-
Category: พระราชประวัติรัชกาลที่ ๑ -๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
-
Published on Monday, 04 April 2016 02:56
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 36652
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
รัชกาลที่ 2
(พ.ศ. 2352-2367)
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2310 ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงดำรงตำแหน่งยกกระบัตรเมืิืองราชบุรี พระราชมารดามีพระนามเดิมว่า นาก ต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเฉลิมพระเกียรติยศขึ้นเป็นสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี
เมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี ในพุทธศักราช 2325 ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้า่ลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จทิวงคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพิธีอุปราชาภิเษกสถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่พระมหาอุปราช ทรงได้รับการอัญเชิญผ่านพิภพ ทรงครองสิริราชสมบัติเมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคตในวันที่ 7 กันยายน พุทธศักราช 2352 ขณะมีพระชนมพรรษา 42 พรรษา
การป้องกันพระราชอาณาจักรในรัชสมัย
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงมีประสบการณ์ในการรบมาแต่ยังทรงพระเยาว์ เพราะได้โดยเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถในงานศึกสงครามทุกครั้ง
เมื่อเสด็จครองสิริราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงเตรียมการรับศึกไว้ทุกด้านตามที่ทรงคาดการณ์ได้ด้้วยพระวิจารณญาณ เช่น ด้านพม่าทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เตรียมพร้อมรับทัพพม่าโดยไม่ประมาท ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระเจ้า้ลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ยกกำลังไปขัดตาทัพด้านเมืองกาญจนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2362 เป็นต้น
ทางด้านตะวันออก ซึ่งอาจมีปัญหากับญวนและเขมร ทรงใช้นโยบายประนีประนอมในระยะแรก ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้รักษาเมืองพระตะบอง เป็นฐานที่มั่น หากมีศึกสงครามกับญวน
นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เตรียมการรุกรานทางทะเล โดยสร้า้งเมืองหน้าด่านขึ้นที่ปากลัด พระราชทานนามว่า เมืองนคนรเขื่อนขันธ์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสริมสร้างเมืองสมุทรปราการที่ปากอ่าวไทย เป็นเมืองป้อมปราการรับข้าศึกที่อาจจะยกเข้ามาทางทะเล มิให้เข้าถึงพระนครได้โดยง่าย
การปรับปรุงบริหารราชการแผ่นดิน
การบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงแก้ไขปรับปรุงให้เป็นแบบแผน หลังจากบ้านเมืองเสียหายเมื่อครั้งเสียกรุงนั้น ในรัชกาลที่ 2 ได้ทรงรับพระราชภาระสืบสานต่อให้เป็นระเบียบ และเกิดความมั่นคงแก่บ้านเมืองสืบไป เช่น การบริหารราชการในส่วนกลาง ทรงพระราชดำริริเริ่มให้เจ้านายที่มีความรู้ความสามารถไปกำกับหน่วยราชการต่างพระเนตรพระกรรณ โดยทรงคัดเลือกบุคคลให้เหมาะสมกับภารกิจและหน้าที่ด้วยพระองค์เอง
การปกครองหัวเมือง โปรดให้ชำระทำเนียบข้าราชการในหัวเมือง โดยเฉพาะในหัวเมืองทางใต้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้มีเจ้าเมืองกรมการครบตามตำแหน่ง และทรงพระราชดำริให้หัวเมืองสำคัญมีหน้าที่ปกครองเมืองเล็กและให้มีการแยกการควบคุมที่ชัดเจน เช่น ให้ขึ้นกับนครศรีธรรมราชบ้าง ขึ้นกับสงขลาบ้าง และขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯบ้าง ทำให้บ้่านเมืองเจริญมั่นคง
นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองเชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน ขึ้นเป็นเมืองประเทศราชมีเจ้านายปกครองเช่นเดียวกับเมืองน่าน ทำให้เกิดความจงรักภักดี ไม่ฝักใฝ่กับพม่าเช่นแต่ก่อน
พระบรมราโชบายในการปกครองเช่นนี้ ทำให้บ้านเมืองเป็นระเบียบและเกิดความเจริญก้าวหน้าตลอดรัชสมัย
การค้าขายกับต่างประเทศ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระบรมราโชบายสนับสนุนการค้ากับต่างประเทศ มีชาวต่างชาติต่างภาษาเดินทางเข้ามาค้าขายในพระนคร ทั้งชาวจีน แขก และฝรั่งชาติตะวันตก มีชาติอังกฤษและโปรตุเกส ที่เริ่มเข้ามาขอแก้ไขระบบการค้า่กับไทย
ที่สำคัญคือการค้าของหลวง ซึ่งทรงส่งเสริมให้เจ้านายขุนนางส่งเรือไปค้้าขายต่างประเทศ การค้าในรัชสมัยนี้จึงมีความก้าวหน้าได้กำไรเป็นรายได้ของแผ่นดินเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงกำกับราชการกรมท่า ได้ทรงแต่งสำเภาหลวงออกไปค้ากับเมืองจีนด้วย
การค้าสำเภาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไปถึงเมืองท่าต่างๆได้แก่ กึงตั๋ง ไหหลำ ฮกเกี้ยน ปเตเวีย มะละกา เกาะหมาก สิงคโปร์ และเมืองญวน
เรือสำเภาของไทยที่ออกไปค้าขายนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีธงชาติประจำเรือ เช่นเดียวกับเรือของชาติอื่นๆลักษณะเป็นธงพื้นแดง มีรูปช้างสีขาวอยู่ในผืนธง เนื่องจากมีช้างเผือกมาสู่พระบารมีในรัชกาล 3 เชือก เรียกกันว่า ธงช้างเผือก
การทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทั้งด้วยการทรงบำเพ็ญพระองค์เป็นแบบอย่าง เช่น ทรงผนวชตั้งแต่เมื่อยังทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เมื่อเสด็จทรงครองราชสมบัติแล้ว พระราชานุกิจที่ทรงปฏิบัติเป็นประจำทุกเช้า คือ การถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ที่้เข้ามารับบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง และทรงสนทนาธรรมกับพระสงฆ์เป็นนิตย์
การบำรุงพระสงฆ์และการส่งเสริมให้ราษฎรได้เข้าใจหลักธรรมคำสอนได้ดีขึ้้น ได้ทรงพระราชดำริให้แก้ไขการศึกษาพระปริยัติธรรมจาก 3 ประโยค เพิ่มเป็น 9 ประโยค และทรงริเริ่มให้แปลบทสวดมนต์จากภาษาบาลีเป็นภาษาไทยโดยสวดเป็นทำนองเสนาะด้วย
ที่สำคัญยิ่ง คือ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ฟื้นฟูวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพิพาน ณ วันเพ็ญเดือนหก ขึ้นสิบห้าค่ำ เป็นวันพิธีวิสาขบูชา
ครั้งนั้นได้มีพระราชกำหนดให้พลเมืองทำวิสาขบูชา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรักษาอุโบสถศีล ปฏิบัติพระสงฆ์สามวัน ห้ามฆ่าสัตว์ และเสพสุราเมรัย และให้จัดประทีปโคมแขวนถวายเป็นเครื่องสักการบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นธรรมเนียมแบบแผนสืบมา
การทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นยุคที่ศิลปะแขนงต่างๆ ที่ร่วงโรยหายไปเมื่อครั้งเสียกรุงได้รับการฟื้นฟูขึ้นใหม่ให้กลับคืนสู่สภาพปกติ เป็นสิ่งแสดงความรุ่งเรืองของบ้านเมืองอีกครั้ง อาจจำแนกได้เป็น
งานสถาปัตยกรรม
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระบรมราโชบายส่งเสริมให้พระพุทธศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของราษฎร งานก่อสร้า้งในแผ่นดินจึงเป็นงานพุทธศิลป์ที่เป็นงานช่างฝีมือชั้นสูง เกิดเป็นสกุลช่างสมัยรัชกาลที่ 2 เช่น พระพุทธปรางค์ขนาดใหญ่ที่วัดอรุณราชวราราม พระสมุทรเจดีย์ ที่ปากน้ำเจ้าพระยา ซึ่งชนต่างชาติต่างภาษาที่เดินทางเข้ามาถึงพระราชอาณาจักร เกิดความประทับใจว่าแผ่นดินนี้เป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาช้านาน
งานสถาปัตยกรรมที่เลื่องลือว่าสวยงามมหัศจรรย์อย่างยิ่ง คือ พระราชดำริในการสร้างสวนขวา ในพระบรมมหาราชวัง เพื่อทะนุบำรุงฝีมือช่างให้ได้ไว้ฝีมือเป็นเกียรติยศในแผ่นดิน
งานประติมากรรม
ในรัชสมัยนี้มีงานช่างที่เป็นฝีพระหัตถ์ที่งดงามประณีตรู้จักกันแพร่หลายคือ งานแกะสลักไม้บานประตูพระวิหารวัดสุทัศนเทพวราราม
งานปั้นหุ่นพระพักตร์พระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม และหน้าหุ่นพระยารักใหญ่ พระยารักน้อย แกะด้วยไม้รัก ซึ่งกล่าวกันว่าทรงแกะด้วยฝีพระหัตถ์งามเป็นหนึ่ง
งานนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และวรรณกรรมศิลป์
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นยุคทองแห่งนาฏศิลป์ ดุริยางคศิลป์ และวรรณกรรมศิลป์ เพราะทรงเชี่ยวชาญในงานศิลปะทั้งสามแขนงเป็นอย่างยิ่ง เช่น ทรงพระราชนิพนธ์เพลงบุหลันลอยเลื่อน ซึ่งทรงจำได้ในพระสุบินขณะเสด็จบรรทม ณ ราตรีหนึ่ง เมื่อตื่นบรรทมทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พนักงานต่อเพลงนั้นไว้แล้ว ทรงเพลงนี้ด้วยซอคู่พระหัตถ์ คือ ซอสายฟ้าฟาด
ด้านวรรณศิลป์
นอกจากทรงทะนุบำรุงกวีในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ยังทรงเป็นกวีเอกดังมีบทพระราชนิพนธ์บทละครใน บทละครนอก ซึ่งทรงเลือกใช้ถ้อยคำและลีลาได้อย่างเหมาะสมสำหรับแสดงละคร พากย์โขน และอ่านเพื่อความไพเราะซาบซึ้งในอรรถรสด้วย
จากหนังสือเหนือเกล้าชาวไทย