-
Category: พระราชประวัติ
-
Published on Tuesday, 03 May 2016 06:15
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2599
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้สร้างความสัมพันธ์กับนานาประเทศด้วยดีเสมอมา ตลอดระยะเวลาของการชึ้นครองราชย์ โดยในระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๐๒ ถึง ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา รวม ๒๗ ประเทศ เพื่อเป็นการเจริญพระราชไมตรีกับบรรดามิตรประเทศเหล่านั้นให้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเพื่อนำความปรารถนาดีของประชาชนชาวไทยไปมอบให้กับประชาชนในประเทศต่างๆ โดยรายชื่อประเทศต่างๆ ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเยือน มีตามลำดับดังนี้
• ประเทศเวียดนามใต้ ระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๒
• สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ระหว่างวันที่ ๘ – ๑๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๓
• สหภาพพม่า ระหว่างวันที่ ๒ – ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๑๔ มิถุนายน – ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• ประเทศอังกฤษ ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ระหว่างวันที่ ๒๕ กรกฎาคม – ๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• สาธารณรัฐโปรตุเกส ระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๒๙ – ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• ประเทศเดนมาร์ก ระหว่างวันที่ ๖ – ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๓
• ประเทศนอร์เวย์ ระหว่างวันที่ ๑๙ – ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๓
• ประเทศสวีเดน ระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๓
• สาธารณรัฐอิตาลี ระหว่างวันที่ ๒๘ กันยายน – ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• นครรัฐวาติกัน เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• ประเทศเบลเยียม ระหว่างวันที่ ๔ – ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ ๑๑ – ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• ประเทศลักเซมเบิร์ก ระหว่างวันที่ ๑๗ ตุลาคม – ๑๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• ประเทศเนเธอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๓
• ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ ๓ – ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๓
• สาธารณรัฐอิสลามปากีสถาน ระหว่างวันที่ ๑๑ – ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๕
• สหพันธรัฐมลายา ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕
• ประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๕
• ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ ๒๖ สิงหาคม – ๑๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๕
• ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ ๒๗ พฤษภาคม – ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๖
• สาธารณรัฐจีน ระหว่างวันที่ ๕ – ๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๖
• สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ ๙ – ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๖
• สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ ๒๙ กันยายน – ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๗
• สาธารณรัฐเยอรมัน ระหว่างวันที่ ๒๒ – ๒๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ (เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง)
• สาธารณรัฐออสเตรีย ระหว่างวันที่ ๒๙ กันยายน – ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ (เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง)
• ประเทศอิหร่าน ระหว่างวันที่ ๒๓ – ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๐
• สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๖ มิถุนายน – ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๐ (เป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนครั้งที่สอง)
• ประเทศแคนาดา ระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๐
จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มิได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอีก เพราะทรงเห็นว่าพระราชภารกิจภายใน ประเทศนั้นมีมากมาย อย่างไรก็ตาม หากประมุขหรือรัฐบาลของประเทศใด กราบบังคมทูลเชิญให้เสด็จฯ ไปเยี่ยมเยือน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระราชโอรส หรือพระราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี รวมทั้งเพื่อทอดพระเนตรวิทยาการ และศิลปวัฒนธรรมของชาตินั้นๆ
จนกระทั่งวันที่ ๘ – ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศลาว พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งนับเป็นการเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศอีกครั้ง หลังจากที่ว่างเว้นมาเป็นเวลานานกว่า ๓๐ ปี
พระราชกรณียกิจด้านการต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น รวมไปถึงการเสด็จพระราชดำเนินออกให้การต้อน รับราชอาคันตุกะจากประเทศต่างๆ ที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้บรรดาทูตานุทูต เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายสาส์นตราตั้งในการเข้ามารับตำแหน่งในประเทศไทย และถวายบังคมทูลลาเมื่อครบวาระอีกด้วย
การส่งพระราชสาส์นต่อประมุขต่างประเทศ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชสาส์น์ต่อประมุข-ผู้นำรัฐต่างประเทศ ซึ่งมีทั้งพระราชสาน์แสดงความยินดี และพระราชสาสน์แสดงความเสียใจ ในโอกาสต่างๆ ที่เกิดขึ้น นับเป็นการสร้างและกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ
อย่างเมื่อไม่นานมานี้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้นำของประเทศมหาอำนาจอย่างประเทศสหรัฐอเมริกา คือการแต่งตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงทรงตระหนักและเล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ 20 มกราคม พ.ศ 2552 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชสาส์นถึงนายบารัค ฮุสเซน โอบามา ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาคนที่ 44 โดยมีข้อความว่า
“ในโอกาสที่ท่านเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ข้าพเจ้ามีความยินดีขอส่งคำอวยพร และความปรารถนาดีอย่างจริงใจมา เพื่อท่านประธานาธิบดีประสบความสำเร็จและความสุขสวัสดิ์ ทั้งเพื่อความเจริญก้าวหน้าของประชาชน และความรุ่งเรืองไพบูลย์ยิ่งขึ้นของสหรัฐอเมริกา ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า ความสัมพันธ์ฉันมิตรและความร่วมมืออันใกล้ชิดระหว่างประเทศและประชาชนของเราทั้งสองจะกระชับแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นต่อไปในภายภาคหน้า”
การต้อนรับการมาเยือนของพระราชอาคันตุกะ
การต้อนรับการมาเยือนของประมุขและผู้นำประเทศต่างๆ ในฐานะพระราชอาคันตุกะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสต่างๆ อย่างสมพระเกียรตินั้น นอกจากเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์อันยาวนานของประเทศอันล้ำค่าสู่สายตาต่างประเทศ ยังเป็นการสร้างความประทับใจ และการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกด้วย
พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ผ่านพ้นไปได้มีการต้อนรับการเสด็จเยือนไทยของพระราชอาคันตุกะ ๒๕ ประเทศ การมาเยือนของพระราชอาคันตุกะยังส่งผลดีต่อภาพรวมของประเทศในหลายด้าน ทั้งในด้านการค้า การท่องเที่ยวและการลงทุน
นอกจากผลดีในด้านเศรษฐกิจแล้ว การมาเยือนของพระราชอาคันตุกะ เป็นการแสดงให้เห็นว่า สถาบันกษัตริย์แต่ละประเทศ ต่างให้เกียรติกันและกัน และต้องการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่งผลดีต่อการยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตในระดับต่างๆ
การยกระดับความสัมพันธ์กับประเทศที่ไม่ได้ใกล้ชิดกับประเทศไทย
ผู้นำจากบางประเทศที่ไม่ได้เยือนประเทศไทยมาเป็นเวลานานแล้ว หรือไม่เคยมาเยือนอย่างเป็นทางการ การได้มาเข้าร่วมงานนี้เสมือนประกาศความสัมพันธ์ระดับของราชวงศ์เป็นครั้งแรก อาทิ ประเทศเลโซโทที่แม้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๒ แต่ไม่เคยมีการมาเยือนอย่างเป็นทางการของพระประมุข ประเทศลิกเตนสไตน์ที่สถาปนาความ สัมพันธ์ทางการทูตกับไทยได้เพียง ๙ ปี และไม่มีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตในไทย แต่ใช้วิธีการมอบหมายให้เอกอัครราชทูตจีนที่มีเขตครอบคลุมประเทศไทยด้วย
การกระชับความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับประเทศที่สัมพันธ์ดีกับไทย
หลายประเทศมีความสัมพันธ์ที่ดีกับไทย ทั้งในมิติของความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์ต่อราชวงศ์ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล ความสัมพันธ์ทางการทูต และความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ การมาครั้งนี้จึงเป็นการแสดงไมตรีจิต และยืนยันความ สัมพันธ์ ที่อาจนำไปสู่การสานต่อความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุน เช่น ประเทศคูเวตที่มีความสัมพันธ์ทางการค้า และแรงงานที่ดีกับไทยตลอดมา ประเทศญี่ปุ่นที่มีความสัมพันธ์ทางราชวงศ์ที่ดีต่อกัน เห็นได้จากการเสด็จเยือนกันและกันมา โดยตลอดประเทศมาเลเซียที่แสดงออกอย่างชัดเจนในความสัมพันธ์ที่ดีโดยการปล่อยตัวคนไทยที่กระทำความผิด ๑๒๑ คนกลับสู่มาตุภูมิ
นอกจากนี้ผู้นำของประเทศอื่น ที่ไม่มีพระมหากษัตริย์ต่างร่วมแสดงความยินดี ยกย่อง และแสดงท่าทียืนยันสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้ยืนนาน อาทิ การส่งสาสน์ถวายพระพรชัยมงคลจากผู้นำประเทศจีน ฟิลิปปินส์ เม็กซิโก รวมถึงข้อมติร่วมของรัฐสภาสหรัฐอเมริกาที่ ๔๐๙ และหนังสือจากประธานาธิบดีประเทศสิงคโปร์ ที่ยืนยันที่จะสานสัมพันธ์ที่ดีกับไทยให้ยืนนาน
การมารวมตัวกันของราชวงศ์ทั่วโลกนับว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดา สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่ล้วนเป็นผลจากพระราชกรณียกิจที่ในหลวงได้ทรงตรากตรำทำงานมาตลอดการครองราชย์