โปรตุเกส – การเดินเรือ…..เครื่องเทศ และศรัทธา

นิธิ เอียวศรีวงศ์
 
โปรตุเกสเป็นประเทศเล็กนิดเดียวในยุโรป ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ประชากรโปรตุเกส มีไม่เกิน ๑ ล้าน ๕ แสนคน ในบางช่วงเช่นครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ จำนวนประชากรกลับลดลง ความเล็กของโปรตุเกสนี้ เป็นปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่จะอธิบายการกระทำหรือไม่กระทำของโปรตุเกสในเอเชียได้ดี ทั้งโปรตุเกสไม่เคยเป็นศูนย์กลางอำนาจที่สำคัญในทวีป เมื่อเปรียบเทียบกับสเปน ฝรั่งเศส ปรัสเซีย ฯลฯ อาจกล่าวได้ว่า โปรตุเกสเป็นหนึ่งในดินแดน “ชายขอบ” ของยุโรป แต่โปรตุเกสกระทำสิ่งที่น่าอัศจรรย์ คือ สามารถสร้างจักรวรรดิยิ่งใหญ่ที่แผ่ปกคลุมไปทั่วโลก มีเมืองป้อมบนเส้นทางการค้าระหว่างเอเชียและยุโรป นับตั้งแต่หมู่เกาะชายฝั่งทวีปแอฟริกาด้านตะวันตก และบนทวีปตามแถบชายฝั่ง มาจนถึงชายฝั่งมะละบาร์ของอินเดีย มะละกา หมู่เกาะ เครื่องเทศ และมาเก๊าในจีน โดยยึดเมืองท่าสำคัญบนเส้นทางเดินเรือไว้ได้ตลอดแนว ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก โปรตุเกสยังมีอาณานิคมขนาดใหญ่ในอเมริกาใต้ จนโปรตุเกสได้ชื่อว่าเป็นจักรวรรดิที่ลอยอยู่ในทะเล เพราะอำนาจที่สามารถควบคุมเมืองท่า และอาณานิคมเหล่านี้ไว้ในจักรวรรดิ ไม่ได้มาจากกองกำลังภาคพื้นดิน เนื่องจากโปรตุเกสเล็กเกินกว่าจะมีกำลังควบคุมอาณานิคมขนาดใหญ่บนภาคพื้นทวีปได้ แต่มาจากกำลังของกองเรือและป้อมปราการที่ตั้งขึ้น เพื่อป้องกันตนเองในเมืองท่าเหล่านั้น อำนาจที่แท้จริงของโปรตุเกสจึงอยู่ในน้ำมากกว่าอยู่บนบก 
 
 
แผนที่ภูมิภาคอุษาคเนย์แสดงราชอาณาจักรอยุธยา เขียนโดย เฟอร์นาว วาช ดูราโด นักเขียนแผนที่ชาวโปรตุเกส 
ในปี ค.ศ. ๑๕๗๕ (พ.ศ. ๒๑๑๘) ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชา แผนที่ระบุชื่อราชอาณาจักรอยุธยาว่า 
“สยาม” (Siam)  และระบุชื่อกรุงศรีอยุธยาว่า “โอเดีย” (Odia) (ภาพจาก Thai Art & Culture, 2000.)
 
กล่าวกันว่าปัจจัยสำคัญ ๓ ประการที่ทำให้โปรตุเกสประสบความสำเร็จในการสร้างจักรวรรดิลอยน้ำนี้ได้ ก็คือ การเดินเรือ เครื่องเทศ และศรัทธา อย่างไรก็ตาม นี่เป็นการมองการผจญภัยครั้งใหญ่ของโปรตุเกสจากปัจจุบัน เพราะปัจจัยทั้งสามนั้น ไม่อาจแยกออกจากกันได้ในสมัยนั้น ส่วนหนึ่งของการเดินเรือไปต่างแดน ก็เป็นจิตวิญญาณที่สืบทอดมาจากการต่อสู้ขับไล่มุสลิม การได้ประสบความมั่งคั่งจากการเผยแผ่ศาสนาก็เป็นรางวัลที่พระผู้เป็นเจ้ามอบให้แก่ผู้ศรัทธา
 
โปรตุเกสรับมรดกการเดินเรือทะเล–ทั้งความรู้และประสบการณ์-จากอาหรับ นักเดินเรือในเมืองท่าของอิตาลีและรัฐในสเปน แต่โปรตุเกสก็ได้พัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้ามากขึ้น เพราะทะเลที่โปรตุเกสต้องเผชิญไม่ใช่ทะเลกลางแผ่นดินอย่างเมดิเตอร์เรเนียน หากเป็นมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้งยังไม่ใช่การเดินเรือเลียบชายฝั่งเพียงอย่างเดียว โปรตุเกสได้พัฒนาเทคโนโลยีการเดินเรือให้ก้าวหน้าไปกว่าชาติอื่นในยุโรป เช่น สร้างเรือเดินสมุทรที่เพรียวขึ้น ทำให้คล่องตัวกว่าเรือที่ใช้อยู่ ในขณะนั้นยุโรปสามารถคำนวณเส้นรุ้งได้แม่นยำแล้ว โปรตุเกสสร้างเครื่องมือที่ทำให้นักเดินเรือรู้ตำแหน่งของตนในเส้นรุ้งได้ ซ้ำเครื่องมือนั้นยังสามารถประเมินเส้นแวงได้อย่างคร่าวๆ นักเดินเรือโปรตุเกสเป็นหนึ่งในบรรดานักเดินเรือของยุโรปที่ทำให้สามารถรู้แผนที่ฝั่งตะวันตกของทวีปแอฟริกาได้ดีขึ้น จนในที่สุด นักเดินเรือโปรตุเกสจึงสามารถนำเรือผ่านปลายสุดของทวีปเพื่อเดินทางมาเอเชียได้
 
นับตั้งแต่สมัยที่ Albuquerque เป็นอุปราชประจำเอเชีย (ซึ่งเรียกว่า อินเดียในสมัยนั้น) โปรตุเกสก็วางนโยบายที่แน่ชัดแล้วว่า จะไม่ยึดครองดินแดนขนาดใหญ่ในเอเชีย แต่จะตั้งเมืองป้อมไว้ป้องกันตนเอง หรือในที่ซึ่งเป็นมิตรก็ตั้งโรงสินค้า (Feritorias -Factory) ไว้สำหรับการค้าขาย เมืองป้อมเหล่านี้มีหน้าที่หลัก คือ การรักษาเส้นทางเดินเรือ และปิดกั้นเส้นทางผ่านของเครื่องเทศที่ไม่อยู่ในมือของโปรตุเกส เช่นการยึด Hormutz เมืองท่าปากอ่าวเปอร์เซีย ก็เพื่อปิดมิให้เรืออาหรับที่ลักลอบขนเครื่องเทศสามารถส่งเครื่องเทศผ่านตะวันออกกลางไปสู่ยุโรปได้สะดวก
 
ถึงอย่างไร โปรตุเกสก็ต้องหลีกเลี่ยงการสงครามกับรัฐขนาดใหญ่ เนื่องจากโปรตุเกสเล็กเกินกว่าที่จะทำสงครามกับราชอาณาจักรใหญ่ๆ ของเอเชียได้ อันที่จริงอำนาจทางทหารของโปรตุเกสที่มีเหนือรัฐต่างๆ ในเอเชีย คือ อำนาจทางเรือ ซึ่งโปรตุเกสเป็นชาติแรกที่ติดปืนยิงไกลไว้ในกำปั่นของตน อีกทั้งกำปั่นโปรตุเกสยังมีความคล่องตัวกว่าสำเภาที่ใช้ในเอเชียขณะนั้นมาก ทำให้โปรตุเกสสามารถเอาชนะกองเรือทั้งเล็กและใหญ่ของชาวเอเชียได้ตลอดมา แม้แต่กองเรือขนาดใหญ่ของจักรวรรดิโมกุลซึ่งกำลังเรืองอำนาจ ก็ยังต้องพ่ายแพ้แก่กองเรือของโปรตุเกส ไม่สามารถยึดเมืองกัวได้ พันธมิตรของรัฐมลายูไม่สามารถชิงมะละกากลับคืน ทั้งเนื่องจากแพ้กองเรือโปรตุเกสแล้ว ก็ยังแตกร้าวกันเองในเวลาต่อมาด้วย ดังนั้น ความเหนือกว่าของโปรตุเกสในเอเชียจึงอยู่ที่กำลังทางเรือโดยแท้
 
 

ภาพวาดเรือกำปั่นโปรตุเกสออกเดินทางสู่มหาสมุทร
แอตแลนติก เริ่มสำรวจดินแดนในซีกโลกตะวันออก
 (ภาพจาก The Opening of the World, 1973)
อังฟงซู ดือ อัลบูแกร์เกอ อุปราชแห่งเอเชียของโปรตุเกส
(ภาพจาก Lendas da India, 1859.)
 
การค้าของโปรตุเกสในเอเชีย
สินค้าสำคัญ ๓ อย่างที่ดึงดูดโปรตุเกสมาสู่เอเชีย คือ เครื่องเทศ ผ้าไหม และหินมีค่า ซึ่งครั้งหนึ่งสินค้าจากเอเชียทั้ง ๓ อย่างนี้ ต้องผ่านมือคนกลางหลายทอด กว่าจะถึงเมืองท่าในตะวันออกกลาง และก็ยังต้องผ่านมือพ่อค้าอาหรับด้วยกันเองอีกหลายทอด กว่าจะถึงมือพ่อค้าไบแซนไทน์ และ อิตาเลียนจากเมืองท่าในแหลมอิตาลี (โดยเฉพาะเวนิส) ซึ่งจะกระจายสินค้าไปทั่วยุโรป ฉะนั้นจึงมีราคาแพงมาก แหล่งทุนสำคัญในการสำรวจดินแดนของโปรตุเกสมาจากราชสำนัก ซึ่งก็วางนโยบายเหมือนประเทศอื่นคือ สำรวจดินแดนเพื่อหาโภคทรัพย์ (นอกจากเผยแผ่ศาสนา)
 
การแสวงหาดินแดนและการค้าของโปรตุเกสเป็นการลงทุนของราชสำนักเกือบจะฝ่ายเดียวตลอดโดยเฉพาะในครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ แตกต่างจากฮอลันดาและอังกฤษ ซึ่งใช้วิธีระดมทุนจากหลายฝ่ายมาแต่ต้น เหตุดังนั้น โปรตุเกสจึงมีทุนจำกัดกว่าชาติคู่แข่งทั้งหลายมาก นับตั้งแต่เริ่มสำรวจดินแดนในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ กษัตริย์โปรตุเกสกำหนดเป็นนโยบายแล้วว่า กองเรือที่ออกสำรวจดินแดนต้องหากำไรจากการสำรวจดินแดนด้วย เพื่อเป็นทุนสำหรับการสำรวจต่อๆไป ในขณะเดียวกันก็มีนโยบายชัดเจนตั้งแต่แรกเข้ามาสู่เอเชียว่า เพื่อไม่ให้กำไรที่ได้จากการค้าห ดหายไป โปรตุเกสจะไม่ยึดครองดินแดนขนาดใหญ่ในเอเชีย (เพราะต้นทุนสูงตั้งแต่การ  ยึดครอง การรักษาไว้ และการบริหารจัดการ)
 
อุปราชแห่งเอเชียคนที่ ๒ คือ Albuquerque วางนโยบายของโปรตุเกสในเอเชีย คือ การตั้งศูนย์กลางของ “จักรวรรดิเอเชีย” (Estado da India) ไว้ที่เมืองกัว แล้วยกกองเรือมายึดเมืองมะละกา ได้ในปี ค.ศ. ๑๕๑๑ (พ.ศ. ๒๐๕๔) มะละกาเป็นเมืองที่รวบรวมสินค้าสำคัญของเอเชียตะวั นออกไว้มากมาย โดยเฉพาะเครื่องเทศ ฉะนั้นการยึดมะละกานอกจากทำให้โปรตุเกสเข้าถึงแหล่งเครื่องเทศแล้ว ยังเท่ากับกีดกันคนอื่นมิให้เข้ามาแข่งขันการค้าเครื่องเทศไปพร้อมกัน Albuquerque ทำตามนโยบายของราชสำนัก คือ ไม่ทำสงครามโดยไม่จำเป็น ฉะนั้นตั้งแต่ก่อนจะยึดมะละกาได้ ก็ได้ส่งทูตไปยังราชอาณาจักรใหญ่ๆ ในอุษาคเนย์ เช่น อยุธยา หงสาวดี ราชอาณาจักรบนเกาะชวา และรัฐมลายูบนเกาะสุมาตรา เปิดทางสำหรับการค้าโดยสันติ (ขอให้สังเกตด้วยว่าหลายรัฐเป็นรัฐสุลต่าน) 
 
นอกจากนี้ Albuquerque ยังมองเห็นตั้งแต่ระยะแรกแล้วว่า กำไรที่จะได้จากการค้าในเอเชียนั้น แม้ว่าสินค้าเอเชียโดยเฉพาะเครื่องเทศจะทำเงินได้มากเพียงไร แต่ต้นทุนการเดินทางก็สูงมาก (ทั้งในแง่เศรษฐกิจและสังคมซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้า) ฉะนั้นการค้าของโปรตุเกสในเอเชียจะทำกำไรต่อไปได้ ก็ต้องให้ความสำคัญแก่การค้าระหว่างเอเชียด้วยกันเอง กล่าวคือ นำสินค้าจากประเทศหนึ่งในเอเชียไปขายอีกประเทศหนึ่ง สินค้าเอเชี ยนี้เอง ที่เป็นส่วนหนึ่งซึ่งโปรตุเกสใช้ในการแลกเปลี่ยนกับเครื่องเทศซึ่งจะนำไปยุโรป 
 
ราชสำนักโปรตุเกสได้ตั้ง Casa da India (กรมอินเดีย) ขึ้นรับผิดชอบการค้าในเอเชีย กรมนี้จัดกองเรือติดอาวุธสำหรับทำการค้า (ซึ่งแยกไม่ออกจากการทหารและการเผยแผ่ศาสนา) เรียกว่า Carreira da India กองเรือดังกล่าว จะออกเดินทางจากลิสบอนประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน และมาถึงอินเดียประมาณกันยายน-ตุลาคม เมื่อขนสินค้าได้เต็มแล้ว ก็จะออกเดินทางกลับประมาณช่วงคริสต์มาส และมาถึงลิสบอนในฤดูร้อน กองเรือดังกล่าวนี้ทำผลกำไรให้มหาศาลโดยเฉพาะจากเครื่องเทศหลักฐานบางแห่งกล่าวว่าเรือบรรทุกเครื่องเทศในระยะแรกๆทำกำไรได้ถึง ๕,๐๐๐%  ถึงจะดูมากเกินจริงไปบ้าง แต่เฉพาะในปี ค.ศ.๑๕๑๐ เพียงปีเดียว ราชสำนักก็ได้กำไรจากเครื่องเทศเพียงอย่างเดียวถึงปีละ ๑ ล้าน Cruzados (จน ทำให้กษัตริย์ฝรั่งเศสเรียกกษัตริย์โปรตุเกสในช่วงนั้นว่า “ราชาโชห่วย”) เพียงเวลาไม่นาน หลังจากนั้น เครื่องเทศโปรตุเกสขนไปยุโรป ก็เป็นผลให้ราคาเครื่องเทศในยุโรปตกต่ำลง และปริมาณของเครื่องเทศที่ผ่านเมืองเวนิสลดลงจนหมดความสำคัญ
 
Casa da India ผูกขาดเครื่องเทศ ๓ อย่างคือ พริกไทย กานพลู และอบเชย ส่วนสินค้าอื่นนั้นแม้ไม่ได้ผูกขาด Casa da India ก็เรียกส่ว นแบ่งกำไรจากพ่อค้า ๓๐% นอกจากนี้ Casa da India ยังถือว่าการเดินเรือค้าขายบนเส้นทางเดินเรือในทะเลจีนตอนใต้ กับมหาสมุทรอินเดียซึ่งโปรตุเกสครอบงำอยู่นั้น ต้องกระทำภายใต้การอนุมัติของโปรตุเกส มิฉะนั้นหากกองเรือโปรตุเกสพบเห็นก็อาจเข้าปล้นสะดมได้ โปรตุเกสจึงขายใบอนุญาตให้แก่เรือพ่อค้าอื่นๆ ที่เดินเรืออยู่ในเขตนี้ เพื่อแสดงให้กองเรือโปรตุเกสซึ่งคอยตรวจตรายกเว้นการปล้นสะดมได้ ดังนั้น การทหาร การค้า และการเผยแผ่ศาสนาจึงเป็นเรื่องเดียวกันสำหรับโปรตุเกส และเป็นเช่นนี้มาตั้งแต่เริ่มแรกการสำรวจดินแดน
 
นอกจากนั้น นโยบายผูกขาดเครื่องเทศของ Casa da India ยังเป็นเหตุให้กองเรือโปรตุเกสต้องคอยควบคุมเส้นทางผ่านของเครื่องเทศที่ไม่อยู่ในมือของโปรตุเกสด้วย เช่น เรือของอาหรับ-อินเดีย หรือของชาวอุษาคเนย์ ซึ่งค้าขายกับหมู่เกาะเครื่องเทศ และนำเครื่องเทศไปขายยังแหล่งอื่นนอกมะละกา ซึ่งเคยทำมานานแล้ว ก็ยังดำเนินไปเป็นปรกติ กองเรือโปรตุเกสต้องคอยปราบปรามอยู่เสมอ กลายเป็นต้นเหตุทางการค้าในเอเชียขอ งโปรตุเกสอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นภาระอย่างหนักแก่เศรษฐกิจและสังคมของโปรตุเกสเอง เพราะมีขนาดเล็กดังที่กล่าวแล้ว
 
ดังที่กล่าวแล้วว่า วิสาหกิจค้าแดนไกลของโปรตุเกส เป็นการลงทุนและการแสวงหากำไรของราชสำนัก แม้ว่านายทุนชาวยิวอาจให้เงินยืม แต่ก็ไม่มีโอกาสที่จะเข้าร่วมการค้าโดยตรงมากนัก นโยบายของราชสำนักโปรตุเกสไม่ดึงทุน และพ่อค้าต่างชาติเข้ามาร่วมในกิจการ ทำให้ทุนสำหรับการบุกเบิกค้าขายมีจำกัด
 
ผลกำไรมหาศาลที่ได้จากการค้า ถูกนำไปใช้เพื่อบำรุงบำเรอราชสำนักอย่างฟูมฟาย ในขณะเดียวกันกษัตริย์โปรตุเกสก็ยังใช้เงินที่ได้มานี้ เพื่อ “ซื้อ” ความจงรักภักดีของเหล่าชนชั้นสูง เพื่อรวมอำนาจเข้าศูนย์กลางให้กระชับยิ่งขึ้น ฉะนั้นจำนวนของข้าราชการที่สังกัดกับราชสำนัก จึงเพิ่มสูงขึ้นตลอดมา พร้อมกันไปกับการเพิ่มขึ้นของพระราชอำนาจ การใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อฟูมฟายจึงเป็นสมบัติของชนชั้นสูงที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ราชสำนักร่ว มกัน กำไรที่ได้จึงไม่ได้ถูกนำมาลงทุนด้านเศรษฐกิจ ไม่กระจายไปสู่คนชั้นกลางที่จะขยายหรือพัฒนาการผลิตของตนเอง
 
แม้แต่การกระจายสินค้าเครื่องเทศที่ทำเงินมหาศาลให้โปรตุเกสเอง ตลอดสมัยสั้นๆ ที่เครื่องเทศทำกำไรให้ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ก็ไม่มีการสร้างเครือข่ายทางการค้า เพื่อกระจายสินค้าไปสู่ตลาดในยุโรป อันจะทำให้กำไรที่ได้จากการค้าเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ดังนั้น จึงต้องขายเครื่องเทศที่นำมาจากเอเชียในลักษณะขายส่งให้แก่พ่อค้าจากอิตาลี และเยอรมนี ซึ่งนำเรือมาซื้อที่ลิสบอนและพ่อค้าเหล่านี้ทำกำไรจากเครื่องเทศเป็นสัดส่วนสูงกว่าโปรตุเกส โดยไม่ต้องลงทุนเดินทางมาเอเชีย หรือรบราฆ่าฟันกับใครเลย
 

กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส จุดกำเนิดการสำรวจทางทะเลของโปรตุเกส และจุดเริ่มต้นของ
การเดินทางสำรวจดินแดนเอเชีย (ภาพจาก The Opening of the World, 1973.)
 
โปรตุเกสไม่มีสินค้าที่จะขายแก่เอเชีย นอกจากปืนคาบศิลาและปืนใหญ่ (อันเป็นเทคโนโลยีที่ชาวเอเชียสามารถเรียนรู้ - แม้จากชาวโปรตุเกสเอง - ที่จะผลิตเองได้ไม่นาน) จึงต้องใช้เงินก้อนแลกกับเครื่องเทศหรือสินค้าอื่นๆ ในระยะแรกได้เงินก้อนเหล่านี้จากอาณานิคมของตนในแอฟริกา และในเวลาต่อมาก็ได้จากอาณานิคมของสเปนในละตินอเมริกา มิฉะนั้นก็ใช้สินค้าเอเชียที่ได้จากเมืองท่าต่างๆ แลก ดังที่ได้กล่าวแล้ว 
 
ดังนั้นเรือที่ออกจากลิสบอนมาเอเชีย จึงไม่มีสินค้าอื่นใดบรรทุกนอกจากคน และอับเฉา ในทางตรงกันข้าม เรือที่เดินทางกลับจากกัวสู่ลิสบอน กลับบรรทุกสินค้าจนเพียบแปล้ ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ โปรตุเกสสร้างกำแพงกำปั่นขนาดใหญ่ที่มีถึง ๔ ชั้น ปรากฏว่าบรรทุกสินค้าจนเต็ม รวมทั้งห้อยถุงสินค้าไว้ที่กราบเรือทั้ง ๒ ข้างจนเรือปริ่มน้ำตั้งแต่ยังไม่ออกจากท่า ผลก็คือ สถิติเรือสินค้าโปรตุเกสอับปางมีสูงกว่าทุกประเท ศในยุโรป ทั้งด้วยปัจจัยที่ได้กล่าวนี้และปัจจัยอื่นๆ ซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้า
 
ความมั่งคั่งจากการค้าของโปรตุเกส จึงไม่ค่อยมีผลต่อสังคมโปรตุเกสเองการค้าผูกขาดแบบทหารไม่ทำให้เกิดกระฎุมพีอิสระขึ้นในเศรษฐกิจและสังคมโปรตุเกส ได้แต่ทำให้เกิดชีวิตฟูมฟายในหมู่ชนชั้นสูงในสังคมซึ่งยังเป็นกึ่งสมัยกลางอยู่เท่านั้น
       
กำไรมหาศาลที่โปรตุเกสได้จากการค้าเครื่องเทศนั้นมีระยะเวลาอันสั้นเพียง ๓ ทศวรรษ (ประมาณปี ค.ศ. ๑๕๑๐-๔๐) โปรตุเกสไม่สามารถ ปิดกั้นการค้าเครื่องเทศของชาวอุษาคเนย์ และอาหรับ-อินเดียได้อย่างที่มุ่งหวัง เมื่อยึดมะละกาได้ แหล่งค้าเครื่องเทศ (และสินค้าเอเชียอื่นๆ) ก็กระจายไปตามเมืองท่าต่างๆ ในอุษาคเนย์เพิ่มมากขึ้น มะละกาไม่ใช่ปากขวดที่สำคัญของเครื่องเทศอย่างที่เคยเป็นมา การใช้กำลังทางเรือเที่ยวปราบและกีดกันการไหลของเครื่องเทศ ยิ่งทำให้โปรตุเกสมีศัตรูในหมู่พ่อค้าอินเดีย-อาหรับเพิ่มขึ้น และยิ่งทำให้ต้นทุนในการผูกขาดเครื่องเทศสูงขึ้นตลอดมา ดังนั้นจึงมีเครื่องเทศที่ไม่ได้ผ่านมือโปรตุเกสในตลาดยุโรปปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยไหลไปยังเมืองท่าอาหรับในตะวันออกกลางอย่างที่เคยเป็นมาก่อน โปรตุเกสจะเดินเรือถึงเอเชีย ส่วนพ่อค้าเครื่องเทศในอิตาลีซึ่งซบเซาลงในระยะแรก ก็สามารถกลับมารับสินค้าจากเมืองท่าในตะวันออกกลางได้อีก เครื่องเทศที่ไหลเข้ายุโรปผ่านตะวันออกกลางมีสูงขึ้นจนในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ก็มีปริมาณเท่ากับที่โปรตุเกสนำมาจากเอเชี ยโดยตรง ราคาของเครื่องเทศในยุโรปลดต่ำลงอย่างมาก ในขณะที่ต้นทุนในการผูกขาดเครื่องเทศซึ่งล้มเหลวของโปรตุเกสกลับเพิ่มสูงขึ้น และดังที่กล่าวแล้วว่า โปรตุเกสไม่มีเครือข่ายการค้าที่กว้างขวางเท่าพ่อค้าอิตาลีและเยอรมัน จึงต้องขายเหมาเครื่องเทศของตนในราคาที่บางครั้งก็ขาดทุนให้แก่พ่อค้าเครื่องเทศจากอิตาลีและเยอรมัน
 
ดังนั้น นับตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา การค้าระหว่างประเทศในเอเชียกลับมีความสำคัญแก่โปรตุเกสเสีย ยิ่งกว่าการผูกขาดเครื่องเทศ หรือการค้าระหว่างเอเชียและยุโรปซึ่งแทบจะไม่ให้ผลกำไรสักเท่าไร แหล่งรายได้สำคัญของโปรตุเกสในเอเชียมาจากการค้าผ้าจากอินเดีย นำไปขายยังเมืองท่าต่างๆ ของเอเชีย โดยภาพรวมแล้ว ถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ โปรตุเกสก็รู้แล้วว่า การค้ากับเอเชียไม่ให้ผลกำไร และไม่มีความสำคัญแก่ตนเอง ผลประโยชน์ที่แท้จริงอยู่ที่มหาสมุทรแอตแลนติกและบราซิลต่างหาก ในกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ Casa da India ประสบก ารขาดทุนเสียจนไม่มีเงินจ่ายหนี้ และในช่วงนี้เองที่โปรตุเกสยอมให้ทุนและพ่อค้าต่างชาติเข้ามาร่วมในการค้ากับเอเชีย แต่ก็มีปริมาณไม่เกิน ๑ใน ๓ ของการค้ากับเอเชียทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการบริหารงานที่ดีกว่า ทำให้พ่อค้าต่างชาติที่มาลงทุนเหล่านี้ทำกำไร และขนสินค้าเอเชียกลับยุโรปได้มากกว่าของอภิชนโปรตุเกสเองเสียอีก
 
การค้ากับเอเชียซึ่งให้ผลกำไรมหาศาลก็แต่ในช่วงเวลาสั้นๆ  และลดน้อยถอยลงไปตลอดคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖   นี้   โปรตุเกสต้องลงทุนสูงมาก ประมาณกันว่าตลอดช่วงปี ค.ศ. ๑๕๐๐-๔๙ โปรตุเกสไม่เคยมีกำปั่นมากไปกว่า ๓๐๐ ลำใน ๕๐ ปีนี้ แต่ปินโตประเมินว่า โปรตุเกสส่งเรือมาเอเชียในช่วงนี้ถึง ๔๗๒ เที่ยว (แต่ละลำเดินทางหลายเที่ยว ในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ยังต้องมีกำปั่นอีกหลายลำใน ๓๐๐ ลำนี้ที่เดินทางไปค้าขาย ทำสงคราม และยึดครองในแอฟริกา หมู่เกาะในแอตแลนติกและละตินอเมริกา) ฉะนั้นกำปั่นที่เดินทางมาเอเชียจึงถูกใช้งานอย่างหนัก ในช่วงนี้ ชนชั้นสูงโปรตุเกสมุ่งแต่จะตักตวงกำไรจากเอเชีย จึงได้สร้างกำปั่นขนาดใหญ่ ๔ ชั้น ซึ่งสามารถบรรทุกคนได้ ๕๐๐-๖๐๐ คน จำนวนคนโปรตุเกสที่กำปั่นบรรทุกมาเอเชียในช่วงนี้ จึงมีถึง ๑๘๐,๐๐๐ คน แต่เนื่องจากอนามัยบนเรือในสมัยนั้น  อยู่ในสภาพย่ำแย่ทุกเที่ยวที่มีการเดินทางไปกลับ จะเสียลูกเรือไปประมาณครึ่งหนึ่ง นับเป็นภาระที่หนักมากแก่ประเทศเล็กๆ ซึ่งมีประชากรเพียงล้านเศษ ที่ต้องเสียทั้งกำลังแรงงานและชีวิตให้แก่การค้าซึ่งให้ผลกำไรน้อยลงตลอดมา
 
ในเรื่องนี้มีตัวเลขที่ชี้ให้เห็นความสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจ และสังคมของการค้ากับต่างแดนของโปรตุเกสประมาณกันว่า ตลอดศตวรรษที่ ๑๖ โปรตุเกสส่งคนเดินทางออกทะเลไปปีละ ๒,๔๐๐ คน  ฉะนั้นทั้งศตวรรษโปรตุเกสต้องเสียกำลังแรงงานของคนหนุ่มไปถึงประมาณ ๒๕๐,๐๐๐ คน หรือเกือบ ๑ ใน ๔ ของประชากร อีกทั้งเป็นประชากรในวัยทำงานที่มีสุขภาพอนามัยดีอีกด้วย เปรียบเทียบกับสเปนในช่วงเวลาเดียวกัน สเปนส่งค นไปยังอาณานิคมของตนปีหนึ่งประมาณ ๑,๕๐๐ คนเท่านั้น แต่สเปนมีประชากรมากกว่าโปรตุเกส ๔ เท่าตัว
 
 
ภาพลายเส้นพืชพันธุ์หลากหลายชนิดที่ชาวโปรตุเกสพบในเอเชีย 
(ภาพจาก The Portuguese Empire, 1415-1808, 1998.)
 
 
ภาพวาดกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕-๑๖ รุ่งเรือง
และเฟื่องฟูถึงขีดสุดจากการค้าเครื่องเทศด้วยกองเรือติดอาวุธสำหรับทำการค้า
ที่ทำผลกำไรให้มหาศาล (ภาพจาก The Opening of the World, 1973.)
 
ยิ่งไปกว่านี้ อาณานิคมของสเปนตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศที่ใกล้เคียงกับเมืองแม่ ในขณะที่อาณานิคมของโปรตุเกสในเอเชียอยู่ในเขตร้อนชื้น ซึ่งแตกต่างจากเมืองแม่อย่างยิ่ง จึงมีโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งชาวโปรตุเกสไม่มีภูมิต้านทาน การสูญเสียชีวิตหรือเจ็บป่วยจนพิการของชาวโปรตุเกสในอาณ านิคมจึงสูงกว่าสเปนอย่างเทียบไม่ได้ จำนวนมากของคนโปรตุเกส ซึ่งมารับราชการในเอเชีย ถ้าไม่เสียชีวิต เมื่อกลับบ้านก็กลายเป็นคนทุพพลภาพ ที่ไม่สามารถเป็นกำลังด้านการผลิตของประเทศได้อีก
 
อุปราชอินเดียของโปรตุเกสทำงานไม่มีประสิทธิภาพมากนัก เมื่อเทียบกับอุปราชสเปนในละตินอเมริกา โปรตุเกสเลือกคนจากชนชั้นสูงด้วยกันเองเท่านั้น ให้ดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงได้ คนไม่ได้ถูกเลือกจากความสามารถ แต่เลือกจากสถานภาพ จึงเป็นธรรมดาที่จะหาผู้บริหารที่มีฝีมื อได้ยาก เหล่าอภิชนโปรตุเกสเองก็ไม่ค่อยมีประสบการณ์ด้านการบริหารอยู่แล้ว การทุจริตคดโกงในบรรดาพนักงานทุกระดับของโปรตุเกสจึงมีสูงกว่าสเปนในละตินอเมริกามาก ระยะทางระหว่างเมืองแม่ และอาณานิคมในเอเชียก็ไกลกว่าระหว่างเมืองแม่ กับอาณานิคมของสเปนใน ละตินอเมริกา ทำให้การควบคุมจากลิสบอนเป็นไปได้ยากกว่า นอกจากนี้โปรตุเกสยังพยาบาลรักษาเส้นทางเดินเรือมาเอเชีย และช่องทางการค้าในเอเชียของ ตนไว้เป็นความลับ จึงต้องกีดกันคนต่างชาติมิให้เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเดินเรือและการค้าของตน ทำให้หากำลังคนสำหรับการค้าของได้ไม่มากนัก
 
แม้อภิชนโปรตุเกสให้ความสำคัญแก่การเดินเรือ แต่กลับปฏิบัติต่อกะลาสีเรือด้วยความดูหมิ่นถิ่นแคลน จึงกลายเป็นอาชีพที่ไม่ดึงดูดคนที่มีความสามารถให้เข้ามาทำงาน  แต่เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไม่พัฒนา ไม่มีงานให้ทำมากนัก คนหนุ่มที่แข็งแรงจำนวนมากก็พร้อมจะเข้ามาเสี่ยงโชคในงานนี้ ขาดทั้งประสบการณ์ และแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ ผลก็คือ ทำให้กำปั่นของโปรตุเกสยิ่งประสบการอับปางมากขึ้น มีสถิติที่ระบุว่าระหว่างปี ค.ศ. ๑๕๐๐ - ๕๐ กำปั่นโปรตุเกสที่เดินทางมาเอเชียอับปางลง ๑๒% แต่ระหว่างปี ค.ศ. ๑๕๕๐-๑๖๕๐ สถิติกลับเพิ่มเป็น ๑๖-๑๘% ในขณะเดียวกันเมื่อได้รายได้ค่อนข้างต่ำจากกรมอินเดียของราชสำนัก ลูกเรือที่มีกำลังและความสามารถย่อมพอใจจะออก หรือหนีมารับราชการกับ กษัตริย์ในตะวันออกมากกว่า เพราะได้รางวัลตอบแทนสูงกว่ามาก ที่มีกำลังก็กลายเป็นพ่อค้าอิสระ หรือลักลอบทำการค้าส่วนตัวในกำปั่นของกรมอินเดียซึ่งทำการค้าขายภายในเอเชียเอง เพราะระบบบริหารของโปรตุเกสในจักรวรรดิเอเชียไร้ประสิทธิภาพดังที่กล่าวแล้ว
 
ดังนั้น การเผชิญภัยและความยากลำบากในการเดินเรือมาเอเชียโดยตรง จึงให้ผลกำไรแก่โปรตุเกสในระยะสั้นมาก คืออยู่ในราวครึ่งแรกของ คริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เท่านั้น ซ้ำผลกำไรที่ได้ก็ถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ช่วยให้โปรตุเกส เจริญรุดหน้าเหมือนประเทศในยุโรปเหนือซึ่งเป็นคู่แข่ง เพราะถูกใช้ไปในทางบำรุงบำเรอความหรูหราฟุ่มเฟือยของราชสำนักและอภิชนเท่านั้น ในทางตรงกันข้าม ต้นทุนที่ประชาชนโปรตุเกสต้องจ่ายให้แก่การแสวงหากำไร ของอภิชนเหล่านั้นก็สูงมาก และสูงมากขึ้นทุกที ทั้งในแง่ทรัพย์ กำลังคน และกำลังทางเศรษฐกิจอื่นๆ ชะตากรรมของโปรตุเกสจึงไ ม่ต่างจากระบอบ “อำมาตยาธิปไตย” ในทุกแห่งและทุกสมัย ถึงมีเงินไหลเข้ามากในช่วงใดช่วงหนึ่ง ก็มักเป็นแต่ฟองสบู่ที่ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาแก่ “ชาติ” หรือสังคมโดยรวม
 
 
ตลับโบราณบรรจุตัวอย่างสินค้าเครื่องเทศชนิดต่างๆ อายุราวคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ (ภาพจาก 
Encompassing the Globe Portugal and the World in the 16-17 Centuries, 2007.)
 
เมื่อกรมอินเดียนำเครื่องเทศกลับยุโรปมาก ก็ทำให้ราคาของเครื่องเทศในยุโรปตกต่ำลง ซึ่งย่อมเป็นผลให้กำไรจากเครื่องเทศถดถอยลงไปพร้อมกัน (ต้องไม่ลืมด้วยว่า การส่งเรือมาค้าเครื่องเทศมีต้นทุนคงที่ หรือเมื่อถูกแข่งขันมากกลับยิ่งสูงขึ้นด้วย) ยิ่งกว่านี้ เมืองท่าในอิตาลีกลับไปรับซื้อเครื่องเทศจากพ่อค้าอาหรับได้ดังเดิม เพราะความพยายามจะผูกขาดเครื่องเทศของโปรตุเกสในเอเชียไม่ประสบความสำเร็จ เครื่องเทศก็ยังไหลสู่ มือของพ่อค้าอาหรับ - อินเดียได้เท่าเดิม หลังจากซบเซาไปช่วงหนึ่งสั้นๆ ฉะนั้น นับตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา เครื่องเทศที่ผ่านเข้าสู่ยุโรปผ่านตะวันออกกลาง และเมืองท่าอิตาลี ก็กลับมีปริมาณเท่ากับเมื่อก่อนที่โปรตุเกสจะเดินทางมาเอเชียโดยตรง และในเวลาต่อมาก็มีเท่ากับที่โปรตุเกสนำมาจากเอเชีย ราคาเครื่องเทศในยุโรปยิ่งตกต่ำลง จนไม่ให้ผลกำไรแก่ราชสำนักโปรตุเกสอย่างที่เคยเป็นมาอีก จนกรมอินเดียไม่มีเงินจ่ ายหนี้ดังที่กล่าวแล้ว ในปลายศตวรรษที่ ๑๖ ราชสำนักก็รู้แล้วว่า การค้ากับเอเชียไม่ได้มีความสำคัญแก่ตนแต่อย่างไร และจากนั้นมาก็หันมาให้ความสนใจการค้าในมหาสมุทรแอตแลนติก (รวมถึงบราซิล)
 
นับตั้งแต่ครึ่งหลังของศตวรรษที่ ๑๖ เช่นกัน ที่โปรตุเกสประสบการแข่งขันมากขึ้นไม่เฉพาะแต่ในเอเชียเท่านั้น แต่บนมหาสมุทรทั่วโลก ในแอฟริกาโปรตุเกสถูกโมร็อกโกซึ่งโปรตุเกสไม่เคยปราบได้สำเร็จแข่งขันอำนาจ ในภาคพื้นทะเล เรือโปรตุเกสถูกโจรสลัดฝรั่งเศสคุกคามหนักขึ้น เมื่ อตกอยู่ใต้ราชบัลลังก์สเปนในปลายศตวรรษ ก็ทำให้โปรตุเกสต้องรบกับฮอลันดา และอังกฤษไปด้วย อีกทั้ง ๒ ชาติหลังนี้ยังส่งกำปั่นเข้ามาค้าขายแข่งกับโปรตุเกสในเอเชียด้วย
 

ภาพกองเรือโปรตุเกสที่เดินทางจากกรุงลิสบอนมายัง
เมืองมะละกา ในวันที่ ๑๒ มีนาคม ค.ศ. ๑๕๑๐ (พ.ศ.๒๐๕๓)
(ภาพจาก Livro das Armadas, 1568.)
 
ในขณะที่โปรตุเกสต้องมีความเข็มแข็งด้านกำลังทางเรือมากขึ้นฝีมือและวัสดุสำหรับต่อเรือในโปรตุเกสกลับหายากขึ้น ก่อนจะสิ้นศตวรรษที่ ๑๖ โปรตุเกสก็ไม่สามารถหาไม้ในประเทศตนเองมาต่อเรือได้แล้ว ต้องนำเข้าวัสดุเหล่านี้จากอังกฤษหรือฮอลันดา ทำให้กำปั่นของโปรตุเกส (และสเปน) มีราคาสูงกว่าของอังกฤษและฮอลันดา ๓ เท่า แม้โปรตุเกสมีอาณานิคมในอินเดีย  ซึ่งอุดมด้วยไ ม้สักซึ่งใช้ต่อเรือได้ดี และแรงงานราคาถูก แต่โปรตุเกสในอินเดียไม่มีวัสดุอื่น และไม่มีวิศวกรฝีมือดี ฉะนั้นกำปั่นที่ต่อขึ้นในอินเดียของโปรตุเกสจึงด้วยคุณภาพกว่าคู่แข่งมาก (แต่ก็ยังต่อกำปั่นกัน ต่อมาถึงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ ได้กำปั่นที่มีคุณภาพพอประมาณเท่านั้น)
 
การค้ากับอยุธยา ควรเข้าใจการค้าของโปรตุเกสกับอยุธยาในบริบทของการค้าของโปรตุเกสในเอเชีย อยุธยาไม่ใช่แหล่งผลิตหรือศูนย์กลางการค้าเครื่องเทศเหมือนมะละกา แต่อยุธยาก็เป็นเมืองท่าสำคัญที่มีสินค้าทั้งจากภายในภูมิภาคอุษาคเนย์ ประเทศในทะเลจีนเหนือ (จีน ญี่ปุ่น ริวกิว เกาหลี) กับประเทศในมหาสมุทรอินเดีย (รัฐต่างๆ ในอนุทวีปอินเดียจนถึงตะวันออกกลาง) และดังที่กล่าวแล้วว่าโปรตุเกสสำนึกได้ดีว่า แหล่งกำไรสำคัญในการค้าของตน คือ การค้าระหว่างเมืองท่าต่างๆ ภายในเอเชียด้วยกันเอง ฉะนั้นเป้าหมายทางการค้าของโปรตุเกสในอยุธยาคือ ความสัมพันธ์ที่ราบ รื่นต่อกัน เพื่อให้อยุธยาเป็นหนึ่งในเครือข่ายการค้าในเอเชียของโปรตุเกส
       
ก่อนที่จะยึดมะละได้ Albuquerque ก็ส่งผู้ถือสาส์น ชื่อ Duarte Fernandes ซึ่งสามารถพูดภาษามลายูได้มายังราชสำนักอยุธยา Fernandes ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากพระรามาธิบดีที่ ๒ ซึ่งได้จัดคณะทูตนำ (เข้าใจว่า) ศุภอักษรจากเสนาบดีกลับไปยังเมืองมะละกาพร้อมกับ Fernande เพื่อยื่นแก่Albuquerque ดังนั้น Albuquerqueจึงส่งทูตคณะที่ ๒ มายังอยุธยาในปีค.ศ.๑๕๑๒(ห ลังจากยึดมะละกา ได้เพียงปีเดียว) มี Antonio de Miranda เป็นทูต อยุธยาตอบแทนด้วยการส่งพระราชสาส์นไปถวายพระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสที่เมืองกัว อีก ๔ ปีต่อมา ข้าหลวงโปรตุเกสประจำมะละกาก็ส่งทูตชื่อ Duarte de Coelho มายังอยุธยาอีก และมีการลงนามในหนังสือสัญญากันเป็นครั้งแรกใน ปี ค.ศ. ๑๕๑๖
 
ในหนังสือสัญญาฉบับนี้   ไทยอนุญาตให้โปรตุเกสตั้งสถานีการค้า (feitorias)  ได้ที่อยุธยา นครศรีธรรมราช มะริด ตะนาวศรี และปัตตานี (ในขณะนั้นอยุธยายังสามารถอ้างได้ว่าปัตตานีจริงเป็นประเทศราช ในภายปัตตานีก็แยกตัวออกจากอยุธยา โปรตุเกสจึงต้องส่งทูต ชื่อ Manuel Falcau ไปเจรจาทำสัญญาการค้ากับรานีแห่งปัตตานีเองจนสำเร็จ) นอกจากนี้ อยุธยายังอนุญาตให้ทำการเผยแผ่คริสต์ศาสนาได้โดยไม่ขัดขวาง) ในเวลานั้นที่อยุธยามีประชากรที่ปฏิบัติศาสนาอื่นซึ่งไม่ใช่พุทธแบบไทยอยู่แล้วที่สำคัญ คือ มุสลิมนิกายชีอะห์ซึ่งพวกเปอร์เซียนำเข้ามา และลัทธิพิธีแบบจีน เป็นอย่างน้อย การปฏิบัติศาสนาใหม่คือคริสต์เพิ่มขึ้นอีก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับผู้ปกครองไทย ตราบเท่าที่การปฏิบัติศาสนานั้นๆ ไม่ทำลายอำนาจเหนือไพร่ของระบอบปกครอง)
 
ความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยา และโปรตุเกสเป็นไปอย่างราบรื่นตามความมุ่งหวังของโปรตุเกส ในระยะนั้น อยุธยาต้องทำสงครามกับหลายศูนย์อำนาจสืบกันมา (เชียงใหม่ เชียงกราน และกัมพูชา) จึงต้องการอาวุธ “ทันสมัย” จากโปรตุเกส พ่อค้าโปรตุเกสได้นำเอาปืนไฟ ดินปืนและกระสุน มาถวาย (คือแลกกับสินค้าในพระคลังหลวง) อยู่เนืองๆ จึงยิ่งเป็นที่พอใจแก่กษัตริย์อยุธยาในขณะที่การ “เปิด” ประเทศของอยุธยาเองก็เป็นที่พอใจแก่ฝ่ายโปรตุเกส เพราะมีหลักฐานว่าสถานีการค้าต่างๆ ที่โปรตุเกสตั้งขึ้นตามเมืองที่ได้รับอนุญาตจากอยุธยา ต่างทำกำไรได้มาก ทั้งโปรตุเกสยังใช้เมืองเหล่านี้บางเมืองในการขยายเครือข่ายทางการค้าของตนออกไปถึงเอเชียตะวันออก เช่น เรือที่เริ่มติดต่อกับจีน ในสมัยราชวงศ์หมิงครั้งแรกในปี ค.ศ.๑๕๑๗ ก็ไปจากปัตตานี โปรตุเกสเองก็อนุญาตให้พ่อค้าและช่วงจากอยุธยา (คงจะจีน) ไปตั้งชุมชนของตนในมะละกา
 
อย่างไรก็ตาม บทบาททางการค้าของโปรตุเกสในอยุธยา ไม่มีผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจแก่อยุธยา ดังที่กล่าวแล้วว่า โปรตุเกสค้าขายกับอยุธยาในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการค้าระหว่างเอเชียด้วยกัน เข้าใจว่า อยุธยาเองก็มองโปรตุเกสเหมือนเป็นพ่อค้าต่างชาติอีกช นิดหนึ่ง ซึ่งก็เข้ามาค้าขายในอยุธยาหลายชาติหลายภาษาอยู่แล้ว สินค้าที่โปรตุเกส  ขนออกไปก็ไม่ได้ต่างไปจากที่พ่อค้าต่างชิตทั่วไปขน ได้แก่ ของป่าและสินค้าส่งผ่าน การค้าของโปรตุเกสไม่ได้ทำให้เกิดการ “ผลิต” สินค้าใหม่ หรือขยายการ “ผลิต” เดิมที่มีอยู่ เพราะปริมาตรการค้าของกำปั่นโปรตุเกสเมื่อเทียบกับสำเภาจีนและอาหรับ-อินเดีย (ทั้งที่เป็นของพ่อค้าภายในและต่างประเทศกับสำเภาหลวง) ก็เป็นสัดส่วนที่น้อย
 
สินค้านำเข้าของโปรตุเกสซึ่งอาจนับได้ว่ามีปริมาณมากสักหน่อย เห็นจะเป็นผ้าจากฝั่ง  มะละบาร์ของอินเดียแต่คงไม่ใช่สินค้าใหม่ เพราะเรืออาหรับ-อินเดียก็คงเคยนำมาขายในอยุธยาอยู่แล้ว แม้ว่าในช่วงหนึ่งโปรตุเกสพยายามผูกขาดสินค้าประเภทนี้ เพราะมีความต้องการในเอเชียสูง แต่ก็เหมือนสินค้าอื่นๆ โปรตุเกสไม่สามารถทำได้สำเร็จ อย่างไรก็ตามในช่วงหนึ่ง ผ้าจากอินเดียน่าจะเป็นสินค้าหลักของโปรตุเกสในอยุธยา แต่ทั้งพ่อค้าที่รับซื้อผ้าจากโปรตุเกสหรือกรมพระคลังเอง ก็หาได้มีเครือข่ายการค้าในประเทศที่กว้างขวาง ฉะนั้นตลาดภายในของอยุธยาจึงมีจำกัด ปริมาณนำเข้าจึงจะสูงมากนักไม่ได้อยู่เอง
 
 
กองเรือโปรตุเกสเดินทางถึงหน้าเมืองมะละกา มะละกาถูกยึดและ
ถูกตั้งให้เป็นอาณานิคมแห่งที่ ๒ ของโปรตุเกสในเอเชีย
(ภาพจาก 
Portuguese Navigators Heroes of the Sea, 1970.) 
 
 
ส่วนหนึ่งของแผนที่เอเชีย แสดงกรุงศรีอยุธยา เขียนโดย โจเซ่ ดา กอสตา มิรันดา 
นักเขียนแผนที่ชาวโปรตุเกส ในปี ค.ศ. ๑๖๘๑ (พ.ศ. ๒๒๒๔) 
(ภาพจากกรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง, ๒๕๔๙.)
 
การค้าภายในเอเชียของโปรตุเกสขยายตัวมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และกลายเป็นรายได้สำคัญของกรมอินเดียดังที่กล่าวแล้ว โดยเฉพาะเมื่อเครื่องเทศไม่ทำกำไรให้อย่างเคย (ก่อนจะถึงกลางศตวรรษที่ ๑๖) ดังนั้นจึงมีพ่อค้าโปรตุเกสตั้งภูมิลำเนาอยู่ตามสถานีการค้าต่างๆ ในเอเชียจำนวนมาก ในปี ค.ศ. ๑๕๓๘ มีรายงานว่า มีพ่อค้าโปรตุเกสประจำอยู่ในปัตตานีถึง ๓๐๐ คน (อาจเป็นชุมชนโปรตุเกสในอุษาคเนย์ที่ใหญ่สุดนอกมะละกา) เข้าใจว่าจำนวนของพ่อค้าโปรตุเกสในเมืองท่าใหญ่อื่นๆ ก็คงมีใกล้เคียงกัน ในระยะเวลาเดียวกันนี้ ปินโตรายงานว่า มีทหารโปรตุเกสอยู่ในกองทัพของพระชัยราชาถึง ๑๒๐ คน แต่ผู้เขียนยังไม่สามารถหาตัวเลขของชาวโปรตุเกส (ผิวขาว) ทั้งหมดในอยุธยาช่วงนี้ได้ ในศตวรรษที่ ๑๗ หลักฐานของ ฝรั่งเศสกล่าวว่า ประชากรในชุมชนโปรตุเกสมีถึง ๖,๐๐๐ คน (แต่จะเป็นผิดขาวสักเท่าไรไม่ได้ระบุไว้ เข้าใจว่ามีไม่สู้มากนัก ดังจะเห็นเหตุผลได้เองข้างหน้า)
 
นับตั้งแต่กลางศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา ชุมชนโปรตุเกสในเอเชียถูกปล่อยให้ดำเนินการไปเองมากขึ้น โดยที่กรมอินเดียไม่ได้เข้ามาควบคุม พอถึงศตวรรษที่ ๑๗ ชาวโปรตุเกสเหล่านี้เมื่อเดินทางออกจากยุโรปแล้ว ก็มักจะหลบออกไปจากราชการของกรมอินเดีย ไม่กลับยุโรป ไม่คิดจะไต่เ ต้าในสังคมโปรตุเกสอีก แต่คนเหล่านี้ก็มักเป็นนักเสี่ยงโชคผจญภัย เพื่อหาทางตั้งตัวในเอเชีย นับตั้งแต่รับจ้างรบ เป็นโจรสลัด ปล้นสะดมเมืองชายฝั่งหรือตั้งตัวเป็นผู้ปกครองเสียเอง (เช่น De Brito) ไปถึงค้าขายอิสระ และคนเหล่านี้ต่างหากที่เป็นสีสันของบทบาทโปรตุเกสในอุษาคเนย์ รวมทั้งในอยุธยาด้วย 
 
ในปี ค.ศ. ๑๕๔๐ กษัตริย์โปรตุเกสส่งทูตพร้อมพระราชสาส์นเพื่อขอตัวชาวโปรตุเกส (ระบุชื่อ) ที่ถูกทางอยุธยาจับตัวไว้คืน แต่กลับปรากฏว่าชาวโปรตุเกสที่มีชื่อในพระราชสาส์นนั้นที่แท้เป็นทหาร (รับจ้าง) ในกองทัพของพระชัยราชาซึ่งยักไปทำสงครามปราบ “พวกที่อยู่บนภูเขาในภาคเหนือ” (สงครามกับเชียงใหม่?) พระชัยราชาจึงส่งคืนบุคคลผู้นั้นพร้อมกับพรรคพวกอีก ๑๖ คนให้แก่ทางโปรตุเกส พร้อมทั้งพระราชทานรางวัลก้อนใหญ่ไปด้วย
 
ปินโตรายงานว่า ในครั้งทำสงครามกับเชียงใหม่ มีทหารโปรตุเกสในกองทัพของพระชัยราชา ๑๒๐ คน อีกทั้งทหารโปรตุเกสยังได้สอนทหาร อยุธาในการยิงปืนไฟ ทำปืนไฟเอง และหล่อปืนใหญ่ หมู่บ้านโปรตุเกสในอยุธยา ก็เกิดขึ้นจากการพระราชทานที่ดินให้แก่ทหารรับจ้าง ๑๒๐ คนนี้ตั้งบ้านเรือน
 

ไหมดิบ ตะกั่ว ทองแดงแท่ง และดีบุก 

ลูกกระวาน พริกไทย และข้าว

สินค้าออกที่ส่งขายชาวต่างชาติในสมัยกรุงศรีอยุธยา
 
ในกองทัพของราชอาณาจักรใหญ่ๆ ของอุษาคเนย์ ช่วงนั้นสืบมาจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ ล้วนมีทหาร (รับจ้าง) ชาวโปรตุเกสอยู่ด้วยทั้งสิ้น ในอยุธยาเองถึงกับรวบรวมกันขึ้นเป็นกรมต่างหากคือ “กรมฝรั่งแม่นปืน” ซึ่งบอกให้รู้ถึงภารกิจหลักของทหารโปรตุเกสเหล่านี้
 
ในที่นี้ควรกล่าวถึงผลกระทบด้านการทหารแก่อยุธยา อันเกิดจากการค้ากับโปรตุเกสไว้ด้วย กล่าวโดยสรุปก็คือ ไม่เกิดผลกระทบที่เป็นสาระสำคัญแต่อย่างไร
 
ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า ปืนใหญ่คงมีใช้กันอยู่แล้วในอุษาคเนย์ก่อนโปรตุเกสเข้ามา โปรตุเกสนำเอาปืนใหญ่ที่มีอานุภาพมากขึ้นมาขาย แม้กระนั้นปืนใหญ่ก็ไม่ได้เปลี่ยนยุทธวิถีของสงครามป้อมค่ายประชิดในอุษาคเนย์ไปมากนัก กำแพงก่ออิฐอาจเข้ามาแทนที่เพนียดไม้ซุงในเมืองหลักที่ต้องเผชิญการล้อมเมือง ปืนใหญ่ช่วยให้เมืองที่เข้าถึงปืนใหญ่ได้ - ด้วยเหตุผลทางภูมิศาสตร์การ เมือง หรือเศรษฐกิจก็ตาม-มีอาจเหนือแว่นแคว้นภายในของตนได้มั่นคงขึ้น แต่เมื่อกล่าวโดยรวมแล้ว ปืนใหญ่ไม่ได้ทำให้ยุทธวิธีของกองทัพในอุษาคเนย์เปลี่ยนแปลงไปอย่างสำคัญ เพราะการคมนาคมขนส่งที่ไม่สะดวก (และการจัดองค์กรทางสังคมไม่เอื้อ) จึงทำให้ปืนใหญ่ที่สามารถขนย้ายเข้าสู่สนามรบมีขนาดเล็ก และมีอานุภาพน้อย ยังไม่พูดถึงการจัดกำลังยิงให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกันไปกับการตั้งรับ หรือการเข้าตีของกำลังส่วนอื่น
 
อาวุธที่น่าจะเปลี่ยนกระบวนการรบและมีอานุภาพร้ายแรงกว่าคือ ปืนประจำกายทหาร หรือปืนคาบศิลา (ซึ่งพัฒนาให้ยิงสะดวกขึ้นในเวลาต่อมา เช่น เมื่อสับนกแล้วเกิดประกายไฟไปติดชุด) ซึ่งสามารถทำร้ายศัตรูได้ในระยะไกล แต่เพราะมีอานุภาพมากเช่นนี้ จึงอาจนำไปใช้ในการแย่งอำนาจการเมืองกันภายในได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ดังนั้น ปืนเหล่านี้จึงมักเก็บไว้ในพระคลังแสง และไม่อนุญาตให้เบิกไปใช้ได้นอกเวลาสงคราม ยกเว้นแต่ทหารองครักษ์ซึ่งได้รับความไว้วางใจเป็นพิเศษ
 
แม้ในยามสงคราม ปืนเหล่านี้ก็มีหน้าที่หลักคือให้ความปลอดภัยแก่แม่ทัพที่เป็นกษัตริย์หรือเจ้านาย มิให้ข้าศึกบุกเข้ามาใกล้ได้ ดังนั้นหน้าที่หลักของอาวุธใหม่ที่มีอานุภาพร้ายแรงนี้ ในยุทธวิธีของหลายประเทศของอุษาคเนย์โบราณ คือ ให้ความปกป้องคุ้มครองแม่ทัพ โดยเฉพาะที่เป็นพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ จึงทำให้ปืนประจำกายทหารไม่เปลี่ยนยุทธวิธีของการรบในอุษาคเนย์ (อย่างน้อยก็ในอยุธยา) จนเมื่อมีการ ฝึกทหารในกองทัพประจำการในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ ไปแล้ว ความสัมพันธ์กับโปรตุเกสจึงมีผลกระทบด้านการทหารน้อยมากกว่าที่เข้าใจกัน
 
การเผยแผ่ศาสนาโปรตุเกสในเอเชีย
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในยุโรปตะวันตกด้วยกัน โปรตุเกสได้รับอิทธิพลจากแนวความคิดมนุษยนิยมในสมัยปุณภพน้อยมาก ในขณะที่ มนุษยนิยมทำให้เกิดความพยายามปฏิรูปคณะสงฆ์ (และศาสนา) ในประเทศอื่น แต่คณะสงฆ์ของโปรตุเกสผ่านเข้าสู่ยุคนี้โดยไม่ค่อยมีความพยายามจะปฏิรูป พระคณะฟรันซิสกันของโปรตุเกส สร้างกระแสลัทธิ “พระจิต” ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ แต่ลัทธินี้ก็มีลักษณะจิตนิยม ที่เน้นไปด้านประสบการณ์ทางจิตภายในของผู้ศรัทธา ไม่ใช่กานเสนอและโต้เถียงกันทางสติปัญญาและความรู้ ดังที่เป็นความเคลื่อนไหวของศาสนาคาทอลิกในยุโรปส่วนอื่น วัตรปฏิบัติของพระโปรตุเกสจึงยังคงเดิมเหมือนสมัยโบราณ (คือคล้ายกับพระในสมัยกลาง) และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่ค่อยมีบทบาทในสังคมนักประวัติศาสตร์โปรตุเกส ยกตัวอย่าง การโต้เถียงกันของสังคมโปรตุเกสในศตวรรษที่ ๑๕ เกี่ยวกับการรับลูก “นอกสมรส” และการยอมรับการแต่งงานที่เกิดขึ้นจริง ไม่ว่าจะทำในหรือนอกศาสนาว่าเป็นความสัมพันธ์ฉันสามี-ภรรยาปรากฏว่าทั้ง ๒ ฝ่ายไม่ได้อ้างหลักศาสนามาโต้แย้งในการโต้เถียงเลย
 
อย่างไรก็ตาม ความกระตือรือร้นที่จะเผยแผ่ศาสนาในต่างแดนในปลายศตวรรษที่ ๑๕ ก็ทำให้เกิดการปรับปรุงการศึกษาของพระสงฆ์ขึ้นเหมือนกัน วัตรปฏิบัติของพระดีขึ้นเล็กน้อย แต่ก็ไม่ได้ผลจริงจังและถาวรนัก เพราะในกลางศตวรรษที่ ๑๖ ก็ปรากฏคำฟ้องพระสงฆ์เกี่ยวกับการทุจริต คดโกง ประพฤติผิดศีลธรรม หรือเขลาเพราะขาดความรู้พื้นฐานทางศาสนา กลับขึ้นมาอีกจำนวนมาก ไม่ต่างจากที่เคยปรากฏมาก่อนการปรับปรุงการศึกษา
 
 
โครงกระดูกที่ถูกฝังในสุสานที่หมู่บ้านโปรตุเกส จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
 
 
ร่องรอยอาคารศาสนสถานที่หมู่บ้านโปรตุเกส จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 
 
การปกครองของคณะสงฆ์ของโปรตุเกสมีลักษณะของช่วงชั้นยิ่งกว่าสเปนเสียอีก พระชั้นผู้ใหญ่มักตกอยู่ในความควบคุมหรือเป็นพันธมิตรของชนชั้นสูง (ทั้งที่เป็นข้าราชสำนักของส่วนกลางไปแล้ว หรือยังเป็นเจ้าศักดินาตามแว่นแคว้น) ศาสนจักรโปรตุเกสจึงไม่ใช่พลังทางสังคมที่ถ่วงดุลอำนาจของชนชั้นสูง หรือนำความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และสติปัญญาครั้งใหญ่เหมือนอีกหลายประเทศในยุโรปตะวันตก ในขณะเดียวกัน เมื่อเข้า มาในเอเชียพระโปรตุเกสก็ไม่ใช่ตัวการแห่งความเปลี่ยนแปลง (agent of change) ที่มีนัยะสำคัญแก่เอเชียเช่นเดียวกัน
 
พระเจ้าแผ่นดินโปรตุเกสบังคับว่า เรือที่จะมาทางตะวันออกทุกลำจะต้องนำพระเพื่อมาเผยแผ่ศาสนาด้วย เล่ากันว่าเรือจำนวนมากที่จะมาเอเชีย ไม่สามารถหาพระที่สมัครใจจะมาเผยแผ่ศาสนาได้ทันการออกเรือ ก็มักจับพระที่เดินอยู่ในถนนกรุงลิสบอนขึ้นเรือแล้วออกจากท่ามาเลย เรื่องเล่านี้ จะจริงหรือไม่ก็ตาม สะท้อนให้เห็นว่า โปรตุเกสไม่ได้มีแผนการเผยแผ่ศาสนาในตะวันออกอย่างเป็นระบบนัก อย่างไรก็ตามจากบันทึก (ที่ไม่น่าเชื่อถือนัก) ของพระเอง กล่าว่าประสบความสำเร็จในการเผยแผ่ศาสนาในเอเชียมาก บางคนกล่าวว่าต้องทำพิธีศีลจุ่มแก่ศาสนิกใหม่ ถึงวันละ ๑,๐๐๐ คน แต่การเผยแผ่ศาสนาทำควบคู่กันไป จึงขาดความเข้าใจและศรัทธา จะยังคงเป็นชาวคริสต์ต่อไปนานเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่บังคับให้เขา “กลับใจ” ยังดำรงอยู่ต่อไปนานเท่าไรเหมือนกัน
 
ดังจะเห็นได้ว่า ชาวคริสต์ที่พระโปรตุเกสกลับใจจะกระจุกตัวอยู่ตามเมืองป้อม หรือเมืองท่าชายฝั่งที่อยู่ในการยึดครองของโปรตุเกส (ในปี ค.ศ. ๑๕๔๙ มีรายงานว่า ในมะละกาและหมู่เกาะใกล้เคียง ซึ่งอยู่ใต้ปกครองของโปรตุเกส มีโบสถ์ของคณะโดมินิกันถึง ๑๘ โบสถ์) ในขณะที่นอกอาณาบริเวณเหล่านั้น จำนวนของชาวคริสต์ก็ไม่สู้จะมีมากสักเท่าไร
 
แม้ได้รับอาณัติจากสันตะปาปารวมทั้งมีสัญญา Tordesillas กับสเปนในปี ค.ศ. ๑๔๙๔ รับรองการแบ่งเขตเพื่อรับภาระการเผยแผ่ศาสนาที่เส้นซึ่งห่างจากหมู่เกาะ Cape Verde ไปทางตะวันตก ๓๗๐ ลี้ก หรือประมาณ ๒,๘๕๐ กิโลเมตร แต่ในช่วงสองสามทศวรรษแรกที่โปรตุเกสมาถึงเอเชีย ก็ไม่ได้ให้ความสนใจในการเผยแผ่ศาสนานัก มุ่งไปที่การตั้งสถานีการค้าและการทหารมากกว่า พระโดมินิกันเริ่มเข้าสู่อยุธยา กัมพูชา และจีน หลังกลางศตวรรษที่ ๑๖ ไปแล้ว
 
ในระยะแรกๆ พระคณะโดมินิกันมีบทบาทนำในการเผยแผ่ศาสนาในอินเดีย ประมุขสังฆมณฑลคนแรกประจำอินเดียเป็นโดมินิกัน แต่ก็ได้ นำเอาพระฟรันซิสกันเข้ามาร่วมงานเผยแผ่อยู่ไม่น้อย ดังนั้นประมุขของศาสนจักร (ซึ่งขึ้นอยู่กับสังฆมณฑลอีกทีหนึ่ง) ในมะละกาและเมืองอื่นอีกหลายเมืองที่ขึ้นกับโปรตุเกสจึงเป็นพระจากคณะฟรังซิสกัน ในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ พระส่วนใหญ่ในเอเชียคือ พระจากคณะฟรังซิสกัน มีพระคณะนี้ทั้งจากโปรตุเกสและประเทศอื่นทำงานในเอเชียถึง ๕๐๐ คน แม้ว่าการเผยแผ่คริสต์ศาสนาในเอเชียมาเริ่มต้นจริงจังมากขึ้น เมื่อตั้งค ณะเยซูอิตแล้ว และมีพระคณะนี้เดินทางมาเผยแผ่ศาสนาในเอเชีย (ที่มีชื่อเสียที่สุดคือ นักบุญฟรังซิสกัน เซเวียร์) แต่ก็มีจำนวนน้อยกว่ากันมาก
 
 

“ฝรั่งจูงหมา” ตุ๊กตาดินเผาพบบริเวณเกาะเมืองอยุธยา

เข้าใจว่าเป็นชาวโปรตุเกส

“ไม้กางเขน” และ “ไม้กางเขนแก้ว”

โบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นที่หมู่บ้านโปรตุเกส
 
การเผยแผ่ศาสนาของโปรตุเกสในอยุธยา
ในสัญญาปี ค.ศ. ๑๕๑๖ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ พระราชทานอนุญาตให้นับถือและปฏิบัติศาสนาคริสต์ได้โดยไม่ขัดขวาง ทั้งยังอนุญาตให้โปรตุเกสตั้งโรงสอนและทำพิธีทางศาสนา (padrao) ขึ้นในอยุธยา มีสัญลักษณ์ไม้กางเขนตั้งอยู่เหนือจั่วหลังคา แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีพระเดินทางเข้ามาประจำในกรุงศรีอยุธยา หลังจากนั้นอีกนาน
 
จนถึงกลางศตวรรษที่ ๑๖ จึงเริ่มมีพระพยายามมาอยู่ประจำที่อยุธยา พระที่เข้ามาสู่อยุธยารุ่นแรกๆ เป็นพระจากคณะโดมินิกัน เช่นเดียวกับกัมพูชาและจีน จากหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือนัก กล่าวว่า บาทหลวง ๒ รูปแรกที่เข้ามาประจำอยุธยาเดินทางจากมะละกามาถึง และทำงานที่อยุธยาประมาณปี ค.ศ. ๑๕๕๕ (๓๙ ปีหลังสัญญาปี ค.ศ. ๑๕๑๖) ใช้เวลาในการเรียนภาษาไทยที่อยุธยาไม่นาน หลังจากนั้นก็สามารถเผยแพร่จนกลับใจค นได้มาก จึงทำให้พวกมุสลิมซึ่งมีอิทธิพลในอยุธยาอยู่สูง ไม่พอใจและได้พุ่งหอกฆ่าบาทหลวงไปคนหนึ่งด้วย บาทหลวงโดมินิกันที่เดินทางเข้ามาสมทบรวมเป็น ๓ คนก็ถูกพวกมุสลิมฆ่าอย่างเดียวกัน โดยอาศัยความปั่นป่วนวุ่นวายที่เกิดขึ้นจากการล้อมเมืองของกองทัพพระเจ้าบุเรงนอง ในระหว่างปี ค.ศ. ๑๕๖๙
 
ด้วยเหตุดังนั้นพระโดมินิกันจึงถอนตัวจากอยุธยาในปี ค.ศ. ๑๕๗๕ ระหว่างนั้นก็ว่างพระในอยุธยาไปช่วงหนึ่ง จนราวปี ค.ศ. ๑๕๘๒ พระฟรันซิสกันจากสเปนก็เข้ามาตั้งในอยุธยา แต่ก็ประสบการต่อต้านอย่างรุนแรกจากชาวมุสลิมเช่นเคย จำเป็นต้องถอนตัวออกจากอยุธยาใน ๒ ปี จากนั้นอยุธยาก็ว่างพระคาทอลิกสืบมาจนถึงปี ค.ศ. ๑๕๙๓ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรตีกรุงละแวกได้ โปรดให้กวาดต้อนผู้คนกลับเข้ามาจำนวนมาก ในบรรดาคนเหล่านี้ รวมพวกคริสเตียนและพระด้วย ทั้งพระราชทานอนุญาตให้พระสอนและทำพิธีกรรมทางศาสนาในอยุธยาได้
 
ชุมชนคริสเตียนในกัมพูชามีศาสนิกมาก เข้าใจว่ามากกว่าอยุธยาด้วย เพราะเหตุผลทางการเมือง และสังคมของกัมพูชาในช่วงนั้นเอง (ซึ่งจะไม่กล่าวถึงในที่นี้) ในบรรดาคนเหล่านี้รวมถึงญี่ปุ่นและเชื้อสายซึ่งเปลี่ยนศาสนา และต่อมาต้องออกจาประเทศโดยไม่สามารถกลับญี่ปุ่นได้อีก จึงต้องตั้งรกรากในอุษาคเนย์แต่งงานผสมปนเปกับคริสเตียนหลายชาติหลายภาษาในภูมิภาคนี้ รวมทั้งโปรตุเกสด้วย อย่างไรก็ตาม การคุกคามของพวกมุสลิมก็ยังมีอยู่ หนึ่งในพระที่ถูกกวาดต้อนจากกัมพูชาถูกมุสลิมฆ่าตาย ส่วนอีกคนหนึ่งหลอกลวงสมเด็จพระนเรศวรเมื่อตอนที่มะละกาส่งทูตเข้ามา จึงถูกลงโทษอย่างหนัก และกลับออกไปตายที่มะละกา
 
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเรายังไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับพระโปรตุเกสในอยุธยาหลังจากนั้นมากนัก แต่เข้าใจว่าคงจะมีพระทำหน้าที่ทางศาสนาสืบต่อมา ถ้าจะมีขาดตอนบ้างก็น่าจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพราะเชื้อสายโปรตุเกส และคริสเตียนสามารถรักษาศาสนาไว้กลับลูกหลาน ได้สืบมาจนเสียกรุง และอพยพมาตั้งชุมชนของตนขึ้นใหม่ในบางกอก ภาระหน้าที่หลักของพระคือ การทำพิธีทางศาสนาให้แก่ชาวคาทอลิก ซึ่งก็คือชาวโปรตุเกส เชื้อสาย และชาวเอเชียที่เปลี่ยนศาสนาซึ่งส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และกัมพูชา แต่ไม่ปรากฏผลงานด้านการเผยแผ่ศาสนาให้แก่ชาวพื้นเมืองในอยุธยานัก
 
เหตุผลสำคัญที่การทำงานของพระคาทอลิกในอยุธยามีความสำคัญ ก็เพราะชุมชนคริสเตียนได้กลายเป็นชุมชนใหญ่ขึ้น จากเดิมที่มีชาวโปรตุเกสผิวขาวไม่กี่ร้อยคน กลายเป็นชุมชนที่มีประชากรหนาแน่นมากขึ้น จากการที่ได้กวาดต้อนคริสเตียนจากกัมพูชาเข้ามา และเนื่องจากการไม่มีชุมชนคริสเตียนอื่นนอกจากโปรตุเกส คริสเตียนใหม่จึงกลายเป็นคนชุมชนโปรตุเกสไปโดยอัตโนมัติ จำนวนของประชากรในชุมชนโปรตุเกสขยายตัวขึ้น หลักฐานชิ้นหนึ่งของฝรั่งเศสในศตวรรษที่ ๑๗ กล่าวว่า มีจำนวนหนึ่ง ๖,๐๐๐ คน เข้าใจว่าในระยะนี้เองที่มีรายงานว่า ในหมู่บ้านโปรตุเกสมีทั้งโบสถ์และคอนแวนต์ ด้วยเหตุดังนั้น ชุมชนโปรตุเกสในอยุธยาจึงเป็นแหล่งของการแย่งอำนาจทางการเมือง ทั้งในด้านอาณาจักรและศาสนจักร
 
มีหลักฐานว่าสมเด็จพระนารายณ์  ได้กำลังส่วนหนึ่งจากชุมชนโปรตุเกสในการชิงอำนาจจากพระศรีสุธรรมราชา ฟอลคอนพยายามเป็นผู้อุปถัมภ์รายใหญ่สุดของคริสเตียน อีกทั้งตัวเขาเองก็มีสายสัมพันธ์กับชุมชนโปรตุเกส เมื่อสมรสกับท้าวทองกีบม้า และแม้ว่าฟอลคอนเองถูกประหารในการชิงอำนาจกันปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แต่ภรรยาของเขากลับได้ไว้ชีวิต และมีตำแหน่งหน้าที่ในฝ่ายวิเสทในราชวงศ์ใหม่ เข้าใจว่าราชวงศ์ใหม่ก็ไม่ต้องการเป็นศัตรูกับชุมชนโปรตุเกสเช่นกัน ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อบาทหลวงฝรั่งเศสเข้ามาสู่อยุธยา ก็มีการแย่งอำนาจและบทบาทกัน ระหว่างพระฝรั่งเศสและโปรตุเกส เพื่อจะได้กำกับควบคุมชุมชน คริสเตียนแห่งเดียวในอยุธยานี้ ดูเหมือนการแก่งแย่งกันนี้ดำรงสืบมาจนสิ้นกรุงศรีอยุธยา
 
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดียวกัน (คริสต์ศตวรรษที่ ๑๖-๑๗) ชุมชนคนต่างศาสนาที่ใหญ่สุดในอยุธยาไม่ใช่โปรตุเกส แต่คือชาวเปอร์เซียมุสลิมนิกายชีอะห์ ซึ่งปินโตรายงานว่า มีจำนวนถึง ๓๐,๐๐๐ คน และมีสุเหร่าในอยุธยาถึง ๗ แห่ง 
 
 

“เหรียญทองคำ” ตรงขอบสลักเป็นอักษรโรมัน ตรงกลาง
ทำเป็นรูปถ้วยและขนมปังศักดิ์สิทธิ์ มีไม้กางเขนอยู่ใน
วงกลม โบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นที่หมู่บ้านโปรตุเกส

“กล้องยาสูบ” มีตราประทับตรงปลาย 
โบราณวัตถุที่พบจากการขุดค้นที่หมู่บ้านโปรตุเกส
 
ชะตากรรมของโปรตุเกสในเอเชีย
ได้กล่าวแล้วว่า ต้นทุนทางการค้าของโปรตุเกสในเอเชียสูงเกินกว่าวิธีจัดการทางการค้า และกำลังของประเทศโปรตุเกสจะสามารถแข่งขันกับ ประเทศอื่นได้ นับตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา ฮอลันดาและอังกฤษก็เข้ามามีบทบาทสำคัญทางการค้าในเอเชียแทนโปรตุเกส และเช่นเดียวกับโปรตุเกส ผลกำไรสำคัญของพ่อค้า ๒ ชาตินี้ในการค้ากับเอเชีย คือ การค้าระหว่างเอเชียด้วยกันเอง เพื่อจะทำให้เกิดรายได้คุ้มกับการเดินทางไกลมาถึงตะวันออก และเพราะให้ความสำคัญแก่การค้าภายในเอเชียด้วยกันเองยิ่งกว่าโปรตุเกส ทั้ง ๒ ชาตินี้ จึงต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายใ นของประเทศเอเชียมากเสียยิ่งกว่าโปรตุเกสด้วย เพื่อจะได้สิทธิผูกขาดสินค้าบางอย่าง ซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดเอเชียด้วยกันเอง เช่น หนังสัตว์จากอยุธยาเป็นที่ต้องการของตลาดญี่ปุ่น บริษัทฮอลันดา ไม่ต้องการให้สำเภาจีนจากอยุธยาได้แย่งผลประโยชน์การค้าหนังสัตว์ในญี่ปุ่น เป็นต้น บริษัทฮอลันดาจึงต้องเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองภายในของอยุธยาอยู่บ่อยๆ รวมทั้งปิดอ่าวและทำสงครามกับอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ด้วย
 
ในส่วนโปรตุเกส อำนาจทั้งทางการเมืองและการค้าในเอเชียก็เสื่อมถอยลงอย่างรวดเร็ว แต่ลิสบอนก็รู้มาก่อนแล้วว่าผลประโยชน์ที่แท้จริงของตนไม่ได้อยู่ที่เอเชีย หากอยู่ที่การค้าทาส และการหาแร่ทองคำในบราซิลต่างหาก โปรตุเกสเองจึงไม่ได้ทุ่มเทกำลังของตนลงไปในการแข่งขัน กับฮอลันดา และอังกฤษอย่างเต็มที่ ลดบทบาทหรือสูญเสียเมืองป้อมของตนไปให้แก่ฮอลันดา และอังกฤษตามแรงกดดันที่ไม่มีทางต่อต้าน
 
ได้กล่าวแล้วเช่นกันว่า นับตั้งแต่ครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ เป็นต้นมา ลูกเรือโปรตุเกสที่เดินทางมาถึงเอเชียจำนวนไม่น้อย เลือกที่จะไม่กลับประเทศ เพราะอาชีพกะลาสีเรือได้รับการดูถูก ได้ร้ายได้ค่อนข้างต่ำ จึงไม่มีอนาคตในประเทศของตนเอง พอใจที่จะตั้งรกรากในเอเชีย อยู่ร่วมและแต่งงานกับเชื้อสายชาวโปรตุเกสด้วยกัน หรือกับชาวเอเชียที่เป็นคริสต์
 
 หลักฐานชิ้นหนึ่งกล่าวว่า ในศตวรรษที่ ๑๖ มีชาวโปรตุเกส (ผิวขาว) ตามเมืองท่าต่างๆ ของเอเชียรวมกันราว ๑๖,๐๐๐ คน ครึ่งหนึ่งเป็นทหาร และอีกครึ่งหนึ่งเป็นผู้ตั้งถิ่นฐาน (casados) ซึ่งรวมคนที่แต่งงานกับชาวเอเชียและพ่อค้า จำนวนหนึ่งของทหารที่มีอยู่นี้หลุดออกไป เพราะไปรับราชการกับกษัตริย์เอเชียซึ่งจ่ายเงินได้มากกว่ากรมอินเดียหลายเท่า หรือมิฉะนั้นก็หันไปทำการค้าขายเองในภายหลังจึงเหลือทหารอยู่ทั้งเอเชียไม่เ กิน ๕,๐๐๐ คน แต่การป้องกันเมืองป้อมต่างๆ จากการถูกโจมตียังทำอยู่ได้โดยอาศัยกำลังของพลเรือนเข้าร่วมรบ ในเวลาต่อมาจำนวนของคนที่เป็นทหารอย่างเดียวเหลือน้อยลงตนแทบไม่มี เพราะทั้งหมดต่างหันไปทำการค้าขายเอง พอมาถึงสิ้นคริสต์ ศตวรรษที่ ๑๖ โปรตุเกสในเอเชีย เหลือแต่กำลังทหารอาสาประมาณ ๔,๐๐๐ คน ซึ่งก็คือทหารรับจ้างชาวพื้นเมืองหรือเชื้อสายโปรตุเกส แต่มีชาวคริสต์อยู่อีก ๒๐,๐๐๐ คน ที่อาจช่วยรบได้บ้าง นอกจากนี้ชุมชนโปรตุเกสในหลายแห่งยังมีทาส ซึ่งสอนให้ใช้อาวุธและออกรบได้อีกประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน
 
ในศตวรรษที่ ๑๗ เมื่อการค้าในเอเชียของโปรตุเกสเสื่อมโทรมลงอย่างมาก ก็มีชาวโปรตุเกสอาสาเดินทางมาอยู่เอเชียน้อยลง เพราะมองเห็นแล้วว่าจะได้ผลกำไรในการเสี่ยงโชคได้ยาก และส่วนใหญ่มาเพื่อทำการค้าเพียงอย่างเดียวมากกว่าเพื่อผดุงอำนาจของโปรตุเกสในเอเชียไว้อีก และอีกจำนวนมากก็เป็นพวกสิบแปดมงกุฎที่หวังจะมาเสี่ยงโชคในดินแดนที่ห่างไกลจากเมืองแม่
 
ฉะนั้น ในเวลาไม่ถึงร้อยปี ชุมชนโปรตุเกสในเอเชียก็กลายเป็นชุมชนชาวพื้นเมือง กลืนหายไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอันหลากหลายของเอเชีย ความสัมพันธ์กับเมืองแม่มีน้อยลง หรือถึงกับขาดหายไปในหมู่คนส่วนใหญ่และดังที่กล่าวแล้วว่า ระบอบปกครองของอยุธยาไม่ได้มองโปรตุเกสแตกต่างไปจากพ่อค้าต่างชาติอื่นๆ ซึ่งต้องตั้งสถานีการค้าหรือชุมชนของตนขึ้น อันเป็นปรากฏการณ์ปรกติธรรมดาที่เกิดในภูมิภาคนี้มาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ ทัศนะเช่นนี้ไม่ได้มีแต่เฉพาะอยุธยา แต่คงเป็นทัศนะที่ผู้ปกครองเมืองท่าอื่นๆ ในอุษาคเนย์มีเหมือนๆ กัน (ยกเว้นแต่เมืองป้อมเพียงไม่กี่แห่งที่โปรตุเกสใช้กำลังเข้ายึดครอง)
 
ชาวโปรตุเกสและเชื้อสายในเอเชียกลายเป็นเอเชียมากเสียจนกระทั่งในศตวรรษที่ ๑๙ ชาวตะวันตกอื่นๆ ที่ได้พบเห็นชาวโปรตุเกสเหล่านี้มักแสดงความแปลกใจที่ชาวโปรตุเกสเหล่านี้ช่างไม่เหมือนกับคนผิดขาวเลย (แม้แต่โปรตุเกสที่เกิดในยุโรป เช่นทูตคนแรกของโปรตุเกส ในสมัยรัตนโกสินทร์)
 
แม้กระนั้น โปรตุเกสก็ทิ้งมรดกไว้ในเอเชียได้กว้างขวางกว่าชาวยุโรปอื่นๆ ก่อนสมัยใหม่ เช่น ภาษาโปรตุเกสแบบพื้นเมือง (pidgin) ถูกใช้เป็นภาษากลางในการค้าของเอเชียใต้สืบมาอีก ๒ ศตวรรษ (ก่อนจะถูกแทนที่ด้วยภาษาอังกฤษ) คำโปรตุเกสถูกภาษาพื้นเมืองหลายภาษายืมมาใช้หลายคำ (กระดาษ สบู่ โกดัง ฯลฯ) ขนมนมเนยหลายอย่างของโปรตุเกสถูกทิ้งไว้ในอยุธยา และมะละกากับรัฐมลายูอื่นๆ (โดยเฉพาะในหมู่ลูกผสมจีน-มลายูหรือบ้าบ๋า) เครื่องสีของยุโรปคือไวโอลิน ถูกนำมาใช้ในเพลงพื้นเมืองของอีกหลายวัฒนธรรมของอุษาคเนย์ พร้อมกับท่วงทำนองเพลงที่ไดรับอิทธิพลจากโปรตุเกส (รองเง็ง และเพลงทาง “ฝรั่ง”? ในเพลงไทย)
 
ในทางตรงกันข้าม เนื่องจากเอเชีย “ขาด” ออกไปจากโปรตุเกสในเวลาไม่นาน อีกทั้งการค้ากับเอเชียไม่มีผลกระทบต่อสังคมโปรตุเกส เพราะเป็นสมบัติและทางหารายได้ของชนชั้นสูงเท่านั้น จึงแทบไม่มีวัฒนธรรมเอเชียไปปรากฏในวัฒนธรรมโปรตุเกสเลย (เมื่อเทียบกับกะหรี่ปั๊บ, rijstafel, และคำในภาษาเอเชียที่ไปปรากฏในภาษาอังกฤษ และดัตช์)
 
๕๐๐ ปีแห่งความสัมพันธ์ระหว่างโปรตุเกสและอยุธยา (ไทย-?) น่าจดจำ ไม่ใช่เพราะความสัมพันธ์นั้นมีนัยะสำคัญแก่ ๒ ประเทศ ตรงกันข้ามกลับเป็นความสัมพันธ์ที่ราบรื่น  ซึ่งหมายถึงราบเรียบด้วย ไม่มีสีสันน่าตื่นเต้นแต่อย่างใด อำนาจของโปรตุเกสในเอเชียหลังคริสต์ ศตวรรษที่ ๑๖ แทบไม่เหลือยู่ และไม่ต่างจากประเทศเอเชียด้วยกัน โปรตุเกสจึงไม่สามารถใช้สงครามเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์ทางการค้าหรือการเ มืองกับประเทศในอุษาคเนย์ได้อีก (เหลืออาณานิคมเล็กๆ ที่ครึ่งตะวันออกของเกาะติมอร์-Timor L’Este-เท่านั้น) โปรตุเกสจึงพร้อมจะโอนอ่อนต่อนโยบายการค้าของรัฐบาลอยุธยา (และรัตนโกสินทร์) สร้างความสัมพันธ์ที่ราบรื่นต่อกัน โดยไม่มีสีสันในความสัมพันธ์นี้ต่างหากที่น่าจดจำ เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่ยอมรับในความแตกต่างระหว่างกัน (แม้ด้วยความจำใจก็ตาม)
 
                                                                        จากหนังสือศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๓ ฉบับที่ ๕ มีนาคม ๒๕๕๕ หน้า ๗๘-๑๐๐