-
Category: คอลัมน์ ... จากหนังสือศิลปวัฒนธรรม
-
Published on Wednesday, 03 August 2016 03:11
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 8503
ชาวสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ตั้งสมมุติฐานและปลุกอารมณ์สังคมไว้อย่างรุนแรง ถึงเป้าหมายของฝรั่งเศสนำไปสู่ปฏิบัติการทางทหารที่ปากน้ำเจ้าพระยา หรือวิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เป็นเหตุให้ไทยต้องเสียฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ทว่าหลังจากควันปืนจางลง นักสังเกตการณ์ภายนอกประเทศตั้งข้อสังเกตว่ามันไม่ใช่ความบาดหมางกันเป็นส่วนตัวเลย แต่กลับพบว่าการเผชิญหน้ากันอาจหลีกเลี่ยงได้ ความสูญเสียเป็นเรื่องปลายเหตุ และแผนของฝรั่งเศสก็มิใช่การทำลายเอกราชของชาติไทยเลยแม้แต่น้อย
หากจะมองวิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ อย่างรอบคอบและรอบด้านด้วยหลักเหตุผล ก็ต้องมองจากการวิเคราะห์สถานการณ์โดยสำนักข่าวต่างประเทศที่เป็นกลางๆ และมิได้ตัดสินเหตุการณ์จากความรู้สึกหรือการสูญเสียของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นเกณฑ์
โดยข่าวสารที่มีน้ำหนักที่สุด ได้แก่ข่าวการเมืองในระยะ ๑-๒ สัปดาห์ ภายหลังการปะทะกันที่ปากน้ำเจ้าพระยา นั่นก็คือกลังจากวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๔๓๖ แล้ว เพราะกระแสข่าววันเกิดเหตุนั้นยังเป็นข่าวดิบที่ปราศจากการกลั่นกรองสถานการณ์ที่แท้จริงภายใต้สภาวการณ์ที่เร่าร้อน ฮึกเหิมและใส่ไคล้ของแต่ละฝ่าย ยังใช้เป็นบรรทัดฐานไม่ค่อยได้
วารสาร PUNCH ของอังกฤษ (ประเทศที่ ๓) วาดรูปล้อเลียน กรณี ร.ศ. ๑๑๒ ด้วยภาพ "การสงบนิ่งแบบเหนือเมฆ"
ของรัฐบาลอังกฤษ มีภาพนักการเมืองอังกฤษวิพากษ์อย่างเฉยเมยว่า "สัญญาหรือไม่มีสัญญา ฉันก็จะค้าขายเหมือนเดิม"
ในขณะที่แม่ทัพฝรั่งเศสบีบคั้นให้เจ้ากรุงสยามยอมความในข้อเรียกร้องของตน อ่านบทสนทนาของการ์ตูนท้ายบทความ
แต่ข่าวส่วนใหญ่ในเดือนสิงหาคมหรือเดือนถัดไปนั้น เป็นข่าวกรองที่ตกผลึกและยืนยันแล้ว ทั้งรายงานความสูญเสียที่ตรวจสอบได้ ทั้งการตีความท่าทีของคู่กรณีอย่างมีสติและเป็นธรรม อันเป็นฐานข้อมูลใหม่ที่ผู้เขียนใช้วิเคราะห์เหตุการณ์อีกครั้งในบทความนี้
ดังนั้น ถ้าจะให้ได้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ก็ต้องหันมาพิจารณาข่าวสารที่ไม่ได้มาจากสำนักข่าวไทยหรือฝรั่งเศสแต่เป็นของ “ประเทศที่ ๓” ที่ไม่ใช่คู่กรณี อันได้แก่อังกฤษและสหรัฐอเมริกา อังกฤษนั้นมีท่าทีเห็นใจข้างไทยอยู่ในเชิง และไม่เห็นด้วยเท่าใดนักต่อการใช้กำลังทางทหารตัดสินข้อพิพาทกับไทย
ส่วนสหรัฐอเมริกานั้น ก็คอยสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ แต่ก็ไม่ทิ้งบทบาทตำรวจโลกที่ต้องการมีเอี่ยวสอบสวนข้อเท็จจริงแบบอยากรู้อยากเห็นด้วย สรุปแล้วคำวิจารณ์ของ ๒ ชาติหลังนี้จึงเป็นความคิดเห็นนอกกรอบที่น่าเชื่อถือของสังคมโลก ที่จำเป็นต้องมีเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งของคนนอกพื้นที่ และมิได้ถือหางคู่กรณี แต่ติดตามเหตุการณ์นี้อย่างใกล้ชิดเช่นกัน
เป็นที่น่าประหลาดใจว่าทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกาไม่ได้ตัดสินใจว่าใครผิดใครถูก แต่หันมาปลุกกระแสความเสียเปรียบที่ประเทศเล็กถูกกระทำย่ำยีทั้งที่ในเพลานั้นทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกาก็นิยมนโยบายล่าเมืองขึ้นไม่น้อยไปกว่าฝรั่งเศส เพียงแต่ไม่กล้าทำจนออกนอกหน้า การตีแผ่ของชาติที่ ๓ แม้เป็นการสาวไส้ให้กากิน ก็สามารถเปิดโปงเจตนารมณ์ของชาติมหาอำนาจที่กระทำต่อประเทศเล็กได้ในระดับหนึ่ง
แม่ทัพฝรั่งเศสบีบคั้นให้เจ้ากรุงสยามลงพระนามในสนธิสัญญา ร.ศ. ๑๑๒ (Treaty)
ยกฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศสเพื่อจัดตั้งสหภาพอินโดจีน (ภาพขยายใหญ่จาก PUNCH,14 October 1893)
สถานะของอังกฤษในเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒
ชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ ๕ คิดอยู่เสมอว่าอังกฤษจะไม่ปล่อยให้ฝรั่งเศสย่ำยีสยาม เพราะเราเป็นมิตรกันมานาน และอังกฤษน่าจะเป็นที่พึ่งได้ในยามยาก แต่แล้วอังกฤษกลับวางตัวเป็นกลางไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย ดังคำวิจารณ์ของคนไทยในยุคนั้น ซึ่งถ่ายทอดอยู่ในหนังสือพิมพ์ของคนไทยที่มีชื่อเสียงที่สุดในเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ ชื่อ “ธรรมศาสตร์วินิจฉัย” ความว่า
การพูดปฤกษาด้วยเรื่องไทยกับฝรั่งเศสวิวาทกัน
ในศาลาปฤกษาราชการในกรุงลอนดอน
๑ เมื่อวันที่ ๒๓ เดือนมิถุนายน ร.ศ. ๑๑๒ เซอร์ ร.เตมเปิล สมาชิก ได้ถามท่านราชปลัดทูลฉลองกระทรวงว่าการต่างประเทศว่า ท่านได้ทราบความในหนังสือบอกของเวอร์แอนดรูคลาก ผู้รักษาเมืองสิงฆะโปร์ฤาไม่ ใจความในหนังสือบอกนั้นว่าในปีคฤสต์ศักราช ๑๘๗๔ (๑๗ ปีล่วงมาแล้ว) เซอร์แอนดรูคลากได้เปนอรรคราชทูตไปราชการในกรุงเทพฯ นั้น กรุงฝรั่งเศสกับกรุงอังกฤศยอมปรองดองตกลงกัน จะช่วยอุดหนุนให้กรุงสยามเปนเอกราชอยู่เสมอไปทั้งเมืองประเทศราชทั้งหลาย ซึ่งได้เสียบรรณาการต่อไทยอยู่นั้น ก็คงให้เปนของกรุงสยามอยู่ด้วยทุกเมืองและท่านจะนำเอาหนังสือบอกฉบับนี้ มาให้ที่ประชุมพวกสมาชิกทั้งปวงดูได้ฤาไม่
มิศเตอร์บักสะตอนปลัดทูลฉลอง กระทรวงหัวเมืองโกโลนีจึงตอบว่า หนังสือบอกฉบับนี้ได้รับในเดือนเมษายนคฤศตศักราช ๑๘๗๕ (๑๗ ปีล่วงมาแล้ว) ถ้าท่านอยากจะใคร่อ่านแล้ว ก็เชิญท่านไปที่ศาลาว่าการหัวเมืองโกโลนีเถิด แต่ที่จะเอามาตีพิมพ์แจกพวกสมาชิกทั้งปวงนั้นก็หาจำเป็นไม่
เมื่อวันที่ ๒๗ เดือนมิถุนายน ร.ศ. ๑๑๒ เซอร์ ค.แบแคน เปาเวล สมาชิก ถามท่านราชปลัดทูลฉลองกระทรวงว่าการต่างประเทศว่า ราชาธิปไตยของสมเด็จพระนางเจ้าได้ขอช่วยพูดจาว่ากล่าวให้ฝรั่งเศศกับไทยระงับข้อวิวาทกัน โดยทางไมตรีฤาไม่ และการที่ฤากันว่าฝรั่งเศสกับไทยได้สู้รบกันนั้นจริงฤาประการใด ขอให้ชี้แจงให้ที่ประชุมทราบด้วย
ภาพสุนัขป่าฝรั่งเศสกับลูกแกะสยามอันโด่งดัง แสดงการวางอำนาจ
ของนักเลงโตเหนือลำน้ำโขง (ภาพจาก PUNCH, 5 August 1893)
ภาพทหารฝรั่งเศสฉุดลากสาวชาวสยามในลักษณะบังคับข่มขืนใจในขณะที่แก้ตัวแบบขอไปทีกับ
ทหารอังกฤษบ่บอกนัยยะของการเป็นต่อเหนือคู่แข่งของตน (ภาพจาก PUNCH,29 July 1893)
เซอร์ อี เคร ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงว่าการต่างประเทศจึงตอบว่า ในเวลานี้ราชาธิปไตยของสมเด็จพระนางเจ้ายังไม่สามารถจะแจ้งความ ให้ประชุมทราบด้วย เรื่องทัพไทยกับทัพฝรั่งเศศู้รบกันที่ลำแม่น้ำโขงถูกต้อง อนึ่งราชาธิปไตยของสมเด็จพระนางเจ้ายังไม่มีโอกาสขะขอเข้าช่วยพูดจาว่ากล่าวระงับข้อวิวาท ในระหว่างไทยกับฝรั่งเศศ แต่ก่อนเวลาที่ราชาธิปไตยของสมเด็จพระนางเจ้าจะยอมรับช่วยพูดจาว่าขานนั้น ต้องมีพยานให้เหนชัดว่าฝรั่งเศสและไทยทั้งสองฝ่าย ยอมเต็มใจจะให้ราชาธิปไตยของสมเด็จพระนางเจ้าช่วยพูดจาเปรียบเทียบให้ตกลงยอมกันแล้ว จึงจะรับช่วยได้ มิศเตอร์เคอซอน สมาชิก จึงถามว่า ข้อที่ฝรั่งเศศใหทัพเรือยกเข้าไปที่สันดอนปากอ่าวสยามนั้น จริงฤาไม่ ราชาธิปไตยของสมเด็จพระนางเจ้าจะยอมให้ฝรั่งเศศตั้งล้อมปิดท่าเมืองชายทะเลของไทยฤาไม่ และจะยอมให้ทัพเรือฝรั่งเศศยิงกรุงเทพฯ ฤาไม่ อนึ่งราชาธิปไตยของสมเด็จพระนางเจ้าไม่ดำริห์เหนเปนน่าที่จะต้องไต่สวน และร้องขัดขวางฝรั่งเศศไว้ฤา กองทัพเรืออังกฤศได้เข้าไปอยู่ในอ่าวสยามกี่ลำ และราชาธิปไตยของสมเด็จพระนางเจ้าได้สั่งการไว้อย่างไรบ้าง เพื่อที่จะต้องกันรักษาทรัพยสมบัติ และเรือค้าขายคนในบังคับอังกฤศที่กรุงเทพฯ
เซอร์ อี เดร จึงตอบว่า ราชาธิปไตยของสมเด็จพระนางเจ้าทราบว่า การที่ทัพเรือฝรั่งเศสยกเข้าไปตั้งอยู่ที่สันดอนปากอ่าวสยามนั้นหาจริงไม่ ราชทูตฝรั่งเศศได้แจ้งความ ต่อราชาธิปไตยสยามว่าได้สั่งให้ทัพเรือฝรั่งเศศ มาชุมนุมอยู่ที่เมืองไซง่อน ถ้ามีเหตุการขึ้นก็จะให้เข้ามายังกรุงเทพฯ อนึ่งราชาธิปไตยฝรั่งเศศแจ้งความ แก่ราชาธิปไตยของสมเด็จพระนางเจ้าว่า ถ้าจะให้ทัพเรือยกไปเมื่อใดแล้วก็คงจะบอกให้รู้ล่วงหน้าก่อน เวลานี้ยังไม่สมควรที่ราชาธิปไตยของสมเด็จพระนางเจ้าจะประกาศให้ทราบว่า ราชาธิปไตยของสมเด็จพระนางเจ้าจะคิดจัดการอย่างไร เมื่อเหตุคับขันเกิดขึ้น การที่จะคิดจัดนั้น ก็สุดแล้วแต่สรรพเหตุการต่างๆ ซึ่งยังไม่อาจจะแลเหนได้แต่การป้องกันรักษาชีวิตรและทรัพยสมบัติ ของคนในบังคับอังกฤศนั้น ก็ได้ให้เรือรบเข้าไปจอดอยู่ในกรุงเทพฯ ลำหนึ่งแล้ว และได้จัดแจงจะให้เข้าไปอีกลำหนึ่ง ถ้าเปนการจำเปนแล้ว ก็จะให้เข้าไปอีกลำหนึ่งโดยเร็วฯ
(คัดจากหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ออกเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ร.ศ. ๑๑๒)
หนังสือพิมพ์อังกฤศชื่อ เดลิแครฟิก ลงพิมพ์เรื่องไทยกับฝรั่งเศศกันในเวลานี้ พูดว่าพิเคราะห์ดูเหนว่า กรุงสยามก็เปนมิตรสหายของกรุงอังกฤศมาช้านานแล้ว อนึ่งเมื่องกรุงสยามเปนเมืองเอกราชอยู่ตราบใดแล้ว ก็เหมือนเปนนายประกันเขตแดนพม่าของอังกฤศไว้ มิให้ราชศัตรูล่วงเข้ามาย่ำยีได้ ก็เราชาวอังกฤศจะมานิ่งเฉยเสียให้ฝรั่งเศศข่มเหงกรุงสยามดังนี้ ดูมิบังควรเลย ถึงแม้ว่าเซอร์อี เคร ราชปลัดทูลฉลองกระทรวงว่าการต่างประเทศได้พูดว่า ไทยกับฝรั่งเศศยังไม่ได้มาขอให้อังกฤศช่วยพูดจาเปรียบเทียบ ข้อวิวาทให้ตกลงกันก็ดี ก็ไม่เหนว่าจะมีการเสียหายอันใดที่ราชาธิปไตยอังกฤศ จะออกความดำริห์เห็นต่อมองสิเออร์ เดเวลล์ เสนาบดีฝรั่งเศศผู้ว่าการต่างประเทศและมองสิเออร์แยกความินชาวเบลเจียมซึ่งเปนที่ปฤกษาราชการต่างประเทศของไทยให้ทราบบ้าง
(คัดจากหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ออกเมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม ร.ศ. ๑๑๒)
(หมายเหตุ)
๑. สมเด็จพระนางเจ้า หมายถึง ควีนวิกตอเรีย พระราชินีอังกฤษ
๒. อังกฤษไม่เห็นว่าจะเป็นหน้าที่หรือธุระกงการที่จะเข้ามาเป็นผู้เจรจาไกล่เกลี่ยคู่กรณีทั้งสอง
๓. อังกฤษยังไม่เห็นความจำเป็นที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะไม่ได้มีผลกระทบต่ออังกฤษโดยตรง ข้อพิพาทเป็นเรื่องภายในของสยาม
๔. อังกฤษอ้างแบบขอทีเช่นนี้ เพราะไม่อยากเข้าไปวุ่นวายขัดขวางฝรั่งเศสโดยไม่จำเป็น เพื่อรักษาดุลยภาพของตนในพม่าไว้ไม่ให้ต้องกระทบกระเทือนไปด้วย และตราบเท่าที่ฝรั่งเศสไม่ล่วงเกินเข้าไปในเขตแดนของอังกฤษ (พม่า)
สถานะของสหรัฐอเมริกา ในเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ ๓ ที่มีชื่อเสียงในหมู่ประชาคมโลก และเป็นชาติมหาอำนาจที่เริ่มจะเข้ามามีบทบาทในเขตเอเชีย-แปซิฟิก เช่น ญี่ปุ่น จีน และฟิลิปปินส์ ทำให้เป็นที่เกรงใจและครั่นคร้ามในหมู่ชาติมหาอำนาจเก่าจากยุโรป จึงเป็นที่หมายตาตั้งแต่แรกของรัฐบาลสยามที่จะดึงสหรัฐอเมริกาเข้ามาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับฝรั่งเศส ในฐานะผู้มีบารมีและเจนจัดด้านการทูตและกฎหมายระหว่างประเทศ
แต่สหรัฐอเมริกาก็มองเกมส์ของสยามออก และมีท่าทีเบี่ยงบ่ายไม่อยากเข้ามามีปัญหากับฝรั่งเศส (พันธมิตรเก่าของตนในอเมริกาที่เคยช่วยสหรัฐอเมริกาผลักดันอิทธิพลของอังกฤษออกไปในยุครวมชาติคนอเมริกัน)
หนังสือพิมพ์ธรรมศาสตร์วินิจฉัยสรุปบทบาทของสหรัฐอเมริกาที่ปฏิเสธจะรับ “เผือกร้อน” จากสยามอย่างไม่เต็มใจเลย
ภาพเรือรบฝรั่งเศสแล่นผ่านพระสมุทรเจดีย์ที่ปากน้ำในลักษณะข่มขู่ด้วยนโยบายเรือปืน
มากกว่าเจตนาที่จะบุกเข้ามาทำสงครามโดยตรงกับไทย (ภาพจาก Le Petit Parisien, 6 Aout 1893)
กรุงยุในเตตสะเตตออเมริกาและสยาม
ข่าวโทรเลขต่อไปนี้ได้ลงพิมพ์ปรากฏในหนังสือพิมพ์อเมริกันทั้งปวงซึ่งออกเมื่อวันที่ ๑๗ เดือนมิถุนายนก่อนหน้านี้ว่าด้วยกรุงสยามขอเชิญให้กรุงยุในเตตสะเตต ช่วยพูดจาว่ากล่าวด้วยกรุงฝรั่งเศศในเรื่องวิวาทบาดหมางกัน
กรุงวอชิงตัน วันที่ ๑๗ เดือนมิถุนายน ราชาธิปไตยสยาม ได้ขอให้กรุงยุในเตตสะเตตช่วยพูดจาว่าขานกับฝรั่งเศศ อย่าให้ฝรั่งเศศบุกรุกเข้ามาในอาณาเขตรไทยตลอดริมฝั่งซ้ายแห่งแม่น้ำโขง แต่กรุงยุในเตตสะเตตไม่เต็มใจรับที่จะช่วยพูดในการวิวาทเรื่องนี้ อนึ่งผู้แทนทูตและกงสุลอเมริกันในกรุงเทพฯ ได้บอกไปยังเสนาบดีในกรุงยุไนเตตสะเต ว่าผู้แทนทูตและกงสุลอเมริกันวิเคราะห์ดูเหนควรที่กรุงยุไนเตตสะเตต จะให้เรือรบเข้ามาในกรุงสยาม เพื่อจะได้ป้องกันผลประโยชน์อเมริกันและชีวิตของชาวอเมริกัน ซึ่งเปนอาจารย์สอนสาสนาอยู่ในกรุงสยาม แต่กรมทหารเรือไม่มีเรือจะให้เข้ามา มิศเทอร์เครสแฮม เสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศเห็นว่า คนทั้งหลายมีความหวาดสดุ้งกลัวไภยอันตรายมากเกินไป ชีวิตร์และทรัพยสมบัติของชาวอเมริกันคงจะไม่เปนอันตราย
มูลวิวาทในระหว่างไทยกับฝรั่งเศศ ซึ่งเปนเหตุต้องร้องอุทรณ์มายังยุในเตตสะเตต ให้ช่วยพิพากษานั้นค้างกันมาหลายเดือนแล้ว แต่หนังสือราชการซึ่งมีโต้ตอบกันไปมา ในระหว่างกระทรวงว่าการต่างประเทศ ในกรุงยุไนเตตสะเตตและที่ว่าการทูตอเมริกันที่กรุงเทพฯ นั้นยังปิดบังอยู่มิได้เปิดเผยให้ทราบทั่วไป และข้อความละเอียดจึ่งมิได้ปรากฏแก่ชนทั้งปวง พระสุริยานุวัฒข้าหลวงพิเศศซึ่งมาจากกรุงสยามนั้น ได่มาอยู่ในประเทศนี้หลายอาทิตย์มาแล้ว และได้มาพูดสนทนาด้วยมิศเตอร์แครสแฮมเสนาบดีว่าการต่างประเทศหลายครั้งแล้ว แต่ท่านจำเปนต้องบอกไปยังราชาธิปไตยสยามว่ากรุงยุไนเตตสะเตตไม่ยอมช่วยว่ากล่าววุ่นวายในการเรื่องนี้
ช้านานประมาณหลายปีล่วงมาแล้ว ฝรั่งเศศได้ร้องจะเอาดินแดน ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง แต่ไทยได้โต้ทานโดยสามารถต่อคำร้องอันนี้ และไทยไม่ยอมรับว่าฝรั่งเศศอำนาจอันชอบธรรม จะร้องว่าเปนเจ้าของดินแดน ซึ่งตั้งอยู่ภายในพระราชอาณาเขตสยามเลย อย่างไรก็ดีเมื่อเรวๆ นี้ ฝรั่งเศศได้ประชุมเรือรบแสดงอำนาจทัพเรือ ซึ่งกระทำให้คนราชการของราชาธิปไตยสยามหวาดสะดุ้งตกใจ อนึ่งในต้นเดือนมีนาคมก่อนหน้านี้พระสุริยานุวัฒถึงกรุงวอชิงตอน แล้วได้มาสนทนาด้วย มิศเตอร์แรสแฮม เสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศ พระสุริยานุวัฒได้รับที่ตั้งเปนข้าหลวงมาตั้งสิ่งของต่างๆ ในโรงแสดงพิพิธภัณฑ์เวิลด์แฟร์ และได้รับตำแหน่งราชทูต มาเจรจาด้วยข้อราชการเรื่องฝรั่งเศศด้วย ราชาธิปไตยสยามได้เลือกเอากรุงยุไนเตตสะเตตเพื่อจะให้เปนอนุญาโตตุลาการนั้น เพราะเหตุว่าครั้นจะเชิญให้ประเทศใดประเทศหนึ่ง ในทวีปยุโหรปช่วยพิพากษาเปนกลางเล่า ก็ไม่ใคร่จะสู้มีความไว้วางใจ และเกรงว่ากรุงสยามจะเสียเปรียบ ด้วยเหนว่าประเทศทั้งหลายในทวีปยุโหรปมีความอิจฉากันมาก ก็ทำให้การพิพากษาตัดสินมูลวิวาทชักช้าและเอนเอียงไป มิศเตอร์แครสแฮม เสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศ จึ่งได้ตรวจดูพงษาวดารแห่งมูลวิวาทตั้งแต่ต้นมาจนปลายโดยละเอียดแล้ว จึ่งได้ดำริห์ดูเหนว่าการวิวาทเรื่องนี้ หาใช่กิจที่กรุงยุไนเตตสะเตตจะเข้ามาวุ่นวายเกี่ยวข้องด้วยไม่
อีกประการหนึ่งเล่าราชาธิปไตยฝรั่งเศศ ก็มิได้แสดงความประสงคยินยอมให้กรุงยุไนเตตสะเตตเข้ามาช่วยว่ากล่าว และเพื่อจะหลีกเลี่ยงมิให้เปนที่สงไสยสนเทห์ในทางราชการได้เสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศ จึ่งได้แจ้งความแก่พระสุริยานุวัฒว่า กรุงยุไนเตตสะเตต จะไม่เข้ามาวุ่นวายเกี่ยวข้องในการวิวาทเรื่องนี้ ฝ่ายพระสุริยานุวัฒทราบดังนั้นแล้ว ก็มีความเสียใจจึงรีบไปจัดตั้งสิ่งของต่างๆ ในโรงแสดงพิพิธภัณฑ์เวิลด์แฟร์ที่เมืองชิคาโคอยู่หลายวัน แล้วท่านกลับมากรุงวอชิงตอนอีก และได้สนทนาด้วยคนราชการทั้งหลายๆ ก็มีความเหนเหมือนดังเสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศ เมื่อการเปนดังนี้กรุงสยามก็จำเปนจะต้องเชิญประเทศอื่นมาช่วยว่ากล่าวต่อไป
อนึ่งกรมทหารเรือไม่สามารถจะให้เรือรบเข้ามากรุงสยามได้ เพราะเหตุว่ามีเรือรบอเมริกันอยู่สองลำชื่อ อาเลิต ลำหนึ่ง โมโนเคซี ลำหนึ่ง ซึ่งได้แล่นท่องเที่ยวอยู่ในทะเลฝ่ายทิศตะวันออก และเรือสองลำนี้ ก็ได้ให้มาแล่นลาดตระเวนอยู่ในแม่น้ำแยงซีเกียง
(คัดจากหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ออกเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม ร.ศ. ๑๑๒)
แผนที่อินโดจีนของฝรั่งเศสที่รวบรวมได้เป็นปึกแผ่นภายหลังกรณี ร.ศ. ๑๑๒
มีภาพลักษณ์สำคัญทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ต่างๆ เป็นสัญลักษณ์ให้เห็น
(หมายเหตุ)
๑. ไทยติดต่อขอพึ่งสหรัฐอเมริกา เพราะเห็นว่าเป็นชาติมหาอำนาจนอกประชาคมยุโรป น่าจะเป็นคนกลางที่มีประสิทธิภาพและปราศจากข้อผูกมัดใดๆ กับกลุ่มประชาคมยุโรป
๒. แต่สหรัฐอเมริกาก็บ่ายเบี่ยงที่จะร่วมวงด้วยเพราะไม่มีความเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทครั้งนี้
๓. ไทยนึกไปว่าสหรัฐอเมริกาน่าจะเป็น “อนุญาโตตุลาการ” หรือศาลการเมืองระหว่างประเทศได้ เพราะเป็นประเทศที่ ๓ ที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
๔. ร.ศ. ๑๑๒ (ค.ศ. ๑๘๙๓) เป็นปีที่สยามถูกสหรัฐอเมริกาเชิญให้ร่วมและจัดแสดงในงานมหกรรมโลก (Expo) ที่เมืองชิคาโก ไทยจึงเหมาเอาว่าสหรัฐอเมริกากำลังสนใจและจะสนับสนุนไทยในทุกเรื่อง
๕. ประสบการณ์ของพระสุริยานุวัฒ ราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกา ผลักดันให้ท่านได้รับแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตสยามประจำกรุงปารีสภายหลัง ร.ศ. ๑๑๒ เพื่อดำเนินการแก้ไขความเสียเปรียบในสัญญาสงบศึกกับฝรั่งเศสโดยได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาสุริยานุวัตร” ในเวลาต่อมา
การที่ทั้งอังกฤษและสหรัฐอเมริกาได้รับการทาบทามจากรัฐบาลสยามให้แทรกแซงกรณีพิพาทของสยามกับฝรั่งเศส ทำให้ทั้ง ๒ ประเทศเริ่มตื่นตัวในปัญหาของสยามและเข้าใจต้นเหตุของปัญหาในเชิงลึกมากกว่าชาติใดๆ แม้แต่กับฝรั่งเศสต้นเหตุของปัญหา ก็ยังไม่พร้อมที่จะถอดหน้ากากตัวเองให้โลกรับรู้
หลักฐานของนักล่าอาณานิคม : ดินแดนภายในอินโดจีนที่ฝรั่งเศสผนวกได้ไปประกอบด้วย ๓ ประเทศหลัก
คือ ญวน เขมร และลาว ระบุศักราชตามปีที่ได้ครอบครอง ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงได้ไปเมื่อ October 1893
หรือ ร.ศ. ๑๑๒ ตามลูกศรชี้ (ภาพจากนิตยสาร GEOHISTOIRE)
สื่อของประเทศที่ ๓
ถอดรหัสนโยบายภายในของฝรั่งเศส
ในระยะ ๒-๓ เดือนภายหลังเหตุการณ์ปะทะกันที่ปากน้ำเจ้าพระยา สื่อมวลชนนานาชาติก็ยังตีแผ่แง่มุมต่างๆ ของกรณีนี้อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะ “ประเทศที่ ๓” อย่างสหรัฐอเมริกา ซึ่งไม่มีส่วนได้ส่วนเสียใดๆ จากเหตุการณ์นี้ ดูจะมีอิสระเป็นพิเศษในการวิพากวิจารณ์ผลได้ผลเสียที่คู่กรณีได้รับ พลอยทำให้นักสังเกตการณ์ผู้กระหายข้อมูลเบื้องต้นหลังการคุกคามของฝรั่งเศสต่อสยามติดตามข่าวสารต่างๆ ด้วยความสนใจอย่างยิ่ง
ดูเหมือนว่าเมื่อเรือรบฝรั่งเศส ๒ ลำ (แองคองสตังและโคเมท) ได้ผ่านแนวป้องกันของไทยเข้ามาแล้วตอนเย็นวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ร.ศ. ๑๑๒ แนบรบต่างๆ ก็เข้าสู่สภาวะสุญญากาศ คือปลอดการสู้รบในทันทีทันใด เนื่องจากฝรั่งเศสได้บรรลุเป้าหมายของตนแล้ว เป้าหมายนั้นคืออะไร?
ภาพหน้าปกนิตยสาร GEOHISTOIRE ฉบับพิเศษรำลึก ๑ ศตวรรษ
ของการครอบครองอินโดจีนเป็นผลสำเร็จในฉบับเดือน Avril-Mai 2014
สื่อมวลชนที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาชื่อวารสาร The Literary Digest เป็นสื่อสิ่งพิมพ์ประเภท hard core ที่มักจะเสนอข่าวการเมืองแบบเจาะลึกทุกมิติ เป็นที่ยอมรับของคนอเมริกันและนักอ่านทั่วทุกมุมโลก โดยในฉบับวันที่ ๒๓ กันยายน ๑๘๙๓ ได้เปิดโปงมุมมองอันซ่อนเร้นของรัฐบาลอังกฤษและฝรั่งเศสที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน ความว่า
ในมุมของอังกฤษ
(An English View)
(ตามทัศนะของ ฯพณฯ Mr.George N.Curzon อดีตรองข้าหลวงใหญ่ประจำอินเดีย 23 September 1893)
“ข้าพเจ้าเดินทางออกมาจากบางกอกเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ภายหลังการเดินทางไปเก็บข้อมูลทั่วคาบสมุทรอินโดจีน และสามารถพูดได้ว่าอุณหภูมิทางการเมืองพื้นที่นั้นเร่าร้อนเป็นอย่างมากหลังจากเก็บสะสมมานาน อีกไม่นานมันคงจะระเบิดออกมา!
ประวัติข้อพิพาทระหว่างสยามกับฝรั่งเศสเป็นมหากาพย์อันยืดยาว และเป็นฉากหน้าใหม่ของการรุกรานโดยฝรั่งเศส หลังจากที่อำนาจของพวกเขาพังพินาศลงภายในทวีปยุโรป (พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ถูกโค่นล้มหลังสงครามฟรังโก-ปรัสเซีย ค.ศ. ๑๘๗๐-๗๑) ฝรั่งเศสก็เดินหน้าสร้างฐานอำนาจนอกทวีปยุโรปโดยใช้คาบสมุทรอินโดจีนเป็นฐานปฏิบัติการ เที่ยวนี้ยังพบว่าไม่ต้องลงทุนลงแรงมากมายนัก และกำลังพลก็ใช้น้อยลงด้วย (รัฐบาลฝรั่งเศสเกณฑ์ชาวญวนพื้นเมืองเข้ามาใช้เป็นทหารในกองทัพ) จากนั้นก็เริ่มระรานเพื่อบ้านโดยรอบเริ่มต้นด้วยจีน ต่อมาก็ทำให้สยามยอมจำนนต้องเสียค่าปฏิกรรมสงครามไป ๑๒๐,๐๐๐ ปอนด์ บวกกับถูกบีบให้สละดินแดนไปกว่า ๗๐,๐๐๐ ตารางไมล์
ข้าพเจ้าไม่อาจตัดสินความชอบธรรมครั้งนี้ได้ (วิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒) ทั้งนี้เพราะศีลธรรมมักจะหาไม่ค่อยได้ในทางการเมือง
ไหนๆ ก็มาถึงขั้นนี้แล้ว ข้าพเจ้าขอเปรียบเทียบชัยชนะของฝรั่งเศสในอินโดจีนกับการผนวกเมืองพม่าของอังกฤษ เมื่อ ค.ศ. ๑๘๘๕ ในปีนั้นพวกฝรั่งเศสต่างอัดอั้นใจที่จะอ้างว่าความพินาศของพม่าเป็นฝีมือของเราทั้งสิ้น แต่การล่มสลายของราชสำนักสยามในอีกนัยหนึ่งก็คืออังกฤษดูจะมีความชอบธรรมมากกว่าเกี่ยวกับพม่าทั้งเหตุผลทางการเมือง เศรษฐกิจและความสงบของบ้านเมืองในขณะที่ฝรั่งเศสแก้ตัวไม่ได้เลยต่อการกระทำของตนในสยาม
คงไม่เกินเลยไปที่จะกล่าวว่าอุปสงค์หลักของฝรั่งเศสในครั้งนี้ก็เพื่อจะผลักดันเส้นทางการค้าใหม่จากไซ่ง่อนให้ล้ำหน้ากรุงเทพฯ และปกป้องผลประโยชน์ทั้งหมดของลุ่มน้ำโขงไว้แต่เพียงผู้เดียว ทั้งนี้ก็เพื่อตัดหน้าอังกฤษจากเป้าหมายอันมีค่ายิ่งกว่าในมณฑลยูนนาน (ภาคใต้ของจีน)
แต่ข้าพเจ้าก็จำเป็นต้องทำนายต่อไปอีกว่าฝรั่งเศสอาจจะไม่สมหวังมากนัก เพราะมันเป็นที่รับรู้กันในระยะหลังแล้วว่าเส้นทางสู่ยูนนานผ่านทางลำน้ำโขงไม่สะดวกหรือเป็นไปได้เลยต่อการเดินเรือที่คาดกันแต่แรก (หมายความว่า มโนภาพที่วาดไว้จะเข้าภาษิตที่ว่าขี่ช้างจับตั๊กแตนมากกว่า)
ทว่าอังกฤษก็ยังจำเป็นต้องวางท่าทีเฉยเมยต่อไปและจำใจดูฝรั่งเศสเฉือนดินแดนแถบนี้ออกเป็นชิ้นๆ ตราบใดที่เขตแดนของเรา (คือพม่าและรัฐฉานอิสระ) ยังไม่ถูกเบียดเบียนหรือกระทบกระเทือนจากการคุกคามนี้ สถานะของเราก็คือปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าในอาณานิคมที่เราปกครองอยู่ เราไม่จำเป็นต้องตีตนไปก่อนไข้ตราบเท่าที่พวกฝรั่งเศสไม่เข้ามาก้าวก่ายดินแดนในอาณัติของเราซึ่งๆ หน้า
วิกฤติการณ์ในสยามเป็นเครื่องเตือนใจให้เราตระหนักถึงความเปราะบางด้านความมั่นคงในภูมิภาคนี้หากมหาอำนาจชาติใดยังไม่ยุติความโลภโมโทสันแล้วความวิบัติก็อาจจะเกิดขึ้นได้อีก และอาจผลักดันให้เราต้องเผชิญหน้ากันแทนที่จะรักษาน้ำใจของกันและกันเหมือนที่เราเคยมีต่อกันไว้ต่อไป”
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ : การ์ดที่ระลึกของสหภาพอินโดจีน
เมื่อฝรั่งเศสรวบรวมญวน-เขมร-ลาวได้เป็นปึกแผ่น ระบุปีที่ผนวกดินแดนได้
ในมุมมองของฝรั่งเศส
(A French View)
“เมื่อใดก็ตามที่ฝรั่งเศสประสบความยุ่งยาก อังกฤษก็มักจะข่มทับ ปรักปรำไม่ก็เหยียบย่ำเราให้จมลง อังกฤษเป็นผู้ตั้งกฎกติกาทุกอย่างขึ้นมาเอง โดยไม่แยแสว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่ กฎนี้ที่จริงคือการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด
เมื่อฝรั่งเศสและอังกฤษต่อสู้กันเพื่อครอบครองอินเดีย พวกเขาก็ปักธงไว้ล่วงหน้าแล้ว ธงหนึ่งที่ลุ่มน้ำโขง อีกธงหนึ่งอยู่ที่ลุ่มน้ำอิรวดี กฎข้อหนึ่งของผู้กระทำก็คือการเดินหน้าอยู่เสมอ หรือไม่เช่นนั้นก็สลายตัวไปปัญหาของคาบสมุทรอินโดจีนก็คือเป้าหมายของผู้ที่คิดจะเดินหน้าต่อไป
การครอบครองฝั่งขวาของแม่น้ำโขงโดยอังกฤษ (ได้แก่รัฐฉานอิสระทางภาคเหนือของพม่า) เป็นความละเลยของเราในอดีต ดังนั้นเพื่อเสมอกันมันจึงมิได้เกินความคาดหมายที่เราจำเป็นต้องช่วงชิงฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงมาเป็นของเราบ้าง
อังกฤษนั่นแหละที่คอยทำตัวเจ้ากี้เจ้าการกับทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการขยายดินแดน และมักจะถือเอกสิทธิ์ทำสิ่งใดๆ คนเดียว นั่นเป็นตัวอย่างเพียงพอแล้วที่อังกฤษจะถูกประณามไม่น้อยไปกว่าเรา การเข้ายึดครองลาวตอนเหนือซึ่งกินเนื้อที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เป็นการคืนความชอบธรรมเหนือดินแดนในอาณัติของเรา (คือตังเกี๋ย) ที่สมเหตุสมผลและอธิบายได้
บางคนพูดว่า ถ้าหากเราแข่งกับอังกฤษก็เท่ากับผลักดันให้อังกฤษเข้าไปรวมกลุ่มกับ “ไตรภาคีพันธมิตร” (หรือ Triple Alliance-ประกอบด้วย เยอรมนี-ออสเตรีย-อิตาลี) เร็วขึ้นเท่านั้น ในทางกลับกัน การวางก้ามของอังกฤษก็มีส่วนผลักดันให้เรารวมกลุ่มกับรัสเซีย (Dual Alliance/พันธมิตรทวิภาคี) เร็วขึ้น
วิกฤติการณ์ในสยาม (คือ ร.ศ. ๑๑๒) นั้น เป็นการสร้างบรรทัดฐานการกำหนดขอบเขตดินแดนให้เป็นสัดส่วนตามสิทธิประโยชน์และความถูกต้องที่เราพึงมี”
ประเทศที่ ๓ ลงความเห็นว่า “กรณี ร.ศ. ๑๑๒” เป็นการแข่งขันทางจักรวรรดินิยมระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสโดยตรง มิได้มีเป้าหมายจะทำสงครามเพื่อยึดครองเมืองไทยเลย อังกฤษนั้นลงหลักปักฐานอยู่ที่อินเดีย-พม่า-มลายูแล้ว ฝรั่งเศสก็ต้องการจะวางรากฐานอาณานิคมในญวน-เขมร-ลาว ให้เป็นปึกแผ่นบ้าง ทั้งนี้โดยการกันสยามไว้เป็นรัฐกันชนมิให้ ๒ มหาอำนาจต้องเผชิญหน้ากันต่างหาก
ภาพเทพีแห่งฝรั่งเศสประคองเด็กทารกทั้งสองไว้ในอ้อมกอด แสดงความเอ็นดูและ
ห่วงใยในของรักของหวงของเธอมีเด็กญวนจากตังเกี๋ย (ซ้าย) และเด็กขี้แยจากโมร็อกโก (ขวา)
ซึ่งล้วนเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสหวงแหนทั้งสิ้น (ภาพจากนิตยสาร LE RUY BLAS,1886)
เทพีแห่งฝรั่งเศสกำลังดุเด็กดื้อจากสยาม (ขวา) และโมร็อกโก (ซ้าย)
ท่ามกลางสายตาเป็นกังวลของผู้นำยุโรปทางด้านหลัง (ภาพจาก PUNCH, 23 June 1893)
การตีความใหม่กรณี ร.ศ. ๑๑๒
ยุทธวิธีของฝรั่งเศสในการเข้าครอบครองฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง คือการหาเหตุวิวาทกับสยามเรื่องพื้นที่ทับซ้อนเหนือดินแดนล้านช้าง ซึ่งทั้งไทยและญวนต่างก็อ้างกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าประเทศราชเหนือดินแดนนั้น ทั้งที่ไม่มีหลักฐานมาอ้างกรรมสิทธิ์ได้
ข้างฝ่ายฝรั่งเศสก็มีนโยบายขั้นบันไดที่จะต้องรีบเผด็จศึกโดยเร็ว ก่อนที่สยามจะดึงชาติมหาอำนาจอื่นๆ เข้ามาเป็นมือที่ ๓ ขัดขวางแผนการรวมชาติของฝรั่งเศส
นโยบายขั้นบันไดของฝรั่งเศส ได้แก่
แผนขั้นแรก : เพื่อก่อตั้งสหภาพอินโดจีน
ภายหลังฝรั่งเศสเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไปเป็นระบอบสาธารณรัฐโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ในปี ค.ศ. ๑๘๗๒ แล้ว รัฐบาลระบอบใหม่ยิ่งต้องโหมนโยบายจักรวรรดินิยมให้หนักขึ้น ทั้งนี้เพราะต้องพ่ายแพ้สงครามอย่างยับเยินกับเยอรมนี (France-Prussian War 1870-71) ผลของสงครามทำให้ฝรั่งเศสยากจนลง เพราะต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาล และต้องเสียเกียรติภูมิของการเป็นผู้นำยุโรป แล้วยังต้องยกแคว้นอัลซาซและลอร์เรน (Alsace & Lorraine) ให้เยอรมนีอย่างน่าอับอาย
การที่จะเรียกชื่อเสียง เกียรติภูมิ และฐานะกลับคืนมาไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่อาจสร้างขึ้นใหม่ทันทีทันใดในทวีปยุโรปที่ตนเพิ่งแพ้สงครามและสูญสิ้นจนหมดตัวเช่นนี้ แต่อาจจะทำได้ง่ายกว่าโดยแสวงหาอาณานิคมนอกทวีปยุโรปที่อ่อนแอกว่าและมีทางเอาชนะได้ง่ายกว่า ซึ่งหมายถึงการมีเมืองขึ้นให้มากและการสะสมความมั่งคั่งร่ำรวยในต่างแดน และนี่คือเหตุปัจจัยที่ผลักดันให้รัฐบาลสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ ๓ (ค.ศ. ๑๘๗๑-๑๙๔๐) เดินทางออกล่าอาณานิคมอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมมากยิ่งกว่าสมัยพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ เสียอีก
รูปทหารพื้นเมืองชาวญวนในกองทัพฝรั่งเศส ถูกเกณฑ์มาใช้งานใน ร.ศ. ๑๑๒
ม.ปาวี (คนที่ ๒ จากซ้าย) และเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (นั่งกลาง)
ที่เมืองหลวงพระบาง ม.ปาวีกระซิบบอกว่าไม่ใช่จะรบ ไปทูลในหลวงเถิด
ดังนั้น ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๘๑ เป็นต้นมา ฝรั่งเศสก็เริ่มแสวงหาเมืองขึ้นในทวีปแอฟริกาตอนเหนือ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้พรมแดนฝรั่งเศสที่สุด และสามารถครอบครองประเทศต่างๆ มาเป็นเมืองขึ้นของตนรวมถึง แอลจีเรีย ตูนิเซีย มอริเตเนีย เซเนกัล กินี มาลี ไอวอรี่โคสต์ เบนิน ไนเจอร์ชาด สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก เฟรนช์โซมาลีแลนด์ โตโก แคเมอรูน โมซัมบิก และมาดากัสการ์ ทั้งยังได้ผนวกหมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก ได้แก่ เฮติ คิวบา กวาเดอลูป มาร์ตินีก เซนต์ลูเซีย เซนต์ดอมินิก นิวแคลิโดเนีย เฟรนช์โปลินีเซีย และควิเบก (ในแคนาดา)
ในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เรื่อยมา กิตติศัพท์ของมณฑลยูนนานทางตอนใต้ของจีนเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวตะวันตกว่าเป็นแหล่งทรัพยากรขนาดใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตรขนาดมหึมา มีความอุดมสมบูรณ์เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำโขง เป็นแหล่งรวมของแร่ธาตุนานาชนิด ทั้งยังเป็นตลาดการค้าขนาดใหญ่ หากพัฒนาให้เป็นเขตอุตสาหกรรมได้ก็จะตอบสนองการเป็นอาณานิคมขนาดใหญ่ที่มีคุณภาพไม่น้อยหน้าอินเดีย พม่า หรือแม้กระทั่งคาบสมุทรอินโดจีน
ฝรั่งเศสเล็งเห็นช่องทางที่จะเจาะเข้าสู่มณฑลยูนนานโดยใช้ลำน้ำโขงเป็นเส้นทางลัดเข้าสู่จีนตอนใต้ทางประตูหลังของจีน วิธีเดียวที่จะทำเช่นนั้นได้ก็คือ ต้องผนวกคาบสมุทรอินโดจีนเป็นฐานปฏิบัติการเสียก่อน และนี่คือเหตุผลหลักที่ฝรั่งเศสหาทางเข้ายึดครองเวียดนาม (ต่อไปจะเรียกสั้นๆว่า ญวน) เป็นอันดับแรก ที่ตั้งของญวนนั้นเหมาะต่อการใช้เป็นฐานที่มั่นทางการทหารและชุมทางเศรษฐกิจ มีเมืองท่าขนาดใหญ่เรียงรายอยู่ตามชายฝั่งอันยาวเหยียดติดกับทะเล และยังเข้าถึงจีนได้ทั้งทางบกและทางทะเล ปัญหามีอยู่ว่าญวนเป็นรัฐบรรณาการของจีนมาก่อน ทำให้ฝรั่งเศสต้องเผชิญหน้ากับยักษ์ใหญ่อย่างจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าจะสร้างจักรวรรดิใหม่บนคาบสมุทรอินโดจีน
แรกเริ่มเดิมทีฝรั่งเศสคาดว่าน่าจะใช้เส้นทางแม่น้ำโขงลัดเข้าจีนทางเมืองลาวล้านช้างได้ จึงส่งนายทหารนักสำรวจชื่อ ฟรานซิส การ์นิเอร์ (Francis Garnier) ล่องเรือย้อนศรจากไซง่อน ผ่านเขมร เข้าสู่ลาว จนถึงมณฑลยูนนานในจีน ในปี ค.ศ. ๑๗๖๖ ใช้เวลาสำรวจทั้งสิ้น ๒ ปี กับอีก ๒๔ วัน เป็นระยะทางรวม ๙,๙๖๐ กิโลเมตร
ผลการสำรวจ พิสูจน์ว่าแม่น้ำโขงไม่เหมาะที่จะเป็นเส้นทางหลักได้ เพราะมีเกาะแก่งมากมายเกินกว่าที่เรือขนาดใหญ่จะแล่นผ่านได้สะดวก ทั้งในช่วงหน้าแล้งก็จะแห่งขอดจนคนสามารถเดินข้ามไปยังอีกฝั่งได้โดยไม่ต้องใช้เรือ เป็นเหตุให้รัฐบาลฝรั่งเศสต้องคิดหาหนทางใหม่เข้าจีนผ่านแม่น้ำแดงทางภาคเหนือของญวน
อนุสาวรีย์ ม.ปาวีที่เวียงจันทน์ ภายหลัง ร.ศ. ๑๑๒
ได้รับการยกย่องจากรัฐบาลฝรั่งเศสว่าเป็นรัฐบุรุษที่น่ายกย่อง
ม.ปาวีตัวจริงดูกันชัดๆ (มีเคราถือหมวก) กับขุนนางชาวสยามสมัย ร.ศ. ๑๑๒
ความพยายามครั้งใหม่สร้างความไม่พอใจให้แก่รัฐบาลจีน ราชวงศ์ชิงถือว่าเป็นรัฐบรรณาการของจีนโดยชอบธรรม จึงส่งกองทัพไปที่ชายแดนเพื่อหยุดยั้งความพยายามของพวกฝรั่งเศส ก่อให้เกิดสงครามตังเกี๋ย (SinoFrench War) ขึ้น ระหว่างปี ค.ศ. ๑๘๘๔-๘๕
สงครามตังเกี๋ยจบลงที่ทั้ง ๒ ฝ่ายเลิกรากันไปเอง โดยมีการลงนามสงบศึกกันในวันที่ ๙ มิถุนายน ๑๘๘๕ ข้อตกลงที่สำคัญที่สุด คือ รัฐบาลจีนยอมรับอำนาจของฝรั่งเศสเหนือญวน จึงทำให้ดูเหมือนว่าฝ่ายฝรั่งเศสจะมีชัยชนะในสงครามนี้
แต่ที่เป็นความพายแพ้อย่างชัดเจนของฝรั่งเศสก็คือ การที่นายกรัฐมนตรีคนดังของฝรั่งเศส ชื่อ นายจูลส์ แฟร์รี่ (Jules Ferry) ผู้เป็นหัวหอกในการขับเคลื่อนนโยบายขยายอาณานิคมต้องหลุดออกจากตำแหน่ง เพราะการโหวตในรัฐสภาไม่เห็นชอบให้เขาทำสงครามกับจีนต่อไปภายหลังความสูญเสียอย่างมากมาย
“สนธิสัญญาเทียนสิน” ระหว่างจีนกับฝรั่งเศสจากสัญญาสงบศึกสงครามตังเกี๋ย ระบุว่าจีนยอมรับอำนาจของฝรั่งเศสเหนือญวน ยอมรับความพ่ายแพ้ต่อจักรวรรดินิยมฝรั่งเศส และยอมสวามิภักดิ์เป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส รวมถึงดินแดนตังเกี๋ย เว้ตอนกลาง และไซ่ง่อนตอนใต้ (ในเอกสารต่างประเทศตอนเหนือของญวนเรียก Tonkin ตอนกลางเรียก Annam และตอนใต้เรียก Cochinchina)
ในปี ค.ศ. ๑๘๘๗ ฝรั่งเศสก็สามารถเข้าครอบครองคาบสมุทรอินโดจีนทั้งหมด และได้จัดตั้ง “สหภาพอินโดจีน” ขึ้นอย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย ตังเกี๋ย อันนัม โคชินไชน่า และเขมรส่วนนอก จนกระทั่งปี ค.ศ. ๑๘๙๓ (ร.ศ. ๑๑๒) จึงได้ผนวกลาวเพิ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพอินโดจีน โดยได้ตั้งไซ่ง่อนให้เป็นศูนย์กลางของอาณานิคมแห่งใหม่ และแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแห่งอินโดจีนขึ้น เรียกว่า Governor General of Indochina ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๙๐๒ รัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้ย้ายศูนย์กลางการปกครองจากไซ่ง่อนมาตั้งที่เมืองฮานอยแทน
การรวบรวมจักรวรรดิใหม่ในคาบสมุทรอินโดจีนมีความหมายทางกายภาพ เพราะนอกจากจำเป็นต้องมีประสิทธิภาพในการปกครองพื้นที่อันกว้างใหญ่ครอบคลุมถึง ๓ อาณาจักร (คือ ญวน-เขมร-ลาว) แล้ว ยังอำนวยประโยชน์เป็นฐานปฏิบัติการสำหรับเอเชียทั้งทวีป และเพื่อเป็นบันไดเชื่อมต่อไปยังดินแดนรอบข้างที่ยังรกร้างว่างเปล่า โอกาสที่เจ้าผู้ครองรัฐบริวารโดยรอบจะเข้ามาขอสวามิภักดิ์หรืออ่อนน้อมถ่อมตนก็มากขึ้น แล้วยังช่วยให้ภารกิจของรัฐบาลกลางที่ปารีสซึ่งอยู่ห่างไกลลดน้อยลง เมื่อจักรวรรดิใหม่สามารถดูแลตัวเองได้
กรณี ร.ศ. ๑๑๒ เกิดจากการที่สยามขัดขวางการรวมสหภาพอินโดจีนของฝรั่งเศสมิให้เกิดขึ้น โดยอ้างว่าเขมรและลาวเป็นเมืองขึ้นของสยาม ฝรั่งเศสจะล่วงละเมิดมิได้ แต่สหภาพอินโดจีนในนิยามของฝรั่งเศสต้องมีเขมรและลาวรวมอยู่ด้วย จึงจะสมบูรณ์ การแย่งชิงฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไปเป็นกรรมสิทธิ์ จึงมีความสำคัญต่อการรวมจักรวรรดิใหม่อย่างยิ่ง
แผนขั้นที่ ๒ : ทำลายฐานอำนาจเดิม คือสยาม
การเข้ามาของจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสสู่สยามประเทศสามารถวิเคราะห์ด้วยเหตุผลแวดล้อมราบด้านได้ชัดเจนว่ามิได้เป็นการเดิมพันเข้ามาประชิดเมืองเพื่อสู้รบกันจริงจังดังเช่นการศึกสงครามทั่วไป ด้วยเหตุว่าไม่มีการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการ แต่เป็นการคุกคามแบบกองโจร โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันกองกำลังฝ่ายสยามให้ออกจากพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งก็คือฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่ฝรั่งเศสอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอินโดจีนมาแต่เดิม
“จุดอ่อน” ของสยามในมุมมองทางโบราณคดีกับลัทธิจักรวรรดินิยม คือการไม่สามารถหาหลักฐานมาชี้แจงได้ว่าเมืองขึ้นเก่าของสยามบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงนั้นเคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยามจริงหรือไม่ เพราะสยามมีหลักฐานแต่เพียงว่าได้ครอบครองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงเป็นเมืองขึ้นมาได้ประมาณ ๑๓๐ ปีก่อนหน้าเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เท่านั้นเอง
ด้วยเหตุฉะนี้ฝรั่งเศสจึงตีความว่าฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงก็เคยเป็นเมืองขึ้นเก่าของญวนเช่นกัน และไม่ใช่ของสยามโดยนิตินัย วิธีหนึ่งที่จะตัดทอนอำนาจของสยามออกไปจากอินโดจีนก็คือ หากทำลายหลักฐานอำนาจเก่าลงได้ การรวมสหภาพอินโดจีนก็จะทำให้สะดวกขึ้น
แต่สำหรับชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ ๕ แล้วไม่ได้คิดแบบฝรั่งเศสเลย และภาคอีสานก็มิได้แบ่งแยกจากลาวล้านช้างเป็นฝั่งขวาฝั่งซ้าย แต่เป็นแผ่นดินเดียวกัน ทั้งด้านเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม หัวเมืองทั้งหมดต่างขึ้นอยู่กับรัฐบาลเดียวกันคือรัฐบาลที่กรุงเพทฯ สยามปกครองลาวแบบประเทศราช คือกิจการภายในรัฐบาลสยามไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปกครอง การตั้งข้าราชการ การศาล และภาษีอากร หัวเมืองลาวฝั่งซ้ายจึงดูแลปกครองกันเอง และนี่จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ฝรั่งเศสเข้ามาแทรกแซงได้ง่าย แต่การแบ่งเป็นลาวฝั่งซ้าย (ล้านช้าง) และฝั่งขวา (ภาคอีสาน) ก็ยังไม่เกิดขึ้นจนกระทั่ง ร.ศ. ๑๑๒ ตัวการที่ทำให้เกิดการแบ่งแยกก็คือฝรั่งเศส
วิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เป็นเพียงชนวนให้เกิดข้อพิพาทขึ้น เพื่อเป็นข้ออ้างในการครอบครองฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง จุดใหญ่ใจความเพื่อจะได้ทำลายฐานอำนาจเดิมของสยามในพื้นที่ และลดบทบาทของสยามในคาบสมุทรอินโดจีน มิใช่จะเอาชนะในสงครามปกติ เพราะมิได้มีเป้าหมายที่จะยึดครองสยามเป็นเมืองขึ้นโดยตรง
แผนขั้นที่ ๓ : เทียบชั้นกับอังกฤษ
เป้าหมายทางอ้อมของฝรั่งเศส คือได้ประกาศศักดาเทียบรัศมีคู่แข่งตังฉกาจอย่างอังกฤษ ซึ่งแย่งชิงอาณานิคมกันอยู่ทั่วโลก ทั้งในอเมริกาเหนือ แอฟริกา ตะวันออกกลาง และน่านน้ำในมหาสมุทรต่างๆ ต่อไปก็ถึงคราวเอเชีย ซึ่งอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติอันมหาศาล ใครได้ครอบครองเมืองจีนก่อนก็เหมือนได้ยึดครองเอเชียทั้งทวีป
การกระทำของฝรั่งเศสกระทบกระเทือนผลประโยชน์ของอังกฤษ ไม่เพียงทำให้ความได้เปรียบในบริเวณแม่น้ำแยงซีเกียงตอนบนเกิดการสั่งคลอน อีกทั้งยังเป็นการตัดขาดการติดต่อและคมนาคมทางบกของบริเวณนี้จากอินเดียผ่านพม่าเข้าจีน ซึ่งคุกคามเสถียรภาพของอังกฤษในบุรพทิศ ดังนั้น รัฐบาลอังกฤษจึงเรียกร้องขอเปิดเจรจากับฝรั่งเศส เพื่อต่อรองปัญหาการแย่งชิงดินแดนในตะวันออกไกลและแอฟริกา ซึ่งทั้ง ๒ ประเทศมีอิทธิพลครอบงำอยู่ ทั้ง ๒ ฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์กันที่กรุงลอนดอนในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๘๙๖ (Anglo-French Declaration 1896) ในเบื้องต้นอังกฤษยอมถอยให้ฝรั่งเศสหนึ่งก้าวในทวีปอแฟริกา ส่วนมณฑลยูนนานและเสฉวนของจีนก็ได้ตกลงกันว่าไม่ว่าฝ่ายใดได้อำนาจหรือสิทธิพิเศษจากจีน ทั้ง ๒ ฝ่ายจะต้องแบ่งผลประโยชน์ร่วมกัน
ในกรณี ร.ศ. ๑๑๒ อังกฤษได้ปิดตาข้างเดียวและทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้กับข้อพิพาทที่เกิดขึ้น มนทางกลับกันดันแนะนำสยามให้คล้อยตามข้อเรียกร้องของฝรั่งเศส เพราะตนเองก็มีนอกมีในอยู่กับฝรั่งเศส ในปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวกับอาณานิคมในแอฟริกา และกำลังมองหามาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดมาถ่วงดุลอำนาจระหว่างตนซึ่งได้ข้อสรุปในที่สุด คือข้อตกลง ค.ศ. ๑๘๙๖ โดยมีข้อกำหนดข้อหนึ่งที่จะตั้งให้สยามเป็นรัฐกันชนในระหว่างเขตอิทธิพลของพวกตน
ปราสาทนครวัดจำลองที่ทั้งไทยและฝรั่งเศสต่างหมายปอง และเป็นสัญลักษณ์เมืองขึ้นเก่าของตน (บน)
ในงาน Expo ที่ปารีส และ (ล่าง) ในวัดพระแก้วที่กรุงเทพฯ
วิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เป็นเพียงฉากหนึ่งของมหากาพย์การล่าอาณานิคมระหว่างอังกฤษและฝรั่งเศสมิได้มีเรื่องบาดหมางกันเป็นส่วนตัวกับสยามเลย เป้าหมายสูงสุดของการเอาชนะสยาม คือทำให้สหภาพอินโดจีนเป็นเอกภาพเท่านั้น
ยังจะเห็นต่อไปว่าสนธิสัญญาสงบศึก ร.ศ. ๑๑๒ ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ลงวันที่ ๓ ตุลาคม ร.ศ. ๑๑๒ มิได้เป็นสัญญาใจระหว่างคู่กรณีในเหตุการณ์นี้เท่านั้น แต่ถัดมาอีก ๒ ปี (ร.ศ.๑๑๔) อังกฤษกับฝรั่งเศสก็ลนลานที่จะทำข้อผูกมัดระหว่างกันอีกฉบับหนึ่ง ยืนยันที่จะเคารพบูรณภาพระหว่างกันเกี่ยวกับดินแดนที่ฝรั่งเศสช่วงชิงไปได้ใน ร.ศ. ๑๑๒ มีใจความว่า
หนังสือปฏิญญาฤาหนังสือสัญญา
ในระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส
ได้ทำไว้ที่กรุงลอนดอน ณ วันที่ ๑๕ มกราคม
รัตนโกสินทรศก ๑๑๔
ด้วยผู้มีชื่อในท้ายหนังสือนี้ คือ มาร์ควิส ออฟ สอลสบุรี เสนาบดีว่าการต่างประเทศของสมเด็จพระนางเจ้าราชินีอังกฤษฝ่ายหนึ่ง กับบารอนเดอคัวร์เซล เอกอรรคราชทูตของรีปับลิกฝรั่งเศส ณ สำนักกรุงลอนดอนอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้รับอำนาจจากคอเวอนเมนต์ทั้งสองฝ่ายโดยถูกต้องแล้ว จึงได้ลงชื่อไว้ในคำปฏิญญาดังมีอยู่ต่อไปนี้
ข้อ ๑ คอเวอนเมนต์ของสมเด็จพระนางเจ้าราชินีอังกฤษกับคอเวอนเมนต์รีปับลิกฝรั่งเศสสัญญาต่อกันไว้ว่า เมื่อยังไม่ได้ยินพร้อมกันแล้ว ถึงแม้ว่าจะมีการอย่างใดๆ ก็ดี ฤาเหตุใดก็ดี ฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียวจะไม่ยกกำลังประกอบด้วยเครื่องสาตราวุธล่วงล้ำเข้าไปในดินแดนทั้งหลายเหล่านี้ คือพื้นดินที่น้ำไหลจากแม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกงกับลำน้ำลำคลองทั้งหลาย ที่ติดต่อกับแม่น้ำทั้งปวงนี้ กับทั้งที่ฝั่งทะเลตั้งแต่เมืองกำเนิดนพคุณจนถึงเมืองแกลงแลที่ดินซึ่งน้ำไหลตกลำน้ำบางตพาน กับลำน้ำพะแส ซึ่งเมืองทั้งสองนี้ตั้งอยู่แล้วทั้งที่ดินตามลำน้ำคลองอื่นๆ ซึ่งไหลลงในทุ่งฤาอ่าวตามชายฝั่งทะเลที่กล่าวมานี้ด้วยกับอีกทั้งที่ดินซึ่งตั้งอยู่ข้างเหนือที่น้ำตกแม่น้ำเจ้าพระยาแลตั้งอยู่ในระหว่างพรมแดนฝ่ายอังกฤษกับฝ่ายไทยลำแม่น้ำโขงกับที่ดินฟากตะวันออกซึ่งน้ำตกลำน้ำแม่ปิงนั้นด้วย อีกประการหนึ่งสัญญากันไว้ว่า จะไม่คิดอำนวยแลหาผลประโยชน์วิเศษ ภายในเขตรที่ดินนี้ซึ่งจะเปนอันไม่ได้รับผลเสมอเหมือนกันฤา ซึ่งจะเปนการที่ไม่ให้ฝ่ายอังกฤษและฝรั่งเศสกับคนชาวเมืองของสองประเทศ แลคนที่พึ่งพาอาไศรยในสองประเทศนั้นได้รับผลท่ากันด้วย แต่ข้อสัญญานี้จะไม่ตีความไปตัดทอนลดหย่อนข้อวิเศษทั้งหลาย ซึ่งมีอยู่ตามความในหนังสือสัญญาฝรั่งเศสกับกรุงสยาม ลงวันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ อันว่าด้วยการในแถบพื้นที่ ๒๕ กิโลเมตร ฝั่งตะวันออกแม่น้ำโขง แลว่าด้วยการเดินเรือในลำแม่น้ำนั้นด้วย
บทสนทนาของแม่ทัพฝรั่งเศสกับเจ้ากรุงสยาม เมื่อเจรจา ต่อรองกัน ใน ร.ศ. ๑๑๒ ตามทัศนะของ บ.ก. PUNCH MAGAZINE สมัย ร.ศ. ๑๑๒ |
ข้อ ๒ ความที่กล่าวไว้ในข้อก่อนนี้ จะเปนที่ขัดขวางต่อการที่ประเทศทั้งสองจะยินยอมกันต่อไปอันเปนการที่ประเทศทั้งสองคิดเห็นว่าจำเปนจะต้องรักษาความเป็นอิสรภาพของกรุงสยามไว้ด้วย แต่ว่าประเทศทั้งสองนี้สัญญากันไว้ว่า จะไม่แยกจากกันไปทำสัญญาที่ยอมให้ประเทศอื่นอีกประเทศหนึ่งทำการ ที่ประเทศทั้งสองนี้ต้องละเว้นเองตามหนังสือสัญญานี้ด้วย
ข้อ ๓ ตั้งแต่ปากลำแม่น้ำฮวก ซึ่งเป็นเขตรแดนไทยกับอังกฤษนั้น ขึ้นไปข้างเหนือจนถึงพรมแดนของกรุงจีนนั้น ทางน้ำของแม่น้ำโขงจะต้องเปนพรมแดน เมืองขึ้นของอังกฤษแลฝรั่งเศสฤาเปนเขตที่อังกฤษแลฝรั่งเศสมีอำนาจต่อกัน ณ ที่นั้น แลเมืองสิงห์นั้นอังกฤษยกให้ฝรั่งเศสแล้ว
ข้อ ๔ ว่าผลประโยชน์ในทางการค้าขาย ในเมืองยูนนานฤาโฮนั้นก็ดี แลในเมืองเสฉวนก็ดี บรรดาที่ได้มาตามสัญญาอังกฤษกับจีน ลงวันที่ ๑ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ ก็ดี ตามสัญญาฝรั่งเศสกับจีนลงวันที่ ๒๐ มิถุนายน รัตนโกสินทรศก ๑๑๔ ก็ดี จะต้องเปนที่ให้ได้แก่สองประเทศที่ทำหนังสือสัญญานี้เสมอกัน
ข้อ ๕ ว่าสองประเทศที่ทำสัญญากันอยู่นี้ ยอมตกลงกันว่าจะแต่งข้าหลวงออกไปพร้อมกันเพื่อประโยชน์ที่จะได้ปักปันเขตรแดนในแม่น้ำไนซ์เยอร์แลหัวเมืองขึ้นของประเทศในทวีปอาฟริกานั้น
ข้อ ๖ ว่าสองประเทศได้ยินยอมตกลงกันว่า จะลงมือทำสัญญาใหม่สำหรับการค้าขายในเมืองตูนิสนั้น
(เซ็น) สอลสบุรี (เซ็น) เดอคัวร์เซล
ข้อตกลงใหม่ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส (ร.ศ. ๑๑๔) เกี่ยวข้องด้วยกับกรณี ร.ศ.๑๑๒ เต็มประตู เป็นสิ่งยืนยันว่าแท้จริงแล้วฝรั่งเศสไม่ได้ทำสงครามจริงจังกับไทยเลย แต่ได้ทำ “สงครามจิตวิทยา” กับอังกฤษคู่ต่อสู้ตัวจริงของตนมากกว่า
สยามถูกบีบให้สละเมืองขึ้นไม่ได้ให้เสียเอกราช
ก่อนการลงนามในสนธิสัญญาสงบศึก วิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เพียง ๑ เดือน สำนักข่าวจากเมืองผู้ดีที่มักจะออกตัวว่าเป็น “ประเทศที่ ๓” ที่ไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้องกับข้อพิพาทของสยามและฝรั่งเศส ก็นำมาเสนอภาพล้อการเมืองในวารสาร PUNCH ที่ขึ้นชื่อของตนมีภาพ “ลูกแกะสยามกับสุนัขป่าฝรั่งเศส” ที่ผู้คนทั่วโลกได้เห็นกันอย่างกว้างขวางเป็นต้น
ภาพล้อการเมืองใน PUNCH อาจจะไม่มีน้ำหนักมากมายในลักษณะของข้อเท็จจริง แต่ในเชิงมโนภาพแล้วการ์ตูนของ PUNCH ก็สามารถชี้นำความเชื่อทางการเมือง และมีอิทธิพลอย่างสูงในอังกฤษตลอดสมัยรัชกาที่ ๔ และที่ ๕ ขอไทย
ภาพๆ หนึ่งจาก PUNCH ในปี ร.ศ. ๑๑๒ วาดภาพเจ้าผู้ครองประเทศสยาม (Sovereign) ถูกกดดันให้ลงพระนามในสินธิสัญญากับผู้เจรจา (Negotiator) ของฝ่ายตรงข้าม พร้อมลงบทสนทนาที่พาดพิงถึงกรณี ร.ศ. ๑๑๒ โดยมีเจตนาให้ผู้อ่านรับรู้ถึงความตึงเครียดของสถานการณ์เมื่อสยามถูกบีบคั้นให้สละเมืองขึ้นบนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่ฝ่ายตรงข้ามต้องการ
TURE FRENCH POLITENESS
(ความมีมารยาทที่แท้จริงของฝรั่งเศส)
(บนสนทนาที่ไม่เกินความคาดเดาในสยาม)
สถานที่เกิดเหตุ : วังหลวง ระหว่างการเจรจาของเจ้าผู้ครองนครผู้มัวหมองกับนักเจรจาผู้ร่าเริง
Negotiator : “ขอประทานอภัยที่ต้องรบกวนท่านอีกครั้ง แต่มันยังมีข้อแม้ปลีกย่อยที่ต้องตกลงกัน”
Sovereign : “อะไรอีก ข้อเรียกร้องของทานยังปอกลอกเราไม่พออีกหรือ?”
Neg : “ยังหรอกท่าน ยังมีอีกก็บรรดาที่ปรึกษาชาวต่างชาติของท่านไงละ”
Sov. : “อ๋อใช่ แต่ฉันก็คงต้องเชื่อคำแนะนำของพวกเขานะ”
Neg. : “งั้นเหรอ ...แต่ตอนนี้มันจำเป็นต้องส่งพวกเค้ากลับยุโรป แล้วก็เลิกติดต่อกับพวกเขาเสียที”
Sov. : “แต่นั่นเป็นการตัดสินที่รุนแรงไปหน่อย”
Neg. : “ท่านคิดยังงั้นรึ? มันก็คงจะดีกว่ากรุงเทพฯ ของท่านถูกถล่มกระมัง”
Sov. : “ท่านมีอะไรเรียกร้องอีกมั้ย?”
Neg. : “คงไม่จำเป็นต้องย้ำอีกกระมัง เราขอให้ท่านมอบหน้าที่การงานให้กับคนทุกชาติเท่าเทียมกันนะ”
Sov. : “ทุกข้อผูกมัดเลยรึ?”
Neg. : “ให้มันเป็นไปตามครรลองคลองธรรมก็แล้วกัน”
Sov. : “อยากได้อะไรอีกมั้ย?”
Neg. : “ไม่ใช่แต่อยาก แต่จำเป็นต้องบังคับใช้ด้วย ท่านต้องให้ป้อมทั้งหลายยอมจำนนและสลายกองทัพรวมทั้งปลดอาวุธพวกเรือรบด้วย”
Sov. : “คงเป็นไปไม่ได้กระมัง?”
Neg. : “ได้สิ ข้าพเจ้าจำเป็นต้องเอาจริงละนะ หากท่านจะรักษาบัลลังก์ไว้และพลเมืองต้องการรักษาชีวิต”
Sov. : “ท่านอยากชี้แนะอะไรอีก?”
Neg. : “เราไม่ชี้แนะหรอก แต่เราออกคำสั่งเลย ท่านจะตัดสินใจอะไรไม่ได้ แต่ต้องให้เราอนุมัติ มิฉะนั้นก็จะต้องลำบากกว่านี้นะ”
Sov. : “นี่มันข่มขู่กันชัดๆ”
Neg. : “หามิได้พ่ะย่ะค่ะ ถึงแม้เราจะพูดกับท่านตรงๆ แต่ก็ด้วยความเคารพน่ะ”
Sov. : “หากท่านไม่คิดจะเหลืออะไรให้เลย ก็เหมือนกับข้าพเจ้าต้องสละบัลลังก์เชียวหรือ?”
Neg. : “ก็แล้วแต่ท่านจะโปรด เรารับคำสั่งมาอย่างเด็ดขาด ท่านจะฏิบัติตามหรือไม่ก็แล้วแต่ เราบังคับจิตใจท่านไม่ได้ และเราก็ยังเคารพนับถือท่านเฉกเช่นประเทศที่มีเอกราช เรารับคำสั่งมาให้ท่านได้ตรึกตรองอย่างเป็นอิสระ ตราบเท่าที่มันสอดคล้องกับความประสงค์ของเรา!”
ประธานาธิบดีฟาลิแยร์แห่งฝรั่งเศส (ซ้าย) และพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๗ แห่งอังกฤษ (ขวา)
ลงนามปรองดองกันจัดสรรอาณานิคมทั่วโลก ให้ได้เท่าๆ กันตามข้อตกลงชื่อ L'Entente Cordiale 1903
หมายเหตุ ; แม้จะเหมือนบทสนทนาของตัวแสดงในบทละครที่หาแก่นสารไม่ได้ก็ตาม แต่ความคิดของคนอังกฤษก็ยังเชื่อว่ารัฐบาลของฝรั่งเศสก็ยังเคารพบูรณภาพและเอกราชของประเทศสยามโดยไม่เปลี่ยนแปลง แรงกดดันทั้งหลายแหล่เป็นการบีบบังคับให้สยามต้องตัดสินใจสละดินแดนบางส่วนเพื่อความเป็นปึกแผ่นของคาบสมุทรอินโดจีนเท่านั้น
กรณี ร.ศ. ๑๑๒ จึงมิใช่บริบทจากสงครามและการต่อสู้ป้องกันตนเองที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าอย่างเดียว แต่ยังมีบริบทอื่นๆ อีกที่โยงไปถึงการขัดผลประโยชน์ การแข่งขันระหว่างนักล่าเมืองขึ้น การถ่วงดุลอำนาจและการกำหนดเขตแดนของชาติจักรวรรดินิยมโดยมีสยามเป็นเวทีการต่อรองทางการเมืองเท่านั้น
มองสิเออร์ปาวี ทูตฝรั่งเศส ยังได้เคยบอกเป็นนัยๆ กับเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี แล้วยังแนะนำให้แม่ทัพไทยไปกราบบังคับทูลรัชกาลที่ ๕ อย่างเปิดใจว่า “ไม่ใช่จะรบไปทูลในหลวงเถิด อย่าได้กังวลเลย”
ข้อมูลจากหนังสือศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๘ หน้า ๑๐๓-๑๒๕