แรกนาขวัญ เดือนหก สร้างขวัญและกำลังใจชาวไร่ชาวนา

เดือนหก ทางจันทรคติของชุมชนท้องถิ่นพวกหนึ่งในอุษาคเนย์ เริ่มเข้าวันแรกขึ้น 1 ค่ำ เดือนหก  ขณะที่บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยานับ เดือนหก แต่ทางล้านนาและบางท้องถิ่นที่อยู่ตอนบนของภูมิภาค  จนถึงทางใต้ของจีน นับเป็น เดือนแปด แล้ว เพราะนับเร็วกว่ากันราว 2 เดือน ตามลักษณะแตกต่างทางภูมิศาสตร์ประเพณีชาวบ้านช่วงเวลานี้สืบเนื่องจากเดือนก่อน (คือ เดือนห้า)  เป็นช่วงเวลาหลังฤดูการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารแล้วเริ่มเข้าฤดูการผลิตใหม่ เพราะฝนเริ่มตกแล้ว  ถึงเวลาต้องเตรียมเครื่องมือทำไร่ ไถนา ที่สำคัญก็คือต้องทำ พิธีแรกนา หรือนาแรก ทางอีสานเรียก นาตาแฮ
 
ในทวาทศมาส (โคลงดั้น) เอกสารยุคต้นกรุงศรีอยุธยา พรรณนาฤดูเดือนหก (ไพศาขย) เริ่มมีฝนตกแล้วว่า “ฤดูไพศาขยสร้อง ฝนสวรรค์” ต่อจากนี้ไปจะมีพิธีแรกนาขวัญทั่วไปในชนบทหมู่บ้านเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้ชาวนาชาวไร่ มีโคลงดั้นบอกว่า “แขไขบ่าวไถนา ถถั่นมานา”  
 
ทวาทศมาส (โคลงดั้น) พรรรณนาว่าแรกนาขวัญในชนบทหมู่บ้านทุกแห่งจะมีธงปักและผูกคันไถปลิวไปตามลมทุกหนทุกแห่ง จนถึงปลายกรุงศรีอยุธยาก็ยังมีพรรณนาแรกนาขวัญไว้ในนิราศธารโศกของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (กุ้ง) แรกนาขวัญ  เป็นภาษาของคนในภาคกลางที่ราบลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตรงกับภาษาของคนบริเวณสองฝั่งแม่น้ำโขงว่า นาตาแฮก (แฮก คือ แรก) หมายถึงการไถนาทำนาปลูกข้าวครั้งแรกในนาจำลองขนาดเล็กๆ ที่สมมุติขึ้น แล้วมีพิธีสู่ขวัญวิงวอนร้องขอต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ (บางทีเรียกผีนา หรือพระภูมินา) จงบันดาลให้ทำนาจริงๆ ได้ผลผลิตเป็นข้าวงอกงามอุดมสมบูรณ์เหมือนนาจำลอง  ที่สมมุติขึ้นครั้งแรกนี้ บางแห่งเช่นภาคเหนือจะทำพิธีสังเวยแม่โพสพพร้อมกันไปด้วย 
 
พิธีอย่างนี้มีมาแต่ดั้งเดิมในชุมชนคนดึกดำบรรพ์ราว 3,000 ปีมาแล้ว สมัยก่อนๆ ทุกคนมีอาชีพทำนาต้องทำกันทั่วไปก่อนจะลงมือทำนาจริง ต่อมาเมื่อราชสำนักรับแบบแผนฮินดูจาชมพูทวีป (อินเดีย) จึงปรุงแต่งให้สอดคล้องกับพิธีพราหมณ์เพื่อความศักดิ์สิทธิ์สูงขึ้น เช่น มีพระโคเสี่ยงทาย มีการเชิญเทวดามาเสกเป่าข้าวเปลือกที่ใช้หว่านในพิธี เมื่อเสร็จงานก็ให้ชาวบ้านแย่งกันเก็บเม็ดข้าวเปลือกไปบูชา และโปรยลงในนาของตนเพื่อให้ได้ผลผลิตเป็นเมล็ดข้าวมากขึ้น และรอดพ้นจากภัยธรรมชาติ  ภาษาทางราชการเรียก  จรดพระนังคัล เป็นคำเขมร (นังคัล  คือ ผาลไถนา) แปลว่า ไถนาครั้งแรก 
 
มีหลักฐานยืนยันในเอกสารเก่าแก่ว่า พระเจ้าแผ่นดินเมื่อราว 700 ปีมาแล้ว  มอบให้เจ้านายและขุนนางทำพิธีนี้เพื่อความมั่งคั่งในพืชพันธ์ธัญญาหารของราชอาณาจักร  จะละเว้นมิได้ ต้องทำทุกปี  จึงมีสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 
 
ขวัญ  มีอยู่ในคน สัตว์ สิ่งของ และธรรมชาติ  
ตัวตนของทุกคนในชุมชน  (ยุคก่อนรับศาสนาจากอินเดีย) นานมาแล้วเชื่อว่ามีส่วนประกอบสำคัญอยู่  2 ส่วน คือส่วนที่เป็นตัวตนได้แก่ ร่างกาย กับส่วนที่ไม่เป็นตัวตนคือ  ขวัญ  แม้สัตว์  สิ่งของ และธรรมชาติก็มี  ขวัญ ทั้งนั้น เช่น ขวัญควาย ขวัญยุ้งข้าว ขวัญนา จึงมีพิธีแรกนาขวัญ
 
ขวัญต่างจากวิญญาณ (ในคำสอนทางศาสนา) เพราะเมื่อคนตายไปวิญญาณก็ดับหายไป  แต่ขวัญไม่หายไปพร้อมเจ้าของที่ตาย ในทางตรงข้าม ขวัญของผู้ตายยังมีอยู่แล้วพยายามหาหนทางกลับเหย้าเรือนเดิมของตน ไม่ว่าเหย้าเรือนเดิมจะอยู่ส่วนไหนของโลก ขวัญมีหน่วยเดียว แต่ฝังกระจายอยู่ทุกส่วนของร่างกายตั้งแต่แรกเกิดมาเป็นตัวตนและมีความสำคัญเท่าๆ  กันหมด รวมถึงสำคัญเท่ากับร่างกายด้วย  เพราะร่างกายต้องมีขวัญ  ถ้าไม่มีขวัญก็ไม่มีชีวิต ฉะนั้น  ร่างกายที่มีชีวิตต้องมีขวัญ เช่น ขวัญหัว  ขวัญตา  ขวัญมือ ขวัญแขน  ขวัญขา  ฯลฯ 
 
ด้วยเหตุนี้คนสมัยก่อนจึงเชื่อว่าถ้ามีขวัญอยู่กับร่างกาย เจ้าของขวัญจะมีความสุข แต่ถ้าขวัญออกจากร่างกายไปเจ้าของขวัญก็ไม่มีความสุข  ไม่เป็นปกติ อาจเจ็บไข้ได้ป่วยจนถึงตายได้ ฉะนั้นเมื่อคนเราเจ้าของขวัญเจ็บป่วย แสดงว่าขวัญไม่ได้อยู่กับตัว  มีความจำเป็นต้องจัด พิธีเรียกขวัญ หรือ พิธีสู่ขวัญ  ให้กลับเข้าสู่ตัวตนเหมือนเดิม จะได้อยู่ดีมีสุขตามปกติ 
 
พิธีกรรมเกี่ยวกับขวัญมีชื่อเรียกต่างๆ กันไปตามท้องถิ่น เช่น เรียกขวัญ  สู่ขวัญ ทำขวัญ ฯลฯ  เป็นพิธีกรรมที่แสดงความผูกพันในระบบความสัมพันธ์แบบเครือญาติ ระหว่างบุคคลกับครอบครัว  และบุคคลกับชุมชน ที่เริ่มขึ้นในสังคมกสิกรรมหรือสังคมชาวนาที่ยังล้าหลังทางเทคโนโลยีเมื่อราว 3,000  ปีมาแล้ว  บรรดาเครือญาติจะจัดขึ้น เมื่อเกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งทั้ง  เหตุดีและเหตุไม่ดี เช่น  ฝันร้าย รวมทั้งได้รับอุบัติเหตุเภทภัยจากสถานการณ์ต่างๆ
 
ผู้ทำพิธีเกี่ยวกับขวัญด้วยการท่องบ่นคำสู่ขวัญเป็นทำนองอย่างหนึ่งด้วยฉันทลักษณ์ กลอนร่าย เรียก หมอขวัญ เป็นคนเดียวกับ หมอผี-หมอพร  เทียบเท่ากับผู้เชี่ยวชาญพิเศษในวิชาความรู้เหมือนนักบวชในศาสนาต่างๆ สมัยหลัง โดยใช้เครื่องมือสื่อสารกับขวัญและอำนาจเหนือธรรมชาติคือดนตรี  มีฆ้องกับแคนเป็นหลักที่ภายหลังเรียกกลอง-ปี่ หรือปี่-กลองก็ได้ ผู้มีอำนาจเหนือธรรมชาติคือนาค เพราะเป็นผู้พิทักษ์มนุษย์และธรรมชาติ  จึงเรียกทำนองเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อพิธีกรรมทำขวัญ ว่า นางนาค มีชื่อเป็นเพศหญิง  เพราะรากเหง้าเก่าแก่ของสังคมในอุษาคเนย์เรียกผู้หญิงว่า “แม่” หรือ “นาง” หมายถึงเป็นใหญ่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง
 
ในพิธีแรกนาขวัญต้อง ไถนาแรก หรือนาตาแฮก  ที่จำลองขึ้นเป็นสมมุติเมื่อผู้นำในพิธีกรรมเริ่มไถนาแรก พนักงานดนตรีปี่พาทย์ต้องเริ่มต้นประโคมด้วย เพลงนางนาค เป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ร้องขอความอุดมสมบูรณ์แก่พืชพันธุ์ธัญญาหาร และอาจตามด้วยเพลงที่เป็นสิริมงคลอื่นๆ ต่อไป ให้ยืดยาวได้จนกว่าจะไถนาแรกเสร็จสิ้นตามที่กำหนดไว้.
 
 ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันศุกร์ที่  9 พฤษภาคม  พ.ศ.2 551 / หน้า 20