-
Category: เก็บตก ... คอลัมน์ สุวรรณภูมิ สังคมวัฒนธรรม
-
Published on Monday, 05 October 2015 02:47
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2979
งานพระเมรุ เผาพระศพเจ้านายกรุงศรีอยุธยา แรกมียุคสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง (ครองราชย์ พ.ศ.2172-2199) กล่าวกันว่าโปรดให้ก่อสร้างพระเมรุมาศบริเวณที่ว่างทางใต้พระวิหารมงคลบพิตร แล้วมีพระราชพิธีบริเวณสนามหน้าจักรวรรดิ
จดหมายการพระศพกรมหลวงโยธาเทพได้กล่าวการอัญเชิญพระศพมาทางชลมารค (ทางเรือ) แล้วแห่ไปตั้งพระศพไว้บนพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ เมื่อครบกำหนดแล้วให้เชิญพระศพจากพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ไปยังพระเมรุมาศด้านทิศตะวันออกและด้านใต้ ซึ่งในหมายยังได้อ้างว่าทำเหมือนครั้งงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ สันนิษฐานว่าถนนเส้นนี้คือลานหน้าพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ หรือสนามหน้าจักรวรรดิ ถนนลานพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์นอกจากที่จะใช้ในการชักพระมหาพิชัยราชรถแล้ว ยังใช้ในการแห่สระสนามใหญ่ในพิธีคเชนทรัศวสนาม อีกทั้งในฉันท์สรรเสริญพระเจ้าปราสาททองก็ระบุว่าบริเวณหน้าพระที่นั่งนี้ใช้ประกอบพิธีลบศักราช
อาจารย์ รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล (แห่งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์) ได้สรุปจดหมายการพระศพฯ (จากหนังสือประชุมจดหมายเหตุสมัยอยุธยา ภาค 1 สำนักนายกรัฐมนตรี พิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2510) ดังนี้
วันจันทร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 6 จ. .1097 (26 เมษายน พ.ศ.2278) สมเด็จกรมหลวงโยธาเทพ พระธิดาสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระมเหสีฝ่ายซ้ายสมเด็จพระเพทราชาสวรรคต
วันพุธ ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 6 จ.ศ.1097 (3 พฤษภาคม พ.ศ.2278) เชิญพระบรมโกศโดยทางชลมารค ขึ้นท่าที่ท่าเจ้าปราบ สมเด็จพระบรมโกศทรงเรือพระที่นั่งตามขบวน จากนั้นจึงอัญเชิญพระโกศขึ้นพระยานมาศ แห่โดยสถลมารค ไปที่พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ สมเด็จพระบรมโกศประทับรอที่พระที่นั่ง
วันอาทิตย์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 (วันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2279) เจ้าพระยาอภัยมนตรีว่าที่สมุหนายกรับราชโองการว่า วันพฤหัสบดี ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 (วันที่ 26 มกราคม พ.ศ.2279) อัญเชิญพระบรมโกศออกพระเมรุ ให้เจ้าพนักงานแต่งที่รับเสด็จเมื่อครั้งงานพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าท้ายสระ
วันพุธ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 3 เทียบพระมหาพิชัยราชรถ
วันพฤหัสบดี ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 ชาวเชิญพระบรมโกศขึ้นเสลี่ยงเงิน ลงจากพระที่นั่งมาที่พระมหาพิชัยราชรถ กรมหมื่นอินทรภักดีทรงโยง กรมหมื่นจิตรสุนทรทรงโปรย เมื่อพระมหาพิชัยราชรถไปถึงประตูเมรุด้านทิศตะวันออกจึงตีฆ้องสัญญาณ
วันเสาร์ แรม 1 ค่ำ เดือน 3 (วันที่ 28 มกราคม พ.ศ.2279) ถวายพระเพลิง
วันอาทิตย์ แรม 2 ค่ำ เดือน 3 แห่พระบรมอัฐิไปที่ท้ายจรณำ และเชิญพระอังคารลงท่าที่ท่าเจ้าปราบ ลงเรือล่องถึงพุทไธสวรรย์จึงลอยพระอังคาร
สนามหน้าจักรวรรดิ อยู่บริเวณที่ว่างระหว่างพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ มหาปราสาท กับวัดธรรมิกราชและหนองโสน (บึงชีขัน, บึงพระราม) ที่เรียกสนามหน้าจักรวรรดิก็เพราะเป็นลานกว้างอยู่หน้าพระที่นั่งจักรวรรดิฯ สนาม สมัยโบราณ มีความหมายหลายอย่าง เช่น พื้นที่โล่งกว้างใช้ทำพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ และสงคราม, ฯลฯ แต่บางแห่งหมายถึงศูนย์กลางของอำนาจที่มีคณะผู้มีอำนาจใช้เป็นที่ประชุมปรึกษาหารือก็มี
พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท มียอดมณฑปยอดเดียว ไม่มีบราลี มีมุขซ้อน 4 ด้าน แต่ด้านตะวันออก-ตะวันตกมีมุขสั้นซ้อน 2 ชั้น ด้านเหนือ-ใต้มีมุขซ้อน 4 ชั้น เป็นมุขยาวมาจดประตูเหนือ-ใต้ ฝาไม่มี เป็นปราสาทโถงอยู่บนกำแพงพระราชวังด้านตะวันออก มี 3 ชั้น ชั้นล่าง สำหรับข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้า เฝ้า ชั้นกลาง สำหรับข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายใน พักดูแห่และการมหรสพ ชั้นบน สำหรับพระราชวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน เฝ้าดูกระบวนแห่ต่างๆ ในมุขยาวทั้งสองด้าน แต่ที่กลางจัตุรมุขชั้นบนเป็นที่ตั้งพระแท่นประทับทอดพระเนตรกระบวนแห่และการมหรสพ รวมทั้งการยกทัพพยุหยาตรา หน้าพระมหาปราสาทมีสนามใหญ่ยาวตลอดกำแพงพระราชวัง เรียก สนามหน้าจักรวรรดิ และถนนใหญ่กว้าง 6 วา เรียก ถนนหน้าจักรวรรดิ
หลังพระมหาปราสาทเป็นสนามใน มีเป้าปืนและถนนด้วย
รายละเอียดเกี่ยวกับพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มีในหนังสือ อยุธยายศยิ่งฟ้า ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2543) พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท มีขึ้นราว พ.ศ.2175 (จ.ศ.994) มีความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า
“ลุศักราช 994 ปีวอก จัตวาศก ทรงพระกรุณาสร้างพระมหาปราสาทองค์หนึ่ง สิบเอ็ดเดือนเสร็จ ให้นามว่าศิริยศโสธรมหาพิมานบรรยงก์ ในเพลากลางคืน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระสุบินนิมิตว่า สมเด็จพระอมริน ทราธิราชเสด็จลงมานั่งแทบพระองค์ไสยาสน์ตรัสบอกว่าให้ตั้งจักรพายุหแล้วสมเด็จอมรินทราธิราชหายไป เพลาเช้าเสด็จออกขุนนาง ทรงพระกรุณาตรัสเล่าพระสุบินให้โหราพฤฒาจารย์ทั้งปวงฟัง พระมหาราชครูปุโรหิตโหราพฤฒาตาจารย์ถวายพยากรณ์ทำนายว่าเพลาวานนี้ ทรงพระกรุณาให้ชื่อพระมหาปราสาทว่าศิริยศโสธรมหาพิมานบรรยงก์นั้น เห็นไม่ต้องนาม สมเด็จอมรินทราธิราชซึ่งลงมาบอกให้ตั้งจักรพยุห อันจักรพยุหนี้เป็นที่ตั้งใหญ่ในมหาพิชัยสงครามอาจจะข่มเสียได้ซึ่งปัจจามิตรทั้งหลาย ขอพระราชทานเอานามจักรอันนี้ ให้ชื่อพระมหาปราสาทว่าจักรวรรดิไพชยนต์มหาปราสาท ตามลักษณะเทพสังหรณ์ในพระสุบินนิมิตอันประเสริฐสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสได้ทรงฟังก็มีพระทัยปรีดายิ่งนัก จึงให้แปลงชื่อพระมหาปราสาทตามคำพระมหาราชครูทั้งปวง”
ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันศุกร์ที่ 4 เมษายน พ.ศ.2551 หน้า 20