ความหลากหลายของภาพพระเจ้ากรุงสยามในเอกสารที่สาบสูญจากเมืองไทย

ยังมีคนเป็นจำนวนมากที่ไม่เคยทราบว่าภาพพจน์ของเมืองไทยถูกเผยแพร่ออกสู่โลกภายนอกตั้งแต่เมื่อใด โดยวิธีการใด มีวิวัฒนาการอย่างไร และด้วยวัตถุประสงค์อะไร บทความนี้เป็นทฤษฎีหลักในการประมวลอุปสงค์และอุปทานของการเปิดเผยตัวตันของสยามประเทศ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของการรับรู้นั้น จากเอกสารซึ่งนับวันจะหายากขึ้นและเลือนหายไปจากความทรงจำของคนสมัยใหม่ ในยุคที่กล้องถ่ายรูปยังไม่ถูกผลิต แต่ภาพลักษณ์ของผู้นำประเทศก็ถูกเปิดเผยออกไปแล้วนานกว่า ๑๔๐ ปี ก่อนที่การถ่ายรูปครั้งแรกจะเกิดขึ้นด้วยซ้ำไป
 
 
ภาพพระมหากษัตริย์และผู้นำประเทศทั่วโลกเป็นโปสเตอร์ที่ระลึกคราวพระเจ้าซาร์นิโคลาสที่ ๒
แห่งรัสเซียลงนามต่ออายุสนธิสัญญาพันธมิตรกับฝรั่งเศส ค.ศ. ๑๙๐๓ เป็นการรวมภาพผู้นำโลก
ครั้งใหญ่ที่สมบูรณ์ที่สุด พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ ๕ อยู่แถวที่ ๔ ลงมา
จากขวามือพร้อมด้วยตราแผ่นดิน (สมบัติส่วนตัวของคุณไกรฤกษ์ อนุญาตให้ใช้ในศิลปวัฒนธรรม)
 
ข้อมูลเก่าและมีหลักฐานยืนยันไว้เป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยานับเป็นภาพแรกๆ ของพระมหากษัตริย์จากทวีปเอเชียที่ชาวฝรั่งเศสวาดไว้ แล้วนำไปเผยแพร่ในหนังสือของชาวยุโรปประกอบการประชาสัมพันธ์ประเทศสยาม เช่น หนังสือของบาทหลวง เดอ ชัวซีย์ มีพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนาราย์มหาราชทรงรับพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ นำเข้ามาถวายโดย เชอวาลิเอร์ เดอ โชมองต์ และพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระองค์ประทับบนหลังช้างทรงคู่กับพระมเหสี เป็นต้น 
 
ดยพระบรมสาทิสลักษณ์ที่เก่าที่สุดของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช วาดโดยจิตรกรชื่อ ปิแอร์ แบร์ทรังด์ (P.Bertrand) เมื่อปี ค.ศ. ๑๖๘๗ (พ.ศ. ๒๒๓๐) มีรายละเอียดที่พอจะสันนิษฐานว่าเป็นภาพสเก๊ตช์ด้วยมือที่ร่างขึ้นก่อนอย่างหยาบๆ แล้วนำไปใส่รายละเอียดในภายหลังจากจินตนาการจนเกิดมโนภาพที่เชื่อกันว่ามีรูปพระพักตร์คล้ายฝรั่งและทรงไว้พระมัสสุยาวแบบสุลต่านออตโตมันที่ฝรั่งคุ้นตากัน
 
   

พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงรับพระราชสาส์นจากราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ (ซ้าย)
และ (ขวา) สมเด็จพระนารายณ์มหาราชประทับบนหลังช้าง
(จากหนังสือจดหมายเหตุการเยือนกรุงสยามของบาทหลวงเดอ ชัวซีย์)

 
แม้นว่าจะดัดแปลงจนพระพักตร์ผิดเพี้ยนไป แต่อุปสงค์หลักก็ได้เกิดขึ้นแล้ว โดยความคิดของชาวฝรั่งเศสที่ต้องการเปิดเผยภาพลักษณ์ของมหาบุรุษผู้ร่ำรวยและใจกว้างที่สุดจากซีกโลกตะวันออกก่อนหน้าชาติใดในทวีปเอเชีย โดยใช้เครื่องราชบรรณาการและความเอื้อเฟื้อเป็นใบเบิกทาง แต่ความขัดแย้งภายในราชสำนักไทยและความยุ่มย่ามของฝรั่งก่อนกรุงแตก ทำให้ความสัมพันธ์กับชาวตะวันตกเข้าสู่ภาวะชะงักงันลงชั่วคราว
 
ยิ่งไปกว่านั้นคนไทยในอดีตเรื่อยมา (จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ ๔) ไม่นิยมสร้างภาพผู้นำของตนเป็นรูปจำลองจากภาพวาดหรือรูปปั้นจากตัวจริง เพราะกลัวผลกระทบว่าจะถูกนำไปใช้ในทางอัปมงคล เช่น ลงคาถาอาคม ทำให้ท่านผู้นั้นมีอายุสั้นและเกิดความวิบัติต่างๆ ได้ การวาดภาพกษัตริย์ไทยในอดีตจึงเป็นความคิดและความต้องการของฝรั่งเท่านั้น
 

พระบรมสาทิสลักษณ์สมเด็จพระนารายณ์หาราช โดย P.Bertrand ชาวฝรั่งเศส
พิมพ์ที่ปารีส ราว พ.ศ. ๒๒๓๐ มีลักษณะผิดเพี้ยนไปจากความจริง 
 
แนวคิดที่จะวาดรูปพระเจ้าแผ่นดินหรือสร้างรูปเหมือนและรูปจำลองของผู้นำประเทศจึงยังไม่เกิดขึ้นในประเทศของเราในสมัยอยุธยา โดยภายหลังการสวรรคตของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว คนไทยก็กลับไปยึดติดกับความเชื่อดั้งเดิมที่ต้องการเก็บเนื้อเก็บตัวและปิดบังตนเองต่อไป ตั้งแต่กรุงแตกจนกระทั่งการสถาปนากรุงเทพฯ เป็นราชธานีใหม่ แม้ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ (ช่วงรัชกาลที่ ๑-๓) ชาวยุโรปและอเมริกันจะกลับเข้ามาคบค้ากับชาวสยามอีกครั้ง แต่พระเจ้าแผ่นดินไทยก็ยังหวาดระแวงฝรั่งต่อไปและไม่ต้องการใกล้ชิดพวกยุโรปมากจนเกินไป
 
ในระยะเดียวกันนี้ที่ประเทศอังกฤษก็เกิดอุบัติการที่เรียกว่า “ปฏิวัติอุตสาหกรรม” ขึ้นระหว่างปี ค.ศ. ๑๗๖๐-๑๘๓๐ (พ.ศ. ๒๓๐๓-๗๓) คนอังกฤษกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการสำรวจโลกและแซงหน้าคนฝรั่งเศสที่หมกมุ่นอยู่แต่เรื่องหลังการล้มล้างราชวงศ์บูร์บองของพระเจ้าหลุยส์ และความทะเยอทะยานที่จะขยายอำนาจไปทั่วทวีปยุโรปของพระเจ้านโปเลียน ทำให้ฝรั่งเศสไม่มีเวลาและขาดโอกาสในการมองโลกอย่างที่เคยกระทำมา
 
ต่อมาเมื่ออังกฤษก้าวขึ้นมาเป็นชาติมหาอำนาจหลักในการปฏิวัติอุตสาหกรรมแล้ว ชีวิตของคนอังกฤษก็เปลี่ยนไปเป็นผู้สร้างกระแสสังคมในทวีปยุโรปที่มุ่งเน้น
 
๑. ความกินดีอยู่ดี
๒. การสร้างสมฐานะของชนชั้นกลาง ซึ่งไม่เคยมีมาก่อน (ก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นสังคมอังกฤษมีเพียง ๒ ชนชั้น คือ ชั้นรากหญ้าและชนชั้นสูง) และ
๓. การเดินทางสู่โลกกว้างเพื่อล่าเมืองขึ้นและหาประสบการณ์ใหม่ๆ แบบแผนการดำเนินชีวิตของชาวอังกฤษค่อยๆ พัฒนาเป็นสังคมที่อยากรู้อยากเห็น และรับรู้ความเป็นไปของโลกภายนอกด้วยความสนใจ โดยมีการสื่อสารรูปแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยมในยุคนั้น คือโทรเลขและหนังสือพิมพ์ เป็นเครื่องมือและกระบอกเสียงหลักในการโฆษณาชวนเชื่อและประชาสัมพันธ์ได้อย่างรวดเร็วและถึงลูกถึงคน
 
อังกฤษปรับตัวขึ้นมาเป็นต้นคิดในการโฆษณาประชาสัมพันธ์แทนชาติตะวันตกด้วยกันอย่างกว้างขวาง สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่คนอังกฤษคิดสร้างขึ้น เช่น เครื่องยนต์กลไก หัวรถจักรไอน้ำ เครื่องพิมพ์แบบใหม่ที่ใช้งานหนักได้ ไฟฟ้า และกล้องถ่ายรูป ได้รับความนิยมและก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในยุค Victorian Heyday ที่มีเครือข่ายราชวงศ์อังกฤษและเทคโนโลยีแผนใหม่เป็นตัวกลางในการถ่ายทอดโลกทรรศน์ของคนอังกฤษไปสู่ชาติอื่นๆ
 

รูปหน้าปกหนังสือพิมพ์ THE ILLUSTRATED LONDON NEWS ฉบับปฐมฤกษ์
ออกในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๔๒ ด้านในมีภาพงานราชสำนักสโมสรของควีนวิกตอเรีย
 
เหตุผลของการประชาสัมพันธ์ภาพผู้นำโลก
 
ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ ๑ หรือก่อนหน้าปี ค.ศ. ๑๙๑๔ (พ.ศ. ๒๔๕๗) ขึ้นไปนั้นประชาคมโลกยังนับถือว่าระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขยังเป็นระบอบที่สำคัญและมีบทบาทอย่างมากต่อการสร้างชาติ และต่อความเจริญของบ้านเมือง สร้างความยิ่งใหญ่ให้แก่อังกฤษเป็นตัวอย่างไปทั่วปฐพี
 
ภารกิจของพระราชวงศ์และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์อังกฤษได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว โดยใช้ “ภาพวาดลายเส้น” ต่อมาพัฒนาเป็น “ภาพถ่าย” และ “หนังสือพิมพ์” ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐ คน อังกฤษต้องการรู้ความเคลื่อนไหวของพระราชวงศ์ของตนที่ช่วยทำให้ประเทศชาติมีเสถียรภาพ
 
ความรู้สึกนี้ส่งอานิสงส์ไปถึงเครือข่ายอาณานิคมโพ้นทะเลที่มีนโยบายของพระราชินีอังกฤษเป็นตัวชูโรงอยู่ ภาพพจน์ของราชวงศ์อังกฤษมีส่วนสนับสนุนและส่งเสริมระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในต่างแดนอีกด้วย
 
ผลพลอยได้ก็คือภาพพจน์ของสยามประเทศที่มีภาพลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดินไทยเป็นตัวแทนถูกนำเสนออย่างสม่ำเสมอในสื่อของอังกฤษในสถานะที่ทัดเทียมและยอมรับกันได้โดยผู้นำแต่ละฝ่ายต่างให้เกียรติกันและกันอย่างเสมอภาค พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขานพระนามควีนว่า “พระเจ้ากรุงบริตาเนีย” ซึ่งมาจากพระปรมาภิไธยว่า “Britania Regina” ในขณะที่ควีนทรงเรียกอีกฝ่ายหนึ่งว่า “King of Siam” ซึ่งนำมาจากพระปรมาภิไธยอย่างยาวว่า “S.P.P.M. MONGKUT R.S.” (R.S. ย่อมาจากภาษาละตินว่า “REX SIAMENSEUM” หรือ “พระเจ้ากรุงสยาม”) นั่นเอง
 
ภาพลักษณ์ของสยามประเทศจึงยึดโยงและผูกพันอยู่กับ “สถาบันพระมหากษัตริย์” อย่างแยกกันไม่ออก คำว่าพระเจ้ากรุงสยาม หรือ King of Siam กลายเป็นชื่อเรียกติดปากนักข่าวตะวันตกอย่างคุ้นเคยและดำเนินอยู่เช่นนี้อีกหลายรัชกาลจนสยามเปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทย
 
คำว่าพระเจ้ากรุงสยามจึงมิได้เน้นที่รัชกาลใดโดยเฉพาะ แต่เรียกรวมทุกรัชกาลตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๘ เมื่อสยามเปลี่ยนเป็นประเทศไทย และคำนี้จะติดอยู่ใต้ภาพพระเจ้าแผ่นดินไทยที่มักจะเป็นภาพแรกของทุกเรื่องราวเกี่ยวกับสยามในสื่อสิ่งพิมพ์ตะวันตก
 
จุดเปิดตัวของประเทศสยามอุบัติขึ้นอีกครั้ง (ภายหลังสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช) ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พร้อมกับการเข้ามาขยายอาณานิคมของคนอังกฤษ เหตุการณ์นี้โดยเฉพาะสงครามฝิ่นที่เมืองจีน (ระหว่างปี ค.ศ. ๑๘๔๑-๖๑) รัชกาลที่ ๔ ซึ่งทรงเป็นผู้นำหัวก้าวหน้าตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องขวนขวายอย่างรวดเร็วให้ทันความคิดของคนอังกฤษ
 

รูปจิตรกรหนังสือพิมพ์ THE ILLUSTRATED LONDON NEWS สมัยรัชกาลที่ ๔
กำลังง่วนอยู่กับการแกะสลักภาพลายไม้บนแท่นพิมพ์ (บน) และ
(ล่าง) รูปเครื่องพิมพ์ขนาดใหญ่สำหรับใช้งานหนักที่สำนักพิมพ์
THE ILLUSTRATED LONDON NEWS นำมาใช้เป็นครั้งแรกในโลกเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๔๒
 
ทรงแสดงความกระตือรือร้นที่จะเร่งทำสนธิสัญญาการค้าและไมตรีกับอังกฤษก่อนชาติอื่นๆ (ค.ศ. ๑๘๕๕) เรียก “สนธิสัญญาเบาริ่ง” ทั้งยังทรงริเริ่มที่จะศึกษาภาษาอังกฤษพร้อมกับภาษาละติน (รากฐานของภาษาฝรั่งเศส) และเรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่เพื่อจะได้รู้เท่าทันคนอังกฤษที่มักจะมองผู้นำเอเชียว่าป่าเถื่อนล้าหลังอยู่เสมอ และคอยจะใช้จุดอ่อนนี้เป็นประเด็นในการคุกคามทวีปเอเชียตลอดเวลา
 

รูปจิตรกรหนังสือพิมพ์ THE ILLUSTRATED LONDON NEWS สมัยรัชกาลที่ ๕ กำลังสาละวนอยู่กับการแกะภาพลายไม้ก่อนส่งต่อสู่แท่นพิมพ์เกิดเป็นรูปสวยๆ ให้ชม รวมถึงภาพรัชกาลที่ ๕ ที่นำมาแสดงในบทความนี้ด้วย
อาจกล่าวได้ว่ารัชกาลที่ ๔ ทรงเป็นผู้ปฏิวัติความเชื่อเก่าๆ ของชาวสยามโดยสิ้นเชิง ทรงดำเนินงานภายในอย่างหนักแน่นและมีระบบในการปรับเปลี่ยนทัศนคติแบบที่ชาติตะวันตกต้องการ โดยแทนที่จะรอให้อังกฤษเปิดฉากก่อน ก็ทรงติดต่อกับโลกภายนอกในทุกช่องทาง ทั้งกับสื่อมวลชนและเครือข่ายราชวงศ์อย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ อันเป็นการยกระดับความน่าเชื่อถือของพระราชวงศ์จักรีว่าเป็นผู้มีใจกว้าง ทันโลก และเป็นผู้มีอารยะ
 
ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของทวีปเอเชียผู้ทรงสามารถพูดภาษาอังกฤษได้จนแตกฉาน ทั้งยังสนพระราชหฤทัยและศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับดาราศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ศาสนา และการเมืองของโลกตะวันตก สามารถถกเถียงและแสดงความคิดเห็นกับพวกบาทหลวง มิชชันนารี และนักการทูตฝรั่งแบบนักวิชาการด้วยเหตุและผล
 
ทางด้านสื่อสารมวลชน ทรงเป็นนักประชาสัมพันธ์ผู้ชาญฉลาดและใช้การโฆษณาให้เป็นประโยชน์สูงสุด โปรดให้ฝรั่งชาวสก๊อตและฝรั่งเศสทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์แล้วจัดส่งพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์โดยบระบบดาแกโรไทป์ไปพระราชทานแก่ประมุขของมหาอำนาจตะวันตก เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส ปรัสเซีย และสหรัฐอเมริกา
 
นอกจากพระบรมฉายาลักษณ์จะเป็นวิธีประชาสัมพันธ์ชั้นเลิศที่แสดงว่าประเทศสยามได้พัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว ยังสามารถใช้เป็นสื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกับผู้นำโลกอย่างมีความหมายอีกด้วย การใช้ภาพถ่ายเป็นเครื่องมือเจริญสัมพันธไมตรีกับผู้นำโลกในสมัยนั้นมีความสำคัญและได้มีบทบาทต่อความมั่นคงและความน่าเชื่อถือของชาติยุคนั้นอย่างมาก
 

พระราชสาส์นของรัชกาลที่ ๔ ทรงมีไปถึงบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ THE ILLUSTRATED LONDON NEWS
เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๕๖ นับเป็นการเปิดเผยพระองค์ครั้งแรกผ่านสื่อมวลชนอังกฤษเพื่อประชาสัมพันธ์พระองค์สู่สากล
 
จากเหตุผลที่กล่าวมาทำให้อนุมานได้ว่า พระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้ากรุงสยามมีวิวัฒนาการที่เป็นลำดับขั้นตอน จากพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเกิดขึ้นตามมโนภาพของฝรั่งและด้วยความประสงค์ของฝรั่งฝ่ายเดียว มาเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ ๔ ที่เกิดขึ้นจากอุปสงค์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
 
รัชกาลที่ ๔ ทรงปรารถนาจะให้สยามประเทศเป็นที่รับรู้และยอมรับของสากล ทรงเล็งเห็นว่าสื่อมวลชนเป็นเครื่องมืออย่างดีในการโฆษณาประเทศโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลาง ความเชื่อนี้สัมฤทธิผลอย่างสูงสุดในรัชกาลที่ ๔ และ ที่ ๕ ตามทฤษฎี Demand & Supply
 
สื่อยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ หน้าต่างของสยามประเทศ
 
การประชาสัมพันธ์ภาพของผู้นำประเทศในสมัยแรกนั้น กษัตริย์แต่ละพระองค์ย่อมประกวดประขันกันอยู่ในเชิง ในอันที่จะสร้างสรรค์ให้ภาพที่ออกมาดูภูมิฐานมีอำนาจ และสง่าผ่าเผย เพราะนอกจากจะแสดงเดชะพระบารมีอันแก่กล้าแล้ว ยังส่งผลไปยังภาพพจน์ของประเทศมหาอำนาจเหล่านั้น ซึ่งก็ผูกขาดอยู่เฉพาะในโลกตะวันตก โดยหลักๆ ก็คือ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส ซึ่งล้วนแต่มีอิทธิพล และสื่อสิ่งพิมพ์อันทรงอานุภาพที่คนทั่วไปยอมรับ ภาพที่ออกจากแหล่งข่าวเหล่านี้ จึงมีแนวโน้มจะโดนใจผู้ที่ได้เห็น ให้คล้อยตามความคิดและการนำเสนอของตนโดยไม่ลำบากนัก ประเพณีการเปิดเผยภาพลักษณ์ผู้ปกครองโลก (Rulers of the World) จึงท้าทายประเทศยักษ์ใหญ่ที่อยู่ในระดับแนวหน้าด้วยกัน ซึ่งต่างก็มีเครื่องจักรกล มีความรู้ด้านเทคนิคการพิมพ์และที่สำคัญคือมีฐานเสียงเพียงพอที่จะสนับสนุนเดชานุภาพของผู้ที่ปรากฏอยู่ในภาพนั้น
 
ในรัชสมัยของควีนวิกตอเรีย (ค.ศ. ๑๘๓๗-๑๙๐๑) รัฐบาลอังกฤษมีนโยบายเปิดกว้างให้สื่อมวลชน (Media) เป็นตัวกลางในการส่งเสริม สื่อสาร และรายงานความสำเร็จเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล เพื่อการรับรู้ของประชาชนอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการรณรงค์ของรัฐบาลอังกฤษเพื่อตีแผ่การเติบโตและผลงานการสร้างอาณานิคมของอังกฤษ ทั้งนี้เพื่อการยอมรับและเสียงสนับสนุนของคนในสังคมต่อโครงการของรัฐบาลอันเป็นปัจจัยแอบแฝง
 

พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ ๔ (ซ้ายบน) ในหน้าหนังสือพิมพ์ L’ILLUSTRATION ค.ศ. ๑๘๕๗ พร้อมด้วยพระอนุชา ๒ พระองค์

พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ ๔ (บน) ในหน้าหนังสือพิมพ์อเมริกัน HARPER’S WEEKLY ค.ศ. ๑๘๕๗


หนังสือพิมพ์ของอังกฤษ ๒ ฉบับ ในยุคนั้นซึ่งมีบทบาทมากที่สุดได้แก่ THE ILLUSTRATED LONDON NEWS   และ THE GRAPHIC ที่แม้นว่าจะเป็นสำนักพิมพ์เอกชน แต่ก็ได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองเป็นหัวหอกในภารกิจดังกล่าว เพราะนอกจากจะเป็นสื่อยักษ์ใหญ่ของอังกฤษแล้ว ยังได้จำหน่ายหนังสือพิมพ์อังกฤษนับแสนฉบับในแต่ละสัปดาห์ออกไปสู่ประเทศที่พูดภาษาอังกฤษทั่วโลกอีกด้วย จึงนับเป็นกระบอกเสียงที่แข็งแกร่งและมีอิทธิพลของรัฐบาลอังกฤษที่ไม่มีชาติใดลบสถิติได้ตลอดคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ และ ๒๐

 
โดยเฉพาะ THE ILLUSTRATED LONDON NEWS ซึ่งก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๘๔๒ (พ.ศ. ๒๓๘๕ ตรงกับรัชกาลที่ ๓ ของไทย) ในยุคที่อังกฤษเริ่มเห็นผลงานจากความสำเร็จในการปฏิวัติอุตสาหกรรม ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดและคนส่วนใหญ่ก็เชื่อว่าเป็นพระบุญญาธิการของสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย กษัตริย์องค์ใหม่ของคนเป็นตัวชูโรง สื่อมวลชนของอังกฤษจึงให้ท้ายภารกิจทุกอย่างของทรงราชสำนัก โดยเฉพาะนโยบายต่างประเทศที่เป็นกำลังสำคัญส่งเสริมให้อังกฤษขยายอาณานิคมออกไปกว้างขวางทั่วทุกมุมโลก
 
ความสำเร็จทางการเมืองในอังกฤษกลายเป็นกระแสสังคมที่รัฐบาลรณรงค์ให้เกิดความรักชาติ รักสถาบันพระมหากษัตริย์ ความเจริญรุ่งเรืองของจักรวรรดิอังกฤษในยุคนี้ก็คือการมีอาณานิคมให้มาก และการเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติภูมิและวัฒนธรรมอังกฤษไปยังเครือจักรภพผ่านสื่อมวลชน อันได้แก่หนังสือพิมพ์ ถือเป็นเครื่องมือสื่อสารชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพที่สุดในยุคนั้น เพราะรูปภาพทำให้เกิดความเลื่อมใส ความน่าเกรงขาม และความน่าเชื่อถือสัมผัสได้ด้วยตาเปล่า
 
ภารกิจหลักของหนังสือพิมพ์อังกฤษก็คือการตอกย้ำภาพพจน์เหล่านั้น ข่าวสารที่มีภาพประกอบช่วยทำให้สะดุดตา และข้อมูลมีน้ำหนัก ชวนให้ติดตามไปพร้อมกับกระแสชาตินิยมของคนอังกฤษ โดยมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ราชวงศ์และราชวงศ์ต่างชาติที่มีสัมพันธ์กับอังกฤษ เรื่องราวของสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ความสำเร็จด้านอาณานิคม และภาพสงครามที่อังกฤษมีชัยชนะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
 
THE ILLUSTRATED LONDON NEWS ซึ่งเปรียบเสมือนหน้าต่างของราชสำนักอังกฤษลงทุนเปิดตัวพิมพ์ฉบับปฐมฤกษ์ในวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๔๒ เพื่อรายงานความหรูหราของ “งานราชสำนักสโมสร” ของควีนวิกตอเรียด้วยภาพแกะลายไม้ (Wood Engraving) ที่ละเอียดลออ สละสลวย และคมชัดในยุคที่กล้องถ่ายรูปยังไม่สามารถทำหน้าที่นั้นได้
 

 พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ ๔ พร้อมด้วยพระบรมราชเทวี
ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ปรัสเซีย (เยอรมนี) ค.ศ. ๑๘๖๑
 
ฉบับแรกซึ่งมียอดพิมพ์ ๒๖,๐๐๐ ฉบับ ขายหมดทันทีในวันรุ่งขึ้นที่ลอนดอน ความสำเร็จด้านการตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และในอีก ๑๐ ปี (ค.ศ. ๑๘๕๒) ยอดพิมพ์ในแต่ละครั้งเพิ่มเป็น ๑๓๐,๐๐๐ ฉบับ และ ๒๐๐,๐๐๐ ฉบับ ในทศวรรษถัดมา โดยวางขายทุกวันเสาร์ในประเทศอังกฤษและจัดส่งไปขายทั่วโลกด้วยความสำเร็จของกองเรือพาณิชย์นาวีอันใหญ่โตและคล่องตัวของอังกฤษ
 
โดยในระยะครึ่งศตวรรษแรกของการจัดพิมพ์ ภาพประกอบล้วนเป็นภาพแกะลายไม้บนแม่พิมพ์ เป็นรูปภาพขนาดต่างๆ ทั้งภาพบุคคลสำคัญ นักการเมือง สภาพบ้านเมือง สิ่งประดิษฐ์แปลกใหม่ ภาพในรัฐสภา ภาพอุบัติเหตุสยองขวัญ แม้แต่ภาพการสู้รบในสงคราม สามารถเรียกร้องความสนใจจากผู้อ่านนับล้านคนทั่วโลกได้ ทั้งที่ไม่สามารถออกได้เป็นรายวัน เพราะต้องใช้จิตรกรฝีมือดีถ่ายทอดภาพนั้นลงบนแม่พิมพ์อย่างละเอียดลออ ซึ่งต้องใช้เวลาแกะหลายวันและเป็นงานหนัก แต่นั่นคือจุดขายของ THE ILLUSTRATED LONDON NEWS ในยุคนั้นที่สร้างความฮือฮาไปทั่วโลกก่อนชาติใด
 
พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ ๔ (บน)
เป็นภาพแกะลายไม้ภาพสุดท้ายก่อนเสด็จสวรรคตที่หนังสือพิมพ์
THE ILLUSTRATED LONDON NEWS นำเสนอเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๖๖
 
ชั่วเวลาไม่ถึง ๑๐ ปีที่ THE ILLUSTRATED LONDON NEWS ตีพิมพ์จำหน่าย หนังสือพิมพ์แนวเดียวกันที่ลอกเลียนแบบภาพแกะลายไม้ในโลกตะวันตกก็ก๊อบปี้วิธีการนำเสนอภาพประกอบข่าวได้รับความสำเร็จไปตามๆ กัน ในจำนวนนี้มี L’ILLUSTRATION ของฝรั่งเศส ILLUSTRIRTE ZEITUNG ของปรัสเซีย (เยอรมนี) HARPER’S WEEKLY ของสหรัฐอเมริกา
 
นอกจากภาพข่ายภายในประเทศที่ถูกถ่ายทอดลงในภาพวาดอันงดงามเหมือนมีชีวิตแล้ว  ภาพข่าวต่างประเทศในเครือจักรภพและภาพชีวิตของผู้คนในต่างแดนก็ถูกเปิดเผยอย่างครึกโครมไม่แพ้กัน สื่อสิ่งพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของตะวันตกกลายเป็นหน้าต่างบานใหญ่ของสยามประเทศก่อนหน้าภาพถ่ายจากกล้องถ่ายรูปจะถูกประดิษฐ์ขึ้นในเวลาต่อมา
 
พระเจ้ากรุงสยาม : จากภาพวาดสู่ภาพถ่าย
สมัยรัชกาลที่ ๔
ภาพลักษณ์แรกที่สุดของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ปรากฏต่อหน้าสายตาชาวโลกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๕๖ (พ.ศ. ๒๓๙๙) มีทั้งภาพถ่ายและภาพวาด โดยเฉพาะภาพวาดครึ่งพระองค์ ฝีมือจิตรกรชาวฝรั่งเศส ชื่อ แปร์ แฟร์รี่ (M.Peyre Ferry-ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ) นั้นถูกใช้เป็นต้นแบบ นำไปวาดซ้ำแล้วเผยแพร่บนหน้าหนังสือพิมพ์อย่างกว้างขวาง ถัดมาคือปี ค.ศ. ๑๘๕๗ (พ.ศ. ๒๔๐๐) ล้วนสืบเนื่องมาจากความต่อเนื่องจากการติดต่อกับโลกตะวันตกด้วยเหตุผลสำคัญ ๒ ประการ คือ ๑. การทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับอังกฤษ ในปี ค.ศ. ๑๘๕๕ (พ.ศ. ๒๓๙๘) และ ๒. การเดินทางเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีของคณะราชทูตฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. ๑๘๕๖ (พ.ศ. ๒๓๙๙)
 
นับแต่ปี ค.ศ. ๑๘๕๖ เป็นต้นมา พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เป็นที่รู้จักคุ้นตาชาวตะวันตก เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์องค์อื่นๆ จากทั่วโลก ที่น่าสังเกตคือ ภาพของพระองค์เป็นภาพของกษัตริย์ในลำดับที่ ๓ จากทวีปเอเชีย รองจากพระเจ้ากรุงจีน และพระเจ้ากรุงตุรกีเท่านั้น และมีความหมายอย่างยิ่งต่อการประชาสัมพันธ์ภาพพจน์ของเมืองไทยในสมัยเปิดประเทศเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ในการแนะนำเมืองไทยอย่างเป็นรูปธรรมสืบต่อมา
 

พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ ๕ และพระบรมราชเทวี ช่วงเกิดวิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒
ในหน้าหนังสือพิมพ์อังกฤษ BLACK AND WHITE ค.ศ. ๑๘๙๓
 
หนังสือพิมพ์จากตะวันตกเป็นฐานข้อมูลหลักในการเปิดเผยพระบรมสาทิสลักษณ์ภาพแรกของพระเจ้ากรุงสยาม แต่แหล่งข่าวตะวันตกที่เชื่อถือได้ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนที่พระบรมฉายาลักษณ์ภาพแรกจะเกิดขึ้นนั้นยังเคยมีความพยายามที่จะแนะนำราชสำนักไทย โดยใช้ตราประจำรัชกาลเป็นสื่อในการเปิดตัว
 
หนังสือพิมพ์อังกฤษชื่อ THE ILLUSTRATED LONDON NEWS ฉบับวันที่ ๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๕๖ (พ.ศ. ๒๓๙๙) เปิดเผยว่า ภาพพจน์ครั้งแรกที่สุดของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็คือพระราชลัญจกร (ตราของพระเจ้าแผ่นดิน) และพระบรมนามาภิไธย (ลายเซ็นพระนาม) ต่างหากที่ชาวต่างประเทศเห็นก่อนรูปร่างหน้าตา โดยให้ข้อมูลว่า
 
“ทางเรารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับการติดต่อประสานงาน (ผ่านทางศาสตราจารย์วิลสัน แห่งบริษัทอินเดียตะวันออก) จากพระเจ้ากรุงสยาม แจ้งพระราชประสงค์ในการเผยแพร่ลวดลายของตราประจำรัชกาลของพระองค์กับเรา เรามีความยินดีที่จะสนองพระราชบัญชานั้น สยามมีพระเจ้าแผ่นดิน ๒ พระองค์ในเวลาเดียวกัน องค์หนึ่งเป็นพี่ อีกองค์หนึ่งเป็นน้อง ทั้งสองพระองค์ทรงเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษ คำบรรยายประกอบภาพพระราชลัญจกรเป็นสำเนาจากพระเจ้าแผ่นดินองค์แรกที่ทรงส่งมาพร้อมกับพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์ พระนามเต็มก็คือ สมเด็จพระศรีปรเมนทรมหามงกุฎ คำสุดท้ายเป็นภาษาไทย คำอื่นๆ เป็นภาษาสันสกฤต ฯลฯ
 
๑. พระราชลัญจกรดวงที่ ๑ เป็นดวงตราใหญ่ประจำราชอาณาจักรสยามและเมืองประเทศราช ชื่อตราไอยราพต ใช้ประทับในสนธิสัญญากับต่างประเทศ
๒. ต่อมาเป็นพระราชลัญจกรประทับในพระบรมราชโองการ
๓. พระราชลัญจกรถัดมาเป็นตัวอักษรจีน เรียกตราพระมหาโลโต ตราทั้ง ๓ ดวงนี้แสดงพระราชอำนาจของพระองค์
๔. พระนามในภาษาจีนของพระเจ้ากรุงสยามองค์ปัจจุบัน
๕. พระราชลัญจกรประจำพระองค์ของพระเจ้ากรุงสยาม (และ) ลายเซ็นพระนาม
 
ภายหลัง THE ILLUSTRATED LONDON NEWS เปิดเผยภาพพจน์แรกของรัชกาลที่ ๔ ในปี ค.ศ. ๑๘๕๖ แล้ว ในปีถัดไป หนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสก็เอาบ้างเพื่อไม่ให้น้อยหน้า โดยสำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่แห่งกรุงปารีสชื่อ L’ILLUSTRATION ฉบับวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๘๕๗ อันเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีผู้อ่านมากที่สุด มีจำนวนพิมพ์เป็นแสนฉบับ ส่งไปจำหน่ายทั่วฝรั่งเศส รวมทั้งยุโรปและทั่วโลกด้วย ภาพที่พิมพ์เป็นภาพครึ่งพระองค์ วาดด้วยลายเส้น พิมพ์อยู่บนหน้ากลางด้านซ้ายบน ประกอบเนื้อข่าวการที่พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ทรงจัดส่งคณะราชทูตฝรั่งเศสชุดแรก โดยการนำของมงตีญี่เข้ามายังกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ค.ศ. ๑๘๕๖ (พ.ศ. ๒๓๙๙)
 

พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ ๕ (ประทับนั่งองค์ที่ ๒ จากซ้าย) เคียงข้างควีนวิกตอเรีย
เมื่อได้รับทูลเชิญไปเสวยพระกระยาหารค่ำคราวเสด็จประพาสอังกฤษครั้งแรก ค.ศ. ๑๘๙๗
เป็นภาพแกะลายไม้ที่มีความงดงามมาก (ภาพจาก THE GRAPHIC ของอังกฤษ) 
 
การเข้ามาของคณะราชทูตฝรั่งเศสชุดนี้เป็นการเปิดศักราชใหม่ของประเพณีการเลียนแบบพระราชนิยมตามอย่างราชสำนักฝรั่งเศส โดยในการนี้รัชกาลที่ ๔ ทรงคิดที่จะสร้างพระบรมรูปปั้น และเครื่องราชอิสรยาภรณ์ส่งไปพระราชทานพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ เป็นการตอบแทน และยังทำให้เกิดมีพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้านโปเลียนกับพระนางเออเจนีที่พระเจ้านโปเลียนที่ ๓ พระราชทานเข้ามาพร้อมกับราชทูต ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ส่วนงานบูรณะราชภัณฑ์ สำนักพระราชวัง กรุงเทพฯ
 
นอกจากพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ ๔ แล้ว หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ยังได้เปิดเผยพระบวรสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระรูปเขียนของกรมหลวงวงศาธิราชสนิท รวมถึงภาพวาดขบวนเรือต้อนรับคณะราชทูต และภาพพิธีการเข้าเฝ้าภายในพระบรมหาราชวังด้วย
 
ปี ค.ศ. ๑๘๖๑ (พ.ศ. ๒๔๐๔) เป็นปีที่เปิดตัวชาวสยามในทวีปยุโรปอย่างเป็นทางการ โดยในปีนั้นพระยาศรีพิพัฒน์ (แพ บุนนาค) เป็นผู้แทนของรัชกาลที่ ๔ นำพระราชสาส์นและเครื่องมงคลราชบรรณาการเดินทางไปถวายพระเจ้านโปเลียนที่ ๓ ณ กรุงฝรั่งเศส  กระแสของชาวสยามเป็นที่พูดถึงในทุกวงการ เพราะชาวสยามมีแผนการจะขอดูงานในหน่วยราชการสำคัญๆ ที่นั่น เช่น กรมทหาร ท่าเรือ และงานด้านพิพิธภัณฑ์ ทำให้เป็นข่าวทั่วไปในหน้าหนังสือพิมพ์ของยุโรป
 
หนังสือพิมพ์ของปรัสเซีย (เยอรมนีเดิม) ฉบับวันที่ ๑๐ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๖๑ ตีแผ่พระราชวิเทโศบายของพระเจ้ากรุงสยามที่ต้องการการติดต่อคบค้ากับชาวยุโรปขึ้นหน้าหนึ่ง ILLUSTRIRTE ZEITUNG อย่างเกรียวกราว
 
 
พระบรมสาทิสลักษณ์สุดท้ายของรัชกาลที่ ๔ ในฉลองพระองค์เครื่องราชกกุธภัณฑ์ชุดใหญ่และกลุ่มโขลนทหารรักษาวังบรรยายพระอุปลิกลักษณะของ The King of Siam ไว้อย่างน่าสนใจเผยแพร่เป็นครั้งสุดท้ายใน THE ILLUSTRATED LONDON NEWS ฉบับวันที่ ๒๑ เมษายน ค.ศ. ๑๘๖๖
 
พระบรมสาทิสลักษณ์แทบทั้งหมดของรัชกาลที่ ๔ ที่ถึงยุคส่วนใหญ่เป็น “ภาพวาดลายเส้น” ได้รับการตีแผ่สู่สายตาชาวโลกโดยสื่อมวลชนตะวันตกเท่าที่พบเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพียง ๑๐ ปีเท่านั้น (ค.ศ. ๑๘๕๖-๖๖) ต่อมาเมื่อสวรรคตในปี ค.ศ. ๑๘๖๘ (พ.ศ. ๒๔๑๑) วงการสื่อสิ่งพิมพ์ก็เข้ามาสู่ยุคภาพวาด-ภาพถ่ายคู่ขนานกันดังที่จะกล่าวต่อไป
 
    
พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ ๕ พิมพ์ลงบนบัตรสินค้า
ประมาณปี ค.ศ. ๑๘๙๗ (ซ้าย) บัตรแถมในกล่องบุหรี่ Cigarrillos Ferriolo
ของสเปน และ (ขวา) บัตรแถมในกล่องช็อกโกแลต Poulain ของฝรั่งเศส
 
สมัยรัชกาลที่ ๕
 
รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ครองราชย์ระหว่างปี ค.ศ. ๑๘๖๘-๑๙๑๐) แม้ว่ากระแสภาพวาดลายเส้นยังแพร่หลายอยู่ก็จริง แต่สำนักพิมพ์ยุโรปก็เริ่มพัฒนาการใช้รูปจากภาพถ่ายโดยกล้องถ่ายรูปสแกนลงในหนังสือพิมพ์ของตนทีละน้อย และมีให้เห็นหนาตาขึ้นภายหลังปี ค.ศ. ๑๙๐๐/พ.ศ. ๒๔๔๓ ในช่วงเปลี่ยนศตวรรษ
 
นอกจากหนังสือพิมพ์แล้ว พระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ ๕ ยังถูกนำไปตีพิมพ์เป็นภาพโฆษณาและภาพที่ระลึกอยู่ในหนังสือท่องเที่ยวรอบโลก ในแค็ตตาล็อก ในใบปลิว ในบัตรสินค้า ในไปรษณียบัตร และในโปสเตอร์ภาพที่ระลึกตามวาระสำคัญๆ อีกด้วย
 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้ชื่อว่าเป็นพระมหากษัตริย์แห่งพระราชวงศ์จักรีที่ถูกบันทึกภาพมากที่สุดพระองค์หนึ่ง พระบรมฉายาลักษณ์นับร้อยๆ ภาพ เป็นสักขีพยานที่คนรุ่นหลังเสาะแสวงหาและเก็บไว้เพื่อสักการบูชา ภาพส่วนใหญ่ถูกพิมพ์ซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่าและเป็นที่คุ้นตากันโดยมาก
 
ทว่ายังมีรูปอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกถ่ายไว้ แต่เป็นส่วนน้อยโดยช่างภาพนิรนาม หรือวาดด้วยลายเส้นตามจินตนาการ แล้วนำไปประชาสัมพันธ์ตามสื่อสิ่งพิมพ์ร่วมสมัย ก่อนปีสวรรคตในปี ค.ศ. ๑๙๑๐ (พ.ศ. ๒๔๕๓) แต่ไม่เคยตกเข้ามาถึงเมืองไทย จึงเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ที่หาชมไม่ได้ และสุ่มเสี่ยงต่อการสาบสูญไปจากสังคมไทยเพราะตกสำรวจ และไม่มีการรายงานไว้ ภาพเหล่านี้กลายเป็นของหาชมยากในประเทศไทย แม้จนทุกวันนี้ก็ไม่อาจประเมินได้ว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด และมีอยู่ ณ ที่ใดบ้าง
 
ทำไมพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์จึงมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์? พระบรมฉายาลักษณ์ในรัชกาลที่ ๕ นั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งไม่ปรากฏในรัชกาลอื่นๆ สามารถจำแนกออกเป็น ๓ ประเภทหลัก ได้แก่
 
ประเภทแรก มีภาพลักษณ์ของความเป็นสากลติดอยู่ในพระบรมฉายาลักษณ์ที่ทรงฉายทุกครั้งแสดงวิวัฒนาการของยุคสมัย เนื่องจากเป็นรัชกาลที่ครองราชย์ยาวนานถึง ๔๒ ปี พระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเสวยราชย์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และทรงอยู่ต่อมาจนถึงวัยกลางคน เราจึงสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ ตั้งแต่พระชนมพรรษาเพียง ๑๕ พรรษา เช่น การตัดพระเกศา การไว้พระมัสสุ การเลิกทรงโจงกระเบนแล้วเปลี่ยนเป็นกางเกงขายาวแทน การประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เหรียญตรา ในเครื่องแบบแม่ทัพฝรั่ง และเครื่องทรงที่โน้มเอียงไปทางตะวันตกอันบ่งบอกถึงความทันสมัย การถูกยอมรับ การทิ้งความโบราณไว้เบื้องหลังแล้วปรับเปลี่ยนเป็นสากลนิยมปรากฏอยู่ในพระบรมฉายาลักษณ์ทุกภาพเป็นขั้นตอนจึงแตกต่างจากพระบรมฉายาลักษณ์สมัยรัชกาลที่ ๔ ที่เสวยราชย์อยู่ไม่นาน ความเป็นสมัยใหม่ยังไม่แสดงออกมาอย่างชัดเจน แต่ในรัชกาลที่ ๕ ความเปลี่ยนแปลงคืบหน้าไปเร็วกว่า โดยเฉพาะภายหลังการเสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา เมื่อพระชนมพรรษาเพียง ๑๗ พรรษา วัฒนธรรมตะวันตกจึงติดตามเข้ามายังสยามอย่างรวดเร็วเป็นเงาตามตัว พัฒนาการเหล่านี้แสดงอยู่ในภาพถ่ายประจำรัชกาล
 

พระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ ๕
จากภาพถ่ายในหน้าหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสประกอบข่าววันสวรรคต
ค.ศ. ๑๙๑๐ (พ.ศ. ๒๔๕๓)
 
ประเภทที่ ๒ มีภาพเหตุการณ์สำคัญๆ และพระราชกรณียกิจที่มีนัยแฝงอยู่ด้วยเสมอ ในรัชกาลที่ ๕ สยามมีปฏิสัมพันธ์กับชาติตะวันตกอย่างกว้างขวางประจวบกับกล้องถ่ายรูปได้พัฒนาขึ้นกว่าในรัชกาลที่ ๔ กล้องมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบากว่า และอุปกรณ์ใช้ก็ไม่ยุ่งยาก จึงสะดวกต่อการบันทึกภาพในลักษณะถ่ายเร็ว หรือ snapshot ซึ่งไม่จำกัดอยู่เฉพาะในห้องภาพ (studio) เช่นในอดีต แต่เป็นที่สาธารณะที่มีบุคคลอื่นร่วมอยู่ในเหตุการณ์ เป็นกิจกรรมนอกสถานที่ ทั้งในวังและนอกวัง การเสด็จฯ เลียบพระนคร การเสด็จฯ แปรพระราชฐาน ขบวนพยุหยาตรา งานพิธีโสกันต์ การออกรับทูตต่างประเทศ การเสด็จฯ เปิดสะพาน ฯลฯ นอกจากนี้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ สำนักข่าวต่างประเทศยังนิยมลงภาพประกอบข่าวสำคัญๆ ที่มีบุคคลสาธารณะอยู่ในที่เกิดเหตุ เช่น   การเสด็จเยือนกรุงสยามของมกุฎราชกุมารนิโคลาสแห่งรัสเซีย และนายกรานต์ ประธานาธิบดีอเมริกาเยือนเมืองไทย ข่าวการสวรรคตในสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระราชินีองค์แรกของสมเด็จพระปิยมหาราช การเสด็จประพาสยุโรป และวิกฤติการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนมีนัยทางการเมืองทำให้รูปที่เผยแพร่มีจุดประสงค์ทางการเมือง การดำเนินนโยบายต่างประเทศ การรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติ ก็เท่ากับประชาสัมพันธ์นโยบายต่างประเทศโดยมีภาพลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดินไทยติดอยู่ด้วยเสมอ
 
ประเภทที่ ๓ มีรูปบุคคล รูปบ้านเมืองและสภาพของสังคมพ่วงอยู่ เช่น ภาพเจ้านายและพระบรมวงศานุวงศ์ ภาพพระเจ้าแผ่นดินต่างประเทศ รูปงานพระราชพิธีและถิ่นฐานบ้านช่องที่สมเด็จพระปิยมหาราชเสด็จฯ เยือน หรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ภาพประเภทนี้มีความแตกต่างจากภาพสมัยรัชกาลก่อนๆ ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสงวนพระองค์อยู่ในขอบเขตที่จำกัด ทรงปลีกวิเวกอยู่ในฐานะที่คนธรรมดาอาจจะเอื้อมไม่ถึง ภาพเหล่านี้ยังแสดงความเป็นบุคคลสาธารณะผู้มีจิตใจเช่นมนุษย์ปุถุชนทั่วไป ดังนั้น ภาพที่รัชกาลที่ ๕ เสวยพระสุธารส ทรงพระสรวล หรือทรงฉายพระบรมฉายาลักษณ์หมู่ร่วมกับบุคคลอื่นๆ จึงเป็นความแปลกใหม่ที่ช่วยสื่อสารให้อาณาประชาราษฎร์ใกล้ชิดพระองค์มากขึ้น ยิ่งในตอนปลายรัชกาลเมื่อทรงเล่นกล้องถ่ายรูปด้วยพระองค์เอง ขอบเขตของภาพถ่ายฝีพระหัตถ์จึงขยายกว้างออกไปอีก เป็นรูปบุคคลที่ทรงรู้จัก รูปประชาชน รูปตึกรามบ้านช่อง และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ภาพเหล่านี้กลายเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่เอกสารแบบทางราชการ เช่น จดหมายเหตุไม่สามารถบรรยายถึงความรู้สึกได้เท่ากับสิ่งที่มองเห็นด้วยตา  พระราชนิยมในการถ่ายรูปยังแพร่หลายออกไปเป็นกิจกรรมของคนหมู่มาก อาจกล่าวได้ว่าพระบรมฉายาลักษณ์และรูปถ่ายฝีพระหัตถ์แบบหลังนี้ช่วยเสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคีของหมู่คณะและคนในชาติอีกด้วย
 
พระบรมฉายาลักษณ์ในรัชกาลที่ ๕ ทั้ง ๓ ประเภท กลายเป็นศูนย์รวมของความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ของปวงชนชาวไทย ทว่าในรัชสมัยต่อมาคือ รัชกาลที่ ๖ ความตื่นตัวเรื่องพระบรมฉายาลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดินกลับลดความนิยมลงอย่างฉับพลัน อันเป็นผลมาจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก ทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง และพลเมืองต้องใช้ชีวิตอย่างมัธยัสถ์ขัดสน เมื่อกระดาษ ฟิล์ม และน้ำหมึกขาดแคลน สิ่งพิมพ์ทุกประเภทกลายเป็นของหายากและราคาแพง ห้องถ่ายภาพก็ต้องปิดตัวลงชั่วคราว พอสงครามยุติก็เกิดสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลกซ้ำเติมอีกในรัชกาลที่ ๗ จนรัฐบาลต้องประกาศลดงบดุลแก้ไขปัญหาเรื่อยมาจนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ พระมหากษัตริย์ก็ทรงลดบทบาททางการเมืองลงจากที่เคยมีมาก่อนหน้านี้ แต่ในทางกลับกันพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ ๕ กลับยังทรงคุณค่ามีราคาและได้รับการยอมรับไม่เสื่อมคลาย เพราะเกิดขึ้นในช่วงบ้านเมืองสงบสุข จึงเป็นความทรงจำดีๆ ที่คนโดยมากต้องการเก็บไว้
 
อาจกล่าวได้ว่า ภาพวาด- ภาพถ่ายเกี่ยวกับพระเจ้ากรุงสยามเป็นภาพประวัติศาสตร์ของชาติประเภทหนึ่งในยุคที่บ้านยังดีเมืองยังงาม ทั้งยังเป็นประวัติของพระราชวงศ์จักรีในเวลาเดียวกัน จึงเป็นภาพถ่ายเฉพาะกิจที่ทรงคุณค่า
 
ภาพวาด-ภาพถ่ายจากยุคนั้นที่ตกค้างอยู่ในต่างประเทศค่อยๆ สูญหายไปตามกาลเวลา และแทบจะไม่มีใครสนใจนับเป็นร้อยปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ถูกทอดทิ้งและขาดการเหลียวแล แต่เมื่อได้เห็นและอ่านถึงครั้งใดก็ทำให้ชุ่มชื่นหัวใจเสมอ
 
ข้อมูลจากหนังสือศิลปวัฒนธรรมปีที่ ๓๖ ฉบับที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๘ หน้า ๑๓๐-๑๔๙