การเมืองเรื่องตัวบท“พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” การตีความใหม่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕

ปฐมพงษ์  สุขเล็ก
นิสิตปริญญาโท สาขาวิชาภาษาไทย
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 
 
บทนำ
“สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่พระราชประวัติของพระองค์เป็นที่รับรู้อย่างแพร่หลายในสังคมไทย โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่มีความสำคัญต่อประวัติ ศาสตร์ไทย คือ การกอบกู้เอกราชและรวบรวมแผ่นดินให้เป็นปึกแผ่น หลังเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ รวมทั้งการที่พระราชประวัติบางส่วนของพระองค์มีความแตกต่างจากพระมหากษัตริย์พระองค์อื่นๆ อาทิ ทรงกำเนิดเป็นสามัญชน และพระบิดาเป็นชาวจีน
 
นอกจากนี้ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ไทย ที่บันทึกในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ได้กล่าวถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชว่า แม้พระองค์จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ที่มีความปรีชาสามารถในการศึกสงคราม เคร่งครัดวิปัสสนากรรมฐาน แต่ต่อมาในปลายรัชกาลพระองค์ ทรงคิดว่าพระองค์ได้บรรลุโสดาบัน ทำให้พสกนิกรได้รับความเดือดร้อน จนเกิดกรณีขบถพระยาสรรค์ พระองค์จึงถูกสำเร็จโทษ ณ ป้อมวิชัยประสิทธิ์ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ แล้วอัญเชิญพระศพไปฝังไว้ ณ วัดบางยี่เรือใต้  มีพระชนมายุได้ ๔๘ พรรษา อยู่ในราชสมบัติ ๑๕ ปี

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช 
ภายในศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหราราช จังหวัดจันทบุรี
 
อย่างไรก็ตาม แม้พระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จะมิได้รับการยกย่องมากนักในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระราชประวัติของพระองค์ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในด้านความเสียสละ และความกล้าหาญ โดยเฉพาะการสร้างความรับรู้ด้วยตัวบทเรื่องเล่าพระราชประวัติของพระองค์ในรูปแบบ “บันเทิงคดี” จึงเป็นเหตุสำคัญที่สร้างความรับรู้ในสังคม การสร้างตัวบทเรื่องเล่าพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงมีความแพร่หลายที่นำ “วาทะเก่ามาเล่าใหม่” ทั้งที่สอดคล้อง และขัดแย้งกับเอกสารทางประวัติศาสตร์  
 
บทความเรื่องนี้จึงต้องการศึกษาถึงการสร้างตัวบทเรื่องเล่าพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในวรรณกรรม ประเภทบันเทิงคดีของไทย ที่มีการเขียนขึ้นตั้งแต่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน    เพื่อศึกษาว่างานวรรณกรรมเรื่องเล่าพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเหล่านี้ มีการสร้างตัวบทด้วยการตีความใหม่เกี่ยวกับพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชอย่างไร 
 

“พระราชวิจารณ์จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ 
กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ)” พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๕๑

“อภินิหารบรรพบุรุษ” พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ 
หม่อมเจ้าปิยภักดีนารถ สุประดิษฐ์ พ.ศ. ๒๔๗๓
 
๑. การเปลี่ยนแปลงในพระราชประวัติจากอดีตสู่ปัจจุบัน
เรื่องราวพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปรากฏครั้งแรกในการชำระพระราชพงศาวดารเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๘ ในชื่อที่รู้จักกันต่อมาคือ พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และได้ถูกผลิตซ้ำในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีต่อๆ มารวมทั้ง “โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี” ของ นายสวน มหาดเล็ก ที่เป็นหลักฐานที่กล่าวถึงพระราชกรณียกิจ และเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่แต่งขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ ดังตัวอย่างใน “โคลงยอพระเกียรติพระเจ้ากรุงธนบุรี” ว่า 
 
                                                            เสมอองค์หริรักษ์เรื้อง        รงค์รุท
                                                            ลล่วงพาหนะครุฑ             สู่หล้า
                                                            ฤๅจรจากเกษียรสมุทร        มาทวีป นี้แฮ 
                                                            เนื้อหน่อพุทธพงศ์กล้า        ก่อสร้างโพธิญาณ
 
                                                                                                           นายสวน มหาดเล็ก
 
นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานร่วมสมัยอื่นที่กล่าวถึงพระองค์แต่มีที่มาไม่แน่ชัด เช่น จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี โดยเฉพาะหนังสือ “อภินิหารบรรพบุรษ” ซึ่งกล่าวถึงพระราชประวัติเมื่อทรงพระเยาว์ เรื่องราวพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่รับรู้กันโดยทั่วไปจึงเป็นหลักฐานที่ได้รับการชำระขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
 
อย่างไรก็ดีหลักฐานในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า สังคมในสมัยนั้นที่มิได้ยกย่องสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมากนัก จึงอาจกล่าวได้ว่า ความเปลี่ยนแปลงสภาพการรับรู้เกี่ยวกับพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช น่าเริ่มขึ้นตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ท่ามกลางบรรยากาศการสร้างความชอบธรรมทางการเมือง
 
ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปีพ.ศ.๒๔๗๕ รัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยพยายามสร้างนโยบายชาตินิยม เพื่อประโยชน์ด้านการปกครอง ส่งเสริมอุดมการณ์ว่าด้วยเรื่อง “ชาติ” รวมทั้ง “ชาติไทย” จึงเทิดพระเกียรติพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มานำเสนอใหม่ โดยมุ่งแสดงให้เห็นถึงความกล้าหาญ และเทิดเกียรติในฐานะวีรบุรุษที่กอบกู้เอกราชของ “ชาติไทย” เนื่องจากมีความโดดเด่นที่สุด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามที่จะสร้างชาติไทยให้เป็นมหาอำนาจในแหลมทอง
 

การสถาปนาพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่วงเวียนใหญ่ 
เปรียบเสมือนการยกย่องพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่อีกครั้งของประชาชน
หลังยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปัจจุบันมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ใหม่โดยรอบพระบรมราชานุสาวรีย์ 
 
ด้วยเหตุนี้จึงมีการเปลี่ยนพระนามของพระองค์มาใช้อย่างเป็นทางการว่า “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” อีกทั้งมีการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่วงเวียนใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดในวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๗ ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชด้วย
 
การสถาปนาพระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ที่วงเวียนใหญ่จึงเปรียบเสมือนการยกย่องพระองค์เป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่อย่างสมบูรณ์อีกครั้งของประชาชน หลังยุคเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งส่งผลให้สถานะทางประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้รับการเฉลิมพระเกียรติสูงสุด
 
จากการเปลี่ยนแปลงของสังคมข้างต้น เกิดความพยายามที่จะอธิบายเรื่องราวอันคลุมเครือต่างๆ ในรัชกาลของพระองค์ เช่น พระราชกำเนิด การสวรรคต พระราชจริยาวัตร เป็นต้น และมีการนำเสนอเรื่องราวพระราชประวัติของพระองค์ใน “ตัวบท”  ที่แตกต่างไปจากเดิมเพื่อสร้างให้พระองค์เป็นวีรบุรุษ และเป็นพระมหากษัตริย์ที่สำคัญยิ่งของประเทศชาติ ซึ่งได้ทำให้เกิดกระแสการรับรู้ในลักษณะของ “เรื่องเล่า” ซึ่งต่างไปจากการรับรู้ในลักษณะแบบทางการแพร่หลายในหมู่ประชาชนมากขึ้น
 
อย่างไรก็ตามเนื่องจากชุดเรื่องเล่าที่กล่าวถึง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีความแตกต่างไปจากพระราชพงศาวดาร ชุดเรื่องเล่าเหล่านี้จึงถูกสร้างขึ้นในรูปแบบบันเทิงคดี เกิดเป็นปฏิวาทะระหว่างวาทกรรมดั้งเดิมและวาทกรรมใหม่
 
๒. ตัวบทเรื่องเล่า
ในรูปแบบวรรณกรรมบันเทิงคดี
การสร้างตัวบทเรื่องเล่าประเภทบันเทิงคดี ที่มีเนื้อหากล่าวถึงพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อาจกล่าวได้ว่าเป็นงานเขียนประเภทนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ (historical novel) เพราะได้นำฉากตัวละครบางตัวและเหตุการณ์บางเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาใช้ โดยมีการต่อเติมสภาพแวดล้อม และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ขึ้นพอสมควร
 
ดังนั้น กระบวนการสร้างตัวบทเรื่องเล่าที่กล่าวถึง พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงเป็นกระบวนการที่ผู้สร้างได้อาศัยหลักฐานข้อมูลชุดต่างๆ ทางประวัติศาสตร์มาผสานกับจินตนาการของตน โดยอาศัยข้อมูลจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ฉบับต่างๆ เป็นสำคัญ เช่น กลุ่มพระราชพงศาวดาร อาทิ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี  ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) พระราชพงศาวดาร ฉบับบริติชมิวเซียม พระราชพงศาวดารฉบับพิมพ์สองเล่มของหมอบรัดเลย์  พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับปลีกหมายเลข ๒/ก๑๐๑ กลุ่มจดหมายเหตุ อาทิ จดหมายเหตุความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี จดหมายเหตุโหร และจดหมายเหตุของชาวต่างชาติ นอกจากนี้ยังอาศัยข้อมูลจากหนังสืออภินิหารบรรพบุรุษ หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นลายลักษณ์อักษรเหล่านี้ เป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการประกอบสร้างตัวบทเรื่องเล่าพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นวรรณกรรมบันเทิงคดี ซึ่งมีกระบวนการประกอบการสร้างหลายรูปแบบ เช่น การสร้างตัวบทด้วยการคัดลอกข้อความจากเอกสารทางประวัติศาสตร์โดยตรง ทั้งคัดลอกทั้งหมดหรือคัดลอกเฉพาะบางวรรคบางประโยคการสร้างตัวบทด้วยการเรียบเรียงใหม่ แต่ยังรักษาเนื้อความเดิม หรือการสร้างตัวบทด้วยจินตนาการ
 

หลวงวิจิตรวาทการ ผู้สร้างตัวบทด้วยการ
ตีความใหม่ในบทละครเรื่อง “พระเจ้ากรุงธน”

ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์
 เจ้าของผลงานนวนิยาย“ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?”
 
โดยเฉพาะการสร้างตัวบทแบบการคัดลอกข้อความจากเอกสารทางประวัติศาสตร์โดยตรง และการสร้างตัวบทด้วยการเรียบเรียงใหม่ แต่ยังรักษาเนื้อความเดิมนี้ ทำให้ตัวบทที่ถูกสร้างมาใหม่ยังคงรักษาเค้าโครงเดิมตามเอกสารทางประวัติศาสตร์ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ที่ถูกสร้างขึ้นอย่างเคารพประวัติศาสตร์ ตรงกันข้ามกับการสร้างตัวบทด้วยจินตนาการเป็นการสร้างตัวบทที่มีเนื้อหาไม่ปรากฏในเอกสารประวัติศาสตร์ ทำให้ตัวบทที่ถูกสร้างขึ้นมานั้นมีเนื้อความที่แตกต่างจากหลักฐานประวัติศาสตร์ แต่การสร้างตัวบทอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ คือ “การสร้างตัวบทด้วยการตีความใหม่” ที่แสดงให้เห็นถึงมุมมองใหม่โดยการสร้างตัวบทยังคงคัดลอกเนื้อหา หรืออ้างอิงข้อมูลจากเอกสารทางประวัติศาสตร์แต่ “สร้างคำอธิบายชุดใหม่” 
 
๓. มุมมองใหม่ในพระราชประวัติ
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
การสร้างตัวบทด้วยการตีความใหม่เป็นการสร้างตัวบทเรื่องเล่าด้วยสำนวนใหม่ โดยยังคงอ้างอิงข้อมูลชุดเดิมในเอกสารทางประวัติศาสตร์ แต่มีการ เพิ่มเติม ดัดแปลง เนื้อหาข้อมูลด้วยการแต่งเติมจินตนาการในเนื้อเรื่อง ด้วยกระบวนการตีความด้วยมุมมองใหม่เพื่อแสดงให้เห็นถึง “เหตุผล” ในเหตุการณ์นั้นๆ ที่แตกต่างจากข้อมูลชุดเดิมในเอกสารทางประวัติศาสตร์ หรือที่ไม่ได้กล่าวถึงไว้
 
การสร้างตัวบทเรื่องเล่าด้วยวิธีการตีความห่า พบในบทละครเรื่อง “พระเจ้ากรุงธน” ของหลวงวิจิตรวาทการ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๘๐) นวนิยาย เรื่อง “ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?” ของ ภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๖) นวนิยายเรื่อง “ตากสินมหาราชชาตินักรบ” ของ Claire Keefe-Fox แปลโดย กล้วยไม้ แก้วสนธิ (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๔๙) นวนิยายเรื่อง “ความหลงในสงสาร” ของสุทัสสา อ่อนค้อม (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๔๙) และนวนิยายเรื่อง “จอมกษัตริย์แห่งนักรบ” ของศรีศากยอโศก (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๕๐?)
 

สุทัสสา อ่อนค้อม (นามปากกา รศ.ดร. สุจิตรา อ่อนค้อม)
ผู้แต่งนวนิยาย “ความหลงในสงสาร”

แคลร์ คีฟ-ฟอกซ์ (Claire Keefe-Fox)
 ผู้แต่งนวนิยาย “ตากสินมหาราชชาตินักรบ”
 
 
การสร้างตัวบทด้วยการตีความใหม่ในตัวบทเรื่องเล่าข้างต้น ได้ปรากฏการสร้างคำอธิบายชุดใหม่ในข้อมูลชุดเดิมหลายเหตุการณ์ โดยเป็นเหตุการณ์สำคัญในพระราชประวัติของพระองค์ ยกตัว อย่างดังนี้
 
ปฏิเสธความวิปลาส
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ ได้บันทึกพระราชประวัติศาสตร์ช่วงท้ายของรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรง “เสียพระสติ” ถึงขนาดสั่งเฆี่ยนตีพระภิกษุสงฆ์ เนื่องจากตรัสถามถึงการที่พระสงฆ์ปุถุชนสามารถไว้คฤหัสถ์ที่เป็นโสดาบันได้หรือไม่ หากพระภิกษุสงฆ์รูปใดถวายพระพรว่าไม่สมควรไหว้ พระองค์ก็ทรงสั่งลงพระอาญา ทำให้พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ รวมถึงศิษยานุศิษย์ได้รับความทุกข์ร้อนเป็นอันมาก ดังปรากฏใน “พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา” ว่า
 
“ฝ่ายการแผ่นดินข้างกรุงธนบุรีนั้นผันแปรต่างๆ เหตุพระเจ้าแผ่นดินทรงนั่งพระกรรมฐานเสียพระสติ พระจริตก็ฟั่นเฟือนไป ฝ่ายพระพุทธจักรแล ะอาณาจักรทั้งปวงเล่า ก็แปรปรวนวิปริตมิได้ปรกติเหมือนแต่ก่อน...
 
...ครั้นถึง ณ วันอาทิตย์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๙ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออก ณ โรงพระแก้วให้ประชุมพระราชาคณะพร้อมกัน และพระองค์มีพระสติฟั่นเฟือนถึงสัญญาวิปลาสสำคัญพระองค์ว่าได้โสดาปัตติผลจึงดำรัสถามพระราชาคณะว่า พระสงฆ์ปุถุชนจะไหว้นบเคารพคฤหัสถ์ซึ่งเป็นพระ โสดาบันบุคคลนั้น จะได้หรือมิได้ประการใด และพระราชาคณะที่มีสันดานโลเล มิได้ถือมั่นในพระบาลีบรมพุทโธวาทด้วยเกรงพระราชอาญา... ถวายพระพรว่า สงฆ์ปุถุชนควรจะไหว้นบคฤหัสถ์ซึ่งเป็นโสดาบันได้ แต่สมเด็จพระสังฆราชวัดบางหว้าใหญ่พระพุฒาจารย์วัดบางหว้าน้อย พระพิมลธรรมวัดโพธารามสามพระองค์นี้มีสันดานมั่นคงถือพระพุทธวจนะโดยแท้...จึงถวายพระพรว่าถึงมาตรว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาก็ดีแต่เป็นหีนเพศต่ำ...ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์อันเป็นโสดานั้นก็บมิควรสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระโกรธว่าถวายพระพรผิดจากพระบาลี...ครั้งนั้นมหาภัยพิบัติบังเกิดในพระพุทธศาสนาควรจะสังเวชยิ่งนัก”
                                                                           (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, ๒๒๕) 
 
แต่ตัวบทเรื่องเล่าที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ เช่น นวนิยาย เรื่อง “ความหลงในสงสาร” และนวนิยายเรื่อง “ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?” ได้นำเสนอคำอธิบายชุดใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม ที่ปฏิเสธความวิปลาสของพระองค์ โดยที่ยังคงอ้างอิง หรือยอมรับเหตุการณ์ที่ลงพระอาญาเฆี่ยนตีพระสงฆ์ในครั้งนั้น แต่ได้สร้างคำอธิบายชุดใหม่ว่า พระสงฆ์ที่ถูกพระอาญาในครั้งนั้นเป็นเพียงคฤหัสถ์ที่แต่งกายเลียน แบบพระสงฆ์เท่านั้น ดังนี้ 
 

“ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?” ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๖

“ความหลงในสงสาร” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๗ พ.ศ. ๒๕๕๑
 
“เราได้สั่งให้สองพี่น้อง คือ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ นำทัพไปปราบจลาจลในเขมรและให้ลูกชายเราไปด้วย อยู่ทางนี้ก็ นัดแนะกันว่า ให้พระยาสรรค์จับเรา โดยเราใช้อุบายทำเป็นคนวิกลจริต พอดีเวลานั้นพระสงฆ์ทั้งหลายประพฤติเสียหายกันมาก มีเรื่องราวฟ้องร้องกันไม่เว้นแต่ละวัน เราเรียกพระทั้งหลายเข้ามาแล้วประกาศว่า เราเป็นพระโสดาบัน และถามพระทั้งหลายว่า พระที่เป็นปุถุชนจะไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นพระโสดาบันได้หรือไม่ ถ้ารูปไหนตอบว่า ไม่ได้ ก็ถูกลงโทษด้วยการเฆี่ยน เราก็สั่งทหารให้เฆี่ยนต่อหน้าประชาชน การกระทำเช่นนี้ก็เพื่อให้คนทั้งหลายเห็นว่า เราเป็นคนสัญญาวิปลาสผิดจากมนุษย์ธรรมดาสามัญ ไม่น่าจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินอีกต่อไป”
 
“พระเถรเจ้าสั่งให้เฆี่ยนพระ แล้วไม่บาปหรือขอรับ” พระบัวเฮียวถามด้วยความสงสัย พระเถรเจ้าจึงขยายความว่า  
“เราไม่ได้สั่งให้เฆี่ยนพระ แต่ให้เฆี่ยนคนโกนหัว ห่มผ้าเหลือง”
“หมายความว่าอย่างไรขอรับ” พระเถระผู้ขวบใกล้จะครบ ๑๒ พรรษาถามอีก
“หมายความว่า คนที่เราเฆี่ยนไม่ใช่พระ คือ เราให้หานักโทษประหารมาโกนหัว แล้วก็ให้นุ่งผ้าเหลือง มิได้มีการบวชแต่อย่างใด การถูกเฆี่ยนก็ยังดีกว่าถูกประหารชีวิตมิใช่หรือ” 
“ดีกว่าขอรับ เพราะการประหารชีวิตต้องเข้าข่ายปาณาติบาต” พระบัวเฮียวกราบเรียน 
                                                                           (ความหลงในสงสาร, ๕๓-๕๔) 
 
จากนวนิยายเรื่อง “ความหลงในสงสาร” ข้างต้น นอกจากปฏิเสธการสั่งลงพระอาญาเฆี่ยนตีพระสงฆ์แล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความเมตตาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่มีต่อเหล่านักโทษประหารอีกด้วย การสร้างตัวบทด้วยการตีความใหม่ในเหตุการณ์ช่วงนี้ยังปรากฏในนวนิยายเรื่อง “ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?” ดังนี้
 
“ในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม ๒ ตอน ๒ หน้า ๑๗๓ มีข้อความว่า พระเจ้าอยู่หัว มีพระสติฟั่นเฟือนถึงสัญญาวิปลาส จึงดำรัสถามพระราชาคณะว่า พระสงฆ์ปุถุชนจะไหว้คฤหัสถ์ซึ่งเป็นพระโสดาบันอริยบุคคลได้หรือไม่ คนที่ตอบว่าไม่ได้ก็ต้องถูกลงโทษมากมาย ว่าเป็น ๕๐๐ และมีคนรับโทษถูกเฆี่ยนแทน
 
เรื่องจริงที่ทราบจากพระยามัจจุราชองค์ใหม่ คือ ภาคหนึ่งของท่านมหาพรหม และพระวิญญาณของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ขุนหลวงพงั่วนั่นว่า ในสมัยนั้นจนถึงรัชกาลที่ ๑ พระสงฆ์ราชาคณะมีเรื่องฟ้องร้องกันบ่อยที่สุด และหลายๆ รูปประพฤติตัวเสียหาย ไม่นับว่าเป็นพระ ถือว่าเป็นคนเท่านั้น เวลานั้นก็มีเรื่องฟ้องร้องกันอยู่อีก สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินอย่างเงียบๆ แล้วทรงแกล้งเอาเรื่องพระสงฆ์ปุถุชนจะไหว้พระโสดา บัน บุคคลได้หรือไม่ ถือเป็นเหตุจับคนผิดเฆี่ยนเสียหลายคน คนที่ไม่ผิดก็เอาลูกศิษย์ที่ผิดมาเฆี่ยนแทน ตอนนั้นก็มีนักโทษถึงโทษประหารหลายคน ก็เอาผ้าเหลืองให้นุ่งแล้ว เฆี่ยนให้คนทั้งหลายเห็น และเข้าใจว่าเป็นพระถูกเฆี่ยน ทั้งนี้เพียงเพื่อให้หมดศรัทธาแก่คนที่หวังให้ท่านเป็นเจ้าแผ่นดินตุ๊กตาเท่านั้น” 
                                                                           (ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?, ๑๒๐)
 
จากนวนิยายเรื่อง “ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?” ข้างต้นใช้วิธีการตีความใหม่ในรูปแบบเหตุผลที่คล้ายคลึงกับนวนิยายเรื่อง “ความหลงในสงสาร” คือ ผู้ ที่ถูกเฆี่ยนตีนั้นเป็นเพียงคฤหัสถ์ หรือสงฆ์ที่ขาดจากการเป็นพระแล้ว ตัวบทเรื่องเล่าที่ถูกสร้างขึ้นมาเช่นนี้นอกจากเป็นการปฏิเสธความวิปลาสของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ของพระองค์ อีกทั้งเป็นการแสดงให้เห็นว่าการกระทำเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนผลัดแผ่นดิน 
 
จุดประสงค์ในคำทำนายของอะแซหวุ่นกี้
การสร้างตัวบทเรื่องเล่าวิธีนี้ นอกจากปรากฏในพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหา ราชโดยตรงแล้ว ยังปรากฏในตอนที่มีความสัมพันธ์ กับตัวละครอื่นๆ คือ ตอนศึกอะแซหวุ่นกี้ขอดูตัวเจ้าพระยาจักรี เอกสารทางประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า อะแซหวุ่นกี้แม่ทัพฝ่ายพม่ามีความชื่นชมในความสามารถของเจ้าพระยาจักรี จึงขอดูตัวอีกทั้งยังทำนายว่าต่อไปในภายภาคหน้าเจ้าพระยาจักรีผู้นี้จะได้เป็นพระมหากษัตริย์ ดังปรากฏในเอกสารทางประวัติศาสตร์ ดังนี้
 
แล้วอะแซหวุ่นกี้ก็พิจารณาดูรูป ดูลักษณะเจ้าพระยาจักรีแล้วสรรเสริญว่า รูปก็งาม ฝีมือก็เข้ม แข็ง สู้รบเราผู้เป็นผู้เฒ่าได้ จงอุตส่าห์รักษาตนไว้ภายหน้าจะได้เป็นกษัตริย์เป็นแท้  
                                                                           (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, ๒๐๔)
 
เนื้อความในเอกสารทางประวัติศาสตร์ข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความปรีชากล้าหาญของเจ้าพระยาจักรี จนกระทั่งอะแซหวุ่นกี้ผู้เป็นแม่ทัพคนสำคัญ ของฝ่ายพม่าสรรเสริญ และกล่าวคำทำนายได้ให้เป็นเกียรติแก่เจ้าพระยาจักรี แต่ตัวบทเรื่องเล่าที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ คือบทละครเรื่อง “พระเจ้ากรุงธน” นวนิยายเรื่อง “ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?” และนวนิยายเรื่อง “ความหลงในสงสาร” ได้สร้างคำอธิบายชุดใหม่ที่แสดงเหตุผลการทำนายของอะแซหวุ่นกี้ว่าต้องการยุยงให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเจ้าพระยาจักรีผิดใจกัน ดังนี้
 
พระเจ้ากรุงธน        - แล้วเรื่องที่อะแซหวุ่นกี้ทำนายว่าเจ้าพระยาจักรีจะได้เป็นพระมหากษัตริย์นั่นล่ะ เขาว่ากันยังไงกัน 
 
ธิเบศร์                  - ขอเดชะ คนเป็นอันมาก เห็นว่าอะแซหวุ่นกี้ยุงยงให้ทรงระแวงเจ้าพระยาจักรี คิดจะให้เกิดการแตกสามัคคี จึงแกล้งทำนายเช่นนั้น
 
พระเจ้ากรุงธน      - เรื่องที่ข้าจะระแวงเจ้าพระยาจักรีนั้นน่ะเป็นไม่มีละ ข้ารู้ดีว่าที่ข้าทำการใหญ่สำเร็จจนไทยประเทศเป็นปึกแผ่นแข็งแรงได้ถึง ปานนี้ ก็โดยได้อาศัยเจ้าพระยาจักรี เจ้าพระยาสุรสีห์ สองพี่น้องนี้มาก แต่ไม่มีใครเขานึกบ้างหรือ ว่าบางทีในภายหน้าเจ้าพระยาจักรีอาจจะได้เป็นพระมหากษัตริย์ปกครองบ้านเมืองแทนข้าจริง
 
อำมาตย์                - เห็นจะไม่มีใครนึกเช่นนั้นพระพุทธเจ้าค่ะ   
                                                                           (บทละครเรื่องพระเจ้ากรุงธน, ๑๐๑) 
 
จากบทละครเรื่อง “พระเจ้ากรุงธน” ข้างต้นแสดงให้เห็นถึงจุดประสงค์ของคำทำนายที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนการในการศึกษาเท่านั้นที่ต้องการสร้างความหวาดระแวง ระหว่างสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเจ้าพระยาจักรี นอกจากนี้ยังปรากฏในนวนิยายเรื่อง “ความหลงในสงสาร” ในทำนองเดียวกัน ดังนี้  
 
“ในที่สุด  คำทำนายทายทักของซินแสก็กลายเป็นความจริง กระผมคิดว่าซินแสคนนั้นน่าจะมีความรู้ทางโหราศาสตร์นะขอรับ” ท่านพระครูออกความเห็น
 
“เราคิดอย่างท่าน แต่สำหรับอะแซหวุ่นกี้ เขามีความประสงค์จะให้เรากับสหายเป็นศัตรูกัน เพราะถ้าคนไทยรบกันเองแล้ว พม่าก็จะกลืนชาติได้ง่าย เพราะฉะนั้น การที่เราสั่งให้สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเข้าเฝ้า ให้แต่งชุดนักรบถือดาบเข้ามาด้วย ก็เพื่อจะทดสอบใจสหายของเรา ว่าอยากเป็นพระเจ้าแผ่นดินตามคำพยากรณ์ของอะแซหวุ่นกี้หรือไม่ แต่ไม่ว่าเราจะพูดอย่างไร สหายผู้ซื่อสัตย์ของเราก็ไม่ยอมตกปากรับคำที่จะเป็นพระเจ้าแผ่นดิน บอกแต่ว่ามีความสุขแล้ว...” 
                                                                           (ความหลงในสงสาร, ๔๘)
 
 

“จอมกษัตริย์แห่งนักรบ” 
ฉบับพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๕๐? 

แผ่นหินอ่อนจารึกบน “เนินดินที่อะแซหวุ่นกี้ขอดูตัว 
เจ้าพระยาจักรี” ปัจจุบันคือบริเวณหน้าสำนักงาน
เทศบาลเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก
 
จากนวนิยายเรื่อง “ความหลงในสงสาร”  ข้างต้นและบทละครเรื่อง “พระเจ้ากรุงธน” มีการสร้างเนื้อหาในรูปแบบเหตุผลที่คล้ายกันคือ ต้องการสร้างความแตกสามัคคี แต่จากตัวบททั้ง ๒ เรื่องยังคงแสดงให้เห็นถึงฝ่ายไทยล่วงรู้ถึงจุดประสงค์ที่แท้จริงของคำทำนาย รวมถึงยังคงไว้ ใจและเชื่อใจกัน ระหว่างสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และเจ้าพระยาจักรี อย่างไรก็ตามจากแผนยุยงแตกความ สามัคคีของอะแซหวุ่นกี้ ที่ปรากฏในนวนิยายเรื่อง “ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน” ผู้สร้างได้แสดงให้เห็นถึง  “ความได้ผล” ของคำทำนาย ดังนี้ 
 
เรื่องใหญ่ทุกเรื่องก็เริ่มต้นจากเรื่องเล็กๆ ก่อนทั้งนั้น เมื่อกองทัพทุกกองทัพกลับถึงธนบุรีแล้ว เสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงคำทำนายของอะแซหวุ่นกี้ ที่ว่า เจ้าพระยาจักรีจะได้เป็นกษัตริย์ และอะแซหวุ่นกี้เรียกเจ้าพระจักรีว่า “เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก” นั้นก็ค่อยๆ กระพือข่าวจากปากนี้สู่หูนั้น แล้วจากหูนั้นก็ออกจากปากนั้นเข้าหูโน้น ออกจากปากของหูโน้นก็ไปเข้าหูนู้น ฯลฯ ต่อไปๆๆ จนไม่กี่วันก็ทั่วกรุง
 
เสียงซุบซิบก็มากขึ้นเสียงปรึกษาหารือเป็นฝักเป็นฝ่ายก็หนาหูหนาตาขึ้นจนบางครั้งคนเมาก็กล้าพูดออกมาตรงๆ ว่าจะเป็นพวกไหน และอยู่กับใคร แต่คนมีสติดียังซุบซิบอยู่
                                                                           (ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?, ๘๘)
 
การสร้างคำอธิยายชุดใหม่ข้างต้น ได้ส่งผลเกิดเป็นการสร้างคำอธิบายชุดต่อมา คือ การแต่งตั้งให้เจ้าพระยาจักรีเป็น “สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก” จากข้อเท็จจริงในเอกสารทางประวัติศาสตร์นั้น การเลื่อนยศครั้งนี้เพราะเจ้าพระยาจักรีมีความดีความชอบ ดังปรากฏในพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ดังนี้
 
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระโสมนัส ดำรัสให้มีตราหากองทัพกลับยังกรุงธนบุรี เจ้าพระยาทั้งสองก็เลิกทัพกลับมาถึงพระนครในเดือน ๖ ปีระกานพศกศักราช ๑๑๓๙ จึงทรงพระกรุณาโปรดปูนบำเหน็จเจ้าพระยาจักรี ตั้งให้เป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก พิลึกมหิมาทุกนัครา ระอาเดช นเรศวรราชสุริยวงศ์  องค์อัครบาทมุลิกากร บวรรัตนบรินายก ณ กรุงเทพมหานครบวรทวารวดีศรีอยุธยา แล้วพระราชทานพานทอง เครื่องยศเหมือนอย่างเจ้าต่างกรม ให้ยิ่งกว่าท้าวพระยาข้าละอองธุลีพระบาททั้งปวง
                                                                           (พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา, ๒๑๘) 
 
จากข้อมูลเอกสารทางประวัติศาสตร์ข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความพึงพอพระราชหฤทัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่มีต่อผลงานของเจ้าพระยาจักรี  อีกทั้งเจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพคนสำคัญในสมัยกรุงธนบุรี การพระราชทานบำเหน็จเลื่อนยศเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จึงเป็นเรื่องปกติชอบธรรม
 

“ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน?” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๑

“ตากสิน มหาราชชาตินักรบ” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๐ พ.ศ. ๒๕๕๐ 
 
แต่คำอธิบายชุดใหม่ในตัวบทเรื่องเล่าที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่  คือ บทละครเรื่อง  “พระเจ้ากรุงธน” และนวนิยายเรื่อง “ตากสิน  มหาราชชาตินักรบ”  อธิบายเหตุการณ์การพระราชทานความดีความชอบในครั้งนี้ เป็นเพียงการพระราชทานเลื่อนยศเพราะ “การแก้เคล็ด” เท่านั้น ซึ่งปรากฏในบทละครเรื่อง “พระเจ้ากรุงธน” ดังนี้
 
อำมาตย์             - ขอเดชะ ทุกสิ่งเป็นของไม่เที่ยง 
พระเจ้ากรุงธน      - ถูกแล้ว แต่ข้าคิดจะสะเดาะเคราะห์ของข้าสักอย่างหนึ่ง อำมาตย์เห็นด้วยไหม  
อำมาตย์              - จะทรงทำวิธีใด พระพุทธเจ้าค่ะ
พระเจ้ากรุงธน    - คืออย่างนี้ อะแซหวุ่นกี้เขาทำนายว่า เจ้าพระยาจักรีจะได้เป็นพระมหากษัตริย์ มันเป็นคำทำนายที่เอาเคราะห์ร้ายมาให้ข้า ข้าจะสะเดาะเคราะห์ของข้าโดย วิธีตั้งเจ้าพระยาจักรีเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เห็นเป็นไง
ธิเบศร์                - ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่าเป็นการดียิ่ง พระพุทธเจ้าข้า
                                                                           (บทละครเรื่องพระเจ้ากรุงธน, ๑๐๓)
 
จากบทละครเรื่อง “พระเจ้ากรุงธน”  ข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การพระราชทานเลื่อนยศเจ้าพระยาจักรีเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกเป็นเพียง การสะเดาะเคราะห์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเท่านั้น นอกจากนี้ นวนิยายเรื่อง “ตากสิน มหาราชชาตินักรบ” ยังปรากฏเนื้อหาเช่นนี้ โดยอธิบายรายละเอียดเพิ่มขึ้น ดังนี้
 
ในเดือนหก ปีระกา ด้วงได้รับแต่งตั้งเป็นสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกมาธิวแสดงความยินดีกับสหายของเขา
แต่ด้วงกับบุนนาคมีสีหน้าเคร่งขรึม
 
เขาไม่ได้รับตำแหน่งนี้เพราะความดีความชอบ แต่เป็นการผันแปรคำพยากรณ์ของซินแสกับอะแซหวุ่นกี้ไม่ทราบว่าเรื่องนี้แพร่ออกไปได้อย่างไร
 
บุนนาคอธิบายว่า “ตำแหน่งนี้มีคำว่ากษัตริย์อยู่ ถึงจะเป็นกษัตริย์แห่งสงคราม ความหมายว่า เขาจะไม่แย่งราชบังลังก์ จึงอยู่ร่วมกันได้”
 
ด้วงพูดอย่างแค้นใจว่า  เขาไม่ได้เรียกร้องอะไรไม่อยากได้ตำแหน่งที่ได้มาด้วยเล่ห์กล พระเจ้าตากไม่น่าจะทรงสงสัยในความจงรักภักดีของเขา  เขาได้พิสูจน์ให้เห็นมานักต่อนักแล้ว
                                                                           (ตากสินมหาราชชาตินักรบ, ๔๐๖-๔๐๗)
 

ภาพบนบานหน้าต่างลงรักปิดทอง ที่พระวิหารสมเด็จพระเจ้าตากสิน 
วัดอินทารามวรวิหาร กรุงเทพฯ วาดเหตุการณ์ตอนสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเมื่อ
แรกประสูติได้มีงูใหญ่มาขดรอบพระวรกาย
 
นวนิยายเรื่อง“ตากสินมหาราชชาตินักรบ” นอกจากแสดงให้เห็นถึงสาเหตุในการพระราชทานเลื่อนยศครั้งนี้ที่มีราชทินนามคำว่า “กษัตริย์” เป็นเพียงการ “ผันแปรคำ” อีกทั้งยังแสดงให้เห็นว่าการทำนายของอะแซหวุ่นกี้ก็ได้ผล
 
กฤดาภินิหารในสายตาตะวันตก
เนื้อหาพระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชช่วงวัยเยาว์ปรากฏในหนังสือ “อภินิหารบรรพบุรุษ” เป็นส่วนใหญ่เนื้อความกล่าวถึงตั้งแต่แรกประสูติจนสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีเนื้อหาในหนังสือ “อภินิหารบรรพบุรุษ” มักสอดแทรกเรื่องราวเกี่ยวกับกฤดาภินิหารต่างๆอาทิ เหตุการณ์ เมื่อแรกประสูติ ได้มีงูใหญ่มาขดรอบพระวรกาย
 
แต่เมื่อนำเนื้อหาช่วงนี้มาสร้างบทเรื่องเล่าในนวนิยายเรื่อง “ตากสินมหาราชชาตินักรบ” ซึ่งเป็นตัวบทเรื่องเล่าเพียงเรื่องเดียวที่ผู้สร้างเป็นชาวตะวันตกดังนั้นเนื้อหาช่วงนี้จึงถูกตีความใหม่ด้วยการสร้างคำอธิบายชุดใหม่ที่ว่า งูตัวนั้นถูกนำมาใส่เพื่อตั้งใจจะปลิดชีวิตพระองค์ ดังนี้
 
ข้าเคยเล่าให้เจ้าฟังหรือยังว่า ทำไมจึงได้รับอุปการะจากเจ้าพระยาจักรี
 
“แม่ข้าท้อใจที่มีลูกเพิ่มมาอีกหนึ่งคน พ่อของข้ามีหนี้สินล้นพ้นตัว แกเป็นนายบ่อน ข้าเชื่อว่าแกคงใช้เวลาเล่นการพนันพอๆ กับลูกค้า แม่เอางูใส่ในเปลของข้า เพราะแม่ลงมือฆ่าข้าเองไม่ลง แม่เอาเปลที่ข้านอนไปวางทิ้งไว้ในตลาด งูนั้นขดตัวรอบข้าแล้วหลับไป เหมือนตั้งใจจะปกป้องข้า พวกพ่อค้ามาเห็นเรานอนหลับอย่างสบายใจทั้งคนทั้งงู