-
Category: พระราชกรณียกิจ
-
Published on Wednesday, 07 December 2016 04:32
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2629
นับแต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ พระองค์ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย อันเป็นคุณูประโยชน์ยิ่งต่อพสกนิกรไทย รวมถึงด้านการเมืองการปกครอง แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่า พระมหากษัตริย์ไทย ทรงดำรงตนเป็นกลางทางการเมือง และให้ระบบการเมืองของไทยขับเคลื่อนไปตามกลไกของระบอบประชาธิปไตย แต่ในฐานะองค์พระประมุขของชาติ ทรงมิได้เพิกเฉยละเลย พระราชกรณียกิจด้านการเมืองการปกครอง อาทิการลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสำคัญ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในรัฐพิธีเปิดสมัยประชุมรัฐสภา หรือแม้ยามบ้านเมืองเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญๆ ก็ทรงยื่นพระหัตถ์เข้าช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเสมอมา
การลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญนับเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญยิ่ง เป็นกฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการบริหารปกครองประเทศ จึงมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการร่าง การพิจารณา การให้ความเห็นชอบ รวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติม ที่รอบคอบรัดกุม
พระมหากษัตริย์ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยทุกพระองค์ ทรงตระหนักถึงความสำ คัญของรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมาซึ่งผ่านกระบวนการพิจารณาและให้ความเห็นชอบจากรัฐสภา หรือองค์กรด้านนิติบัญญัติแล้ว ก่อนประกาศใช้จึงมีธรรมเนียมปฏิบัติที่คงไว้ซึ่งคุณค่าของกฎหมายและ เอกลักษณ์ความเป็นไทย ดังแนวพระราชดำรัสซึ่งพระยามโนปกรณ์นิติธาดานายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้ในที่ ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อคราวพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ตอนหนึ่งว่า
“…ได้นำร่างรัฐธรรมนูญนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทอดพระเนตรทรงมีรับสั่งว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้ทรงแนะนำว่าการประกาศรัฐธรรมนูญนั้นเป็นของสำคัญยิ่งใหญ่ ควรจะมีพิธีรีตอง จึงโปรดเกล้าฯ ให้โหรหลวงหาฤกษ์ยาม ได้ ๓ ฤกษ์ ฤกษ์ ๑ ตกวันที่ ๑ ธันวาคม ฤกษ์ ๒ ตกวันที่ ๑๐ ธันวาคม ฤกษ์ ๓ ตกไปกลางเดือนมกราคม จึงได้คิดว่าสำหรับฤกษ์ ๑ นั้น เวลากระชั้นเกินไปคงไม่ทัน จึงได้กำหนดไว้เป็นวันที่ ๑๐ ธันวาคม คือ ฤกษ์ ๒ ส่วนฤกษ์ ๓ นั้น เวลานาน ไป ฉะนั้นจึงอยากรีบเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จโดยเร็วเพื่อให้ทันในวันที่ ๑๐ ธันวาคม โดยหวังว่าจะแล้วเสร็จจากสภาภายในวันที่ ๓๐ เดือนนี้ โดยเราจะประชุมกัน ตั้งแต่ ๔ โมงเช้าเรื่อยๆ ไปทุกวันจนกว่าจะเสร็จ เพื่อให้แล้วก่อนฤกษ์ ๑๐ วัน โดยทรงเห็นว่ารัฐธรรมนูญนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิ์และเป็นของที่ควรจะขลัง เพราะฉะนั้นต้องการจะเขียนใส่สมุดไทย…”
ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับที่มีการประกาศใช้อันเนื่องมาจากการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินนั้น จะไม่มีการจารึกหรือเขียนลงในสมุดไทย แต่ยังคงต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย เช่นกัน
พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ
พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญนั้น เป็นธรรมเนียมราชประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดมาแต่ครั้งการ พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ซึ่งกระทำ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิตโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ จำนวน ๒ ครั้ง คือ
๑. พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติมพุทธศักราช ๒๔๙๕ เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ เวลา ๑๐.๐๐ นาฬิกา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
๒. พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๑ เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๑ เวลา ๑๐.๒๙ นาฬิกา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
พระราชพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งนับเป็นพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
ภายหลังการพระราชทานรัฐธรรมนูญครั้งนั้น ได้มีพระราชพิธีฉลองรัฐธรรมนูญ ในวันที่ ๑๐ ธันวาคม ของทุกปี โดยในระยะแรกๆ นอกจากพระราชพิธี ซึ่งจัดขึ้น ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมสมโภชน์เฉลิมฉลองต่อเนื่องอีกหลายวัน มีทั้งการออกร้าน การแสดง และการละเล่นต่างๆ และกำหนดให้จัดขึ้นทั่วประเทศ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้มีความรู้และความเข้าใจ เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และการปกครองระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ในขณะนั้น
ต่อมากิจกรรมสมโภชน์ดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไป เนื่องจากระยะเวลาและสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป คงไว้เพียงพระราชพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือผู้แทนพระองค์จะเสด็จมาประกอบพระราชพิธีเป็นประจำทุกปี
และเมื่อมีพระราชพิธีเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งประดิษฐานที่หน้าอาคารรัฐสภาในปีพุทธศักราช ๒๕๒๓ หมายกำหนดการ วันที่ ๑๐ ธันวาคม จะประกอบด้วย ๒ กิจกรรม คือ การถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา
รัฐพิธีเปิดประชุมไม่ว่าจะเป็นการประชุมรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร สภาร่างรัฐธรรมนูญ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือสภาที่เรียก ชื่ออื่นที่ทำหน้าที่ในฐานะรัฐสภาถือเป็นรัฐพิธีสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบรัฐพิธีด้วยพระองค์เองหรือจะโปรดเกล้าฯ ให้พระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์มาประกอบรัฐพิธีก็ได้
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งสภากรรมการองค มนตรี ทำหน้าที่เสมือนเป็นฝ่ายนิติบัญญัติคล้ายกับรัฐสภา แต่ขณะนั้นยังไม่มีบทบัญญัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับรัฐพิธีเปิดประชุม พระ องค์มิได้เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดประชุม แต่ได้พระราชทานพระราชดำรัสอัญเชิญไปอ่านเปิดการประชุม และ เมื่อล่วงเข้าสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ พระองค์ก็ได้พระราชทานกระแสพระราชดำรัสไปอ่านเปิดประชุมเช่นกัน
ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ได้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับรัฐพิธีเปิดประชุมเป็นครั้งแรก ในมาตรา ๓๐ ว่า
“พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามสมัยประชุมและทรงเปิดปิดประชุม”
“พิธีเปิดประชุม จะทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินทรงทำ หรือจะโปรดเกล้าฯ ใช้รัชทายาทที่บรรลุนิติภาวะแล้ว หรือ นายกรัฐมนตรีกระทำพิธีแทนพระองค์ก็ได้”
ส่วน ฉบับต่อๆ มา ได้มีการบัญญัติคล้ายคลึงกัน แต่ได้เปลี่ยนแปลงเฉพาะตัวบุคคลที่มากระทำพิธีจากนายกรัฐมนตรี มาเป็น “ผู้หนึ่งผู้ใด” กระทำพิธีแทนพระองค์
ในเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมนั้นขึ้นอยู่กับบท บัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ บางฉบับบัญญัติให้กระทำทุกครั้งที่เปิดสมัยประชุมสามัญ เช่น รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๔๗๕, ปี ๒๔๘๙, ปี ๒๔๗๕ แก้ไขเพิ่มเติม ๒๔๙๕ และบางฉบับจะบัญญัติให้กระทำเฉพาะสมัยแรกของการเลือกตั้งทั่วไป เช่น รัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๑๗, ปี ๒๕๒๑, ปี ๒๕๓๔, ปี ๒๕๔๐ และ ปี ๒๕๕๐ (ฉบับปัจจุบัน)
การแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมือง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มีพระมหากรุณาธิคุณต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ดังจะเห็นได้จากคราวที่ประเทศประสบวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญๆ ในหลายครั้ง พระองค์ได้ทรงพระกรุณาช่วยขจัดปัดเป่าภัยพิบัติจากวิกฤตการณ์ทั้งปวงและทุกครั้งทรง นำประเทศกลับคืนสู่ภาวะปกติสุขได้โดยเร็ว ซึ่งทุกครั้งด้วยเดชะพระบารมีด้วยพระปรีชาสามารถ ด้วยแรงศรัทธาเทิดทูนและด้วยความจงรักภักดี ที่อาณาประชาราษฎร์มีต่อพระองค์ ก็ได้ทรงขจัดปัดเป่ายุติภัยพิบัติ และทรงนำบ้านเมืองกลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว พสกนิกรของพระองค์ก็ได้กลับคืนสู่ความผาสุกร่มเย็นเช่นเดิมพระเกียรติคุณจึงแผ่ไพศาล เป็นที่แซ่ซ้องสดุดีทั่วไปทั้งภายในประเทศและนานาประเทศทั่วโลก
พระมหากรุณาธิคุณเมื่อครั้งวิกฤตการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖
วิกฤตการณ์ช่วง ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ หรือเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า กรณีวันมหาวิปโยค เริ่มตั้งแต่การรัฐประหารตนเองของ จอมพล ถนอม กิตติขจร กับพวก เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑ แม้ว่าก่อนหน้าที่จอมพล ถนอมฯ จะทำการยึดอำนาจตนเอง ประชาชน และนิสิตนักศึกษามีความไม่พอใจรัฐบาลอยู่แล้ว แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นรุนแรงเพราะในขณะนั้น ยังมีสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นปากเสียงของประชาชนอยู่บ้าง นอกจากนี้บรรดาสื่อมวลชนทั้งหลาย ก็ยังสามารถวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อย่างกว้างขวาง และหลายคนก็ยังหวังว่ารัฐบาลของ จอมพลถนอม กิตติขจร จะหมดอำนาจไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญได้ แต่ครั้นรัฐบาลเลือกใช้วิธีรัฐประหารยึดอำนาจ ยกเลิกรัฐธรรมนูญหันไปใช้อำนาจเผด็จการ เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลมากขึ้นทั้งอย่างลับๆ และเปิดเผยและเมื่อมีผู้ใช้อำนาจของคณะปฏิวัติไปในทางที่ไม่ชอบ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนทั่วไปก็ยิ่งทำให้เกิดแนวร่วมต่อต้านรัฐบาลขยายตัวออกไปมากขึ้น เมื่อนิสิตนักศึกษาเห็นว่าการแก้ปัญหาของชาติประการแรกสุดจะต้องมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักในการปกครองประเทศเสียก่อน ดังนั้น การเรียกร้องรัฐธรรมนูญของนิสิตนักศึกษา อาจารย์มหาวิทยาลัย และประชาชนจึงอุบัติขึ้น ซึ่งแกนนำคนสำคัญในการสร้างขบวนการนักศึกษาได้แก่ นายธีรยุทธ บุญมี เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๔–๒๕๑๕ และนายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร เป็นต้น
การรวมตัวของนักศึกษาและประชาชนโดยทั่วไปเริ่มมาจากความไม่พอใจรัฐบาลในหลายๆ เรื่อง อาทิ เช่น กรณีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๒๙๙ ซึ่งให้อำนาจแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเหนือศาลทำให้มีทนายความ นักกฎหมาย และอาจารย์สอนกฎหมายอีกหลายคนประท้วงประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว
กรณีทุ่งใหญ่ที่เฮลิคอปเตอร์ของทหารบกตกที่นครปฐม ปรากฏข้อเท็จจริง ว่าบรรดานายทหารของกองทัพบกบางกลุ่มนำเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวไปเที่ยวล่าสัตว์ในป่าสงวนที่เป็นเขตอนุรักษ์สัตว์ป่า หรือที่เรียกว่า ทุ่งนเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อหนังสือพิมพ์ขุดคุ้ยเรื่องนี้ จอมพล ถนอม กลับชี้แจงปฏิเสธโดยอ้างว่านายทหารชุดดังกล่าวไปราชการลับชายแดนพม่า นอกจากนี้ยังมีเรื่องการต่ออายุราชการของทั้งจอมพล ถนอม กิตติขจร และพลเอกประภาส จารุเสถียร และหลังจากนั้นไม่นานก็ คือการเลื่อนยศเป็นจอมพลของ พลเอก ประภาส ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก อธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพร้อมๆ กัน
กรณีนักศึกษารามคำแหงต่อต้าน ดร.ศักดิ์ ผาสุกนิรันดร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งลบชื่อนักศึกษารามคำแหงออก เพราะสาเหตุวิจารณ์การต่ออายุของจอมพล ถนอม กิตติขจร และจอมพล ประภาส จารุเสถียร รวมทั้งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการประท้วงกรณีนักเรียนนายเรืออากาศ ได้เข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องผ่านการสอบคัดเลือก การประท้วงของนิสิตนักศึกษากว่า ๓ หมื่นคน เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๖ ขณะนั้นจัดได้ว่าเป็นการประท้วงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของนักศึกษา ในประวัติศาสตร์ไทย โดยนักศึกษาได้เรียกร้องให้ ดร.ศักดิ์ฯ ลาออก ให้รับนักศึกษารามคำแหงที่ถูกไล่ออกไปเข้ามาใหม่และให้นักเรียนนายเรืออากาศ ออกไปจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
กรณีที่เป็นชนวนหลักทำให้เกิดการเดินขบวนของประชาชนจำนวนมากเกิดจากกรณีที่แกนนำ ของ “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” จำนวน ๑๓ คน ถูกจับและสมาชิกกลุ่มที่เหลืออยู่ได้เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวพร้อมทั้งให้มีรัฐธรรมนูญภายใน ๖ เดือน แต่รัฐบาลไม่ทำตามข้อเรียกร้องประกอบกับการออกข่าวที่บิดเบือนต่อประชาชน จึงยิ่งทำให้ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลมากขึ้น ต่อมาจึงได้มีการนัดรวมตัวกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มจากคนจำนวนเรือนพันขยายตัว ไปเป็นเรือนหมื่นเรือนแสน และได้เคลื่อนขบวนมาชุมนุมประท้วงที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจนกระทั่งวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ รัฐบาลได้ตัดสินใจใช้กำลังทางทหารเข้าสลายกลุ่มนักศึกษา และประชาชนที่มาร่วมชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญทำให้มีผู้คนบาดเจ็บและล้มตายเป็นจำนวนมาก นับเป็นวันมหาวิปโยคที่เศร้าสลดอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ชาติไทย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาช่วยแก้ไขวิกฤตการณ์ของบ้านเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวอย่างมาก เห็นได้จากการที่พระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้กรรมการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เข้าเฝ้าเพื่อขอพระราชทานคำปรึกษาในวันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เวลา ๑๖.๒๐ น. นอกจากนั้นในช่วงเช้า ของวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ เมื่อเกิดการปะทะกันระหว่างทหาร ตำรวจ กับประชาชนและนักศึกษา ที่บริเวณคูน้ำข้างพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มีนักศึกษาและประชาชนบางส่วนว่ายน้ำหนีเข้าไปพึ่งพระบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งขณะนั้นดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ เสด็จออกรับทรงไต่ถามทุกข์สุขของผู้เข้ามาพึ่งพระบารมี รับสั่งให้สำนักพระราชวัง นำข้าวและอาหารแจกจ่ายให้แก่ประชาชนหนีภัยเข้ามา พึ่งพระบารมีในเขตพระราชฐาน จนกระทั่งเหตุการณ์ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงขั้นวิกฤต เมื่อรัฐบาล จอมพล ถนอม กิตติขจร สั่งให้ใช้กำลังทหาร และอาวุธเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้ประชาชนล้มตายเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงห่วงใยประชาชนเป็นอย่างมาก จึงได้พระราชทานพระราชกระแสรับสั่งกับประชาชนทางโทรทัศน์ เนื่องในวันมหาวิปโยค โดยทรงขอให้ทุกฝ่ายระงับความรุนแรง และทรงแต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีแทน จอมพล ถนอม กิตติขจร ที่กราบบังคมทูลขอลาออกจากตำแหน่ง หลังจากพระราชทาน พระราชกระแสรับสั่งแล้วสถานการณ์อันยุ่งยากก็ได้คลี่คลายลง เป็นลำดับจวบจน จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ประภาส จารุเสถียร และพันเอก ณรงค์ กิตติขจร เดินทางออกจากประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๕ ตุลาคม พุทธศักราช พ.ศ. ๒๕๑๖ สถานการณ์จึงกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยพสกนิกร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มิได้ทรงทอดทิ้งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการเดินขบวนเรียกร้อง ได้ เสด็จไปทรงเยี่ยมเยียนผู้ได้รับบาดเจ็บ ทั้งที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และโรงพยาบาลศิริราช รวมทั้งในการพระราชทานเพลิงศพวีรชนเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๗ หนึ่งปีหลังจากเกิดเหตุการณ์วันมหาวิปโยคแล้ว ก็ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิงศพด้วยพระองค์เอง
พระมหากรุณาธิคุณเมื่อครั้งวิกฤตการณ์ช่วง ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙
จากการที่จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้บวชเป็นสามเณรและเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๙ โดยเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุที่วัดบวรนิเวศน์วิหาร ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวคัดค้านของนักศึกษาและประชาชนทั่วไป จนเกิดเหตุการณ์ผู้คัดค้าน ถูกฆ่าแขวนคอ ๒ ศพ ที่จังหวัดนครปฐมขึ้น ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยและกลุ่มพลังต่างๆ จึงได้ชุมนุมกันที่สนามหลวงเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๙ เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดการให้พระถนอม เดินทางออกนอกประเทศ และให้จับกุมตัวฆาตกรฆ่าแขวนคอนักศึกษามาดำเนินคดีโดยเร็ว โดยการชุมนุมครั้งนี้เป็นไปอย่างมีระเบียบและสลายตัวไปเพื่อรอคำตอบจากรัฐบาล
เมื่อรัฐบาลไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวตามที่กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ จึงเกิดการชุมนุมขึ้นอีกที่สนามหลวง โดยมีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยเป็นแกนนำต่อต้านการกลับมาของพระถนอม มีนักศึกษาและประชาชน เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ต่อมาได้ย้ายเข้าไปชุมนุมกันที่ลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดให้มีการแสดงละครล้อเลียนเหตุการณ์ดังกล่าวสลับกับการอภิปราย เมื่อหนังสือพิมพ์ได้ลงรูปภาพการชุมนุมและการแสดงละครดังกล่าวภาพที่ออกมามีส่วนคล้ายคลึงกับภาพของพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์หนึ่ง สถานีวิทยุยานเกราะได้หยิบเอาเรื่องนี้ขึ้นมาโจมตีนักศึกษาว่าเป็นการดูหมิ่นองค์รัชทายาทและปลุกปั่นให้ผู้ฟังเคียดแค้นและต่อต้าน
วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ลูกเสือชาวบ้านและกลุ่มพลังต่างๆ ได้รวมตัวกันชุมนุมต่อต้านนักศึกษา และพยายามบุกเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกิดการยิงต่อสู้กัน ตำรวจได้บุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าเคลียร์พื้นที่ โดยมีกลุ่มกระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้านและกลุ่มนวพลเข้าร่วมด้วย บ้างก็เข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บ้างก็รออยู่ข้างนอก เพื่อคอยทำร้ายผู้ที่หนีตำรวจออกมา เหตุการณ์เต็มไปด้วยความวุ่นวายสับสนมีนักศึกษาบาดเจ็บ และล้มตายเป็นจำนวนมาก คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินนำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ จึงทำการยึดอำนาจการปกครอง เพื่อจะได้เข้าไปแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวได้รวดเร็วขึ้น เพื่อความมั่นคงของชาติบ้านเมือง และได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เพื่อกราบบังคมทูลรายงานสถานการณ์ของประเทศในขณะนั้นให้ทรงทราบสถานการณ์ ต่างๆ ก็เริ่มคลี่คลายลง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อให้แก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็ว เหตุการณ์ความสับสนวุ่นวายต่างๆ จึงกลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างรวดเร็วยุติการเสียเลือดเสียเนื้อ ทั้งนี้ ก็ด้วยเดชะพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ทรงเป็นที่เคารพสักการะ และเป็นศูนย์รวมแห่งความศรัทธาและความจงรักภักดีของปวงชนชาวไทยอย่างมั่นคง ไม่มีวันเสื่อมคลาย พระมหากรุณาธิคุณได้ปกแผ่คุ้มเศียรเกล้าปวงชนชาวไทย ทรงขจัดปัดเป่าภัยจากวิกฤตการณ์ นำประเทศคืนสู่ความผาสุกสงบร่มเย็นอีกครั้งหนึ่ง
พระมหากรุณาธิคุณเมื่อครั้งวิกฤตการณ์ช่วงพฤษภาคม ๒๕๓๕
ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๔ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ที่มี พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ เป็นประธาน ได้เข้าควบคุมอำนาจการปกครองประเทศจากพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ และได้ประกาศยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๒๑ โดยได้นำธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๓๔ มาใช้ในการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ รวมทั้งได้ประกาศกฎอัยการศึกห้าม มิให้มีการชุมนุมกันเกิน ๑๐ คนขึ้นไป แต่นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้จัดให้มีการชุมนุมต่อต้านคณะ รสช. โดยมีการเปิดการปราศรัยโจมตีการเข้าควบคุมอำนาจของคณะ รสช. และเรียกร้องให้ยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งในการชุมนุมครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้จับกุมนักศึกษาไปจำนวน ๑๕ คน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี (คนที่ ๑๘) เมื่อ วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน ๒๙๒ คน เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๔
คณะรสช. ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน เพื่อตรวจสอบทรัพย์สินของอดีตรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลของ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ที่มีความร่ำรวยผิดปกติ โดยมี พลเอก สิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธานฯ
ในช่วงระยะเวลานี้ได้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง เมื่อคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย และพรรคการเมือง ๗ พรรค ประกอบด้วย พรรคความหวังใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชากรไทย พรรคพลังธรรม พรรคเอกภาพ พรรคพลังสังคมประชาธิปไตย และพรรคชาติประชาชนได้ร่วมกันจัดอภิปรายต่อต้านรัฐธรรมนูญฯ ที่บริเวณท้องสนามหลวง โดยมีประชาชนเข้าร่วมฟังการอภิปรายประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน
สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๓๔ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ ณ วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๓๔ ทำให้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช ๒๕๓๔ ถูกยกเลิกไปโดยปริยายรวมทั้งทำให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยพ้นจากหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๓๔ ตามไปด้วย หลังจากที่มีรัฐธรรมนูญใช้แล้ว วันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยกำหนดวันเลือกตั้ง ในวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ และกำหนดวันรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งระหว่างวันที่ ๑๐–๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๕
เมื่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ สิ้นสุดลงปรากฎผลว่าไม่มีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งได้เสียงข้างมากพอ ที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้พรรคการเมือง ๕ พรรค คือ พรรคชาติไทย พรรคประชากรไทย พรรคกิจ สังคม พรรคราษฎร และพรรคสามัคคีธรรม รวมกันสนับสนุนให้นายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม จัดตั้งคณะรัฐ บาล แต่ไม่สามารถจัดตั้งได้ ต่อมาการหาผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น พรรคการเมืองทั้ง ๕ พรรคได้สนับสนุน ให้ พลเอก สุจินดา คราประยูร ซึ่งมิได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน และเป็นผู้ร่วมกับ พลเอก สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจการ ปกครองประเทศขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ พลเอก สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี ตามข้อเสนอของพรรคการเมืองทั้ง ๕ เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ และในวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี จำนวน ๔๙ คน โดยมี พลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี ีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ความเคลื่อนไหวทางการเมืองได้เริ่มขึ้น ในวันที่ ๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ เมื่อเรืออากาศ ตรี ฉลาด วรฉัตร ได้เริ่มอดอาหารประท้วงที่หน้ารัฐสภาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี มาจากการเลือกตั้งระหว่างนั้น ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพรรคการเมืองฝ่ายค้าน (พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังธรรม พรรคเอกภาพ พรรคความหวังใหม่) ได้ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยต้องการให้มีการแก้ไขในประเด็น ๑. ให้ลดบทบาทวุฒิสมาชิก ลงเหลือเพียงหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ๒.ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ๓.ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ ๒ ขอให้พิจารณาเรื่องอื่นๆ รวมทั้งญัตติได้นอกเหนือจากการพิจารณากฎหมาย และ ๔. นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง
นอกจากนั้นเหตุการณ์ภายนอกรัฐสภาได้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยเมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ สหพันธ์นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยและองค์การพัฒนาเอกชน จัดให้มีการอภิปรายคัด ค้านนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจาก การเลือกตั้ง ที่ท้องสนามหลวงโดยมีหัวหน้าพรรคการเมือง และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายค้าน ๔ พรรคการเมืองร่วมอภิปราย มีประชาชนมาร่วมฟังการอภิปรายประมาณ ๕๐,๐๐๐ คน พลตรีจำลอง ศรีเมือง หัว หน้าพรรคพลังธรรม ได้ประกาศจะเริ่มอดอาหารประท้วงตั้งแต่วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ เพื่อต้องการให้ พลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม พลตรี จำลอง ศรีเมือง ได้ประกาศยกเลิกการอดอาหารประท้วง และลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังธรรม แต่ประท้วงนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งต่อไป พลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้นำกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงจากบริเวณท้องสนามหลวงมายังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เนื่องจากที่บริเวณท้องสนามหลวงจะ มีการจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาระหว่างวันที่ ๑๐-๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าวได้มีการยุติการชุมนุมประท้วงเป็นการชั่วคราว เนื่องจากเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและเพื่อเป็นการพักผ่อนด้วย
การชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและต่อต้านนายกรัฐมนตรี ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้เริ่มขึ้นอีกเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่บริเวณท้องสนามหลวง ภายใต้การนำของกลุ่มสมาพันธ์ประชาธิปไตยต่อมากลุ่มผู้ชุมนุมประท้วง ได้เคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลแต่ถูกทางเจ้าหน้า ที่สกัดไว้ที่สะพานผ่านฟ้า ความรุนแรงได้เกิดขึ้นเมื่อมีบุคคลจำนวนหนึ่งได้ขว้างปาสิ่งของไปยังเจ้า หน้าที่ตำรวจและเผาทำลายอาคารสถานีตำรวจดับ เพลิงภูเขาทองกองกำกับการสวัสดิภาพเด็กและเยาวชน สถานีตำรวจนครบาล นางเลิ้งเจ้าหน้าที่ได้พยายามควบคุมสถานการณ์โดยฉีดน้ำสลาย ฝูงชน แต่ฝูงชนยังคงชุมนุมกันต่อไป และเพิ่มจำนวนขึ้นต่อมาในวันที่ ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๕ เจ้าหน้าที่ได้ทำการจับกุม พลตรีจำลอง ศรีเมือง จากถนนราชดำเนินกลางไปควบคุมไว้ที่โรงเรียนพลตำรวจนครบาลบางเขน ในข้อหามั่วสุมกัน ตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง นอกจากนั้น พลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และพลอากาศเอก อนั นต์ กลินทะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในเวลานั้น มีคำสั่งให้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตกุรงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เวลา ๐๐.๓๐ น. และ กรมตำรวจไ ด้รับอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยให้จับกุมผู้กระทำความผิดในข้อหา มั่วสุมกันตั้งแต่ ๑๐ คน ขึ้นไป คือ ๑. นายปริญญา เทวาน ฤมิตรกุล ๒. นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ๓. นางสาวจิตราวดี วรฉัตร ๔. นายสันต์ หัตถีรัตน์ ๕. นางเหวง โตจิราการ ๖. นาย สมศักดิ์ โกศัยสุข และ ๗. นายวีระ มุสิกพงศ์ เหตุการณ์จึงทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อทางเจ้าหน้าที่ทหารได้ใช้กำลังและอาวุธ เข้าสลายการชุมนุมทำให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ข่าวการสลายการชุมนุมมิได้ปรากฏ ผ่านสื่อมวลชนภายในประเทศ แต่ได้ไปปรากฏต่อสายตาต่างประเทศ เมื่อนักข่าวต่างประเทศได้เสนอข่าวการสลายการชุมนุมด้วยกำลังของเจ้าหน้าที่ อย่างรุนแรงต่อผู้ชุมนุมประท้วงทางโทรทัศน์ ในประเทศต่างๆ หลายประเทศ
เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ นำพลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และ พลตรี จำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชดำรัส ให้พลเอก สุจินดา คราประยูร และพลตรี จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเป็นเสมือนผู้แทนของฝ่ายต่าง ๆ ช่วยกันแก้ไขปัญหา โดยหันหน้าเข้าหากันเพื่อฟื้นฟูบ้านเมือง โดยนายสัญญา ธรรมศักดิ์ และพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ จะเป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาด้วยความเป็นกลาง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานพระราชดำรัสคำเตือนสติผู้นำทั้ง ๒ ฝ่ายในการแก้ปัญหา ดังนี้
“… ปัญหาวันนี้ไม่ใช่ปัญหาของการบัญญัติหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาทุกวันนี้คือความปลอดภัย และขวัญของประชาชน…ฉะนั้นก็ขอให้ท่าน โดยเฉพาะสองท่าน พลเอก สุจินดา คราประยูร และพลตรี จำลอง ศรีเมือง ช่วยกันคิด คือ หันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่เผชิญหน้ากัน เพราะว่าประเทศของเรา …. เป็นประเทศของทุกคน … อันตรายทั้งนั้น มีแต่แพ้ คือต่างคนต่างแพ้ ผู้ที่เผชิญ หน้าก็แพ้ แล้วที่แพ้ที่สุดก็คือประเทศชาติ … ฉะนั้นจึงขอให้ทั้งสองท่านเข้ามา คือไม่เผชิญหน้า แต่ต้องหันหน้าเข้าหากัน และ สองท่านนี้เท่ากับเป็นผู้แทนของฝ่ายต่างๆ คือไม่ใช่สองฝ่าย คือ ฝ่ายต่างๆ ที่เผชิญหน้ากัน ให้ช่วยกันแก้ปัญหาปัจจุบันนี้ คือ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแล้ว ก็เมื่อเยียวยาปัญหานี้ได้แล้วจะมาพูดกัน ปรึกษากัน ว่าจะทำอย่างไรสำหรับให้ประเทศไทยได้มีการสร้างพัฒนาขึ้นมาได้กลับมาคืนได้โดยดี อันนี้เป็นเหตุผลที่เรียกท่านทั้งสองมา และก็เชื่อว่าทั้งสองท่านก็เข้าใจว่าจะเป็นผู้ที่ได้สร้างประเทศจากสิ่งปรักหักพังแล้วก็จะได้ผลในส่วนตัวมากกว่าได้ทำดี….”
ด้วยเดชะพระบารมี และด้วยพระปรีชาญาณอันล้ำลึก เหตุการณ์รุนแรงภายในบ้านเมือง ซึ่งมีผลกระทบถึงเกียรติภูมิของชาติ กระทบกระเทือนภาวะเศรษฐกิจ และความผาสุกร่มเย็นของประชาชนเป็นส่วนใหญ่ก็ยุติลงบ้านเมืองกลับคืนสู่ภาวะ ปกติได้อีกครั้งหนึ่งท่ามกลางบรรยากาศที่เศร้าสลดอันเนื่องจากการเสียเลือด เนื้อและการแตกแยกสามัคคีกันในชาติ