พระอัจฉริยภาพด้านดนตรี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นคีตกวีและนักดนตรีที่ชาวโลกยกย่อง ทรงพระปรีชาสามารถในการทรงดนตรี พระราชนิพนธ์เพลง และเรียบเรียงเสียงประสาน ทรงเป็นครูสอนดนตรีแก่ข้าราชบริพารใกล้ชิด และทรงซ่อมเครื่องดนตรีได้ด้วยพระองค์เอง รวมทั้งทรงเชี่ยวชาญในศิลปะแขนงต่างๆ อย่างแท้จริง สมกับที่พสกนิกรชาวไทยน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระราชสมัญญาว่า “อัครศิลปิน” 
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มเรียนดนตรีเมื่อพระชนมายุ ๑๓ พรรษา ขณะประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กับครูชาวอัลซาสชื่อ นายเวย์เบรชท์ (Wey-brecht) โดยทรงเรียนเป่าแซกโซโฟน วิชาการดนตรี การเขียนโน้ต และสเกลต่างๆ ในแนวดนตรีคลาสสิค ต่อมา จึงเริ่มฝึกดนตรีแจ๊ส และทรงดนตรีสากล โดยทรงหัดเป่าแซกโซโฟนกับเพลงจากแผ่นเสียงของวงดนตรีที่มีฝีมือ เช่น John Hodges และ Sidney Bechet เป็นต้น จนทรงมีความชำนาญจึงทรงเป่าสอดแทรกกับแผ่นเสียงของนักดนตรีที่มีชื่อเสียงได้เป็นอย่างดี ทรงโปรดดนตรีประเภท Dixieland Jazz มาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเครื่องดนตรีได้ดี หลายชนิด ทั้งประเภทเครื่องลม เช่น แซกโซโฟน คลาริเนต และประเภทเครื่องทองเหลือง เช่น ทรัมเปต รวมทั้งเปียโนและกีตาร์ที่ทรงฝึกเพิ่มเติมในภายหลัง เพื่อประกอบการพระราชนิพนธ์เพลงและเพื่อทรงดนตรีร่วมกับ วงดนตรีส่วนพระองค์
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มพระราชนิพนธ์เพลง เมื่อมีพระชนมพรรษาได้ ๑๘ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๔๘๙ ทรงพระราชนิพนธ์เพลง “แสงเทียน” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงแรกและจนถึงปัจจุบัน มีเพลงพระราชนิพนธ์ทั้งสิ้น ๔๘ เพลง
 
ทุกเพลงล้วนมีทำนองไพเราะ ประทับใจผู้ฟัง สอดคล้องกับเนื้อร้อง ซึ่งมีคตินานัปการ และเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทย ในยามที่บ้านเมืองไม่สงบสุข ก็พระราชทานเพลงปลุกใจเพื่อเป็นกำลังใจแก่ ข้าราชการ ทหาร พลเรือน และประชาชนผู้ปฏิบัติ หน้าที่เพื่อประเทศชาติ มิให้เกิดความย่อท้อในการทำความดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ต่อตนเองและต่อสังคม ทรงตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. ขึ้น (อัมพรสถาน) เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๕ เพื่อเป็นสื่อกลางในการให้ความบันเทิง สารประโยชน์ และข่าวสารต่าง ๆ แก่ประชาชน ต่อมาได้โปรดเกล้าฯ ให้นักดนตรีรุ่นหนุ่มๆ มาเล่นปนกับรุ่นลายคราม ซึ่งเล่นดนตรีไม่ค่อยไหวตามอายุ ด้วยเหตุนี้จึงเกิดวงดนตรี “อ.ส.วันศุกร์” ขึ้น ปัจจุบันสถานีวิทยุ อ.ส. ได้ย้ายมาตั้งอยู่ในบริเวณ สวนจิตรลดา 
 
ลักษณะพิเศษของ “วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์” นี้คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงร่วมบรรเลงกับสมาชิกของวง ออกกระจายเสียงทางสถานีวิทยุเป็นประจำทุกวันศุกร์ เป็นการเปิดโอกาสให้พสกนิกรได้ติดต่อกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ง่ายขึ้น ทรงจัดรายการเพลงและทรงเลือกแผ่นเสียงเองในระยะแรก บางครั้งก็โปรดเกล้าฯ ให้มีการขอเพลงด้วยและจะทรงรับโทรศัพท์ด้วยพระองค์เอง ในช่วงเวลาเมื่อ ๒๐ ปีก่อน ขณะที่สถานีโทรทัศน์ยังไม่มีบทบาททางการบันเทิงมากเช่นในปัจจุบันนี้ “วงดนตรี อ.ส. วันศุกร์” จึงมีส่วนสร้างความรื่นเริงในหมู่ประชาชนผู้สนใจในยุคนั้นเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้เมื่อเกิดเหตุการณ์มหาวาตภัย แหลมตะลุมพุก ได้อาศัยวงดนตรี อ.ส. ประกาศชักชวนประชาชนบริจาคทรัพย์ สิ่งของ ฯลฯ ช่วยผู้ประสบภัย ท้ายสุดจึงกำเนิดมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์  
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เครื่องดนตรีเป็นสื่อผูกพันสถาบันพระมหากษัตริย์กับนิสิตนักศึกษา โดยเสด็จฯ ไปทรงดนตรีร่วมกับนิสิตนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ รวมทั้งเป็นสื่อกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศกับนานาประเทศได้อย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เช่นเมื่อครั้งที่เสด็จฯ เยือนกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งมีชื่อว่าเป็นแหล่งกำเนิดของนักดนตรีที่สำคัญ และคีตกวีเอกของโลก ได้ยกย่องพระปรีชาสามารถด้านการดนตรีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยเฉพาะคือ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ เยือนประเทศสาธารณรัฐออสเตรีย อย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ วงดุริยางค์ซิมโฟนี ออเคสตร้า แห่งกรุงเวียนนาได้อัญเชิญเพลงพระราชนิพนธ์ชุด ” มโนราห์ ” ” สายฝน ” ”ยามเย็น” ”มาร์ชราชนาวิกโยธิน ” และ ”มาร์ชราชวัลลภ ” ไปบรรเลง ณ คอนเสิร์ตฮอลล์ กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ พร้อมกันนี้สถานีวิทยุกระจายเสียงของรัฐบาลออสเตรียได้ส่งกระจายเสียงเพลง และเสนอข่าวนี้ไปทั่วประเทศ หลังจากนั้นอีก ๒ วัน คือ วันที่ ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ 
 
 
นักดนตรีแจ๊สที่มีชื่อเสียงหลายคนของอเมริกา ชื่นชมในพระปรีชาสามารถทางการดนตรีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างสูง เพราะทรงใช้เครื่องเป่าได้อย่างคล่องแคล่วทุกชนิด
 
เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๓ พระองค์ได้เสด็จฯ ไปที่บ้านเทศมนตรีมหานครนิวยอร์ค ทรงดนตรีที่นั่น หลังจากนั้น “เบ็นนี กู๊ดแมน” ยอดนักดนตรีแจ๊สของอเมริกา ได้กราบบังคมทูลเชิญไปที่บ้านของเขา นักดนตรีที่ร่วมวงอยู่ด้วยกล่าวว่า “ทรงพระสำราญมากในคืนนั้น ทรงเป็นกันเองกับพวกเรามาก เป็นวาระที่พวกเราจะจดจำไปชั่วชีวิต” 
 
สถาบันดนตรีและศิลปะแห่งกรุงเวียนนา (ปัจจุบันเปลี่ยนญานะเป็นมหาวิทยาลัยการดนตรีและศิลปะการแสดง)ได้ถวายพระเกียรติ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ หมายเลขที่ ๒๓ ดังปรากฏพระปรมาภิไธย “ภูมิพลอดุลยเดช” จารึกบน แผ่นหินอ่อนของส ถาบันอันเก่าแก่ของยุโรปแห่งนี้ โดยประธานสถาบันได้กล่าวสดุดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฐานะที่ทรงเป็นผู้สร้างสัมพันธ์ อันดียิ่งระหว่างดนตรีตะวันออกกับดนตรีตะวันตก และทรงพระราชนิพนธ์เพลงด้วยพระปรีชาสามารถ นับเป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์แห่งทวีปเอเชีย ทรงมีบทบาทสำคัญยิ่ง ณ ศูนย์กลางแห่งการดนตรีในทวีปยุโรป ทรงเป็นชาวเอเชียพระองค์แรกที่ทรงได้รับการถวายพระเกียรติให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ขณะที่ทรงมีพระชนมพรรษาเพียง ๓๗ พรรษา พสกนิกรชาวไทยทุก คนไม่เพียงแต่ชื่นชมในพระเกียรติยศทางดนตรีที่ทรงได้รับจากนานาประเทศเท่านั้น แต่ยังภาคภูมิใจในความสำเร็จจากการเสด็จพระราชดำเนินกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศด้วย 
 
 
นอกจากทรงพระปรีชาสามารถในการพระราชนิพนธ์เพลง และทรงดนตรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงเป็น “ครูใหญ่” สอนดนตรีแก่แพทย์ ราชองครักษ์ และข้าราชบริพารใกล้ชิดซึ่งเล่นดนตรี ไม่เป็นเลย จนเล่นดนตรีเป็น สามารถบรรเลงในโอ กาสพิเศษต่างๆ ได้ ต่อมา จึงได้เกิด “วงสหายพัฒนา” มีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์หัวหน้าวง
 
 
ทางดนตรีไทยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าวิชาดนตรีไทยเป็นศิลปะที่สำคัญของชาติ สมควรที่จะได้รวบรวมเพลงไทยเดิมต่างๆ ไว้มิให้เสื่อมสูญและผันแปรไปจากหลักเดิม โดยมีการบันทึกโน้ตเพลงให้ถูกต้องละจัดพิมพ์ขึ้นไว้เป็นหลักฐาน เพราะในการบันทึกแนวเพลงเป็นโน้ตสากลแต่เดิมนั้น ยังมิได้มีการบันทึกไว้อย่างครบถ้วนและจัดพิมพ์ให้เป็นการสมบูรณ์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ กรมศิลปากรรับเรื่องนี้ไปดำเนินการ ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการจัดพิมพ์โน้ตเพลงไทยชุดนี้ เป็นการรักษาศิลปะดนตรีอันสำคัญของไทยไว้มิให้เสื่อมสูญ และยังเป็นการเผยแพร่วิชาดนตรีของไทยออกไปในหมู่ประชาชนผู้สนใจให้เป็นที่ รู้จักแพร่หลายยิ่งขึ้นอีกด้วย