โรงเรียนมิชชันนารีชาย-หญิงแห่งแรกในสยาม กรุงเทพคริสเตียน-วัฒนาวิทยาลัย

ผศ. ยุวดี ศิริ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
 
ศาสนาคริสต์เริ่มเข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทยนานแล้ว ตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โปรตุเกสเป็นชนชาติแรกที่เริ่มเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๐๙๔ จนกระทั่ง ปี พ.ศ. ๒๒๒๘ พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔  คณะราชทูตจากประเทศฝรั่งเศสก็เริ่มเข้ามากรุงศรีอยุธยาในขณะนั้นเริ่มมีโบสถ์คริสต์ศาสนา   บ้านพักของชาวต่างประเทศ ก่อสร้างขึ้นในย่านเดียวกันจนเกิดเป็นชุมชนชาวตะวันตกกระจายอยู่ในหลายแห่ง คนไทยเรียกชาวคริสต์หรือบาทหลวงชาติตะวันตกที่มาเผยแผ่ศาสนาเหล่านี้ว่า “คริสตัง” หรือผู้นับถือคริสต์ศาสนาในนิกายโรมันคาทอลิก
 
การเผยแผ่คริสต์ศาสนาของบาทหลวงคาทอลิกยังมีเรื่อยมา จนถึงในช่วงต้นรัชกาลที่ ๓ คณะมิชชันนารีจากประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เริ่มเดินทางเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาในประเทศสยามด้วยเช่นกัน แต่เป็นคริสต์ศาสนาในนิกายโปรเตสแตนต์ หรือที่คนไทยเรียกว่า “คริสเตียน” การเดินทางเข้ามาของคณะมิชชันนารีอเมริกันในยุคแรกนี้  ส่วนใหญ่มักมีผู้สำเร็จการศึกษาวิชาการแพทย์รวมอยู่ด้วย มิชชันนารีกลุ่มนี้จึงใช้วิชาการแพทย์แผนตะวันตกเข้ามารักษาผู้เจ็บป่วยพร้อมทั้งแจกยา และพระคัมภีร์ไปในคราวเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้ชาวบ้านซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีนโพ้นทะเลได้หันมานับถือคริสต์ศาสนาตามอย่างตน แต่ด้วยความที่มิชชันนารีส่วนหนึ่งเป็นหมอ และใช้วิธีการแจกยาในการชักจูงให้เกิดความสนใจต่อคริสต์ศาสนาคนไทยจึงนิยมเรียกมิชชันนารีกลุ่มนี้ว่า “หมอสอนศาสนา” ดังนั้นที่เป็นหมอจริงๆ ก็มี เช่น หมอบรัดเลย์ หมอเฮ้าส์ หรือที่ไม่ได้เป็นหมอแต่คนไทยก็เรียกว่าหมอ เช่น หมอสมิธ  หมอมะตูน เป็นต้น
 

อาคารก่ออิฐสูง ๓ ชั้น ซึ่งเป็นอาคารเรียนหลังแรกของ
โรงเรียนวังหลัง นับเป็นอาคารที่ทันสมัยที่สุดใน พ.ศ. ๒๔๑๗

บ้านพักมิชชันนารีในยุคแรกๆ โดยชั้นบนจะใช้เป็นที่
พักอาศัย ส่วนชั้นล่างและบริเวณบ้านจะใช้เป็นที่สอนหนังสือ
 
 
การเดินทางเข้ามาของมิชชันนารีคณะอเมริกัน  เมื่อเริ่มแรกได้พักอาศัยอยู่ในถิ่นคนจีนย่านวัดเกาะ (วัดสัมพันธวงศ์) จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๓๗๘ เป็นปีที่หมอบรัดเลย์ได้เดินทางเข้ามาพร้อมกับนำเครื่องพิมพ์เข้ามาใช้อันเป็นการเริ่มต้นด้านกิจการการพิมพ์ขึ้นในประเทศไทยโดยวัตถุประสงค์เพื่อจะพิมพ์ใบปลิวและเอกสารต่างๆ ในการเผยแผ่ศาสนา และในช่วงเดียวกันหมอบรัดเลย์ก็ได้เปิดโอสถศาลาขึ้นเพื่อรับรักษาผู้เจ็บป่วย แทนการตระเวนรักษาไปยังที่ต่างๆ ในปีเดียวกันหลังจากนั้นไม่นานเกิดข่าวลือว่า   มิชชันนารีได้พูดจายุยงพวกจีนให้กระด้างกระเดื่องต่อแผ่นดิน รวมไปถึงเหตุการณ์ที่มีฝรั่งซึ่งเป็นกัปตันนายเรือสินค้ามาเยี่ยมบ้านมิชชันนารี   และเมาสุราเข้าไปยิงนกพิราบในวัดเกาะ ทำให้เกิดปัญหากับพวกพระและเณร พระยาโชฎึก (ทองจีน) ผู้ดูแลชาวจีน เกรงจะเกิดปัญหากับตน จึงมีคำสั่งให้คณะมิชชันนารีย้ายออกจากย่านวัดเกาะ
 
ในที่สุด คณะมิชชันนารีจำนวนหนึ่งที่มีหมอบรัดเลย์อยู่ด้วยก็ได้ย้ายไปอยู่บริเวณหน้าวัดประยูรวงศาวาสอันเป็นที่ดินของเจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) โดยเจ้าพระยาพระคลังได้ปลูกเรือนให้เช่าเป็นเรือนไม้ขนาดใหญ่ ๒ หลัง คิดค่าเช่าเดือนละ ๖๕ บาท
 
เมื่อคณะมิชชันนารีมีบ้านพักอาศัยที่เป็นหลักแหล่ง และมีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มมากขึ้น ก็เริ่มมีแนวความคิดที่จะเผยแผ่ศาสนาควบคู่ไปกับการให้การศึกษา โดยชั้นล่างของบ้านพักที่สอนหนังสือ ในปี พ.ศ. ๒๓๘๐ แหม่มบรัดเลย์จึงได้เริ่มต้นสอนหนังสือเด็กหญิงในละแวกที่พักอาศัย  แต่ก็ยังไม่ได้มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นอย่างเป็นจริงเป็นจัง
 
ในระหว่างนั้นมีการเดินทางเข้าออกประเทศสยาม ของคณะมิชชันนารีอเมริกันอย่างต่อเนื่อง จวบจนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๓๙๐ มีคณะมิชชันนารีที่ ประกอบด้วย นายสตีเฟน แมตตูน  (คนไทยเรียกว่า “หมอมะตูน”)  และภรรยา (แหม่มมะตูน) และนายแพทย์ซามูเอล เรย์โนลด์ส เฮ้าส์ (คนไทย เรียกว่า “หมอเหา”) และคณะอีกจำนวนหนึ่งได้เดินทางเข้ามา และหมอสอนศาสนากลุ่มนี้นี่เอง  ที่ภายหลังเป็นผู้มีส่วนสำคัญต่อการก่อตั้งโรงเรียนมิชชันนารีเอกชนชาย และหญิงแห่งแรกขึ้นในประเทศสยาม อันได้แก่ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๙๕ และโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ซึ่งก่อตั้งใน ปี พ.ศ. ๒๔๑๗  
 
การก่อตั้งโรงเรียนมิชชันนารีชาย
จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งโรงเรียนมิชชันนารีนั้น เริ่มขึ้นเมื่อภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติในปี พ.ศ. ๒๓๙๔ พระองค์ได้มีพระบรมราชานุญาตให้คณะมิชชันนารีอเมริกันซื้อที่ดินได้ ๒ แปลง โดยแปลงหนึ่ง คือ ที่ดินด้านหลังวัดอรุณฯ ซึ่งคณะมิชชันนารีได้สร้างเป็นที่ทำการและบ้านพัก ในขณะเดียวกันก็โปรดให้แหม่มมิชชันนารี ๓ คน หนึ่งในจำนวนนั้นคือแหม่มมะตูน เข้าไปสอนหญิงในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเริ่มสอนมีนักเรียน  ๙ คน และเพิ่มขึ้นจนถึง ๓๐ คน แต่นอกจากที่สอนหนังสือในพระบรมมหาราชวังแล้ว แหม่มมะตูน ได้เริ่มต้นรวบรวมเด็กชายและหญิงที่อยู่รอบๆ บ้าน มาสอนหนังสือและให้ความรู้ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับการดำเนินชีวิต 
 

อาคารเรียนชุดแรกจำนวน ๓ หลังของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน
ที่ถนนประมวญ โดยชั้นล่างจะใช้เป็นห้องเรียนและสำนักงาน ส่วน
ชั้นบนจะเป็นที่พักครูใหญ่ ครูต่างประเทศและครูชาวไทย

อาคารเรียนของ “สำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสคูล”
 
จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๓๙๕  แหม่มมะตูนจึงเปิดโรงเรียนขึ้นอย่างเป็นทางการในหมู่บ้านมอญ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๓๙๕ ซึ่งเมื่อตั้งขึ้น เป็นโรงเรียนก็จำเป็นต้องมีระบบตามแบบตะวันตกคือมีหลักสูตรและตารางสอนตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมต่อการพัฒนาในด้านร่างกายและสติปัญญา ซึ่งข้อนี้เองที่ไม่เป็นที่คุ้นชินของชาวบ้านทั่วไป  เด็กๆ พากันบ่นว่าเรียนยากไม่รู้จะเรียนไปทำไม  ดังนั้น แหม่มมะตูนจึงจ่ายเงินให้เด็กที่มาเรียนเป็นค่าจ้างคนละ ๑ เฟื้องต่อวัน ณ ขณะนั้นมีเด็กเรียนเมื่อเริ่มแรก ๘ คน 
 
แต่อีกเพียง ๑๗ วัน ถัดจากวันที่แหม่มมะตูนเปิดโรงเรียนสำหรับเด็กชาวมอญขึ้น ในวันที่ ๓๐ กันยายน นายแพทย์เฮ้าส์  หรือหมอเหา ก็เปิดโรงเรียนขึ้นอีกแห่งหนึ่งบริเวณข้างวัดอรุณฯ สำหรับเด็กชาวจีน มีผู้มาเรียนเมื่อเริ่มแรกถึง ๒๗ คน แต่ถัดจากนั้นเพียง ๔ เดือน แหม่มมะตูน ก็ย้ายโรงเรียนที่หมู่บ้านมอญมารวมกับโรงเรียนของหมอเฮ้าส์ที่ข้างวัดอรุณฯ อาคารเรียนในยุคเริ่ม ต้นของโรงเรียนมิชชันนารีก็คือบ้านพักของมิชชันนารีนั่นเอง
 
จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๔๐๐ คณะมิชชันนารีได้เริ่มต้นที่จะก่อสร้างวิหาร เพื่อใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจอย่างถาวรในที่ดิน ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระทานพระบรมราชานุญาตให้หมอมะตูนซื้อไว้ได้ก่อนหน้านั้นที่ตำบลสำเหร่ ประกอบกับจำนวนนักเรียนของโรงเรียนมิชชันนารีที่ข้างวัดอรุณฯ มีจำนวนมากขึ้น  หมอเฮ้าส์จึงได้ย้ายโรงเรียนมาตั้งที่ตำบลสำเหร่  และที่แห่งใหม่นี้เอง ที่โรงเรียนมีชื่อถูกเรียกอย่างเป็นทางการว่า  “สำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสคูล” 
 

นายจอห์น เอ.เอกิ้น ผู้ก่อตั้งโรงเรียนบางกอกคริสเตียนไฮสกูล ที่ตำบลกุฏีจีน
และเป็นผู้อำนวยการคนแรกของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนเมื่อย้ายไปอยู่ ณ ถนนประมวญ
 
ในขณะที่กิจการของสำเหร่บอยส์คริสเตียนไฮสคูล ดำเนินไปด้วยความมั่นคงพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปิดโรงเรียนแบบตะวันตกที่พระราชวังนันทอุทยาน สำหรับพระเจ้าลูกเธอและบุตรข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนักเท่านั้น โดยมีนายแพทย์ เอส.จี.แมคฟาร์แลนด์ หรือภายหลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “พระอาจวิทยาคม” เป็นผู้อำนวยการพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริให้สร้างโรงเรียนแบบ Public School เพื่อมุ่งให้นักเรียนที่จบจากโรงเรียนนี้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศท่านผู้อำนวยการเห็นว่าภารกิจที่ได้รับมอบหมายนั้นลำพังท่านเพียงผู้เ ดียวที่จะจัดการโรงเรียนแผนใหม่ขึ้นในยุคนั้น คงเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการให้สู่จุดมุ่งหมายได้ ดังนั้น ท่านจึงได้เดินทางกลับไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาและเสาะหาผู้มาร่วมงาน และได้พบกับนายจอห์นเอ.เอกิ้น จึงได้พากลับมาสอน ณ พระราชวังนันทอุทยาน หรือเรียกว่า “โรงเรียนที่สวนอนันต์”
 
แต่ภายหลังเมื่อสอนไประยะหนึ่งมีเหตุให้โรงเรียนที่สวนอนันต์ จำเป็นต้องย้ายไปตั้งยังโรงเรียนสุนันทาลัย ที่ตั้งขึ้นให ม่บริเวณปากคลองตลาด นายจอห์น เอ.เอกิ้น เห็นว่าการสอนหนังสือ แต่เพียงลูกท่านหลานเธอเท่านั้น ไม่บรรลุวัตถุประสงค์เพื่อการเผยแผ่ศาสนา จึงขอลาออกและมาตั้งโรงเรียนชายขึ้นที่ตำบลกุฎีจีน โดยได้เช่าโกดังเก็บสินค้าซึ่งเคยเป็นของนายฮันเตอร์ พ่อค้าชาวอังกฤษ ซ่อมแซมเป็นโรงเรียนและที่พักโดยใช้ชื่อว่า  “บางกอกคริสเตียนไฮสกูล” เมื่อเริ่มเปิ ดในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๑  ปรากฏว่ามีนักเรียนเพียง ๔ คน แต่จนถึงเดือนธันวาคมปีเดียวกัน โรงเรียนแห่งนี้ก็มีนักเรียนเพิ่มขึ้นถึง ๕๐ คน ด้วยความสามารถของ นายจอห์นเอ.เอกิ้น ดังกล่าวคณะมิชชันนารี จึงรับโรงเรียนแห่งนี้มาอยู่ในอุปถัมภ์
 
 
นักเรียนโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนในยุคแรกที่ถนนประมวญ
 
ในขณะที่โรงเรียนของคณะมิชชันนารีที่ตำบลกุฎีจีนเจริญรุดหน้า แต่โรงเรียนมิชชันนารีที่ตำบลสำเหร่เริ่มประสบปัญหาขาดครูผู้สอน เพราะครอบครัวมิชชันนารีที่สอนหนังสืออยู่ เริ่มเดินทางกลับไปยังสหรัฐอเมริกา เพราะปัญหาสุขภาพ นายจอห์น เอ.เอกิ้น จึงได้รับมอบหมายให้เข้าไปจัดการ ทำให้เขาต้องบริหารโรงเรียนทั้ง ๒ แห่งในคราวเดียวกัน แต่เพราะโรงเรียนมิชชันนารี ที่สำเหร่มีโรงสีซึ่งอยู่ติดกันก่อความรำคาญทั้งจากเสียงและเ ขม่าควันดำ นายจอห์น เอ.เอกิ้น จึงเห็นว่าสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ไม่เป็นผลดีต่อการตั้งโรงเรียนอยู่ที่นี่อีกต่อไป จึงเสนอให้โรงเรียนที่สำเหร่กลับ มารวมกับโรงเรียนที่กุฎีจีน แต่คณะมิชชันนารีเห็นว่าด้วยความเจริญของสยาม ณ ขณะนั้นอยู่ที่ฝั่งพระนคร จึงมีความคิดต้องกันว่าการมองหาที่ดินแปลงใหม่เพื่อขยายโรงเรียนออกไปยังฝั่งพระนคร น่าจะมีความเหมาะสมกว่า
 
ในที่สุดก็ได้มีความเห็นพ้องกันว่าถนนประมวญเป็นที่ใหม่ที่เหมาะสมเพราะไม่ไกลจากความเจริญและยังมีที่ดินอยู่รอบด้านที่อาจจะซื้อเพิ่มเติมได้ อีกภายหลังเจ้าของที่ดินคือ เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี   เป็นเพื่อนสนิทที่คุ้นเคยกันมานานของ นายจอห์น เอ.เอกิ้น ได้เสนอขายให้ในราคา ๑๗,๔๐๐บาท โดยท่านเองลดให้เพื่อเป็นการบริจาคร่วมสร้างโรงเรียน ๒,๕๐๐ บาท พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงิน ส่วนพระองค์ให้ ๒๐ ชั่ง (๑,๖๐๐ บาท) และได้รับจากพระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางชั้นผู้ใหญ่อีกหลายท่าน สบทบทุนในการซื้อที่ดินแปลงดังกล่าว จึงทำให้คณะมิชชันนารีสามารถรวบรวมเงินได้ในเวลาไม่นานนัก
 
อาคารหลังแรกๆ ของโรงเรียนที่ถนนประมวญนั้น ได้สร้างเป็นอาคารครึ่งตึกครึ่งไม้จำนวน ๓ หลัง โดยให้ตึกหน้าเป็นสำงานของโรงเรียนและให้ชั้นบนเป็นที่พักของครูใหญ่หรือผู้อำนวยการ ส่วนตึกอีก ๒ หลังซึ่งมีการต่อปีกด้านข้างออกไปเป็นตัวยู (U) ด้านขวาจะเป็นห้องเรียน หอสวดมนต์ และให้ครูไทยพักอยู่ชั้นบน ส่วนตึกบนปีกด้านซ้ายด้านหลังเป็นห้องเรียน และชั้นบนเป็นหอพักสำหรับครูชาวต่างประเทศ
 
ในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ การก่อสร้างอาคารเรียนแล้วเสร็จ คณะมิชชันนารีจึงให้ย้ายโรงเรียนที่ตำบลสำเหร่และโรงเรียนที่ตำบลกุฎีจีน เข้ามารวมไว้เป็นแห่งเดียวกัน ณ ถนนประมวญ และเปลี่ยนชื่อเรียกใหม่ว่า “กรุงเทพคริสเตียนไฮสกูล” และเปลี่ยนเป็น “กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ และใช้ชื่อนี้จนถึงปัจจุบัน
 
การก่อตั้งโรงเรียนมิชชันนารีหญิง
ภายหลังปี พ.ศ. ๒๓๙๕ ที่โรงเรียนมิชชันนารีแห่งแรกถูกก่อตั้งขึ้นที่บริเวณย่านวัดอรุณฯ    หมอเฮ้าส์ก็ได้เดินทางกลับไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา  และได้พบรักและแต่งงานกับนางสาวเฮเรียต เอ็ม.เพททิต  ซึ่งคนทั้งสองได้เดินทางกลับเข้ามายังประเทศสยามด้วยกันในปี พ.ศ. ๒๓๙๙ โดยถัดจ ากนั้นอีก ๑ ปี โรงเรียนสำหรับนักเรียนชายที่ตั้งขึ้นที่ย่านวัดอรุณฯ ก็ย้ายไปอยู่ยังตำบลสำเหร่ ภรรยาของหมอเฮ้าส์หรือแหม่มเฮ้าส์ก็ได้ช่วยสอน ณ โรงเรียนแห่งนี้ด้วย แต่เด็กทุกคนที่อยู่ในโรงเรียนแห่งนี้ล้วนเป็นเด็กผู้ชาย แต่แหม่มเฮ้าส์เองอยากเปิดโอกาสให้เด็กผู้หญิงในประเทศสยามได้มีโอกาสได้รับการศึกษาบ้าง
 
แหม่มเฮ้าส์ได้เริ่มต้นชักนำเด็กหญิงให้ได้รับการศึกษาที่บ้านพักของเธอ โดยนอกจากจะสอนให้อ่านออกเขียนได้แล้ว แหม่มเฮ้าส์ยังได้สอนให้เย็บ ปักถักร้อย เย็บเสื้อผ้าได้โดยจักรที่เธอนำมาด้วยจากอเมริกา เธอได้สอนให้เด็กๆ ตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อเอาไปให้แก่เด็กนักเรียนชายที่สำเหร่ ขณะเดียวกันนั้น แหม่มเฮ้าส์ก็พยายามสร้างรายได้ให้กับเด็กหญิงดังกล่าวด้วยการขายผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นแต่กระนั้นการมาเรียนเป็นประจำและใช้ระยะเวลานานก็กลายเป็นปัญหาเพราะเด็กหญิงเหล่านี้ต้องทิ้งบ้านเรือนและขาดรายได้จากการช่วยทำสวน เด็กหญิงที่มาเรียนจึงร่อยหรอลงไปทุกที
 

แหม่มเฮ่าส์ผู้ก่อตั้งโรงเรียนวังหลัง และแม่ต่วน (ครู)
ที่ได้
รับความไว้วางใจให้ดูแลกิจการโรงเรียน
ในเวลาถัดมา

ในรูปถ่ายพร้อมด้วยนักเรียนรุ่นแรก พ.ศ. ๒๔๑๘
อาคารเรียนที่โรงเรียนวังหลัง ซึ่งขยายขึ้นเรื่อยๆ เพื่อรองรับ
นักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นก่อนจะย้าย
มาสู่โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยในปัจจุบัน
 
 
แหม่มเฮ้าส์จึงใช้วิธีการเดียวกันกับมิชชันนารีคนอื่นๆ ใช้ได้ผลมาก่อนหน้านี้ คือ การจ่ายค่าจ้างให้กับเด็กหญิงที่เข้ามาเรียนหนังสือกับเธอ เท่ากับรายได้ที่เด็กเหล่านี้จะได้รับจากการทำสวน จนมีเด็กหญิงกลับมาเรียนจำนวนเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๑๔ แหม่มเฮ้าส์เริ่มมีปัญหาเรื่องสุขภาพจึงเดินทางพักผ่อนและเดินทางกลับอเมริกาเพื่อเยี่ยมมารดา แต่การเดินทางไปในครั้งนั้น ทำให้แหม่มเฮ้าส์ได้ไปรายงานถึงการเริ่มต้นการ สอนเด็กหญิงที่เธอกระทำอย่างต่อเนื่องมาถึง ๑๐ กว่าปี จนเธอได้รับการสนับสนุนจากคริสตจักรและได้รับการบริจาคเงินทุนเพื่อนำมาสนับสนุนงานของเธอสำหรับการจัดตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กหญิงในประเทศสยาม
 
เมื่อแหม่มเฮ้าส์เดินทางกลับมาสยาม  พร้อมกับเงินเริ่มต้นจำนวน  ๓,๐๐๐ ดอลลาร์   เงินจำนวนนี้ถูกนำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารเรียนหลังแรก ของโรงเรียนมิชชันนารีสำหรับนักเรียนหญิงแห่งแรกขึ้นในที่ดินที่  นายเอส.ซี.ยอร์จ คณะมิชชันนารีอเมริกันที่ได้เริ่มซื้อไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๑๓  โดยแบ่งอาคารก่ออิฐสูง ๓ ชั้น ซึ่งถือว่าเป็นอาคารที่ทันสมัยมากในขณะ มีชั้นล่างเป็นโรงเรียน ชั้น ๒  เป็นที่อยู่ของครอบครัวเฮ้าส์ และชั้น ๓ เป็นที่พักครู เมื่ออาคารก่อสร้างแล้วเสร็จ  โรงเรียนก็ได้เริ่มเปิดทำการสอนในวันที่ ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๑๗ โดยคนทั่วไปเรียกโรงเรียนแห่งนี้ว่า “โรงเรียนวังหลัง” 
 
เพียงปีแรกเท่านั้น โรงเรียนวังหลังก็มีนักเรียนถึง ๑๕ คน โดยนอกจากเด็กหญิงชาวบ้านแล้ว แหม่มเฮ้าส์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่เจ้านาย และข้าราชบริพารได้รับความไว้วางใจจนข้าราชบริพารหลายท่านส่งธิดามาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ อาทิ พระยาสุรศักดิ์มนตรี (แสงผู้เป็นต้นตระกูลแสง-ชูโต) ซึ่งได้ส่งธิดามาเรียนถึง ๔ คน
 
กิจการของโรงเรียนวังหลังเจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในช่วงกลางรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระองค์ท่านเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกในปี พ.ศ.๒๔๔๐ พระองค์ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรีเป็นผู้สำเร็จราชการ ทำให้ผู้หญิงตื่นเต้นอย่างมาก มีการเปิดโรงเรียนสำหรับผู้หญิงทั่วกรุงเทพฯ โดยเฉพาะผู้ที่จบการศึกษาจากโรงเรียนวังหลัง กระทรวงธรรมการจะถือว่าเรียนจบหลักสูตรความเป็นครู ด้วยเหตุนี้ถ้าใครจบจากโรงเรียนวังหลังก็จะถูกตั้งให้เป็นครูใหญ่ในโรงเรียนสตรีเหล่านี้ทันที อาทิ ครูทิม กาญจนโอวาท เป็นต้น
 

พระอาจวิทยาคม หรือ นายเอส.จี. แมคฟาร์แลนด์
ผู้มีส่วนอย่างมากในการจัดหาที่ดินผืนใหม่และอุปถัมภ์โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย 
 
ในปี พ.ศ. ๒๔๕๕ เมื่อแหม่มโคล (ครูใหญ่ในขณะนั้น) เห็นว่าไม่สามารถซื้อที่ดินเพิ่มเติมในบริเวณวังหลังเพื่อขยายโรงเรียนต่อไปได้ แหม่มโคลจึงเริ่มมองหาที่ดินผืนใหม่ จนในปี พ.ศ. ๒๔๕๙  แหม่มโคลได้ตกลงซื้อที่ดินบริเวณทุ่งบางกะปิ ติดคลองแสนแสบ จำนวน ๒๕ ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินของพระอาจวิทยาคม หรือนายแพทย์ เอส.จี. แมคฟาร์แลนด์ ที่ขายให้ในราคาต้นทุน แต่ในขณะนั้นโรงเรียนวังหลังยังไม่ย้ายไปยังสถานที่แห่งใหม่ แหม่มโคลก็หาทางซื้อที่ดินเพิ่ มขึ้นเรื่อยมา ในขณะเดียวกันก็หาทางเพิ่มรายได้ให้กับทางโรงเรียน โดยการนำที่ดินบางส่วนให้เช่า เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง การย้ายโรงเรียนจึงได้เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ โรงเรียนวังหลังหรือโรงเรียนกุลสตรีวังหลังเมื่อมาอยู่ที่แห่งใหม่จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย” ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
 
นอกจากแหม่มโคลแล้วครูใหญ่คนต่อมา คือ แหม่มเบล๊านท์ก็ได้ซื้อที่ดินเพิ่มเติมจากเดิมขึ้นอีก จนในปี พ.ศ. ๒๔๗๐ พบว่าโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยมีเนื้อที่ทั้งสิ้น ๙๐ ไร่ ๒ งาน ๙๗ ตารางวา และในที่ดินผืนนี้ส่วนหนึ่งเป็นที่ดินที่พระอาจวิทยาคม มอบให้เป็นอนุสรณ์ในนามภรรยาของท่านถึง ๑๗ ไร่ ๒ งาน โดยพระอาจวิทยาคม นับได้ว่าเป็นผู้มีส่วนอย่างมากในการให้การอุปถัมภ์โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยให้เติบโตมาเช่นทุกวันนี้
 
ส่วนที่ดินเดิมที่บริเวณวังหลังนั้น ทางโรงเรียนได้ขายให้สมเด็จพระบรมราชชนกฯ  เพื่อก่อสร้างเป็นหอพักพยาบาล ของโรงพยาบาลศิริราชในเวลาต่อไป.
 
                                                                จากหนังสือศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๑๒ ตุลาคม  ๒๕๕๔ หน้า ๔๐-๔๖