-
Category: พระราชกรณียกิจ
-
Published on Wednesday, 07 December 2016 04:31
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 1785
พระราชกรณียกิจสำคัญประการหนึ่งซึ่งเป็นหนึ่งในทศพิธราชธรรมคือ “อวิโรธนะ” ได้แก่ ความไม่คลาดธรรม คือ วางองค์เป็นหลักหนักแน่นในธรรม คงที่ไม่มีความเอนเอียงหวั่นไหว สถิตมั่นในธรรม ทั้งส่วนยุติธรรม คือ ไม่ประพฤติให้คลาดเคลื่อนวิบัติไปจากความเที่ยงธรรม และนิติธรรมอันเป็นระเบียบแบบแผนหลักการปกครอง ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามธรรมราชาประการนี้ คือ “การพระราชทานความเป็นธรรม” ที่พระราชทานแก่ประชาชนตลอดมาทั้งในเรื่องที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ตามกฎหมาย และทั้งในกรณีอื่น
การพัฒนาถิ่นธุรกันดารด้วยการพระราชทานความเป็นธรรม
ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๐ เป็นต้นมา ประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศจากบุคคลบางกลุ่มที่มีความเชื่อถือในลัทธิการปกครองที่แตกต่างกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระราชหฤทัยที่จะพระราชทานความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาสเพื่อให้เขาเหล่านั้นไม่ถูกชักชวนไปในทางที่ผิดขณะเดียวกันก็ทรงช่วยพัฒนาไปด้วยโดยได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดานและในท้องถิ่นที่กำลังประสบภัยคุกคามของลัทธิคอมมิวนิสต์
โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักขึ้นในภูมิภาคต่างๆ อีกนอกจากพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ คือ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร ซึ่งล้วนแต่ตั้งอยู่ในที่มีการแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ทรงใช้พระตำหนังดังกล่าวเป็นฐานในการเสด็จเยี่ยมราษฎร และได้พระราชทานแนวทางดำเนินงานแก่เจ้าหน้าที่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ราษฎร และเป็นการให้ความช่วยเหลือไปด้วย พระราชกรณียกิจดังกล่าวทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรอบรู้สภาพความเป็นธรรมแก่ราษฎรได้เสมอ ทรงเล็งเห็นว่าความยุติธรรมจะเกิดแก่ประชาชนได้อย่างแท้จริงนั้น ผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดคือเจ้าหน้าที่ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต้องใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายได้อย่างถูกต้ อง เหมาะสมแก่สภาพความเป็นจริงของประชาชน เพราะกฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือในการรักษาความยุติธรรม การใช้กฎหมายต้องใช้บนพื้น ฐานของความ “ไม่กดขี่” ประชาชน และต้องทำไปพร้อมๆกับการพัฒนา ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่ตำรวจภูธรชายแดน เขต ๕ ณ ค่ายดารารัศมี จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๓ ความว่า
“……ส่วนที่สำคัญมากก็คือ จะต้องทำให้ประชาชนในท้องที่ไว้ใจและไม่เป็นเหยื่อแก่ฝ่ายตรงกันข้ามนั้นเป็นส่วนสำคัญที่สุด เพราะว่าเราต้องทำด้วยการพัฒนา ด้วยการช่วยเหลือให้อยู่ในจิตใจของพวกเขานี่แหละเป็นเหตุที่ว่า ทำไมวันนี้จึงเอาสิ่งของมาเป็นจำนวนมากมาฝากไว้ที่กองกำกับนี้ สำหรับตำรวจชายแดนเขต ๕ ได้ใช้ได้บริโภค อีกส่วนหนึ่งสำหรับงานพัฒนานี้ คือ งานช่วยให้ประชาชนเห็นว่าผู้ที่อยู่ในเครื่องแบบไม่ใช่คนเลว ไม่ใช่คนที่จะไปบีบคั้น แต่เป็นคนที่จะทำให้เขาเห็นว่า เป็นผู้ที่เป็นมนุษย์เหมือนกัน….ประเทศไทยทั้งประเทศนี่ทางราชการเสียชื่อเสียงไปมากก็เพราะว่ามีข้าราชการบางส่วนที่อยู่ในส่วนภูมิภาคได้ทำตัวเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ไปกดขี่ประชาชน ไปเอาเปรียบประชาชน ถ้าเป็นเช่นนี้ ประชาชน ก็บอกว่า ทางราชการ หรืออย่างที่เราเรียกว่า ทางกฎหมายไปข่มขี่เขา เขาไม่ได้เกลียดชาติบ้านเมืองแต่ว่าเขาเกลียดกฎหมาย เมื่อเกลียดกฎหมายแล้ว คนที่เถรตรงตามกฎหมายนี่ก็จะบอกว่าพวกนี้คือก่อการร้าย นับอย่างนี้แล้ว ประเทศไทยมีผู้ก่อการร้าย ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ว่าความจริง ผู้ก่อการร้ายแท้ๆ มีเข้าใจว่าไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์ และแม้จะเป็นในท้องที่ที่มีผู้เห็นว่ามีการก่อการร้าย ก็คงไม่ถึง ๕ เปอร์เซ็นต์”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงให้ความสำคัญแก่ “ผู้ใช้กฎหมาย” เป็นอย่างมากดังจะเห็นได้จากพระบรมราโชวาทที่พระราชทานให้แก่ผู้สำเร็จราชการศึกษาวิชานิติศาสตร์ตามสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ตลอดมา ดังเช่น พระราชดำรัสพระราชทานแก่คณะกรรมการจัดงานวัน “นิติศาสตร์จุฬา” ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม ๒๕๑๒ ทรงเตือนนักกฎหมายและนักปกครอง ดังความตอนหนึ่งว่า
“…..กฎหมายกับความเป็นอยู่ที่เป็นจริงอาจขัดกัน และในกฎหมายก็มีช่องโหว่มิใช่น้อย เพราะเราปรับปรุงกฎหมายและการปกครองอย่างโดยอาศัยหลักการของต่างประเทศ โดยมิได้คำนึงถึงความเป็นอยู่ของประชาชนว่าที่ใดควรเป็นอย่างไร ร้ายกว่านั้นก็ไม่คำนึงถึงว่าการปกครองของทางราชการบางทีไปไม่ถึงประชาชนด้วยซ้ำจึงทำให้ประชาชนต้องตั้งกฎหมายของตนเอง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเลว แต่มีบางสิ่งบางอย่างขัดกับกฎหมายของบ้านเมือง เช่นอย่างทางแถวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เมื่อปีสองปีมานี้ มีเจ้าหน้าที่เข้าไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซึ่งชาวบ้านเป็นผู้อพยพย้ายมาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช มาตั้งหมู่บ้านอยู่ใกล้ขอบป่าสงวน คือเรียกว่าล้ำเข้าไปในป่าสงวนบ้าง คนเหล่านั้นเข้าทำมาหากินและอยู่กันด้วยความเรียบร้อย หมายความว่ามีการปกครองหมู่บ้านของตนเอง ไม่มีโจรไม่มีผู้ร้าย มีการทำมาหากินที่เรียบร้อย ขาดแต่อย่างเดียวคือนายอำเภอหรือเจ้าหน้าที่จะเป็นประชาธิปไตย ซึ่งแท้จริงเขาเป็นประชาธิปไตยยิ่งกว่าที่จะเอานายอำเภอหรือเจ้าหน้าที่เขาก็เลยไม่เป็นประชาธิปไตยและปรากฏว่ากลายเป็นผู้ร้ายจวนๆ จะเป็นผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เราไม่ได้ปราถนาเลยที่จะให้มีผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในประเทศไทย แต่เราก็สร้างขึ้นมาเองโดยไปชี้หน้าชาวบ้านที่เขาปกครองตนเองดีแล้ว เรียบร้อยดีแล้ว เป็นประชาธิปไตยอย่างดีอย่างชอบแล้วว่าบุกรุกเข้ามาอยู่ในป่าสงวน และขับไล่ให้เขาย้ายออกไป คนเหล่านั้นเขาทำการงานเข้มแข็ง ทำงานดีตลอดเวลาหลายปีมาแล้วจากจังหวัดนครศรีธรรมราชไม่เคยทำลายป่า”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงชี้ให้เห็นถึงสาเหตุประการหนึ่งที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม คือ บทบัญญัติของกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ดังความตอนหนึ่งว่า
“แต่บังเอิญกฎหมายบอกว่าป่าสงวนนั้นใครบุกรุกไม่ได้ เขาจึงเดือดร้อน ป่าสงวนนั้นเราขีดเส้นแบบแผนที่ เจ้าหน้าที่จะไปถึงได้หรือไม่ก็ช่าง และส่วนมากก็ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ไป ดังนั้นราษฎรจะทราบได้อย่างไรว่าที่ที่เขามาอาศัยอยู่เป็นป่าสงวน และเมื่อเราถือว่าเขาเป็นชาวบ้าน ก็ไปกดหัวเขาว่าเขาต้องทราบกฎหมาย แต่กฎหมายอย่างนี้ เป็นแต่เพียงขีดเส้นทับเขาไม่ใช่กฎหมายแท้ ที่เป็นกฎหมายก็เพราะพระราชบัญญัติป่าสงวนเป็นกฎหมาย ซึ่งจะให้เขาทราบเองเป็นไปไม่ได้ เพราะทางฝ่ายปกครองไม่ได้นำกฎหมายนั้นไปแจ้งแก่เขา สมัยโบราณจะให้ทราบเรื่ องอันใดเขาต้องตีกลอง ประกาศด้วยปากหน่อยเดียว ก็เหมือนยังไม่มีกฎหมาย จึงไม่ใช่เรื่องที่จะไปว่าเขาว่าไม่ทราบกฎหมาย ประชาชนย่อมทราบแต่ว่าการปกครองไม่ดี และโดยประการนี้จึงทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่กฎหมายเพราะต่างคนต่างมีผิดมีถูกด้วยกันอยู่ ทางประชาชนก็ว่าการเข้ามาทำกินเป็นกฎหมาย ที่นี้เมื่อขัดกันก็เกิดความเดือดร้อนทั้งสองฝ่าย”
จากสภาพปัญหาดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงย้ำเตือนถึงการใช้นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ว่าจะต้อง “พอสมควร” ทรงขอให้มีความยืดหยุ่น คือ ยืดหยุ่นในทางที่ดี การใช้กฎหมายต้องพิจารณาให้รอบคอบ และพระราชทานแนวทางดำเนินงานที่ถูกต้องเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะผู้ที่เป็น “นักกฎหมาย” ได้ตระหนักถึงสภาพปัญหาที่แท้จริงและหนทางแก้ไขที่ถูกต้อง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ราษฎร
การพระราชทานความเป็นธรรมในกรณีที่ราษฎรผู้ได้รับความเดือดร้อนทูลเกล้าฯถวายฎีการ้องทุกข์
พระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณล้วนแล้วแต่ทรงให้ความสำคัญในเรื่องการพระราชทานความเป็นธรรมแก่ราษฎร ทรงกำหนดวิธีการในการเปิดโอกาสให้ราษฎรผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากความไม่เป็นธรรมต่างๆ นำความกราบทูลเพื่อทราบถึงพระเนตรพระกรรณได้โดยง่าย หากย้อนไปถึงสมัยสุโขทัยซึ่งการปกครองเป็นแบบพ่อปกครองลูก มีลักษณะไม่ซับซ้อน เมื่อราษฎรผู้ใดได้รับความเดือดร้อนจะถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ ดังปรากฎในศิลาจารึกหลักที่ ๑ รัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราชว่า “….ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปกกลาง บ้านกลางเมือง มีถ้อยมีความเจ็บท้องข้องใจ มันจักกล่าวเถิงเจ้าเถิง ขุนบไร้ ไปลั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยิน เรียกเมือถาม สวนความแก่มันด้วยชื่อ……”
ในสมัยอยุธยา พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่มาของความยุติธรรมและเป็นผู้พิพากษาสูงสุดเพราะพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าชีวิต ในทางปฏิบัติพ ระมหากษัตริย์มิได้ทรงบริหารงานด้านการยุติธรรม แต่ยังทรงสนพระทัยต่อฎีกา และการอุทธรณ์ต่อพระมหากษัตริย์ก็เป็นวิธีสุดท้ายที่จะกระทำได้
พระมหากษัตริย์ไทยเกือบทุกพระองค์ทรงให้ความสำคัญแก่การพิจารณาฎีกาของประชาชนเพราะเป็นวิธีหนึ่งที่เป็นประโยชน์ในการพระราชทานความเป็นธรรม การชำระกฎหมายครั้งใหญ่เพื่อทำประมวลกำหมาย หรือกฎหมายตราสามดวงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ก็มาจากมูลเหตุที่นายบุญศรีช่างเหล็กหลวงทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาเนื่องจากไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาพิพากษาคดีที่ถูกอำแดงป้อม ภรรยา ฟ้องหย่าแล้วพระเกษม ผู้พิพากษาได้ตัดสินให้หย่าได้ทั้งที่อำแดงป้อมเป็นฝ่ายผิดคือมีชู้ เมื่อตรวจสอบแล้วได้ความว่าบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องไม่เป็นธรรม จึงต้องชำระสะสางกฎหมายทั้งหมดในภาพรวม
ในสมัยกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพิจารณาพิพากษาฎีกาในวัน ๘ค่ำ ๑๕ ค่ำ (ทุกวันพระ) ทรงมีประกาศเกี่ยวกับการยื่นฎีการ้องทุกข์ของประชาชนหลายฉบับ แม้กระทั่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใกล้เสด็จสวรรคต ก็ยังมีพระราชหฤทัยห่วงใยในสันติสุขของประชาราษฎร มีพระราชดำรัสแก่ผู้เฝ้าพระอาการประชวรคือพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ที่สมุหกลาโหม เจ้าพระยาภูธราภัยที่สมุหนายก ว่า
“ถ้าสิ้นพระองค์ล่วงไปแล้วขอให้ท่านทั้งปวงจงช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดินต่อไปให้เรียบร้อยให้สมณพราหมณ์อาณาประชาราษฎร์ได้ที่พึ่ง อยู่เย็นเป็นสุขทั่วกัน ขอให้ทูลพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหม่ให้เอาเป็นพระราชธุระรับฎีกาของราษฎรอันมีทุกข์ร้อนให้ร้องได้สะดวกเหมือนพระองค์ได้ทรงรับเป็นพระธุระรับฎีกามาแต่ก่อน”
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตรากฎหมายเกี่ยวกับการถวายฎีกาทุกวันพระ เช่น แผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นบางวันไม่ได้เสด็จออกก็จะโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเสด็จออกทรงรับแทน และทรงกำหนดสถานที่และเวลา ตลอดจนเจ้าหน้าที่เพื่อให้เกิดความสะดวกเรียบร้อยในการถวายฎีกาด้วย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เช่นเดียวกันที่ทรงให้ความสำคัญแก่การถวายฎีการ้องทุกข์ของประชาชนตลอดระยะเวลาแห่งการครองราชย์สมบัติ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเยี่ยมราษฎรในท้องที่ต่างๆ เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรแหล่านั้นได้ดีขึ้น เราจะคุ้นตากับภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับฟังเรื่องราวและปัญหาต่างๆจากราษฎรในท้องที่นั้นๆ กราบทูลอย่างใกล้ชิดในโอกาสดังกล่าวราษฎร สามารถกราบทูลข้อเดือดร้อนของตนเองหรือร้องเรียนเรื่องไม่ได้รับความเป็นธรรมจากข้าราชการหรือจากราษฎรด้วยกันเองต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะทรงรับเรื่องราวเหล่านั้นและทรงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลให้ความเป็นธรรม อาจกล่าวได้ว่าทรงได้รับฎีการ้อ งทุกข์จากราษฎรที่เดือดร้อนไม่ว่าจากเหตุใด และได้พระราชทานความเป็นธรรมและความช่วยเหลือตามควรแก่กรณีแก่ราษฎรผู้ที่เดือดร้อนเหล่านั้นเป็นจำนวนมากมายเหลือคณานับ
มีราษฎรจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาประสบความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ที่นาได้รับความเสียหายอย่างหนักเพราะกรมชลประทานระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาทเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่อยู่เหนือเขื่อน ราษฎรคนนี้ได้มีโทรเลขกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัวขอพระราชทานความช่วยเหลือซึ่งพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระเมตตาโดยสั่งการให้กรมชลประทานลดประตูเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาทโดยให้ระบายน้ำแต่น้อย ประชาชนจึงรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
ฎีการ้องทุกข์ที่ราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าอยู่หัวโดยตรงมีจำนวนมากมาย ตั้งแต่เรื่องปลีกย่อยจนถึงเรื่องที่กระทบกับชนส่วนใหญ่ เช่น ขอพระราชทานยืมเงิน เรื่องโรคภัยไข้เจ็บ ขาดที่ดินทำกิน ขัดแย้งเรื่องที่ดิน เรื่องขอให้ได้ศึกษาต่อ ถูกกลั่นแกล้งให้ออกจากราชการ ขอพระราชทานงานทำ ฝนแล้ง น้ำท่วม จราจรติดขัด ฎีกาประเภทนี้ไม่มีอยู่ในกฎหมายไทย แต่เป็นช่องทางที่ราษฏรจะนำความกราบบังคมทูลพระเจ้าอยู่หัว ราษฎรมักจะถวายเวลาเสด็จพระราชดำเนินหรือไม่ก็ถวายผ่านราชเลขาธิการ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถทรงเคยมีรับสั่งเล่าให้นักข่าวหญิง ฟังเมื่อพ.ศ.๒๕๒๓ ถึงเรื่องการถวายฎีกาของประชาชนว่า ราษฎร มักจะถวายต่อพระราชหัตถ์ของพระเจ้าอยู่หัว แต่เจ้าหน้าที่ต้องตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยจนบางครั้งก็เกินเลยถึงขั้นตรวจสอบเนื้อหาและระวังยับยั้งไว้ ราษฎรจึงต้องหาวิธีการอื่น เช่น
“ชาวบ้านภาคใต้ที่ฉลาด รู้ด้วยว่าจะถวายฎีกานี้ต้องทำอย่างไรเอาซ่อนไว้ใต้ดอกไม้ แล้วเอาดอกไม้นั้นมาให้บอกว่า นั่นข้างล่างนะฎีกาอยู่ข้างล่าง (ทรงพระสรวล) รู้จักด้วยนะซ่อนไว้ไม่เช่นนั้นฎีกานี้ตำรวจเขาจะตรวจค้นก่อน”
และทรงเล่าอีกว่า
“…เห็นสิรินธรกับจุฬาภรณ์ไปแย่งฎีกาจากตำรวจ โดยมาเป็นตำรวจราชสำนัก เขาไม่อยากให้ยุ่งการเมือง คือประชาชนเห็นเราใกล้เข้ามาก็คงจะชักออกมาจากชายพกหรือตะกร้า ตำรวจก็แย่งมาเสีย สององค์นี่ก็ไปวิ่งแย่งจากมือตำรวจ (ทรงพระสรวล) เสร็จแล้วแม่เล็กบอกเล็กได้มาแล้วๆ….”
แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ทรงใส่พระทัยในปัญหาความเดือดร้อนและความทุกข์ยากของประชาชนของพระองค์เป็นอย่างยิ่ง ดังที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีรับสั่งว่า
“ฝรั่งชมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ไม่เหมือนใคร ทำให้สถาบันกษัตริย์ดำเนินอีกแนวหนึ่งเป็นแนวใหม่ที่ไม่มีในโลก ไม่มีที่ไหนในโลกที่พระมหากษัตริย์จะออกไปแล้วประชาชนนั่งเล่าถึงความทุกข์ แล้วก็พากันไปดูจนถึงหลังบ้าน”
นับเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ประชาชนรักพระมหากษัตริย์เหมือนลูกรักพ่อแม่เมื่อมีเรื่องเดือดร้อนก็นึกถึงพ่อแม่ให้ช่วยเหลือ
การพระราชทานอภัยโทษ
การพระราชทานอภัยโทษนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเกือบทุกฉบับ ได้กำหนดเอาไว้ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ” พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษนี้ครอบคลุมทั้งการอภัยโทษตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และกฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายว่าด้วยวินัยของข้าราชการ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่ราษฎร ทั้งในเรื่องฎีการ้องทุกข์และฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา และลดโทษแก่นักโทษซึ่งต้องโทษถือเป็นพระมหากรุณาธิคุณเกี่ยว กับชีวิตและอิสรภาพของราษฎรโดยตรง การพระราชทานอภัยโทษถือเป็นการอภัยทานอันยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์เพื่อให้ประชาชนของพระองค์ที่ต้องโทษได้มีโอกาสกลับตัวประพฤติตนเป็นพลเมืองดี และกลับมาบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ครอบครัวและประเทศชาติ และยังเป็นการรักษาทรัพยากรบุคคลที่ยังมีโอกาสพัฒนาได้เอาไว้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเอาพระราชหฤทัยใส่เรื่องฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเหล่านี้เป็นอันมาก ทรงอ่านฎีกาหรือข้อมูลในคดีทุกเรื่องด้วยพระองค์เองอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะทรงเห็นว่าเป็นเรื่องทุกข์สุขของอาณาประชาราษฎร์ ทรงช่วยให้นักโทษบางคนได้กลับมามีชีวิตใหม่และให้ได้รับความยุติธรรมอย่างที่เขาจะพึงได้รับในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง
เรื่องพระราชทานอภัยโทษนี้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตประธานองคมนตรีได้เคยให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์หลักไท ฉบับวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ ว่า
“อีกงานหนึ่งที่สำคัญมากตลอดปีก็คือมีการอภัยโทษฎีกานักโทษที่เขาถูกศาลพิพากษาเด็ดขาดแล้ว เขามีสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาจะขอพระราชทานอภัยโทษจากพระมหากษัตริย์ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย การขออภัยโทษในปีหนึ่งๆ มีตั้ง ๒–๓ ร้อยเรื่องทุกกรณีที่ขอมา แต่ที่เราเป็นห่วงมากคือเรื่องประหารชีวิตถ้าลดหย่อนไว้ชีวิตได้มีแต่พระมหากษัตริย์เท่านั้น และเราต้องถวายความเห็นโดยละเอียด ทั้งเหตุที่ทำให้เขาต้องฆ่าหรือทำผิดอะไร และข้อนี้ ถ้าจะให้ผมออกความเห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงตรวจเรื่องต่างๆ เหล่าหนี้ด้วยพระองค์เองจริง ๆ สังเกตุเห็นชัดตลอดมา โดยบางทีท่านส่งเรื่องกลับมาถามเราในบางเรื่องบางประเด็นที่เรานึกว่าไม่สำคัญแต่ท่านว่าเป็นความสำคัญ แปลว่าท่านดูเรื่องเหล่านี้ด้วยพระองค์เองตลอดเวลา นี่ในแง่พระราชกรณียกิจในเรื่องความยุติธรรม”
นอกจากผู้ต้องโทษชาวไทยที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณแล้ว นักโทษชาวต่างประเทศก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณด้วยเช่นเดียวกัน ดังที่นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรีได้เล่าไว้ในการแสดงปาฐกถาเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๓ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดังนี้
“นักโทษชาวต่างประเทศอีกรายหนึ่งเป็นนักโทษชาย ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิตกำลังป่วยหนักด้วยโรคเอดส์ในระยะปลาย จะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน อาจจะเพียงไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ ได้ทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษก็มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯพระราชทานอภัยโทษปล่อยตัว เพื่อให้มีโอกาสที่จะไปอยู่กับครอบครัวของตน ณ ถิ่นบ้านเกิดในวาระสุดท้ายแห่งชีวิต”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยในกรอบของกฎหมายและใช้เพื่อพระราชทานความยุติธรรมและพระมหากรุณาธิคุณโดยตลอดทุกเรื่องพระบรมราชวินิจฉัยและพระราชกระแสรับสั่งเกี่ยวกับฎีกานักโทษที่แสดงให้เห็นถึงพระเมตตากรุณาและความสุขุมคัมภีรภาพอย่างแท้จริง