การสร้างเครื่องพิมพ์เครื่องแรกในเมืองไทย

ในความรู้สึกของผู้มีอาชีพในวงการพิมพ์ เครื่องพิมพ์เป็นเครื่องจักรที่สำคัญที่สุดในบรรดาเครื่องจักรทั้งปวงที่เกี่ยวกับการพิมพ์   แม้จะได้มีการนำการพิมพ์เข้ามาในเมืองไทยนานเป็นร้อยปี แต่เครื่องพิมพ์นั้นเราต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศทั้งสิ้น การที่จะผลิตเครื่องพิมพ์ได้เองในเมืองไทยจึงเป็นเรื่องใฝ่ฝันกันมานาน ในฐานะที่ผู้เขียนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้มาโดยตลอด จึงขอบันทึกเรื่องราวไว้เป็นหลักฐาน
 
สงครามโลกครั้งที่สองทำให้เมืองไทยขาดการติดต่อกับยุโรป และอเมริกาเป็นระยะเวลานาน ความก้าวหน้าใหม่ๆ ทางด้านวิชาการ การศึกษาอุตสาหกรรม และเทคโนโลยีต่างได้หยุดชะงักตลอดระยะเวลาสงคราม เมื่อสงครามสงบ เราขาดความรู้  ขาดเครื่องไม้เครื่องมือทุกด้านทางด้านการศึกษา ได้มีการเร่งให้ประชาชนอ่านออกเขียนได้เกินกว่าร้อยละห้าสิบเพื่อให้ มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทเดียวจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญในยุคนั้น การต้องปรับปรุงหลักสูตรและแผนการศึกษาเพื่อให้คนไทยได้ก้าวหน้าทัดเทียมชนชาติอื่นในด้านวิทยาการ ซึ่งได้มีความก้าวหน้าไปมากในช่วงระหว่างสงคราม และการที่อัตราเพิ่มของประชากรสูงขึ้นมากทุกปีในช่วงนั้น เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผงให้ความต้องการทางด้านหนังสือทั้งตำราทางวิชาการ วารสาร วรรณคดี  บันเทิงคดี เพิ่มขึ้นมากมายปีต่อปี แต่การที่เครื่องจักรเครื่องมือ และเทคโนโลยีทางการพิมพ์ได้หยุดชะงัก  ไม่มีการสั่งสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเลย   ระหว่างสงครามได้ใช้งานกันชำรุดทรุมโทรมไปแทบทั้งหมด เมื่อสงครามสงบแล้ว ในวงการพิมพ์เมืองไทยก็มีแต่แท่นพิมพ์ฉับแกระ และแท่นพิมพ์หินเก่าๆ ที่จะรับงานด้านการผลิตหนังสือ และสิ่งพิมพ์ทั้งมวล 
 
ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง สภาผู้แทนราษฎรได้ผ่านพระราชบัญญัติครูออกมา  เมื่อ ค.ศ. 1945  ได้กำหนดให้มีการจัดตั้งสภาขึ้นสภาหนึ่งในกระทรวงศึกษาธิการ ให้ชื่อว่าคุรุสภา ซึ่งนอกจากจะมีหน้าที่ต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดคุรุสภายังได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดพิมพ์แบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ โดยคุรุสภาได้จัดตั้งองค์การค้าของคุรุสภาขึ้นในปี ค.ศ.1950 ด้วยกำลังแท่นพิมพ์ฉับแกระ ป้อนกระดาษด้วยมือจำนวน 30-40 เครื่อง ซึ่งเป็นแท่นพิมพ์ระบบเลตเตอร์เพรสทั้งสิ้น  ส่วนใหญ่แต่ละแท่นอายุมากกว่าสิบปีขึ้นไป จึงเป็นกำลังพิมพ์ที่จะรับกับปริมาณความต้องการของหนังสือแบบเรียน ที่กำลังขยายตัวในตอนนั้นได้ด้วยความยากลำบากยิ่ง 
 
ความต้องการในการปรับปรุงคุณภาพของหนังสือเรียนให้มีภาพประกอบสวยงาม การผลิตหนังสือสำหรับเด็กให้มีสีสัน และปริมาณหนังสือที่เพิ่มขึ้นมากมายปีต่อปี  ซึ่งเป็นอัตราเร่งขยายตัวของความต้องการในขณะนั้น ความต้องการแบบเรียนจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าภายในระยะเวลาทุก 3-5 ปี ทำให้การปรับปรุงเทคนิคในระบบการพิมพ์มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทางองค์การค้าของคุรุสภาเริ่มนำแท่นพิมพ์ออฟเซตมาใช้งาน ในปี ค.ศ.1957 โดยสั่งแท่นพิมพ์ KOMORI จากประเทศญี่ปุ่นมาใช้งานก่อน  ในตอนแรกทางองค์การค้าฯ ต้องทำการฝึกคนเพื่อให้มีความรู้ความสามารถใช้เครื่องจักรเครื่องมือใหม่ๆและมีความรู้ทางเทคโนโลยี การพิมพ์ที่กำลังพัฒนาไปอย่างรีบเร่ง  หลังสงครามด้วยกำลังทันรอนอันจำกัด เพราะทางองค์การค้าฯ ต้องหารายได้เลี้ยงตัวเอง  มิได้รับงบประมาณทางราชการมาลงทุนแต่ประการใด การจัดหาเครื่องจักรเครื่องมือมาใช้งาน จึงต้องพิจารณาหาเครื่องจักรที่ราคาถูก และมีคุณภาพดีทนทาน เหมาะกับสภาพงานที่จะต้องดำเนินงานปริมาณความต้องการของแบบเรียนที่เพิ่มขึ้นปีต่อปีในช่วงระยะเวลานั้นจำเป็นที่ต้องใช้แท่นพิมพ์โรตารีออฟเซต ขณะนั้นบริษัท Polygraph ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเครื่องพิมพ์และเครื่องจักรทางการพิมพ์ของประเทศเยอรมนีตะวันออก ได้ผลิต เครื่องพิมพ์โคตารีออฟเซตขนาดเล็กขึ้น  ในชั้นแรกให้ชื่อว่า Polygraph Universal ใช้กระดาษม้วนหน้ากว้าง 24 นิ้ว พิมพ์แล้วตัดเป็นขนาด 17 1/2 นิ้ว เป็นขนาดที่ใช้พิมพ์แบบเรียนขนาด A4  และ A5  อันเป็นขนาดที่ใช้พิมพ์แบบเรียนระดับประถมศึกษาขององค์การค้าฯ พอดี แท่นพิมพ์นี้พิมพ์สีเดียวทั้งสองหน้าพร้อมกัน หรือจะพิมพ์สองสีทับกันในหน้าเดียวก็ได้ ความเร็วในการพิมพ์ชั่วโมงละหมื่นแผ่น พิมพ์แล้วจะให้พับสองครั้งเป็น A4 ก็ได้ หรือจะตัดออกเป็นแผ่นๆ ก็ได้ โดยเปลี่ยนส่วนท้ายของแท่นพิมพ์ จึงเป็นแท่นพิมพ์ที่เหมาะกับงานพิมพ์แบบเรียนขององค์การค้าฯ มาก กระดาษม้วนขนาด 24 นิ้ว  อาจซื้อพวกกระดาษปลายม้วนจากการผลิตมาใช้งานได้  ซึ่งกระดาษปลายม้วนนี้สามารถซื้อได้ราคาต่ำกว่าราคากระดาษที่เป็นมาตรฐาน จึงทำให้ ลดค่าใช้จ่ายในการพิมพ์ลง  ประกอบกับแท่นพิมพ์ดังกล่าวราคาถูกมาก  เครื่องหนึ่งราคาไม่ถึง 300,000 บาท ทางองค์การค้าฯ จึงได้สั่งแท่นพิมพ์  Polygraph Universal เครื่องแรกเข้ามาใช้งานใน ปี ค.ศ. 1960 และเมื่อทดลองใช้งาน เห็นว่าใช้ได้ดี จึงได้สั่งซื้อเครื่องที่สองเข้ามาในปี ค.ศ.1961 และทยอยซื้อเข้ามาอีกจนถึงปี ค.ศ. 1963 ก็ได้มีเครื่องพิมพ์  โคตารีออฟเซตของโพลีกราฟเป็นจำนวนถึง 6 เครื่อง ทางผู้ผลิตได้ปรับปรุงรูปแบบของเครื่องให้ดีขึ้น และให้ชื่อใหม่ว่าเป็นแบบ RZO ll สีเครื่องแรกเป็นเครื่องที่สองหน่วยพิมพ์  แต่สองเครื่องหลังทางองค์การค้าฯ ได้จัดสั่งเครื่องที่มีสี่หน่วยพิมพ์ ซึ่งเป็นเครื่องที่อาจพิมพ์สองสีสองหน้าบนกระดาษสองม้วนเดียวก็ได้ หรือจะพิมพ์หนึ่งสีสี่สีหน้าเดียว หน้าหลังว่างบนกระดาษหนึ่งม้วนก็ได้ หรือจะพิมพ์สามสีหนึ่งหน้า และหนึ่งสีหนึ่งหน้าพร้อมกันบนกระดาษม้วนเดียวก็ได้  จึงเป็นแท่นพิมพ์ที่ทำงานได้หลายลักษณะ 
 
ในปี ค.ศ.1961 ทางองค์การค้าฯ ได้ซื้อแท่นพิมพ์สองสีชนิดป้อนกระดาษแผ่นขนาดตัดหนึ่ง คือพิมพ์กระดาษขนาด  31" x 43" ซึ่งเป็นกระดาษแผ่นใหญ่จากบริษัทโพลีกราฟเข้ามาแท่นหนึ่ง เพราะราคาถูกมากเมื่อเทียบกับแท่นพิมพ์ลักษณะเดียวกันของผู้ผลิตอื่นๆ เมื่อได้รับแล้วรู้สึกตกใจ เพราะแท่นพิมพ์ที่สั่งมานั้นเป็นลังไม้หลายลัง เมื่อเปิดลังแล้วมีแต่ชิ้นส่วนเป็นเศษโลหะทั้งสิ้นมิได้มีแท่นพิมพ์เลย ซึ่งผิดกับการสั่งซื้อเครื่องพิมพ์จากที่อื่นๆ องค์การค้าฯ จะได้รับแท่นพิมพ์ที่ประกอบสำเร็จรูปแล้ว บรรจุลงลังไม้มา  เมื่อเปิดลังก็จะมีแท่นพิมพ์เป็นรูปร่างแล้ว เพียงแต่เอาอุปกรณ์ติดตั้งเพิ่มเติม เดินไฟฟ้ากำลังก็พิมพ์ได้ แต่แท่นพิมพ์สองสีโพลีกราฟ ที่ได้รับในปี ค.ศ. 1961 นี้ เป็นชิ้นเศษเหล็กทั้งหมด ทางโพลีกราฟส่งช่างจากเยอรมนีตะวันออกมาสองคน เพื่อประกอบส่วนที่ดูเป็นเศษโลหะเข้าเป็นแท่นพิมพ์  ซึ่งทางองค์การค้าฯ ก็ตระหนักทันทีว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะได้เรียนรู้ และศึกษาเพราะถ้าจะส่งคนของเราไปเรียน ไปดูงานก็จะมีกำลังส่งไปได้ทีละสองคน แต่ครั้งนี้ผู้ขายเขามาประกอบให้ดู  เราสามารถศึกษาพร้อมๆ กันหลายคน  หลายด้าน องค์การค้าฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ให้เข้าไปเป็นลูกมือช่วยประกอบชิ้นส่วน ตั้งแต่ยังดูเป็นเศษเหล็กจนเป็นแท่นพิมพ์ใหญ่โตที่สุดในขณะนั้น โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าวเดินเครื่องพิมพ์งานออกมาทีละสองสีบนกระดาษเต็มแผ่น  การสั่งซื้อเครื่องครั้งนี้นอกจากได้ราคาถูกแล้ว  เราได้ความรู้ และประสบการณ์เต็มอิ่ม โดยที่พวกเราเองก็ไม่ได้รู้ตัวกันเท่าใด 
 
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองประเทศไทยเรามีท่านผู้นำ นำประเทศร่วมเป็นพวกมหาอำนาจฝ่ายอักษะได้ประประกาศสงครามกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร มหาอำนาจฝ่ายอักษะเป็นฝ่ายแพ้สงคราม แต่ประเทศไทยเป็นประเทศไม่แพ้ไม้ชนะเมื่อฝ่ายประเทศสัมพันธมิตรชนะสงคราม ก็ได้จัดตั้งองค์การสหประชาชาติขึ้น ประเทศที่เป็นเอกราชและต้องการมีฐานะให้ได้รับการยกย่องก็ต้องเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม ผู้นำประเทศในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองหมดอำนาจไป ทางรัฐบาลไทยก็ได้สมัครเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ แต่เนื่องด้วยสมัยเชื่อผู้นำชาติพ้นภัย เราไม่มีสัมพันธไมตรีกับประเทศคอมมิวนิสต์ ประเทศคอมมิวนิสต์ใหญ่คือสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นมหาประเทศในองค์การสหประชาชาติได้เกี่ยงให้ประเทศไทยเปิดสัมพันธไมตรีกับประเทศคอมมิวนิสต์ก่อน จึงจะรับประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ไทยได้เปิดสัมพันธไมตรีกับประเทศสหภาพโซเวียตและประเทศเครือบริวารคอมมิวนิสต์ทั้งปวงแล้ว จึงได้รับเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ นอกจากความสัมพันธ์ทางการทูตแล้ว ก็ได้มีความสัมพันธ์ทางการค้า ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทางองค์การค้าฯ ได้ซื้อเครื่องพิมพ์ต่างๆ จากประเทศเยอรมนีตะวันออก ต่อมาได้เกิดการปฏิวัติรัฐประหารกันหลายครั้งหลายหนในประเทศ จอมพลแปลก พิบูลสงคราม กลับมามีอำนาจเป็นผู้บริหารประเทศอีก ได้พิจารณาเห็นพิษภัยของคอมมิวนิสต์ จึงได้มีการกวดขันและห้ามการติดต่อทางการค้ากับประเทศคอมมิวนิสต์ ดังนั้นหลังจากปี ค.ศ.1963 แล้วการติดต่อซื้อขายเครื่องจักรทางการพิมพ์กับประเทศเยอรมนีตะวันออกก็ไม่อาจติดต่อดำเนินการได้ เครื่องอะไหล่ชิ้นส่วนของเครื่องจักร และอุปกรณ์ทั้งปวงก็ไม่อาจสั่งเข้ามาใช้ได้เลย 
 
 
เมื่อสั่งเครื่องพิมพ์โรตารีโพลีกราฟมาใช้ชั่วระยะหนึ่ง  แท่นพิมพ์นี้พิมพ์แล้วพับได้สองครั้ง ได้หนังสือเป็น A4  แต่แบบเรียนระดับป ระถมศึกษาส่วนใหญ่เป็นขนาด A5 ซึ่งต้องเอากนกมาพับด้วยมืออีกครั้งหนึ่ง เราจึงคิดสร้างช่วงต่อจากหัวพับให้พับอีกครั้งหนึ่งเป็น A5 โดยคิดออกแบบให้รับกนกจากช่วงพับของแท่นพิมพ์ ไหลต่อมาตามสายพานมาเข้าส่วนพับที่คิดสร้างขึ้นใหม่เป็นระบบพับด้วยใบมีด ผลักกนกลงไประหว่างลูกกลิ้งเหล็กสองลูก และใช้โซ่ลักษณะคล้ายโซ่รถจักรยานเอากำลังจากแท่นพิมพ์มาใช้พับด้วย ซึ่งก็คิดจัดทำได้สำเร็จ สามารถพิมพ์แล้วพับสามครั้งเป็นหนังสือขนาด  A5 ได้ เราจัดสร้างส่วนพับครั้งที่ 3  ต่อกับแท่นพิมพ์แท่นเดียวก่อนทดลองพิมพ์ดูส่วนพับใช้งานได้ดีแต่จะต้องลดความเร็วของการพิมพ์ลงแทนที่จะวิ่งแท่นพิมพ์พิมพ์ได้ชั่วโมงละ 7,000-10,000  แผ่น ตามอัตราความเร็วที่สามารถพิมพ์ได้ ซึ่งเราได้พิมพ์โดยทั่วไป ก็ต้องพิมพ์เพียงชั่วโมงละ 4,000-6,000 แผ่นแทน เพราะถ้าวิ่งเร็วตามปกติ  ช่วงพับที่เราคิดสร้างให้พับครั้งที่  3 จะคลาดเคลื่อน ช่วงระยะเวลานั้นเราไม่อาจจะชะลอความ เร็วของแท่นพิมพ์ได้  เพราะงานรอพิมพ์มีมากจนต้องพิมพ์เต็มกำลังทั้งกลางวันและกลางคืน  แท่นพิมพ์นั้นเราไม่อาจสร้างเองได้   แต่การพับด้วยมืออีก 1 ครั้ง   เรารับคนงานมาพับได้  โดยอาจเพิ่มคนงานตามที่ต้องการ จึงได้ตัดสินใจไม่ดำเนินการต่อเติม ส่วนพับครั้งที่  3 ตามที่คิดไว้ และที่ได้ต่อเติมไว้กับเครื่องหนึ่งนั้นก็ได้ให้ถอดออก  อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบว่าเรามีฝีมือพอที่จะปรับปรุงเครื่องพิมพ์ของเราได้
 
กรมการบินพาณิชย์ได้สั่งซื้อเครื่องพิมพ์ออฟเซตสองสีขนาดใหญ่จากญี่ปุ่นคือ เครื่องพิมพ์ Nagashima เป็นแท่นพิมพ์ที่พิมพ์กระดาษขนาด 40"x50" และได้มอบแท่นพิมพ์ให้ไว้ที่กรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ เพื่อใช้พิมพ์แผนที่ทางอากาศ และแผนที่ทางทะเล แ ท่นพิมพ์นี้มีขนาดใหญ่มาก เมื่อทำการติดตั้งแท่นพิมพ์แล้วได้สร้างอาคารคลุม  ซึ่งตั้งแต่ซื้อมาหลายปีได้ใช้งานพิมพ์เพียงไม่กี่งาน แต่ละงานพิมพ์จำนวนเล็กๆ น้อยๆ รวมการพิมพ์ทั้งหมดเพียงประมาณแสนแผ่น และได้ปล่อยเครื่องพิมพ์ทั้งไว้ไม่ได้ใช้งานช้านานหลา ยปีจนต้องขอปลดสภาพใช้งาน ซึ่งถ้าขายเป็นเศษเหล็กก็จะไม่ได้ราคา ทางกรมการบินพาณิชย์  กระทรวงคมนาคมได้ให้ทางองค์การ ค้าของคุรุสภาไปดูว่า ถ้าทางองค์การค้าฯ  เอามาใช้งานได้ก็จะยกให้ เพราะทางกรมอุทกศาสตร์ไม่มีงานที่จะใช้พิมพ์ ทางองค์การค้า ฯได้ไปดูพบว่าเป็นแท่นพิมพ์ออฟเซตป้อนกระดาษแผ่นใหญ่กว่าทุกแผ่นที่องค์การค้าฯ มี สามารถพิมพ์ได้ทีละสองสี  โดยกำลังฐานะ ขององค์การค้าฯ ก็ไม่อาจจะซื้อเองได้ในขณะนั้น  แม้เครื่องจะล้าสมัยเพราะซื้อมานานแต่สภาพเครื่องดีมาก  เฟืองทุกตัวยังใหม่ไม่สึกหรอเลย เครื่องเก่าเพราะเก็บอยู่นาน ไม่ใช่เพราะสภาพใช้งาน  และทางกรมการบินพาณิชย์ยกให้โดยไม่คิดราคา  ก็ต้องตกลงรับไว้ด้ วยความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ปัญหาอยู่ที่ว่าแท่นพิมพ์ใหญ่มากไม่อาจจะเอาออกจากอาคารที่ติดตั้งอยู่ได้ และเราก็ไม่อาจรื้ออาคารเพื่อนำแท่นพิมพ์ออกแล้วสร้างให้กรมอุทกศาสตร์ใหม่ได้ ก็ต้องคิดรื้อแท่นพิมพ์เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยให้หมดแล้วนำไปประกอบใหม่ เมื่อนึกถึงว่าพวกเจ้าหน้าที่ของเราส่วนหนึ่งเคยเห็น และเคยช่วยประกอบแท่นพิมพ์โพลีกราฟชนิดพิมพ์สองสีขนาดใหญ่มาแล้ว น่าจะมีประสบ การณ์ และความรู้อยู่บ้าง ถ้าเราจะเอาการรื้อเครื่องพิมพ์นี้ขนไปประกอบใหม่ที่โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว  ถือเป็นแบบฝึกหัดทดสอบ ความรู้  และฝีมือของเราก็น่าจะลองทำ จึงตัดสินใจเตรียมวางแผน การรื้อทุกชิ้นส่วนชองเครื่องพิมพ์ให้จดให้บันทึก จัดเข้ากล่องเข้าห่ อตามลำดับให้เป็นระเบียบขนโยกย้ายไปติดตั้งกันใหม่ที่โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว นอกจากเราจะได้ให้คนเก่าๆ ได้ซ้อมมือแล้ว   อย่างน้อยก็จะได้สร้างกลุ่มคนให้คนรู้และเข้าใจเครื่องพิมพ์ออฟเซตเพิ่มขึ้น  ซึ่งคิดว่าเราน่าจะสร้างเองได้สักวันหนึ่ง  เราขนชิ้นส่วนต่างๆ ของเครื่องพิมพ์นากาชิมามา และติดตั้งโดยประกอบกันทีละชิ้นๆ จนเป็นแท่นพิมพ์ และสามารถพิมพ์งานออกมาได้  และใช้งานได้ในวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1970 ด้วยความภาคภูมิใจ
 
ตั้งแต่หลังปี ค.ศ. 1963 เป็นต้นมา เมื่อเรามีนโยบายไม่ติดต่อทางการค้ากับกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ อุปกรณ์อะไหล่ ทั้งปวงของแท่นพิมพ์ทุกชนิด ไม่อาจสั่งเข้ามาได้ แต่การใช้งานของแท่นพิมพ์เราใช้เต็มที่  เพราะปริมาณหนังสือที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น ทุกปี จึงต้องระดมกำลังแท่นพิมพ์ที่มีอยู่ทุกแท่น พิมพ์ไม่หยุดหย่อนทั้งกลางวัดและกลางคืน แท่นพิมพ์ย่อมชำรุดทรุดโทรม ชิ้นส่วนต่างๆ สึกหรอ บุบสลาย แตกหักไปก็มี เราจะไม่ใช้แท่นพิมพ์นั้นก็ไม่ได้ จะซื้อมาเปลี่ยนก็ไม่ได้เพราะไม่ทุนพอ  ที่ซื้อใหม่เจ้ามาก็เพื่อเพิ่มกำลังผลิต จะปลดสภาพเครื่องเก่าออกไม่ได้เลย จึงมีความจำเป็นว่าถ้าอะไหล่ชิ้นใด อุปกรณ์ชิ้นใดเสียหาย เราก็ต้องซ่อมแซมหรือคิดหาของอื่นมาทดแทน และต้องคิด ต้องทำให้ได้เองในเมืองไทย เป็นความจำเป็นบังคับที่เราต้องดิ้นรนให้แท่นพิมพ์ทุกแท่นใช้งานได้ เมื่อสร้างโรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว เราจึงได้จัดตั้งหน่วยซ่อม และบำรุงรักษาให้เป็นหน่วยงานที่มีกำลังคนประจำอยู่ต่างหาก  และเข้มงวดงานในหน่วยนี้มาก
 
แท่นพิมพ์โรตารีออฟเซตโพลีกราฟเล็กที่เราใช้มีจุดอ่อนอยู่ที่สายพานกำลังจากมอเตอร์ ซึ่งฉุดให้เครื่องทำงาน มีลักษณะเป็นสายพานโลหะระบบโซ่พิเศษ  เมื่อพิมพ์ไประยะหนึ่ง ชิ้นส่วนของโซ่สึกหรอจะต้องเปลี่ยนใหม่ เราไม่มีโลหะใดที่แข็งแรงพอจะใช้แทนได้  แต่ก็ได้พยายามจัดหา จนในที่สุดได้ลานนาฬิกาซึ่งมีความแข็งแรงทนทานมาก ได้นำมาตัดยึดกันเป็นชิ้นส่วนของโซ่ได้ และในตอนหลัง ก็ได้คิดดัดแปลงเป็นระบบเฟือง และเพลาส่งกำลังแทน ซึ่งได้เป็นการแก้ไขอย่างถาวร ไม่เป็นปัญหาในการต้องเปลี่ยนสายพานกำลังบ่อยๆ
 
องค์การค้าของคุรุสภาได้ยกฐานะหน่วยซ่อม และบำรุงรักษาจากหมวดเป็นแผนก และเป็นส่วนตามลำดับ นอกจากรับผิดชอบงานซ่อม และบำรุงรักษาแล้ว  ยังสามารถสร้างเครื่องจักรเครื่องมือเล็กๆ  ขึ้นใช้งานได้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา  ได้แก่  เครื่องมัดกนกกระดาษ เครื่องอบฟิล์ม เครื่องเคลือบน้ำยาแม่พิมพ์ เครื่องล้างลูกน้ำ  เครื่องลับใบมีด แท่นตัดกระดาษ รถยกไฮดรอลิก  เครื่องย่อยกระดาษ เครื่องทากาว และเครื่องเคลือบพลาสติก  มีหลายหน่วย งานสั่งซื้อเครื่องจักรดังกล่าว  ซึ่งองค์การค้าฯ ได้ผลิตให้ตามต้องการ
 
เครื่องพิมพ์โรตารีออฟเซตโพลีกราฟ ใช้พิมพ์งานมากว่าสิบปี ทั้งกลางวันกลางคืนอย่างสมบุกสมบัน ลูกโมแท่นพิมพ์ของแท่นหนึ่งชำรุดใช้การไม่ได้ ปกติแล้วถ้าลูกโมแท่นพิมพ์ใดเสียหายก็ต้องเปลี่ยนใหม่เป็นการยากที่จะซ่อมแซมให้ได้สภาพดีดังเดิม การสั่งลูกโม มาทดแทนก็ทำไม่ได้ เนื่องจากเป็นเครื่องจักรของประเทศเยอรมนีตะวันออกอันเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ ดีที่เป็นเครื่องพิมพ์ขนาดไม่ใหญ่ โรงหล่อโลหะในเมืองไทยพอจะหล่อโลหะตามขนาดลูกโมได้ เราไม่มีทางทำอย่างอื่น นอกจากสร้างลูกโมพิมพ์ขึ้นเองให้ได้เพื่อนนำมาเปลี่ยนใหม่  จึงได้ให้วัดขนาดลูกโมของแท่นพิมพ์โดยละเอียดทุกแง่ทุกมุม  ทำต้นแบบด้วยไม้ ถอดชิ้นส่วนออกสั่งหล่อและ สั่งทำ โมลูกหนึ่งมีส่วนประกอบต่างๆ หลายชิ้น ได้ให้จัดทำและประกอบกันเข้าใช้งาน ก็ปรากฏว่าใช้งานแทนโมที่เสียไปได้  และใช้ได้ดีด้วย นับว่าเราสามารถผลิตโมพิมพ์และโมอื่นๆ  ในแท่นพิมพ์นี้ได้
 
แท่นพิมพ์นี้ใช้งานมาร่วม 20 ปีแล้ว เมืองไทยจึงได้เปิดการค้ากับประเทศคอมมิวนิสต์ขึ้นอีก ผู้แทนโรงงานโพลีกราฟได้มาเยี่ยมโรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว เห็นแท่นพิมพ์โรตารีออฟเซตโพลีกราฟ  RZO ll ของเขา 6  เครื่อง อายุใช้งานเกือบ  20  ปี  ยังพิมพ์งานด้วยความเรียบร้อย เรายังใช้งานเต็มกำลัง เครื่องยังคงพิมพ์ได้ชั่วโมงละ 10,000 แผ่น เขาแปลกใจมาก เพราะเครื่องรุ่นนี้เขาไม่ได้ผลิตมานานแล้ว และที่ขายไปที่ใดเขาก็ใช้งานจนปลดสภาพไปหมดแล้วแต่ที่โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าวของเรายังใช้งานเป็นปกติเหมือนแท่นใหม่ เราก็ได้มาพิจารณาดู เห็นว่าความจริงเครื่องพิมพ์เหล่านี้ก็น่าจะหมดอายุใช้งานไปแล้วเช่นของที่อื่นๆ เขา  แต่ที่ทุกเครื่องยังพิ มพ์อยู่ได้ดีเป็นปกติ ก็เพราะเราได้เปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่เข้าไปแทนอยู่ตลอด เวลา และเมื่อพิจารณาว่ามีชิ้นส่วนใดบ้างที่เราได้ผลิตได้ทำในเมืองไทยเพื่อใช้งาน และเปลี่ยนใช้ในแท่นพิมพ์  ก็เห็นว่าชิ้นส่วนต่างๆ ในเครื่องพิมพ์นี้ที่เราจะผลิตเองไม่ได้นั้นไม่มี  ยกเว้นโครงแท่นที่เป็นเหล็กหล่อธรรมดา ซึ่งไม่เคยเปลี่ยน  แต่เราอาจทำแบบหล่อได้ไม่ยาก เมื่อคิดดูแล้วเราน่าจะสร้างเครื่องพิมพ์โรตารีออฟเซตเสียเอง
 
การจะสร้างเครื่องพิมพ์โรตารีออฟเซต ทั้งๆ ที่เรามีพื้นฐานพร้อมมาตลอด แต่จะสร้างขึ้นใหม่เองให้ได้ทั้งเครื่อง ก็เป็นเรื่องที่ต้องคิด และต้องใช้ทุนรอนมาก เพราะชิ้นส่วนที่จะต้องผลิต ต้องจัดทำมากมายนับเป็นหมื่นชิ้น จะต้องผลิตเก็บให้ครบพร้อมกันหมด จึงจะประกอบเป็นเครื่องพิมพ์ได้ การผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ต้องลงทุนมาก ต้องเตรียมเครื่องไม้เครื่องมือพิเศษเพื่อผลิตชิ้นส่วนบางอย่างทางองค์การค้าฯ จึงได้จัดทำโครงการเสนอต่อคณะกรรมการองค์การค้าฯ เพื่ออนุมัติให้ดำเนินการ ซึ่งทางคณะกรรมการองค์การค้าฯ พิจารณาแล้วอนุมัติให้ดำเนิน งานได้เมื่อวันที่  6 มิถุนายน ค.ศ.1978 ทางองค์การค้าฯ จึงได้ลงทุนผลิตชิ้นส่วนต่างๆ เก็บไว้เพื่อประกอบเป็นแท่นพิมพ์ เรารู้ว่าเราผลิตชิ้นส่วนแต่ละชิ้นได้เพราะเคยผลิตมาแล้ว แต่การจะเอาชิ้นส่วนที่เราผลิตมารวมกันแล้วเป็นแท่นพิมพ์ จะพิมพ์ได้เหมือนกับที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศหรือไม่นั้น ไม่มีใครบอกได้ ก็ต้องเสี่ยงลงทุนกันก่อน
 
เราคิดว่าจะจัดทำชิ้นส่วนไว้สักสามชุด เพื่อว่าถ้าทำได้ก็จะได้เครื่องพิมพ์สักสามเครื่องก่อน เรากวดขันในการสร้างชิ้นส่วนทุกชิ้นของเครื่องพิมพ์ที่จะผลิตเพื่อให้ไม่ผิดพลาด แท่นพิมพ์โรตารีออฟเซตโพลีกราฟ  อาร์แซทโอสอง  ซึ่งเป็นแม่แบบของเรา เราไม่ได้ลอกเขา มาทั้งหมด แต่เราได้แก้ไขดัดแปลงมาแล้วตลอดระยะเวลาใช้งานเกือบ  20  ปี เราปรับปรุงชิ้นส่วน หลายแห่งให้เหมาะกับการใช้งาน ของเรา แบบที่เราจะผลิตจึงเป็นแบบของเราโดยแท้ แต่ต้องยอมรับว่าเราถือเขาเป็นแม่แบบ การผลิตชิ้นส่วนทุกขั้นตอนเราให้ช่างเขียนแบบถอดแบบชิ้นส่วน ปรับปรุงและเขียนแบบที่เราจะผลิตบนแผ่นกระดาษหมดทุกชิ้น และการผลิตชิ้นส่วน ทุกชิ้นเป็นไปตามแบบ ที่เขียนอย่างเคร่งครัด ก็เพื่อให้การผลิตชิ้นส่วนของเครื่องพิมพ์ในทุกๆ เครื่องเป็นไปอย่างเดียวกัน เราระดมช่าง และใช้นักเรียนเขียนแบบช่วย โดยช่างของเราตรวจสอบ ซึ่งต้องเขียนแบบทั้งหมดถึง 1,267 แผ่น เพื่อเป็นหลักยึดถือในการผลิตเครื่องพิมพ์ขึ้นมา แล้วเราก็เริ่มผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ตามแบบที่เขียนเก็บไว้ เพื่อรอให้ได้ครบเป็นตอนๆ จะได้ประกอบเป็นเครื่องพิมพ์
 
ปี ค.ศ. 1982 เป็นปีที่กรุงรัตนโกสินทร์ได้สร้างมาครบสองร้อยปี ทางราชการ ได้จัดให้มีการเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่ ทางองค์การค้าฯ คิดว่าถ้าสามารถสร้างเครื่องพิมพ์เครื่องแรกให้เสร็จในโอกาสนี้ด้วยก็จะเป็นการดี  เพราะจะได้เป็นการร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสสำคัญด้วย จึงได้เร่งทุกวิถีทางที่จะผลิตออกให้ได้ในปี ค.ศ.1982 ซึ่งเราก็ได้จัดผลิตจนสำเร็จ แต่เสร็จเฉพาะส่วน พิมพ์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุด เราสร้างส่วนที่ป้อมม้วนกระดาษและหน่วยพิมพ์หน่วยแรกพิมพ์บนกระดาษหน้าหนึ่งแล้วพลิกกลับหน้ากระดาษ หน่วยพิมพ์ที่สอง พิมพ์บนกระดาษอีกหน้าหนึ่ง แล้วตัดออกมาเป็นแผ่น ซึ่งเมื่อประกอบเครื่องทดลองพิมพ์แล้วปรากฏว่าพิม พ์ออกมาได้เรียบร้อย ซึ่งนับว่าเป็นการสร้างส่วนต่างๆ ของเครื่องจักร ประกอบกับเป็นเครื่องพิมพ์เครื่องแรกที่พิมพ์งานออกมาได้ในเมืองไทย  เป็นเครื่องพิมพ์โรตารีออฟเซตพิมพ์ด้วยกระดาษม้วนทั้งสองหน้าในแท่นเดียวกัน แล้วตัดออกมาเป็นแผ่น  เราได้กำหนดให้ชื่อว่าแท่น  KS 200 KS หมายถึง คุรุสภา Kurusapha และ 200 หมายถึง รัตนโกสินทร์ศก 200 เราให้เบอร์เครื่องแรกเป็นเบอร์ 1  จึงเรียกเครื่องพิมพ์เครื่องแรกว่า KS 200/เราได้ตัดสินใจนำเครื่องพิมพ์นี้ออกแสดงในงานแสดงสินค้าฉลองสองร้อย ปีรัตนโกสินทร์ที่สนามกีฬาหัวหมากในระหว่างวันที่  4 มกราคม - 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1982 แต่สถานที่ที่ตั้งแสดงขององค์การค้าฯ  เป็นพื้นสนามไม่แข็งแรงพอที่จะเดินเครื่องพิมพ์ได้  เมื่อยกไปติดตั้งแล้วไม่อาจแสดงการพิมพ์ให้ชมได้ สถานที่ติดตั้งก็อยู่ในมุมอับ มีคนเดินผ่านไม่มาก และในช่วงฉลองสองร้อยปีรัตนโกสินทร์มีงานฉลองต่างๆ มาก งานแสดงสินค้าที่หัวหมากเองมีคนชมกั นน้อย  การแสดงเครื่องพิมพ์ที่เราผลิตเองได้เป็นเครื่องแรกในประเทศไทย  ซึ่งทางองค์การค้าฯ  นำไปแสดงในครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน ค.ศ.1982 นั้น จึงไม่เป็นที่แพร่หลาย
 
ทางองค์การค้าฯ ได้นำเครื่องพิมพ์ KS 200/1 ไปแสดงในงานศิลปะหัตกรรมนักเรียน  ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจัดขึ้นที่สนามกีฬาแห่งชาติในปีเดียวกันอีก ครั้งหนึ่งสามารถเดินเครื่อง พิมพ์ให้ดูด้วย แต่ผู้ชมส่วนใหญ่เป็นนักเรียน ซึ่งไม่ได้เป็นผู้ที่อยู่ในวงการพิมพ์ ความสนใจจึงไม่มากเท่าที่ควร ในงานแสดงภาพ-พิมพ์ที่จุฬาฯ ปี ค.ศ. 1983 ทางองค์การค้าฯได้นำแท่นพิมพ์  KS 200/1 ไปแสดงอีกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  แต่ขณะนั้นเครื่องจักรส่วนพับยังทำไม่เสร็จ จึงแสดงได้เฉพาะการพิมพ์และตัดเป็นแผ่น  ซึ่งได้รับความสนใจพอสมควร จนกระทั่งในปี ค.ศ.1984 ทางองค์การค้าฯ ได้ผลิตส่วนพับเสร็จเรียบร้อยติดตั้งกับเครื่อง KS 200/1 และผลิต KS 200/2 เสร็จเป็นเครื่องพิมพ์เครื่องที่ 2 จึงได้นำไปแสดงในงานภาพ-พิมพ์ ปี ค.ศ.1985  แสดงการพิมพ์จากกระดาษม้วย พิมพ์สองหน้าและพับเป็นกนก เสร็จตัดออกมาเป็นกนกๆ ด้วยความเร็วสูงชั่วโมงละ 10,000 กนก  ได้รับความสนใจจากผู้เกี่ยวข้องในวงการพิมพ์มาก เป็นอันยอมรับได้ว่าทางโรงพิมพ์คุรุสภาสามารถสร้างแท่นพิมพ์โรตารีออฟเซตออกมาได้แล้ว และมีประสิทธิภาพไม่แพ้เครื่องที่ผลิตมาจากต่างประเทศ และอยู่ในฐานะที่จะผลิตออกวางตลาดขายได้ 
 
ทางองค์การค้าฯ ได้ยกฐานะแผนกซ่อม และบำรุงรักษาขึ้นเป็นส่วนโรงงานผลิตเครื่องจักรทางการพิมพ์ เตรียมการที่จะผลิตเครื่องจักร ทางการพิมพ์ต่างๆ ขณะนี้ได้ให้หน่วยผลิต ผลิตชิ้นส่วนเพื่อสร้างเครื่องพิมพ์ต่อเนื่องกันไป ได้ตั้งโครงประกอบเครื่อง KS 200/3-4 และ 5 ต่อไปตามลำดับ
 
การสร้างเครื่องพิมพ์ KS 200 ขึ้นนี้ได้อาศัยเจ้าหน้าที่หลายคนในองค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้ช่วยกันคิดร่วมใจกันจัดทำจนสำเร็จ  แต่มีอยู่บุคคลหนึ่งที่เป็นกำลังสำคัญควรจะได้กล่าวยกย่องไว้ คือ นายประเสริฐ มีมั่งคั่ง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภา  ได้ดำรงตำแหน่งสุดท้ายเป็นหัวหน้าแผนกผลิตเครื่องจักร ส่วนโรงงานผลิตเครื่องจักรทางการพิมพ์ ฝ่ายการผลิต
 
นายประเสริฐ  มีมั่งคั่ง เกิดเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ.1933 ที่จังหวัดลพบุรี จบการศึกษาสายสามัญโรงเรียนไพศาลศิลป์ และจบสายอาชีวศึกษา โดยได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพช่างกล จากโรงเรียนช่างกลปทุมวัน ประกาศนียบัตรและวิชาชีพชั้นสูง แขนง วิชาโลหะ จากวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพฯ ได้เข้าทำงานในองค์การค้าฯ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1962 ดำรงตำแหน่งช่าง เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูง ได้ศึกษาหาความรู่จากงานที่ทำในองค์การค้าของคุรุสภาจนมีประสบการณ์สูง เป็นผู้ที่ขวนขวาย ช่างคิด ช่างทำ จึงนับเป็นกำลังสำคัญในการถอดความคิดขึ้นเป็นแบบ เพื่อจัดทำเครื่องพิมพ์ KS 200 และผลิตเป็นเครื่องพิมพ์ตั้งแต่ ต้นจนสำเร็จ แต่เป็นที่น่าเสียดาย  นายประเสริฐ มีมั่งคั่ง ได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1985 ด้วยโรคน้ำท่วมปอด
 
ทางคุรุสภาได้เสนอเครื่องพิมพ์  KS 200  ให้ทางสภาวิจัยแห่งชาติพิจารณาเพื่อรับรางวัล และได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัลผลงานคิดค้น หรือสิ่งประดิษฐ์  ซึ่งเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ประจำปี ค.ศ.1986/พ.ศ.2529 ได้รับรางวัลชมเชย ในสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และอุตสาหกรรมวิจัยเป็นเงิน 10,000 บาท ซึ่งได้มอบให้แก่ทายาทนายประเสริฐ มีมั่งคั่ง และได้มอบเกียรติบัตรให้แก่นายประเสริฐ มีมั่งคั่ง นายกำธร สถิรกุล  นายสมพล พัฒนประภาพันธุ์  และนายปรีชา ชมพูนิช  ผู้รับผิดชอบในการผลิตเครื่องพิมพ์เครื่องนี้
 
จากหนังสือ ...งานแสดงการพิมพ์แห่งประเทศไทย ครั้ง 5 /หน้า 37-43