคมมีพันธกิจในการพัฒนาคนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมที่ดีในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ซึ่งเมื่อข้าพเจ้าได้อ่านแล้วก็มีความคิดเห็นว่า ในอดีตจนถึงปัจจุบันการศึกษาคาทอลิกมีความพยายามที่จะพัฒนาความรู้คู่คุณธรรม สอนให้นักเรียนมีความประพฤติดี ปฏิบัติตามกฎระเบียบวินัย เป็นผู้ทีมีความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม และเราเห็นว่าโรงเรียนคาทอลิกเน้นเอกลักษณ์การเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนโดยยึดแบบอย่างของพระเยซูคริสตเจ้าอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ ในการนำเอาความรัก ความเอาใจใส่ต่อศิษย์ ความอดทน การให้อภัยต่อผู้เกี่ยวข้องในการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู ผู้ปกครอง พนักงานหรือแม้แต่ผู้ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาหรือปรับปรุงการศึกษาในโรงเรียน
 
ดังนั้น จึงเชื่อแน่ว่าในอนาคตการศึกษาคาทอลิกในประเทศไทย จะต้องก้าวหน้าต่อไป แม้จะมีอุปสรรคต่างๆ ที่เราไม่ทราบว่าจะเป็นอะไรนั้นรออยู่ก็ตาม เพราะผลงานของบรรดามิชชันนารีตั้งแต่รุ่นแรกได้หว่านเม็ดพันธุ์ที่ดีนี้เอาไว้  และจะเกิดผลคงอยู่ต่อไปในสังคมของเรา
 
บรรณานุกรม 
บาทหลวง วิวัฒน์ แพร่สิริ 
วิทยานิพนธ์ : วิวัฒนาการและอนาคตภาพของการศึกษาคาทอลิกกับการพัฒนาสังคมไทย.
กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2543. บาทหลวง เอกชัย ชิณโคตร  
การศึกษาคาทอลิก : Utopia or Reality. นครปฐม :
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนางาน วิชาการวิทยาลัยแสงธรรม , 2551.