-
Category: พระราชกรณียกิจ
-
Published on Wednesday, 07 December 2016 04:32
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 1660
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระทัยด้านเทคโลโลยีการสื่อสารตั้งแต่ทรงพระเยาว์ “…ทรงทดลองต่อสายไฟพ่วงขนานกับลำโพงขยาย ของเครื่องรับวิทยุส่วนพระองค์ที่ผลิตจากประเทศสวีเดน ยี่ห้อ ‘Centrum’ จากห้องที่ประทับพระองค์ท่านไปยังห้องที่ประทับของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ทั้งสองพระองค์ทรงพอพระทัยในบริการเสียงตามสายไม่น้อย…”
วิทยุสื่อสาร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงอุทิศพระองค์ พระอัจฉริยะและพระอุตสาหะทั้งมวล เพื่อราษฎรในทุกภูมิภาค พระองค์ทรงมีดำริให้มีการพัฒนาด้านระบบวิทยุสื่อสารอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น กล่าวคือสามารถรับส่งได้ไกลยิ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงใช้เครื่องมือสื่อสารพกติดพระองค์ เพื่อประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ อยู่เสมอ เพราะสิ่งที่พระองค์ทรงขาดไม่ได้คือการสดับรับฟังข่าวทุกข์สุขของประชาชน ดังเช่น ในระหว่างการเสด็จเยี่ยมราษฎรได้ทรงพบว่า มีผู้ใดที่กำลังป่วยเจ็บจำเป็นต้องบำบัดรักษา จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะแพทย์ผู้ตามเสด็จดูแลตรวจรักษาทันที ในบางรายที่มีอาการป่วยหนัก จำเป็นต้องส่งตัวเข้าบำบัดรักษาในโรงพยาบาลท้องถิ่นหรือโรงพยาบาลในกรุงเทพมหานครโดยเร็ว หากมีเวลาเพียงพอ พระองค์ท่านจะรับสั่งผ่านทางวิทยุถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตำรวจตระเวนชายแดน ขอรับการสนับสนุนเรื่องการขนส่ง เช่น เฮลิคอปเตอร์ เพื่อนำผู้ป่วยเจ็บส่งยังที่หมายปลายทางด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ พระองค์ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้นำระบบสื่อสารแบบถ่ายทอดสัญญาณหรือ Repeater ซึ่งเชื่อมต่อทางวงจรทางไกลขององค์การโทรศัพท์ฯ ให้มูลนิธิแพทย์อาสาฯ (พอ.สว.) นำไปใช้เพื่อช่วยเ หลือรักษาพยาบาลแก่ผู้เจ็บป่วยในท้องถิ่นห่างไกล
ในเรื่องการปฏิบัติการฝนเทียมหรือฝนหลวงพระราชทาน ในการปฏิบัติระยะแรกๆ ได้ประสบปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่ไม่ทราบล่วงหน้า ซึ่งนักบินผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำแก้ไขโดยฉับพลัน เนื่องจากยังไม่มีการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติการด้วยกัน จึงเป็นเหตุให้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร กล่าวคือฝนไม่ตกในเป้าหมายบ้าง ตกน้อย หรือไม่ตกตามที่คิดบ้าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสดับตรับฟังข่าวการปฏิบัติการฝนเทียมทุกครั้ง และทรงทราบถึงปัญหาสำคัญคือ การขาดการติดต่อสื่อสารที่ดี จึงโปรดเกล้าฯ ให้ติดตั้งวิทยุให้แก่หน่วยปฏิบัติการฝนเทียม ทั้งทางอากาศและทางภาคพื้นดิน
นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาวิจัย รวมถึงการออกแบบและสร้างสายอากาศย่านความถี่สูงมาก หรือที่เรียกว่า VHF (วี.เอช.เอฟ) ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ 3 ประการ
ประการแรก เพื่อที่จะได้ใช้งานกับวิทยุส่วนพระองค์ ทั้งนี้โดยมีพระราชประสงค์ที่จะให้ทราบเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของสาธารณภัยที่เกิดขึ้นกับประชาชน เรื่องไฟไหม้ เรื่องน้ำท่วม ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อที่จะได้ทรงช่วยเหลือได้ทันท่วงที
ประการที่สอง เพื่อที่จะพระราชทานให้แก่หน่วยราชการต่างๆ
ประการที่สาม เพื่อส่งเสริมให้คนไทยที่มีความรู้ ความสามารถและตั้งใจจริง ได้ใช้ความอุตสาหวิริยะใน การพัฒนาระบบวิทยุสื่อสารขึ้นใช้เองภายในประเทศ
คอมพิวเตอร์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสโรงงานคอมพิวเตอร์ใหญ่ของไอบีเอ็ม ที่ซิลิกอนวาเลย์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2503 นับเป็นการจุดประกายให้วงการคอมพิวเตอร์ของประเทศไทย คิดถึงการใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติ ให้ทัดเทียมประเทศที่เจริญแล้ว นับได้ว่า “ทรงเป็นผู้นำและจุดประกายวงการคอมพิวเตอร์ในประเทศไทยอย่างจริงจัง”
หากย้อนไปเมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2529 ม.ล.อัศนี ปราโมช องคมนตรี ได้ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แมคอินทอช พลัส ซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยที่สุดในยุคนั้นขึ้นทูลเกล้าฯถวาย พระองค์ท่านจึงทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เองเป็นครั้งแรก ในเวลาต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่เพียงแต่ทรงงานด้วยคอมพิวเตอร์เท่านั้น หากแต่ทรงสนพระทัยในการศึกษาเทคนิคการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ชนิดต่างๆ บางครั้งได้ทรงเปิดเครื่องออกดูระบบภายในเครื่องด้วยพระองค์เอง ทรงปรับปรุงซอฟต์แวร์ใหม่ขึ้นมาใช้เอง และบางครั้งทรงแก้ไขปรับปรุงซอฟต์แวร์ในเครื่อง เช่น โปรแกรมภาษาไทย CU Writer ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ (โปรแกรมประมวลคำ Word Processor ในช่วงที่ประเทศไทยเพิ่งมีการใช้คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) อย่างแพร่หลาย ซึ่งพัฒนาโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
โดยทรงใช้คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตประกอบพระราชกรณียกิจ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้มีพระวิสัยทัศน์ยาวไกลในการใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตพสกนิกรชาวไทยมาเป็นระยะเวลาอันยาวนานนับเนื่องกว่า 62 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ ทรงเล็งเห็นความสำคัญของเครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ
ทรงสนับสนุน ให้มีการค้นคว้าในทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ ทรงศึกษาคิดค้นสร้างโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประมวลผลข้อมูลต่างๆ ด้วยพระองค์เอง ทรงประดิษฐ์รูปแบบตัวอักษรไทยที่มีลักษณะงดงาม เพื่อแสดงผลบนจอคอมพิวเตอร์และเครื่องพิมพ์ ทรงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อประดิษฐ์บัตร ส.ค.ส.พระราชทานพรแก่พสกนิกรชาวไทย ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่เป็นประจำทุกปี
พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์พระราชดำริและพระบรมราชวินิจฉัยในการออกแบบและจัดทำโปรแกรมพระไตรปิกฎฉบับคอมพิวเตอร์ โปรแกรมนี้ว่า BUDSIR : Buddhist Scriptures Information Retrieval รวมทั้งมีพระราชวิจารณ์ในการออกแบบโปรแกรมสำหรับสืบค้นข้อมู ลดังกล่าว ทรงเป็นผู้นำการพัฒนาพหุสื่อ (Multimedia) อาทิ การทำให้คอมพิวเตอร์พูดภาษาไทยได้ชัดขึ้น ตลอดจนทรงใช้คอมพิวเตอร์ในการบันทึกพระราชกรณียกิจต่างๆ และทรงติดตั้งเครือข่ายสื่อสารคอมพิวเตอร์เพื่อสนับสนุนพระราชกรณียกิจต่างๆ
นอกจากนี้ พระองค์ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารว่า การสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทุกประเภท, การสื่อสารเป็นหัวใจข องความมั่นคงของประเทศ และการสื่อสารเป็นองค์ประกอบที่สำคัญยิ่งในการพัฒนาประเทศให้ประชาชนอยู่ดีกินดี