-
Category: ประวัติการพิมพ์ในประเทศไทย
-
Published on Tuesday, 20 October 2015 01:58
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2446
หากจะพูดถึงเรื่อง “การพิมพ์คาทอลิก” ก็คงต้องโยงใยไปถึงโรงพิมพ์ของมิสซัง หรือโรงพิมพ์อัสสัมชัญในปัจจุบันด้วย และเพื่อจะให้เข้าใจได้ชัดเจนขึ้นก็คงต้องย้อนไปถึงหลักฐาน สำคัญที่เคยมีพูดถึงการพิมพ์ในพระศาสนจักรคาทอลิก คือ สมัยอยุธยา
โรงพิมพ์อัสสัมชัญ
ศาสนาคาทอลิกในสมัยนั้น เมื่อพูดถึงมิสซังสยาม ก็คงหมายถึงทั้งหมดในประเทศไทย ยังไม่ได้มีการแบ่งแยกเป็นเขต เป็นสังฆมณฑล อย่างในปัจจุบันนี้ และต้องยอมรับว่า หลักฐานส่วนใหญ่ในประเทศไทยเราถูกทำลายไปหลายครั้งหลายคราครั้งที่สำคัญคือ สมัยพม่าเข้าทำลายกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่สองในปี ค.ศ. 1767 และบางอย่างก็สูญหายชำรุดไป เพราะขาดการเอาใจใส่เท่าที่ควร
ในการเขียนเรื่องนี้ จะพยายามยึดเอาลำดับเวลาของสารสาสน์/อุดมสาร เป็นหลักและถ้ามีหนังสือ หรือการพิมพ์อะไรที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงก็จะพยายามแทรกเข้ามา เพื่อให้เห็นว่าในช่วงเวลานั้นมีการพิมพ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง อาจจะรู้สึกไม่ต่อเนื่องกันทางด้านการเขียนนัก สิ่งที่ตั้งใจก็คือ ต้องการให้เห็นภาพรวมของการพิมพ์คาทอลิก จากหนังสือที่ออกเป็นนิตยสาร และหนังสือพิมพ์ที่เป็นภาษาไทยเป็นหลัก ตามหลักฐานที่มีอยู่ในเวลานี้
หลักฐานอ้างถึงการพิมพ์แรกเริ่ม
จากหลักฐานของคุณพ่ออาเดรียง โลเนย์ ซึ่งเป็นผู้ดูแลหอจดหมายเหตุของคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส (Missions Etrangeres de Paris) M.E.P. ที่ปารีส ได้รวบรวมหลักฐานไว้ มีข้อมูลที่กล่าวถึงคุณพ่อลาโนว่า “ท่านได้สนใจเรื่องภาษาไทยมาก และเมื่อเป็นพระสังฆราชแล้วก็อยากให้บรรดามิสชันนารีได้สนใจอย่างจริงๆ เมื่อถึงปี ค.ศ.1687 มีหนังสือถึง 26 เล่ม ที่ท่านได้เขียน เช่น คำสอนเล่มใหญ่, คำสอนเล่มเล็ก, คำอธิบายศีลศักดิ์และอัตถ์ลึกซึ้ง, บทสนทนาเรื่องพระศาสนา, พระประวัติพระเยซูเจ้า, พระวรสารทั้งสี่, ไวยากรณ์สยามและบาลี, พจนานุกรมสยาม, พระจานุกรมมอญ”
ในจำนวนหนังสือ 26 เล่มนี้ มีเพียงคำแปลพระวรสารทั้งสี่เป็นภาษาไทยสมัยอยุธยา และเขียนเป็นอักษรไทยสมัยอยุธยาหนาถึง 532 หน้า ขนาด 10 นิ้ว คูณ 7 นิ้ว ที่ยังเหลือเป็นหลักฐานมาจนถึงปัจจุบันนี้
จากหลักฐานที่พูดถึงโรงพิมพ์มิสซังก็เช่นเดียวกัน ได้กล่าวถึงคุณพ่อลังกลัวส์ว่า ท่านขอให้ศูนย์กลางคณะที่ปารีสส่งแท่นพิมพ์ไปให้ท่าน เพราะที่สยามมีคนงาน และกระดาษก็ราคาถูกพอจะเริ่มงานพิมพ์ได้ เนื่องจากท่านเห็นว่านักบวชคณะอื่นๆ เช่น ที่ฟิลิปปินส์ และมาเก๊า ก็มีโรงพิมพ์เป็นของตนเองแล้ว
จากหลักฐานดังกล่าว จึงเป็นที่แน่ใจได้ว่าการพิมพ์ได้เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว แต่การที่ฉลองครบรอบ 72 ปี การพิมพ์คาทอลิก โดยถือเอาจุดเริ่มต้นของนิตยสารสารสาสน์คฤตังเป็นหลัก ซึ่งเริ่มพิมพ์ครั้งแรกปี ค.ศ.1917 และต่อมาได้เหลือชื่อสั้นๆว่า “สารสาสน์” ต่อมาคือปี ค.ศ. 1970 ได้รวมนิตยสารอุดมพันธุ์ ซึ่งออกโดยคณะซาเลเซียน และนิตยสารสารสาสน์ เข้าด้วยกัน และเปลี่ยนใหม่ว่าอุดมสาร และปี ค.ศ.1977 ได้ปรับเป็นรายสัปดาห์ และรายเดือน มีชื่อว่า อุดมศานต์ จนถึงปัจจุบัน
“สารสาสน์คฤตัง” แจ้งเกิด ค.ศ. 1917 / พ.ศ. 2460”
ในปี ค.ศ. 1917 สมัยพระสังฆราชเรอเน แปร์รอส ในฐานะที่เป็นประมุขมิสซังดูแลคริสตังในประเทศไทยอยู่ในเวลานั้น ท่านได้เอาใจใส่เป็นพิเศษในการอภิบาลสัตบุรุษ ได้ออกหนังสือสารสาสน์คฤตัง ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือพิมพ์เล่มแรกที่มีกำหนดแน่นอนเดือนละครั้ง จำนวน 16 หน้า ราคา 2 บาท ถ้ารับทางไปรษณีย์เพื่อค่าส่งอีก 30 สตางค์ ขนาดรูปเล่ม 16 หน้ายก
สำหรับเนื้อหาก็เป็นการนำพระคัมภีร์ในเทศกาลต่างๆมาเขียนอธิบายเป็นคำสอนคริสตังง่ายๆ และภาวนา เช่น ในฉบับแรก เล่ม 1 ตอน ที่ 1 มกราคม 1917 ในหน้าแรกกล่าวถึงเรื่อง “บทพระเอวังเยลีโอ ซึ่งอ่าน ณะวันอาทิตย์ที่สามถัดแต่เอปีพานีอา” แต่ในพระเอวังเยลีโดยนักบุญมาเทว, บทที่ 8 ในสมัยหนึ่งนั้น ; เมื่อพระมหาเยซูคฤศโตเสด็จลงมาจากภูเขาแล้ว ก็มีหมู่ชนเป็นอันมากได้ติดตามพระองค์ไป”
หน้าที่ 3 ก็เป็นเรื่อง “เรามนุษย์ได้เกิดมาสำหรับสิ่งอันใด” และที่เหลืออีก 8 หน้า เป็นภาษาไทยที่เขียนด้วยตัวอักษรโรมัน หรือที่เรียกว่า “ภาษาวัด” พร้อมทั้งมีข่าวด้วย ใช้หัวข้อว่า “ข่าวมิสซัง” นอกจากนี้ก็มีความรู้ทั่วไป เช่นเรื่อง ตำราเลี้ยงไก่,ประกาศใช้เวลารถไฟแ ลโทรเลข เป็นต้น
แต่ก่อนหน้านี้โรงพิมพ์ของมิสซังได้พิมพ์หนังสือภาวนา และหนังสือคำสอนเป็นเล่ม และโรงเรียนอัสสัมชัญได้จัดพิมพ์หนังสือ อัสสัมชัญอุโฆษสมัย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1913 และหยุดพิมพ์ในปี ค.ศ. 1941 รวมเวลา 29 ปี เป็นหนังสือที่มีคุณค่าและประโยชน์มาก มิใช่เพียงแค่โรงเรียนอัสสัมชัญเท่านั้น จำนวนพิมพ์ถึง 3,000 เล่ม พิมพ์ปีละ 2 ฉบับ ราคาเล่มละ 1.00 บาท ถ้าเป็นสมาชิกภายนอกปีละ 2.00 บาท สำหรับนักเรียนอัสสัมชัญ 1.50 บาท นับว่าเป็นหนังสือที่มีคุณค่าน่าศึกษาแม้นในปัจจุบันนี้
หากมีโอกาส คงจะได้พูดกันถึงหนังสือชุดนี้อีกที่เป็นพิเศษก็ได้นะครับ
สำหรับหนังสือสารสาสน์คฤตังดังนั้น เนื้อหาภายในเล่มประกอบไปด้วย ประวัตินักบุญ ปฏิทินคริสตังแต่ละเดือน เป็นการอธิบายให้เข้าใจความหมายโอกาสฉลองต่างๆ ในแต่ละเดือนนั้น เช่น สารสาสน์ของปี ค.ศ. 1919 ฉบับเดือนมิถุนายน เล่ม 3 ตอนที่ 6 หน้า 89 “วันเสาร์อาทิตย์ศักดิ์สิทธิ์”
วันนี้พระสมัยทำมิสซาเคารพพระศพของพระมหาเยซูคริสโต ซึ่งยังค้างอยู่ในคูหา, มีบาดแผลทั่วทั้งพระกาย จึงพระสมัยยังสลดเศร้าโศกอยู่
คืนวันเสาร์นี้คริสตังเดิมเคยมีธรรมเนียมตื่นตลอดคืน สวดมนต์ภาวนาด้วยใจศรัทธา ส่วนคนที่จะรับศีลล้างบาปก็ฟังคำสอน เตรียมตัว จะได้รับศีลล้างบาป ณ วันอาทิตย์ปัสกา วันนี้มีจารีตยืดยาว ก่อทำจารีต ตั้งแต่เที่ยงคืนไปจนสว่าง และสัตบุรุษก็เลยรับศีล วันนี้ยังเรียกว่าวันเสกไฟเสกน้ำ”
(ต้นฉบับเป็นภาษาไทยเขียนด้วยอักษรโรมัน) นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าสอนใจ ข่าวมิสซัง และประกาศต่างๆ ของทางบ้านเมืองด้วย เช่น สารสาสน์ของปี ค.ศ.1920 ฉบับเดือนตุลาคม เล่มที่ 4 ตอนที่ 10 หน้า 151 “ประกาศเรื่อง ส่งข้าวออกนอกพระราชอาณาจักรเขตรด้วย ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกประกาศลงวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2462/ค.ศ.1919 ว่า ตั้งแต่วันที่ได้ออกประกาศแล้วเดือนหนึ่ง ห้ามมิให้ส่งข้าวออกนอกพระราชอาณาเขตร ประกาศ มา ณ วันที่ 7 ตุลาคม พระพุทธศักราช 2463 ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 33 หน้า 244-245”
ข่าวมิสซัง เปลี่ยนอากาศ สารสาสน์เล่มที่ 3 ตอนที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1919 “เนื่องในการที่บรรดาสามเณรได้ไปพักเปลี่ยนอากาศ 10 วัน ที่วัดดอนกระเบื้อง คริสตังทั้งหลายในบริเวณวัดนั้นได้รู้สึกปลาบปลื้มอย่างจริงใจ ที่ได้เห็นเณรไปอยู่ในกลางหมู่เขาเช่นนั้น”
จำนวนพิมพ์ไม่ทราบแน่ว่าเท่าไหร่ แต่เข้าใจว่าคงไม่กี่ร้อยฉบับ
หลังจากสงครามสิ้นสุดลง พระสังฆราชเรอเน แปร์รอส ได้มอบหมายให้คุณพ่อวิตอร์ วิวัฒน์ ธงชัย รับหน้าที่ดูแล รื้อฟื้นสารสาสน์อีก ครั้ง
คุณพ่ออัลฟองส์ ตรี ทรงสัตย์ ได้รับหน้าที่ระยะหนึ่ง ต่อมาสุขภาพไม่ดี พระสังฆราชแปร์รอส ได้มอบงานให้ภราดามงฟอร์ต และภราดาลูโดวีโก คณะเซนต์คาเบรียลเป็นผู้ดูแล ในช่วงนี้การพิมพ์ได้เจริญก้าวหน้าขึ้นมาก มีการปรับปรุงเนื้อหา และรูปเล่มให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เท่ากับขนาด 8 หน้ายกในปัจจุบัน สำหรับปกซึ่งแต่เดิมพิมพ์เป็นรูปวัดอัสสัมชัญ ได้เปลี่ยนมาเป็นภาพเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือน และพิมพ์เป็นภาพสี
ในปี ค.ศ. 1930 พระสังฆราชกาเยตาโน ปาซอตตี้ ประมุขมิสซังราชบุรี ประจำอยู่ที่วัดแม่พระบังเกิด บางนกแขวก บางคนที สมุทรสงคราม ได้จัดตั้งโรงพิมพ์ขึ้นมา โดยมีคุณพ่อยอห์น อุลลิอานา ออกหนังสืออุดมพันธุ์เป็นรายเดือน และต่อมาก็ได้แบ่งออกเป็นสองชนิด จากคำประกาศของ “อุดมพันธุ์” ปีที่ 23 ค.ศ. 1958 (ขนาด 8 หน้ายก มีทั้งหมด 36 หน้า ทั้งปกและปกพิมพ์ 4 สี) พูดถึงค่าบำรุงหนังสือพิมพ์ “อุดมพันธุ์” ว่า ประเภทข่าว 20 บาท ประเภทบันเทิง 24 บาท ทั้งสองประเภท 35 บาท เนื้อหาก็เป็นความรู้ทั่วไป เรื่องนิทานสอนใจ ประวัตินักบุญบ้าง มีการ์ตูนบ้าง มีคำประชาสัมพันธ์การรับเป็นสมาชิกว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกหลาน โปรดช่วยให้เขาได้อ่าน “อุดมพันธุ์-บันเทิง” ซึ่งจะให้ประโยชน์ความเพลิดเพลิน ทั้งอบรมบ่มนิสัย” ส่วนคำขวัญของหนังสือ คือ ความจริงจะทำให้ท่านเป็นไทย และในปี ค.ศ.1933 อุดมพันธุ์ไ ด้ออกนิตยสาร “เยาวสาร” สำหรับเยาวชนขึ้นมาออกเป็นรายเดือน ขนาดแปดหน้ายก ราคาปีละ 1 บาท จำนวนประมาณ 40 หน้า
ในปี ค.ศ. 1938 สารสาสน์ได้เปลี่ยนรูปเล่มให้ใหญ่ขึ้น เป็นขนาด 8 หน้ายก จำนวน 64 หน้า ไม่รวมปกพิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทยพานิช ซึ่งมีทนายเหมเวชกร เป็นผู้พิมพ์และโฆษณาและออกเป็นภาษาอังกฤษด้วยจำนวน 8 หน้า อัตราค่าสมาชิกต้องเพิ่มจากภาษาไทยปีละ 2.00 บาท เป็น 2.50 บาท ถ้ารับทางไปรษณีย์ก็เสียค่าแสตมป์อีกในประเทศ 50 สตางค์ ต่างประเทศ 75 สตางค์ สังเกตว่ามีเนื้อที่หน้าโฆษณามากขึ้น และเป็นใบแทรกกระดาษสีบางๆ บางฉบับมีถึง 18 หน้า และมีภาพประกอบมากขึ้น และได้พิมพ์บทละครพูดเรื่อง “ตลาดค้าทาสแห่งกรุงโรม” หนาถึง 70 กว่าหน้า ซึ่งโรงเรียนเซนต์คาเบรียล สามเสนเป็นผู้แสดง
ในปี ค.ศ. 1941 บรรณาธิการ ได้แถลงว่า “ข้าพเจ้ามารับหน้าที่บรรณาธิการในสมัยฉุกเฉิน ทั้งสำหรับประเทศชาติ และพระสาสนาด้วย ฉะนั้นสิ่งที่รู้สึกว่าควรจะแถลงก่อนอื่นๆ ในพฤติการณ์เช่นนี้ก็คือ ตักเตือนพี่น้องคริสตสาสนิกชนชาวไทยทุกท่าน ในอันที่รักษาหน้าที่ 2 ประการคือ 1) หน้าที่ต่อประเทศชาติ 2) หน้าที่ต่อพระสาสนา “และพูดถึงหน้าที่สิทธิตามกฎหมายในการนับถือสาสนา “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการนับถือสาสนาหรือลัทธิใดๆ และย่อมมีเสรีภาพในอันที่จะปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่พลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมของประชาชน (มาตรา 13)” (ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2484/ค.ศ.1941 หน้าที่ 117) และพิมพ์ที่โรงพิมพ์เชียงเฮง บางรัก เนื้อหาภาษาอังกฤษก็ยังมีอย่างเดิม แต่ออกมาทางด้านบทสนทนาและไวยากรณ์มากขึ้น
สังเกตว่าข่าวต่างๆ ในระหว่างนี้จะมีรายงาน “ข่าวสงคราม” ขึ้น และใช้เนื้อที่ตั้งแต่ 4-8 หน้าที่เป็นข่าว และยังมีบทความอื่นๆ ข้อความที่แทรกในพื้นที่ว่างๆ ก็จะเป็นการปลุกใจให้รักชาติ “ท่านรักชาติไทย ประเทศไทย คนไทยด้วยกัน จงช่วยกันทำความเข้าใจถูก แก่คนไทยด้วยกัน” และภาพข่าวก็มักจะเป็นภาพเกี่ยวกับสงครามต่างๆ
ฉบับเดือนมกราคม ค.ศ.1942/พ.ศ.2485 หน้าที่ 27 ในบทบรรณาธิการได้กล่าวว่า “สารสาสน์ ฉบับแรกแห่งปีที่ 26 พอโผล่โฉมหน้าออกมาก็ถูกกระหน่ำด้วยมรสุมแห่งสงคราม แต่ความเข้มแข็งของนาวา “สารสาสน์” ก็สามารถต่อต้านกลางมหาสมุทรได้โดยไม่อัปปาง”
ในช่วงนี้ผลของสงครามก็กระทบกระเทือนไปทุกวงการ การพิมพ์หนังสือก็เช่นเดียวกัน อุปกรณ์ต่างๆ หายาก และขาดตลาดในบทบรรณาธิการ ยังแถลงต่อไปว่า “แม้นแต่หนังสือพิมพ์ สารสาสน์ ก็ถูกมรสุมของสงครามเข้าด้วยเช่นเดียวกัน เช่น กระทบกระเทือนถึงกระดาษ และอุปกรณ์ในการพิมพ์ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม สารสาสน์ก็พยายามตามความสามารถที่จะรักษามาตรฐานในรสชาติ และจำนวนเรื่องที่ลงไว้ดังเดิม โดยใช้ตัวพิมพ์ชนิด “จิ๋ว” แทน”
บทบาท และหน้าที่ของสารสาสน์ในระหว่างนี้นับว่าสำคัญมาก ในการทำตัวเป็นกลาง และสื่อข่าวสารให้แก่คริสตัง (คาทอลิก) เพราะทางบ้างเมือง และหลายคนก็เข้าใจว่า ศาสนาคริสต์เป็นศาสนาฝรั่ง และฝรั่งในที่นี้ คือ ฝรั่งเศสเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น จึงพยายามทำหน้าที่ สร้างความเข้าใจ ให้มีความรักชาติ รักศาสนาให้ถูกต้อง และรักษาความสามัคคีไว้
“ในภาวะคับขันเช่นนี้ ขอให้คริสตสนิกชนทั้งหลาย ตั้งตัวเป็นผู้นำในการที่จะช่วงปลุกปลอบขวัญของพลเมืองไม่ให้ตื่นตกใจ และให้เชื่อฟังคำแถลงการของรัฐบาล” “การเชื่อข่าวโคมลอย ก็เป็นโทษมหันต์แก่ประเทศชาติเช่นเดียวกัน โฆษณาชวนเชื่อของฝ่ายข้าศึกย่อมกระพือไปได้ไกล ด้วยวิธีใช้ข่าวโคมลอยนี้เสมอ ฉะนั้น ทางที่ดีสุดก็คือ อย่าทำตนเป็นคนช่วยประกาศข่าวโคมลอย”
พระสังฆราชหลุยส์ โชแรง
สมัยพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง ในปี ค.ศ.1948 คุณพ่อโรเชอโร เป็นผู้พิมพ์และโฆษณา พิมพ์ที่โรงพิมพ์อัสสัมชัญ มีมาสเตอร์บรรณา ชโนดม เป็นเจ้าของ (ในนามศาสนาต่อหน้าบ้านเมือง) และบรรณาธิการหลังจากที่ปิดลงเป็นเวลา 4 ปี ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 และในปีนี้เอง ก็เขียนว่า เล่มที่ 28 ซึ่งเป็นการนับจำนวนเล่มของหนังสือ โดยเป็นการนับเหมือนกับเป็นปีที่อย่างนั้น เนื่องจากเมื่อสิ้นปีก็จะเป็นการรวมเล่มไว้ ซึ่งถือว่าเป็นเล่มเดียว ซึ่งแต่แรกที่พิมพ์ก็ได้ทำอย่างนั้น ในบทบรรณาธิการของสารสาสน์ เล่มที่ 28 ฉบับที่ 1-2 มกราคม-กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1948 หน้าที่ 31
“สารสาสน์” ซึ่งได้สลบไปเป็นเวลา 4 ปีมาแล้ว บัดนี้ฟื้นคืนชีพมาเยือนท่านใหม่ เราขอแถลงความจริงให้ท่านผู้อ่านทราบอย่างเปิดเผย การคืนชีพของเราอุบัติขึ้นมาได้โดยพระสังฆราชหลุยส์โชแรง เป็นผู้ปลุกเสกสารสาสน์ที่ท่านกำลังถืออยู่นี้พิมพ์ขึ้นเป็นจำนวน 3,000 ฉบับ โดยทุนรอนส่วนตัวของท่าน”
และเพื่อให้การพิมพ์ “สารสาสน์” ได้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น ได้จัดตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้น “เพื่อที่สารสาสน์จะได้ดำเนินไปได้ด้วยดี จำเป็นต้องมีกรรมการโดยเฉพาะ ท่านจึงได้แต่งตั้งกรรมการขึ้นชุดหนึ่ง มีพระสงฆ์ 2 องค์ และฆราวาสอีก 3-4 คน โดยมากมีอาชีพครู”
นอกจากนี้บรรณาธิการยังได้ย้ำถึงวัตถุประสงค์ของ “สารสาสน์” อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคล้ายคลึงกับที่ได้เคยตั้งปณิธานไว้แต่เดิม ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ข้อ
1) เป็นหนังสือที่หนักในทางพระศาสนา ธรรม คดี
2) เพื่อให้ผู้อ่านได้รับความบันเทิงจากสารสาสน์บ้าง จึงได้จัดให้มีบทความที่ขบขัน เรื่องสำหรับเด็ก ฯลฯ อย่างไรก็ดี บทความเหล่านี้จะอยู่ในขอบเขตศีลธรรมอันดีงามของเราคริสตังค์ บันเทิงคดี
3) เพื่อให้สารสาสน์เป็นสื่อสารความรู้แก่ทานบ้าง เฉพาะอย่างยิ่งในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เป็นไปในพระศาสนจักร (พระสมัย) ของเรา สารสาสน์จึงเปิดแผนกข่าวทั้งภายใน และภายนอกประเทศ สารคดี
ส่วนเรื่องค่าสมาชิกนั้น ได้คิดในอัตราปีละ 15 บาท ซึ่งยังไม่พอที่จะสนับสนุนการพิมพ์ ยังต้องรับบริจาคผู้มีจิตศรัทธาด้วย และที่สุดหลังจากเปิดตัวแล้วก็ได้ “วาดฝัน” ไว้ว่า
พระสังฆราชปัลเลอร์กัว
“เมื่อไรท่านจะได้แลเห็นสารสาสน์ อันเป็นนิตยสารรายเดือน กลายเป็นนิตยสารรายปักษ์ และรายสัปดาห์ เมื่อนั้นแหละเป็นศุภนิมิตแสดงว่า ท่านได้ร่วมมือกับสารสาสน์ของท่านเป็นอย่างดีแล้ว!”
ที่หน้าปกจะเป็นซ้ายและขวา ทางด้านซ้ายจะมีกางเขนอยู่บนรูปโลก และมีอักษรว่า “จงจาริกไปสั่งสอน มนุษยนิกรทั่วโลก” พิมพ์อยู่บนพื้นสีเหลือง ส่วนทางด้านขวามือจะเป็นส่วนที่เปลี่ยนไปแต่ละฉบับ (ดูรูปประกอบ)
นับว่ารูปเล่ม และเนื้อหาน่าอ่านมาก จำนวนหน้ากระดาษขนาด 8 หน้ายก จำนวน 32 หน้า ไม่รวมปกอีก 4 หน้า แต่ส่วนใหญ่จะเป็นตัวจิ๋วที่ใช้พิมพ์ จนทำให้มีผู้อ่านเขียนจดหมายไปติติง ที่สุดบรรณาธิการก็ต้องออกมาแถลงในฉบับเดือนสิงหาคมว่า เพื่อให้บรรจุข้อความได้ น้อยในเนื้อที่กระดาษจำกัด และที่พิมพ์อยู่นั้นก็ใช้ตัวที่โตขึ้นมานิดหน่อย ซึ่งเป็นแบบตัวชุด “ฝรั่งเศส” ซึ่งเป็นแบบที่โรงพิมพ์อัสสัมชัญได้คิดประดิษฐ์ขึ้นเอง โดยสมัยพระสังฆราชปัลเลอกัว ได้สั่งหล่อขึ้นที่ฝรั่งเศส ขณะที่เดินทางกลับไปบ้าน (ดูรูปประกอบ) ถ้าพิมพ์ตัวฝรั่งเศส หมายความว่า เนื้อหาจะลดลงประมาณ 3-4 เท่า และอีกอย่างหนึ่ง คือ เนื้อเรื่องยังมี “กลิ่นฝรั่งๆ” อยู่ ก็เพราะนักคิด นักเขียนไทยเราเองยังมีน้อย เมื่อแปลบทความที่ดีๆ จากต่างประเทศ ก็อาจจะติดสำนวนการใช้ภาษาแบบฝรั่งอยู่บ้าง
นอกจากนี้ มีนักประพันธ์อารมณ์ขัน อ่านสนุก คือ ป.ทรวง ซึ่งเป็นบิดาของคุณพ่อคมทวน มุ่งสมหมาย ได้เขียนเป็นประจำ เช่น “เรื่องลิงฉายหนัง”
“ชายผู้หนึ่ง เลี้ยงสัตว์ ฝึกหัดสอน
เล่นละคร ดีจริง ด้วยลิงจ๋อ
พวกเด็กเล็ก เกลื่อนกลุ้ม รุมมาออ
ชอบหัวร่อ ลิงตลก เสียงโปกฮา
มาวันหนึ่ง เจ้าของ ท้องเป็นบิด
ต้องจำจิตต์ หยุดพัก ไปรักษา
ปล่อยลิงไว้ ตามลำพัง อยู่ห่างตา
มันก็ว่า ที่แทน แสนสบาย
มีคนมาก ปากพร่ำ ถ้อยคำเพราะ
อร่อยเหาะ แต่ข้างใน ไร้แก่นสาร
บ้างเปรี้ยวปราด ผาดโผน โจนทะยาน
เสียงกังวาน กึกก้อง คือกลองกลวง
ขอตัดเอามาเป็นบางตอน ซึ่งอ่านแล้วเป็นคำง่ายๆ มีสัมผัสนอกในอย่างไพเราะ และก็มีเรื่องขำๆ อยู่ในนั้น และที่สุดก็มีข้อคิดสอนใจสำหรับคนอ่านด้วยเสมอ
ในข่าวจากสำนักพระสังฆราชกรุงเทพฯ เดือนมกราคม ค.ศ.1948 หน้าที่ 28 ได้ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1947 โรงพิมพ์อัสสัมชัญเปิดทำงาน
คุณพ่อยวง เคียมสูน นิตโย (ตำแหน่งสมัยนั้น) ซึ่งเป็นเลขาฯ ของพระสังฆราช รับหน้าที่ดูแลหนังสือพิมพ์สารสาสน์อีกตำแหน่งหนึ่ง ทำอยู่ประมาณ 3 ปี ในระหว่างนั้นมี มาสเตอร์บรรณา ชโนดม เป็นบรรณาธิการ ในสมัยนั้นจะเห็นได้ว่า เนื้อหาหน้าทางด้านข่าวต่างประเทศมีมากขึ้น
เป็นที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่าบทบรรณาธิการ ไม่ค่อยมีเป็นประจำเหมือนหนังสืออื่นๆ ไป นานๆ ถึงจะออกมาที เพื่อชี้แจงอะไรบางอย่าง เช่น สารสาสน์ ปี ค.ศ. 1950 ฉบับเดือนมกราคม หน้า 364
“คงมีบางท่านแปลกใจว่าทำไมหนังสือพิมพ์สารสาสน์ จึงเพิกเฉยต่อหน้าบรรณาธิการ ซึ่งหนังสือพิมพ์อื่นโดยมาก ถือเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งยวด เราจึงขอแจ้งให้ท่านทราบว่า ทั้งนั้นเพราะเราถือภาษิต RES NON VERBA คือ ทำไม่ต้องเทศน์”
พระอัครสังฆราชยวง นิตโย
และในบทบรรณาธิการนี้ยังได้รายงานความเป็นไป ยอดพิมพ์ไว้ด้วยดังนี้
“สารสาสน์ ปลายปี ค.ศ.1948 พิมพ์ออกจำหน่าย 1,650 ฉบับปี ค.ศ.1943 จำนวน 1,900 ฉบับ และปี ค.ศ.1950 จำนวน 2,200 ฉบับ ตัวเลขแสดงว่าสารสาสน์เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ แม้นจะไม่โลดโผนนัก”
“เราขอชมเชยบริการทั้งสิ้นของสารสาสน์ เฉพาะอย่างยิ่งนักประพันธ์ ตลอดจนช่างเรียงพิมพ์ ช่างพิมพ์ และช่างเย็บ ขอให้ทุกท่านจงมีมานะทำหน้าที่ของตนด้วยดีสืบต่อไปเทอญ”
ในบทบรรณาธิการฉบับนี้ ยังได้กล่าวถึงต้นทุนว่า “เราจำหน่ายสารสาสน์แก่ท่าน คิดเฉลี่ยฉบับละ 1.36 บาท คงเหลือ 36 สตางค์ต่อฉบับ เมื่อจำหน่ายหมด คิดรวมกัน ยังเหลือเงินราวเดือนละ 800 บาท เงินจำนวนนี้ทั้งหมดเรานำไปจ่าค่าทำบล็อก ภาพและค่าสินน้ำใจ นักประพันธ์ ถ้าคิดเพียงเท่านี้ ค่าบำรุงของท่าน และรายจ่ายของสำนักงานก็พอสมดุลกัน แต่สารสาสน์ยังต้องซื้อนิตยสารจากต่างประเทศอีกหลายฉบับ เพื่อคัดข่าวและเรื่องราวนำมาลง”
ในระหว่างนี้ได้ออกรายเดือน มีบางฉบับต้องรวมสองเดือนก็มี เช่น ปี ค.ศ.1948 รวมเดือน มกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ เล่มที่ 28 ฉบับที่ 1-2 และปี ค.ศ. 1950 รวมเดือนเมษายน และเดือนพฤษภาคม เป็นต้น และอีกอย่างหนึ่งคือ มีรูปภาพประกอบ ทั้งภาพข่าวและภาพประกอบในเล่มมีมากขึ้น
ในปี ค.ศ.1952 สารสาสน์ พยายามปรับตัวอีกครั้งหนึ่ง โดยกำหนดออกรายปักษ์ ทุกวันที่ 1 และ 15 ของเดือน
สารสาสน์ ฉบับเดือนธันวาคม ค.ศ. 1952 ได้พูดถึงประวัติของพระสังฆราชเรอเน แปร์รอส ในส่วนที่เกี่ยวกับการพิมพ์ว่า “ท่านได้เ ข้าใจเรื่องนี้ดีจึงจัดให้เรียบเรียง แต่ง แปล แก้ไข และรวบรวมหนังสือเกี่ยวกับศาสนามากมาย มีขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ หลายอย่างต่างชนิด มีโฆษณาสารเล่มจิ๋วเหมะแก่การเผยแพร่ศาสนา มีคริสตประวัติ ตำนานพระสมัย คำสอนเปรียบเทียบของพระมหาเยซูคริสโต ชีวประวัตินักบุญ ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือสารสาสน์ออกรายเดือนเป็นหนังสือประจำครอบครัวคริสตังแจ้งข่าวคราวทั้งภายใน และนอกประเทศ ทั้งยังมีเรื่องคติสอนใจ เป็นการรักษาความเชื่อของคริสตังให้แน่นแฟ้นอยู่เสมอ ในด้านศัพท์ทางศาสนา ท่านก็ไม่ยอมล้าส มัย จัดให้มีการประชุมสะสางเปลี่ยนแปลงแก้ไขหนังสือคำสอน บทสวด ให้เป็นภาษาตามสมัยนิยม”
ในปลายปี ค.ศ. 1953 คุณพ่อวิกตอร์ ลาร์เก เข้ามารับผิดชอบการพิมพ์สารสาสน์ มีคุณสวัสดิ์ ครุวรรณ เป็นบรรณาธิการ และมีชื่อเป็นเจ้าของและผู้พิมพ์และโฆษณาด้วย ได้ออกเป็นรายปักษ์ และในเดือนกุมภาพันธ์ ได้ย้ายไปพิมพ์ที่โรงพิมพ์ไทยหัตถการ ถนนจักรเพชร โดยมี ร.ต.เชียร เหลืองสวัสดิ์ เป็นผู้พิมพ์และโฆษณา ราคาค่าสมาชิกละ 20 บาท และค่าส่ง 1 บาทต่อปี
มีเรื่องราวที่น่าอ่านมากขึ้น ข่าว เรื่องน่ารู้ สอนภาษาอังกฤษ และมีการ์ตูน “ปัดบุกอินเดียแดง” ทำให้น่าอ่านสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ และเป็นนิตยสารประจำครอบครัวคาทอลิก
บรรณาธิการได้ปราศรัยไว้ในต้นปี ค.ศ.1959 ฉบับที่ 1 ว่า “ชาวเราพึงรู้สึกว่าจำเป็น จะมีนิตยสารของตน เพื่อบำรุงความศรัทธา ไขแสดงจิตตารมณ์คาทอลิก เสนอข่าวคาทอลิกอย่างไม่บิดเบือน และให้สารบันเทิงแบบคริสต์”
ก็เมื่อคาทอลิกรู้สึกจำเป็นต้องมี และจัดให้มีการพิมพ์ของตนแล้ว ต่อไปก็เป็น “หน้าที่” ของชาวเราจะสนับสนุนวิถีทาง เช่นด้วยคำภาวนา สำหรับคณะผู้จัดทำ และผู้มีบุญคุณอื่นต่อการพิมพ์, ต้องช่วยกันบำรุงด้วยการเป็นสมาชิกหาสมาชิก แพร่นิตยสารตามวิธีอันเหมาะสม ตลอดจนยินดีเต็มใจ รับจำหน่าย จ่ายแจก ส่งข่าว รูปเรื่อง เพื่อให้หนังสือมีชีวิตชีวาทันสมัย หลายรส ชวนอ่าน หากขาดการสนับสนุนดังกล่าว การพิมพ์ฯ จะเจริญโดยยาก”
(บน) สารสาสน์ ฉบับเดือนธันวาคม 1952
(ล่าง) นิตยสารรายปักษ์ กองหน้าร่าเริง
ในปี ค.ศ. 1960/ค.ศ. 2503 ได้ออกนิตยสารสำหรับเด็กขึ้นมีชื่อว่า กองหน้าร่าเริง ปีละ 26 ฉบับ จำหน่ายฉบับละ 75 สตางค์ สมาชิกมารับเอง 19 บาท, ส่งทางไปรษณีย์ ปีละ 22 บาท ขนาดเล่ม 8 หน้ายก ทั้งหมดมี 16 หน้า โดยมีคุณพ่อดาเนียล วงศ์พานิช เป็นผู้รับผิดชอบ หากจะมองเข้าไปที่เนื้อหาก็นับว่าเป็นเรื่องที่สนุก ปกหน้าหลังจะพิมพ์เป็นภาพการ์ตูน สี่สีภาย ในมีการ์ตูน “ตุ๋ย-ตุ่ย” ลายแทงม ฤตยู, จี๊ดยิ๋ว ชอบสนุก, สามเกลอเจอผี, มีเรื่องทางศาสนา เช่น “พระเยซูผู้นำของชาวเรา” และก็มีเกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ นอกจากนี้ ก็มีข่าวสั้นๆ บ้าง ประวัตินักบุญบ้าง นิทานเป็นต้น นับว่าเป็นหนังสือสำหรับเด็กที่น่าสนใจมาก สนุกน่าอ่าน
ปรับระบบใหม่สื่อมวลชนคาทอลิก
วันที่ 6 สิงหาคม ค.ศ.1967 หลังสังคายนาวาติกันครั้งที่ 2 เมื่อสภาพระสังฆราชได้ปรับโครงสร้างระบบบริหารงานของพระศาสนจักรใหม่ โดยมี พระสังฆราชอาแลง วังกาแวร์ เป็นประธานสภาฯ ได้แบ่งงานด้านสื่อมวลชนออกเป็น 3 แผนก คือ
พระสังฆราชอาแลง วังกาแวร์
1.แผนกการพิมพ์ คุณพ่อบุญเลิศ ธาราฉัตร เป็นผู้อำนวยการ มีสำนักงานอยู่ที่สำนัก มิสซังฯ
2.แผนกวิทยุ/โทรทัศน์ คุณพ่อเรย์มันต์ เบรนนันต์ เป็นผู้อำนวยการ สำนักงานอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา
3.แผนกภาพยนตร์และโสตทัศนูปกรณ์ คุณพ่อวิโรจน์ อันทรสุขสันต์ เป็นผู้อำนวยการ สำนักงานอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา
สำหรับแผนกวิทยุ/โทรทัศน์นั้นในปี ค.ศ.1970 มีคุณพ่อโรเบริต์ ฮาส เป็นผู้อำนวยการ และอยู่ในตำแหน่งนี้เป็นเวลา 3 ปี คนต่อมาคือ นายวิสันต์ ซึมเมฆ (2 ปี) และในปี ค.ศ. 1975-1978 คือนายสมโภช อุปพงศ์
ปี ค.ศ.1977 ได้ย้ายสำนักงานมาอยู่ที่อาคารคาทอลิกแพร่ธรรม กรุงเทพฯ ในปี ค.ศ.1981 คุณพ่อยัง ฮาเบรสโต รับหน้าที่เลขาธิการ และผู้อำนวยการแผนกวิทยุ/โทรทัศน์ และแผนกภาพยนตร์ และโสตทัศนูปกรณ์
วันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.1967 คุณพ่อบุญเลิศ ธาราฉัตร เจ้าอาวาสวัดนักบุญฟรังซิสเซเวียร์ สามเสน ได้ร่วมกับสัตบุรุษก่อตั้งชุมนุมหนังสือคาทอลิกขึ้น เพื่อส่งเสริมหนังสือคาทอลิกที่ดี จัดพิมพ์หนังสือที่ดี ส่งเสริมความเชื่อ และความศรัทธาแก่คริสตชนทั่วไป ได้จัดพิมพ์หนังสือถึงปี ค.ศ. 1970 ถึง 17 เล่ม ค่าสมาชิกเพียงปีละ 50 บาท เช่น หนังสือนักบุญยอแซฟ, แม่พระฟาติมา, ประวัติศาสตร์บันลือโลก, นักบุญยวงบัปติสตา, นักบุญเปโตรและเปาโล เล่มสุดท้ายคือแบร์นาแด๊ต สุบีรูส์ ในปีแรกพิมพ์ถึง 9 เล่ม ปีที่สอง 7 เล่ม และปีที่สาม 1 เล่ม (หาหลักฐานไม่พบว่าฉบับสุดท้ายจริงๆ ปีอะไรแน่) “จงส่งเสริมสติปัญญาของท่านด้วนการอ่านแต่หนังสือที่ดี”
สภาพระสังฆราชคาทอลิกฯ ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 1968 มีมติให้รวมสารสาสน์และอุดมพันธุ์ ซึ่งเห็นสารคา ทอลิกเข้าด้วยกัน ออกฉบับแรกวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.1970 กำหนดออกทุกๆ 15 วัน เป็นการประหยัดบุคลากร ทุนทรัพย์ และเพื่อจะได้พัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งๆ ขึ้น โดยมีครูละมูล พูลวิทยกิจ จากบรรณาธิการอุดมพันธุ์ เป็นผู้จัดการ และครูสวัสดิ์ ครุวรรณ เป็นบรรณ าธิการ นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของการพิมพ์คาทอลิกก็ว่าได้
อุดมสาร ฉบับแรกขนาด 8 หน้ายกพิเศษ 40 หน้ารวมทั้งปกพิมพ์ 4 สีอย่างดี และตั้งแต่ปกหน้าเป็นต้นไป จะเห็นได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าใหม่ เนื้อหาภายในเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสังคม เหตุการณ์บ้านเมืองมากขึ้น บรรณาธิการได้ขึ้นต้นไว้ว่า สมัยพัฒนา หรือยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ราคาจำหน่ายปีละ 40 บาท ต่างประเทศ 80 บาท และจำหน่ายปลีกราคาเล่มละ 1.50 บาท เนื้อหาภายใน มีเรื่องบ้านเมืองของเรา 5 หน้า และข่าวโลกที่สำคัญ 4 หน้า ข่าวพระศาสนจักร 4 หน้า และบทความเรื่องแปล และเนื้อหาที่เป็นเอกสารหรือคำสอนของพระศาสนจักรพร้อมทั้งการ์ตูนสำหรับเด็ก ฯลฯ
นับว่าเป็นความพยายามที่จะทำให้ อุดมสารเป็นนิตยสารประจำครอบครัวคาทอลิก ให้ได้รับความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม และถ้าพูดถึงรูปเล่มแล้วต้องนับว่าเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่า “ยุคใหม่” ของการพิมพ์คาทอลิกของเรา
ในเวลานี้ได้มีสารคาทอลิก ซึ่งพิมพ์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษของสมาคมคาทอลิกแห่งประเทศไทยอยู่ด้วย ขนาดรูปเล่มเท่ากับ 8 หน้ายก จำนวน 40 หน้า มีภาษาอังกฤษที่เป็นข่าว และบทความถึง 10 หน้า นอกนั้นก็เป็นข่าวสาร บทความ เรื่องแปล ฯลฯ กำหนดออกเดือนละฉบับ เริ่มต้นพิมพ์ในปลายปี ค.ศ. 1965 ซึ่งสมัยนั้นเป็นสมัยคุณประเวทย์ วิชชุประภา เป็นนายกสมาคม คุณพ่อลีโอ แทรวิส เป็นจิตตาธิการ และจะพิมพ์รายชื่อคณะกรรมการ บริหารของสมาคมคาทอลิกไว้ทุกฉบับ
นัยว่าเป็นความพยายามอย่างยิ่ง ที่สมาคมคาทอลิกในฐานะซึ่งเป็นองค์ของพระศาสนจักรที่ถูกต้องตามกฎหมายของประเทศชาติ ได้เสนอตัวเองเจ้ามารับใช้พระศาสนจักรในเรื่องนี้ ที่จะเป็นสื่อกลางในการให้ข่าวสาร ความรู้แก่พี่น้องคาทอลิกดั่งคำขวัญที่ว่า แด่พี่น้องชาวคาทอลิกทั้งมวล “นิตยสารคาทอลิก” ต้องประสบปัญหาทางด้านบุคลากร และการเงิน ทำให้ต่อมาไม่สามารถออกได้ตามวาระที่กำหนดไว้ ต่อมาได้ออกเป็นรายสะดวก ได้เปลี่ยนรูปแบบและวัตถุประสงค์บางประการให้แคบลง และได้กลายเป็นการสรุปผลงานของสมาคมในรอบปี
บราเดอร์คณะเซนต์คาเบรียล ก็ได้ตั้งสำนักพิมพ์วีรธรรม ขึ้นในโรงเรียนอัสสัมชัญพาณิชย์ โดยภราดาโรเบิร์ต เป็นผู้รับผิดชอบ เริ่มพิมพ์นิตยสารชื่อ วีรธรรม ออกครั้งแรกวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2499 / ค.ศ. 1956 ออกรายสัปดาห์ ขนาด 8 หน้ายก จำนวน 40 หน้า รวมทั้งปกด้วย ซึ่งเป็นหนังสือที่พิมพ์ขึ้นสำหรับนักเรียนทั่วไปเป็น ที่นิยมมาก เนื้อหาภายในเล่มประกอบด้วย ความรู้ทั่วไป การ์ตูน ภาษาอังกฤษ เกมเล่นต่างๆ ในรายการสรวลสันต์หรรษา ข่าวสั้น ความรู้ทั่วไป ฯลฯ
ในฉบับปฐมฤกษ์มีคำโฆษณาสั้นๆ ว่า “หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ จะเป็นเครื่องช่วยความนึกคิดของผู้อ่านบำรุงปัญญา ส่งเสริมความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ช่วยคนให้รู้จักเป็นคน และมีการละเล่นเพื่อพักผ่อนสมองหย่อนใจ ผู้อ่านจะได้ประโยชน์เกินค่า เพื่อยุวชนไทยเท่านั้น 16 หน้าอ่านชั่วโมงครึ่งก็ยังไม่จบ” จนกระทั่งมีถึงปี พ.ศ. 2511 สมัยภราดาสุนัย กาญจนารัญ ได้พยายามที่จะจัดตั้งโรงพิมพ์ของคณะเอง จึงได้จัดตั้งโรงพิมพ์เอง ซื้อแท่นพิมพ์และอุปกรณ์และได้เปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม เพื่อสำหรับพิมพ์วีรธรรมโดยเฉพาะ แต่ก็ได้พิมพ์หนังสืออื่นๆ ของคณะอีกหลายเล่ม มาจนถึงปี พ.ศ.2518/ค.ศ.1966 ก็ต้องปิดหนังสือวีรธรรมลง เพราะขาดทุนและบุคลากรที่จะเจ้ามาดูแล และที่สุดประมาณปี ค.ศ.1986 ก็ได้ปิดโรงพิมพ์วีรธรรมโดยขายแท่นพิมพ์และอุปกรณ์ต่างๆ
“วีรธรรม” ฉบับที่ 86 หน้าที่ 19 พ.ศ. 2501 ได้พูดถึงค่าบำรุงปีละ 52 ฉบับเป็นเงิน 48 บาท ครึ่งปี 6 เดือน 26 ฉบับ 24 บาท และสมาชิก 3 เดือน 13 ฉบับ 12 บาท พิมพ์กรุงเทพฯ โฆษณาและการพิมพ์ ถนนมหาพฤฒาราม พระนคร
สังเกตว่า รายการที่ให้ผู้อ่านร่วมสนุก ตอบปัญหา เกมจะมีผู้ส่งเข้าร่วมเป็นอันมาก เช่น ฉบับที่ 85 มีรายชื่อผู้ส่งเข้าร่วมในมุมภาษาอังกฤษจากโรงเรียนต่างๆ คือ โรงเรียนอัสสัมชัญ มาแตร์ฯ เซนต์คาเบรียล อัสสัมชัญศรีราชา อัสสัมชัญคอนแวนต์, บุปผานุกูล, สตรีจุลนาถ เป็นต้น
เมื่อคิดถึงวีรธรรมขึ้นมาครั้งใด ก็อดที่รู้สึกเสียดายไม่ได้ อยากให้มีการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะคนที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ก็ยังคิดถึงและพูดถึงกันอยู่
คณะเยสุอิตได้ออกหนังสือชื่อ สมุดเซเวียร์ เริ่มพิมพ์ในปี ค.ศ.1960-1964 ขนาด 8 หน้ายก ออกเป็นรายเดือนทั้งหมด 37 ฉบับ เฉลี่ย 9 ฉบับต่อปี เป็นหนังสือวิชาการสำหรับนักศึกษาและปัญญาชน ต่อมาในปี ค.ศ. 1964-1970 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ชวาล ออกเฉลี่ยปีละ 10 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 59 ฉบับ ได้ปรับแนวบ้างเล็กน้อย โดยเน้นทางด้านชีวิตฝ่ายจิตสำหรับพระสงฆ์นักบวชมากกว่า ต่อมาคุณพ่อแ วร์ดิแอร์ แห่งพระคริสตาราม ได้รับไปจัดพิมพ์ และปรับปรุงรูปเล่มให้เล็กลง เนื่องจากผู้รับผิดชอบมีเพียงไม่กี่คนจึงทำให้ประสบปัญหาในด้านเวลาออกไม่แน่นอน
(บน) คุณละมูล พูลวิทยกิจ
(ล่าง) คุณสวัสดิ์ ครุวรรณ
ในปี ค.ศ.1975 คุณละมูล พูลวิทยกิจ ได้ลาออกหลังจากที่ทำงานที่การพิมพ์มานาน 30 กว่า ปี ปีต่อมาคุณสวัสดิ์ ครุวรรณ ซึ่งทำงานมานาน 22 ปี ได้ลาออก โดยมีคุณสมนึก ตรีถาวร เข้ามารับหน้าที่แทนเมื่อมกราคม ค.ศ. 1976
ในปี ค.ศ.1977 สมัยคุณสมนึก ตรีถาวร เข้ามาเป็นผู้จัดการและบรรณาธิการ ได้ปรับปรุงและขายหนังสือ ออกเป็นรายสัปดาห์ใช้ชื่อว่าอุดมสารอย่างเดิม เน้นทางด้านข่าว ส่วนรายเดือนให้ชื่อใหม่ว่าอุดมศานต์ เนื้อหาจะเป็นประเภทบทความ และความรู้เชิงวิชาการมากขึ้น ฉบับแรกที่ใช้ชื่อนี้คือเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เป็นการรวมสองฉบับเข้าด้วยกัน หนา 68 หน้า (ค วามจริงได้พยายามที่จะใช้ชื่อเดียวกัน แต่ไม่ได้) ในบทบรรณาธิการฉบับนี้ได้ชี้แจงไว้
“ท่านสมาชิกผู้อ่านเห็นชื่อหนังสือฉบับนี้แล้วคงแปลกใจไปตามๆ กัน ก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ เพราะทางราชการไม่อนุญาตให้ใช้ชื่อเดียวกัน ในหนังสือ 2 ฉบับ 2 ประเภท เราจึงได้เปลี่ยนชื่อจากอุดมสาร เป็นอุดมศานต์ ซึ่งแปลว่า เปี่ยมล้นสมบูรณ์ด้วยสันติสุข”
“ฉะนั้น ต่อไปนี้ เรามีชื่อที่ทางราชการอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายบ้านเมืองแล้ว คือ
1.หนังสือพิมพ์ข่าว อุดมสาร รายสัปดาห์
2.นิตยสารบทความ อุดมศานต์ รายเดือน
3.วารสารวิทยาการ แสงธรรมปริทัศน์ ราย 4 เดือน
4.อุดมสารฉบับพิเศษ กองหน้าร่าเริง สำหรับนักเรียนหรือเยาวชน
อันดับที่ 1-3 ค่าบำรุงประเภทละ 50 บาทต่อปี ถ้ารับสามประเภท 150 บาทรวมค่าส่ง อันดับที่ 4 ค่าบำรุงปีละ 25 บาท รวมค่าส่ง”
การนับอายุหนังสือ อุดมศานต์ (รายเดือน) นับอายุต่อปีที่ 57 ต่อไป ส่วนรายสัปดาห์ คือ อุดมสารเริ่มนับเวลาปี 1 ใหม่ ฉบับแรกออกเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ.1977 ซึ่งเป็นการรวบยอดทีเดียว 5 ฉบับจำนวน 16 หน้า ซึ่งเกิดจากความไม่พร้อมหลายอย่าง ในบทบรรณาธิการเองก็กล่าวไว้ “หลังจากที่ออกนิตยสาร “หลังจากที่ออกนิตยสาร “อุดมสาร” รายปักษ์ ที่ออกมาสู่สายตาผู้อ่านแล้วถึง 7 ปีเต็ม ก็จะเลื่อนไปออกเป็นรายเดือน ตั้งแต่มกราคมนี้”
โดยพิมพ์จำนวน 8 หน้า โดยที่ 4 หน้าหรือคู่ที่เป็นปกพิมพ์ด้วยกระดาษปอนด์ ส่วนเนื้อในอีก 4 หน้าเป็นกระดาษปรู๊พ และบางช่วงก็ต้องรวมสองสามฉบับบ้าง เพราะออกไม่ทัน อย่างเช่นฉบับต้นปี ค.ศ.1978 รวมฉบับที่ 1, 2, 3 เป็นฉบับเดียวกันและส่วนใหญ่ก็รวมกันทั้งปี
ในระหว่างนี้หน้าปกหนังสือขึ้นต้น อุดมสารฉบับ “กองหน้าร่าเริง” พิมพ์สี่สี และเนื้อในก็พิม พ์เป็นสีต่างๆ แทบจะไม่มีสีดำเลย ได้ออกตามแต่โอกาสเหมาะต่อมาก็งดไป (เวลานี้คณะกองหน้าร่างเริงได้พิมพ์ออกเป็นจุลสารเฉพาะองค์กรของตนเอง โดยใช้ชื่อเดียวกัน ปัจจุบันก็ยัง พิมพ์อยู่ ถือว่าเป็นสารภายในองค์กรเท่านั้น) สำนักงาน ใช้ที่โบสถ์นักบุญฟรังซิสเซเวียร์ ซอยมิตรคาม สามเสน เนื้อหาในหนังสือเป็นเรื่องส่งเสริมคุณธรรมความรู้แก่เด็ก เป็นเรื่องนิทานการ์ตูน ความซื่อของเด็กโง่ (ฉบับ 339) ปริศนา สำนวน โวหาร สุภาษิต คำพังเพย มุมวิทยาศาสตร์ ประยุกต์ นาฬิกาแดด (ฉบับ 340) และบทนำทำนอง บทบรรณา ธิการอย่างนั้น ก็จะส่งเสริมให้พยายามเรียน ทำหน้าที่ของตนให้ดี เช่น ลายมืองาม(ฉบับ 335) คนเรียนเก่ง (ฉบับ 336)อุปสรรคในการเรียน (ฉบับ 340)
ทางด้านภาษาก็มีมุม “สนุกไปกับภาษาอังกฤษ” ในแบบการ์ตูน บทสนทนา คติพจน์ เช่น Impossible is a word only to be found in the dictionary of fools
หนังสือพิมพ์ข่าวคาทอลิกรายสัปดาห์ อุดมสาร
ฉบับแรก ซึ่งเป็นการรวบยอดทีเดียว 5 ฉบับจำนวน 16 หน้า
คำว่าเป็นไปไม่ได้ เป็นคำที่มีอยู่ในปทานุกรมของคนโง่เท่านั้น (นโปเลียน) (ฉบับที่ 341)
ภาษาไทยก็มีคำประพันธ์สอนใจ เช่น “พระราชนิพนธ์ ร.6” ในฉบับที่ 339
“นานาประเทศล้วนนับถือ
คนที่รู้หนังสือแต่งได้
ใครเกลียดอักษรคือคนป่า
ใครเยาะกวีไซร้แน่แท้คนดง”
การพิมพ์หนังสืออุดมสารนี้เป็นการพิมพ์ด้วยระบบออฟเซ๊ทแล้ว โดยพิมพ์ที่โ รงพิมพ์ฉัตรมงคลการพิมพ์ เซนต์หลุยส์และต่อมา ฉบับที่ 6 เป็นต้นมา ก็ได้ย้ายมาพิมพ์ที่โรงพิมพ์ธีระการพิมพ์ในอุดมศานต์ ก็ได้มี “ธารน้ำใจเพื่อการพิมพ์คาทอลิก” เป็นประจำอยู่ด้วย เป็นที่ทราบกันแล้วว่า เฉพาะค่าสมาชิกคงไม่พอกับค่าใช้จ่าย แม้นจะโฆษณาบ้างก็ตาม ยังต้องอาศัยการสนับสนุนทางด้านการบริจาคด้วยเช่นกัน และก็มีการรับบริจาคเพื่อการพิมพ์นี้มาตั้งแต่แรกแล้ว
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ค.ศ.1977 ได้ทำการเสกอาคารคาทอลิกแพร่ธรรมขึ้น สื่อมวลชนคาทอลิกก็ได้ย้ายเข้ามาทำการอยู่ภายในอาคารนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป พร้อมกับหน่วยงานอื่นๆ อีก ในปี ค.ศ. 1977 พระสังฆราชยอด พิมพิสาร ได้รับหน้าที่ประธานสื่อมวลชนคาทอลิกแทนพระสังฆราชอาแลง วังกาแวร์ ซึ่งเกษียณ พระสังฆราชยอด เป็นผู้ที่สนใจทางด้านการพิมพ์หนังสือมาตั้งแต่เป็นเณร และเมื่อบวชแล้วก็ได้พิมพ์หนังสือหลายเล่ม
ในปีนี้ต้องนับว่าเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอย่างหนึ่งของการพิมพ์คาทอลิกฯ เพราะเป็นความพยายามที่จะเปิดตัวเองออกให้เติบโตขึ้น พยายามที่จะจัดพิมพ์ข่าวสาร บทความให้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันมากขึ้น มีบทความเรื่องอาชีพ สุขภาพ ฯลฯ แต่ก็ยังไม่เป็นที่สนใจมากนัก อาจจะเป็นเพราะรูปแบบของหนังสือ และการนำเสนอค่อนข้างหนักไป ถ้าจะมองดูแล้ว สาเหตุก็คงมาจากความไม่พร้อมทางด้านบุคลากร และทุนทรัพย์เป็นประการสำคัญ
เพราะหลังจากนี้เป็นต้นไป ถ้าจะมองดูการพิมพ์ในประเทศไทยเริ่มตื่นตัวมากขึ้น มีการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามามากขึ้น ต้องมีการปรับตัวกันเป็นการใหญ่เพื่อจะก้าวไปสู่ความทันสมัย
ต้องขอกล่าวถึงองค์กรหนึ่งที่เป็นความริเริ่มที่มีคุณค่า และมีความหมายสำหรับการพิมพ์คาทอลิกก็คือ
ปี ค.ศ. 1975 ได้เริ่มก่อตั้งชมรมนักเขียนคาทอลิกขึ้นมา เพื่อเป็นการรวบรวม และส่งเสริมนักเขียนคาทอลิก พร้อมทั้งสร้างสรรค์นักเขียนรุ่นใหม่ โดยมีนักเขียนคาทอลิกที่มีชื่อเสียงหลายท่าน เช่น ศ.กีรติ บุญเจือ, อ.ประคิน ชุมสาย ณ อยุธยา, อ.พยุง อิศรางกรู ณ อยุธยา, อ.วิทยา เศรษฐวงศ์, บ.สุวรรณ พิศแข, นายชาญณรงค์ รุจิเรขรังสิมา ได้จัดพิมพ์หนังสือขึ้นมา จำนวน 20 กว่าเล่มแล้ว
(ปัจจุบันประธานชมรมนักเขียนคือ คุณพ่อทิวา แสงศิริวิวัฒน์ เป็นประธาน ได้รับเลือกเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1992)
การพิมพ์คาทอลิกฯ ได้จัดพิมพ์อุดมศานต์ฉบับพิเศษในปี ค.ศ.1980 ซึ่งเป็นปีที่ครบรอบ 60 ปี ในสมัยคุณสมนึก ตรีถาวร เป็นบรรณาธิการ ได้มีบทความสรุปประวัติการพิมพ์ฯ พอสังเขป
อาคารคาทอลิกแพร่ธรรม
ในปี ค.ศ. 1983 สำนักพิมพ์แม่พระยุคใหม่ ซึ่งมีคุณพ่อมารีอุส เบรย์ เป็นผู้อำนวยการ มี นางสาวจันทร์เพ็ญ ชีรานนท์ เป็นเจ้าของผู้พิมพ์โฆษณา ได้ออกนิตยสารแม่พระยุคใหม่ เป็นนิตยสารราย 2 เดือน นอกจากนี้ยังได้จัดพิมพ์หนังสือศรัทธาอีกหลายเล่ม เช่น ประวัตินักบุญต่างๆ
ในปี ค.ศ. 1985 คุณพ่อคมทวน มุ่งสมหมาย ได้รับหน้าที่ประธานแผนกการพิมพ์ ต่อมาได้สมัครไปช่วยงานในเขตสังฆมณฑลนครราชสีมา จึงทำให้ต้องลาออกจากการพิมพ์ เพราะไม่สะดวกในการทำงาน
ในปี ค.ศ. 1984-1988 คุณกฤตวิทย์ สามะพุทธิ ได้รับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการ และรับผิดชอบการพิมพ์คาทอลิก พยายามที่จะพัฒนาการพิมพ์ให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น ได้ขอให้คุณละมูล พูลวิทยกิจ มาช่วยงานการพิมพ์ และได้จัดพิมพ์นามานุกรมฉบับภาษาอังกฤษ ในปี ค.ศ. 1986 และไดอารีขึ้นมา
ในปี ค.ศ. 1986 ได้มีการประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการผู้รับผิดชอบงานสื่อมวลชนขึ้นใหม่ โดยได้พยายามให้มีพระสงฆ์ และซิสเตอร์ นักบวช เข้ามาทำงานในส่วนนี้มากขึ้น
แต่เดิมนิตยสารทั้ง 2 ฉบับนี้ พิมพ์ที่โรงพิมพ์ธีระการพิมพ์ ต่อมาในปี ค.ศ. 1987 ได้ย้ายมาพิมพ์ที่โรงพิมพ์อัสสัมชัญ อุดมสาร เริ่มพิ มพ์ในวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ.1987 และอุดมศานต์ ซึ่งออกรายเดือนเริ่มพิมพ์ในเดือนมิถุนายน พร้อมทั้งได้ปรับปรุงรูปเล่มใหม่ โดยพิมพ์เพิ่มจำนวนหน้าเป็น 84 หน้า และมีบางส่วนพิมพ์เป็นกระดาษขาวบ้าง ซึ่งเป็นโอกาสฉลองปีแม่พระพอดี แต่เดิมก่อนที่จะมีการป รับปรุงอุดมศานต์มีหน้าอยู่ประมาณ 40 กว่าหน้า นับว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งที่การพิมพ์พยายามปรับปรุงเล่มให้มีความทันสมัย เนื้อหาเหมาะสมกับผู้อ่านมากขึ้น
พระสังฆราชยอด พิมพิสาร ได้แต่งตั้งคณะกรรมการการแปล พร้อมทั้งคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ขึ้น เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1988
นปี ค.ศ. 1988-1989 คณะพระหฤทัยแห่งกรุงเทพฯ ได้ส่งซิสเตอร์อรวรรณ จันทร์ชลอ มาช่วยงานการพิมพ์ฯ เป็นเวลา 2 ปี เมื่อซิสเตอร์อรวรรณย้ายไปแล้ว ประมาณกลางปี ค.ศ.1989 ทางคณะฯ ได้แต่งตั้งซิสเตอร์นัยนา จันทรสุขสันต์ มาช่วย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีซิสเตอร์เข้ามาช่วยงานทางด้านนี้
การพิมพ์คาทอลิกฯ ยังได้รับหน้าที่จัดพิมพ์ปฏิทินประจำปีทุกปี ทั้งแบบแขวน และเป็นเล่ม และบันทึก (ไดอารี) นอกจากนี้ในจำนวนหนังสือพิมพ์ที่ได้ออกมาตามโอกาสก็มีจะเป็นโดยนักบวชและฆราวาสก็ตามหากจะนับว่าเป็นหนังสือที่เป็นส่วนหนึ่งของการพิมพ์คาทอลิกด้วยก็ได้
ทศวรรษแห่งสิ่งพิมพ์สร้างสรรค์
เนื่องในโอกาสฉลอง 700 ปีลายสือไทย การพิมพ์คาทอลิกแห่งประเทศไทย ได้ตระหนัก ถึงความสำคัญ คุณค่าทางภาษา ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งเรามีภาษาไทยเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ควรจะช่วยกันอนุรักษ์ และส่งเสริมให้ก้าวหน้าขึ้น การพิมพ์คาทอลิกฯ จึงได้จัดทศวรรษสิ่งพิมพ์สร้างสรรค์ขึ้นมา เพื่อจะสานต่อไป และถือเป็นการปรับปรุงการพิมพ์ที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งพร้อมกันนี้ ก็ได้จัดโครงการ และกิจกรรมหลายๆ อย่างเพื่อส่งเสริมให้คนได้หันมาสนใจการพิมพ์ ได้จัดตั้งกองทุนการพิมพ์สร้างสรรค์ขึ้น รวมทั้งได้จัดตั้งคณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการส่งเสริมกิจการการพิมพ์ฯ ขึ้นเพื่อรับผิดชอบกองทุนนี้ และได้จัดมอบรางวัลอภิมหาโชคในปี ค.ศ. 1991/ค.ศ. 1992 ซึ่งจับฉลากในวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 1992
ในด้านของการปรับปรุงเนื้อหาได้พยายามจัดอบรมผู้สื่อข่าวของอุดมสาร และมีค่าตอบแทนให้เป็นประจำ ทำให้มีข่าวกว้างมากขึ้น มีคุณ ภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น
พระสังฆราชยอด พิมพิสาร
นอกจากนี้ การพิมพ์หนังสือศรัทธาที่เป็นเล่มต่างๆ คณะเซอร์ร่า ประเทศไทยก็ได้พยายามที่จะส่งเสริมในเรื่องนี้ ได้พิมพ์หนังสือออกมาในนามของคณะเซอร์ร่า ในลักษณะทั้งแจก และจำหน่ายทั่วไป
ปี ค.ศ.1990 คณะจัดทำไบเบิ้ลไดอารี ได้จัดพิมพ์สมุดบันทึกไดอารี มีพระคัมภีร์และข้อคิดประจำวันสำหรับเผยแพร่พระคัมภีร์แก่สัตบุรุษ นับว่าเป็นสิ่งใหม่ที่ดีและมีประโยชน์ และเป็นการริเริ่มมาจากบรรดาฆราวาสเอง มีการปรับราคาค่าสมาชิกอุดมสารทั้งรายเดือน และรายสัปดาห์ จากปีละ 120 บาท มาเป็น 150 บาท
การพิมพ์วันนี้ เพื่อวันพรุ่งนี้ เพื่อสร้างสรรค์
การพิมพ์ในทุกวันนี้เจริญขึ้นมาก อาศัยการคิดค้นอย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ เช่น ระบบคอมพิวเตอร์ การพิมพ์ฯ ก็รับความช่วยเหลือจากพี่น้องที่มีน้ำใจ มีทุนทรัพย์พอจะช่วยเหลือสนับสนุนได้ ในปี ค.ศ.1991 การพิมพ์ได้รับมอบเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อใ ช้ในการปรับปรุงงานทางด้านการพิมพ์ให้ก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น
ในปี ค.ศ. 1992 การพิมพ์ได้ปรับปรุงอุดมสารจาก 12 หน้า/ 3 คู่ เป็น 16 หน้า/ 4 คู่ และพยายามใส่ใบแทรกมากขึ้น ส่วนอุดมศานต์ รายเดือนได้เปลี่ยนกระดาษให้ดีขึ้นเป็นกระดาษขาว (ปอนด์) และเพิ่มหน้าสี่สีอีก 4 หน้า รวมจำนวนหน้าทั้งหมด 80 หน้า โดยที่ค่าสมาชิกคงเดิม ทั้งนี้อาศัยน้ำใจจากพี่น้องที่จะสนับสนุนการพิมพ์ จากกองทุนการพิมพ์สร้างสรรค์ และการสนับสนุนทางด้านการโฆษณาบ้าง
ทั้งสองฉบับนี้การพิมพ์พยายามที่จะให้เนื้อหาครอบคลุมสำหรับผู้ใหญ่ และเยาวชน เป็นหนังสือประจำครอบครัวคาทอลิกอย่างแท้จริง เป็นสื่อกลางที่จะนำความรู้ ข่าวสาร และสารที่เป็นประโยชน์ต่อครอบครัวคาทอลิก และสังคมทั่วไป
มอบรางวัลอภิมหาโชค |
มอบรางวัลรายการโทรทัศน์ดีเด่น |
ปฏิทินคาทอลิก |
ในด้านข่าวได้มีการจัดอบรมผู้สื่อข่าวอาสาสมัครจากสังฆมณฑลต่างๆ หลายครั้ง เพื่อการรายงานข่าวจะได้กว้างออกไปทั่วทุกสังฆมณฑล และทุกระดับ
หากจะมองโดยภาพรวมในพระศาสนจักร ในเรื่องการพิมพ์เพื่อการอภิบาล หรือเพื่อแพร่ธรรม ก็เห็นว่ามีอยู่ทั่วไป ในแต่ละสังฆมณฑล หรือแต่ละวัดก็พยายามที่จะผลิตข่าวสารขึ้นมา เช่น สารสังฆมณฑลอุดรธานี จันทบุรี ราชบุรี และแม้นในระดับวัด และองค์กรต่างๆ เช่น สารสังคมพัฒนา ก็ได้พยายามพิมพ์และเน้นในเรื่องของสังคม หรือทางโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ ก็มีนิตยสารลานมะกอกออกมา แม้แต่ตามโรงเรียนใหญ่ๆ ก็มักจะมีสารของโรงเรียนออกมา เพื่อเป็นสื่อสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและผู้ปกครอง ฯลฯ เช่น อัสสัมชัญศึกษา, ซ่อนกลิ่น ของโรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์, ดุษฎีสาร ของโรงเรียนเซนต์แอนโทนี เป็นต้น
คณะนักบวชที่เริ่มงานพิมพ์คือ คณะซาเลเซียน ซึ่งได้ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในกิจการอย่างหนึ่งของคณะมาตั้งแต่แรกปัจจุบัน ก็มีนิตยสารดอนบอสโกซึ่งออกมาใหม่ หลังจากที่ต้องเสียสละรวมอุดมพันธ์เข้าด้วยกันไปแล้ว ดอนบอสโก เป็นหนังสือเสนอข่าวสาร และบทความน่ารู้ เสริมสร้างความศรัทธาแก่ผู้อ่านทั่วไป โดยที่เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องภายในคณะ
เมื่อมองดูอดีตอันยาวนานของพระศาสนจักรที่ได้เริ่มงานพิมพ์ขึ้นก็อาจจะรู้สึกภูมิใจ แต่ในเวลาเดียวกันอาจจะมองดูด้วยความรู้สึกเสียดายที่บางอย่างก็ปิดกิจการไป มันเป็นการเริ่มต้นที่ดี แต่ขาดการเอาใจใส่ และการต่อเนื่อง ทำให้สิ่งที่บางคนบางสมัยได้เริ่มอะไรไว้ดีๆ ไม่ได้เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควรอย ู่แบบแกนๆ
เสียงร่ำร้อง และเรียกร้องจากผู้ที่เข้ามารับผิดชอบการพิมพ์ ดังเป็นระยะอยู่ ตลอดเวลา ที่จะขอให้เราทุกคนได้สนใจเรื่องการอ่านหนังสือ ช่วยกันสนับสนุนสิ่งพิมพ์ของเราให้มากขึ้นในทุกระดับ และบุคคลที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือ บรรดาพระสงฆ์ นักบวช เสียงนี้บางช่วงก็ดัง หรือร้องด้วยความเจ็บปวด บางครั้งก็ร้องด้วยความกระตือรือร้น เร่งเร้าตลอดเวลา เพราะปัจจุบันสื่อสิ่ง พิมพ์ที่ไม่ดี กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย และลุกลามเหมือนไฟป่า หรือโรคระบาดที่ลามเข้าไปในจิตใจของบรรดาลูกหลาน ในบ้าน ในห้องเหล่านั้นมากขึ้นทุกที
แต่สิ่งที่น่าจะต้องพิจารณากันต่อไปให้ลึกกว่า ก็คือการอ่าน ซึ่งจะทำอย่างไรให้คนได้เห็นคุณค่า และประโยชน์ของบการอ่านหนังสือให้มากขึ้น
พร้อมกับความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีการพิมพ์ เช่น ระบบคอม พิวเตอร์ และระบบดาวเทียม ซึ่งทำได้อย่างรวดเร็ว สะดวกและสวยงาม คุณภาพของการพิมพ์สมัยนี้ก็ดีขึ้นมาก ทำให้การพิมพ์โดยทั่วไปเจริญก้าวหน้ามาก และการพิมพ์คาทอลิกเองก็ก้าวไปพร้อมกัน ทั้งนี้เพื่อสร้างสรรค์สิ่งพิมพ์ที่ดีๆ ให้แก่สังคม ซึ่งเป็นเสมือนผู้หว่านไว้
การพิมพ์ทุกวันนี้มีหน้าที่สานต่องานที่บรรพบุรุษได้ทำมาแล้ว ด้วยความสำนึกคุณ พร้อมกันนี้ก็ระลึกถึงท่านเหล่านั้นในคำภาวนาของเรา และขอให้เราทุกคนได้หันมาร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งพิมพ์ที่ดีให้แก่ลูกหลาน ญาติพี่น้องของเราต่อไป
การพิมพ์ที่ผลิตหนังสือออกไปแต่ละเล่ม เหมือนเป็นบันทึกช่วงหนึ่งของพระศาสนจักรคาทอลิก วันเวลาผ่านมาแล้วก็ผ่านไปอย่างสม่ำเส มอทีละวันๆ การพิมพ์ฯ จึงพยายามที่จะบันทึกไว้มิให้สิ่งเหล่านี้ผ่านไป พร้อมกับเวลาเพื่อให้ลูกหลานของเราได้ทราบถึงสิ่งต่างๆ ที่เราได้ร่วมกันสร้างสรรค์ไว้
นิตยสารดอนบอสโกและลานมะกอก
เราในฐานะที่ทำงานการพิมพ์ฯ ยังเชื่อมั่นว่า สื่อการพิมพ์หรือหนังสือ ยังมีความสำคัญต่อสังคม ต่อโลกเป็นอย่างมาก ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต พระคัมภีร์ได้บันทึกไว้เป็นหนังสือ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงโลก และจิตใจคนมาแล้ว นักบุญเอากุสตินกลับใจจากคนบาปมาเป็นนักบุญ ก็เพราะท่านได้ยินเสียงกระตุ้ นจิตใจของท่านว่า “หยิบขึ้นมาอ่านซิๆ” และเมื่อท่านได้หยิบพระคัมภีร์ขึ้นมาอ่าน ท่านก็ได้พบข้อความที่สะกิดใจท่านอย่างมาก ทำให้ท่านละทิ้งชีวิตเก่า มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ตั้งแต่บัดนั้น
หากจะมองว่าอิทธิพลของหนังสือที่ไม่ดีมันมีมากน้อยขนาดไหนต่อสังคม เด็กและเยาวชนของเราก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะเป็นแรงกระตุ้นเราทุกคนให้หันมาสนใจ ร่วมมือกันส่งเสริมหนังสือที่ดีๆ ให้มากยิ่งขึ้น และแน่นอนว่า การพิมพ์คาทอลิกฯ ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งในสังคมที่พยายามแทรกตัวเองขึ้นมาเพื่อเป็นตัวเลือ กที่จะพูดได้ว่า เราพยายามเสนอสิ่งที่ดี มีคุณค่าต่อชีวิตมนุษย์ด้วยจิตตารมณ์ของศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นแนวทางเลือกอีกหนึ่งสำหรับพี่น้องชาวไทย
จากความจริงที่เป็นอยู่ การพิมพ์คาทอลิกฯ พยายามที่จะยืนให้ได้ด้วยตัวเอง แต่บัดนี้ก็ยังไม่สามารถทำได้อย่างนั้น ต้องอาศัยการสนับสนุนจากพี่น้อง และจากกองทุนฯ ที่เพิ่มขึ้นๆ เป็นแรงสนับสนุนให้งานแพร่ธรรมในส่วนนี้ได้ตอบสนองความต้องการของพี่น้องทุกท่าน
ถ้าคำพูดที่ว่า หนังสือพิมพ์คือกระส่องสังคมนั้นเป็นความจริง หนังสือพิมพ์ของคาทอลิกก็อาจจะเป็นกระจกส่องให้เราได้เห็นว่า พระศาสนจักรคาทอลิกเราเป็นอย่างไรบ้าง
ที่สุดนี้ ขออัญเชิญพระดำรัสของพระสันตะปาปา ปีโอที่ 10 ที่กล่าวว่า “เรารักการพิมพ์ ดุจแก้วตาของเรา.
จากหนังสือ อุดมศาสนต์ฉบับพิเศษ หน้า 10-26
72 ปีบนเส้นทางสารสาสน์ อุดมสาร-อุดมศานต์ 1917-1992