-
Category: เก็บตก ... คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม
-
Published on Tuesday, 05 April 2016 04:21
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2417
เดินเท้า ขึ้นเขา ทำบุญที่
ปราสาทตาเมือน
อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์
“ซแร็ย เติว ข่าง เนาะ...เปร๊าะ โม ข่าง แนะ” (ความหมายคือ ผู้หญิงให้เดินฝั่งโน้น ผู้ชายให้เดินฝั่งนี้)
เสียงจากชายวัยกลางคนในชุดเครื่องแบบทหารเขมรตะโกนบอกพี่น้องชาวเขมรที่กำลังเดินผ่านประตูรั้วลวดหนามกว้างวาเศษซึ่งกั้นพรมแดนไทย-กัมพูชา บริเวณ ช่องตาเมือน ด้านหน้าบันไดทางขึ้น ปราสาทตาเมือนธม บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์
วันนั้นเป็นวันเสาร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ.2551 พี่น้องชาวเขมรจำนวนกว่า 40,000 คน จากหลายหมู่บ้านตามแนวชายแดนพนมดองแร็ก (เขาไม้คาน) ประเทศกัมพูชา เช่น บ้านกบาลคลา (หัวเสือ) บ้านอำปึล (มะขาม) บ้าน ตระเปียงกะปั๊วะ (สระสูง) บ้านตึ๊กชุม บ้านปวงตึ๊ก บ้านสังแกเวียน บ้านตระเปียงกรอม ฯลฯ อำเภอบันเตียอำปึล จังหวัดอุดรมีชัย ได้เดินเท้าลัดเลาะขึ้นพนมดองแร็ก ซึ่งสองข้างทางยังเต็มไปด้วยกับระเบิดที่ยังไม่ได้เก็บกู้เป็นจำนวนมาก
ผ่านช่อง “ตาเมือน” (ในสำเนียงไทย หรือช่อง “ตาม็อล” ในสำเนียงเขมร) มาทำบุญไหว้พระยังฝั่งไทย ในงานประเพณี “เยี่ยมเยือนปราสาทตาเมือน เดือนเมษายน” ซึ่งจัดโดยองค์การบริหารส่วนตำบลตาเมียง อำเภอพนมดงรัก จังหวัดสุรินทร์ ในงานมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านสุรินทร์และกัมพูชา การประกวดธิดาตาเมือน การแข่งขันชกมวยไทย-กัมพูชา การจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง และการวาดภาพปราสาทตาเมือนโดยนักเรียนจากโรงเรียนในละแวกนั้น ฯลฯ
คุณทองใบ จิตรเจียน นายก อบต.ตาเมียง เล่าว่า “เมื่อปีก่อนเราทำบัตรผ่านแดนสำหรับชาวกัมพูชาไว้ 35,000 ใบ แต่บัตรหมด มีคนมาเยอะเกินกว่าจำนวนบัตร คนที่เหลือจึงต้องใช้วิธีปั๊มข้อมือ ปีนี้คาดว่าคนจะมามากกว่าปีก่อน” ชาวไทย-เขมรในจังหวัดสุรินทร์ และชาวเขมรในจังหวัดอุดรมีชัย ประเทศกัมพูชา เรียกประเพณีงานบุญในเดือนเมษายนว่า “บ็อนแคเจตร” ถือเป็นเดือนแห่งการทำบุญไหว้พระ โดยจะมีการหยุดงาน 2 ช่วงคือ
1. “ไงตอมตู๊ย” (วันหยุดเล็ก) จะหยุดงานเป็นเวลา 3 วัน นับจากวันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 5 และ
2. “ไงตอมธม” (วันหยุดใหญ่) จะหยุดงาน 7 วัน นับจากวันแรม 1 ค่ำ ถึงวันแรม 7 ค่ำ เดือน 5 เป็นการหยุดการทำงานทั้งหลายทั้งปวงเพื่อให้ผู้คนได้ไปทำบุญไหว้พระ ประเพณีนี้สืบทอดกันมายาวนานแต่โบราณกาล
ประเพณี “เลิงพนมดองแร็ก” (ขึ้นเขาดองแร็ก) ที่ปราสาทตาเมือน ก็คงทำนองเดียวกับประเพณีขึ้นพนมสวาย ตำบลนาบัว จังหวัดสุรินทร์ และประเพณีขึ้นพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งมีขึ้นในช่วง “บ็อนแคเจตร” เหมือนกัน โดยชาวบ้านจากทั่วสารทิศ จะเดินขึ้นเขาเพื่อไปไหว้พระ และกระทำบุญกิริยา
หากยืนอยู่ที่หมู่บ้านเชิงพนมดองแร็ก ในประเทศกัมพูชา “ปราสาทตาเมือนธม” ก็เหมือนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่บนยอดเขา เชื่อว่าประเพณี “เลิงพนม” ทำบุญไหว้พระคงมีมาแต่โบราณกาล ก่อนที่จะมีเส้นแบ่งพรมแดนประเทศด้วยซ้ำไป ผู้คนสองฝั่งพนมถูกแยกจากกันด้วยเส้นแบ่งประเทศในยุคหลัง แต่กระนั้นก็ยังมีการไปมาหาสู่กัน ทั้งด้านการค้าขาย การแต่งงาน การผูกญาติผูกมิตร และการมีวัฒนธรรมประเพณีร่วมกัน ต่อมาก็ยังถูกซ้ำเติมด้วยภัยสงครามอันโหดร้าย นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 เป็นต้นมา ช่องทางเดินต่างๆ ของพนมดองแร็ก ซึ่งเป็นเสมือนถนนสายวัฒนธรรมก็ถูกปิดตายกว่าสงครามจะสงบ กว่าบาดแผลของสงครามจะได้รับการเยียวยา ก็กินเวลายาวนานหลายสิบปี
จวบจนกระทั่งเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้เอง ที่บางช่องของพนมดองแร็กได้เริ่มเปิดแง้มต้อนรับผู้คนจากสองฝั่งฟ้าได้มาพบกันอีกครั้งหนึ่งงานบุญวันนั้น พี่น้องชาวเขมรที่มีบ้านเรือนอยู่ใกล้กับพนมดองแร็กก็ไม่ยุ่งยากนักกับการเดินทางขึ้นมาทำบุญที่ปราสาทตาเมือน แต่สำหรับคนที่อยู่ไกลออกไป บางคนมาไกลจากเมืองพนมเปญ อันลองเวง เสียมเรียบ พระตะบอง ฯลฯ บ้างก็เหมารถยนต์ บ้างก็นั่งรถอีแต๋นหรือรถไถนามากันเป็นกลุ่มๆ ตั้งแต่เย็นย่ำของวันที่ 11 เมษายน โดยจอดรถไว้ห่างจากพนมดองแร็กราว 5-7 กิโลเมตร จากนั้นก็เดินเท้าไปทำบุญที่วัด แล้วแยกย้ายกันหลับนอนตามบ้านญาติพี่น้องหรือคนรู้จัก บางกลุ่มก็นอนตามวัดวาอาราม แล้วตื่นแต่เช้ามืด ก่อนดวงอาทิตย์จะโผล่พ้นขอบฟ้า เริ่มเดินเท้าไต่เลาะขึ้นพนมดองแร็ก โดยใช้เวลาชั่วโมงเศษๆ ก็ขึ้นไปถึงปราสาทตาเมือนธม
“คุณตาเอือม” ชาวบ้านโคกม็อล ซึ่งนั่งรถไถรับจ้างมา โดยจ่ายค่าโดยสาร 25 บาท บอกว่า คุณพ่อมีญาติพี่น้องอยู่ที่บ้านตาเมียงในฝั่งไทย (ห่างจากปราสาทตาเมือนราว 8 กิโลเมตร) ท่านไม่ได้พบกับญาติพี่น้อง 30 กว่าปีมาแล้ว แต่ก็ยืนยันว่าหากได้เจอะเจอหน้าอีกครั้งก็ยังจำได้
“เมือด” ในวัยสี่สิบต้นๆ เขาพาลูกๆ และหลานๆ เดินขึ้นพนมดองแร็กมาตั้งแต่เช้ามืด เขาบอกว่าเพิ่งจะมาเป็นครั้งแรก โดยได้ยินได้ฟังมาจากคนเฒ่าคนแก่บอกเล่าต่อๆ กันมา ตัวเขาเองก็อยากจะได้เห็นและมาทำบุญสักครั้งหนึ่ง
หญิงสาวอีกผู้หนึ่งมากับเพื่อน 2 คน เธอบอกว่าเคยมาแล้ว 3 ครั้ง ถ้าปีไหนไม่ได้มาก็จะ “เวีย มัน ซรูล คลูน” (ไม่สบายตัวหรือเจ็บไข้ได้ป่วย) ผู้สูงอายุหลายคนหอบสังขารอันอ่อนล้ามาโดยหวังว่าหากโชคดีก็อาจจะได้พบกับญาติพี่น้องทางฝั่งไทย พี่น้องชาวเขมรบางคนนำสินค้ามาจำหน่าย สินค้าส่วนใหญ่ก็หาได้จากธรรมชาติสองข้างทาง เช่น ดอกกระเจียว ผักหวาน ไข่มดแดง มันเทียน ยอดหวาย ผักกูด ผักติ้ว ฯลฯ ตลอดจนขนมพื้นบ้านที่พบเห็นตามงานเทศกาลต่างๆ เช่น ขนมกันเตรือม ขนมโชก (ฝักบัว) ขนมเนียงเล็ด (นางเล็ด) ฯลฯ บรรยากาศการซื้อขายเป็นไปอย่างสนุกสนาน ชาวไทยมะรุมมะตุ้มซื้อหากันชื่นมื่น มีการพูดจาหยอกเย้ากันอย่างคนคุ้นเคย
ภายหลังจากไหว้พระทำบุญ เดินชมการละเล่นพื้นบ้านต่างๆ แล้ว พี่น้องชาวเขมรก็ดูจะสนุกสนานกับการเดินจับจ่ายซื้อหาสิ่งของที่ชาวบ้านทางฝั่งไทยนำมาจำหน่าย ส่วนใหญ่เป็นผลไม้ เช่น มะไฟ แตงโม ขนุน ฯลฯ เมื่อเห็นมะไฟ และแตงโมกองสูงๆ จำนวนมากก็อดถามคนขายไม่ได้ว่า “จะขายหมดหรือ?” คำตอบที่ได้ก็คือ “มีเท่าไหร่ก็หมด”
จากนั้นบ่าย 2 โมงเศษ พี่น้องชาวเขมรก็เริ่มทยอยกันเดินทางกลับ บางคนหาบมะไฟ และแตงโมเป็นกระสอบๆ โดยด่านพรมแดนจะปิดในเวลาบ่าย 4 โมงเย็น ซึ่งก็มีผู้คนตกค้างอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ก็อะลุ้มอล่วยผ่อนปรน ไม่ได้เคร่งครัดอะไรมากนัก คนเขมรล่างชาวกัมพูชา (ขแมร์กรอม) ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเชิงพนมดองแร็กใกล้กับปราสาทตาเมือน กับคนเขมรสูงชาวเขมรสุรินทร์ (ขแมร์ลือ) เมื่อดูจากผิวพรรณหน้าตา และรูปร่างท่าทาง ราวกับว่าถอดออกมาจากเบ้าหลอมของมารดาเดียวกัน แทบแยกไม่ออกว่าเป็นคนเขมรหรือคนไทย ยังไม่ต้องพูดถึงสำเนียงภาษาที่พูดจากัน นอกจากความหมายของคำที่แทบจะเหมือนกันทุกคำแล้ว สำเนียงที่เปล่งออกมาก็ยังอยู่ในท่วงทำนองเดียวกัน...แม้แต่คำด่าหลายๆ คำก็ยังเหมือนกันเลยครับ...นี่คืองานบุญที่กลั่นจากวิญญาณของคนพื้นถิ่นอย่างแท้จริง
ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 /หน้า 20