การติดต่อส่งข่าวสารระหว่างกันในสมัยแรกประมาณสามพันฟีก่อนคริสต์ศักราชนั้น คนทั่วไปใช้การจำข่าวสารและบอกกันเป็นทอดๆ ไปจนถึงผู้รับข่าวสารนั้น (memorized messages) พระเจ้าแผ่นดินหรือเจ้าผู้ครองนคร มักจะมีคนสื่อสารโดยเฉพาะ
ต่อมาเมื่อมีการประดิษฐ์ตัวอักษรขึ้นเพื่อใช้แทนเสียงที่พูดจากัน การใช้ตัวอักษรเขียนข่าวสารติดต่อสื่อสารก็เริ่มมีขึ้น ระบบการส่งข่าวสารก็วิวัฒนาการขึ้นเป็นลำดับ ในรัชสมัยพระจักรพรรดิออกัสตัส (Augustus, ๖๓ ปีก่อนคริสต์ศักราช ค.ศ. ๑๔) แห่งจักรวรรดิโรมัน ได้มีการจัดตั้งระบบการติดต่อทางไปรษณีย์ของทางราชการ (state post) ขึ้น มีการใช้ม้าในการส่งข่าวสาร มีการจัดตั้งสถานีที่พักสับเปลี่ยนเจ้าหน้าที่และม้า มีอาหารและที่พักพิงสำหรับเจ้าหน้าที่สื่อสาร และข้าราชบริพารที่เดินทางมาพัก เรียกว่า โพซิตัส (positus) แปลว่า ตั้งไว้ หรือกำหนดไว้ เชื่อว่าเป็นที่มาของคำว่า “post” (การไปรษณีย์) ในปัจจุบัน
ต่อมาในยุคกลางได้มีการใช้นกพิราบสื่อสาร (pigeon post) ซึ่งสามารถทำได้รวดเร็วและปลอดภัยกว่าวิธีการอื่นๆ ในระยะใกล้เคียงกัน ส่วนระบบการส่งข่าวสารเดิมคือ ม้าเร็ว หรือคนขี่ม้าก็ยังใช้อยู่ทั่วไป ใน พ.ศ. ๑๘๔๘ ในอิตาลี และสเปน มีการจัดตั้งบริษัทรับส่งข่าวสารขึ้น ดำเนินการโดยครอบครัวมีบทบาทสำคัญในการบริการรับส่งข่าวสารในยุโรปสมัยนั้น ส่วนเมืองที่ไม่มีบริการนี้ประชาชนก็ได้อาศัยฝากจดหมายและสิ่งของไปมากับพ่อค้าขายเนื้อซึ่งเดินทางไปหาซื้อเนื้อตามท้องถิ่นต่างๆ แทบทุกวัน
ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ การเดินทางไปมาหากันและการค้าขายเจริญมากขึ้น ความต้องการบริการไปรษณีย์ในหมู่ประชาชนในทุกประเทศจึงมีมากขึ้น หลายประเทศสั่งห้ามการรับส่งจดหมายของบริษัทและให้อำนาจสิทธิ์ขาดแก่หน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้น
ในระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ มีการไปรษณีย์เกิดขึ้นทั่วไปในแทบทุกประเทศ ในสหรัฐอเมริกามีการไปรษณีย์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองบอสตันในฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงวางรากฐานการไปรษณีย์หลวงของฝรั่งเศส ให้ทำการรับส่งจดหมาย ส่วนการไปรษณีย์ภายในตัวเมือง มีชาวฝรั่งเศสชื่อ เดอ วาลาเยร์ (De Valayer) คิดวิธีจัดตั้งไปรษณีย์ขนาดย่อมขึ้น โดยจัดตั้งตู้ไปรษณีย์ไว้ตามจุดต่างๆ ไขเก็บจดหมายวันละ ๓ ครั้ง นำจ่ายวันละ ๔ ครั้ง เขายังเสนอแนะให้ใช้กระดาษแผ่นเล็กๆ เขียนว่า “ใบเสร็จรับเงินค่านำส่ง” (receipt for the payment of transport) เพื่อจำหน่ายแก่ประชาชนที่ต้องการส่งจดหมาย เดอ วาลาเยร์ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดตั้งการไปรษณีย์ขนาดย่อมตามความคิดของเขาขึ้นในปารีส เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๑๙๖ ต่อมาก็ได้มีการไปรษณีย์ชนิดเดียวกันนี้ ที่เมืองสตราสบูร์ก (Strasbourg) และเมืองอื่นๆ สำหรับในชนบทนั้นมีการว่าจ้างคนเดินหนังสือเป็นรายปี
พ.ศ. ๒๒๒๓ มีพ่อค้าชาวอังกฤษชื่อ นายด็อควรา (Dockwra) เดินทางมาค้าขายที่ปารีสเสมอ จึงนำเอาแบบอย่างการไปรษณีย์ขนาดย่อมที่ปารีสไปใช้ที่ลอนดอน นอกจากนี้ ยังได้จัดทำตราประทับบอกวัน เดือน ปี และเวลาในการฝากส่ง นำเอาระบบการลงทะเบียนและการรับประกันมาใช้ในบริการของเขาด้วย ในจีน สมัยราชวงศ์ชิง (Ching dynasty, ค.ศ. ๑๖๖๒-๑๙๑๑) นั้น มีการส่งข่าวสารอยู่ ๒ ระบบ คือ การเดินหนังสือราชการธรรมดาและการเดินหนังสือด่วนครอบคลุมทั่วประเทศ มีม้าใช้เป็นพาหนะรับส่งและมีสถานีสับเปลี่ยนในเส้นทางทะเลทรายก็ใช้อูฐเป็นพาหนะ
นับแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา กิจการไปรษณีย์ได้รับการพัฒนาเจริญก้าวหน้ามาเป็นอันมาก ทั้งในตัวระบบการไปรษณีย์เอง และการใช้อุปกรณ์เครื่องมือตลอดจนยานพาหนะต่างๆ มีการใช้เรือกลไฟ และรถไฟในการขนส่งถุงไปรษณีย์ บริการไปรษณีย์ซึ่งแต่ก่อนมักจะมีอยู่แต่ในเมืองใหญ่ ในศตวรรษนี้ก็ขยายตัวออกไปยังภูมิภาคต่างๆ รัฐบาลของประเทศต่างๆ เริ่มซื้อกรรมสิทธิ์การจัดรับส่งไปรษณีย์กลับมาเป็นของรัฐบาล และดำเนินการเอง
ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๓๘๓ รัฐบาลอังกฤษได้พิมพ์แสตมป์ออกใช้ แสตมป์ดวงแรกของโลก คือ แสตมป์แบล็คเพนนี (black penny) เป็นภาพสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria, ค.ศ. ๑๘๑๙-๑๙๐๑, พระราชินีผู้ปกครองประเทศอังกฤษ) ราคาบนดวงหนึ่งเพนนี (one penny) ไม่มีชื่อประเทศกำกับ
ส่วนแสตมป์ที่มีราคาสูงที่สุดในโลก คือ แสตมป์สีม่วงแดง (black on margenta) ราคาบนดวง ๑ เซ็นต์ (one cent) ของประเทศกายอานาอังกฤษ แสตมป์ดวงนี้ออกใช้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๗ หลังจากเลิกใช้ไปนานถึง ๑๗ ปี ใน พ.ศ. ๒๔๑๖ เด็กชายวัยสิบขวบคนหนึ่งก็ได้พบโดยบังเอิญ และมีการซื้อขายเปลี่ยนมือเรื่อยมา ราคาที่ประมูลกัน ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นเงินประมาณ ๑ ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือ ๒๓ ล้านบาท เมื่อคิดเทียบตามอัตราการแลกเปลี่ยนเงินไทยในขณะนั้น
ใน พ.ศ. ๒๔๑๗ ได้มีการประชุมใหญ่การไปรษณีย์ระหว่างประเทศ ขึ้นที่กรุงเบอร์น (Bern) สวิตเซอร์แลนด์ มีประเทศต่างๆ เข้าร่วมประชุม ๒๒ ประเทศ ทำให้มีการจัดตั้งสหภาพสากลไปรษณีย์ (Universal Postal Union) ขึ้น เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๙ ซึ่งถือเป็นสหภาพสากลไปรษณีย์ (UPU Day) มาจนทุกวันนี้ และนับแต่ตอนกลางของคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ เป็นต้นมา วิทยาการสมัยใหม่ก้าวหน้ามาอย่างรวดเร็ว มีการประดิษฐ์คิดค้นเครื่องจักรใหม่ๆ มาใช้ผ่อนแรง นำเครื่องจักรกลต่างๆ มาใช้ในการปฏิบัติงานมากขึ้น เช่น เครื่องประทับขีดฆ่าตราไปรษณียากร เครื่องเรียงจดหมาย และอื่นๆ มีการส่งดาวเทียมเพื่อการสื่อสารออกไปโคจรรอบโลก รวมทั้งมีการเปิดบริการใหม่ๆ แก่ประชาชนเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ.
ข้อมูลจากหนังสือ ตำนานไปรษณีย์ไทย หน้า ๑๙๓-๑๙๕