ประวัติฝ่ายการศึกษาของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ

พระศาสนจักรได้เล็งเห็นถึงบทบาทอันสำคัญของการศึกษา ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการเสริมสร้าง และการพัฒนาสมรรถภาพ และศักยภาพของมนุษย์อย่างครบถ้วนในทุกด้าน และการศึกษายังปลูกฝังความรัก จริยธรรม และมโนธรรมให้แก่เยาวชนอีกด้วย ดังนั้นจึงอาจ กล่าวได้ว่า การจัดการศึกษาจึงเท่ากับการมีส่วนในการพัฒนา และสร้างสรรค์สังคมให้ดีขึ้นเจริญก้าวหน้าขึ้นนั่นเอง  นอกจากนี้ พระศาสนจักรยังเห็นว่า การศึกษาเป็นสื่ออันสำคัญประการหนึ่งของการแพร่ธรรม กล่าวคือ เป็นการประกาศข่าวแห่งความรอดขององค์พระเยซูคริสต์ และเป็นพยานถึงพระองค์ด้วย
 
ด้วยการเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว ทำให้สังฆมณฑลต่างๆ รวมทั้งคณะนักบวช และฆราวาส ได้ดำเนินกิจการ ในด้านการศึกษา คือการก่อตั้งโรงเรียนโดยเฉพาะ อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
 
มีนโยบายว่า "ให้แต่ละวัดมีโรงเรียนของตนเองอย่างน้อยถึงระดับเกณฑ์บังคับ" และ "ให้พระสงฆ์ทุกองค์ ช่วยกันส่งเสริมและให้การสนับสนุนกิจการโรงเรียน เต็มกำลังความสามารถ" ซึ่งทำให้การศึกษา หรือกล่าวให้ชัดเจนมากขึ้น คือ โรงเรียนมีฐานะเป็นงานหลักงานหนึ่งของการแพร่ธรรมของสังฆมณฑล
 
ในอดีตโรงเรียนต่างๆ ของสังฆมณฑลดำเนินการภายใต้การดูแลของพระสงฆ์ ซึ่งมีแนวทางการบริหาร และนโยบายเฉพาะที่แตกต่างกัน ทำให้โรงเรียนทั้งหมดขาดเอกภาพ และ เอกลักษณ์ไป ในขณะเดียวกัน การเปลี่ยนผู้บริหารโรงเรียน อันเนื่องมาจากการโยกย้ายพระสงฆ์ตามวาระนั้น ทำให้ระบบการทำงานของโรงเรียนต้องเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ ขาดความต่อเนื่องของการทำงาน และเมื่อพิจารณาประกอบกับการที่โรงเรียนเหล่านี้ ต้องแข่งขันกับโรงเรียนรัฐบาล และโรงเรียนเอกชนทั่ว ๆ ไปแล้ว การจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ และการวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียน จึงมีความจำเป็นมากขึ้น
 
การประสานงานอย่างไม่เป็นทางการในส่วนย่อยบางส่วนค่อยๆ ก่อตัวขึ้นจนกระทั่งในการสัมมนาที่บ้านซาเลเซียนหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2527 ที่สัมมนาได้มีมติให้ก่อตั้ง "ฝ่ายการศึกษาในโรงเรียนของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ" เดือนเมษายน 2545 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ" และเริ่มตั้ง "คณะกรรมการบริหารการศึกษา" ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะกรรมการจัดการการศึกษา" และเริ่มหาผู้รับผิดชอบงานเต็มเวลา ทั้งพระสงฆ์และฆราวาส รวมถึงการหาสถานที่ทำงานของฝ่ายการศึกษาฯ ด้วย
 
ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เป็นหน่วยงานหนึ่ง ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของอัครสังมณฑลกรุงเทพฯ ทำงานเกี่ยวกับการศึกษาของโรงเรียนคาทอลิกในเครือ มีสถานที่ทำงานตั้งอยู่ที่ 122/8-9 อาคารแม่พระรับเกียรติยกขึ้นสวรรค์ ซ.นาคสุวรรณ ถ.นนทรี แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพฯ 10120
 
...ตราสัญลักษณ์...
 
ลักษณะดวงตรา
ดวงตราเป็นเครื่องหมายไม้กางเขน และตัวอักษร E ตัวพิมพ์ใหญ่ ดังรูป
 
 
ด้านล่างของดวงตรา มีคำภาษาอังกฤษว่า
"BKK. Archdiocese"
 
รอบดวงตรามีข้อความเป็นภาษาไทยพิมพ์ว่า
 
"ฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ"
และตัวอักษรภาษาอังกฤษว่า "EDBA" ย่อมาจากคำว่า
"THE EDUCATION  DEPARTMENT  OF  BANGKOK ARCHDIOCESE"
 
ความหมายของตรา
เครื่องหมายกางเขน  เป็นสัญลักษณ์ แสดงถึงชัยชนะ และจุดเริ่มต้นความรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้า
เส้นกางเขน มี 3 เส้น หมายถึง ปัญญาการศึกษา 3 ประเภท คือ  การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ  การศึกษาตามอัธยาศัย
ทั้งในมิติระนาบ มิติกว้าง เมื่อทุกๆ คนลึกเข้าไปในสาระวิชา
 
ตัวอักษร E เป็นอักษรย่อมาจากคำเต็มว่า Education หรือการศึกษาแสดงถึงฝ่ายการศึกษา อัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ เส้นหนักบางและส่วนหยักของตัวอักษร E เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงปณิธานของฝ่ายการศึกษาฯ ที่จะพัฒนาการศึกษาไปอย่างเป็นขั้นตอนจากขั้นต่ำไปสู่ความเข้มและความลึกซึ้งในขั้นปลาย
 
สีของตัวอักษร E เป็นสีธงชาติไทยคือ สีแดง สีขาว และสีน้ำเงิน
สีธงชาติไทย หมายถึง การศึกษาคาทอลิกในประเทศไทย
คำว่า BKK. Archdiocese ใต้ดวงตรา เป็นอักษรย่อมาจากคำเต็มว่า
Bangkok Archdiocese หรืออัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
 
...ปรัชญาการศึกษาของฝ่ายการศึกษาฯ...
 
พระเจ้า (GOD) ทรงเป็นปฐมเหตุแห่งความดีงาม และแหล่งกำเนิดแห่งชีวิต ทรงเป็นจุดสุดท้ายแห่งชีวิต และรางวัลแห่งผลงานทั้งปวง
 
ความรัก (LOVE) พระเจ้าทรงมอบบัญญัติแห่งความรักแก่มนุษย์ ด้วยบัญญัตินี้ พระองค์ทรงบันดาลให้ทุกสิ่งเกิดคุณค่า และทำให้ชีวิตสดชื่นขึ้น
 
การรับใช้ (SERVICE) เป็นเครื่องมือแห่งความรัก อันบ่งบอกถึงความเสียสละ และยินดีแบ่งปันให้ซึ่งพระคริสตเจ้าทรงมอบเป็นแบบฉบับแก่เรา
 
บนพื้นฐานอันดีงามแห่งชีวิต เมล็ดพันธุ์แห่งพระธรรมของพระเจ้า จะเติบโตเจริญงอกงามขึ้น และให้ผลอันล้ำค่าแก่แผ่นดิน