การติดต่อส่งข่าวสารไปมาถึงกันของคนไทยในสมัยโบราณนั้น ถ้าเป็นเรื่องรีบร้อนสำคัญ ก็มักจะให้คนถือไป หากเป็นเรื่องธรรมดาไม่เร่งร้อนก็มักจะฝากไปกับพ่อค้า หรือคนเดินทางที่จะเดินผ่านไปทางนั้นๆ ส่วนในทางราชการ หากเป็นราชการเร่งร้อนสำคัญ ก็มีการแต่งข้าหลวงเชิญหนังสือ หรือ “ท้องตรา” หรือ “ใบบอก” ออกไปส่งยังที่หมายซึ่งอาจจะต้องขี่ช้าง ขี่ม้า ลงเรือ ลงแพ ตามลักษณะของภูมิประเทศ และเป็นหน้าที่ของกรมการเมืองรายทางที่ผ่านที่จะต้องจัดยานพาหนะพาไปส่งถึงเขตชายแดน ถ้าเป็นราชการไม่เร่งร้อน คณะกรรมการเมืองก็จัดคนให้ส่งหนังสือต่อๆ กันไป
ส่วนการส่งพระราชสาสน์ หรือหนังสือติดต่อกับประเทศนั้น มีวิธีใหญ่ๆ อยู่ 2 วิธี คือ
1. แต่งตั้งคณะทูตอัญเชิญพระราชสาสน์ไปยังประเทศที่จะติดต่อโดยตรง เช่น พระวิสุทธสุนทร (ปาน) อัญเชิญพระราชสาสน์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชไปถวายพระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส พระยามนตรีสุริยวงศ์เป็นราชทูตอัญเชิญพระราชสาสน์ และเครื่องราชบรรณาการของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปถวายสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แห่งอังกฤษ เป็นต้น
2. ทางราชสำนักฝากหนังสือผ่านคนกลาง ซึ่งโดยมากก็คือ พ่อค้า นายเรือ หรือเจ้าหน้าที่ของต่างประเทศเป็นสำคัญ
เป็นที่น่าสังเกตุ ว่าการติดต่อสื่อสารกันทางจดหมายในสมัยก่อนไม่ค่อยมีแพร่หลาย นอกจากจะมีสาเหตุจากความไม่สะดวกในการฝากส่ง และการเดินหนังสือไปมาถึงกันแล้ว ยังมีสาเหตุอื่น คือ การศึกษาเล่าเรียนของประชาชนมีจำกัด ในสมัยก่อนไม่มีโรงเรียน การศึกษาเล่าเรียนของพระบรมวงศานุวงศ์ หรือข้าราชการขุนนางชั้นผู้ใหญ่จึงมีอารจารย์สอนให้เฉพาะในวัง
ข้อมูลจากหนังสือ ตำนานไปรษณีย์ไทย หน้า ๑.