สุดยอดวรรณกรรมรัชกาลที่ ๕ ขึ้นแท่นมรดกโลกแห่งความทรงจำ “ฉบับแรก” “ฉบับสุดท้าย” “ฉบับโคมลอย”


พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ ๕ ทรงฉาย ณ สตูดิโอเมือง
บาดฮอมบวร์ก เยอรมนี ค.ศ. ๑๙๐๗ ทรงเป็นพระมหากษัตริย์
ที่ทรงพระอักษรมากที่สุดในโลกในทุกแง่มุมของพระราชกรณียกิจ
และการปกครองสยามประเทศแม้จวนจะเสด็จสวรรคต
ก็ยังทรงกังวล
เกี่ยวกับศาลาไทยที่เมืองบาดฮอมบวร์ก (ภาพจากไปรษณียบัตรเก่า
ผู้เขียนซื้อมาจากร้านขายโบราณวัตถุที่เมืองบาดฮอมบวร์ก
เมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๘ 

ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ผลงานทางวรรณกรรมกว่า ๕๐,๐๐๐ ชิ้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงพระบรมราชโองการ พระราชบัญญัติ พระบรมราโชบาย พระราชสาส์น จดหมายเหตุ และบทพระราชนิพนธ์จำนวนนับไม่ถ้วนส่งผลให้ยูเนสโกตัดสินใจขึ้นอันดับวรรณกรรมทั้งหมดเป็นมรดกแห่งความทรงจำชั้นยอดของโลก อันเป็นแบบฉบับของมนุษย์ผู้หนึ่งจะสามารถทำได้มากที่สุดในช่วงชีวิตคนๆหนึ่ง หากมองตามกระแสก็จะเข้าใจว่าเป็นความสามารถพิเศษของพระองค์ แต่ในเชิงลึกแล้ว เรายังพบพระวิสัยทัศน์ พระวิจารณญาณ และพระอุปลิกลักษณะพิเศษหรือไหวพริบในการจูงใจคนที่เกิดจากความเอาใจใส่โดยมิได้คาดหวังว่าวันหนึ่งจะเป็นที่ร่ำลือไปทั่วทั้งโลก
 
มรดกจากบรรพบุรุษชิ้นหนึ่งที่ตกทอดมาถึงมือผู้เขียนมิได้เป็นโฉนดที่ดิน หรือทรัพย์สินเงินทองที่ท่านให้ด้วยความพิศวาส แต่เป็นเอกสารชิ้นเล็กๆ ที่คุณทวด (พระพิเชตสรรพานิช-อาลี อาหมัด นานา) ได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกทีหนึ่ง ในฐานะข้าราชบริพารประจำกรมพระคลังสินค้า (กรมท่าขวา) ซึ่งท่านทำงานอยู่ ณ กรมนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๐๐ ในช่วงรัชกาลที่ ๔ ทั้งยังได้เคยรับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาทรัชกาลที่ ๕ ตามเสด็จประพาสอินเดีย พ.ศ. ๒๔๑๔ ในฐานะล่าม
 
โดยในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติใหม่ต้นรัชกาลที่ ๕ แนะนำธรรมเนียมแบบฝรั่งสำหรับการเข้าเฝ้าที่ให้เลิกประเพณีหมอบคลานอย่างเก่านั้นก็ถูกตราขึ้นเป็นพระราชกำหนดฉบับกระเป๋าเล่มเล็กๆ ใช้พกติดตัวได้ นำออกแจกจ่ายให้ข้าราชบริพารประจำกรมกองต่างๆ เพื่อจะได้เข้าใจและประพฤติปฏิบัติตามโดยพร้อมเพรียงกัน
 
คู่มือเล่มจิ๋วนี้อาจไม่ใช่ของมีค่าเท่าไรในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ แต่ในอีก ๑๔๑ ต่อมาจะกลายเป็นมรดกโลกแห่งความทรงจำที่องค์การยูเนสโกลงความเห็นว่าช่างเป็นความคิดที่ไม่ธรรมดาเลย
 
ความคิดที่ไม่ธรรมดานี้ดำเนินต่อไปจนตลอดรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑-๕๓) ทยอยออกมาเป็นพระราชบัญญัติพระบรมพระราชวินิจฉัย พระบรมราชโองการ และจดหมายเหตุจำนวนมหาศาลมากกว่า ๕๐,๐๐๐ ชิ้น ในรูปแบบพระราชนิพนธ์ และบทวรรณกรรมทั้งอย่างเป็นทางการและส่วนพระองค์พอกพูนขึ้นเป็นภูเขาแห่งความรู้ที่เกิดจากแนวคิดและอุดมการณ์ของผู้นำหัวก้าวหน้าผู้เชี่ยวชาญในงานบริหารหลายด้าน
 
ทว่าอัตลักษณ์พิเศษที่ยูเนสโกยังเข้าไม่ถึงอาจเป็นนัยยะที่แฝงทัศนคติในการมองโลกและสุนทรียภาพทางอารมณ์ที่เกิดจากสติปัญญาและประสบการณ์ในการครองราชย์อันยาวนานถึง ๔๒ ปี ทำให้เกิดแนวพระราชนิพนธ์หลากหลายสาขาผ่านพระปรีชาญาณทางด้านอักษรศาสตร์ สะท้อนถึงความรู้สึกที่ค่อนข้างเปิดเผยและเข้าถึงจิตใจของผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาในรัชกาลก่อนหน้านั้น
 
บทความนี้ทำให้เราเองมองเห็นความผูกพันที่ทรงมีต่อข้าราชบริพาร ต่อพระราชกรณียกิจและน้ำพระราชหฤทัยต่อพสกนิกรของพระองค์ปรากฏอยู่ในงานพระราชนิพนธ์ ๓ แนวทางที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงแต่ล้วนมีเอกลักษณ์พิเศษบ่งบอกความเอาพระราชหฤทัยใส่กับเรื่องราวต่างๆ ที่อยู่รอบพระองค์ ซึ่งคนไทยเข้าใจภาษาไทยเท่านั้นจึงจะเข้าใจความคิดของพระองค์ได้
 
ภาพสมุดเก่าพิมพ์บนกระดาษไทยโบราณ สมับรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๑๖ แจกแจงรายละเอียดในปฐมบรมราชโองการฉบับแรกในรัชกาลที่ ๕  สำหรับแจกพระราชทานข้าราชบริพารในพระองค์ใช้พกติดตัวไปในที่ต่างๆ ตกทอดมาจากบรรพบุรุษของผู้เขียน มีขนาดเล็กกว่าฝ่ามือ (บน) และภาพขยายข้อความด้านใน (ล่าง) อยู่ในสภาพสมบูรณ์ตรงตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโกทุกประการ (อนุญาตให้เผยแพร่เป็นครั้งแรกในศิลปวัฒนธรรม)
 
พระอัจฉริยภาพด้านอักษรศาสตร์
เกิดจาก “ความจำเป็น” บวก “พรสวรรค์”
มรดกความทรงจำแห่งโลก (ในภาษาอังกฤษ เรียกว่า Memory of the World) คือแผนงานที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO กำหนดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๕ (ค.ศ. ๑๙๙๒) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ และการเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาของโลกที่บันทึกไว้เป็น “ลายลักษณ์อักษร” ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกไว้ในรูปแบบใดหรือของประเทศใดก็ตาม ล้วนถือว่าเป็นแหล่งรวมความคิด ภูมิปัญญา ความรู้ และประสบการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม จากสังคมในอดีตให้แก่สังคมปัจจุบัน และเพื่อที่จะสืบสานให้แก่สังคมในอนาคตต่อไป
 
การจัดอันดับให้เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกนั้นมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกเพื่อเลือกสรรภูมิปัญญาชั้นยอดที่สุดดังนี้ คือ ๑. ต้องเป็นของแท้ ๒. มีความโดดเด่นและไม่อาจทดแทนได้ ๓. มีความสำคัญในเรื่องเวลา สถานที่ บุคคล เนื้อหาสาระ และรูปแบบวิธีการเขียน และ ๔. หายากและมีความสมบูรณ์ในตัวของมัน
 
ซึ่งในระดับสากลแล้วมีผลงานที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วรวม ๓๐๑ ชิ้น จาก ๑๐๗ ประเทศ (สถิติเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗)
สำหรับประเทศไทย สิ่งที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว มีดังนี้
 
รัชกาลที่ ๕ พระชนมายุ ๑๖ พรรษา เมื่อจะเสด็จประพาสสิงคโปร์ในปี พ.ศ. ๒๔๑๓ ทรงเป็นผู้นำหัวก้าวหน้าที่ต้องใช้พระเดชและพระคุณควบคู่กันเมื่อต้องปกครองขุนนางผู้อาวุโสอย่างเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้เป็นหัวหน้าขุนนางเก่าที่ยังมีความคิดแบบจารีตดั้งเดิมและไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงใดๆ

พ.ศ. ๒๕๔๖ ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (ศิลาจารึกหลักที่ ๑)

พ.ศ. ๒๕๕๒ เอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการบริหารการปกครองประเทศสยาม

พ.ศ. ๒๕๕๔ จารึกวัดโพธิ์ ในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร

พ.ศ. ๒๕๕๖ บันทึกการประชุมของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๔๗-๒๕๔๗
 
และใน พ.ศ. ๒๕๕๒ (ค.ศ. ๒๐๐๙) ที่ผ่านมาองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเอกสารจดหมายเหตุในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปการบริหารการปกครองประเทศสยาม พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๕๓ ขึ้นโดยมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Archival Documents of King Chulalongkorn’s Transformation of Siam (1868-1910)
 
เอกสารมรดกความทรงจำแห่งโลกชุดนี้เก็บรักษาอยู่ในหอสมุดแห่งชาติและหอจดหมายเหตุแห่งชาติ เอกสารดังกล่าวมีทั้งเอกสารที่เขียนบนกระดาษ กระดาษข่อย กระดาษสา และที่พิมพ์ด้วยเครื่องพิมพ์ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา พระราชกำหนด บันทึกโต้ตอบ หมายรับสั่งรายงานการประชุมคณะที่ปรึกษาราชการแผ่นดินและรายงานเหตุการณ์ต่างๆ ตลอดเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปกครองประเทศมีจำนวนมากกว่า ๘๐๐,๐๐๐ แผ่น กำหนดหมวดหมู่ไว้รวม ๒๖ หมวด เช่น แนวคิดด้านการศึกษา การคมนาคม การปฏิรูประบบราชการ การจัดระบบสาธารณูปโภค และวรรณกรรม (พระราชนิพนธ์)
 
เจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ (ประทับนั่งกลาง) ท่ามกลางข้าราชบริพารที่หมอบกราบเฝ้าอยู่โดยรอบ ต่อมาเมื่อเสวยราชย์
แล้วก็โปรด
ให้ยกเลิกประเพณีหมอบคลาน เพระเห็นว่าล้าสมัย เกิดเป็นปฐมแบบราชโองการฉบับแรก พ.ศ.๒๔๑๖
 
ซึ่งในบทความนี้ผู้เขียนได้นำตัวอย่างสุดยอด ๓ บท พระราชนิพนธ์ที่เด่นและแปลกที่สุดครอบคลุม ๑. ปฐมบรมราชโองการ ๒. หมายรับสั่งและพระราชหัตถเลขา ๖ ฉบับสุดท้าย และ ๓. บทวรรณกรรมแนวพิศดารที่ทรงกุเรื่องขึ้น (โคมลอย) ให้พาดพิงถึงหน่วยงานราชการ นโยบายการจัดการ วิธีการทำงาน และการแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ ทำให้เรามองเห็นข้อมูลแฝงที่สะท้อนน้ำพระราชหฤทัยที่แสดงออกมาในรูปของพระราโชบาย พระบรมราโชวาท ข้อท้วงติง และพระบรมราชวินิจฉัยอันแหลมคม ล้วนแต่เป็นงานเขียนที่มีลักษณะเฉพาะและมีคุณค่าทรงอักษรศาสตร์อย่างยิ่ง
 
แนวความคิดผ่านบทวรรณกรรม (พระราชนิพนธ์) ทำนองนี้เป็นของใหม่สำหรับเมื่อ ๑๔๐ ปีมาแล้ว เกิดจากความจำเป็นที่จะต้องเสนอแนวคิดใหม่และจูงใจคนกับบรรดาข้าราชการรุ่นเก่าผู้สูงอายุตกทอดมาจากสมัยรัชกาลที่ ๔ ซึ่งเป็นพวกกลุ่มคนหัวเก่าที่ต้องใช้พระเดชและพระคุณควบคู่กันไป โดยมีพรสวรรค์ในการถ่ายทอดความคิดเห็นเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ
 
ปฐมบรมราชโองการ “ฉบับแรก”
ทัศนคติต่อแนวความคิดสมัยใหม่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งจะส่งผลให้ทรงมีสายพระเนตรที่มองการณ์ไกลเป็นผลมาจากพฤติกรรมการเลียนแบบจากประสบการณ์ตรง และการอบรมสั่งสอนของพระบรมราชชนกในรัชกาลก่อนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีการปกครองราชสำนัก การวางนโยบายต่างประเทศ และอุดมการณ์ในการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นอารยะ สิ่งเหล่านี้มิได้เป็นเองโดยธรรมชาติ แต่ล้วนมาจากแบบฉบับของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นส่วนใหญ่
 
ทางด้านการปกครอง ประวัติศาสตร์บอกเราถึงความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่เคยเกิดขึ้นก่อนในรัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงจัดระเบียบทางสังคมขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศสยามด้วยการออก “ประกาศรัชกาลที่ ๔” ระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๔๐๔ บางฉบับก็มีผลใช้บังคับได้เช่นเดียวกับกฎหมายและบางฉบับก็เป็นเพียงพระราชนิยม หรือพระบรมราโชวาทแนะนำตักเตือนเพื่อความสงบเรียบร้อยและความเป็นระเบียบแบบแผนของสังคม
 
ประกาศรัชกาลที่ ๔ จำนวน ๓๔๓ ฉบับ ที่ถูกตราขึ้นโดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารงานของพระองค์เพื่อส่งคำสั่ง หรือถ่ายทอดให้เข้าใจถึงพระราชนิยมไปยังกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ในแผ่นดิน เช่น กลุ่มของประชาชน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มข้าราชการที่จะต้องนำไปปฏิบัติก่อนเป็นตัวอย่างต่อไป
 
แนวคิดทำนองเดียวกันถูกทำซ้ำในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในรูปแบบ “พระราชบัญญัติ” เรื่องระเบียบการเข้าเฝ้าแบบใหม่ที่ให้ยกเลิกการหมอบคลาน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ล้าหลังทำให้ชาวต่างชาติดูหมิ่นดูแคลนได้ก็เกิดขึ้นทีนทีภายหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. ๒๔๑๖
 
ทางด้านการต่างประเทศ รัชกาลที่ ๕ ทรงยึดหลักการประชาสัมพันธ์เป็นใบเบิกทางไปสู่โลกภายนอก อันเป็นผลมาจากการซึมซับทัศนคติแบบเปิดเผยไม่ปิดบังตนเอง ซึ่งทรงเรียนรู้มาจากพระราชวิเทโศบายและกลวิธีในรัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงจัดส่งคณะทูตไทยไปอังกฤษและฝรั่งเศส (พ.ศ. ๒๔๐๐ และ พ.ศ. ๒๔๐๔) อีกทั้งยังทรงกระวีกระวาดที่จะติดต่อกับประธานาธิบดีเพียซของสหรัฐ เพื่อพระราชทานพระบรมฉายาลักษณ์ไปให้ (พ.ศ. ๒๓๙๙) ถึงขนาดจะจัดส่งช้างไทยไปให้ประธานาธิบดีลินคอล์น (พ.ศ. ๒๔๐๓) ส่งผลให้สยามเป็นที่รู้จักและยอมรับของประชาคมโลกอย่างกว้างขวางตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ แล้ว
 
ความตื่นตัวนี้พิสูจน์ให้เห็นเด่นชัดขึ้นอีก เมื่อรัชกาลที่ ๕ เสด็จขึ้นเสวยราชย์เป็นกษัตริย์องค์ต่อมา ทรงแสดงความกระตือรือร้นที่จะเสด็จประพาสต่างประเทศทันที ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงออกถึงความเจนจัดในพิธีการทูต (Protocol) แล้ว ยังเป็นการสืบสานนโยบายต่างประเทศ หรือที่เรียกโครงการนำร่องและการรักษาสถานะเดิม (Status Quo) ดังที่รัชกาลที่ ๔ ทรงเริ่มไว้ ทั้งที่ในขณะนั้นรัชกาลที่ ๕ ยังทรงเป็นเพียงยุวกษัตริย์ มีพระชนมายุเพียง ๑๗ พรรษา ก็มีพระราชดำริจะเสด็จฯ ไปให้ถึงแผ่นดินอังกฤษ ซึ่งก็คือสิงคโปร์ในสมัยนั้น
 
รัชกาลที่ ๕ (เลข ๑) พระรูปหมู่เมื่อเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา พ.ศ. ๒๔๑๓ (บน)
และ (ล่าง) เมื่อเสด็จประพาสอินเดียและพม่า (พ.ศ. ๒๔๑๔) 

ดังนั้นรัชกาลที่ ๕ ผู้ทรงตระหนักถึงความจำเป็นทั้งในการสร้างฐานอำนาจของตนเองในฐานะเพื่อนบ้านของอังกฤษและในการปรับปรุงบ้านเมืองสยามให้ “ทันสมัย” จึงได้เสด็จฯ ไปสิงคโปร์เพื่อ “ประชาสัมพันธ์” ตนเองและ “ดูแบบอย่าง” การเมืองการปกครอง อันเป็นความคิดริเริ่มของสยามเองตามลำพัง มิได้ถูกเสี้ยมสอนหรือบังคับให้ทำโดยฝรั่งเศสแต่อย่างใด
 
ภายหลังการเสด็จฯ ไปสิงคโปร์แล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นหลายอย่างในสยามด้านต่างๆ ทางกายภาพ ได้แก่
 
๑. การเปลี่ยนรูปแบบการไว้ผม จากผมทรงมหาดไทย หรือทรงแสกกลาง มาเป็นแบบรองทรง
 
๒. เปลี่ยนรูปแบบการแต่งกายขุนนาง เป็นเสื้อนอกแขนยาวคอตั้งเรียกเสื้อราชปะแตน (หรือ Royal Pattern และสวมถุงน่องรองเท้า
 
๓. เปลี่ยนเป็นยืนเฝ้าถวายคำนับ แทนการหมอบกราบที่พื้น
 
๔. แก้ไขขนบธรรมเนียมการเข้าเฝ้าในราชสำนัก รัชกาลที่ ๕ เสด็จออกบ่อยขึ้น ให้ขุนนางใส่เสื้อราชปะแตน ผ้าเยียรบับ นุ่งผ้าม่วงสีกรมท่าแบบโจงกระเบน ยืนเข้าเฝ้าแบบฝรั่ง และโปรดให้เจ้านายตลอดจนข้าราชการผู้ใหญ่นั่งโต๊ะเสวยด้วยได้
 
๕. การศึกษา (ภายใน) ให้พวกเจ้านายที่เคยถูกส่งไปเรียนที่สิงคโปร์กลับเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ (และส่งเสริมการไปเรียนภายนอก) ทั้งยังได้จัดส่งพระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หม่อมเจ้าเจ๊ก นพวงศ์ กับพระยาชัยสุรินทร์ไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ส่งนักเรียนหลวงไปเรียนในยุโรป
 
หนังสือรวมมรดกโลกแห่งความทรงจำขององค์การยูเนสโก ยกย่องบทพระราชนิพนธ์จำนวนมหาศาลของรัชกาลที่ ๕ ว่าประเมินค่ามิได้และมีมากกว่า ๕๐,๐๐๐ บท มากกว่าผู้ใดจะทำได้ในช่วงชีวิตคนๆ หนึ่ง
๖. โรงเรียนทหารมหาดเล็กหลวง สร้างตามแบบค่ายบาแร็กที่ได้ทอดพระเนตรที่สิงคโปร์
 
๗. การสร้างถนนริมกำแพงรอบพระนคร
 
๘. การสร้างอุทยานสราญรมย์ เหมือนสวนสาธารณะตามคตินิยมของชาวอังกฤษไว้เดินเล่นและพักผ่อนหย่อนใจ และ
 
๙. การตกแต่งคลองตลาดช่วงระหว่างสะพานช้างโรงสีกับสะพานมอญ และการเกิดสะพานหกที่ใช้สะลิงยกได้ในคลองหลอดเลียนแบบสะพานของชาวดัตช์ในเมืองปัตตาเวีย
 
จากข้อที่ ๓ การเปลี่ยนเป็นยืนเข้าเฝ้าถวายคำนับแทนการหมอบกราบที่พื้นได้กลายเป็น “ปฐมบรมราชโองการ” ฉบับแรกในรัชกาลที่ ๕ ประกาศใช้เป็น “พระราชบัญญัติ” ฉบับแรกเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๑๖ โดยยูเนสโกยกย่องเป็น “ปฐมบท” ของมรดกแห่งความทรงจำในรัชกาลที่ ๕ บ่งบอกอุดมการณ์ของพระมหากษัตริย์ในโลกยุคใหม่
 
เอกสารต้นฉบับพิมพ์อยู่ในคู่มือพระราชบัญญัติฉบับกระเป๋า มีข้อบัญญัติรวม ๔ ข้อ ดังนี้ (คัดย่อโดยสรุป/สะกดคำตามต้นฉบับ)
 
ข้อ ๑ ว่าพระบรมวงษานุวงษแลข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือน ผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวง เมื่อจะเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เมื่อเดินเข้าไปถึงน่าพระที่นั่งแล้วก้มสีสะถวายคำนับครั้งหนึ่ง แล้วจึงเดินไปยืนที่ตำแหน่งของตนเฝ้า ฯลฯ
 
ข้อ ๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสดจพระราชดำเนิรออกประทับอยู่ที่แห่งใดๆ ห้ามมิให้ข้าราชการแลมหาดเล็กที่ยืนเฝ้าอยู่นั้นนั่งลงในที่แห่งใดๆ เปนอันขาด ฯลฯ
 
ข้อ ๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสดจพระราชดำเนิรไปทางสถลมารค ข้าราชการแลราษฎรชายหญิง ที่จะมาคอยดูกระบวนเสดจพระราชดำเนิรมาถึงน่าผู้ที่ยืนคอยดูกระบวน ให้คนเหล่านั้นก้มสีสะถวายคำนับจงทุกคน ห้ามมิให้นั่ง มิให้ยืนดูกระบวนการเสดจพระราชดำเนิรบนชานเรือน บนน่าต่างเรือน แลบนที่สูงที่ไม่ควรนั่ง ฯลฯ
 
ข้อ ๔ ข้าราชการเมื่อจะเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง ถ้าภบท่านผู้มีบันดาศักดิ์ที่ได้เคยทำคำนับยำเกรงตามธรรมเนียมเก่าฉันใด ก็ให้ทำคำนับยำเกรงอย่างธรรมเนียมใหม่ให้เหมือนกัน ฯลฯ
 
โปรดเกล้าฯ ให้ท่านเจ้าพระยาศรีสุริยวงษ สมันตพงษพิสุทธมหาบุรุศย์รันโนดม ผู้สำเรจราชการแผ่นดิน ตั้งเปนข้อพระราชบัญญัติ ไว้สำหรับแผ่นดินสืบไปฯ
 
ภายหลังการจัดพิมพ์ตราพระราชบัญญัติในเบื้องต้นก็ได้ถูกนำเผยแพร่พระบรมราชโองการใน “ประกาศเลิกธรรมเนียมหมอบคลาน” ตีพิมพ์อยู่ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันในรัชกาลที่ ๕ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑-ปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ ความว่า
 
“เราพระเจ้ากรุงสยาม ขอประกาษแก่พระบรมวงษานุวงษ แลเสนาบดีธุลีพระบาทผู้ใหญ่น้อยให้ทราบทั่วกันว่า ตั้งแต่ได้รับบรมราชาภิเศกถวัลยราชสมบัติครองแผ่นดินมา ก็ได้ตั้งใจคิดการที่จะทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มีความศุขเจริญแห่งพระบรมวงษานุวงษและข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งสมณชีพราหมณประชาราษฎรทั้งปวงทั่วไป การสิ่งไรที่เปนการกดขี่แก่กันให้ได้ความยากลำบากนั้น ไม่คิดจะให้แก่ชนทั้งหลายในพระราชอาณาจักรต่อไป ด้วยได้เหนแลทราบการว่าในมหาประเทศต่างๆ ซึ่งเปนมหานครอันใหญ่ในทิศตะวันออกตะวันตกก็ได้เลิกธรรมเนียมนี้หมดทุกประเทศแล้ว การที่เข้าได้พร้อมกันเลิกธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไว้นั้นก็เพื่อจะให้เหนความดีที่จะไม่มีการกดขี่แก่กันในบ้านเมืองนั้นอีกต่อไป บัดนี้บ้านเมืองประเทศเหล่านั้นก็มีความเจริญทกๆ เมืองโดยมาก ก็ในประเทศสยามนี้ธรรมเนียมบ้านเมืองที่เปนการกดขี่แก่กันอันไม่ต้องด้วยยุติธรรมนั้นมีอยู่อีกหลายอย่างหลายประการจะต้องคิดลดหย่อนผ่อนเปลี่ยนเสียบ้าง แต่จะให้แล้วไปในครั้งเดียวคราวเดียวนั้นไม่ได้ จะต้องค่อยคิดเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาที่ควรแก่การจะเปลี่ยนแปลงได้ บ้านเมืองจึงจะได้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไป แลธรรมเนียมที่หมอบคลานกราบไหว้ในประเทศสยามนี้ เหนว่าเปนการกดขี่แก่กันแรงนัก ไม่เหนว่ามีประโยชน์แก่บ้านเมืองแต่สิ่งหนึ่งสิ่งใด เพราะฉะนั้นจึงจะต้องละธรรมเนียมเดิมที่ถือว่าหมอบคลานเปนการเคารพอย่างยิ่งในประเทศสยามนี้เสียให้เปลี่ยนอิริยาบถเปนก้มศีศะ ก็ซึ่งให้เปลี่ยนธรรมเนียมใหม่ดังนี้ เพราะจะให้เหนเปนแน่ว่าจะไม่มีความกดขี่กันในการที่ไม่เปนยุติธรรมอีกต่อไป ตั้งแต่นี้สืบไป พระบรมวงษานุวงษ แลข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย ซึ่งจะเข้ามาในที่เฝ้าแห่งหนึ่งแห่งใดจงประพฤติตามข้อบัญญัติซึ่งให้ยืนให้เดินนั้นเทอญ...”
 
ปฐมบรมราชโองการฉบับแรกในรัชกาลที่ ๕ สะท้อนเรื่องของความเสมอภาคและสิทธิมนุษยชนใน พ.ศ. ๒๔๑๖ ในยุคที่พระเจ้าแผ่นดินในประเทศต่างๆ ของทวีปเอเชียยังถือเรื่องชนชั้น และความแตกต่างของฐานันดรศักดิ์เป็นเรื่องคอขาดบาดตายและยังทำใจไม่ได้ที่จะยกเลิกจารีตแบบโบราณที่มีมานับพันปีนั้นเสีย เช่น ในเมืองจีนก็ยังนิยมธรรมเนียมนี้จนกระทั่งสิ้นสุดราชวงศ์ชิง
 

ภาพประวัติศาสตร์ : รัชกาลที่ ๕ (เลข ๑) เสด็จฯไปทรงเปิดบ่อน้ำจุฬาลงกรณ์ ณ เมืองบาดฮอมบวร์ก เยอรมนี
(บนและล่าง) ต่อมามีพระราชประสงค์จะสร้างศาลาไทยครอบบ่อน้ำนี้ แต่ไม่สำเร็จในรัชสมัยของพระองค์
 
พระราชหัตถเลขาฉบับสุดท้ายในรัชกาลที่ ๕
บทพระราชนิพนธ์กว่า ๕๐,๐๐๐ ชิ้น ของรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงไว้ตลอดพระชนมชีพ ซึ่งต่อมาถูกยกย่องให้เป็นมรดกโลกแห่งความทรงจำมีนัยยะที่แสดงว่าผู้ประพันธ์เป็นผู้มีความรับผิดชอบอย่างสูงชนิดหาตัวจับยาก
 
และถ้าหากได้พิจารณาอย่างละเอียดเกี่ยวกับเนื้อหาของบทพระราชนิพนธ์เหล่านั้นก็จะพบว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับงานบองบ้านเมืองที่ทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ และแสดงความรับผิดชอบด้วยความผูกพันตลอดเวลาไม่มีวันว่างเว้น
 
พระราชหัตถเลขา ๖ ฉบับสุดท้ายในช่วงปลายพระชนมชีพเป็นเครื่องยืนยันถึงพระวิริยะอุตสาหะของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่แม้นว่าจะทรงไว้ในระยะที่ทรงพระประชวรหนักด้วยโรคพระวักกะพิการเรื้อรัง แต่ก็มิได้ทรงทอดทิ้งพระราชภารกิจที่ทรงกระทำค้างไว้และกลายเป็นประเด็นที่ทรงกังวลและทรงติดตามอย่างใกล้ชิดแม้ในช่วง ๓ วันสุดท้ายก่อนที่จะเสด็จสวรรคตในวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓
 
พระราชหัตถเลขา ๖ ฉบับที่นำมาลงพิมพ์ไว้ต่อไปนี้ เป็นพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชกระแสดำรัสสั่งให้อาลักษณ์เขียนเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายทรงลงพระบรมนามาธิไธย แต่ไม่ทันจะได้ถวาย ทรงพระประชวรหนัก เสด็จสวรรคตเสียก่อน จึงควรนับได้ว่าเป็นปัจฉิมลิขิตในรัชกาลที่ ๕
 

ไกเซอร์วิลเฮล์มที่ ๒ แห่งเยอรมนี (ซ้าย) ได้พระราชทานบ่อน้ำและที่ดินให้แก่รัชกาลที่ ๕
เพื่อเป็นที่ระลึกคราวเสด็จประพาสเยอรมนี ค.ศ. ๑๙๐๗ และเป็นจุดกำเนิดของการสร้างศาลาไทย
ครอบบ่อน้ำนั้นในพระราชหัตถเลขา คำว่า "เอมเปอเรอ" หมายถึงไกเซอร์นั่นเอง 
 
พระราชหัตถเลขานิมัยปัจฉิมลิขิตในรัชกาลที่ ๕
 
(ฉบับที่ ๑)
สวนดุสิต
                  วันที่ ๒๐ ตุลาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๒๙
ถึง เจ้าพระยายมราช
       ได้รับหนังสือ ๔๔/๗๒๔๕ ลงวันที่ ๑๘ เดือนนี้ ว่าเครื่องแต่งตัวพลตระเวนที่ใช้อยู่เวลานี้ โดยเฉพาะหมวกอยู่ข้างหนักแลร้อน ทั้งไปเหมือนกับพลตระเวนแขกในเมืองสิงคโปร์ บัดนี้ได้คิดเครื่องแต่งตัวขึ้นใหม่ทั้งนายแลพลตระเวน คือเครื่องแต่งตัวเต็มยศสำหรับนายพลตระเวน ควรเปลี่ยนใช้ผ้าสักหลาดสีกากีมีแถบกางเกงแลคอบ่าเสื้อสีแดงเลือดหมู มีแถบเงินที่บ่าแลคอเสื้อ ดังเช่นนายตำรวจภูธร แต่เทียบกับลำดับชั้นนายทหารบก ผู้บังคับการกรมกองตระเวนมีลวดลายที่คอแลบ่าเสื้อ เทียบชั้นนายพลเจ้ากรม ปลัดกรมกองตระเวนเทียบชั้นนายพัน สารวัตใหญ่ สารวัตแขวง นายหมวด เทียบชั้นนายร้อย นายยามใหญ่ เทียบชั้นจ่านายสิบ ส่งรูปตัวอย่างฤาเครื่องแต่งตัวมาหารือนั้นทราบแล้ว
        สีที่เรียกว่ากากีนั้นแปลว่ากระไร เข้าใจฤาไม่ จะแปลให้ฟัง ภาษาเปอร์เซียน กากีว่า แผ่นดิน สีกากี แปลว่า สีแผ่นดิน แผ่นดินเมืองเปอร์เซียนเป็นทะเลทรายสีจึงได้เป็นเช่นนี้ ไทยเราแต่งนีนั้นก็เข้ากับผิวเนื้องามดีอยู่ ใช้ได้.
 
 
(ฉบับที่ ๒)
สวนดุสิต
             วันที่ ๒๐ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙
ถึง พระยาวงษานุประพัทธ์
       ได้รับหนังสือที่ ๕๔/๑๐๙๐๔ ลงวันที่ ๑๕ เดือนนี้ ว่าชายยุคลทิฆัมพรชี้แจงว่า ที่ดินในมณฑลนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่อุดม ราษฎรทำการเพาะปลูกเรือกสวนไร่นามาก แลตั้งแต่ทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับกรุงอังกฤษแล้ว ชาวอังกฤษได้มาขอถือที่ดินสำหรับทำการเพาะปลูกมากขึ้น เห็นสมควรจะจัดให้มีข้าหลวงเกษตรสำหรับตรวจตราแนะนำวิธีการเพาะปลูกให้มีผลเจริญขึ้นต่อไป ส่วนผู้ที่จะเป็นข้าหลวงเกษตร เห็นว่าหลวงแผ้วพลภักดิ์ ข้าหลวงมหาดไทยมณฑลนครศรีธรรมราช มีวุฒิสามารถจะรับราชการในตำแหน่งนี้ได้ ขออนุญาตตั้งหลวงแผ้วพลภักดิ์เป็นข้าหลวงเกษตร  เป็นข้าหลวงออกโฉนดแลเป็นกรรมการตำแหน่งนา ในมณฑลนครศรีธรรมราชในชั้นตั้นจะให้เงินเดือนๆ ละ ๓๐๐ บาท ตั้งแต่พฤศจิกายน ศกนี้ เป็นต้นไปนั้นได้ทราบแล้ว อนุญาตให้ตั้ง.
 
(ฉบับที่ ๓)
สวนดุสิต
            วันที่ ๒๐ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙
ถึง เจ้าพระยายมราช
        ได้รับหนังสือมีมายังกรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ที่ ๓๙๐/๗๒๔๖ ลงวันที่ ๑๘ เดือนนี้ เรื่องรถรางทับคนตายที่ถนนเจริญกรุงปากตรอกท่าบริษัทเรือเมล์จีนสยาม ตำบลบางรัก เมื่อวันที่ ๑๖ เดือนนี้ นายเล็กคนขับหนีจับตัวยังไม่ได้นั้น ทราบแล้ว เป็นธรรมเนียมถ้ารถทับแล้วหนีรอดทุกคราวเช่นนี้ ไม่ได้ตัวเลยฤาจึงได้ๆ ใจกันหนัก
 
(ฉบับที่ ๔)
สวนดุสิต
             วันที่ ๒๐ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙
ถึง กรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ
          ได้รับหนังสือมีมายังกรมขุนสมมตอมรพันธุ์ ที่ ๒๓๗/๖๐๙๒ ลงวันที่ ๑๘ เดือนนี้ เรื่องปลูกศาลาบ่อน้ำที่เมืองฮอมเบิกว่า บัดนี้ พระยาศรีธรรมศาส์น มีบอกมาว่า แฮร์วันเตอร์เลอยเคตำแหน่งเบอร์เกอมาสเตอร์ ของเมืองฮอมเบิก แจ้งว่า เมื่อลงมือปลูกสร้างศาลาเสร็จแล้วจะมีการฉลอง ได้ทำบาญชีรายชื่อผู้เกี่ยวข้องแก่การนั้นมาขอตรา ๘ นาย พระยาศรีธรรมศาส์นเห็นว่าเป็นการล่วงลามมากอยู่ ถ้าจะให้ก็ควรให้แต่ ๓ นาย และการปลูกสร้างศาลานี้มิสเตอร์ลอตซ์ รับแต่ที่จะรับหีบเครื่องไม้ที่ส่งจากกรุงเทพฯ ให้แก่เจ้าพนักงานของเมืองฮอมเบิก ส่วนการปลูกสร้างเป็นธุระมิวนิสิเปอลของเมืองฮอมเบิก และว่ามิสเตอร์ลอตซ์แจ้งว่า มิวนิสิเปอลได้บอกว่าบ่อน้ำที่เจาะไว้แต่เดิม เอมเปอเรอได้ให้ผู้อำนวยการย้ายที่มาเจาะขึ้นใหม่ในที่ใกล้ๆ กับพ่อที่เป็นส่วนของเอมเปอเรอให้เจ้าเป็นคู่กัน ได้ใช้จ่ายเงินค่าย้ายบ่อ ๒๕,๐๐๐ มารคขอให้มิสเตอร์ลอตซ์ช่วยขอเงินใช้ให้แก่เมืองฮอมเบิกด้วย มิสเตอร์ลอตซ์ได้บอกให้มิวนิสิเปอลพูดมายังสถานทูต พระยาศรีธรรมศาส์นได้คอยฟังการเรื่องนี้ ยังหาได้รับคำชี้แจงจากมิวนิสิเปอลประการใดไม่ ส่งสำเนาใบบอกพระยาศรีธรรมศาส์น กับสำเนาคำแปลหนังสือเบอร์เกอมาสเตอร์มาด้วยนั้นทราบแล้ว เรื่องราวมันจะลำบากเสียแล้ว ดูเข้าใจกันไปคนละทาง ๒ ทาง เห็นจะไม่จบง่ายๆ
 
(หมายเหตุ : ฉบับที่ ๔)
         การสร้างศาลาไทยในรัชกาลที่ ๕ ณ เมืองบาดฮอมบวร์กได้เกิดความลำบากขึ้นจริงๆ เพราะในเวลาต่อมายังไม่ทันได้สร้างก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน ศาลาไทยหลังแรกกว่าจะสร้างเสร็จก็ในรัชกาลที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๕๗/ค.ศ. ๑๙๑๔) แต่ก็ไม่ใช่ ณ ตำแหน่งที่ทรงพระราชประสงค์ จนกระทั่งถึงรัชกาลที่ ๙ (พ.ศ. ๒๕๕๑/ค.ศ. ๒๐๐๘) ศาลาไทยแห่งที่ ๒ ณ บ่อน้ำจุฬาลงกรณ์คู่กับบ่อน้ำของไกเซอร์จึงสำเร็จลงได้ในที่สุด
 
(ฉบับที่ ๕)
สวนดุสิต
             วันที่ ๒๐ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙
ถึง กรมหมื่นจันทบุรีนฤนารถ
     ได้รับหนังสือที่ ๘๐๒๙/๙๓ ลงวันที่ ๑๕ เดือนนี้ ส่งบาญชีเปลี่ยนแปลงอัตราเงินเดือนกองป้องกันกาฬโรคซึ่งกระทรวงมหาดไทยส่งมาขอเปลี่ยนแปลงใหม่ ตั้งแต่สิงหาคม ศกนี้เป็นต้นไป จำนวนเงินแลคนคงเดิมแต่ขอขยายอัตราสูงขึ้นบ้างบางตำแหน่งรวมในช่วงถัวเดือนละ ๓,๔๒๐ บาท กระทรวงพระคลังเห็นสมควรอนุญาตได้ ขออนุญาตให้กระทรวงมหาดไทยถือจ่ายเงินเดือนกองป้องกันกาฬโรคตามบาญชีเปลี่ยนแปลงที่ส่งมาตั้งแต่สิงหาคม ศกนี้เป็นต้นไปนั้น ได้ทราบแล้วอนุญาต.
 
(ฉบับที่ ๖)
สวนดุสิต
             วันที่ ๒๐ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๙
ถึง เจ้าพระยายมราช
         ได้รับหนังสือที่ ๔๕/๗๒๔๗ ลงวันที่ ๑๘ เดือนนี้ ว่าการที่จะจัดทำโคมไฟในถนนราชดำเนินกลาง ถนนราชดำเนินใน ถนนหน้าพระลาน กรมสุชาภิบาลได้กำหนดจะให้มีดวงโคมตลอดไปจนถึงถนนมหาราชแลเลยไปตามถนนสนามชัย จนถึงป้อมมณีปราการ ส่งแผนที่กำหนดดวงไฟมาให้ดู แลหารือมาว่าถนนหน้าพระลานตั้งแต่ถนนราชดำเนินในไปถึงป้อมอินทรรังสรรค์ แลถนนสนามชัยตั้งแต่ถนนราชดำเนินในถึงป้อมมณีปราการทั้ง ๒ นี้ จะควรปักเสาสับเป็นฟันปลา ฤาปักเสาแต่ด้านเดียวด้านใดนั้น ทราบแล้ว ให้ปักข้างสนาม.
 

รัชกาลที่ ๕ ในปีที่เสด็จสวรรคต (พ.ศ. ๒๔๕๓) ภาพนี้เป็นภาพถ่ายทางการครั้งสุดท้าย
ขณะทรงพระประชวรด้วยโรคพระวักกะ (ไต) พิการแต่ก็ยังทรงกังวลเรื่องศาลาไทยที่ยัง
สร้างไม่เสร็จในเยอรมนีในพระราชหัตถเลขา ฉบับปัจฉิมลิขิต
 
วรรณกรรมภาคพิสดาร (ฉบับโคมลอย)
บทวรรณกรรม (พระราชนิพนธ์) ในรัชกาลที่ ๕ ประเภทประโลมโลกย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีอาทิบทละครเรื่องเงาะป่าและบทละครเรื่องนิทราชาคริต เป็นต้น แต่ยังไม่แปลกแหวกแนวเท่ากับบทพระราชนิพนธ์อีกแนวหนึ่งที่ทรงไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๓๑ มีชื่อเรียกว่า “ปัณหาขัดข้อง” โดยวิธีผูกเรื่องขึ้นมาตามกระแสของเหตุการณ์ในสังคมกรุงเทพฯ ในระยะนั้น แล้วพระราชทานคำอธิบายแก้ไขเหตุขัดข้องเหล่านั้นด้วยคำแนะนำอันแยบคาย ดังที่มีคำชี้แจงไว้ในหนังสือรวมบทความเฉพาะกิจประเภทนี้ความว่า
 
“ที่เรียกว่าปัณหาขัดข้องนี้ เปนหนังสือเกิดขึ้นใอปีชวด พ.ศ. ๒๔๓๑ ในปีนั้นพระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับบัญชาการหอพระสมุดวชิรญาณ แทนสมเด็จพระบรมโรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ซึ่งสมาชิกได้เลือกให้เปนสภานายกกรรมการหอพระสมุดฯ สำหรับปีนั้น เพราะทรงพระราชดำริห์ว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชยังทรงพระเยาว์อยู่ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงทำนุบำรุงหอพระสมุดฯ เปนการพิเศษในปีนั้นหลายอย่าง ตั้งแต่การตกแต่งแลเพิ่มสิ่งสมบัติพระราชทานหอพระสมุดฯ ตลอดจนทรงจัดการหนังสือวชิรญาณ ซึ่งพิมพ์แจกสมาชิกทุกสัปดาห์ให้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วยโปรดให้กะเรื่องหนังสือต่างๆ ซึ่งจะให้เจริญความรู้แก่สมาชิก เช่นขนมธรรมเนียมสำหรับบ้านเมือง แลเรื่องธรรมวินิจฉัยเปนต้น แล้วโปรดให้ขอแรงผู้ที่ชำนาญกิจการนั้นๆ ช่วยกันแต่งมาถวายสำหรับการลงพิมพ์ แม้พระองค์เองก็ทรงพระอุสาหะรับทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานหลายเรื่อง มีเรื่องพระราชพิธีสิบสองเดือน เปนต้น อันนับว่าเปนหนังสือสำคัญในภาษาไทยอยู่เรื่อง ๑ ในบัดนี้ ในขณะเมื่อปฤกษากะเรื่องหนังสือซึ่งจะขอแรงให้แต่งส่งมาพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณครั้งนั้น ทรงพระดำริห์ว่า เรื่องต่างๆ ที่เปนประโยชน์ในทางความรู้ก็มีมากอยู่แล้ว ควรจะมีเรื่องอีกสักอย่าง ๑ ให้เปนเครื่องรื่นเริงบันเทิงใจของผู้อ่าน สำหรับให้สนุกสนานกันในหมู่สมาชิก จึงโปรดให้คิดปัณหาขัดข้องขึ้น คือคิดเปนเรื่องราวขันๆ ให้มีความขัดข้องอยู่ข้างท้ายว่าจะทำอย่างไรดี ให้พิมพ์คราวละปัณหา แล้วแต่สมาชิกใครจะมีความคิดเห็นเรื่องขัดข้องในปัณหาไหน ว่าจะแก้ไขอย่างไรจึงจะดี ก็ให้แต่งคำแก้ส่งมาลงพิมพ์ เพราะฉะนั้นปัณหาขัดข้องนี้จึงเปนเรื่องสำหรับอ่านกันเล่นเปนเครื่องรื่นเริงบันเทิงใจแลเปนเรื่องสำหรับสมาชิกคิดแก้กันเล่นตลอดเวลาที่มีปัณหาลงในหนังสือวชิรญาณประมาณ ๒ ปี"
 
จากการค้นคว้าพบว่าปัญหาขัดข้องที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชนิพนธ์ไว้มีเพียง ๑๙ เรื่องเท่านั้น แต่ก็ได้ทรงแนะนำให้เจ้านายและพระบรมวงศานุวงศ์ประพันธ์เรื่องขึ้นเพิ่มเติม โดยนัดหมายให้มีการจัด “สโมสรวรรณกรรม” ขึ้นเป็นการภายในอีกด้วย
 
แต่มีเงื่อนไขพิสดารอยู่อย่างเดียวว่าผู้ประพันธ์สามารถปิดบังตนเองโดยใช้พระนามแฝงเพื่อมิให้เกิดการพาดพิงหรือสบประสาทจากบุคคลภายนอกได้
 
พระนามแฝงที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักกันเฉพาะคนวงใน เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระนามแฝงว่า “ตุ๋งต๋ง” สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถทรงใช้ว่า “ฉุนเละ” และ กรมขุนพิทยาลาภพฤฒิธาดาทรงใช้ว่า “โคมลอย” เป็นต้น
 
ภาพสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ กำลังทรงพระอักษรทรงถูกรัชกาลที่ ๕
เกณฑ์ให้แต่งบทพระราชนิพนธ์ (ปัณหาขัดข้อง" โดยทรงใช้พระนามแฝงว่า "ฉุนเละ"
 
ปัณหาขัดข้องที่เคยเรียบเรียงอยู่ในสารบบวรรณกรรมฉบับโคมลอยนี้มีทั้งสิ้นรวม ๙๑ ปัญหาส่วนใหญ่สูญหายไปหมดแล้ว ที่นำมาลง ณ ที่นี้ มีอยู่ ๔ บทความ เพื่อเทิดพระเกียรติรัชกาลที่ ๕ โดยเฉพาะ (สะกดคำตามต้นฉบับ)
 
ปัณหาขัดข้องที่ ๒
นายจอนเปนคนที่ทรัพย์มีเรือกสวนไร่นาผู้คนข้าทาสมาก ตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองนครไชยศรี แต่เปนขุนหมื่นพึ่งบุญอยู่ในพระยาชำนิ นายจอนมีลูกสาวคนหนึ่งรูปร่างสะสวยยังไม่มีผู้ใดมาขอ ครั้นถึงเดือน ๑๒ นายจอนเข้ามารับเบี้ยหวัดในกรุงเทพฯ พระยาชำนิจึงขอลูกสาวนายจอนว่าจะให้แก่นายโฉมผู้เปนบุตรพระยาชำนิ นายจอนก็ยอมยกให้ ตกลงกันว่าจะออกไปปลูกหอแต่งงานที่บ้านนายจอน พระยาชำนิก็มอบทองมั่นให้นายจอนไป ๕ ตำลึง 
 
ครั้นปลูกหอห้างกันเสร็จแล้ว จึงกำหนดนัด พระยาชำนิก็พาญาติพี่น้องออกไปจะแต่งงาน ในคืนเมื่อก่อนพระยาชำนิจะออกไปถึงนั้น บ่าวมาบอกนายจอนว่าลูกสาวคบชายชู้มาไว้บนเรือน ถามลูกสาวก็ไม่รับ รุ่งเช้าพระยาชำนิกับญาตพี่น้องก็จะไปถึงบ้าน เช่นนี้นายจอนจะควรทำอย่างไรดี
 
แก้ปัณหาขัดข้องที่ ๒
ถ้านายจอนไม่เชื่อว่าลูกสาวคบผู้ชาย ก็ควรจะนิ่งเสียได้ เพราะลูกสาวไม่รับนั้น เปนอันยอมเปนภรรยานายโฉมแล้ว ไม่เปนข่มขืนถ้านายจอนแคลงว่าลูกคบผู้ชายจริง ไปอยู่กับนายโฉมจะไม่หยุด จะเปนที่ขายหน้า ฤากลัวเปนย้อมแมวขาย ก็ควรบอกแก่พระยาชำนิตามจริง ถ้าพระยาชำนิแลนายโฉมไม่รังเกียจ ก็จำต้องให้เพราะรับทองมั่นมาแล้ว เมื่อจะไปขายหน้าปลายมือก็จำเปนอยู่เอง
ตุ๋งตุ๋ง
 
ปัณหาขัดข้องที่ ๓
นายก๋งเปนชาวบ้านกุ่มแขวงเมืองเชรบุรี มีเพื่อนอยู่คนหนึ่งชื่อนายขำ ได้รักใคร่ร่วมทุกข์ร่วมศุขกันมาช้านาน ภายหลังนายก๋งขออำแดงคิ้มบุตรเศรษฐีจ้อยมาเปนภรรยา อำแดงคิ้มคนนี้เดิมเมื่ออยู่บ้านเศรษฐีจ้อย เปนชู้กับนายเฉยคนอยู่ในบ้านด้วยกัน ครั้นเมื่อนายก๋งไปขอจึงได้ยอมยกให้ นายก๋งจึงได้มีความหึงหวงอำแดงคิ้มอยู่ ครั้นเมื่อนายก๋งป่วยหนักลงเกือบจะตาย จึงเรียกนายขำซึ่งเปนสหายอันสนิทไปสั่งว่าถ้าเราตายแล้ว ถ้าเจ้าเห็นแก่ความรักใคร่กันแล้ว เจ้าจงรับเอาอำแดงคิ้มภรรยาเราไปเปนภรรยาเจ้าเสียเถิด ลูกเราก็ไม่มี หาไม่ถ้าเราตายแล้ว ทรัพย์สมบัติของเราก็จะตกไปอยู่กับนายเฉยชู้เก่าของอำแดงคิ้มเสียทั้งสิ้น นายขำจึงมาคิดว่า ครั้นเราจะมาทำตามคำสั่งที่นายก๋งสั่ง ก็เปนมิตรสหายรักใคร่กันสนิทเปนการไม่ควร ครั้นจะไม่ทำตามก็จะผิดคำสั่งที่สหายสั่ง นายขำจึงนำความอันนี้มาเล่าให้นายสุด นายแย้ม นายเป้า นายพวง ฟัง แล้วถามว่าเราจะทำอย่างไรจึงจะเปนการสมควร
 
แก้ปัณหาขัดข้องที่ ๓
คำที่นายก๋งสั่งไม่เปนความคิดอันรอบคอบ ด้วยนายก๋งแลนายขำไม่มีอำนาจจะข่มขี่ให้อำแดงคิ้มเปนเมียใคร ถ้านายก๋งเชื่อว่าทรัพย์ของตนจะตกไปแก่ผู้ที่ไม่ชอบ ควรทำพินัยกรรม์ให้นายขำ
 
ส่วนนายขำไม่ยินดีที่จะรับอำแดงคิ้มเปนเมีย เพราะเปนเมียของเพื่อน ก็ควรจะไม่รับแต่ในขณะนายก๋งพูด นายก๋งจะได้คิดอย่างอื่นที่รับไว้นี้เปนลวงนายก๋ง ถ้านายขำคิดจะรับเปนเมียจริงก็เปนอันคิดผิด เพราะอำแดงคิ้มมีชู้ ซึ่งจะว่าที่แท้จริงก็ผัวนั้นเองเปนแต่ต่างชื่อ มารับนายก๋งเปนผัวที่ ๒ ก็เปนคนไม่ดี แล้วยังซ้ำให้ผัวที่ ๒ เห็นใจว่าจะไม่ทิ้งผัวที่ ๑ นายขำจะไปรับเปนผัวที่ ๓ นายขำมีเหตุอันใดที่จะเชื่อว่าอำแดงคิ้มจะรักมากกว่าผัวที่ ๑ ที่ ๒ ฤา เพราะฉะนั้นการที่นายขำรับคำนายก๋งเปนผิดทั้งนั้น มีอยู่แต่ที่นายขำจะเลือกว่าจะเสียข้างไหนดี คือรับเมียซึ่งไม่เปนที่วางใจได้ แลเปนเมียเพื่อนรักมาเปนเมียตน ฤาจะเปนลวงคนตายให้เชื่อการที่ตัวไม่ตั้งใจจะทำตามคำสั่ง เห็นว่ายอมเสียอย่างที่ ๒ ดีกว่าเสียอย่างที่ ๑ เพราะจะต้องรับโทษไปนานกว่ากัน
นายสุด (ฤาตุ๋งตุ๋ง)
 
ปัณหาขัดข้องที่ ๔
(ปัณหานี้ต่อวคามในเรื่องเดียวกับปัณหาที่ ๒)
เดิมพระยาชำนิขอลูกสาวนายจอนให้นายโฉมผู้เปนบุตรตกลงกัน ครั้นถึงกำหนดออกไปจะแต่งงาน บ่าวนายจอนคนหนึ่งมาบอกกับนายจอนว่าลูกสาวมีชู้คบผู้ชายมาไว้บนเรือน นายจอนไปถามลูกสาวก็ไม่รับ ครั้นพระยาชำนิออกไปถึง นายจอนจึงบอกเหตุผลนั้นให้พระยาชำนิทราบโดยความสุจริต พระยาชำนิก็ไม่โกรธบอกว่าไม่มีความรังเกียจสงไสยอันใด ขอให้แต่งงานกันตามกำหนดที่กะกันไว้นั้นเถิด ก็เปนอันตกลงกัน ครั้นถึงวันก่อนที่จะแต่งงาน นายจอนไปที่เรือนลูกสาว เห็นลูกสาวนอนร้องไห้อยู่ก็สงไสย จึงเข้าไปไต่ถาม ลูกสาวร้องไห้อยู่เช่นนั้นไม่บอกความ ขู่เข็ญเท่าใดก็ไม่บอก นายจอนอ่อนใจเข้าจึงอ้อนวอนปลอบถามแต่โดยดี ลูกสาวก็จะบอกให้ แต่ขอคำสัญญาว่าอย่าให้นายจอนพูดไปเปนอันขาด นายจอนก็รับคำ ลูกสาวจึงบอกความว่าตัวได้รักใคร่กับนายใหญ่เปนชู้กันจริง แลได้ปฏิญาณต่อกันไว้ เพราะเหตุนั้นถ้านายจอนจะขืนยกให้บุตรพระชายำนิแล้ว ก็เหมือนนายจอนจะฆ่าเสียให้ตายเช่นนี้นายจอนจะควรทำอย่างไรดี
 
แก้ปัณหาขัดข้องที่ ๔
ต้องติว่านายจอนกลัวลูกสาวเกินไปจึงต้องสัญญาให้ แต่เมื่อเปนไปแล้วก็ควรชี้แจงให้ลูกฟังได้ ว่าการที่ปิดนั้นถ้าต่อไปไม่คบกับนายใหญ่อีก จะบอกแต่ว่าลูกไม่ยอมมีผัวได้ แต่ถ้าเปนอย่างอื่นไม่บอกตามจริง ขืนคบกันเขารู้เมื่อใดพ่อจะเปนโกหกเมื่อนั้น การที่จะบอกตามความจริงไม่มีความเสียยิ่งกว่าที่เสียอยู่แล้ว คือเปนลูกนอกพ่อนอกแม่แต่ยังดีนิดหนึ่งที่ไม่เปนมักมากรับผัวที่ ๒ อีก เพราะฉะนั้นไม่เห็นควรที่จะปิดอันใด แต่อย่างใดก็ดีนายจอนจะขืนใจบุตรให้มีผัวใหม่ไม่เปนธรรมต้องสารภาพรับผิด ขอให้พระยาชำนิลงโทษแลคืนทองมั่น ถ้าพระยาชำนิไม่ลงโทษควรหาของกำนันให้แก้อาย คนที่เชื้อเชิญมาต้องหาของให้แลขอขมาทุกคน มีลูกไม่ดีจะต้องรับความอายแลความฉิบหายอยู่เอง
ตุ๋งตุ๋ง
 

ปกด้านในหนังสือหายาก ที่รวบรวมบทพระราชนิพนธ์ประเภทโคมลอยของรัชกาลที่ ๕
แล้วเรียกใหม่ว่า "ปัณหาขัดข้อง" เป็นแหล่งข้อมูลเดียวที่เหลืออยู่เกี่ยวกับวรรณกรรมชุดเฉพาะกิจนี้
 
ปัณหาขัดข้องที่ ๖
(เรื่องนี้มีมูลความจริง)
พระยาบำรุงเคยเลี้ยงโต๊ะเปนการปีทุกๆ  ปี เชิญข้าราชการอยู่ใน ๓๐ คน แต่ไม่ใคร่ใครมา มีมาแต่ ๙ คน ๑๐ คนเท่านั้นหลายปีมา ครั้นถึงกำหนดเข้าอีก พระยาบำรุงคิดว่าจะเชิญ ๓๐ คน ก็จะมาแต่ ๙ คน ๑๐ คน ไม่เต็มโต๊ะอีก อยากจะให้คนนั่งให้เต็ม จึงได้เชิญถึง ๕๐ คนเผื่อขาด จัดโต๊ะไว้แต่ ๓๐ ที่เท่านั้น ครั้นถึงวันกำหนดที่ต้องเชิญมาพร้อมกันหมดทั้ง ๕๐ คน เหลือโต๊ะอยู่ ๒๐ คน การที่เปนดังนี้เพราะความผิดของพระยาบำรุงที่มีความประมาท แต่การมาเปนไปดังนี้ พระยาบำรุงจะทำฉันใดจะให้เปนการเรียบร้อยดีได้
 
แก้ปัณหาขัดข้องที่ ๖
ท่านพระยาบำรุงจัดการนุ่งอยู่แล้ว จึงควรขอแก้ตามทางนุ่งบ้าง เมื่อเห็นคนมามาก ควรจะกระซิบทนายให้ไปซื้อเข้าสุกร้านเข้าแกงมาให้พอ เห็นว่าเข้าจะมาแล้ว ให้พูดชวนพวกที่มาว่ากินโต๊ะอย่างฝรั่งไม่สบาย กินอย่างไทยกันเถิดลงนั่งเปิบกันอย่างไทยกับเข้าคงพอ
ตุ๋งตุ๋ง
 
องค์การยูเนสโกเล็งเห็นถึงความสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามต่อผลงานทางวรรณกรรมของรัชกาลที่ ๕ ที่สะท้อนให้เห็นพัฒนาการทางความคิด อุดมการณ์ทางการเมือง และความรับผิดชอบต่อสังคมของพระองค์ที่ทรงไว้มากมายอย่างเหลือเชื่อ ในช่วงชีวิตคนๆ หนึ่ง อย่าว่าแต่ลุกขึ้นมาแต่งบทประพันธ์ได้มากมายก่ายกองขนาดนี้เลย แค่จะหาเวลาตามอ่านให้ได้ทั้งหมดก็ยังไม่แน่เลยว่าจะทำได้หรือเปล่า?
 
ข้อมูลจากหนังสือศิลปวัฒนธรรม ปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๘ หน้า ๘๘-๑๐๗