พระอัจฉริยภาพด้านกีฬา

 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถด้านกีฬา ทรงส่งเสริมให้ประชาชนเห็นคุณค่าของกีฬา ดังพระราชดำรัสที่ว่า
 
“…การกีฬานั้นนับเป็นอุปกรณ์การศึกษาที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นการกล่อมเกลาให้เด็กมีจิตใจอดทน กล้าหาญ รู้แพ้รู้ชนะ ปลูกฝังพลานามัยให้แข็งแรง เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เด็กเป็นผู้มีสมรรถภาพ ทั้งในทางจิตใจและร่างกายเป็นผลสืบเนื่องไปถึงการเป็นพลเมืองของชาติอันเป็นยอดแห่งความปราถนา…”
 
พระบรมราโชวาท ในวันเปิดการแข่งขันกรีฑานักเรียนประจำปี วันที่ ๒๘ พฤศจิกายนพ.ศ. ๒๕๐๔ 
 
พระราชดำรัสนี้แสดงให้เห็นถึงพระราชปณิธานในเรื่องการส่งเสริมการกีฬาว่าเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาบุคคลและประเทศชาติ จึงทรงส่งเสริมกี ฬาทุกประเภท พร้อมทั้งทรงกีฬามากมายหลายประเภทเช่นกัน
 
เมื่อย้อนกลับไปดูพระราชจริยาวัตรด้านกีฬาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น จะพบ ว่าทรงโปรดการกีฬามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ เมื่อครั้งยังประทับอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ก็ทรงเล่นสกีน้ำแข็งบ่อยครั้ง ต่อมายังสนพระทัยในกีฬาหลายประเภท เช่น สกีน้ำ ว่ายน้ำ เรือกรรเชียง เรือพาย แบดมินตัน ยิงปืน กอล์ฟเล็ก การแข่งขันรถเล็ก เครื่องร่อน ฯลฯ ทรงศึกษาข้อมูลของกีฬาแต่ละประเภทอย่างละเอียด และทรงฝึกฝนจนปฏิบัติได้ดี นับเป็นแบบอย่างที่ดีของนักกีฬา
 
เป็นที่เห็นได้ชัดว่ากีฬาที่โปรดมักเป็นกีฬาที่ไม่ได้ใช้แต่พละกำลังเพียงอย่างเดียว คือต้องอาศัยความรู้รอบตัวและเทคนิคไหวพริบ ผนวกกับความรู้ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ใน กีฬานั้นๆ ซึ่งทรงพอพระทัยกับการเผชิญความท้าทายในเกมกีฬาเป็นอย่างมาก เช่น เทนนิส เรือใบ
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคารพกฎกติกาของการกีฬาที่ทรงเล่น และมักจะทรงเน้นย้ำให้นักกีฬาทั้งหลายมีวินัยตลอดเวลา ทรงให้ความสำคัญต่อการฝึกซ้อมเป็นอันมาก ทรงสนพระทัยกีฬาที่มีโอกาสได้ฝึกซ้อม ด้วยทรงเห็นว่าการจะเป็นนักกีฬาที่ดีนั้นต้องให้ความสนใจในการฝึกซ้อม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และปรับปรุงตนเองให้มีประสบการณ์เพิ่มขึ้น ถ้านักกีฬาคนใดไม่ฝึกซ้อมก็จะเป็นนักกีฬาที่ดีไม่ได้
 
 
“ครั้งหนึ่งเสด็จฯออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นเรือใบเข้าฝั่ง ตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าฯ อยู่ด้วยความฉงนว่าเสด็จฯกลับเข้าฝั่งเพราะเรือใบพระที่นั่งแล่นไปโดนทุ่นเข้าซึ่งในกติกาการแข่งเรือใบถือว่าฟาวล์ ทั้งๆ ที่ไม่มีใครเห็น”
 
อีกเหตุการณ์หนึ่ง ระหว่างพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับกีฬาเรือใบที่คนไทยไม่มีวันลืมเลือน เมื่อทรงเป็นนักกีฬาเรือใบของประเทศไทย ทรงเข้าร่วมการแข่งขันในฐานะนักกีฬาทีมชาติของการแข่งขันกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๔ ครั้งนั้น ทรงเรือเวคา  ๒ ใบ เรือหมายเลข TH ๒๗  พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ (พระอิสสริยยศในขณะนั้น) ทรงเรือเวคา ๑ ใบ เรือหมายเลข TH ๑๘
 
 
การแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรือใบนำมาตลอด ตามด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ และนักกีฬาทีมชาติพม่าซึ่งนับได้ว่าเป็นคู่แข่งที่สำคัญ ในการแข่งขันรอบสุดท้ายกระแสลมเปลี่ยนทิศทาง ทำให้ต้องทรงเรืออ้อมทุ่นผิดตำแหน่ง แม้กระนั้นก็ยังทรงนำเรือเข้าสู่เส้นชัยเป็นพระองค์แรก ตามด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ โดยภายหลังจากเข้าเส้นชัยและทรงทราบว่าอ้อมเรือผิดทุ่นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสรวลก่อนทิ้งพระองค์ลงน้ำ และผลการแข่งขันในครั้งนั้นคณะกรรมการมีมติทำให้ทรงครองเหรียญทอง ร่วมกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ
 
ทั้งสองเหตุการณ์นี้เป็นเพียงแค่บางช่วงบางตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระราชจริยาวัตร  แสดงให้เห็นว่าในหลวงของคนไทยนั้นทรงเข้าใจในเรื่องสปิริตนักกีฬา อันหมายถึง รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ใช้ได้ทั้งในเกมกีฬาและชีวิตประจำวันของคนทั่วไป 
 
 
นอกจากนั้นยังทรงรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ ๕, ๖ และ ๘ รวมทั้งกีฬาแหลมทองครั้งที่ ๔, ๘ และ ๑๓ ซึ่งเป็นกีฬาระดับนานาชาติไว้ใน พระบรมราชูปถัมภ์ ตลอดจนทรงเป็นองค์ราชูปถัมภ์ของสมาคมกีฬาสมัครเล่นของไทยอีก ๑๑ สมาคม
 
เป็นที่ทราบกันดีว่า “เรือใบ” นั้นเป็นกีฬาทรงโปรดและยังได้แสดงพระอัจฉริยภาพด้วยการต่อเรือจากฝีพระหัตถ์ โดยลำแรกที่ทรงต่อด้วยพระองค์เองเป็นเรือใบพระที่นั่งเอ็นเตอร์ไพรส์ โดยพระราชทานชื่อเรือว่า “ราชปะแตน” และต่อมาทรงต่อเรือใบประเภท OK ขึ้นอีก พระราชทานชื่อว่า “นวฤกษ์” ซึ่งเรือนวฤกษ์ นี้เองทรงนำมาใช้ในการแข่งขันกีฬาเรือใบในกีฬาแหลมทอง ครั้งที่ ๔
 
นอกจากนี้พระองค์ท่านยังทรงคิดค้น ออกแบบ และสร้างเรือใบขึ้นมาด้วยพระองค์เองอีกหนึ่งลำ พระราชทานชื่อว่า “เรือใบแบบมด” ได้มีรับสั่งว่า “ที่ชื่อมดนั้นเพราะมันกัดเจ็บๆ คันๆ ดี” ต่อมาทรงพัฒนาเรือแบบมดขึ้นมาใหม่โดยได้พระราชทานชื่อว่า เรือใบ “แบบซูเปอร์มด” และเรือใบในตระกูลมดนี้ลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบคือเรือใบ “แบบไมโครมด” ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในหมู่นักแล่นเรือใบทั้งหลาย
 
ส่วนเรือใบอีกหนึ่งลำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงต่อเรือขึ้นมา เป็นเรือใบประเภท OK พระราชทานชื่อเรือว่า “VEGA” หรือ เวคา (เป็นชื่อดาวที่สุกใสดวงหนึ่ง) ทรงใช้เรือลำนี้เป็นพระราชพาหนะเสด็จฯ ข้ามอ่าวไทยจากวังไกลกังวล หัวหินไปขึ้นฝั่งที่หาดเตยงามในห น่วยบัญชาการนาวิกโยธิน เมื่อ 19 เมษายน 2509 ซึ่งในการต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานหางเสือเรือเวคา เพื่อเป็นรางวัลนิรันดรในการแข่งขันเรือใบระยะทางไกลของประเทศไทย
 
 
นอกจากนี้ยังทรงก่อตั้งสโมสรเรือใบส่วนพระองค์ขึ้นคือ สโมสรเรือใบจิตรลดา ทั้งยังมีพระมหากรุณาธิคุณรับสโมสรเรือใบต่างๆ มาไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ เช่น สโมสรเรือใบราชวรุณ สโมสรเรือใบกรมอู่ทหารเรือ สโมสรเรือใบฐานทัพเรือสัตหีบ สโมสรเรือใบนาวิกโยธิน และสโมสรเรือใบกองเรือยุทธการ เป็นต้น
 
ปัจจุบันแม้ว่าพระองค์ท่านจะทรงเรือใบไม่มากเท่าแต่ก่อนอันเนื่องจากมีพระราชกรณียกิจมาก แต่กระนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยพระองค์นี้ก็ทรงแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกแล้วว่า ไม่มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใดหรือประมุขชาติใดในโลก ที่ทรงเป็นนักกีฬาที่ยอดเยี่ยมและให้ความสำคัญต่อการกีฬา ตลอดจนสนับสนุนการกีฬาเทียบเท่าพระองค์ท่านได้เลย
 
ด้วยพระราชกรณียกิจที่ทรงพระปรีชาสามารถทางการกีฬาจนเป็นที่เลื่องลือ และได้มีการจารึกไว้ในประวัติศาสตร์วงการกีฬาอันเป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลก คณะกรรมการโอลิมปิกสากลจึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์และได้ขอพระราชทานพระราชวโรกาสทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองดุษฏีกิตติมศักดิ์ของโอลิมปิกคือ “อิสริยาภรณ์โอลิมปิกสูงสุด (ทอง)” เมื่อ 14 ธันวาคม 2530 นับเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก ที่ทรงได้รับเกียรติยศดังกล่าว นอกจากนี้มหาวิทยาลัยมหิดลก็ได้ขอพระราชทานพระวโรกาสทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาวิทยาศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2534
 
นอกจากกีฬาแข่งขันแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังสนพระทัยในการออกกำลังพระวรกายเพื่อสุขภาพอีกด้วย เช่น วิ่งเหยาะและเดินเร็ว การออกกำลังพระวรกายสม่ำเสมออย่างถูกหลักวิชาการ คือมีการบันทึกพระชีพจร ความดันพระโลหิตทั้งก่อนและหลังการทรงออกกำลังพระวรกาย รวมทั้งทรงกระตุ้นให้เกิดความอบอุ่นแก่พระวรกายก่อนเริ่ม และผ่อนคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อหลังจากการออกกำลังพระวรกาย โดยทรงปฏิบัติเช่นนี้เป็นกิจวัตรเป็นแบบฉบับของนักกีฬาที่ดีและทำให้พระวรกายของพระองค์แข็งแรง พร้อมที่จะเสด็จพระราชดำเนินไปในที่ต่างๆ เพื่อทรงเยี่ยมเยียนราษฎรของพระองค์ได้เสมอ
 
นอกจากจะทรงกีฬาหลายชนิดด้วยพระองค์เองจนสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว ยังทรงเอาพระทัยใส่ติดตามข่าวกีฬาทุกประเภทอยู่เสมอ ในการเปิดกีฬาสำคัญในระดับประเทศและระดับนานาชาติ มักจะมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นอเนกประการ เช่น พระราชทานไฟพระฤกษ์ พระราชทานพระบรมราโชวาท เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงาน พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นักกีฬาเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่นักกีฬาและประชาชนตลอดมา