-
Category: เก็บตก ... คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม
-
Published on Tuesday, 05 April 2016 03:44
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 3366
วิชาความรู้หลายเรื่องล้าสมัยหรือไม่มีหลักฐานและร่องรอยสืบเนื่องรองรับสนับสนุน แต่พากันเชื่อถือสืบต่อมาโดยไม่มีสถาบันการศึกษาค้นคว้าตรวจสอบ ทำให้วิชาความรู้ที่ยกย่องล้วนบกพร่องผิดพลาด เช่น อ้างว่าเรือพระราชพิธีมีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ทั้งๆ ไม่มีหลักฐานเลย ส่วนที่อ้างอิงตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือนางนพมาศ ก็เป็นหนังสือแต่งใหม่สมัยรัชกาลที่ 3 กรุงรัตนโกสินทร์ เรือพระราชพิธีในเรื่องจึงเป็นสมัยรัตนโกสินทร์ไม่ใช่สมัยกรุงสุโขทัยตามที่อ้างอิงยกย่องกัน
เรือพระราชพิธี มาจากไหน ? เมื่อไร ?
เรือพระราชพิธี มีต้นกระแสพัฒนาการจากเรือศักดิ์สิทธิ์ของกลุ่มชาติพันธ์สุวรรณภูมิราว 3,000 ปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย
เรือศักดิ์สิทธิ์ มีหลักฐานให้เห็นเป็นรูปลายเส้นสลักบนกลองทอง (สัมฤทธิ์) หรือมโหระทึก เมื่อไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว พบในประเทศไทย, เวียดนาม, จีน, ที่มณฑลกวางสี และที่อื่นๆ ในสุวรรณภูมิบริเวณอุษาคเนย์ แสดงว่าชุมชนและบ้านเมืองยุคดึกดำบรรพ์ในภูมิภาคนี้ล้วนมีเรือศักดิ์สิทธิ์ที่จะเติบโตเป็นเรือพระราชพิธีเหมือนกันทุกแห่ง มิได้มีเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น
พิธีพระบรมศพของกษัตริย์เวียดนามสมัยก่อนด้านบนเป็นลายเส้นกระบวนเรือในพิธีพระบรมศพ
(เขียนเมื่อ ค.ศ.1782) จาก Encyclopedia HANOI VIETNAM, 2000
เรือ มีรูปร่างจากงู ที่ต่อมาเรียกนาค (ตามคำละตินและบาลี) หัวเรือมีรูปเป็นงูหรือนาค ส่วนหางเรือเรียวยาวไปเป็นงูหรือนาคนั่นเอง คนสุวรรณภูมิทุกชาติพันธุ์ รวมทั้งบรรพชนคนไทยทุกวันนี้ มีความเชื่องู เรียก นาค เป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ หรือเป็นสัตว์บรรพบุรุษ สถิตอยู่บาดาลคือใต้ดิน เมื่อคนตายลงต้องกลับไปหาบรรพบุรุษในถิ่นเดิม คือโลกบาดาลอยู่ใต้ดิน งู หรือนาคเท่านั้น จะพากลับได้ปลอดภัย คนดึกดำบรรพ์สุวรรณภูมิเลยทำเรือรูปงูหรือนาคเป็นพาหนะใส่ศพรับกลับไปบาดาล หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ทำโลงศพด้วยไม้เป็นรูปงูหรือนาคแล้วเรียกภายหลังว่าเรือ ยามปกติคนยุคดึกดำบรรพ์ของสุวรรณภูมิทุกชาติพันธุ์ ยกย่องงูหรือนาคเป็นสัตว์ศักดิ์ศิทธิ์ปกป้องคุ้มครองจากสิ่งชั่วร้ายอื่นๆ จึงเดินทางด้วยพาหนะศักดิ์สิทธิ์คือเรือรูปงูหรือนาค แล้วยังใช้ทำพิธีกรรมอื่นๆ อีก เช่น เสี่ยงทาย เป็นต้น แสดงออกโดยการแข่งเรือ หลังรับศาสนาพราหมณ์-พุทธจากอินเดีย (ชมพูทวีป) แล้วมีราชสำนักขึ้นในบ้านเมืองและรัฐตั้งแต่ราวหลัง พ.ศ. 1,000 ลงมา ราชสำนักในภูมิภาคนี้ล้วนรับความเชื่อสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ของพราหมณ์ที่นำเข้ามาใหม่ เช่น นาค เป็นแท่นบรรทมพระนารายณ์, หงส์เป็นพาหนะของพระพรหมฯลฯ ก็เริ่มดัดแปลงหัวเรือที่มีมาก่อนให้เป็นรูปสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ตามคติในศาสนาพราหมณ์ เพื่อยกย่องพระเจ้าแผ่นดินที่ประทับในเรือให้เป็นเทวดาตามคติพราหมณ์ นานเข้าก็มีเรือพระราชพิธีเพิ่มมากขึ้นจนเป็นขบวนเรียก ขบวนเรือพระราชพิธีสืบเนื่องถึงปัจจุบัน
เห่เรือ มาจากไหน? เมื่อไร?
เห่เรือในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นประเพณีที่เพิ่งสร้างใหม่ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ น่าเชื่อว่าเริ่มมีในละครและเพลงดนตรีที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงสร้างสรรค์ขึ้นในแผ่นดินพระพุทธเจ้าหลวงรัชกาลที่ 5 เพราะถึงขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานตรงว่ายุคกรุงศรีอยุธยามีเห่เรือแบบเดียวกับที่มีทุกวันนี้ แต่มีผู้พบว่าแรกมีในรัชกาลที่ 4 แล้ว
เห่เรือ ทุกวันนี้หมายถึงขับลำนำเป็นทำนองอย่างหนึ่งในขบวนเรือพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารค มีต้นเสียงเห่นำ แล้วมีลูกคู่เห่ตาม แต่
เห่ หมายถึงทำนองขับลำนำเพื่อวิงวอนร้องขอหรือทำให้เพลินใจแล้วเคลิบเคลิ้มถึงหลับไปก็ได้ บางทีก็ใช้ควบคู่กับกล่อม คือ เห่กล่อมพระบรรทมถวาย เจ้านายเมื่อจะทรงบรรทม
กล่อม หมายถึงร้องเป็นทำนองเพื่อเล้าโลมใจ เช่น กล่อมเด็กคือร้องลำนำกล่อมให้เด็กเพลินจนนอนหลับ กล่อมหอ ขับร้องหรือเล่นดนตรีบนเรือหอเพื่อให้รื่นเริงในพิธีแต่งงาน ฯลฯ
ในพิธีพราหมณ์สยาม มีพิธี กล่อมหงส์ เป็นทำนองอย่างหนึ่งเรียกช้าเจ้าหงส์ คือเอาเทวดาลงเปล แล้วไกวพร้อมกล่อมช้าเจ้าหงส์ เป็นต้น ในกฎมณเฑียรบาลยุคต้นกรุงศรีอยุธยาไม่มีกล่าวถึงเห่เรือ จะมีก็แต่การละเล่นเพลงเรือของราษฎรทั่วไป ที่มีโห่ร้องแล้วมีเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย ดีดสี ตีเป่า ประกอบด้วย แต่เห่เรือต่างจากโห่ร้อง ฉะนั้นอย่าเอาไปปนกัน
ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เป็นพิธีกรรมทางน้ำที่พระเจ้าแผ่นดิน
ครั้งกรุงศรีอยุธยาต้องเสด็จมาประกอบพิธีเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร
ภาพลายเส้นเป็นฝีมือของชาวยุโรปที่เข้ามาสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1688
ทวาทศมาส ไม่มีเห่เรือ
วรรณคดีเก่าสุดยุคต้นกรุงศรีอยุธยาแต่งเรื่องราว พ.ศ. 2,000 พรรณนาประเพณีพิธีกรรม 12 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน 5 ราศีเมษ ตามคติพราหมณ์ พอถึงเดือน 11 มีแข่งเรือ เดือน 12 มีลอยโคม (ปัจจุบันเรียกลอยกระทง) แต่โคลงดั้นที่พรรณนากระบวนเรือ “ไกรสรมุข” และ “ศรีสมรรถไชย” ไม่มีกล่าวถึงเห่เรือ หรืออื่นใดที่เกี่ยวข้อง กับเห่กล่อมเลยดังโคลงดั้นพรรณนาเริ่มต้นฤดูแข่งเรือเดือน 11 อาสยุช
ถ้าจะเกี่ยวข้องเห่เรือบ้างแม้จะไม่กล่าวถึงโดยตรง แต่ชวนให้เชื่อได้ว่ามีพิธีขับลำนำเป็นทำนองวิงวอนร้องขอเช่น ขอขมาดินและน้ำ ฯลฯ ก็จะมีในพิธีบริเวณตำบลบางขดานทวาทศมาสโคลงดั้น ระบุตำบลย่านที่ทำพิธีไล่น้ำชื่อบางขดาน มีเอกสารระบุว่าอยู่ใต้ขนอนหลวงวัดโปรดสัตว์ที่แห่งนี้เมื่อ พ.ศ. 2129 สมเด็จพระนเรศวรฯ เคยยกทัพมาตั้งค่าย มีปรากฎในพระราชพงศาวดารว่า “ครั้งนั้นเสดจ์ออกไปประชุมพลทั้งปวง ณ บางกะดาน เถิง ณ วันพฤหัสบดี ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 เพลาอุษาโยค เสด็จพยุหยาตราจากบางกะดานไปตั้งทัพชัย ณ ชายเคือง แล้วเสด็จไปละแวก ครั้งนั้นได้ช้างม้าผู้คนมาก” ในกำสรวจสมทุรเขียนว่า “จากมามาแกล่ใกล้ บางขดาน ขดานราบคือขดาน คือ ดอกไม้” เพราะบริเวณนี้เป็น “ดินสะดือ” หมายถึง มีน้ำวนเป็นเกลียวลึกลงไป ถือเป็นเขตศักดิ์สิทธิ์ของแม่น้ำ เป็นทางลงบาดาลของนาค ต้องทำพิธีกรรมเห่กล่อมวิงวอนร้องขอต่อ “ผี” คือนาคที่บันดาลให้เกิดน้ำนี่เองเป็นที่มาของ “เห่เรือ” เพื่อไล่น้ำ หรือวิงวอนร้องขอให้น้ำลดลงเร็วๆ
เจ้าฟ้ากุ้ง ไม่มีเห่เรือ
กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (กุ้ง) ทรงพรรณนาประเพณีพิธีกรรม 12 เดือน เมื่อถึงเดือน 12 มีแต่ลอยโคม ไม่มีเห่เรือ แม้พระนิพนธ์ กาพย์เห่เรือ ของเจ้าฟ้ากุ้งก็ไม่พบหลักฐานว่าเคยใช้เห่เรือในยุคของพระองค์หรือยุคต่อมา ฉะนั้นน่าจะเป็นพระนิพนธ์กาพย์กลอนสังวาสที่ใช้ลีลาเห่เรือจริงๆ ของราษฎรยุคนั้น มาแต่งเลียน แบบตามที่ทรงพระนิพนธ์ว่า “ร้องโห่เห่ โอ้เห่มา” สอดคล้องกับยุคพระเจ้าบรมโกศนี้ โน้มหาธรรมชาติและความเป็นเสรีมากที่สุด(นิราศธารโศกพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์)มีตัวอย่างจำนวนมากในพระนิพนธ์ ของเจ้าฟ้ากุ้ง ในคำให้การขุนหลวงหาวัด พรรณนาถึงขบวนเรือพยุหยาตราทางชลมารค ก็ไม่มีเห่เรือ
กรุงธนบุรีถึงยุคต้นกรุงเทพฯ ไม่มีเห่เรือ
ตลอดยุคกรุงธนบุรีไม่มีพยานเรื่องเห่เรือพระราชพิธีสืบจนยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ก็ไม่พบหลักฐานแม้เอกสารสำคัญที่น่าจะเป็นพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 3 อย่างเรื่องนางนพมาศ ก็ไม่พรรณนาเห่เรือ ทั้งๆ ที่พรรณนาเสด็จทางชลมารคยืดยาว จะมีก็แต่ร้องเล่นอย่างสักวา และเพลงเรือของราษฎร “เสมียนมี” หรือ หมื่นพรหมสมพัตสร กวีสมัยรัชกาลที่ 3 แต่งนิราศเดือน พรรณนาประเพณี 12 เดือน พอถึงเดือน 11 เดือน 12 มีประเพณีทางเรือแต่ไม่มีเห่เรือ
เห่ละคร เจ้าฟ้านริศ
เห่เรือในขบวนพยุหยาตราทางชลมารคที่รู้จักทั่วไปบัดนี้ น่าจะมีขึ้นจาก รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชนิยมปรับเปลี่ยนโบราณราชประเพณีให้ทันสมัย ส่งผลให้วัฒนธรรมด้านอื่นๆ ต้องปรับเปลี่ยนไปด้วย เช่น งานละครและเพลงดนตรีแบบหนึ่งของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ทรงเริ่มสร้างสรรค์ตั้งแต่ พ.ศ. 2442 มีร่องรอยในเพลงเต่าเห่ (มีคำอธิบายในสารานุกรมศัพท์ดนตรีไทย ภาคประวัติและบทร้องเพลงเถา ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2538)
(บน) เรืออนันตนาคราชที่เมืองบางกอก กรุงเทพฯ เมื่อ ค.ศ.1865-1866 สมัยรัชกาลที่ 4
(ล่าง) เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชในรัชกาลที่ 4 ภาพนี้วาดจากรูปถ่ายเมื่อคราวรัชกาลที่ 4 เสด็จฯ ไปพระราชทานพระกฐินทางฝั่งธนบุรี เมื่อ พ.ศ.2408 (ลายเส้นหนังสือ The English Governess at the Siamese Court. โดยแอนนา เลียวโนเวนส์ หรือ Anna Harriette Leonowens. พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1870)
เมื่อสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงปรับปรุงเพลงเต่าเห่ร่วมกับหลวงเสนาะดุริยางค์ (ทองดี ทองพิรุฬห์) บรรจุไว้ในบทคอนเสิร์ตเรื่องรามเกียรติ์ ตอนนางลอย ได้จัดให้มีการเห่สอดปี่พาทย์ เพิ่มเข้าไปในตอนท้ายต่อจากท่อน 3 อีกกระบวนหนึ่ง เป็นเหตุให้ผู้ฟังพากันเรียกเพลงนี้ว่า “เพลงเต่าเห่” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เห่เรือทุกวันนี้มีลูกคู่สอดแทรกจังหวะ ชะ กับ สร้อย ฮ้าไฮ้ ล้วนได้จากเพลงเรือที่ชาวบ้านร้องเล่นตั้งแต่ลุ่มน้ำโขงถึงกลุ่มน้ำเจ้าพระยา แล้วมีเหลือร่องรอยเค้าต้นอยู่ในเพลงเทพทอง, เพลงอีเซว, เพลงเรือ ฯลฯ ซึ่งน่าเชื่อว่าเห่เรือทางชลมารคของหลวงได้จากประเพณีชาวบ้านมาปรับใช้เป็นประเพณีในราชสำนักสืบจนทุกวันนี้.
จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน 2550 หน้า 34