ความรู้เบื้องต้นเกี่่ยวกับการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์

นิยามของคำว่า พิพิธภัณฑ์
         สถานบันใดก็ตามที่ตั้งขึ้นโดยไม่หวังผลประโยชน์หรือหากำไร จัดตั้งขึ้นเพื่อบริการรับใช้สังคมและเพื่อการพัฒนาสังคม และเปิดให้สาธารณะชนทั่วไปเข้าชม จัดแสดงเผยแพร่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการศึกษาหาความรู้ เพื่อการศึกษาเล่าเรียน เพื่อบันเทิงใจต่อหลักฐานทางวัตถุ
 

พิพิธภัณฑ์สถานคืออะไร
       คือ สถาบันที่จัดตั้งขึ้น เพื่อรวบรวม สงวนรักษา ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และจัดแสดง วัตถุที่เป็นหลักฐานเกี่ยวข้องกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ทั้งทางวัฒนธรรมและวิทยาศาสตร์ เพื่อประโยชน์ในการศึกษา และความเพลิดเพลิน ให้รวมถึงหอศิลปะ อนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ สวนสัตว์

หน้าที่ของพิพิธภัณฑ์สถาน

  1. การสำรวจ รวบรวม แสวงหาวัตถุพิพิธภัณฑ์
  2. การจำแนก การจัดทำทะเบียน
  3. การอนุรักษ์ สงวนรักษา รักษาความปลอดภัย
  4. การศึกษาค้นคว้าวิจัย
  5. การจัดแสดงเผยแพร่
  6. การให้บริการการศึกษา

พิพิธภัณฑ์ : สถาบันทางสังคมวัฒนธรรม
         เรื่องพิพิธภัณฑ์ที่เราๆ ท่านๆ พูดคุยและรับรู้กันมาในช่วงเวลาไม่ถึง 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นหลักในฐานะของการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ซึ่งแต่เดิมนั้นเรามักจะเน้นย้ำเรื่องการศึกษามากกว่าเรื่องของการเรียนรู้
         แต่โลกเราทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงไป ประเทศต่างๆ หันมาสนใจเรื่องการเรียนรู้กันมากขึ้น โดยเฉพาะกับเยาวชน ดังจะเห็นได้จากโครงการต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์มีการออกแบบไว้เพื่อสนับสนุนการศึกษาและการเรียนรู้ ซึ่งมีรูปแบบและหน้าที่ที่หลากหลาย จนทำให้เกิดอาชีพใหม่ๆ ตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนักการพิพิธภัณฑ์ นักการศึกษา (ด้านศิลปะและวัฒนธรรม) ตลอดจนอาชีพสุดฮิตอย่าง ภัณฑารักษ์ หรือ คิวเรเตอร์
(ภัณฑารักษ์ คือ ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ดูแลพิพิธภัณฑ์หรือนิทรรศการ ความหมายความตัวอักษร ก็คือ ผู้ดูแลรักษาคลังเก็บสิ่งของ มาจากคำศัพท์ภาษาสันสกฤต ภาณฺฑารากฺษ (ภาณฺฑ + อารกฺษ) ความหมายโดยทั่วไป คือ "ผู้ดูแลสถานที่จัดแสดงและสิ่งจัดแสดง")
 

         ทุกอย่างที่กล่าวมานี้ไม่ใช้เรื่องแปลกใหม่ เพราะหากเราโยงเข้ากับประวัติศาสตร์ของประเทศแล้ว จะพบว่าภัณฑารักษ์ในเอกสารสมัยรัชกาลที่ 5 นั้น เรียกทับศัพท์ว่า  “กุเรเตอ” แต่ว่าทำไมเรื่องเก่าๆ ที่มีอายุกว่า 100 ปีนั้น จึงพึ่งจะมาได้รับการสนใจอย่างแพร่หลายในวันนี้ หลายคนอาจบอกแบบฟันธงว่า เป็นเพราะระบบการศึกษาล้มเหลว ซึ่งคนที่บอกก็มักจะเป็นคนที่โตมากับระบบการศึกษานี้เช่นกัน แถมยังอยู่ในระบบนี้ได้ดีกว่าอีกหลายคนเสียด้วยซ้ำไป บางคนอาจบอกไปสุดโต่งอีกทางหนึ่งว่าก็ทั่วโลกเขาฮิตกันอยู่ แล้วทำไมเมืองไทยในยุคข้อมูลข่าวสารโลกานุวัตรจะไม่ตามให้ทัน เพราะเราเดินไปไกลจนถึงวัฒนธรรมคลิปจากกล้องมือถือและกล้องวีดีโอกันแล้ว

         แต่สาระสำคัญที่คิดว่าน่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดน่าจะได้แก่ การที่พิพิธภัณฑ์นั้นเป็นเรื่องของคน
“คน” ในที่นี้หมายถึงทุกคน เนื่องจากความหมายและการตีความพิพิธภัณฑ์ในแบบเดิมๆ นั้นมักจะเป็นไปในลักษณะของการเป็นสิ่งของหรือที่เรียกว่าคอลเล็คชั่น และเฉพาะกลุ่มคน อาทิผู้เชี่ยว ชาญเฉพาะด้านมากกว่า ที่จะเป็นเรื่องของคนทั่วๆ ไป ความคิดดังกล่าวนี้ หากพิจารณาผ่านประวัติ  ศาสตร์การพิพิธภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมวัฒนธรรมตะวันตก แล้วเกิดจากความล้มเหลวในระบบพิพิธภัณฑ์

         ฉะนั้น อย่าไปเผลอคิดว่าฝรั่งเขาประสบความสำเร็จในเรื่องพิพิธภัณฑ์ เพราะก่อนที่จะประสบความสำเร็จในวันนี้นั้น เขาประสบความล้มเหลวมาก่อน แต่เขาได้นำเอาความล้มเหลวนั้นมาศึกษาจนหารูปแบบที่เหมาะสมกับบริบททางสังคมวัฒนธรรมของเขาเองต่างหาก
         ในวันนี้ พิพิธภัณฑ์ในโลกตะวันตกจึงกลายมาเป็นแม่แบบที่เรามักจะขอเข้าไปศึกษาอยู่เนื่องๆ ซึ่งประเด็นของการให้ความสำคัญกับคนในฐานะของการเป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์นี้เอง ทำให้รัฐบาลต่างๆ ให้การสนับสนุน ซึ่งของประเทศไทยเองก็เช่นกัน สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาตินี้จึงถือกำเนิดด้วยการเห็นคุณค่าของคนในฐานะเจ้าของ ในฐานะของผู้ชมที่มีความสำคัญ เพราะพิพิธภัณฑ์จะประสบความสำเร็จหรือความล้มเหลวนั้นวัดได้จากคนในสังคมนั่นเอง

         ที่กล่าวอย่างนี้มิได้หมายความว่าพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งมาในบ้านเราที่มีอายุนับร้อยปี จะไม่มีความสลักสำคัญ แต่เพียงเพราะบทบาทในฐานะผู้ตั้งรับแบบเดิมนั้น อาจกำลังต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของการเรียนรู้ที่จำเป็นต้องอาศัยพิพิธภัณฑ์เป็นส่วนสำคัญ ในการสนับสนุนที่มีบทบาทในเชิงรุก ซึ่งไม่ได้หมายความถึงเด็กและเยาวชนเท่านั้น แหล่งเรียนรู้นี้เปิดกว้างสำหรับผู้คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกชั้นวรรณะ โดยไม่แยกเขาหรือเรา สถานบันทางสังคมวัฒนธรรมในลักษณะนี้จึงเป็นเสมือนตัววัดความเป็นประชาธิปไตยไปด้วยนั่นเอง
 

อุปสรรคในการเข้าพิพิธภัณฑ
         อุปสรรคหลักในการเข้าพิพิธภัณฑ์เกี่ยวเนื่องกับจิตรวิทยาในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ เนื่องจาก   ผู้เข้าชมบางกลุ่มรู้สึกห่างเหินและรู้สึกไม่มั่นใจกับการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ เพราะสถานภาพทางสังคมของพิพิธภัณฑ์เอง (สถานที่ที่เต็มไปด้วยองค์ความรู้) อีกประการหนึ่ง คือ ประเด็นของโครงสร้าง เช่น ความพร้อมทางกายภาพและอายุ
         ถึงแม้เรามักจะได้ยินกันบ่อยครั้งว่าพิพิธภัณฑ์เป็นสถานที่สำหรับทุกคน แต่การเข้าถึงคงเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้โดยทั่วไป เนื่องมาจากสถานภาพด้านการศึกษา โดยกล่าวได้ว่า พิพิธภัณฑ์แบ่งประชาชนทั่วไปออกเป็นสองประเภทด้วยกัน คือ คนที่มี
“วัฒนธรรม” หรือ “ศักยภาพ” โดยถือว่าพิพิธภัณฑ์เป็นเรื่องของสถานที่ที่พึงเข้าชมยามว่าง ในขณะที่กลุ่มคนอีกประเภทจะไม่คิดเช่นนั้น แนวคิดนี้ตอบรับกับงานวิทยานิพนธ์ของบูร์ดเยอ (Bourdieu) ในปี ค.ศ.1984 ว่า “งานศิลปะจะมีความหมายและน่าสนใจสำหรับคนที่มีศักยภาพทางวัฒนธรรมเท่านั้นมันมีรหัสที่เราต้องถอดออกมา” ดังนั้นการที่เราจะมี “ศักยภาพทางวัฒนธรรม” เพื่อเข้าใจผลิตผลทางวัฒนธรรมได้นั้น เราต้องมีประสบการณ์ด้านการจัดเกลาทางสังคมที่ผ่านการอบรมมาแต่เยาว์วัยและการศึกษา ซึ่งจะเป็น “ทุนทางวัฒนธรรม” ที่จะแยกแยะคนที่มี “รสนิยม” ออกจากคนที่ไม่มีงานวิทยานิพนธ์ของบูร์ดิเยอตอกย้ำความคิดนี้โดยชี้ให้เห็นว่าผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์มีแนวโน้มมาจากกลุ่มคนที่มีสถานภาพทางสังคมที่สูงกว่าและมีการศึกษา

         พิพิธภัณฑ์จึงอาจเป็นสถานที่ที่เป็นการ
“เผชิญหน้ากัน” (กับผู้รับ)ที่สำหรับค้นหาประสบการณ์ ใหม่ และถกเถียงทางวิชาการ และแม้ว่าพิพิธภัณฑ์จะเปิดประตูกว้างและพยายามผลักดันให้กลุ่มผู้เข้าชมหลักมีส่วนร่วมแล้วก็ตาม พิพิธภัณฑ์ยังคงเป็นอุปสรรคทางจิตรสำหรับคนทั่วไปอยู่ดี ดังนั้นถ้าพิพิธภัณฑ์ต้องการทำลายกำแพงทางวัฒนธรรมลง คงต้องมีการเปิดพิพิธภัณฑ์ให้กับชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งคือการสร้างประชาวัฒนธรรมหรือการสนับสนุนให้เกิดการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ให้มากที่สุด อันเป็นหนทางหนึ่งในการส่งเสริมให้เกิดประชาธิปไตยทางวัฒนธรรม ในความหมายของการสร้างสรรค์และการร่วมมือกันของพิพิธภัณฑ์กับคนในชุมชน
 

         เมื่อเราคิดถึงการสร้างความคุ้นเคยกับการมีพิพิธภัณฑ์ ให้กับชุมชนด้วยการสนับสนุนให้มีพิพิธภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นเกิดขึ้น (หรือในบางชุมชนอาจมีพิพิธภัณฑ์หรือแหล่งเรียนรู้อยู่แล้ว) สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือการนำเสนอเรื่องราวในพิพิธภัณฑ์ดังกล่าว ความรู้สึกของผู้เข้าชมโดยส่วนมาก โดยเฉพาะคนที่ไม่ “คุ้น” กับพิพิธภัณฑ์ มักจะเห็นเรื่องราวที่อยู่ในสถานที่ดังกล่าวเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ใช่เรื่องราวที่สามารถเชื่อมโยงกับชีวิตของพวกเขาได้ ยกตัวอย่างเช่น หากมีการนำเสนอเรื่องราวในนิทรรศการชั่วคราวด้วยการสร้างหัวข้อร่วมกันกับชุมชน ให้พวกเขาได้มีส่วนในการออกความคิดเห็นในส่วนที่เป็นเนื้อหา การออกแบบ และแม้แต่เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ ปัจจัยเหล่านี้สามารถทำให้ยอดผู้เข้าชมที่เป็นคนในชุมชนสูงขึ้นอย่างแน่นอน ดังนั้นพิพิธภัณฑ์ต้องให้ความสำคัญกับชุมชนให้มากและโดยเฉพาะการสร้างสรรค์นิทรรศการที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของพวกเขา

         งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าเหตุผลที่ทำให้คนไม่เข้าพิพิธภัณฑ์นั้นอาจมาจากการขาดความสำนึก ขาดเวลา และขาดความสนใจ รวมถึงเหตุผลทางโครงสร้างด้วย สิ่งที่น่าสนใจคือมีปัจจัยอยู่ 4 อย่างที่ช่วยในการตัดสินใจในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ คือ ความสำนึก การเข้าถึงได้ง่าย สิ่งที่มีความหมายและสำคัญต่อผู้เข้าชม และความเข้าใจของพิพิธภัณฑ์ ทั้งนี้เราสามารถพิชิตสิ่งที่มีความหมายต่อผู้เข้าชมและความเข้าใจได้ (ซึ่งเป็นปัจจัยทางจิตรวิทยา) เมื่อเรากลายเป็นผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์แล้วเท่านั้น ข้อแนะนำที่สามารถทำให้สถานการณ์ทางจิตรวิทยาดีขึ้นคือพิพิธภัณฑ์ต้องคำนึงถึงบริบทของชุมชนด้วยการมอบบริการชุมชน มากกว่าเป็นอาคารหลังเดียวที่เล่า
“ความเป็นจริง” ทางประวัติศาสตร์ โดยพิพิธภัณฑ์อาจใช้เรื่องเล่าจากชุมชน สร้างกิจกรรมที่น่าสนใจให้กับคนที่อาศัยในชุมชน และการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ ซึ่งอาจมีทั้งสิ่งของจัดแสดงและกิจกรรมต่างๆ

         อุปสรรคทางจิตรวิทยาจะถูกกำจัดลงได้ถ้าหากท่าทีของพิพิธภัณฑ์เปลี่ยนแปลงไปด้วยการไม่มองข้ามบทบาทของชุมชนที่เปรียบเสมือนผู้ที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และเห็นว่าชุมชนมิได้อยู่กับพิพิธภัณฑ์เพื่อการศึกษาแต่เพื่อช่วยด้านกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้อย่างตั้งใจอาจมีประสิทธิภาพมากกว่าการศึกษา เนื่องจากการเรียนรู้สามารถรวมถึงความอยากรู้อยากเห็นและการกระตือรือร้นในการค้นหา ดังนั้นคนทำพิพิธภัณฑ์ต้องรู้จักแบ่งปัน ไม่นำพาผู้เข้าชมเข้าสู่ประเด็นของตน และจดจำว่าพิพิธภัณฑ์จะถูกชื่นชมเยี่ยงสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับชุมชน ถ้าพิพิธภัณฑ์และชุมชนถูกมองว่าเป็นผู้ร่วมงานที่เท่าเทียมกัน และตระหนักว่าผู้ที่ทำให้อุปสรรคทาง
“ศักยภาพทางวัฒนธรรม” ลดลง น่าจะเป็นคิวเรเตอร์
 

         อุปสรรคทางจิตวิทยาด้านการเข้าถึงพิพิธภัณฑ์อาจรวมถึงผู้ทุพลภาพด้วย ซึ่งบางครั้งเจ้าหน้าที่ในพิพิธภัณฑ์มองข้ามไป เช่น การเตรียมทางสำหรับรถคนพิการ นิทรรศการแบบจับต้องได้ หรือกิจกรรมพิเศษสำหรับคนตาบอดหรือหูหนวก เป็นต้น หรือแม้แต่อุปสรรคทางโครงสร้าง เช่น อายุ การเข้าถึงสถานที่ (ไปลำบาก ที่จอดรถ ฯลฯ) ก็สามารถเป็นปัจจัยในการเบี่ยงเบนความตั้งใจของตนในการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ได้เช่นกัน
         การกำจัดหรือการลดอุปสรรต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างผู้เข้าชมและพิพิธภัณฑ์เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก การลดช่องว่างของทั้งสองเป็นหน้าที่ของผู้ทำพิพิธภัณฑ์ ที่ต้องสร้างสรรค์งานให้สอดคล้องและตอบสนองความต้องการของผู้เข้าชม เป็นที่รู้กันดีว่าพิพิธภัณฑสถานไทยมีอุปสรรคที่แตกต่างกันไป ทั้งด้านการบริหารจัดการและด้านผู้เข้าชม หากเรามองโลกในแง่ดี อาจมีความหวังว่าสถานการณ์ของพิพิธภัณฑ์บ้านเรากำลังดีขึ้นและพัฒนาสู่การเรียนรู้นอกระบบมากขึ้น

การจัดแสดงนิทรรศการ ทำงานอย่างไร ?

  1. ต้องชัดเจน ไม่เปลี่ยน ไม่โลเล
  2. ความพร้อมของทีมที่เกี่ยวข้อง ใครเกี่ยว/ ใครไม่เกี่ยว
  3. มีความเข้าใจในกระบวนการทำนิทรรศการ การเกาะติดสถานการณ์ มีความเป็นทีม
  4. วางแผนการบริหารหรือการให้บริการ

ก่อนการจัดแสดงนิทรรศการ ต้องรู้อะไร ?

  • นิทรรศการคืออะไร ?
    “สื่อ” ที่มุ่งเน้นให้ผู้ชมได้สาระและความเพลิดเพลินในเวลาเดียวกัน
  • นิทรรศการมีหน้าที่อย่างไร ?
    เป็นที่ในการส่งความรู้ผ่านสื่อจัดแสดง เพื่อให้ผู้ชมเกิดความเข้าใจ และจดจำเรื่องราวได้
  • นิทรรศการที่เราตั้งใจมีรูปแบบ แบบไหน ?
    เน้นวัตถุ  เน้นการจำลองสถานการณ์ เน้นเนื้อหา  หรือผสมทั้ง 3  รูปแบบ

ถ้าจะทำนิทรรศการต้องมีอะไรบ้าง ?

  1. ศึกษาความพร้อมของตัวเรา :  แหล่งข้อมูล, วัตถุจัดแสดง, การบริหารจัดการ, งบประมาณ
  2. ตั้งทีม : วิชาการ  ออกแบบ  บริการ
  3. กำหนดเป้าหมาย  วัตถุประสงค์  หรือ Positiong
  4. กำหนดกลุ่มเป้าหมายหลัก เพื่อกำหนดรูปแบบการสื่อสารที่ตรงกลุ่ม
  5. กำหนดเนื้อหาที่ต้องการสื่อสาร
  6. กำหนดทิศทาง  รูปแบบการให้บริการ

การบริหารงานในส่วนของการจัดแสดงนิทรรศการ : งานหน้าฉาก
         การจัดแสดงนิทรรศการ
                 1. ก่อนการจัดแสดงนิทรรศการต้องรู้อะไร ?
                 2. เริ่มการจัดแสดงนิทรรศการทำอย่างไร ?
                 3. เมื่อเปิดให้บริการ

        
เมื่อเปิดให้บริการ
                 1. วางแผนปฏิบัติการตามกรอบของแผนบริหาร
                 2. มีบุคลากรที่จำเป็นกับงาน
                     - งานดูแลระบบและการบำรุงรักษา
                     - งานบริการความรู้
                     - งานการตลาด
                     - งานประชาสัมพันธ์
                 3. มีงบประมาณหรือแหล่งที่มาของรายได้เพียงพอกับงาน
 

ความเป็นมาของการแสดงพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการในเมืองไทย
       นิทรรศการ (Exposition หรือ Exhibition) และพิพิธภัฑ์ (Museum) เป็นวัฒนธรรมสมัยใหม่นำเข้าจากตะวันตกตั้งแต่ศตวรรษที่ 19   ยุคแรกใช้ทับศัพท์เอกซฮิบิเชน และสื่อความหมายถึงการจัดแสดงนิทรรศการที่เป็นผลผลิตสินค้า กับการแสดงพิพิธภัณฑ์
      
รัชกาลที่ 4 ทรงจัดแสดงมิวเซียมในพระบรมมหาราชวังที่พระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์หนึ่งในหมู่พระอภิเนาว์นิเวศน์   รัชกาลที่ 5 ทรงย้ายมาจัดแสดงที่ศาลาสหทัยสมาคมก่อน
         ราชสำนักยุโรปในยุคเดียวกัน นิยมจัดแสดงของสะสมส่วนพระองค์ส่วนหนึ่งเป็นเครื่องราชบรรณาการจากต่างแดนในภาพเป็นหอพิพิธภัณฑ์ส่วนพระองค์ของจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 และพระนางยูเจนีแห่งฝรั่งเศส ที่ห้องจีน  นิทรรศการเป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่ไทยมีประสบการณ์ร่วม ดังภาพชุดต่อไปนี้ เป็นงานแสดง L’Exposition Universelle (มหกรรมโลกกรุงปารีส พ.ศ. 2410) รัชกาลที่ 4 ทรงส่งนิทรรศการเผยแพร่ภาพลักษณ์สยามไปแสดงในงานด้วย ในภาพแสดงมี ส่วนแสดงเครื่องมหัคภัณฑ์หรือเครื่องสูงอันเป็นสิ่งของเนื่องในพระมหากษัตริย์ พร้อมด้วยพระบรมฉายาลักษณ์, ตู้แสดงเครื่องดนตรีและห้องเครื่องประมง, ตู้แสดงอาวุธและงาช้าง, ซุ้มประตูสยามและประตูทางเข้าด้านใน ฯลฯ

        
ปี พ.ศ. 2434 ย้อนเวลากลับไปเริ่มมีการบัญญัติศัพท์ “พิพิธภัณฑ์”  แทนคำว่า “เอกซฮิบิเชน” แต่ไม่ทั้งหมด มิวเซียมหรือพิพิธภัณฑ์ ทำหน้าที่คลังเก็บเครื่องมหัคภัณฑ์ (ของใช้พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นวัตถุจัดแสดง กลุ่มหนึ่งในเอกซฮิบิเชน)
      
ปี พ.ศ. 2469 พิพิธภัณฑ์เริ่มจัดแสดงโบราณวัตถุที่ได้จากการค้นพบทางโบราณคดี เพื่อให้เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ชาติไทย
        
ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมามีการบัญญัติศัพท์คำว่า “นิทรรศการ” แทนคำภาษาอังกฤษว่า “Exhibition” แต่ “นิทรรศการ”
มีความหมายไม่เหมือนการจัดแสดงเอกซฮิบิเชน ก่อน พ.ศ.2475

ักษณะและรูปแบบการจัดแสดงเอกซฮิบิเชน

  1. การจัดแสดงในที่สาธารณะเปิดกว้างต่อผู้เข้าชม
  2. อาจเป็นพื้นที่เปิดโล่งหรือไม่ก็มีการสร้างอาคารถาวรหรือชั่วคราวเพื่อการจัดแสดง
  3. กำหนดระยะเวลาจัดงานชัดเจน
  4. จัดกิจกรรมเสริมเพื่อดึงดูดผู้เข้าชมให้ชมสม่ำเสมอต่อเนื่องจำนวนมาก กิจกรรมเสริมได้แก่ การประกวด การประชุม การออกร้าน ขายสินค้า การแสดงมหรสพ  การละเล่น ฯลฯ
  5. วางเป้าหมายการจัดแสดงเพื่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซื้อขายแลกเปลี่ยน  การจับจ่าย  เพื่อบริโภคอุปโภค (shopping) ทำให้เงินตราหมุนเวียน

เป้าหมายการจัดแสดงเอกซฮิบิเชน
         นำเสนอตัวตนของชาติสมัยใหม่ของไทยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางและผู้นำความเจริญทันสมัยมาสู่ราชอาณาจักรสยาม โดยผ่านวัตถุจัดแสดง คือ

  1. เครื่องสูงและเครื่องมหัคภัณฑ์ (ตัวตนพระมหากษัตริย์)
  2. ผลงานของกระทรวงต่างๆ ซึ่งเป็นระบบราชการสมัยใหม่ที่พระมหากษัตริย์ไทยปฏิรูปขึ้นให้เป็นการขับเคลื่อนประเทศให้เป็นสมัยใหม่

         นำเสนอความอุดมสมบูรณ์ของราชอาณาจักร และความสามารถของประชากรสยามในด้านการผลิต โดยผ่านวัตถุจัดแสดง

  1. สินค้าสำคัญ คือ ข้าว ป่าไม้ แร่ธาตุ
  2. ผลผลิตที่เป็นงานประณีตศิลป์ของพื้นบ้านเกิดจากงานช่างฝีมือชาวบ้าน เช่น เครื่องจักรสาน งานแกะสลัก งานหล่อ งานพิมพ์

         นำเสนอรากฐานของความเป็นชาติอารยะผ่านการแสดงเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ และวัฒน ธรรม  โดยวัตถุจัดแสดง

  1. เอกสารตัวเขียนพงศาวดารหรือประวัติศาสตร์สยาม
  2. สมุดข่อยแสดงอักษรไทย วรรณกรรมและความรู้อื่นๆ
  3. ภาพเขียนประวัติศาสตร์ เช่น โคลงภาพชุดพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 5 ช่วงเวลาจัดงาน ตั้งแต่ 1 สัปดาห์ ถึง 1 เดือน

การจัดแสดงนิทรรศการปัจจุบัน
       ความเป็นมา
         เป็นการพัฒนาที่เชื่อมโยงกับหลักการจัดแสดงนิทรรศการในโลกสากล ที่สร้างฐานจากงานแสดงสินค้า (Trade  Fair) ซึ่งต้นกำเนิดมาจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป้าหมายเพื่อการดูชมและการแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า ต่อมาขยายการจัดแสดงออกไปเรื่องอื่นๆ ทั้งในด้านวัฒนธรรม เช่น พิธีกรรม ความเชื่อ  ชีวิตความเป็นอยู่ ด้านอุตสาหกรรม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ศิลปะและสถาปัตยกรรม
         เป้าหมายนอกจากเพื่อการค้าขายแล้ว  ยังเป็นการให้ความรู้เรียนรู้ประสบการณ์หรือกระตุ้นเจตนคติใหม่ๆ เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการท่องเที่ยว
 

       ปัจจุบันการจัดแสดงนิทรรศการมี 2 รูปแบบ
                 1. แบบทั่วไป
                 2. แบบถาวร

นิทรรศการแบบทั่วไป

  1. จัดแสดงเฉพาะเรื่องในเรื่องหนึ่ง ที่อาจเป็นการนำเสนอสินค้า ผลผลิตหรือความรู้    ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง
  2. มีองค์ประกอบของการจัดแสดง คือ วัตถุ  อุปกรณ์ สิ่งของ  กิจกรรม โดยที่ต้องมี   การจัดวางและนำเสนออย่างสัมพันธ์กัน เพื่อบ่งบอกถึงลักษณะเด่น  ตัวตน เอกลักษณ์ของเรื่องที่นำเสนอ ดังนั้นจึงต้องมีการออกแบบสร้างสรรค์การจัดวาง
  3. การออกแบบจัดแสดงมีเป้าหมายชัดเจน
  4. มีรูปแบบการเสนอวัตถุจัดแสดง  ให้สามารถสื่อสารด้วยภาษาหรือท่วงทำนองปลุกเร้ากระตุ้นความสนใจผู้ชม
  5. ต้องสื่อสารหรือความรู้ให้ผู้ชมสามารถรับหรือตระหนักได้ ด้วยการเสริมกิจกรรม ในการชมด้วยวิธีฟัง สังเกต จับต้องและทดลองปฏิบัติได้ ด้วยตัวเอง ด้วยสื่อสาร รูปแบบการจัดแสดงหลากหลาย ตั้งแต่วัตถุของจริงภาพแบบจำลอง แผ่นป้าย คำอธิบาย สื่อมัลติมีเดียและกิจกรรมแบบมีส่วนร่วม เช่น จัดประกวด แข่งขันชิงด โชค เล่นเกม บรรยาย สาธิต อภิปราย ตอบคำถาม เป็นต้น
  6. ใช้เวลาจัดแสดงไม่นานราว 1-7 วัน หรือ 1 เดือน
  7. นิทรรศการอาจเคลื่อนย้ายไปจัดแสดงที่อื่นได้ แต่ไม่มากครั้ง
  8. ไม่ได้ใช้วัตถุอุปกรณ์ที่ซับซ้อนในการติดตั้งหรือคุณภาพคงทนมากนัก

นิทรรศการถาวร

  1. เป็นนิทรรศการที่มีเนื้อหาจัดแสดงสมบูรณ์แบบรอบด้านและชัดเจน
  2. จัดแสดงในสถานที่เฉพาะแห่งใดแห่งหนึ่งยาวนานอย่างน้อย 5-10 ปี
  3. ใช้งบประมาณก่อสร้างสูง
  4. ใช้วัตถุจัดแสดงคงทน
  5. มีการออกแบบเพื่อสื่อความหมายเฉพาะ
  6. มีการบริหารจัดการแสดงอย่างมีระบบชัดเจน

มีองค์ประกอบ ประกอบด้วย

  1. ผู้จัดหรือเจ้าของ ที่มีบทบาทหน้าที่กำหนดแนวคิดและเนื้อหาการจัดแสดง โดยให้ความร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กร (ส่วนใหญ่เป็นเอกชน) ที่มีทักษะความ ชำนาญในวิชาชีพการจัดแสดงนิทรรศการ
  2. สถานที่จัดงานที่เหมาะสมกับเรื่องที่จัดแสดง
  3. แนวคิด โครงเรื่อง  แก่นเรื่อง  ที่กำหนดเป็นกรอบเรื่องเล่า  และทำให้การเล่าเรื่อง ชวนติดตาม
  4. วัตถุจัดแสดง ประกอบด้วยวัตถุของจริง แบบจำลอง ฉาก ภาพถ่าย สื่อวีดีทัศน์
  5. สคริปต์  บทบรรยาย ป้ายนิเทศวัตถุจัดแสดง
  6. กำหนดกลุ่มเป้าหมายผู้ชมให้ชัดเจน
  7. มีรูปแบบการจัดแสดงที่ผสมผสานระหว่างการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ
  8. มีรูปแบบการจัดแสดงนิทรรศการ ที่แตกต่างจากพิพิธภัณฑ์ตรงที่มีการกำหนดแนว เรื่องและโครงเรื่องที่ต้องการนำเสนอได้ชัดเจนกว่า ทำให้สามารถเสนอตัวตนของ เรื่องหรือสร้างจุดสนใจในการนำเสนอได้ดีกว่า
  9. เรื่องเล่าในนิทรรศการอาจเป็นเรื่องวิถีชีวิตความเป็นอยู่มนุษย์หรือสิ่งมีชีวิต ประวัติ  บุคคล เรื่องราวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดาราศาสตร์ ฯลฯ