-
Category: ประวัติการพิมพ์ในประเทศไทย
-
Published on Monday, 18 September 2017 03:04
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3847
เรียบเรียงโดย ...นายสุชาติ นิมิตบรรพต
นักศึกษาวิทยาลัยแสงธรรม
ศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกได้เข้ามาเผยแพร่ในสยามประมาณ 430 กว่าปีมาแล้วโดยเข้ามาทางแหลมมะละกาเป็นสงฆ์ธรรมทูตชาวโปรตุเกสคณะโดมินิกัน 2 องค์ ต่อมาก็มีคณะทยอยกันเข้ามาเพิ่มขึ้นอีกเมื่อท่านเข้ามาก็ได้นำความรู้สมัยใหม่ และนำเอาความเจริญก้าวหน้าวิชาการต่างๆ มาด้วย เพื่อช่วยให้การประกาศศาสนาได้ผลดียิ่งขึ้น
การพิมพ์ได้เริ่มเปิดศักราชใหม่ให้แก่โลก ใน ค.ศ.1450 (พ.ศ.1993) นายจอห์น กูเตนเบิร์ก ชาวเยอรมัน ได้คิดประดิษฐ์แท่นพิมพ์ขึ้นมา ทำให้วิชาการและความรู้ต่างๆแพร่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว การพิมพ์ในเมืองไทยสันนิษฐานกันได้ว่าอาจจะมีการพิมพ์ขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายในสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแต่ไม่มีหลักฐานว่าได้มีการพิมพ์ที่ใช้ตัวอักษรภาษาไทยเป็นการพิมพ์ที่ใช้ตัวอักษรโรมัน แต่อ่านออกเสียงเป็นภาษาไทย
จากหลักฐานของคุณพ่ออาเดรียง โลเนย์ (P.AdrienLAUNAY,Achiviste.,MEP) ที่พูดถึง “ประวัติมิสซังกรุงสยาม ค.ศ.1662-1811 เล่าถึงคุณพ่อลาโน ซึ่งต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นพระสังฆราชว่า ท่านได้เขียนหนังสือไว้ถึง 26 เล่ม (และมีหลักฐานถึงเราทุกวันนี้คือ “พระวรสารทั้งสี่ส่วนหนึ่ง” หนาถึง 532 หน้า ขนาด 10 นิ้วคูณ 7 นิ้ว เขียนตัวอักษรไทยสมัยอยุธยา)
หนังสือจำนวนมากถูกทำลายไปในสมัยกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ 2 พร้อมทั้งเอกสารต่างๆ จากหลักฐานที่ปรากฎในจดหมายของคุณพ่อลังคลัวส์ (langlois) อธิการบ้านเณรที่อยุธยา ต่อจากคุณพ่อหลุยส์ ลาโน ซึ่งท่านได้รับเลือกเป็นพระสังฆราชและประมุของค์แรกของมิสซังสยาม ท่านมีสามเณรเป็นชาวญวณบ้าง โปรตุเกสบ้าง และมีคริสตังชาวสยามบ้างในบริเวณอยุธยา ท่านได้เขียนจดหมายถึงผู้บริหารบ้านเณรที่ปารีส ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1674 (A.M.E. เล่ม 860 หน้า 14 ) “ข้าพเจ้ารับนักเรียนซึ่งไม่รู้จัก A-B-C หรือ ก-ข เลย พวกเขายังไม่รู้จักช่วยพิธีมิสซา... เราได้แปลและได้ใช้ตัวอักษรลาติน เขียนชีวประวัติของนักบุญโดยตลอด เป็นภาษาญวณ ได้เขียนคำอธิบายพระวรสารทุกๆ อาทิตย์และวันฉลองตลอดทั้งปีและหนังสืออื่นๆ อีกมาก ส่วนหนึ่งภาษาสยามนั้น พระสังฆราชลาโนเคยเขียนมามากแล้ว และขณะนี้เราไม่ละที่จะเขียนต่อไป แต่ทว่าท่านทั้งหลายงานที่เรากำลังทำอยู่นี้ไม่อาจจะบันดาลผลประโยชน์อะไรได้เลย ถ้าหากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากท่าน ข้าพเจ้าจึงขอความกรุณาจากท่านช่วยกันทำบุญทำกุศล โดยเห็นแก่ความรักซึ่งท่านมีต่อบรรดามิสซังซึ่งเป็นที่พอพระทัยของพระเป็นเจ้า...มีวิธีเดียวที่ช่วยมิสซังเหล่านี้ตามความต้องการของเขาก็ คือ ส่งโรงพิมพ์มาให้เรา กระดาษจีนที่นี่ดีพอใช้ราคาถูกมาก ค่าแรงก็ไม่สูง ดีกว่าที่จะส่งต้นฉบับไปพิมพ์ที่ยุโรป ซึ่งใช้เวลานานมาก... ราคาสูง และการส่งมาส่งไปก็ไม่ปลอดภัยด้วย... ข้าพเจ้านึกว่าบรรดาพระสังฆราชและมิชชันนารีชาวฝรั่งเศส จะต้องน้อยหน้ากว่ามิชชันนารีอื่นๆ พวกเขาต่างก็มีโรงพิมพ์ใช้ในมิสซังของเขา เช่นคณะมิชชันนารี่คณะเยสุอิตมีโรงพิมพ์อยู่ที่เมืองกัว (GOA) อินเดีย ที่มาเก๊า และที่มะนิลา คณะโดมินิกันมีโรงพิมพ์ในอารามของเขาที่มะนิลาท่านเหล่านี้ต้องการพิมพ์อะไรก็พิมพ์ได้เลย... ส่วนเราก็ควรมีโรงพิมพ์ที่สยาม (อยุธยา) อันเป็นศูนย์ของบรรดามิสซังของเรา ทั้งเป็นที่ชุมนุมชนชาติต่างๆ ทั้งยังเป็นที่ตั้งของสามเณราลัยที่งดงามอีกด้วย ซึ่งหาช่างพิมพ์ได้อย่างสบายๆ ... ฯลฯ
ความคิดโครงการที่จะตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในกรุงสยาม มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นความคิดของคุณพ่อลังคลัว (langlois) ซึ่งเป็นมิชชันนารีคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส อธิการวิทยาลัยกลางซึ่งทำหน้าที่ให้การศึกษาอยู่ในวิทยาลัยแห่งนี้ จากจดหมายของคุณพ่อลังคลัว ถึงคณะผู้บริหารบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ.1674 (AME.vol.864,p.14) คุณพ่อได้ให้เหตุผลไว้ว่า “เพราะในกรุงสยาม กระดาษราคาต่ำมากคนงานจ้างได้ในราคาถูกๆ คนแต่งหนังสือก็อยู่ในมิสซังเหล่านี้แล้ว และเป็นการไม่สมควรที่จะส่งหนังสือที่เขียนด้วยลายมือไปพิมพ์ในทวีปยุโรป... พวกเรายังมีความต้องการช่างแกะ (สลักตัวอักษร) เพื่อเขียนบนแผ่นทองแดงเหมือนเขียนบนหนังสือ จะได้พิมพ์คำสอนคริสตังเป็นอักษรของประเทศนี้บนหนังสือนั้น”
จากหลักฐานในหนังสือ “เลอ เทรด ดูนีออง” (LE TRAIT DUNION) ค.ศ.1918 ในบทความ “โรงพิมพ์ร้องขอ” หน้าที่25-26 พิมพ์ด้วยอักษรโรมัน ได้เล่าถึงการพัฒนาการ ขีดเขียน และมาจนถึงการพิมพ์หนังสือได้กล่าวถึง “กูเตนเบิร์ก” ที่ได้คิดประดิษฐ์อักษรเรียงพิมพ์ขึ้น และร่วมกับเพื่อนอีก 2 คนตั้งโรงพิมพ์ขึ้น และพูดถึงการพิมพ์ในเมืองไทยด้วย
“ครั้นมาคริสตศักราช 1438 ได้มีคนหนึ่งชื่อกูเตนเบิร์ก เป็นคนรับจ้างที่เมืองสตาร์บุร์ก ก็ได้สังเกตเห็นในของตนที่ตรายี่ห้อตราปี๊บน้ำอันหนึ่งเขาจึงคิดว่า..”
“ในเมืองไทยนี้มิสซังโรมันคาทอลิก ได้ลงมือพิมพ์หนังสือก่อนผู้อื่น ขณะคริสตศักราช 1675 พระสังฆราชคราวนั้นได้ให้พิมพ์หนังสือคำสอนสำหรับคริสตังครั้นนั้นแล้ว ต่อมาเมื่อกรุงเก่าแตกเสียให้กับพม่าแล้วไม่ได้มีโรงพิมพ์จนถึงเวลาได้ตั้งกรุงเทพฯ ขึ้นใหม่ ตั้งแต่นั้นมามิสซังได้พิมพ์หนังสือฝ่ายศาสนากับหนังสือเรียน ศึกษาและแปลหลายภาษาด้วยกัน ใช้อักษรลาตินบ้าง อักษรไทยบ้าง มาบัดนี้ โรงพิมพ์ไม่พอแก่การ เพราะหนังสือที่พิมพ์นั้นก็มากทวีคูณ นอกจากหนังสืออธิบายข้อพระศาสนา ควรมีหนังสืออื่นๆ แปลข้อความซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เราคริสตัง เช่น หนังสือสอนวิชาต่างๆ เป็นต้น
สำนักพระสังฆราชแห่งนี้ พระสังฆราชปัลเลอร์กัวซ์เริ่มก่อสร้างวันที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2388/ค.ศ. 1845 หลังจากย้ายมาอยู่ที่วัดอัสสัมชัญวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2387/ค.ศ. 1844 สิ้นเงินค่าก่อสร้าง 1,800 ตีโก เป็นอาคารที่สร้างอย่างน่าภูมิฐาน เพื่อใช้เป็นที่พักและที่ทำงานบริหารพระศาสนจักรคาทอลิกในประเทศสยามและใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
พระสังฆราชปัลเลอกัวซ์ได้ขอใหคุณพ่อฟรังซัวส์ อับบรังด์ ส่งสิ่งของต่างๆ จากกรุงปารีส เพื่อนำมาประัดับตกแต่งอาคารนี้ ได้แก่ เครื่องวัดความกดอากาศแบบแขวน เครื่องวัดอุณหภูมิ นาฬิกาแขวน ที่มีรูปสวยงามสีทองแดง ภาพวาดทิวทัศน์กรุงปารีส ภาพมหาวิหารนักบุญเปโตรที่กรุงโรมและภาพต่างๆ ที่เกี่ยวกับศาสนา รวมทั้งภาพอัตถ์ลึกซึ้ง ท่านต้องการนำสิ่งเหล่านี้มาประดับตกแต่งห้องรับแขกของสำนักพระสังฆราชแห่งนี้ เพราะมีพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางผู้ัใหญ่มาเยี่ยมมิได้ขาด
สำนักพระสังฆราชแห่งนี้ใช้มาช้านานจนถึง พ.ศ. 2476/ค.ศ. 1933 จึงย้ายไปสร้างสำนักพระสังฆราชหลังใหม่ (หลังปัจจุบัน) ส่วนอาคารหลังนี้ใช้เป็นที่พักพระสงฆ์ และได้บูรณะซ่อมแซมเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้
ปัจจุบันอาคารหลังนี้ใช้เป็นโรงพิมพ์ของมิสซัง (โรงพิมพ์อัสสัมชัญ) ซึ่งเป็นโรงพิมพ์แห่งแรก
เพราะเช่นนั้นท่านขอพึ่งคริสตังทั้งหลาย ขอบรรดาที่ใจบุญใจศรัทธา ให้บริจาคทรัพย์ออกเงินช่วยอุดหนุนการซึ่งเป็นการดีการอันแอกนี้ คือ ให้บอกประกาศความจริงความชอบด้วยทางหนังสือพิมพ์ เป็นการเปรียบเหมือนผ่านปากจะร้องสรรเสริญทั่วไปคราวเดียวกันและให้พี่น้องทั้งหลายเลิกทิ้งหนังสือชั่วน่าอาย ซึ่งเป็นความประดิษฐ์ของผีปีศาจนั้นแล
หลักฐานต่างๆ คงจะหายไปพร้อมกับตอนที่พม่าทำลายกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองใน ค.ศ.1767 (พ.ศ.2310)
มีหลักฐานประกฎอีกครั้งหนึ่งตามที่คุณพ่ออ.โลเนย์ ซึ่งเป็นผู้รักษาเอกสารศูนย์กลางของคณะที่ปารีสได้กล่าวถึงพระสังฆราชการ์โนลต์ (Mgr.Garnault) ได้เล่าเกี่ยวกับโรงพิมพ์ของมิสซังสยาม “ขณะที่พักอยู่ที่ปอนดิเชอรี อินเดีย เพื่อรอรับการอภิเษกเป็นพระสังฆราชประมุขของมิสซังสยาม ในค.ศ.1787 นั้น (พ.ศ.2330) พระสังฆราชการ์โนลต์ได้ขอรับเครื่องพิมพ์ซึ่งมิสซังโคชินไชน่าสั่งสำหรับพิมพ์ภาษาญวนแต่เนื่องจากมีการเบียดเบียนศาสนาที่ประเทศญวนเวลานั้นจะเอาเครื่องพิมพ์นี้เข้าไปก็ไม่ได้เขาจึงทิ้งไว้ที่ปอนดิเชอรี
เครื่องพิมพ์ดังกล่าวใช้ตัวอักษรลาติน ส่วนสาระต่างๆ ก็ผ่านด้วยวรรณยุกต์ ช่วยให้ออกเสียงเหมือนภาษาพูด” การทำงานของมิชชันนารีในสมัยนั้น จะนำเอาวิทยาการใหม่ๆ มาช่วยมิสซังต่างๆ ก็มีโรงพิมพ์เป็นของตน อย่างไรก็ตามโครงการของคุณพ่อลังคลัวก็มิได้ประสบผลสำเร็จในสยาม เพราะมิได้ ปรากฏหลักฐานอื่นหรือหนังสือใดๆ ที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นเลย (ความคิดเกี่ยวกับโรงพิมพ์ในสยามเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อคณะทูตไทยนำโดยออกพระวิสูตรสุนทร (โกษาปาน) เดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ที่ประเทศฝรั่งเศส และมีโอกาสเยี่ยมชมโรงพิมพ์ประเทศฝรั่งเศส)
ล่วงเลยมาจนถึงสมัยของพระสังฆราชการ์โนลต์ (Mgr.Garnault) ประมุขมิสซังสยามระหว่าง ค.ศ.1786-1811 ซึ่งเป็นผู้สนใจการพิมพ์เป็นอย่างมาก จากจดหมายหลายฉบับของท่านเราทราบว่าท่านได้นำเอาเครื่องพิมพ์เล็กๆ ติดตัวไปด้วยเสมอ และจัดพิมพ์หนังสือคำสอนคริสตังเป็นอักษรลาตินใน ค.ศ.1788 เป็นเล่มแรก แต่เวลานั้นท่านยังมิได้ลงหลักปักฐานที่สยาม จนกระทั่งปลาย ค.ศ.1795 พระสังฆราชการ์โนลต์ มาประจำที่วัดซางตาครู้ส และได้จัดตั้งโรงพิมพ์แห่งแรกในสยาม
พระสังฆราชการ์โนลต์จึงจัดพิมพ์คำสอนคริสตังอักษรลาตินใน ค.ศ.1788 ขึ้นเป็นเล่มแรก ท่านยังฝึกอีกสองสามคนให้ชำนาญในการเรียงตัวอักษรลาตินแล้วท่านเขียนจดหมายถึงผู้ใหญ่ที่ศูนย์ของคณะที่ปารีส ขอให้ส่งอุปกรณ์ที่จำเป็นในการขยายโรงพิมพ์ของท่าน
ปี ค.ศ.1792 ท่านตั้งโรงพิมพ์ที่ปีนัง ต่อจากนั้นท่านก็ค่อยๆ เข้ามาใกล้ประเทศสยาม คอยดูเหตุการณ์และปฏิกิริยาของคริสตังโปรตุเกส ที่วัดซางตาครู้ส (กุฏิจีน) ตอนแรกท่านก็พักอยู่ที่ปีนังขยายไปถึงยงเซลัง (ภูเก็ต) จากภูเก็ต ท่านก็เดินทางไปเยี่ยมคริสตังที่ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า โดยย้ายโรงพิมพ์เล็กของท่านไปด้วยเสมอ ที่สุดปลาย ค.ศ.1795 (พ.ศ.2338) ท่านก็ได้มาอยู่ที่วัดซางตาครู้ส (กุฏิจีน) ตั้งโรงพิมพ์โรงแรกของกรุงสยาม (A.LAUNAY,Histoire de la Mission de siam,paris 1920, p 173)
มีจดหมายหลาย ฉบับของพระสังฆราชการ์โนลต์เอง ที่เขียนถึงผู้ใหญ่ของคณะที่ปารีสพูดโรงพิมพ์ของท่านดังนี้
ที่ปอนดิเชอรี (อินเดีย) วันที่13 มีนาคม ค.ศ.1787 ท่านเขียนถึงคุณพ่อแดกูร์วิแอร์ มีใจความว่าดังนี้
“ข้าพเจ้าขอความกรุณาจากคุณพ่อช่วยจัดหาตัวอักษรสำหรับโรงพิมพ์ของข้าพเจ้า จะมีประโยชน์มากมาย ยิ่งกว่าที่คุณพ่อจะคิดคะเนได้ ข้าพเจ้าไม่อาจจะเขียนสำเนาให้พอเพียง หรือแก่สำนวนที่ให้คนอื่นเขียนไปพร้อมกับตัวหนังสือจะขอส่งอุปกรณ์ต่างๆ น้ำหมึกที่จำเป็นต้องใช้เพราะทางนี้หาไม่ได้แน่นอน”
ต่อมาท่านได้ย้ายโรงพิมพ์มาอยู่ที่ปีนัง และก็ได้เขียนจดหมายติดต่อกับทางคณะเพื่อขออุปกรณ์เกี่ยวกับโรงพิมพ์เพิ่มเติมขึ้นอีก
ที่ปีนัง วันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1788 ท่านได้เขียนถึงคุณพ่อบัวแรต์ มีใจความว่า “ที่ปอนดิเชอรี ข้าพเจ้าได้พิมพ์คำสอนเล่มเล็กและตำรา a-b-c เพื่อสามารถอ่านภาษาสยาม ซึ่งเขียนโดยอักษรฝรั่งเศสอย่างง่าย ข้าพเจ้าจะส่งไปให้ท่านหลายฉบับโดยทางมาเก๊า ...เมื่อสามเดือน ก่อนข้าพเจ้าได้ขอให้คุณพ่อได้ส่งตัวอักษร เพื่อการพิมพ์จะได้ดำเนินไปได้ มีงานพิมพ์มากมายเพื่อแจกจ่ายให้หลายๆ กลุ่มได้”
ที่ปีนัง วันที่ 12 มีนาคม ค.ศ.1789 ท่านได้เขียนถึงคุณพ่อบัวแรห์ มีใจความว่า “ข้าพเจ้าขอวิงวอนซ้ำอีกเกี่ยวกับโรงพิมพ์ ส่วนเครื่อง บีบ (presse) และเครื่องอุปกรณ์อื่นๆ พระสงฆ์ที่เป็นชาวสยามผู้จัดการโรงพิมพ์ ก็จะจัดทำที่นี่ได้ ข้าพเจ้าเคยให้ท่าน (คุณพ่อราฟาแอล) ดูและสังเกตทุกอย่างที่ปอนดิเชอรี ท่านสนใจมากในเรื่องนี้”
ใน ค.ศ.1794 ท่านได้ย้ายโรงพิมพ์มาอยู่ที่วัดซางตาครู้ส โดยย้ายมาจากปีนังได้นำตัวอักษรลาตินมาจากปอนดิเชอรีด้วย และใน ปี ค.ศ 1796 ท่านได้รับอุปกรณ์การพิมพ์ที่ส่งไปจากฝรั่งเศสและต่อมาใน ปี ค.ศ. 1798 ท่านได้มีจดหมายสั่งตัวพิมพ์เพิ่มเติมมากขึ้น
เราได้พบหนังสือ KHAM SON KHRISTAN (คำสอนคฤศตัง) ซึ่งได้ระบุสถานที่พิมพ์ “ในวัดซางตาครุ้ส บางกอก ศักราชแต่ไถ่ชาติมนุษย์ 1796 ปี”
พิมพ์เป็นภาษาไทยด้วยอักษรโรมัน พร้อมทั้งมีเครื่องหมายออกเสียงสูงต่ำด้วย เช่น เอก โท ฯลฯ ใช้กระดาษหยาบและตัวพิมพ์ไม่คอยชัดนัก แต่ก็สามารถอ่านออกมีทั้งหมด 64 หน้าในส่วนโรงพิมพ์แห่งแรกของมิสซังสยามได้ถูกตั้งขึ้นที่โบสถ์ซางตาครู้สใน ค.ศ.1795 ตรง กับสมัยพระสังฆราชการ์โนต์ (Garnault) โดยหนังสือเล่มแรกที่ได้รับการพิมพ์จากโรงพิมพ์ดังกล่าวคือ คำสอนคริสตัง ภาคต้น พิมพ์เป็นภาษาวัด ระบุสถานที่และปีที่พิมพ์ว่า “ในวัดซางตาครู้ส ณ บางกอก ศักราชแต่ไถ่ชาติมนุษย์ 1796 ปี” เนื้อหาของหนังสือเล่มดังกล่าว เป็นการ อธิบายถึงเรื่องเกี่ยวกับศาสนา ใช้การอธิบายแบบถามตอบ สำหรับเป็นคู่มือการศาสนาหนังสือคำสอนคริสตังเล่มนี้ เป็นหนังสือเล่มแรกที่พิมพ์ขึ้น จากโรงพิมพ์ที่วัดซางตาครู้สใน ค.ศ.1796 นับเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลและน่าภาคภูมิใจที่พระสังฆราชการ์โนลต์ จัดพิมพ์หนังสือเล่มแ รกเป็นหนังสือคำสอนคริสตังเหมือนดังที่ท่านเคยทำในปี ค.ศ.1788 ตามที่กล่าวมาแล้ว เป็นไปได้เหมือนกันที่พระสังฆราชการ์โนลต์อาจจะจั ดพิมพ์หนังสือเล่มอื่นก่อนหน้านี้แล้ว เพราะเราพบหนังสือบางเล่มซึ่งสันนิษฐานจากลักษณะกระดาษ ตัวอักษรและการพิมพ์แล้ว น่าจะเป็นหนังสือที่พิมพ์ในสมัยเดียวกันแต่ก็ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์และสถานที่พิมพ์เหมือนที่ปรากฏอยู่ในหนังสือคำสอนคริสตังเล่มนี้ เราจึงเชื่อจากหลักฐานที่มีอยู่ว่า หนังสือคำสอนคริสตังเล่มนี้เป็นหนังสือเล่มแรกที่พิมพ์ขึ้นในสยาม
ลักษณะของหนังสือเล่มนี้ คือ เป็นหนังสือที่พิมพ์ด้วยภาษาวัด (Romanized Language) คือใช้อักษรโรมันสะกดเป็นคำอ่านในภาษาไทย มีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 64 หน้า ข้อความประโยชน์สุดท้ายของหน้า 64 นี้คือ “ให้เขา” เป็นข้อความที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเพิ่งเริ่มต้นประโยค หนังสือเล่มนี้จึงยังไม่สมบูรณ์ จะต้องมีหน้าต่อไป อีกประการหนึ่ง หน้าแรกของหนังสือนี้เขียนไว้ว่า “ภาคต้น” และมี “บทต้น”, “บทสอง”และ “บทสาม” อันแสดงว่าในภาคต้นนี้มีเพียง 3 บทหรือมากกว่านั้น และอาจจะมีภาคสองและภาคสามด้วย แต่เราไม่พบส่วนอื่นๆ ของหนังสือตามที่สันนิษฐานเลย
ที่น่าสังเกตอีกประการหนึ่งคือ เมื่อจบหน้า 24 แล้ว หน้าต่อไปเป็นหน้าที่ใช้เลขลาติน ได้แก่หน้า XXV ถึงหน้า L (ยี่สิบห้า ถึงห้าสิบ) และในระหว่างเลขเหล่านี้ก็ยังมีหน้าที่ XXXVII ถึงหน้า XXXVIII (สามสิบเจ็ดถึงสามสิบแปด) ขาดหายไปอีกด้วย หลังจากนั้นจึงตามมาด้วยหน้า 25-64 ดังกล่าว แต่เมื่อเราอ่านเนื้อความของทุกหน้าเหล่านี้แล้ว ปรากฏว่าเป็นข้อความที่ต่อเนื่องกัน และชื่อบทก็เป็นบทเดียวกัน นี้ย่อ มแสดงให้เห็นว่าเป็นการพิมพ์ในสมัยเดียวกัน ด้วยตัวอักษรและกระดาษอย่างเดียวกัน แต่เนื่องจากพิมพ์บางส่วนขาดหายไป จึงต้องพิมพ์ส่ว นที่ขาดขึ้นใหม่แล้วนำมาประกอบกันให้สมบูรณ์ เพื่อหลีกเลี่ยงเลขหน้าที่ซ้ำกันจึงต้องเอาเลขโรมันเข้ามาช่วยเพื่อให้เนื้อหาต่อเนื่องกันไป และในการพิมพ์ครั้งที่สองนี้ก็ยังมีข้อผิดพลาดในการเรียงเลขหน้าจึงไม่มีหน้า XXXVII และหน้า XXXVIII แต่เนื้อหาของหน้า XXXVI และหน้า XXXIX ก็ต่อเนื่องกัน เราจะพบว่าหน้า XXIX นั้น ก็พิมพ์ออกมาเป็นหน้า XIXX เป็นต้น อีกประการหนึ่งเนื้อหาของหน้าที่ L ก็ยังไม่จบข้อ ความแสดงว่าแม้แต่การพิมพ์ครั้งที่สองที่นำเข้ามาแทรกนี้ ก็ยังไม่สมบูรณ์หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนังสือที่มีค่าควรแก่เก็บรักษาไว้เป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้เห็นข้อผิดพลาดในการพิมพ์ และการเรียงพิมพ์ เป็นการศึกษาวัฒนาการในการพิมพ์ได้เป็นอย่างดี
หนังสือ “บทต้น กล่าวถึงพระคุณ อนิสงค์เป็นทางให้ขึ้นสวรรค์ได้” เป็นภาษาไทยเขียนด้วยอักษรโรมัน จำนวน 36 หน้า ข้อความหน้า สุดท้ายดูเหมือนยังไม่จบ อาจจะขาดหายไปเมื่อพิจารณาจากการพิมพ์กระดาษแล้วใกล้เคียงกันมาก การพิมพ์จะดูเปื้อนหมึกหรือสกปรกและ ตัวไม่สวยงามเท่ากัน หรือเป็นระเบียบเท่ากับคำสอนคริสตัง ไม่ได้ระบุว่าพิมพ์ ที่ไหน ปีอะไร ใครเป็นคนพิมพ์ จึงน่าจะพิมพ์ในระยะเวลาเดียวกัน
มีหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่ไม่ครบ รวมเล่มอยู่ในหนังสือคริสตัง โดยเริ่มหน้า 25 ถึง 50 เป็นเลขโรมันเขียนเป็นภาษาไทยอักษรโรมันเหมือนกัน เป็นภาษาโรมันรุ่นเดียวกัน ข้างบนด้านซ้ายเขียนว่า “บทสอนกล่าวด้วย” ส่วนด้านขวาเขียนว่า สมเข็ปถึงอัตถ์ข้อ ฯลฯ
จากหนังสือที่เป็นเอกสารสำคัญที่มีอยู่ในปัจจุบัน ก็ทำให้เห็นถึงการพิมพ์ในสมัยนั้นพอสมควร หากจะอ่านและศึกษาให้ลึกซึ่งกันต่อไป ก็คงจะได้ทราบความเป็นมาของการใช้ภาษาไทย สำนวน ฯลฯ ปัจจุบันหนังสือเหล่านี้เก็บรักษาไว้ในห้องเอกสาร ของอัครสังฆมณฑลกรุงเทพฯ
ยังมีเอกสารต่อมาที่ได้พูดถึงคือ พระสังฆราชการ์โนลต์ได้เขียนไว้ ที่บางกอก วันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ.1798 ท่านเขียนถึงคุณพ่อแดกูร์ วิแอร์ มีใจความว่า “ก่อนอื่นข้าพเจ้าขอขอบคุณท่าน ที่ได้กรุณาส่งโรงพิมพ์เล็กมาให้ ข้าพเจ้าได้รับไว้สองปีมาแล้ว ขอบพระคุณพระที่ได้ปก ป้องไว้มิให้ตกอยู่ในมือของพวกโจรสลัดดังคราวก่อน ซึ่งเกิดขึ้นถึงสามครั้ง ตั้งแต่ข้าพเจ้าได้มาอยู่ที่บางกอก”
“พอโรงพิมพ์มาถึงข้าพเจ้า ก็ได้พิมพ์ทันทีแต่ไม่ช้าก็ต้องหยุดชะงัก ตัวอักษรไม่พอเช่นตัว Hh และ a ซึ่งใช้กันมากในภาษาสยามในตอนแรกก็ได้สลักตัวอักษรเหล่านั้นเป็นไม้แทน ในภายหลังก็ได้ทำแม่พิมพ์เป็นดินหล่อตะกั่ว แต่มันช้ามาก เพราะจากแม่พิมพ์นั้นได้ตัวอัษรก็แต่ตัวเดียว ช่างเรียงขอให้ท่านกรุณาส่งตัวแม่พิมพ์มาอย่างน้อย 1แม่พิมพ์ต่อตัวอักษร 1 ตัว ขอกรุณาจัดส่งแม่พิมพ์สำหรับตัวสระผันด้ วยวรรณยุกต์ เช่น a a a e e e, ae oe และตัว u มี apostrophe ติดดังนี้ u เพื่อแทนเสียงสระ u ภาษาสยาม ซึ่งคล้ายกับเสียง u ฝรั่งเศส และต่างกับอีกเสียงหนึ่งคือ u ในภาษาโปรตุเกส....”
“ส่วนเรื่องที่ขอให้เราส่งหนังสือภาษาสยามมาให้พระคาร์ดินัลบอร์จิอานั้นเรายังไม่อาจจะคัดลอกออกมาได้ เพราะสะอาดไม่พอเท่าที่ควร สำหรับพระคาร์ดินัลเราจะเริ่มส่งตัวอย่างใบพิมพ์ของเรามาก่อนสัก 1-2 ตัวอย่าง หากว่าพระคาร์ดินัลยอมรับแต่ปีหน้าเราคงจะส่งหนังสือของเราที่เป็นอักษรสยามบนกระดาษสยาม ตามรูปแบบที่สะอาดมาได้”
จากหลักฐานทางฝ่ายคริสเตียน (โปรเตสแตนต์) ระบุว่านางจัดสัน มิชชันนารีชาวอเมริกัน ได้ทำการพิมพ์ด้วยตัวอักษรไทยขณะที่ยังอยู่ ในประเทศพม่า โดยให้คนไทยที่โดนกวาดต้อนไปเป็นเชลยลายมือสวยๆ เขียนเป็นแบบให้ใน ค.ศ.1817 (พ.ศ.2360) และต่อมาได้ทำการพิมพ์ตัวอักษรไทยในเมืองไทยเราได้สำเร็จในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.1836
จากจดหมายของพระสังฆราชการ์โนลต์ ที่เขียนถึงคุณพ่อแดกูร์วิแอร์ ทำให้เราสันนิฐานได้ว่า ได้มีการพิมพ์หนังสือเป็นภาษาไทยขึ้นแล้วตั้งแต่ ค.ศ.1798
โรงพิมพ์ได้ตั้งอยู่ที่วัดซางตาครู้ส (กุฏีจีน) ตั้งแต่ ค.ศ.1795-1837 รวมเวลาทั้งหมด 42 ปี มาในสมัยพระสังฆราชฟลอรังล์ ค.ศ. 1820ได้จัดซื่อที่ดินซึ่งเป็นของวัดอัสสัมชัญในปัจจุบัน อยู่ระหว่างที่บ้านเณรอัสสัมชัญและแม่น้ำเจ้าพระยา ท่านได้สร้างอาสนวิหารหลังแรก ขึ้น บ้านพักพระสังฆราชติดกับบ้านเณรในเขตโรงเรียนอัสสัมชัญในปัจจุบัน ตั้งแต่นั้นมาวัดอัสสัมชัญจึงเป็นที่พำนักของพระสังฆราชประมุขของมิสซัง ใน ค.ศ.1834 พระสังฆราชฟลอรังล์มรณภาพแล้วพระสังฆราชกูรเวอชีรับหน้าที่แทน
ใน ค.ศ.1837 พระสังฆราชกูรเวอชี ได้ย้ายโรงพิมพ์มาอยู่ในเขตวัดอัสสัมชัญ และ ค.ศ.1838 ได้แต่งตั้งให้คุณพ่อเกลมังโซ จากวัดจันทบุรี มารับหน้าที่เป็นเหรัญญิกและดูแลโรงพิมพ์ด้วยดังนั้นโรงพิมพ์ของมิสซังโรมันคาทอลิก จึงสามารถพิมพ์หนังสือเป็นอักษรไทย ญวณ และฝรั่งคราวเดียวกัน คุณพ่อเกลมังโซ ยังสอนที่สามเณราลัยกับตั้งสำนักมิสซัง (procure) ขึ้นที่อัสสัมชัญใกล้อาสนวิหารหลังแรกด้วย
สมัยพระสังฆราชปัลเลอกัวส์ (Pallegoix) ค.ศ.1841-1862 (พ.ศ.2384-2405) ท่านเป็นนักบวช นักปราชญ์ ท่านได้ศึกษาภาษาบาลี อย่างลึกซึ่ง (กับเจ้าฟ้ามงกุฎ) ได้เขียนหนังสือไว้มากใน ค.ศ.1840 (พ.ศ.2383) ได้ปรับปรุงโรงพิมพ์และขยายโรงพิมพ์ ให้มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัยมากขึ้น มีแบบตัวอักษรที่ทันสมัยและใช้ได้หลายภาษา
ในช่วงนี้หมอบรัดเลย์ ได้ตั้งโรงพิมพ์ขึ้นใกล้วัดซางตาครู้ส ค.ศ. 1834 และวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ.1844 ได้ออกหนังสือ “บางกอกรีคอร์เดอร์” (Bangkok Recorder) ออกมาได้ประมาณปีกว่าก็หยุดไป มาเริ่มพิมพ์ใหม่อีกครั้ง ค.ศ. 1865 แต่สองปีต่อมาก็ต้องปิดลงในวันที่ 16 กุมภาพันธ์
ในค.ศ.1853-1855 พระสังฆราชปัลเลอกัวส์เดินทางไปประเทศฝรั่งเศส และได้พาเด็กไปด้วย 2 คน ชื่อยอแซฟ ชม และฟรังซิส แก้ว ในสมัยนั้นตรงกับจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 และที่กรุงโรม ตรงกับสมณสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 และการไปครั้งนี้ท่านได้มีเจตนาจัดพิมพ์หนังสือพจนานุกรมขนาดใหญ่ มีชื่อว่า “สัพะ พะจะนะ พาสาไท” ภายในเป็นภาษาไทย ลาติน ฝรั่งเศส อังกฤษประกอบด้วยคำประมาณ 30,000 คำ จำนวน 400 เล่ม และได้จัดพิมพ์หนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อ “Description du Royaume Thai ou siam” ปี ค.ศ.1854 แบ่งออกเป็น 2 เล่ม เล่มหนึ่งมี 484หน้า และเล่มที่ 2 มี 425 หน้าได้แปลเป็นภาษาไทยโดย สันต์ โกมลบุตร ชื่อว่า “เล่าเรื่องกรุง สยาม” ท่านได้เดินทางกลับสยามวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ.1855 (พ.ศ.2398) และ 4 ปีต่อมาท่านได้พิมพ์หนังสือเป็นภาษาลาติน ที่มีชื่อว่า (Statute missionis Siamensis) ว่าด้วยกฎบังคับของมิสซังไทย และกำหนดของพระสังฆราช จงถือตามนะทุกบ้านคฤศตังมิสซังไทย”
เราจะเห็นพัฒนาการในการใช้ภาษาไทยสมัยโบราณมากมายคำศัพท์ สำนวน บางคำเลิกใช้ไปแล้วอย่างเช่นคำว่า “ศักราชที่ไถ่ชาติมนุษย์ 1796 ปี” ปัจจุบันเราใช้คำว่า “คริสตศักราช” หรือ “ค.ศ.” เป็นต้นและแม้แต่การใช้อักษรโรมันสมัยแรกๆ ก็มีวรรณยุกต์ไม่ชัดเจนมีเพียง เสียงโทและจัตวา สมัยต่อมาได้มีการกำหนดเสียงวรรรณยุกต์ไว้ครบ ตั้งแต่เอก โท ตรี จัตวา เสียงสั้น เสียงยาว ฯลฯ การใช้สระ รัดกุมและอ่านง่ายมากขึ้น เมื่อเทียบกับสมัยพระสังฆราชปัลเลอกัวส์ ซึ่งได้จัดพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งใน ค.ศ.1854 (ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4) มีชื่อว่า “สัพะ พะจะนะ พาสาไท” เป็นพจนานุกรม 4 ภาษา คือไทย-ลาติน-ฝรั่งเศส-อังกฤษ เรียงคำตามตัวอักษรโรมันคือ A-B-C เริ่มต้น อ-บ-ซ
คุณค่าของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่การแสดงให้เห็นลักษณะของการพิมพ์หนังสือในสมัยก่อนพร้อมทั้งยืนยันได้ว่าเป็นหนังสือเล่มแรกที่พิมพ์ขึ้นในประเทศไทย แม้ว่าการพิมพ์ในเวลานั้นจะยังไม่สามารถใช้อักษรไทยได้ แต่ก็พิมพ์ออกมาเป็นภาษาไทย นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นด้วยว่าบรรดามิชชันนารีได้ใช้ความพยายามทุกอย่างรวมทั้งใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการสอนคนให้รู้จักพระเป็นเจ้า การสอนคำสอนในเวลานั้น ยังคงใช้ข้อคำสอน และวิธีการตามแบบอย่างของสังคายนาที่เมืองเตรนโต เป็นการถามและตอบ และการอธิบายที่แจ้งชัดเป็นข้อๆ เป็นเรื่องๆ ไปทำให้ผู้ที่สนใจศึกษาหนังสือเล่มนี้ได้ค้นพบวิวัฒนาการของการสอนคำสอนเป็นอย่างดี ภาษาที่ใช้ก็เป็นภาษาไทยในสมัยเก่าซึ่งมีความแตกต่างจากสมัยของเราเป็นประโยชน์สำหรับนักภาษาศาสตร์ที่ต้องการเรียนรู้วิวัฒนาการของภาษา
เป็นที่น่าสังเกตว่า การใช้ภาษาวัด (Romanized Siamese Language) ในเวลานั้น เพิ่งจะเป็นเวลาเริ่มต้นเท่านั้น จึงยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน เราจะพบว่ามีคำหลายคำที่ใช้ตัวสะกดคำต่างกัน เช่นคำว่า “คำ” บางครั้งใช้ว่า “Kham” บางครั้งก็ใช้ว่า “qham” เป็นต้น การใช้เครื่องหมายบอกระดับเสียงก็ยังไม่แน่นอน บางครั้งก็มีบางครั้งก็ไม่มี คำควบกล้ำจะออกเสียงทุกพยางค์เรื่องนี้เป็นเรื่องที่พอจะเข้าใจได้ เพราะเนื่องจากพระสังฆราชการ์โนลต์ในเวลานั้นเพิ่งเข้ามาอยู่ในสยามได้ไม่นานและภาษาวัดก็เพื่อถูกนำเข้ามาใช้ถึงกระนั้น หนังสือเล่มนี้ก็แสดงให้เห็นถึงการใช้ภาษาสำนวนภาษาที่คล้องจองนับเป็นความพยายามที่น่าชมเชยอย่างยิ่ง
ความเป็นมาในการค้นพบหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจเช่นเดียวกันในหนังสือ Histore de la Mission de Siam : Documents Historiques ซึ่งเขียนโดยคุณพ่ออาเดรียง โลเนย์ (Adrien LAUNAY) ใน ปี ค.ศ.1920 ได้กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ไว้ด้วย รวมทั้งบทควา มอีกหลายบทก็ได้พูดถึงหนังสือเล่มนี้ไว้เช่นเดียวกัน แต่ไม่มีใครเคยพบหนังสือเล่มนี้เลยในบทความของ Gersld Duverdier ได้กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ไว้อย่างละเอียด “หนังสือ สัพะ พะจะนะ พาสาไท” เล่มนี้ คุณพ่อแปร์รูดง และคุณพ่อโรอเชอโร ได้ทูลเกล้าถวายเป็นของขวัญถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวราชกาลที่ 9 และพระบรมราชินีนาถในงานพระบรมราชาภิเษกสมรส เมื่อวันที่28 เมษายน ค.ศ.1950 ในนามมิสซังกรุงเทพฯ ในสมัยพระสังฆราชปัลเลอกัวส์ นี้ ท่านได้พิมพ์หนังสือสำหรับคริสตังเป็นจำนวนมาก เช่นหนังสือเรียนสำหรับเด็ก โดย ภาคแรกเป็นคำสอนพระศาสนาคริสตัง ภาคที่สองเป็นตำราสอนวิชาเลขคณิต ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ หนังสือภาวนาเล่มหนา ซึ่งใช้มาจน ปี ค.ศ.1940 หนังสือรำพึงและประวัตินักบุญ หนังสือบทอ่านและพระวรสารของทุกวันอาทิตย์และวันฉลองตลอดปี, หนังสือกำหนด
ในระหว่าง ปี ค.ศ 1864-1866 คุณพ่ออันตน ชมิตต์ เดินทางมาจากฝรั่งเศสได้รับมอบหมายให้ดูแลโรงพิมพ์มิสซังสยาม
หนังสือที่พิมพ์ในสมัยนี้ยังมีหนังสือคำสอนสำหรับเด็กๆ หนังสือภาวนาหนังสือรำพึง ประวัตินักบุญพระมรคา พระประถมเดิม (ประวัติพระธรรมเก่า) โดย คุณพ่อกรางด์ ยัง (Grand jean) และปุจฉาวิสัชนา ด้วยข้อพระศาสนาเที่ยงแท้
สมัยพระสังฆราชหลุยส์ เวย์ (Mgr.Louis Vey) ท่านดำรงตำแหน่งนานถึง 34 ปี เริ่มรับหน้าที่ค.ศ.1875-1909 (พ.ศ.2418-2452) ได้จัดพิมพ์พจนานุกรมของพระสังฆราชปัลเลอกัวส์ขึ้นใหม่ โดยมีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงบ้างใน ค.ศ.1896 โดยตัดภาษาละตินออกโดยมีภาษาไทยและคำอ่านเป็นอักษรโรมัน ภาษาฝรั่งเศสและอังกฤษหน้าประมาณ 1,200 กว่าหน้า
อีกเล่มหนึ่งซึ่งเป็นพจนานุกรม ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทย “Dictionnaire FranCais Siamois” พร้อมทั้งมีคำอ่านเป็นอักษรโรมัน อ่านเป็นภาษาไทยด้วย หนาประมาณ 1,000 หน้า พิมพ์ใน ค.ศ.1903 ทั้งสองเล่มนี้พิมพ์ที่โรงพิมพ์
ในบันทึกประวัติของคุณพ่อโรมิเออ (P.Romieu) คุณพ่อได้รับหน้าที่เป็นเหรัญญิกของมิสซังและดูแลโรงพิมพ์อัสสัมชัญด้วย ตั้งแต่ ค.ศ.1888-1913 พระสังฆราชเวย์ได้สั่งซื้อแท่นพิมพ์ใหม่จากฝรั่งเศสและคุณพ่อได้คิดประดิษฐ์อักษรแบบใหม่ เรียกว่า ฝรั่งเศส (ฝศ.)
ต่อมาโรงพิมพ์ได้ถูกย้ายมาที่โบสถ์อัสสัมชัญ โดยพระสังฆราชคูรเวอซี (Courvezy) ในปี ค.ศ.1837/พ.ศ.2380 และในสมัยของพระสังฆราชที่สืบตำแหน่งต่อมา ก็ได้ใช้โรงพิมพ์แห่งนี้ เพื่อผลิตหนังสือสำหรับคริสตังในมิสซังสยาม ดังนั้น ในสมัยของพระสังฆราชเรอเน แปร์รอส ก็เช่นเดียวกัน การพิมพ์ก็ได้ถูกใช้เพื่อเป็นสื่อกลางระหว่างมิสซังและบรรดาคริสตัง
สมัยพระสังฆราชเรอเน แปร์รอส (Mgr.Rene Perros) ค.ศ.1909-1947 (พ.ศ.2453-2490) รวมเวลา 38 ปี ท่านเป็นผู้ที่สนใจการพิมพ์มาก ในค.ศ.1973 โรงพิมพ์อัสสัมชัญ ได้พิมพ์หนังสืออัสสัมชัญ การพิมพ์นิตยสารของคาทอลิกในมิสซังสยามปรากฏครั้งแรกใน ปี ค.ศ.1913/พ.ศ.2456 โดยตีพิมพ์จากโรงพิมพ์อัสสัมชัญภราดาฮีรารีอุส มารี ฟรังซัวส์ ตูเวอเนท์ (Hilarius marie francois thouvenet) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าภราดาฟ.ฮีแลร์ แห่งคณะเซนต์คาเบรียล เป็นบรรณาธิการได้ออกนิตยสารของโรงเรียนอัสสัมชัญใช้ชื่อว่า อัสสัมชัญโฆษสมัย หรือชื่อฝรั่งเศสว่า Echo de l’ Assomption เป็นวรสารราย 3 เดือน ตีพิมพ์บทความ 3 ภาษาได้แก่ ไทย อังกฤษและฝรั่งเศส วัตถุประสงค์ของการตีพิมพ์นิตยสารฉบับนี้คือ “มีประสงค์อยู่ก็แต่เพียงจะเอื้อเฟื้อการศึกษาวิชาความรู้ ความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ความยุติธรรม ความซื่อสัตย์ต่อพระศาสนา อ่อนน้อมสุภาพต่อกฎหมายบ้านเมือง และการระเบียบเรียบร้อยระหว่างสานุศิษย์สำนักนี้เท่านั้น”
นอกเหนือจากเรื่องของศาสนาแล้ว นิตยสารเล่มนี้ยังถือเป็นบทประพันธ์กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ ซึ่งภราดา ฟ.ฮีแลร์ ที่มีความแตกฉานด้านภาษาไทยอย่างยิ่ง แต่งขึ้นเป็นจำนวนมากด้วยความแตกฉานนี้เองทำให้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงโปรดให้ภราดา ฟ.อีแลร์ แปลเรื่องโกษาปานไปฝรั่งเศส ลงพิมพ์ในอัสสัมชัญอุโฆษสมัย เริ่มตั้งแต่ฉบับ ปี ค.ศ.1918 /พ.ศ.2461 ใช้ชื่อว่า “ทูตไทยไปเมืองฝรั่งเศส” ต่อมาภราดาไมเคิล (Michael) ได้ทำหน้าที่บรรณาธิการต่อจากภราดา ฟ.ฮีแลร์ และใน ปี ค.ศ. 1931 / พ.ศ.2474 พระสังฆราชแปร์รอส ได้รับช่วงต่อในการเป็นบรรณาธิการของนิตยสารอัสสัมชัญอุโฆษสมัย
นอกเหนือจากนิตยสารฉบับดังกล่าวแล้ว มิสซังยังได้ออกนิตยสารสำหรับมิชชันนารีฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1914 / พ.ศ. 2457 ใช้ชื่อว่า สงฆ์สัมพันธ์ หรือ trait d’ Union โดยมี บาทหลวงหลุยส์ โชแรง เป็นบรรณาธิการ จุดประสงค์ของวรสารฉบับนี้มีขึ้นเพื่อ “มุ่งรวมบรรดามิชชันนารี่ในกรุงสยาม ให้เป็นหนึ่งเดียวกันอย่างแน่นแฟ้น และเป็นสื่อให้ทราบถึงสาส์นของสันตะสำนัก พร้อมทั้งกฎข้อบังคับและพระราชบัญญัติที่ควรทราบ” เนื้อหาทั่วไปของนิตยสารสงฆ์สัมพันธ์ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับข่าวสารจากต่างประเทศ ข่าวทางราชการของสยาม ที่ได้ถูกแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส เพื่อให้บาทหลวงฝรั่งเศส ได้เข้าใจความเป็นไปในสังคมสยามและในพระศาสนจักร
1 มกราคม ค.ศ.1916 ได้ออกหนังสือ LE TRAIT D’ UNION (สงฆ์สัมพันธ์) ซึ่งพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสเล่าเรื่องราวต่างๆ ในระหว่าง พระสงฆ์ด้วยกัน และส่งไปยังพระสงฆ์ในคณะที่ต่างๆ ออกเป็นรายเดือน และปิดไปใน ค.ศ.1921 ต่อมาอีก 16 ปีก็ได้เริ่มพิมพ์ใหม่ คือ ค.ศ.1937 ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ต้องปิดลงฉบับสุดท้ายเดือนธันวาคม ค.ศ. 1941 ฉบับที่ 60 ต่อมาใน ปี ค.ศ.1952 ได้ออกหนังสือ “โอ เปย์ เตส์ ปาก็อต” (AU PAY DES PAGODES) จำนวน 20 หน้า รวมปกด้วยเป็น 24 หน้า โดยมีคุณพ่อบาร์บีเอร์ เป็นบรรณาธิการ และ ปี ค.ศ.1965 คุณพ่อเดินทางไปต่างประเทศ ก็เป็นอันสิ้นสุดลงในปีนั้นเอง
นอกเหนือจากนิตยสารสองฉบับที่กล่าวมาแล้ว พระสังฆราชแปร์รอส ยังได้เล็งถึงความสำคัญของสิ่งพิมพ์ที่มีอิทธิพลมากขึ้นในสังคมของคนไทยขณะนั้น ทำให้ท่านคิดว่าควรที่จะออกสิ่งพิมพ์ประเภทหนังสือนิตยสาร เพื่อทำการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคริสต์ศาสนา สำหรับคริสตัง เพราะเนื่องจากนิตยสาร อัสสัมชัญอุโฆษสมัย และ สงฆ์สัมพันธ์ เป็นนิตยสารเฉพาะกลุ่ม ดังนั้น ใน ปี ค.ศ.1917 / พ.ศ. 2460 พระสังฆราชแปร์รอส ได้สั่งให้โรงพิมพ์ของมิสซังสยามตีพิมพ์นิตยสาร สารสาส์นคฤศตัง ดังที่ปรากฏในรายงานประจำปี ปีค.ศ.1917 /พ.ศ.2460 ว่า
“ท่ามกลางแนวความคิดใหม่ๆ ที่แพร่หลายออกมาทางหนังสือพิมพ์นิตยสารทุกประเภทซึ่งปัจจุบันมีเต็มกรุงสยามไปทั่ว เราจึงต้องสอน พวกคริสตังของเรา ให้รู้เรื่องศาสนาของเราอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องแนะเยาวชน มีนิตยสารภาษาไทยฉบับหนึ่งออกมาเพื่อให้คริสตังมีหนังสือที่ดีอ่าน และเพื่อเผยแพร่ความจริงที่ซึมซาบในท่ามกลางคนต่างศาสนานิตยสาร สารสาสน์คฤศตัง มีกำหนดออกเป็นรายเดือน จำนวน 16 หน้า ราคา 2 บาทต่อปี ถ้ารับทางไปรษณีย์เพิ่มอีก 30 สตางค์ โดยมีพระสังฆราช แปร์รอส เป็นบรรณาธิการนิตยสาร แต่ไม่ปรากฏเอกสารยืนยันถึงจำนวนแน่ชัดที่ได้มีการตีพิมพ์แต่ละครั้ง ส่วนเนื้อหาของนิตยสาร เกี่ยวกับการอธิบายบทพระคัมภีร์ที่ใช้อ่านในโบสถ์แต่ละสัปดาห์ นิทานสินใจ บทความข่าวสารทั่วไปในมิสซัง ข่าวทางราชการและบทสวดภาวนาต่างๆ พิมพ์เป็นภาษาไทยและบางส่วนที่พิมพ์เป็นภาษาวัด โดยในฉบับแรก หัวเรื่องที่ปรากฏในนิตยสารมีดังนี้ บทพระเอวังเยลีโอ (บทพระเอวังเยลีโอในวันอาทิตย์ที่ต้นในวันอเวนโต) คำสอน (ปรนนิบัติพระพุทธะมารดา) เรื่องต่างๆ (สุภาษิตสอนคฤศตัง) เกษตรกรรม (ตำราลี้ยงไก่) คำกลอน (เรื่อง ตูไม่รู้จักเจ้า) ชื่อคน (อันตนวิ่นกี่ รับช่างทาสี แลตั้งบ้านต่างๆ) ภาวนา บทกลอน คำสอน อ่านเล่น เรื่องต่างๆ และราชการ ในกรณีของข่าวทางราชการทั้งหมดที่ปรากฏ จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับข้อประกาศทางราชการทั้งสิ้น เช่น ประกาศเสนาบดีกระทรวงนครบาล ห้ามไม่ให้เล่นการพนันบางอย่างที่เคยเล่นในโรงบ่อน พระราชบัญญัติการตรวจสอบบัญชีสัมมะโนครัว และการจดทะเบียนคนเกิดคนตาย ย้ายตำบลพุทธศักราช 2460”
ในช่วงปีแรกๆ ของนิตยสาร “สารสาส์นคฤศตัง” ได้ลงบทความเกี่ยวกับความรู้ต่างๆนอกเหนือจากความรู้ทางศาสนาเช่น ตำราเลี้ยงไก่ เป็นเรื่องที่แปลมาจากภาษาฝรั่งเศส เริ่มอธิบายตั้งแต่การเลี้ยงโดยทั่วไป จนถึงการรักษาโรคชนิดต่างๆ ซึ่งโรคเหล่านี้นั้นมีการระบุตัวยาที่ใช้ในการรักษา อีกทั้งแนะนำการรักษาเบื้องต้นเช่น ถ้าไก่เป็นโรครีดสีดวงก็ให้นำน้ำมันมะกอกพ่นเข้าไปทางทวารแล้วให้เศษขนมปังบดเป็นอาหาร หรือวิชาทำหนังฟอกหนัง และรักษาหนัง วิชาที่ได้ยกมากล่าวนี้ทำให้เข้าใจมิสซังสยามในขณะได้ว่าไม่เพียงแต่ต้องการที่จะสนับสนุนทางด้านความรู้ทางศาสนาแต่เพียงอย่างเดียว แต่ยังสนับสนุนความรู้ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์
ใน ปี ค.ศ. 1923 / พ.ศ. 2466 จากบทความของบรรณาธิการทำให้ทราบว่า สารสาส์น คฤศตัง ไม่ค่อยเป็นที่นิยมแพร่หลาย ทำให้ประสบปัญหาแทบจะปิดตัวลง เนื่องจากเป็นนิตยสารเฉพาะสำหรับคริสตังเท่านั้น มีเนื้อความแต่เรื่องเกี่ยวกับศาสนาทั้งสิ้น และไม่มีการนำเรื่อง ราวประโลมโลกมาลง เพราะขัดต่อศีลธรรมทางศาสนา จึงทำให้เป็นหนังสือซึ่งขัดต่อความนิยมของบุคคลบางจำพวกที่ไม่พอใจอ่าน แต่ในท้ายที่สุดก็สามารถตีพิมพ์ต่อไปได้ ใน ปี ค.ศ. 1925 / พ.ศ. 2468 ได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนชื่อนิตยสารจาก สารสาส์นคฤศตัง เป็นสารสาสน์รวมระยะเวลาในการพิมพ์การสาส์นคฤศตัง เป็นเวลานาน 8 ปี โดยพระสังฆราชแปร์รอส ได้มอบหมายให้บาทหลวงวิกตอร์ วิวัฒน์ ธงชัย รับหน้าที่ดูแล สารสาสน์ หลังจากนั้นบาทหลวงเปโตร อัลฟองส์ตรี ทรงสัตย์ ก็ได้รับหน้าที่ระยะหนึ่งในการดูแลนิตยสารนี้ แต่เนื่องจากสุขภาพของบาทหลวงท่านดังกล่าวที่ไม่แข็งแรง ทำให้พระสังฆราชแปร์รอส มอบงานนี้ให้ ภราดามงฟอร์ต เดล โรซารีโอ (Montfort del Roserio) และภราดา ลูโดวีโก มารีอา (Ludovico Maria) แห่งคณะเซนต์คาเบรียลเป็นผู้ดูแล
เมื่อคณะบรรณาธิการได้เปลี่ยนชื่อ สารสาสน์คฤศตังเป็นสารสาสน์ นั้นได้ปรับปรุงหน้าปกจากกระดาษเนื้อหยาบธรรมดาเป็นกระดาษแข็ง และได้พิมพ์หน้าปกเป็นสีเพื่อให้เกิดความสวยงามมากขึ้น จากแต่ก่อนเคยพิมพ์ภาพโบสถ์อัสสัมชัญเป็นรูปหน้าปก ก็ได้เปลี่ยนเป็นรูปตามสถานการณ์ปัจจุบันหรือเนื้อข่าวแต่ละฉบับ และมีนายสวัสดิ์ ภูทัตโต ครูสอนวาดเขียนของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย เป็นผู้วาดภาพประกอบในนิตยสาร รวมทั้งเนื้อหาในนิตยสารก็เปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดยการเพิ่มเรื่องราวที่เกี่ยวกับเรื่องชวนหัวสนุกสนานแต่แฝง คำสอนทางศาสนาเข้าไป เพื่อให้ผู้อ่านเกิดสนใจอ่านมากขึ้น รวมถึงการเพิ่มจำนวนหน้าเพื่อรองรับกับเรื่องราวที่นำเสนอมากกว่าเดิม ใน ปี ค.ศ. 1926/พ.ศ.2469 พระสังฆราชแปร์รอสได้ออกจดหมายถึงบรรดาคริสตังในมิสซังสยาม เกี่ยวกับการอ่านหนังสือที่คริสตังควรอ่าน (หนังสือและนิตยสารที่คาทอลิกได้พิมพ์ออกมาเท่านั้น) เพราะในขณะนั้นการตีพิมพ์หนังสือออกมามากมาย และบางเล่มเป็นหนังสือที่ขัดกับศีลธรรมทางศาสนา ดังนั้นคริสตังควรอ่านแต่หนังสือที่ได้รับการรับรองจากพระสังฆราช และหนังสือที่แจ้งอยู่บานแผนกของปฏิทินคริสตัง อีกทั้งขอให้คริสตังส่งเสริมนิตยสารสารสาสน์ให้มีความเจริญทันสมัยขึ้น
วันที่ 7 มกราคม ค.ศ.1917 พระสังฆราชแปร์รอสได้ออกนิตยสารคาทอลิก ชื่อว่า “สารสาสน์คฤศตัง” ท่านเป็นเจ้าของบรรรณาธิการและผู้พิมพ์ผู้โฆษณาเอง โดยมีขนาดเท่ากับกระดาษโรเนียวพับครึ่ง จำนวน 32 หน้า เป็นภาษาไทยพิมพ์ด้วยอักษรไทยและอักษรโรมัน ออกรายเดือน และเลขหน้าต่อเนื่องกันไป ถือว่าเป็นหนังสือสำหรับคริสตชนไทยเล่มแรกที่เป็นทางการของพระศาสนจักร
ข้อความประกาศจากเล่มที่ 2 บางตอนกล่าวว่า “สารสาสน์คฤศตัง” นี้จะออกรายเดือน รวมปีหนึ่ง 12 ฉบับ เมื่อจะรับจากคุณพ่อเจ้าวัด ก็ให้เสียค่าบำรุงปีละ 2 บาท ถ้าอยากจะรับทางไปรษณีย์ต้องเพิ่มเติมคำสั่งไปรษณีย์อีก 30 สตางค์ รวมเป็น 2 บาท 30 สตางค์ ผู้ใดปรารถนา จะรับก็ขอบอกชื่อและส่งเงินค่าบำรุงให้แก่คุณพ่อเจ้าวัดของตน หรือจะส่งโดยทางไปรษณีย์ก็ได้ แต่ขอให้จ่ายหน้าซองมายังคณะโรงพิมพ์มิ สซังโรมันคาทอลิกอัสสัมชัญ บางรัก กรุงเทพฯ (ข้อความนี้เขียนด้วยอักษรโรมันเขียนคำอ่านเป็นภาษาไทยปัจจุบัน)
ใน ปี ค.ศ. 1938/พ.ศ. 2481 สารสาสน์ ได้เปลี่ยนรูปเล่มให้ใหญ่ขึ้นเป็นขนาด 8 หน้ายก จำนวน 64 หน้า และออกเป็นภาษาอังกฤษ ด้วย จำนวน 8 หน้า อัตราค่าสมาชิกต้องเพิ่มจากภาษาไทยปีละ 2.00 บาท เป็น 2.50 บาท ถ้ารับทางไปรษณีย์ก็เสียค่าแสตมป์อีก ในประเทศ 50 สตางค์ ต่างประเทศ 75 สตางค์ มีเนื้อที่หน้าโฆษณามากขึ้น และเป็นใบแทรกกระดาษสีบางๆ บางฉบับมี 18 หน้าและมีภาพประกอบมากขึ้น จากที่กล่าวมา การพิมพ์นิตยสารของมิสซังสยาม แสดงถึงความก้าวหน้าของมิสซังสยามในความพยายามที่จะใช้การพิมพ์เพื่อเป็นเครื่องมือในการเผยแผ่ศาสนา แม้ว่าจะจำกัดอยู่ในกลุ่มของคริสตังก็ตาม และไม่เพียงแต่นิตยสารเท่านั้น ที่มิสซังสยามได้ผลิตออกมา แต่ยังมี หนังสืออีกจำนวนหนึ่งที่โรงพิมพ์อัสสัมชัญได้ตีพิมพ์ขึ้น สำหรับใช้ในมิสซังสยาม ช่วงสมัยพระสังฆราชแปร์รอส ซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับต่อไป
นอกจากนิตยสารที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว ยังมีหนังสือซึ่งเป็นสิ่งพิมพ์ที่มิสซังสยามใช้ในการอบรมสั่งสอนบรรดาคริสตัง รวมถึงเป็นเครื่องมือใช้ในการเผยแผ่ศาสนากับคนทั่วไป โดยหนังสือทั้งหมดที่ถูกตีพิมพ์ออกมาในสมัยของพระสังฆราชแปร์รอสนั้น ไม่มีที่เอกสารระบุจำนวนแน่ชัดว่ามีทั้งสิ้นกี่เล่ม แต่มีรายชื่อของหนังสือบางเล่มที่ถูกตีพิมพ์ระหว่าง ปี ค.ศ.1910-1917/พ.ศ. 2453-2460 ซึ่งมีจำนวนทั้งสิ้น 14 เล่ม แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ หนังสือเกี่ยวกับคริสต์ศาสนา และหนังสือแบบเรียน ปรากฏว่าในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการพิมพ์พระคัมภีร์อย่างย่อเป็นภาษาไทยใช้ชื่อว่าพงศาวดารประถมเดิมพรรณนากล่าวตั้งแต่สร้างโลกลงมาจนถึงวันบังเกิดแห่งพระมหาเยซูคฤศโตเจ้า และพระนิทานแห่งพระมหาเยซูคฤศโตเจ้าล้วนแต่ตามพระเอวังเยลีโอทั้งสิ้น นอกนั้นหนังสือที่เกี่ยวกับคริสต์ศาสนาจะเป็นหนังสือสวดภาวนาและหนังสือ สำหรับเรียนคำสอนทั้งสิ้น ส่วนหนังสือเรียนมี 2 เล่มคือ ดรุณศึกษาและ Class-Work in English for the Use of Siamese Students.
ในเรื่องของการแปลพระคัมภีร์ในมิสซังสยาม บทพระคัมภีร์ได้เคยมีการแปลมาแล้วแต่เป็นเพียงฉบับสั้นๆ เท่านั้นในสมัยพระสังฆราชหลุยส์ ลาโน ทั้งยังใช้การแปลพระคัมภีร์เป็นภาษาบาลี เนื่องจากได้มีการคัดลอกข้อความพระคัมภีร์ที่เขียนเป็นภาษาบาลีนี้ เก็บไว้ในเอกสารสมัยพระสังฆราชแปร์รอส และได้แปลไว้ โดยแปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทย พระคัมภีร์ดังกล่าวมีชื่อว่า “คัมภีร์พระพุทธเยซูคฤศโตศาสนาฯ” ดังตัวอย่างนี้
“ภวันตา ภวันตา เอกโกพุทธเยกริสสตโร มาหาการุณิโกโหติ โสสัพเพสัง มนุสสานัง สรโณโหติ โสโลกัสสา โลโกโหติ โสเอกโกชิวิตนิโก มนุสสานัง ชิวิตังเทติโยโย พุทธเยซุกริสสตวังนสัญชาเนติ โสโสอันธกาโร มัคคมัชเณวาว สันโต ติฏชุติ ตุมเหพุทธบุตตัง ปวิสสาหิ เตสังสัทธหิตถถ โสปมตุมหากัง”
“ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย พระพุทธเยซูคฤศโตองค์เดียว มีพระกรุณามาก พระองค์เป็นที่พึงของมนุษย์ทั้งหลาย พระองค์เป็นแสงสว่างของโลกพระองค์เดียวเป็นผู้ให้ชีวิต มนุษย์ทั้งหลาย บุคคลใดย่อมไม่รู้จักพระพุทธเยซูคฤศโต บุคคลนั้นเป็นคนมืดยืนอยู่ในกลางทาง ท่านทั้งหลายจงนับถือพระพุทธบุตร แล้วจงเชื่อซึ่งถ้อยคำเหล่านั้นของพระองค์เถิด”
จากความพยายามในการใช้ภาษาบาลีเพื่อแปลพระคัมภีร์ของมิสซังสยาม ทำให้สมัยของพระสังฆราชแปร์รอสจึงได้มีการพิมพ์พระคัมภีร์เป็นภาษาไทย แม้ว่าจะเป็นการแปลเพียงฉบับย่อและเนื้อความก็เป็นแบบสรุปรวม ไม่ได้แปลตรง และแม้แต่ในนิตยสาร สารสาสน์คฤศ ตัง และสารสาสน์ ก็ยังได้นำข้อความในพระคัมภีร์มาลงในทุกฉบับ เพื่อให้คริสตังได้อ่าน ถือว่าเป็นพัฒนาการอย่างหนึ่งของมิสซังสยาม และ หยุดพิมพ์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังสงครามก็เปิดขึ้นมาใหม่ชื่อโรงพิมพ์อัสสัมชัญปรากฏในหนังสือครั้งแรกใน ค.ศ. 1923 ในหนังสืออัสสัมชัญอุโฆษสมัย และมีพระสังฆราชเรอเน แปร์รอส เป็นบรรณาธิการ
ข้อสังเกตอย่างหนึ่งคือระหว่าง ค.ศ.1938-1942 สารสาสน์ที่มีอยู่นั้นพิมพ์ด้วยกระดาษที่ดูไม่ค่อยสะอาดเท่าไหร่ คงเป็นเพราะอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำมาก
สมัยพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง (Mrg.Louis chorin) (ค.ศ.1913-1965) ท่านได้พยายามปรับปรุงโรงพิมพ์อัสสัมชัญให้ก้าวหน้า ได้สั่งตัวอักษรฝรั่งรูปแบบมากมายและตัวอักษรไทยสามารถพิมพ์หนังสือแบบไหนก็ได้
วันที่ 3 มกราคม ค.ศ.1953 พระสมณทูตยอห์น ดูลี่เดินทางมาประเทศไทย และท่านสนใจการพิมพ์มาก พระสังฆราชหลุยส์ โชแรงได้ นำท่านไปชม “โรงพิมพ์อัสสัมชัญ” ซึ่งตอนนั้นกำลังพิมพ์ตัวหนังสือสารสาสน์ฉบับวันที่ 1 มกราคม อยู่พอดี (สารสาสน์ที่ 1953 เล่ม 33 ฉบับ 3,1 กุมภาพันธ์)
คุณพ่าชาร์ลส์ บาบีแอร์ ได้เป็นผู้รับผิดชอบโรงพิมพ์ ตั้งแต่ ค.ศ.1956-1965 รวม 9 ปี มีนายการาเบียต (Garapiet) เป็นผู้จัดการ ในช่วงนี้ไม่มีการซื่อแท่นใหม่เพิ่มเติมแต่ได้มีการพิมพ์หนังสือคริสตังหลายเล่มเช่นหนังสือสารสาสน์ ชุดหนังสือของผู้หว่าน (พระสังฆราชยวง นิตโย) และหนังสือตำราของคุณพ่อลาร์เก กิจการโรงพิมพ์ก็ได้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น คุณภาพงานพิมพ์ของโรงพิมพ์เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าพิมพ์ได้ดีและสวยงามและได้มีการซื้อแท่นพิมพ์ใหม่มีพิธีเสกแท่นพิมพ์ใหม่ โดยมี พระสังฆราชหลุยส์ โชแรง เป็นประธาน
สมัยพระสังฆราชยวง นิตโย (ค.ศ.1963-1973) ระยะ 3 ปีแรก เป็นพระสังฆราชผู้ช่วยและเข้ารับหน้าที่ใน ค.ศ.1965 ท่านเองเป็นผู้สนใจในเรื่องการพิมพ์มาตั้งแต่ตอนเป็นเณรและเป็นพระสงฆ์ก็ได้เขียนแปลหนังสือไว้หลายเล่ม เคยได้รับมอบหมายให้ดูแลหนังสือสารสาสน์ด้วย
ต่อมา ในสมัยคุณพ่อแวร์นิแอร์ (Rev.G.Vernier) ค.ศ.1965-1986 (พ.ศ.2508-2529) เป็นเวลานานถึง 21 ปี คุณพ่อเป็นคนสนใจ การพิมพ์มาก ได้พยายามปรับปรุงการพิมพ์ให้ทันสมัยมากขึ้น โดยเฉพาะระบบการพิมพ์จากระบบเก่าตัวเรียง (Letter Press)มาเป็นระบบการพิมพ์สำเร็จออฟเซ็ท (offset) (ได้ย้ายโรงพิมพ์มาใช้ตึกที่สำนักพระสังฆราชหลังเก่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มากนัก)
โรงพิมพ์อัสสัมชัญได้เคยมีปัญหาอันเนื่องมาจากพิมพ์หนังสือ “ปุจฉาวิสัชนา” ได้ถูกสั่งปิดไประยะหนึ่ง
วันที่ 21 ตุลาคม ค.ศ.1970 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของคุณพ่อแวร์นิเอร์เอง ได้ย้ายโรงพิมพ์ซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียว ซึ่งตั้งอยู่บริเวณแนว หอระฆังและตัวอาคารเรียนเข้ามาใช้ที่ตึกพระสังฆราชเก่า โดยได้มีการปรับปรุงให้เรียบร้อยขึ้นเพื่อใช้เป็นโรงพิมพ์ชั่วคราวส่วนที่โรงพิมพ์ โรงเรียนอัสสัมชัญศึกษา ก็ได้ขยายโรงเรียนสร้างเป็นอาคารเรียน 4 ชั้น และทางวัดก็ได้สร้างหอระฆังของวัดดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แท่นพิมพ์ใหม่ระบบออฟเซ็ท
วันที่ 17 กันยายน ค.ศ.1970 คุณพ่อแวร์นิเอร์ ได้สั่งซื่อ “แท่นพิมพ์ระบบออฟเซ็ท” ราคา 202,960 บาท (สองแสนสองพันเก้าร้อยหกสิบบาท) และใน ค.ศ.1981 ก็ได้ซื่อแท่นพิมพ์ลูกผสมระบบออฟเซ็ท ราคา 1.2 ล้านบาทและมีการขายแท่นพิมพ์เก่าออกไปด้วย
ใน ค.ศ.1983 เป็นโอกาสฉลองคุณพ่อแวร์นิเอร์ มีอายุครบ 60 ปี ก็ได้มีพิธีเสกแท่นพิมพ์ใหม่ อีกสองเครื่องคือแท่นพิมพ์จีทีโอ และแท่นเหล็ก พร้อมเสกแท่นที่ซื้อมาก่อนอีกหนึ่งเครื่อง รวมเป็น 3 แท่น ในวันที่ 22 ตุลาคม โดยพระคาร์ดินัลไมเกิล มีชัย กิจบุญชู เป็นประธานพิธี
ใน ค.ศ.1986 ก็ได้ซื้อแท่นพิมพ์ใหม่อีกหนึ่งแท่น ราคาประมาณ 1 ล้านกว่าบาท ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายที่คุณพ่อได้ทำงานอยู่ที่โรงพิมพ์นี้
ใน ค.ศ.1987 โรงพิมพ์อัสสัมชัญได้รับพิมพ์งาน อุดมสาร ในเดือนพฤษภาคม และอุดมศานต์รายเดือน ซึ่งเป็นโอกาสฉลองปีแม่พระ พร้อมทั้งได้มีการปรับปรุงรูปเล่มขึ้นใหม่จากเย็บลวดกลางไสกาว และเพิ่มหน้าเป็น 84 หน้า แต่ก่อนนั้นได้ใช้โรงพิมพ์ข้างนอกทั่วไป เช่นโรงพิมพ์ดำรงธรรม ธีระการพิมพ์เป็นต้น
โรงพิมพ์ยังได้เปิดแผนกทำปกหนังสือขึ้น ซึ่งเข้าใจว่าคงจะมีมาก่อนสมัยคุณพ่อแวร์นิเอร์ โดยทำแบบอย่างที่ทำกันในต่างประเทศและสามารถทำได้ดี มีคุณภาพเป็นที่เชื่อถือและเลื่องลือทั่วไปในหมู่ผู้ที่รักหนังสือ โดยเฉพาะหนังสือเก่าๆ คุณพ่อได้ทุ่มเทให้กับโรงพิมพ์อย่างมาก จนทำให้สุขภาพในระยะหลังๆ ไม่ค่อยดีนักที่สุดต้องลาพักจากหน้าที่ เพื่อรักษาสุขภาพ ที่โรงพยาบาลเซนต์หลุยส์ และกลับไปพักรักษาตัวต่อ ที่ประเทศฝรั่งเศส ในปลาย ค.ศ.1986 นั้นเอง และสิ้นชีวิตที่ฝรั่งเศส วันที่ 19 กรกฎาคม ค.ศ.1989 อายุ 65 ปี
พระคาร์ดินัลไมเกิล มีชัย กิจบุญชู ได้แต่งตั้งคุณพ่อวรยุทธ กิจบำรุง มารับหน้าที่แทนในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1986 ได้ย้ายแผนกติดต่องานและบัญชี ซึ่งแต่เดิมอยู่ที่ตึกสำนักมิสซังกรุงเทพฯ มาอยู่บริเวณเดียวกัน ได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมบ้างเล็กน้อย (โดย นางพรรณทิพย์ วิลาวรรณ ซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานตั้งแต่สมัยคุณพ่อแวร์นิเอร์ เป็นเวลานานถึง 27 ปี)
ใน ค.ศ.1988 ได้ซื้อเครื่องพิมพ์คอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในโรงพิมพ์ในเรื่องของการทำต้นฉบับ จะได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
โรงพิมพ์อัสสัมชัญ นับว่าเป็นโรงพิมพ์ที่อยู่คู่กันมากับศาสนาคริสต์ (คาทอลิก) เพราะเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการสนับสนุนการแพร่ ธรรมของบรรดามิชชันนารีและงานพิมพ์ทั้งหลายที่ได้พิมพ์ก็เป็นหนังสือศาสนา พระคัมภีร์ บทสวด บทเพลง ฯลฯ เจ้าของคือมิสซังโรมันคาทอลิก
ใน ค.ศ. 1989 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารีฯ เสด็จงานฉลองโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ 84 ปี จึงได้ซ่อมแซมและทาสีอาคารด้านหน้าใหม่และได้นำหนังสือเก่าของโรงพิมพ์ไปร่วมแสดงนิทรรศการในงานด้วยและสมเด็จพระเทพฯทรงทอดพระเนตรด้วยความสนพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ถึงหนังสือเก่าและเอกสารสำคัญๆของมิสซังที่นำไปร่วมแสดงด้วย
ส่วนอาคารที่ใช้เป็นโรงพิมพ์อัสสัมชัญอยู่เวลานี้ต้องเรียกว่าชั่วคราวก็มีประวัติอันยาวนานที่น่าสนใจเหมือนกันหากมีโอกาสคงได้นำมาเล่ากันต่อไป
นับว่าบรรดามิชชันนารีตั้งแต่เริ่มแรก ได้เห็นความสำคัญของเครื่องมือสื่อมวลชน ซึ่งเป็นความเจริญก้าวหน้าเข้ามาใช้ในการประกาศพระสารอย่างจริงจัง
ค.ศ.1995 คุณพ่อสุพจน์ ฤกษ์สุจริต ได้รับแต่งตั้งมาเป็นผู้อำนวยการโรงพิมพ์อัสสัมชัญ จนถึงปัจจุบันได้มีการปรับปรุงขยายโรงพิมพ์และซื้อเครื่องพิมพ์ใหม่ๆ เช่น ค.ศ.2001 เครื่องตัด เครื่องพิมพ์แท่นตัดสอง เครื่องเข้าเล่ม เย็บเล่ม และค.ศ.2002 เครื่องพิมพ์สองสี เป็นต้น
บทสรุป
การพิมพ์ในประเทศไทยได้สันนิษฐานได้ว่า เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายมหาราช ใน “ประวัติศาสตร์มิสซังสยาม” ค.ศ.1662-1811 ได้พูดถึงคุณพ่อลาโนซึ่งได้เขียนอักษรไทยสมัยอยุธยา
จากจดหมายพ่อลังคลัวส์ถึงปารีส ท่านยังปรารถนาที่จะเขียนหนังสือต่อไป (ภาษาสยาม) และได้ขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับโรงพิมพ์
มิสซังโรมันคาทอลิกใน ค.ศ.1675 ได้พิมพ์เป็นหนังสือคำสอนแล้ว ต่อมาเมื่อกรุงเก่าได้เสียแก่พม่า ไม่ได้มีโรงพิมพ์จนถึงเวลาได้ตั้งกรุงเทพฯ ขึ้นใหม่
พระสังฆราชการ์โนลต์ ขณะอยู่ที่ปอนดิเชิอรี่ อินเดียได้ขอรับเครื่องพิมพ์ใช้ตัวอักษรลาติน ท่านได้เขียนจดหมายถึงคุณพ่อแดกุร์วิแอร์ ขออักษรและอุปกรณ์บางอย่างเกี่ยวกับเครื่องพิมพ์
ต่อมาท่านได้ย้ายโรงพิมพ์มาอยู่ที่ปีนัง ท่านได้เขียนจดหมายติดต่อขณะ ถึงคุณพ่อบัวแรต์ เพื่ออุปกรณ์ ใน ค.ศ.1794 ท่านได้ย้ายโรงพิมพ์มาที่วัดซางตาครู้ส ใน ค.ศ.ท่านได้รับอุปกรณ์การพิมพ์จากฝรั่งเศส ใน ค.ศ.1798 ท่านได้มีจดหมายสั่งตัวพิมพ์มาเพิ่มขึ้น และพบหนังสือ KHAM SON KHRISTAN (คำสอนคฤศตัง) ซึ่งได้ระบุสถานที่พิมพ์ “ในวัดซางตาครุ้ส บางกอก ศักราชแต่ไถ่ชาติมนุษย์ 1796 ปี” และ “บทต้น กล่าวถึงพระคุณ อนิสงค์ เป็นทางให้ขึ้นสวรรค์ได้” จากจดหมายถึงคุณพ่อแดกุร์วิแอร์ สันนิษฐานได้ว่าการพิมพ์ภาษาไทยขึ้นแล้ว ค.ศ.1798
โรงพิมพ์ได้ตั้งอยู่ที่ วัดซางตาครู้ส (กุฎีจิน) ตั้งแต่ ค.ศ.1795-1837 รวมเวลา 42 ปี มาสมัยพระสังฆราชฟลองรังล์ ค.ศ.1820 ได้ซื้อที่ดินซึ้งเป็นของวัดอัสสัมชัญปัจจุบัน
ใน ค.ศ. 1837 พระสังฆราชกูเวอซีย้ายโรงพิมพ์มาอยู่ในเขตวัดอัสสัมชัญ และใน ค.ศ.1838 ได้แต่งตั้งให้คุณพ่อเกลมังโซ รับหน้าที่เป็นเหรัญญิกดูแลโรงพิมพ์ด้วย
สมัยพระสังฆราชปัลเลอกัวส์ ใน ค.ศ.1841-1862 ได้เขียนหนังสือไว้มากใน ค.ศ.1840 ได้ปรับปรุงโรงพิมพ์และได้ขยายโรงพิมพ์ ได้มีเครื่องไม้เครื่องมือมากขึ้น มีแบบตัวอักษรที่ทันสมัยและใช้ได้หลายภาษา
ใน ค.ศ.1853-1855 ท่านปัลเลอกัวส์เดินทางไปประเทศฝรั่งเศสและที่กรุงโรมตรงกับสมัยสมเด็จพระสันตะปาปาปีโอที่ 9 การไปครั้งนี้ท่านได้มีเจตนาจัดพิมพ์พจนานุกรมขนาดใหญ่ มีชื่อว่า “สัพะ พะจะนะ พาสาไท” ภายในเป็นภาษาไทย ลาติน ฝรั่งเศส อังกฤษ และ จัดพิมพ์หนังสืออีกเล่มหนึ่งชือ “Description du Royaume thai ou Siam” ใน ค.ศ.1854 ได้แปลเป็นภาษาไทย โดยสันต์ ท โกมลบุตร ชื่อว่า “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ต่อมาท่านได้เดินทางกลับประเทศไทยใน ค.ศ.1855 และ 4 ปี ต่อมาท่านได้พิมพ์หนังสือภาษาลาตินที่มีชื่อว่า (Siamensis Statuta Missiouis) “ว่าด้วยกฎข้อบังคับมิสซังไทยและกำหนด”
ใน ค.ศ.1864-1866 คุณพ่ออันตน ชมิตต์ ได้รับมอบหมายให้ดูแลโรงพิมพ์อัสสัมชัญมิสซังฯ
สมัยพระสังฆราชหลุยส์ เวล์ ใน ค.ศ.1875-1909 ได้จับพิมพ์พจนานุกรมของท่านปัลเลอกัวส์ขึ้นใหม่โดยมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง บ้างใน ค.ศ.1896 โดยใช้ภาษาไทยและ คำอ่านเป็นภาษาโรมัน ภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษ หน้าประมาณ 1200 กว่าหน้า อีกเล่มหนึ่งเป็นพจนานุกรม ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาไทย “Dictionnaire Francais Siomois”
สมัยพระสังฆราชเรอเน แปร์รอส ใน ค.ศ.1909-1947 ใน ค.ศ.1913 โรงพิมพ์อัสสัมชัญได้พิมพ์หนังสือ “อัสสัมชัญอุโฆษสมัย” โดยบราเดอร์ ฟ.ฮีแลร์ เป็นอธิการสมัยนั้น เป็นภาษาไทย ฝรั่งเศส อังกฤษ
ค.ศ.1916 หนังสือ สงฆ์สัมพันธ์ “LE TRAIT D’ UNION”
ค.ศ.1952 หนังสือ “โอ เปย์ เดส์ ปาก๊อต” (AU PAYS DES PAGODES)
ค.ศ. 1917 นิตยสารคาทอลิก ชื่อว่า “สารสาสน์คฤศตัง”
ค.ศ.1913-1965 สมัยพระสังฆราชหลุยส์ โชแรง (Mrg.Louis Chorin)
ค.ศ. 1956-1965 คุณพ่อชาร์ลส์ บาบีแอร์ ผู้รับผิดชอบโรงพิมพ์
ค.ศ.1963-1973 สมัยพระสังฆราชยวง นิตโย
ค.ศ. 1965-1986 สมัยคุณพ่อแวร์นิเอร์ (Rev.G. Vernier)
บรรณานุกรม
1. เอกสาร พิมพ์ที่โรงพิมพ์อัสสัมชัญ กรุงเทพฯ 10500 ในพ.ศ. 2545 โดยบาทหลวงวรยุทธ กิจบำรุง ผู้พิมพ์ /เรียบเรียง และบาทหลวงสุพจน์ ฤกษ์สุจริต ผู้จัดการ และคุณพ่อวิกตอร์ ลาร์เก ผู้แปล
2. หนังสือคำสอนคริสตัง (ฉบับภาษาวัดและคำอ่าน) คุณพ่อสุรชัย ชุ่มศรีพันธ์ุ โอกาสครบ 200 ปี พิมพ์ที่โรงพิมพ์อัสสัมชัญ โดย บาทหลวงวรยุทธ กิจบำรุง ผู้พิมพ์ และบาทหลวงสุพจน์ ฤกษ์สุจริต ผู้จัดการ
3. นายพุฒิพงศ์ พุฒตาลศรี /การเผยแผ่คริสต์ศาสนาในสมัยพระสังฆราชเรอเน มารี ยอแซฟ แปร์รอส ค.ศ. 1909-1947/พ.ศ. 2452-2490 /วิทยานิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญา อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต