ทะเลอันดามัน "มรดกโลก" “เกาะแก้วพิสดาร” ในพระอภัยมณีของสุนทรภู่

พระอภัยมณีกลางทะเลอันดามัน
“พระอภัยมณี” ของสุนทรภู่เป็นวรรณคดีระดับนานาชาติ เพราะใช้ฉากและตัวละครถึงค่อนโลก มีฉากและตัวละครหลักๆ อยู่ในภูมิภาคอุษาคเนย์ทั้งผืนแผ่นดินใหญ่ถึงหมู่เกาะและเหตุการณ์ส่วนใหญ่เกิดในทะเลเกือบทั้งหมด ทะเลในเรื่องพระอภัยมณีไม่ใช่อ่าวไทย หรือ “ทะเลหน้าใน” ซึ่งอยู่ทางตะวันออกของประเทศไทย แต่เป็น “ทะเลหน้านอก” ทางฟากตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล และมหาสมุทรอินเดีย (มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือ ภูมิศาสตร์สุนทรภู่ ของ กาญจนาคพันธุ์) ทะเล “นาควารินทร์สินธุ์สมุทร”  ที่เป็นศูนย์กลางของเรื่องพระอภัยมณีก็คือ ทะเลอันดามันและอ่าวเบงกอล  อยู่บนเส้นทางคมนาคมการค้านานาชาติที่เชื่อมระหว่าง“ตะวันตก-ตะวันออก”ฉะนั้นจึงมีกำปั่นจากบ้านเมืองต่างๆ ผ่านไป-มามากมาย
 
สุนทรภู่กำหนดให้เกาะแก้วพิสดารเป็นสถานชุมนุมพวกเรือแตกในทะเลอันดามันด้วย เมื่อพระอภัยมณีมีอันเป็นไปต้องอยู่เกาะแก้วพิสดารจึงมี “สานุศิษย์” เป็นชาวนานาชาติหลายภาษาแต่การพิจารณาเรื่องฉากใน “นิยาย” เรื่องพระอภัยมณีนี้ไม่อาจจับตัววางตายแน่นอนให้ตรงใจสุนทรภู่ได้ทั้งหมด เพราะ “นิยาย” ก็คือ “นิยาย” ที่ใช้ทั้งสถานที่จริงเป็นฉากก็ได้ และใช้จินตนาการที่สร้างขึ้นเองโดยไม่จำเป็นต้องมีอยู่จริงในโลก เป็นฉากก็ได้    
 
นาควารินทร์สินธุ์สมุทรศูนย์กลางของพระอภัยมณี
เรื่องพระอภัยมณีมีต้นเหตุเกิดเมื่อท้าวสิลราชเจ้าเมืองผลึกพาลูกสาวชื่อ สุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเลแล้วถูกพายุ “ถึงเจ็ดวันเจ็ดคืนเป็นคลื่นคลั่ง  เรือที่นั่งซัดไปไกลนักหนา จนพ้นแดนแผ่นดินสิ้นสายตา ไม่รู้ว่าจะไปหนตำบลใด” จึงตั้งพิธีเซ่นผีปู่เจ้าเพื่อถามทางว่าอยู่ที่ไหน? แล้วจะต้องกลับบ้านเมืองทางไหน?    ปู่เจ้าบอก (ตอนเมาๆ) ว่า   
 
ฝ่ายปู่เจ้าหาวเรอเผยอหน้า          นั่งหลับตาเซื่องซึมดื่มอาหนี 
แล้วว่ากูปู่เจ้าเขาคีรี                   ทะเลนี้มิใช่แคว้นแดนมนุษย
ปรอทแร่แม่เหล็กก็มีมาก             ชื่อว่า นาควารินทร์ สินธุ์สมุทร 
ฝูงนาคมาอาศัยด้วยไกลครุฑ       ถ้ายั้งหยุดอยู่ที่นี่จะมีภัย 
จงตัดคลื่นฝืนไปทิศอิสาน           จะพบพานผู้วิเศษข้างเพทไสย
จึงซักถามตามประสงค์จำนงใจ     จงรีบไปเถิดออเจ้าเราจะลา
 
เมื่อมุ่งไปทางทิศอิสานก็ได้พบ-พระฤๅษีเกาะแก้วพิสดาร พบพระอภัยมณีกับสินสมุทร  พบใครต่อใครอีกมากมาย  แล้วเรื่องวุ่นๆ ทั้งหลายก็เกิดขึ้นรอบๆ ทะเล “นาควารินทร์สินธุ์สมุทร” นี่ทั้งนั้น ชื่อนี้สุนทรภู่เอามาจากเกาะนาควารี หรือ Nicobar  Islands อยู่กลางทะเลอันดามันซึ่งมีเกาะใหญ่น้อยจำนวนมากเรียงรายตามแนวเหนือใต้  แต่มีหมู่เกาะใหญ่และสำคัญ 2 หมู่ยาวต่อเนื่องกันคือ หมู่เกาะอันดามัน (Andaman  Islands) อยู่ตอนบน  กับ หมู่เกาะนิโคบาร์ (Nicobar  Islands) อยู่ตอนล่าง (สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นยึดเป็นฐานทัพ แต่หลังสงครามตกเป็นเขตของอินเดียจนถึงปัจจุบัน) 
 
หมู่เกาะ 2 หมู่นี้  อยู่บนเส้นทางคมนาคมการค้าสมัยโบราณ ระหว่างภูมิภาคอุษาคเนย์กับบ้านเมืองแถบตะวันตก คือ อินเดีย  ลังกา  และยุโรป  จึงมีเอกสารกล่าวถึงเสมอๆ  โดยเฉพาะหมู่เกาะนิโคบาร์เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “นาควารี” และชื่ออื่นๆ อีกหลายชื่อ  ชื่อ “นิโคบาร์” เพี้ยนมาจากชื่อ “นาควาระ” หมายถึงถิ่นนาค หรืองู หรือคนเปลือย  เป็นชื่อเรียกที่เหยียดคนพื้นเมืองลงเป็นสัตว์เลื้อยคลาน ในสมุดภาพไตรภูมิ ทำขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี  และยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เขียนแผนที่โบราณระบุเมืองท่าชายฝั่งจนถึงลังกา  ต้องมีชื่อและภาพ นาควารีเกาะคนเปลือย  ทุกฉบับ แสดงว่าเป็นสถานที่สำคัญระหว่างทางไปอินเดีย-ลังกา และเป็นที่รู้จักกว้างขวางในหมู่นักเดินเรือครั้งนั้น สมัยปลายกรุงศรีอยุธยาในแผ่นดินพระเจ้าบรมโกศ มีคณะสงฆ์จากราชอาณาจักรสยาม เดินทางไปประดิษฐานสยามวงศ์ในลังกาเมื่อ พ.ศ.2298 ต้องไปทางเรืออ้อมแหลมมลายูผ่านเมืองมะลักกา มีบันทึกอยู่ในหนังสือ “เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป” (พระนิพนธ์  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรง ราชานุภาพ) ว่าต้องผ่านเกาะอันดามันกับเกาะนาควารีหรือนิโคบาร์ ครั้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ส่งพระสงฆ์ไปลังกาอีกเมื่อ พ.ศ.2357 คราวนี้ให้พระสงฆ์อาศัยเรือ ค้าช้างของพ่อค้าลงเรือที่ควนธานีเมืองตรัง ผ่านเกาะยาวหน้าเกาะถลาง  แล้วไปเกาะนาควารีใช้เวลา 6 วัน 
 
 
 
สรุปว่า  สุนทรภู่ได้ชื่อทะเล “นาควารินทร์สินธุ์สมุทร”   มาจากชื่อเกาะนาควารีหรือนิโคบาร์ในสมุดภาพไตรภูมิ  แล้วสมมุติให้ทะเลนาควารินทร์นี้กว้างไกลมหาศาล จึงอาจหมายถึงทะเลอันดามัน-อ่าว เบงกอล-และมหาสมุทรอินเดียทั้งหมดก็ได้
 
เกาะแก้วพิสดารเกาะในจินตนาการสุนทรภู่
เมื่อท้าวสิลราชเจ้าเมืองผลึกกับลูกสาวคือสุวรรณมาลี  ติดมรสุมอยู่กลางมหาสมุทร(อินเดีย) ปู่เจ้าบอกทางรอดว่า “จงตัดคลื่นฝืนไปทิศอิสาน จะพบพานผู้วิเศษข้างเพทไสย” เมื่อมุ่งไปทางทิศอิสานก็ได้พบ-พระฤๅษีเกาะแก้วพิสดาร-จริงๆ แสดงว่าเกาะแก้วพิสดารอยู่ในเขตทะเลอันดามันหรือที่ใดที่หนึ่งของมหาสมุทรอินเดีย ไม่ใช่ “เกาะเสม็ด” ในอ่าวไทยที่จังหวัดระยองอย่างที่เข้าใจกัน
 
ทะเลอันดามันไม่ได้มีเพียงหมู่เกาะนาควารี แต่มีหมู่เกาะอันดามันและหมู่เกาะอื่นๆ เป็นพืดยืดยาวตามแนวพม่าลงไปถึงสุมาตราของอินโดนีเซียโน่น แม้เกาะของนางผีเสื้อสมุทร สุนทรภู่ก็กำหนดให้อยู่ในบริเวณนี้ด้วย  คำว่า “ปีศาจ” - “ยักษ์”-“นาค”รวมทั้ง “ผีเสื้อ” (มาจาก“ผีเชื้อ”) ล้วนหมายถึงคนพื้นเมือง และดูเหมือนว่าเกาะอันเป็นถิ่นของนางผีเสื้อสมุทรจะอยู่ค่อนไปทางตอนบนแถบหมู่เกาะอันดามัน ที่บันทึกของพระสงฆ์บอกว่ามีมนุษย์กินคน ดังปากคำของนางเงือกที่บอกกับพระอภัยมณีระบุชัดเจนว่าบริเวณนี้มี“สำเภาชาวเกาะเมืองลังกา”แล่นผ่านไป-มาอยู่ด้วย แสดงว่าอยู่บนเส้นทางคมนาคมการค้าแถบทะเลอันดามันชัดเจน บนเส้นทางคมนาคมการค้าในทะเลอันดามันนี้เอง มี “เกาะแก้วพิสดาร” ของพระฤๅษีผู้วิเศษอยู่ด้วย ฉะนั้นจึงมี “ พวกเรือแตกแขกฝรั่งแลอังกฤษ ขึ้นเป็นศิษย์อยู่สำนักนั้นนักหนา”เกาะแก้วพิสดารในจินตนาการของสุนทรภู่มีลักษณะ “อุดมคติสูง” มาก ดังกลอนว่า
 
อันเกาะแก้วพิสดารสถานนี้         โภชนาสาลีก็มีถม
แต่คราวหลังครั้งสมุทรโคดม       มาสร้างสมสิกขาสมาทาน
เธอทำไร่ไว้ที่ริมถูเขาหลวง         ครั้นแตกรวงออกมาเล่าเป็นข้าวสาร
ได้สืบพืชยืดอยู่แต่บูราณ            จงคิดอ่านมาเคียวมาเกี่ยวไป
 
 
 
เรื่อง “โภชนาสาลีก็มีถม” นี้ “กาญจนาคพันธุ์” ได้สืบค้นนิทานปรัมปราของอินโดนีเซียเกี่ยวกับกำเนิดพันธุ์ข้าวในเกาะชวา เข้าใจว่าสุนทรภู่รู้นิยายปรัมปราของชาวนี้ดีจึงสร้างเรื่องให้เกาะแก้วพิสดารมีข้าวเลี้ยงคนจำนวนมากได้ ข้าวปลาอาหารบนเกาะแก้วพิสดารที่อุดมสมบูรณ์นั้น มีทั้งข้างเหนียว ข้าวจ้าว ข้าวฟ่าง และข้าวโพด หมายความว่าคนที่อยู่บนเกาะนี้ไม่ได้กินเผือกกินมันเหมือนพวกอันดามันกับพวกนาควารี
 
สรุปว่า  เกาะแก้วพิสดารในจินตนาการของสุนทรภู่อยู่ทางตอนใต้ของทะเลอันดามันค่อนลงไปทางเกาะสุมาตรากับเกาะชวาของอินโดนีเซีย.
 
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2551/หน้า 20