-
Category: คอลัมน์ ... จากหนังสือศิลปวัฒนธรรม
-
Published on Monday, 12 February 2018 07:47
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2232
สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา
ดวงตราไปรษณีย์ฉลอง ๑๒๕ ปี ที่พระองค์เจ้าปฤษฏางค์ทรงลงพระนาม
ให้สยามได้เข้าเป็นสมาชิกของสหภาพไปรษณีย์สากลที่กรุงลิสบอน ค.ศ. ๑๘๘๕
เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ปีที่ผ่านมา บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้พิมพ์ดวงตราไปรษณีย์เพื่อระลึกถึงการที่สยามได้เข้าเป็นสมาชิกในสหภาพไปรษณีย์สากล หรือ Universal Postal Union (UPO) เมื่อ ๑๒๕ ปีที่แล้ว โดยพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ราชทูตสยามประจำ ยุโรปได้ทรงเจรจาและลงนามในสนธิสัญญาในสมัชชา UPU ที่กรุงลิสบอนประเทศโปรตุเกส เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ.๑๘๘๕ ทำให้สยามสามารถรับและส่งจดหมายออกไปต่างประเทศโดยตรงได้เป็นครั้งแรกและยิ่งกว่านั้นทำให้สยามมีสถานะเป็นประเทศอิสระที่ทัดเทียมกับกลุ่มประเทศตะวันตก
ก่อนหน้านั้น มีการพิมพ์แสตมป์ส่งจดหมายเล่นในวงแคบๆ กล่าวคือ ในราชสำนัก แต่หากจะรับหรือส่งหนังสือออกสู่โลกภายนอก เราต้อง อาศัยสถานกงสุลอังกฤษรับจดหมายของเราลงเรือส่งไปสิงคโปร์ แล้วซื้อแสตมป์ที่สิงคโปร์ปิดซองส่งไปต่างประเทศ เมื่อมีการส่งจดหมายมากขึ้นสถานกงสุลอังกฤษจึงให้เจ้าหน้าที่รับทำการฝากจดหมาย และนำเอาแสตมป์จากสิงคโปร์เข้ามาจำหน่าย กล่าวคือ แสตมป์สมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย แต่มี “B” ซึ่งหมายถึง “Bangkok” ประทับกำกับบนดวงตราไปรษณีย์ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้ว่าราชการสิงคโปร์จึงมีหนังสือเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๒๖ ถึงรัฐบาลขอทำการเปิดที่ทำการไปรษณีย์เสียเองที่กรุงเทพฯ โดยขอผูกขาดแต่ผู้เดียวและให้ที่ทำการไปรษณีย์ที่กรุงเทพฯ เป็นสาขาขึ้นอยู่กับสิงคโปร์
สัญญาว่าจ้างบริษัท ทอมมัส เดอลารู แห่งกรุงลอนดอน
พิมพ์ดวงตราไปรษณีย์สยามและไปรษณียบัตร
ปี ค.ศ. ๑๘๘๕ (มีทั้งสิ้น ๑๑ หน้า)
เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลสยามจึงมองเห็นว่าการที่จะให้รัฐบาลต่างประเทศเข้ามาตั้งการไปรษณีย์ขึ้นในประเทศนั้นไม่เหมาะอีกต่อไป จะเกิดเอกสิทธิ์ก่อความยุ่งยากไม่รู้จักจบโดยรัฐบาลไม่สามารถทำอะไรได้ เช่นเดียวกับศาลกงสุลในสยาม เพราะคนที่อยู่ในความคุ้มกันของกงสุลต้องขึ้นศาลกงสุลต่างประเทศซึ่งชำระความได้เด็ดขาดแต่ฝ่ายเดียวโดยทางไทยไม่มีอำนาจที่คัดค้านอะไรได้กอปรกับเวลานั้นทั้งอังกฤษและฝรั่งเศสกำลังคืบคลานตามระบอบ ลัทธิอาณานิคม เข้ามาขอสิทธิต่างๆ ในสยามอยู่แล้ว เรื่องที่สำคัญที่สุด คือ อังกฤษและ ฝรั่งเศสถือว่าสุราและยาฝิ่น เป็นสินค้าตามความหมายของสนธิสัญญาเบาริ่ง (Bowring) ค.ศ. ๑๘๕๕ และ ๑๘๕๖ ซึ่งเป็นผลพลอยได้ให้กับมหาอำนาจตะวันตกอีก ๑๑ ประเทศ คนในบังคับต่างประเทศย่อมนำสุรา และยาฝิ่นเข้ามาจำหน่ายในสยามได้โดยเสียภาษีเพียง เล็กน้อย ประเด็นเหล่านี้ เป็นปัญหาที่ราชทูตสยามประจำยุโรปต้องแก้ไขอย่างรีบเร่ง และ เป็นปัญหาที่โยงถึงกันในหลายๆ เรื่องรวมถึงการจัดตั้งกรมไปรษณีย์โทรเลขซึ่งราชทูตจำเป็นต้องดำเนินการจากเมืองนอก
ก่อนหน้านี้ อังกฤษได้วิ่งเต้นที่จะมาขอสัมปทานวางสายโทรเลขเสียเอง เพื่อให้กรุงเทพฯ มีสายโทรเลขติดต่อกับปีนังและสิงคโปร์ได้ ส่วนทางด้านตะวันออก ฝรั่งเศสก็ได้เข้ามาวางสายโทรเลขเพิ่มเชื่อมสายกรุงเทพฯ ผ่านพระตะบองไปติดต่อกับพนมเปญและไซ่ง่อนและ โดยเหตุที่ทางไทยไม่มีผู้เข้าใจวิธีการส่งโทรเลข รัฐบาลฝรั่งเศสที่ไซ่ง่อนจึงส่งคนฝรั่งเศส มาให้ไทยใช้ในการส่งโทรเลขอีกปัญหาก็ได้เริ่มต้นเกิดขึ้นบ้างแล้วในการใช้คนต่างประเทศมาดำเนินการโทรเลขให้เรา เพราะเวลาเขาไม่พอใจจะส่งโทรเลขให้ก็บอกว่าสายเสีย เวลาคนฝรั่งเศสซึ่งเป็นนายช่างโทรเลขของสยามประพฤติผิด เมาหยำเป ไม่ทำการทำงาน ไทยจะทำโทษหรือจะไล่ออกก็ไม่ได้ เพราะกงสุลฝรั่งเศสถือว่าเป็นคนฝรั่งเศสไม่ขึ้นกับไทย
ด้วยเหตุดังกล่าว รัฐบาลไทยจึงต้องคิดตั้งกรมไปรษณีย์โทรเลขเสียเองโดยมอบหมายให้พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์กรมหลวง ภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นเสนาบดี (ต่อมาทรงเลื่อนฐานันดรศักดิ์เป็นกรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช) มีที่กำการอยู่ที่ตึกปากคลองโอ่งอ่างซึ่ง เป็นคฤหาสน์เดิมของพระปรีชากลการ
ในการจัดตั้งกรมไปรษณีย์ครั้งแรก เมื่อ ค.ศ. ๑๘๘๓ นี้กรมหลวงภาณุพันธุฯ ไม่ทรงทราบว่าจะควรจัดการอย่างไรดี และก็ไม่มีคนไทยที่รู้เรื่องการไปรษณีย์มาก่อน จึงทรงมีจดหมายถึงพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (อยู่ในช่วงที่ทรงตั้งสถานทูตที่ลอนดอนและปารีส) ให้ช่วยสืบวิธีการจาก รัฐบาลอังกฤษ ขอระเบียบ กฎข้อบังคับ กับวิธีการต่างๆ ส่งเข้ามาถวายและขอให้จ้างคนเยอรมันเข้ามาช่วยเหลือจัดการและแนะนำดังนั้นพระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงต้องทรงวิ่งเต้นไปหา ดร.สเตฟาน (Stephan) อธิบดีกรมไปรษณีย์โทรเลขของเยอรมนี ให้ช่วยหาคนให้ จึงได้จ้างมิสเตอร์พางโค (Panckow แต่คนไทยเรียก “ปังเกา” เพราะมิได้อ่านตามสำเนียงเยอรมัน) และต่อมาก็ได้จ้างคนเยอรมันและออกสเตรียเพิ่มเข้ามาอีก การที่ต้องจ้างคนเยอรมันเข้ามาช่วยการไปรษณีย์และโทรเลขนั้นก็เพราะได้เห็นฤทธิ์ของคนอังกฤษและฝรั่งเศสว่าดื้อดึง และขี้เกียจไม่ทำงาน แต่มิไยที่รัฐบาลฝรั่งเศสพยายามบังคับให้ไทยจ้างคนฝรั่งเศสต่อไปโดยเอาการเจรจาแก้ปัญหาสุรา และเขตแดนกัมพูชา (ทะเลสาบ) เข้ามาโยง แต่ท่านราชทูตก็สามารถเจรจาแยกประเด็นออกจากกันและสำเร็จบรรลุเป้าหมายจนได้
สำเนาจดหมายฉบับแรกทีส่งมาทางไปรษณีย์จากกรุงเทพฯ ตรงไปปารีส กล่าวคือ
จดหมายจากสมเด็จฯ เจ้าฟ้าภานุรังษีฯ ถึงราชทูตพระองค์เจ้าปฤษฏางค์
ลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๘๕ ได้รับที่ปารีสวันที่ ๑๔ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๘๕
พร้อมด้วยซองจดหมายซึ่งมีรอยดวงตราไปรษณีย์บนมุมขวา (ถูกฉีกออกไป)
เมื่อต้องส่งโทรเลขและจดหมายไปต่างประเทศ สยามต้องเข้าเป็นภาคีสมาชิกขององค์การโทร เลขไปรษณีย์สากลเสียก่อน ดังนี้พระองค์เจ้าปฤษฎางค์จึงต้องเสด็จไปประชุมเจรจากับองค์การ ไปรษณีย์สากลที่กรุงลิสบอน การโทรเลขสากลที่กรุงเบอร์ลิน และลงนามในอนุสัญญาสหภาพ ไปรษณีย์สากลที่กรุงเบิร์น แต่ทั้งหมดทั้งปวงนี้ท่านราชทูตได้รับความช่วยเหลือจากลอร์ด แกรนวิล(Lord Granville) รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษซึ่งพระองค์ได้ทรงผูกมิตรไว้เป็นอย่างดี
เมื่อตั้งกรมไปรษณีย์เสร็จเรียบร้อยแล้ว มีปัญหาที่จะต้องมีดวงตราไปรษณีย์ใช้ แต่จะพิมพ์อย่างไร รูปร่างลักษณะอย่างไร ราคาเท่าที่จะให้ทุกประเทศรับรอง ท่านราชทูตก็จำเป็นต้อง ทรงศึกษาด้วยพระองค์เองเพื่อให้เป็นไปตามระบบสากล ซึ่งเมื่อมองดูสีของแสตมป์ก็รู้ว่าติดราคาเพียงพอกับอัตราที่ได้ตกลงไว้กับสหภาพไปรษณีย์สากล ที่สำคัญยิ่งคือต้องเจรจาตกลงค่า เงินไทยกับสกุลเงินต่างๆ ในยุโรปด้วย ซึ่งท่านราชทูตต้องทรงดำเนินการเองทั้งสิ้น (เพราะทั้งสถานทูตมีพระองค์ท่านเท่านั้น ที่เป็นคนไทยซึ่งรู้ภาษาอังกฤษอย่างดี) ในการนี้ต้องถือว่าไทย เราได้ตกลง อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินกับกลุ่มประเทศตะวันตกเป็นครั้งแรกโดยปริยาย เมื่อตก ลงรายละเอียดต่างๆ เสร็จแล้ว พระองค์ทรงวิ่งเต้นไปสอบถามตามบรรดาผู้รู้จักจากข้าราชการ กรมไปรษณีย์ของอังกฤษว่าจะพิมพ์ได้ที่ไหน ราคาค่าจ้างสักเท่าใดจึงจะควร และพิมพ์อย่างไรจึงจะไม่ถูกคนปลอมได้ง่าย ฯลฯ จากคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อังกฤษ จึงทรงมอบให้ บริษัท เดลารูในกรุงลอนดอนพิมพ์แสตมป์ ทั้งนี้โดยทรงกำกับแบบดวงตราไปรษณีย์เสียเอง (ในฐานะที่ทรงเป็นช่างสิปป์หมู่มาก่อน เรื่องนี้จึงไม่ยาก)
และแล้ววันประวัติศาสตร์แห่งการไปรษณีย์สากลของสยามก็เกิดขึ้น เมื่อกรมหลวงภาณุพันธุฯ ทรงมีจดหมายฉบับแรกที่ติดแสตมป์สยามลงวันที่ ๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๘๘๕ ส่งตรงจากกรุง เทพมายังพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ที่สถานทูตสยามในกรุงปารีส ซึ่งได้รับวันที่ ๑๔ สิงหาคม ศก เดียวกัน จดหมายฉบับประวัติศาสตร์นี้ ทรงเขียนด้วยความตื่นเต้นและมีใจความดังนี้
“ตึกใหญ่ที่ว่าการกรมไปรสนีย์แลโทรเลข
๑๘
กรุงเทพฯ ณวัน ๔ฯ๘ ค่ำปีรกาสัปตศก ๑๒๔๗
๕
st
1 July 1885
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงษ กรมหลวงภาณุพันธุวงษวรเดช ซึ่งสำเรจราชการกรมไปรสนียแลโทรเลข ทูลมายัง พระวงษเธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ ราชทูตวิเสศประจำคอนติแนน์ประเทศยุโรป
ด้วยในวันนี้เปนวันเปิดการสากลไปรสนีย์กรุงสยาม เจ้าพนักงานกรมไปรสนีย์ ได้จัดการรับส่งหนังสือติดต่อกับเมืองต่างประเทศ แล้วโดยความเรียบร้อย เปนทางที่ให้เกิดชื่อเสียงกับบ้านเมืองแลประโยชนทั่วไป ข้าพเจ้ามีความยินดีเปนอันมาก
อำนารถความยินดีนั้นมิอาจที่จะอดกลั้นได้ จึงมีความรฦกถึงพระบรมวงษานุวงษข้าราชการผู้ซึ่งได้อยู่ที่ประเทศยุโรปแลซึ่งจะได้ยินได้ฟังโดยความยินดีซึ่งควรแลเหนกรุงสยามเจริญขึ้นในทางเปิดสว่างนั้น
ข้าพเจ้าจึงมีหนังสือฉบับนี้มาถวายยังท่านเพื่อได้เหนที่หนึงครั้งแรก ในตั๋วตรากรมไปรสนียกรุงสยาม เดินไปได้ถึงประเทศยุโรปซึ่งเปนทางจากกันมาช้านาน
ข้าพเจ้าได้ช่องโอกาส ที่จะได้เชื่อถือว่า ข้าพเจ้าเปนผู้สัตซื่อแลรฦกถึงเสมอ”
(ลงพระนาม) “ภาณุรังษี”
ในการพิมพ์ดวงตราไปรษณีย์เป็นทางการในครั้งแรกนี้ ท่านราชทูตไม่ทรงทราบว่าพิมพ์จำนวนเท่าใดจึงจะพอใช้จึงสั่งพิมพ์ ๑๑ ล้านดวง ทำ ให้กรมหลวงภาณุพันธุฯ ทรงบ่นว่าพระองค์เจ้าปฤษฎางค์สั่งพิมพ์เสียมากมายเหลือใช้ ใช้ไปอีก ๕๐ ปีก็ไม่หมด แต่การไปรษณีย์ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วไปตามต่างจังหวัด จนถึงจังหวัดเชียงใหม่ ถึงกับกรมหลวงภาณุพันธุฯ ทรงดีพระทัยมากที่สามารถส่งจดหมายถึงเชียงใหม่ได้รวด เร็วเกินคาดหมาย คือ ใช้เวลาเพียง ๑๕ วันเท่านั้นและเมื่อการไปรษณีย์ได้ขายกิจการอย่างรวดเร็ว แสตมป์ที่พิมพ์ไว้ก็ไม่พอใช้ ถึงกับต้องทรงเร่งให้ท่านราชทูตรีบพิมพ์ให้ใหม่อีก
การประชุมโทรเลขสากลที่กรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๒๘ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์
ทรงเป็นผู้แทนไทย คือคนที่ ๖ แถวหน้า จากซ้ายประทับอยู่ติดกับ ดร. ฟอน สเตฟาน ( Dr. von Stephan)
ผู้คิดประดิษฐ์โทรเลขและเคานต์ ฟอน บิสมาร์ก (Count von Bismarck) รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี
ถือว่าสยามได้ัรับเกียรติอย่างที่สุดในการที่ผู้แทน ประเทศได้ประทับอยู่ตรงกลางแถวหน้า
ในยุคปัจจุบัน อินเตอร์เน็ตได้ทำให้โทรเลขเป็นวิทยาการในอดีต ส่วนทางการไปรษณีย์ก็ต้องปรับเปลี่ยนการบริหาร เพราะจดหมายไม่สามารถสู้อี-เมลได้ ทำให้คนรุ่นใหม่อาจลืมไปว่าทั้งการโทรเลขและการไปรษณีย์ ไทยเราต้องเจรจาอย่างหนักหน่วงและก่อตั้งองค์การดังกล่าวขึ้นมาด้วยความยากลำบากโดยประเด็นสำคัญ ซึ่งอยู่เบื้องหลังคือการพยายามของบรรพบุรุษ ไม่ว่าข้าราชการหรือผู้บริหารบ้านเมือง ที่พยายามรักษาเอกราชของสยามในยุคของการล่าอาณานิคมที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์.
บทความรวบรวมจากข้อมูลในหนังสือ “การไปรษณีย์ระยะเริ่มแรก” โดย ม.ล. มานิจ ชุมสาย คณะกรรมการพิจารณาและจัดพิมพ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ สำนักนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๓
จาก...หนังสือศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๒ ฉบับที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๓ หน้า ๓๔-๓๗