-
Category: เรื่องเล่า... บนแผ่นดินสยาม
-
Published on Wednesday, 06 June 2018 04:08
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 1807
คำคล้องจองในชีวิตประจำวันของตระกูลไทย-ลาว มีพัฒนาการเป็นร้อยกรองเช่น ร่าย, โคลง, กลอน-ที่ดั้งเดิมเรียกรวมหมดว่ากลอน
แล้วจำแนกกลอนเป็น 3 พวก คือ กลอนร่าย, กลอนลำ, กลอนเพลง
กลอนร่าย ใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เช่น เลี้ยงผี ฯลฯ เมื่อใช้เซิ้งเรียกกลอนเซิ้ง ถ้าใช้สวดเรียกกลอนสวด เมื่อใช้เทศน์เรียกกลอนเทศน์
กลอนลำ ใช้ขับลำเป็นทำนองทั่วไปทุกงาน ต่อมานักปราชญ์ในราชสำนักกำหนดแบบแผนใช้แต่งหนังสือเรียก โคลง เช่น โคลงสอง, โคลงสาม, โคลงสี่, โคลงห้า, โคลงดั้น
กลอนเพลง ใช้งานร้องรำทำเพลงทั่วไปไม่จำกัด ต่อมานักปราชญ์ราชบัณฑิตกำหนดแบบแผนใช้แต่งหนังสือ เรียก กลอนหก, กลอนแปด, กลอนบทละคร, กลอนเสภา, กลอนนิทาน ฯลฯ โดยเรียกรวมๆ ว่า กลอน
ร้อยกรองเก่าสุด
ในเอกสารโบราณจะเต็มไปด้วยลีลาคำคล้องจอง เช่น พงศาวดารล้านช้างมีความว่า สร้างบ้านเมืองลุ่มกินปลา เฮ็ดนาเมืองลุ่มกินเข้า, น้ำท่วมเมืองลุ่มลีดเลียง ท่วมเมืองเพียงละลาย ฯลฯ
นอกจากนั้นยังมีอยู่ในรายชื่อเครื่องสังเวยผีไท้ผีแถน ว่า ข้าวน้ำซ่ามปลา หมูเห็ดเป็ดไก่ เนื้อเถิกเอิกลาย กล้วยอ้อยส้อยยำ พริกพลูหูหลา เหล้ายาปลาปิ้ง ผักนางอางหญ้า
จากนั้นค่อยๆ เรียบเรียงคำคล้องจองให้มีความต่อเนื่องสลับกัน เช่น ความโทเมืองของผู้ไทดำ (ในภาคเหนือของเวียดนาม) มีความว่า จี่ก่อเปนดินเปนหย้า ก่อเปนฟ้าท่อถวงเหด ก่อเปนดินเจดก้อน ก่อเปนน้ำเก้าแควปากแททาว ฟ้าต่ำเซื่องหม้อขาง ฟ้าบางเอยื่องเปือกถ้วย ตำเข้ายังคุ้งสาก ตากเข้ายังคุ้งเพิน งัวดำไปคุ้งหนอก หมูผอกไปคุ้งดัง… (“ความโทเมืองจากเมืองหม้วย” โดย James R. Chamberlain ในหนังสือรวมบทความประวัติศาสตร์ 2529)
ในที่สุดคำคล้องจองเหล่านั้นจะมีพัฒนาการส่งสัมผัสแยกออกไปอย่างน้อย 2 ทาง คือ ส่งสัมผัสร่ายเป็นกลอนร่ายอย่างหนึ่ง และส่งสัมผัสเพลงเป็นกลอนเพลงอีกอย่างหนึ่ง
ชุมชนยุคแรกๆยังไม่ใหญ่โตกว้างขวางและยังไม่ซับซ้อนนัก เพราะยังมีลักษณะเป็นชนเผ่าเหล่ากอพวกใครพวกมัน การสื่อสารและสังสรรค์จึงอยู่ในวงจำกัด ทำให้ถ้อยคำและท่วงทำนองคำคล้องจองต่างๆถูกจำกัดไปด้วย
เมื่อชุมชนขยายออกไปสังสรรค์กับชนเผ่าและหมู่เหล่าอื่นๆ อันเป็นเหตุให้ถ้อยคำและท่วงทำนองในการสื่อสารเติบโตขึ้น บรรดาคำคล้องจองที่เคยมีอยู่สั้นๆ ย่อมขยายยืดยาวออกไปเรื่อยๆ ด้วย ดังจะเห็นเค้ามูลจากความโทเมืองของกลุ่มผู้ไทดำเป็นคำคล้องจองส่งสัมผัสสองสามวรรค แล้วขาด แล้วเริ่มใหม่อีก แต่ในพงศาวดารล้านช้างที่มีเนื้อหาคล้ายคลึงกันจะมีท่วงทำนองส่งสัมผัสและพรรณนายืดยาวมากกว่า ทั้งนี้ก็เพราะลักษณะสังคมแตกต่างกันแล้ว
แต่ความโทเมืองของผู้ไทดำก็ส่อให้เห็นเค้าการก่อรูปของกลอนที่ส่งสัมผัสร่ายได้เป็นอย่างดี ว่าค่อยๆเชื่อมสัมผัสคำคล้องจองแต่ละวรรคให้ต่อเนื่องยืดยาวออกไปเรื่อยๆ และในยุคแรกๆก็ไม่จำเป็นจะต้องเคร่งครัดทอดสัมผัสไปทุกวรรค เพราะลักษณะเสรีของกลอนในไทย-ลาวยุคแรกๆมิได้กำหนดอะไรลงไปตายตัว
กลอนร่ายแต่ละท้องถิ่นมีชื่อเรียกต่างกัน ภาคกลางเรียก “ร่าย” ภาคเหนือเรียก “ฮ่ำ” (คือ ร่ำ) ส่วนภาคอีสานเรียก 2 แบบ คือ แบบที่ใช้สวด (หรือสูด) ทำขวัญต่างๆ เรียก “ฮ่าย” เช่น ฮ่ายยาว และแบบที่ใช้เซิ้งต่างๆ เรียก “กาพย์ ” เช่น กาพย์เซิ้ง
ภาษาร่าย ในสถานการณ์ศักดิ์สิทธิ์
ทำไมต้องมีกลอนร่ายที่ใช้ภาษาร่ายในสถานการณ์ศักดิ์สิทธิ์?
เรื่องนี้มีเหตุมาจากลักษณะสังคมชาวนาชาวไร่ที่จำต้องพึ่งพาธรรมชาติเป็นสำคัญที่สุด
แต่ธรรมชาติคือความไม่แน่นอนอันเป็นต้นเหตุของความวิบัติฉิบหาย ดังนั้น มนุษย์จึงมีสำนึกร่วมกันว่าจะต้องแสดงความอ่อนน้อมต่ออำนาจเหนือธรรมชาติ เพื่อวิงวอนร้องขอความอุดมสมบูรณ์หรือความมั่งคั่งและความมั่นคงอยู่ตลอดเวลา และทุกระยะของการทำมาหากิน
โดยทั่วไปผู้คนในตระกูลไทย-ลาว เชื่อว่าอำนาจเหนือธรรมชาติ คือผีที่อยู่บนฟ้า จึงมักเรียกกันว่า “ผีฟ้า” หรือ “ผีแถน” ซึ่งมีความหมายเท่ากับเทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายก็น่าจะมีอำนาจไม่น้อยที่จะดลบันดาลสิ่งใดๆ ได้
แต่ผี, เทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มีอำนาจเหนือธรรมชาติเหล่านั้นไม่ใช่คน
เมื่อไม่ใช่คน ก็สื่อสารกันด้วยภาษาธรรมดาที่คนพูดและร้องเพลงกันทั่วๆไปไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องสร้างภาษาและท่วงทำนองพิเศษเพื่อใช้สื่อสารกับผี เทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์โดยเฉพาะ
เรื่องนี้อาจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายไว้ (ปากไก่และใบเรือ อมรินทร์การพิมพ์ 2527) ว่า โดยทั่วไปมักแบ่งภาษาเป็นประเภทร้อยแก้วกับร้อยกรอง หรือภาษาพูดกับภาษาเพลงซึ่งต่างก็มีลักษณะสุดโต่งไปคนละขั้ว
แต่กึ่งทางของภาษาพูดกับภาษาเพลงคือภาษาร่าย และแม้ว่าร่ายและความเรียงจะก้ำกึ่งกัน แต่ก็แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดแก่ผู้ฟัง(หรืออ่าน)
ภาษาร่ายจึงเหมาะที่จะใช้ในสถานการณ์พิเศษ เช่นกรณีที่จะสื่อสารกับผี เทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์
แต่การสื่อสารกับผี เทวดา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มีพิธีกรรมและจุดมุ่งหมายแตกต่างกัน 2 อย่าง เป็นเหตุให้ทำนองการใช้ภาษาร่ายต้องแตกต่างกันไปด้วย
คือพิธีกรรมที่สื่อสารด้วยคนคนเดียว ใช้ทำนอง “สวด” ส่วนพิธีกรรมที่สื่อสารด้วยกลุ่มคนหลายคน ใช้ทำนอง“เซิ้ง” (มีอธิบายรายละเอียดอยู่ในหนังสือ ภาษาและวรรณคดีในสยามประเทศไทย ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2546)
ภาษาร่าย ของ “หมอผี”
สวด คือพิธีกรรมสื่อสารด้วยคนคนเดียว มักจัดให้มีขึ้นเพื่อความอยู่รอดของครอบครัวและญาติมิตร ได้แก่ พิธีเซ่นสรวงปวงผี พิธีบายศรีสู่ขวัญต่างๆ เช่น สู่ขวัญเรือ สู่ขวัญลาน (นวดข้าว) สู่ขวัญข้าว สู่ขวัญเล้า (ยุ้ง) สู่ขวัญนาค สู่ขวัญแต่งงาน สู่ขวัญโกนจุก และ ฯลฯ
ผู้ทำหน้าที่สวดร่าย เพื่อส่งภาษาและทำนองอันศักดิ์สิทธิ์สื่อสารและสังสรรค์กับปวงผีในสังคมยุคแรกๆ ราว 3,000 ปีมาแล้ว คือ หมอผี (หรือหมอพรหรือหมอขวัญในสังคมยุคแรกๆ คนพวกนี้เป็นผู้มีความรู้พิเศษทางพิธีกรรมประจำเผ่าพันธุ์หรือเทียบเท่ากับนักบวชหรือบัณฑิตในสมัยหลังๆ)
หลังรับศาสนาพราหมณ์กับพุทธจากอินเดีย กระทั่งมีราชสำนักสุวรรณภูมิขึ้นในอุษาคเนย์ บรรดาราชสำนักตระกูลมอญ-เขมร มีภาษาฉันท์และกาพย์บาลีและสันสกฤตใช้สวดในพิธีกรรม
ขณะเดียวกันประชากรพื้นฐานที่เป็นไพร่ข้าในตระกูลไทย-ลาวมีหมอผีใช้ภาษาร่ายในสถานการณ์พิเศษสืบเนื่องจากประเพณีดั้งเดิม
ราชสำนักยกย่องภาษาร่าย
ต่อมาขุนนางตระกูลไทย-ลาว มีอำนาจรัฐแล้วเป็นใหญ่ในราชสำนัก (แทนตระกูลมอญ-เขมร) ก็ยกย่องภาษาร่าย (ของหมอผี) หรือ “คำราษฎร์” เป็นภาษาศักดิ์สิทธิ์สืบทอดจากประเพณีดั้งเดิมด้วย แล้วให้ชาววัดขัดเกลาแต่งภาษาร่ายเป็น “คำหลวง” สำหรับชาววังใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในราชสำนัก เช่น โองการแช่งน้ำ, มหาชาติคำหลวง
จากนั้นราชสำนักได้พัฒนาภาษาร่ายให้มีระเบียบมากขึ้น และใช้ภาษาศักดิ์สิทธิ์จากต่างประเทศมากขึ้นเพื่อติดต่อกับทวยเทพชั้นสูงได้ ซึ่งเท่ากับยกระดับภาษาร่ายให้สูงขึ้นกว่าประเพณีของชาวบ้านด้วย ดังเห็นอยู่ในคำประณามพจน์ทั้งหลายในตอนต้นของวรรณคดีราชสำนัก แล้วถือปฏิบัติสืบเนื่องกันต่อมาจนกลายเป็นร่ายสุภาพที่มีกำหนดกฎเกณฑ์เคร่งครัดมากมาย เช่น กำหนดจำนวนคำแต่ละวรรค กำหนดวิธีการจบร่ายแบบโคลง เป็นต้น
กฎเกณฑ์อันค่อนข้างเคร่งครัดที่ราชสำนักสมัยต้นกรุงศรีอยุธยาสร้างขึ้นมากำหนดภาษาร่าย ก็เท่ากับเป็นข้อบังคับให้นักสวดในวัดและในวัง ต้องขัดเกลาทำนองสวดร่ายของหมอผี (หมอพรและหมอขวัญ) ให้มีแบบแผนค่อนข้างแน่นอน และให้มีลีลาประณีตขึ้น เพื่อให้เป็นประเพณีหลวงโดยเฉพาะ (ซึ่งจะแตกต่างจากประเพณีราษฎร์) เช่น การสวดมหาชาติคำหลวง
แม้เจรจาโขนของราชสำนักอยุธยาสืบจนทุกวันนี้ก็เป็นภาษาร่าย ที่มีรากเหง้าจากตระกูลไทย-ลาว สองฝั่งโขง
ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ มติชนสุดสัปดาห์ ลงฉบับประจำวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม 2555