รัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

 
 
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
รัชกาลที่ 7
(พ.ศ. 2468-2477)
 
 
ระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธที่ ๘ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๓๖ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ
 
เมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษา สมเด็จพระบรมชนกนาถทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เสด็จไปศึกษาวิชา ณ ประเทศอังกฤษ ทรงสำเร็จ การศึกษาจากวิทยาลัยอีตันแล้วทรงศึกษาต่อวิชาทหารในโรงเรียนนายร้อยทหารเมืองวูลิช (Royal Academy, Woolich)แผนกปืนใหญ่ม้า ทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๖
 
ในพุทธศักราช ๒๔๕๗ เสด็จฯกลับประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เข้ารับราชการตำแหน่งนายทหารคนสนิทของจอมพลสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมหลวงพิศณุโลกประชานาถ ได้รับพระราชทานเลื่อนขึ้นดำรงพระยศ และทรงดำรงตำแหน่งตามลำดับ จนถึงพระยศนายพันตรี ตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยชั้นประถมจนถึง พ.ศ. ๒๔๖๐ จึงทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตลาราชการเพื่อทรงผนวช เมื่อทรงลาผนวชแล้วทรงกลับเข้ารับราชการตามเดิม
 
และขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตอภิเษกสมรสกับหม่อมเจ้ารำไพพรรณี สวัสดิวัฒน์ (ภายหลังทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี) แล้วเสด็จฯ ไปทรงศึกษาวิชาทหารต่อในโรงเรียนเสนาธิการทหาร Ecole de Guerre ที่ประเทศฝรั่งเศส ทรงสำเร็จการศึกษา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ เสด็จฯกลับประเทศไทย โดยทรงแวะสหรัฐ อเมริกาและญี่ปุ่น เพื่อเป็นประโยชน์แก่การศึกษาเพิ่มเติม
 
เมื่อเสด็จฯ กลับถึงประเทศไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เ้ข้ารับราชการในตำแหน่งปลัดกรมเสนาธิการทหารบก เลื่อนพระยศขึ้นเป็น นายพันเอกทรงดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการกองพลทหารบกที่ ๒ และผู้บังคับการพิเศษกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๒ ตามลำดับ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ทรงดำรงตำแหน่งรัชทายาททรงปฏิบัติราชการแทนพระองค์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับนอกพระนคร
 
 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๗ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯสถาปนาหม่อมเจ้ารำไพพรรณี พระวรราชชายาขึ้นเป็นสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๖๘
 
การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในหัวเมือง
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎรเช่นเดียวกับที่สมเด็พระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าในอดีตทุกพระองค์ โดยเฉพาะการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรอย่างใกล้ชิดซึ่งริเริ่มมาแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้นมา
 
เสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ และเลียบมณฑลภูเก็ต เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ในพุทธศักราช ๒๔๖๘
 
ในปีถัดมาหลังจากการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จฯเลียบมณฑลฝ่าย เหนือและนครเชียงใหม่ โดยเสด็จพระราชดำเนินออกจากกรุงเทพฯในวันที่ ๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๖๙ โดยกระบวนรถไฟพระที่นั่งขึ้นไปถึงมณฑลพิษณุโลก ประทับแรม ๓ วัน แลัวเสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังเมืองแพร่ เมืองนครลำปางจากนครลำปางเปลี่ยน เป็นประทับรถยนต์พระที่นั่งต่อไปถึงจังหวัดเชียงราย เสด็จพระราชดำเนินกลับมายังนครลำปางประทับรถไฟพระที่นั่งถึงเมืองเชียงใหม่ ในวันที่ ๒๒ มกราคม
 
จากเมืองเชียงใหม่ เสด็จพระราชดำเนินไปยังนครลำพูนโดยรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับเมืองเชียงใหม่จนถึงวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ จึงเสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟพระที่นั่งกลับถึงกรุงเทพฯมหานคร ในวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๙ รวมเวลา เสด็จฯ เลียบมณฑลฝ่ายเหนือ ๑ เดือนเต็ม
 
พระราชกรณียกิจเมื่อเสด็จประพาสแต่ละท้องที่ คือ การเสด็จฯ ไปทรงสักการะปูชนียวัตถุ ปูชนียสถาน คู่บ้านคู่เมืองทอดพระเนตรสภาพบ้านเมือง การศึกษา อาชีพของราษฎร และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระแสงราชศัสตราประจำเมือง เมื่อแรกเสด็จถึงและยังไม่เคยได้รับพระราชทานตามราชประเพณี
 
ต่อมาในพุทธศักราช ๒๔๗๑ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี ไปทรงเยี่ยมราษฎรในมณฑลภูเก็ต ระหว่างวันที่ ๒๘ มกราคม - วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๗๑ ทรงปฏิบัติพระราชกิจ เช่นเดียวกับเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลฝ่ายเหนือ
 
น้ำพระราชหฤทัยต่ออาณาประชาราษฎร
การอำนวยความผาสุกแก่ราษฎร
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้มีการควบคุมบรรดากิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของราษฎรทั่วไปให้อยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วยงานต่างๆ และให้มีการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าดังนี้
 
กิจการรถไฟ
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือต่อไปจนสุดเส้นทางถึงจังหวัดอุบลราชธานีอีกทางหนึ่ง และกรมการรถไฟหลวงยังได้เริ่มนำรถจักรดีเซลไฟฟ้ามาลากจูงกระบวนรถไฟสายใต้ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และลดระยะเวลาเดินทางด้วย
 
การสร้างสะพาน
โครงการสร้า้งสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อเชื่อมทางรถไฟฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยามีเส้นทางหลวงให้ยวดยานทุกชนิดรวมทั้งทางเดินของราษฎรสัญจรไปมาถึงกันได้ ซึ่งเริ่มดำเินินการมาแต่รััชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการต่อตามพระราชดำริจนลุล่วง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดและพระราชทานนามสะพานเป็นที่ระลึกและเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า สะพานพระราม ๖
 
นอกจากนี้ ในโอกาสสมโภชพระนครครบ ๑๕๐ ปี มีพระราชดำริให้สร้างถาวรวัตถุสถานเป็นพระปฐมบรมราชานุสรณ์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาอีกแห่งหนึ่งเป็นสะพานที่ทันสมัย เปิดปิดให้เรือขนาดใหญ่ผ่านเข้า-ออก เข้ามาในพระนครชั้นในได้พระราชทานนามว่า สะพานพระพุทธยอดฟ้า
 
การสร้างถนน
ถนนที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกอบด้วยถนนในพระนคร เพื่ออำนวยความสะดวกในการสัญจรไปมา เพราะพาหนะประเภทต่างๆ มีปริมาณมากขึ้นนอกจากนี้ ยังมีโครงการสร้างถนนพระนครไปเชื่อมกับปริมณฑลใกล้เคียง คือ ธนบุรี นนทบุรี และสมุทรปราการ ส่วนทางหลวงทั่วราชอาณาจักรกรมทางหลวงได้ดำเนินการสร้างทางหลวงแผ่นดินกระจาย ไปยังภาคต่างๆ เช่นกัน
 
การตั้งชื่อถนนเป็นที่ระลึกถึงเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์
ในรัชกาลนี้มีพระราชดำริให้ตั้งชื่อถนนเพื่อรำลึกถึงประวัิติศาสตร์เนื่องด้วยประวัติบุคคล สถานที่และเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ ครั้งสำคัญ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตั้งชื่อถวายเพื่อให้ีมีพระบรมราชวินิจฉัย ชื่อถนนที่ทรงกระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานได้แก่ ถนนประชาชื่น ถนนเจ้ากรุงธน ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ถนนลาดหญ้า ถนนวังหลัง ถนนวังเดิม ถนนโพธิ์สามต้น ถนนบางแก้ว ถนนท่าดินแดง ถนนปากพิง ถนนเชียงใหม่ เป็นต้น
 
การคมนาคมระหว่างประเทศ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว การคมนาคมระหว่างประเทศได้เจริญก้าวหน้า ทั้งทางเรือและทางอากาศ เช่น การทำสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้า และการเดินเรือกับประเทศต่างๆทำให้มีการเดินเรือค้าขายกับประเทศทั้งหลายอย่างกว้างขวาง
 
กิจการการบินในสมัยนี้ได้พัฒนาให้ก้าวหน้าขึ้น เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ได้เริ่มเปิดสาย การบิน และนำเครื่องบินโดยสารมาจอดที่สนามบินดอนเมืองและสงขลา เป็นการเปิดการขนส่งทางอากาศจากยุโรปมายังทวีปเอเชียเป็นครั้งแรก และได้มีการอนุญาตให้ตั้งบริษัทเดินอากาศจำกัด (Aerial Transport of Siam Co., Ltd.) เปิดเส้นทางบินในประเทศและรับเป็นตัวแทนบริษัทการบินต่างประเทศด้วย
 
การทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
กิจการพิพิธภัณฑ์ซึ่งเริ่มมาแต่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายการจัดพิพิธภัณฑ์จากหอคองคอเดีย ในพระบรมมหาราชวังมาจัดที่พระที่นั่งในพระบวรราชวังหรือวังหน้า เรียกว่า มูเสียมหลวงที่วังหน้า และในรัชกาลที่ ๖ ยกงานพิพิธภัณฑ์มารวมกับงานช่างประณีตแยกจากกรมโยธาธิการยกเป็นกรมใหม่ชื่อว่า กรมศิลปากร
 
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โอนงานพิพิธภัณฑสถานไปอยู่กับหอพระสมุดสำหรับพระนคร เรียกว่า พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งราชบัณฑิตยสถานมีแผนกต่างๆ รับผิดชอบงานการจัดพิพิธภัณฑสถานตรวจรักษาโบราณสถาน งานด้านวรรณคดี และงานบำรุงรักษาวิชาช่าง
 
กิจการพิพิธภัณฑสถาน จึงเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครเสด็จ พระราชดำเนินไปทรงเปิืดเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๙ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสิ่งของส่วนพระองค์มาจัดแสดงตามที่กราบบังคมทูลขอพระกรุณาพระราชทานทุกครั้ง รวมทั้งพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้เชิญพระจิตกาธานในงานพระเมรุมาเก็บรักษาและจัดแสดง คือ โรงราชรถ ซึ่งเป็นอาคารสมัยใหม่หลังแรกในพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสำหรับพระนคร
 
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชดำรัสในการเปิดพิพิธภัณฑสถานมีความ ส่วนหนึ่งซึ่งเป็นแนวทางในการจัดพิพิธภัณฑ์สืบมาดังนี้
 
“ศิลปวัตถุก็ดี โบราณวัตถุก็ดี ย่อมเป็นส่วนหนึ่งของตำนานและพงศาวดารของชาติ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นความเจริญและอารยธรรมของ ประเทศตามลำดับกาลทั้งเป็นสิ่งซึ่งแสดงให้เห็นวิญญาณและอุปนิสัยของประชาชนแห่งชาตินั้นด้วย ด้วยเหตุเหล่านี้ จึงเห็นควรบำรุงรักษาไว้อย่างดี...”
 
การพระศาสนาและการศึกษา
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทะนุบำรุงพระศาสนา โดยมีพระราชศรัทธา ให้บูรณปฏิสังขรณ์ พระอารามหลวงสำคัญตามราชประเพณี เช่น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดานารามครั้งใหญ่ ในโอกาสฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี โปรดใ ห้บูรณวัดประจำพระบรมราชจักรีวงศ์ที่พระนครศรีอยุธยา คือ วัดสุวรรณดารามและทรงบำ เพ็ญพระราชกุศล โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตรวจสอบชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎกอักษรไทยฉบับสมบูรณ์พระราชทานแจกจ่ายแก่มหาวิทยาลัยและหอสมุดนานาชาติทั่วโลก และในพระราชอาณาจักรพระราชทานแก่ผู้บริจาคทรัพย์ ภายหลังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกรรมสิทธิ์ไว้แก่มหามกุฏราชวิทยาลัย
 
พระราชดำริที่ทรงริเริ่มใหม่ คือ การที่ทรงกระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ราชบัณฑิตยสภา ประกวดแต่งหนังสือพระพุทธศาสนาแก่เด็กในการ พระราชกุศลวิสาขบูชา เพื่อให้เยาวชนไทยมีหนังสืออ่านเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่เข้าใจง่าย เป็นเครื่องโน้มนำให้ศรัทธาในพระพุทธศาสนาต่อไป
 
กิจการภาพยนตร์
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชจริยวัตรส่วนพระองค์ คือ โปรดการบันทึกภาพยนตร์ โดยทรงถ่ายภาพบันทึกเหตุการณ์ สำคัญในประวัติศาสตร์ในรัชสมัยด้วยฟิล์มภาพยนตร์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เรียกว่า ภาพยนตร์ทรงถ่าย ต่อมาเปลี่ยนเป็นภาพยนตร์ัอัมพร
 
พระราชนิยมในการถ่ายภาพยนตร์นี้ ทำให้มีผู้สนใจงานภาพยนตร์กันอย่างแพร่หลาย ทรงสนับสนุนให้ก่อตั้งสมาคมภาพยนตร์สมัครเล่นแห่งสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในพระราชวังสวนจิตรลดา เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกมีโอกาสแลกเปลี่ยนข่าวสารความรู้และผลงานซึ่งกันและกันและมีผลต่อนโยบายของรัฐในการสนับสนุนกิจกรรมภาพยนตร์ไทยในราชอาณาจักร มีการตราพระราชบัญญัติภาพยนตร์ พุทธศักราช ๒๔๗๓ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยเป็นอนุสรณ์ในโอกาสฉลองพระนคร ๑๕๐ ปี พระราชทานนามว่า ศาลาเฉลิมกรุง เป็นโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยแห่งแรกของประเทศ
 
พระราชดำริในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำเนินพระบรมราโชบายที่จะพัฒนาการปกครอง โดยการกระจายพระราชอำนาจ และให้มีคณะบุคคลหรือองค์กรมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกัน  ดังนี้
 
ทรงตั้งอภิรัฐมนตรี ประกอบด้วยพระบรมวงศ์ที่มีประสบการณ์เป็นที่ยกย่องนับถือในหมู่ชนทั่วไป ให้มามีส่วนช่วยบริหารบ้านเมือง โดยถวายความคิดเห็นและคำแนะนำดังพระราชดำรัสในวันเปิดการประชุมสภากรรมการองคมนตรี เมื่อวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๗๐ ความตอนหนึ่ง ดังนี้
 
“ ...ตั้งแต่เราได้ครองราชสมบัติต่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชก็ได้เห็นว่าเสนาบดี และตัวเราจะปกครองบ้านเมืองซึ่งเป็นความรับผิดชอบอัน ใหญ่ยิ่งนัก ย่อมต้องอาศัยความรู้ ความชำนาญ ความสามารถของผู้อื่นด้วยจึงจะได้ผลดียิ่งขึ้น เราจึงได้สถาปนาอภิรัฐมนตรีขึ้นเป็นที่ปรึกษา อีกคณะหนึ่ง ...เรามีความประสงค์ที่จะทดลอง และปลูกฝังการศึกษาในวิธีการปรึกษาโต้เถียงให้สำเร็จเป็นมติแบบอย่างที่ประชุมใหญ่เพราะฉะนั้นจึงได้ดัดแปลงสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ใช้การได้เหมาะสมตามสภาพของบ้านเมืองที่มีอยู่ในเวลานี้ถ้าหากถึงเวลาอันควรที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการปกครองของประเทศต่อไปก็จะได้ทำได้โดยสะดวก...”
 
อย่างไรก็ดีเมื่อถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ คณะราษฎรได้ดำเนินการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยมีหนังสือกราบ บังคมทูลพระกรุณาว่า เพราะมีความประสงค์ที่จะได้ให้มีรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชหัตเลขาตอบคณะราษฎรตอนหนึ่งว่า
 
 “...ความจริงข้าพเจ้าก็คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้คือ มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ......”
 
หลังจากคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วได้ทูลเกล้าฯ พระราชทานกำหนดนิรโทษกรรมและขอพระราชทานอภัยโทษ ที่กระทำล่วงเกินพระองค์ บรรพกษัตริย์และพระราชวงศ์จักรี ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕
 
 
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอำนาจแก่ปวงชนชาวไทย ทรงลงประมรมาภิไธยพระราชทานรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสดในการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ต่อมาได้ทรงสละราชสมบัติเสด็จประทับพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ณ ประเทศอังกฤษ ตราบจนเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ และได้อัญเชิญพระบรมอัฐิมาประดิษฐานในประเทศไทย  เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒
 
จากหนังสือเหนือเกล้าชาวไทย