สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้พระสังฆราชฝรั่งเศสเข้าเฝ้า

ข้อมูลจากหนังสือ พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน
พระสังฆราชผู้ยิ่งใหญ่ ชาวคริสต์ ผู้มีชัยและเป็นผู้ตื่นรู้ในธรรม
ซิสเตอร์ซีมอนนา สมศรี บุญอรุณรักษา เขียน
 
ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 17 ราชอาณาจักรสยามเป็นประเทศที่บริษัทอินเดียตะวันออกฝรั่งเศสให้ความสนใจอย่างมากที่จะมาตั้งสถานีการค้า เพราะจากตอนใต้ของประเทศสยาม พ่อค้าชาวฝรั่งเศสสามารถเดินทางต่อไปยังเกาะสุมาตรา บอร์เนียว ชวา และจากทิศตะวันตกสามารถขยายไปจนถึงหมู่เกาะอินเดีย มาดากัสกา และทางด้านตะวันออกก็สามารถขยายไปตั้งสถานีการค้าที่โคชินจีน ตังเกี๋ย จีน และญี่ปุ่น
 
บริษัทการค้าอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสตั้งขึ้น ค.ศ. 1664/พ.ศ. 2207 โดยฉอง บัปติสต์ กอลแบรต์ เสนาบดีการคลังของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จุดประสงค์คือ เพื่อเป็นเครื่องมือการค้าระหว่างประเทศฝรั่งเศสกับประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย และเป็นคู่แข่งกับบริษัทการค้าของประเทศอื่นๆ ในยุโรป ที่ตั้งขึ้นก่อนหน้านั้น คือบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ (ฮอลันดา) บริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสดำเนินการจนถึง ค.ศ. 1795/พ.ศ. 2338 จึงปิดกิจการลง
 
แม้ว่าบริษัทได้เปิดดำเนินกิจการและเข้ามาตั้งสถานีการค้าในภูมิภาคเอเชียแล้ว แต่การติดต่อโดยตรงและอย่างเป็นทางการระหว่างประเทศฝรั่งเศส และราชอาณาจักรสยามยังไม่ได้เกิดขึ้นจำเป็นต้องรอไปอีก 20 ปี เมื่อครั้งที่ผู้แทนของสมเด็จพระนารายณ์ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่พระราชวังแวร์ซายส์เมื่อ ค.ศ. 1684/พ.ศ. 2227 เพราะก่อนหน้านั้นมีเพียงการติดต่อกันทางจดหมายเท่านั้น 
 
สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้พระสังฆราชฝรั่งเศสเข้าเฝ้า
 
วันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ. 1667/พ.ศ. 2210 พระสังฆราชลังแบรต์ได้เขียนจดหมายไปหาพระสังฆราชปัลลือ ขอให้ท่านกราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้ส่งทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักสยามเหมือนที่ชาวฮอลันดาได้ทำและประสบความสำเร็จอย่างดี จุดประสงค์เพื่อตกลงเกี่ยวกับเรื่องการค้า เพราะท่านลังแบรต์ทราบข่าวว่า พระเจ้าหลุยส์ทีพระประสงค์จะตั้งสถานีการค้าขึ้นในทวีปเอเชีย ความคิดของท่านลังแบรต์คือ ถ้าทูตฝรั่งเศสสามารถทำให้สมเด็จพระนารายณ์ทรงเปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ ก็จะเป็นการง่ายที่ชาวสยามจะกลายเป็นคริสตังด้วย
 
แต่พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไม่ได้ทรงส่งทูตเข้าไปในประเทศสยามทันที พระองค์เพียงแต่มอบพระราชสาส์นถึงสมเด็จพระนารายณ์มากับพระสังฆราชปัลลือ พระราชสาส์นฉบับนี้เขียนเมื่อวันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1670/พ.ศ. 2213 แต่กว่าสมเด็จพระนารายณ์จะทรงได้รับ ต้องรอไปจนถึงปลายปี ค.ศ. 1673/พ.ศ. 2216
 
พระสังฆราชปัลลือเดินทางมาถึงกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ. 1673/พ.ศ. 2216 ทันที่ท่านปัลลือมาถึง ท่านลังแบรต์ได้กราบทูลสมเด็จพระนารายณ์ว่า พระคุณเจ้าปัลลือที่ได้ออกจากประเทศสยามไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เดินทางกลับพร้อมกับพระราชสาส์นและของกำนัลจากสมเด็จพระสันตะปาปาและพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แต่พระสังฆราชปัลลือไม่สามารถเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์ได้ทันที เพราะมีปัญหาเรื่องประเพณีการเข้าเฝ้า เจ้าพระยาโกษาธิบดียืนกรานว่าตามระเบียบราชประเพณี ชาวยุโรปทุกคนต้องไม่สวมรองเท้าเข้าเฝ้าและต้องหมอบกราบ แต่พระสังฆราชปฏิเสธที่จะปฏิบัติเช่นนี้ เพราะการปฏิบัติเช่นนี้ไม่เหมาะสมกับการเป็นชาวฝรั่งเศส และตำแหน่งพระสังฆราชผู้แทนของสมเด็จพระสันตะปาปา และของพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส
 
การต่อรองใช้เวลาหลายเดือน ในที่สุดวันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1673/พ.ศ. 2216 ถูกกำหนดให้เป็นวันเข้าเฝ้าเย็นวันที่ 17 ตุลาคม คุณพ่อลาโนและมิชชันารีทุกองค์ที่อยู่กรุงศรีอยุธยาพร้อมด้วยชาวฝรั่งเศสอีก 7 คน  อัญเชิญพระสมณสาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 9  และพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เข้าไปวางไว้ในพระราชวังหลังหนึ่ง ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่เก็บสิ่งของต่างๆ จากนั้นขุนนางผู้ใหญ่ที่ได้มาอัญเชิญพระราชสาส์นแต่ละฉบับวางลงบนพานทองสองใบ และอัญเชิญเข้าไปในท้องพระโรงที่มีอัครเสนาบดีและขุนนางผู้ใหญ่รออยู่ คุณพ่อลาโนได้แปลพระสมณสาส์นและพระราชสาส์นเป็นภาษาสยามต่อหน้าเสนาบดีเหล่านั้น จากนั้นมีงานเลี้ยงรับรองคุณพ่อลาโน มิชชันนารี และชาวฝรั่งเศสที่อยู่ที่นั่น เมื่องานเลี้ยงสิ้นสุดลง ขุนนางผู้ใหญ่สองคนได้อัญเชิญพระราชสาส์นขึ้นเสลี่ยงสองหลัง ผู้ทำหน้าที่แบกเสลี่ยงเป็นขุนนางผู้ใหญ่เช่นเดียวกัน มีเจ้าหน้าที่ถือกลดกางเหนือพระราชสาส์น ขุนนางแห่งพระราชสาส์นไปยังพระบรมมหาราชวัง ติดตามด้วยขบวนทหารกองเกียรติยศ ระหว่างที่แห่พระราชสาส์น มีการบรรเลงเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ
 
รุ่งขึ้นวันที่ 18 ตุลาคม ประมาณห้านาฬิกาตอนเช้า เรือหลวงลำหนึ่งประดับตกแต่งอย่างสวยงาม มีฝีพายประมาณ 50 คน ติดตามด้วยเรือเล็กอีก 4 ลำ มารับพระสังฆราชปัลลือ พระสังฆราชลังแบรต์ พระคุณเจ้าทั้งสององค์สวมชุดพระสังฆราชครบชุด ตลอดการเดินทางมีการบรรเลงเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ พระสังฆราชได้ผ่านพระราชฐานทั้งหมด 4 ชั้น แต่ละชั้นมีทหารและขุนนางยืนประจำการอยู่เป็นจำนวนมาก เมื่อเข้าไปถึงพระราชฐานชั้นในแล้ว สมเด็จพระนารายณ์เสด็จออก ทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมสีทองและสีแดงขลิบทอง บรรดาเสนาบดีและขุนนางผู้ใหญ่สวมเครื่องแบบเต็มยศและสวมลอมพอกบนศีรษะ
 
พระสังฆราชโค้งคำนับ 3 ครั้ง จากนั้นเดินไปนั่งบนพรมผ้าไหมขลิบเงินขลิบทองที่จัดเตรียมไว้ให้ตรงเบื้องพระพักตร์พระเจ้าอยู่หัว ขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่งอ่านพระสมณสาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาด้วยเสียงอันดัง ข้อความในพระสมณสาส์นมีดังต่อไปนี้
 
          “ขอถวายพระพระแด่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงอานุภาพยิ่งใหญ่
           ขอพระสิริและพระพรของพระผู้เป็นเจ้าสถิตอยู่กับมหาบพิตร
          เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับทราบว่า ราชอาณาจักรของพระองค์เต็มไปด้วยความมั่งคั่งและขึ้นชื่อลือนามอยู่เสมอในรัชสมัยของพระองค์ แต่สิ่งที่ทำให้เราประทับใจมากยิ่งขึ้นคือ พระเมตตา พระยุติธรรม และทศพิธราชธรรมอื่นๆ ที่พระองค์ทรงแสดงออกอย่างที่เที่ยงธรรม พระองค์ยังทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นพิเศษต่อบรรดาผู้ประกาศศาสนา ที่ได้ปฏิบัติภารกิจและเทศน์สอนด้วยความเลื่อมใสศรัทธา พระเกียรติยศและพระอาณานุภาพของพระองค์เป็นที่เลื่องลือทั่วไปในทวีปยุโรป ได้มีการกล่าวถึงพระปรีชาสามารถในพระบุคคลของพระองค์ ทั้งในการปกครองและเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย
        พระสังฆราชแห่งเฮลิโอโปลิศได้แจ้งให้เราทราบถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ไม่เคยมีใครกล่าวถึงมาก่อนคือ การที่พระองค์ได้พระราชทานที่ดินและวัสดุก่อสร้างวัดและบ้านพักให้แก่พระสังฆราชแห่งเบริธ และทรงมีพระทัยโอบอ้อมอารีในเรื่องอื่นๆ อย่างที่บรรดามิชชันนารีรุ่นก่อนๆ ที่ทำงานในราชอาณาจักรแห่งนี้มานานไม่เคยได้รับมาก่อน
        พระคุณเจ้าแห่งเฮลิโปลิศสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และเต็มไปด้วยความเร่าร้อนที่จะช่วยเหลือวิญญาณทั้งหลายให้รอด ได้มาขออนุญาตแก่ท่านสังฆราช เราวิงวอนขอพระองค์ได้โปรดคุ้มครองและพิทักษ์พระสังฆราชทั้งสองจากควาวมเกลียดชัง เจตนาร้าย และการดูหมิ่นจากศัตรู อาศัยพระบารมี พระยุติธรรม และพระเมตตาของพระองค์
     พระคุณเจ้า (ปัลลือ) จะทูลถวายของกำนัลบางอย่าง ของเหล่านี้ไม่มีราคาค่างวดอะไรมากนัก แต่ขอได้โปรดรับไว้เพื่อเป็นเครื่องแสดงถึงไมตรีจิต และความเคารพนับถืออย่างสูงที่มีต่อพระองค์ท่านสังฆราชจะได้กราบทูลพระองค์ว่า เราได้สวดขอพระผู้ทรงสรรพานุภาพตลอดเวลาและในขณะนี้ด้วย ขอพระองค์ประทานพระพรและพระเมตตาแด่พระองค์ให้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพระสิริรุ่งโรจน์แห่งความจริง และอาศัยคำภาวนานี้ หลังจากที่พระองค์ทรงครองราชย์อันยาวนานบนโลกนี้แล้วขอให้พระองค์ได้เสวยราชย์ตลอดนิรันดรในสวรรค์ด้วยเทอญ”
 
             พระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้กล่าวในทำนองเดียวกัน ดังข้อความต่อไปนี้
 
            “ขอถวายพระพรแด่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสูงส่งและทรงอานุภาพ
            พระสหายที่รักยิ่ง
       หลังจากที่ได้รับทราบถึงการต้อนรับอย่างอบอุ่นที่พระองค์ทรงมีต่อบรรดามิชชันนารีชาวฝรั่งเศสผู้กระตือรือร้นในการนำแสงสว่างแห่งความเชื่อ และพระวรสารมาประกาศในราชอาณาจักรของพระองค์ เราขอถือโอกาสที่พระสังฆราชแห่งเฮลิโอโปลิศเดินทางกลับมาในครั้งนี้ แสดงออกถึงความกตัญญูรู้คุณ ที่พระองค์ไม่ทรงเพียงพระราชทานที่ดินให้แก่พระสังฆราชแห่งเบริธเท่านั้น แต่ยังพระราชทานวัสดุในการก่อสร้างวัดและบ้านพักให้แก่มิชชันนารีอีกด้วย พวกเขาได้ประจักษ์ถึงพระมหากรุณาธิคุณในการพิทักษ์ปกป้อง และพระยุติธรรมที่ทรงมีต่อพวกเขาอยู่เนืองๆ เราเชื่อว่าเป็นการเหมาะสมที่จะขอร้องพระองค์ ได้โปรดปฏิบัติต่อบรรดามิชชันนารีและชาวฝรั่งเศสคนอื่นๆ อย่างดี เรารู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์จะทรงมีต่อพวกเขาอย่างหาที่สุดมิได้ และมีความปีติยินดีที่จะได้มีโอกาสแสดงออกถึงความกตัญญูต่อพระองค์ ด้วยการวิงวอนต่อพระเป็นเจ้า โปรดเพิ่มพูนความยิ่งใหญ่ไพศาลและความสุขอย่างสุดจะพรรณา แด่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสูงส่ง เต็มไปด้วยพระอานุภาพและพระเกียรติยศ
            เขียนที่กรุงปารีส เมืองหลวง วันที่ 31 มกราคม ค.ศ. 1670
           (ลงชื่อ) สหายที่รักของพระองค์ หลุยส์
           กอลแบรต์
 
ที่จริงพระสังฆราชปัลลือไม่ได้นำของกำนัลของสมเด็จพระสันตะปาปา ที่ฝากมาถวายสมเด็จพระนารายณ์ มาพร้อมกับท่านด้วย เพราะมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร จึงทำให้ท่านจำต้องทิ้งไว้ที่เมืองบันตัม
 
สมเด็จพระนารายณ์ทรงขอบใจพระสังฆราชปัลลือ  และทรงแสดงความชื่นชมในพระเมตตาของสมเด็จพระสันตะปาปา  และไมตรีจิตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14  ทรงสัญญาจะปกป้องบรรดามิชชันนารี  และทรงมีรับสั่งกับพระสังฆราชลังแบรต์ว่า “พระคุณเจ้าเป็นคนเริ่มสร้างความสัมพันธ์ที่น่าประทับใจนี้  พระคุณเจ้าเป็นคนที่จะรักษาให้ยั่งยืนต่อไป”  หลังจากตรัสแล้ว  ขุนนางคนหนึ่งได้ให้สัญญาณ  นักดนตรีบรรเลงเพลงต่างๆ  สลับกัน  เจ้าหน้าที่นำถาดทองใส่หมากพลูมาบริการพระสังฆราช  ส่วนคนรับใช้อื่นๆ  นำถาดทองที่มีผลไม้และผลไม้กวนมาบริการด้วยเช่นกัน  หลังจากการเลี้ยงอาหารว่างสิ้นสุดลง  สมเด็จพระนารายณ์พระราชทานชุดพระสังหราชสีม่วงให้แก่พระสังฆราชปัลลือและพระสังฆราชลังแบรต์ ส่วนคุณพ่อลาโนพระองค์พระราชทานชุดพระสงฆ์สีดำเพราะท่านได้รับตำแหน่งเป็นพระสังฆราช  แต่ยังไม่ได้รับอภิเษก  พระสังฆราชถูกพากลับไปส่งที่สำนักของท่านด้วยกองเกียรติยศเช่นขามา
 
หลังการเข้าเฝ้าครั้งนี้  ประมุขมิสซังทราบข่าวว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงมีแผนการจะส่งทูตไปยุโรป  เพื่อนำพระราชสาส์นตอบไปถวายสมเด็จพระสันตะปาปาและพระเจ้าหลุยส์ที่ 14  ข่าวนี้ได้นำความยินดีมาสู่พวกท่านเป็นอย่างมาก  บรรดาพระคุณเจ้าอยากจะรีบส่งข่าวไปกรุงโรมและฝรั่งเศส แต่เพื่อความแน่ใจ  ท่านึงไปสอบถามจากเสนาบดีผู้ใหญ่คนหนึ่งถึงข้อเท็จจริงและถามว่าท่านจะสามารถส่งข่าวไปให้สันตะสำนักและราชสำนักฝรั่งเศสรับทราบได้หรือไม่  เสนาบดีท่านนั้นบอกว่าต้องกราบทูลถามโดยตรงต่อพระเจ้าอยู่หัว  แต่ขณะนั้นสมเด็จพระนารายณ์ทรงกำลังเตรียมเสด็จไปแปรพระราชฐานที่พระราชวังลพบุรี  ซึ่งต้องใช้เวลาดเดินทางจากกรุงศรีอยุธยา  2  วัน  พระองค์โปรดไปประทับแรมที่ลพบุรีหลายๆ  เดือนต่อปี  เพื่อล่าเสือและล่าช้าง  แปดวัดต่อมามีคนมาแจ้งว่า  สมเด็จพระนารายณ์จะทรงตอบพระราชสาส์นในปีถัดไป
 
โรงเลี้ยงช้างของสมเด็จพระนารายณ์
 
ขุนนางที่มาส่งข่าวคนเดียวกันนี้ได้แจ้งแก่ท่านสังฆราชว่า พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งว่าถ้าบรรดาพระคุณเจ้าต้องการเดินทางไปที่พระราชวังลพบุรีก็ย่อมทำได้  แต่ก่อนที่พระสังฆราชจะตัดสินใจได้มีคำสั่งจากเสนาบดีผู้ใหญ่ให้จัดเรือให้พระสังฆราชเดินทางไปลพบุรี
 
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดที่จะแปรพระราชฐานไปที่ลพบุรี  เพราะพระภารกิจประจำวันที่กรุงศรีอยุธยานั้นหนักสำหรับพระองค์  พระองค์ทรงตื่นบรรทมตั้งแต่ตีห้า  จากนั้นทรงบาตรกับพระภิกษุที่มารอยู่ที่ประตูพระตำหนัก  เวลาเจ็ดนาฬิกาตอนเข้าทรงประชุมพระสนมนางกำนัลฝ่ายใน  ต่อด้วยมหาดเล็กรักษาพระองค์  เสนาบดี  และเจ้าหน้าที่ที่เป็นชาวต่างชาติ  เวลาสิบเอ็ดนาฬิกาตอนเข้าประชุมเสนาบดีผู้ใหญ่  เวลาเที่ยงเสวยพระกายาหารกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ  เจ้าฟ้าสุดาวดีและพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน  ระหว่างพระกายาหารจะมีขุนนางนำรายงานเกี่ยวกับคดีความต่างๆ  มาให้ทอดพระเนตร หลังพระกายาหารทรงพักผ่อนจนถึงบ่ายสี่โมงเย็น  และตั้งแต่หกโมงเย็นจะทรงประชุมเสนาบดีผู้ใหญ่จนถึงสามทุ่ม  เวลาสี่ทุ่มจนถึงตีสองเป็นการประชุมลับกับคณะองคมนตรี 
 
หลังจากได้รับคำตอบจากราชสำนักสยามแล้ว  พระสังฆราชปัลลือ  พระสังฆราชลังแบรต์และคุณพ่อลาโน  ได้เขียนจดหมายไปกราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14  โดยมีใจความว่า
 
                                                                                                                     “วันที่ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 1673
 
                ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
               พระสังฆราชแห่งเฮลิโอโปลิศได้นำพระสมณสาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปา  และของพระองค์ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแห่งราชอาณาจักรสยามแล้ว พวกข้า พระพุทธเจ้าตระหนักดีว่าควรนำขึ้นทูลเกล้าฯ ด้วยตัวเอง เพื่อประโยชน์ของพระศาสนา พวกข้า พระพุทธเจ้าสามารถที่จะกราบทูลฝ่าพระบาทว่า พระราชสาส์นทั้งสองฉบับได้รับการนำขึ้นทูลเกล้าถวายอย่างสมพระเกียรติเท่าที่ราชสำนักแห่งนี้จะสามารถทำได้  พระเจ้ากรุงสยามมีพระวินิจฉัยว่าจะทรงตอบพระราชสาส์นของฝ่าพระบาท โดยจะทรงส่งทูตไปกับเรือลำหนึ่งของพระองค์ พวกข้า พระพุทธเจ้าเพียงแต่ต้องการกราบทูลถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นที่สบพระทัยในสิ่งที่พวกข้า พระพุทธเจ้าต้องกระทำ  และแสดงออกถึงการจงรักภักดีเท่าที่จะทำได้ต่อฝ่าพระบาท
              ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
              ฟรังซัวส์  พระสังฆราชแห่งเฮลิโอโปลิศ  ประมุขมิสซังตังเกี๋ย
              ปีแอร์  พระสังหราชแห่งเบริธ  ประมุขมิสซังโคชินจีน
             หลุยส์  พระสังฆราชแห่งเมแตลโลโปลิศ  ประมุขมิสซังนานกิง”  
 
วันที่  19  พฤศจิกายน  ค.ศ. 1673/พ.ศ. 2216  พระสังฆราชปัลลือ  พระสังฆราชลังแบรต์  คุณพ่อลาโน  คุณพ่อกูร์โตแลง  ได้ลงเรือที่มีฝีกพายจำนวน  26  คน ออกจากกรุงศรีอยุธยาและเดินทางมาถึงลพบุรีในวันรุ่งขึ้นเวลาหนึ่งทุ่ม  วันรุ่งขึ้นมีคนไปแจ้งแก่เสนาบดีผู้ใหญ่ว่าพระสังฆราชและคณะมาถึงแล้ว  เสนาบดีท่านนี้ได้ทำหน้าที่เตรียมที่พักสำหรับมิชชันนารีในเมืองลพบุรีใกล้พระราชวัง  มิชชันนารีได้เข้าพำนักที่บ้านพักวันที่  22  พฤศจิกายน  แต่เช้าตรู่  เมื่อมาถึงบ้านพักได้เพียงครู่เดียว  มีเจ้าหน้าที่จากสำนักพระราชวังนำช้างสองเชือกที่พระเจ้าอยู่หัวทรงส่งมาเพื่อรับมิชชันนารีไปในสถานที่ที่พระองค์กำลังทรงล่าสัตว์อยู่  พระสังฆราชปัลลือและพระสังฆราชลังแบร์ตได้ขึ้นไปนั่งในกูบบนหลังช้างเชือกเดียวกัน  ส่วนคุณพ่อลาโนขึ้นช้างอีกเชือกหนึ่งพร้อมทั้งเสื้อพระสงฆ์และเสื้อคลุมยาว  เขาได้นำพระสังฆราชและคุณพ่อลาโนไปจนถึงทางเข้าเพนียดคล้องช้าง  พระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่บนตั่งในแนวเดียวกับเพนียดคล้องช้าง  ทอดพระเนตรการปราบช้างเชื่อกหนึ่งที่เพิ่งมาใหม่เมื่อวาน  วันนั้นพระองค์ทรงมงกุฏประดับเพชรแพรวพราย  หลังจากทอดพระเนตรการปราบช้างเสร็จแล้ว  พระองค์ประทับบนหลังช้างดำเชือกหนึ่งที่ประดับตกแต่งอย่างวิจิตรงดงาม  มีข้าราชบริพารหมอบกราบอยู่กับพื้น  เสนาบดีและขุนนางชาวเปอร์เซียอยู่บนหลังช้างคนละเชือก  ไม่มีกูบและอยู่ในท่าหมอบกราบ  ทหารถือธงชัยและสัญลักษณ์อื่นๆ   ที่บ่งบอกว่าพระจ้าอยู่หัวกำลังเสด็จพระราชดำเนิน  ท้ายขบวนติดตามด้วยช้างและม้าจำนวนมาก
 

สมเด็จพระนารายณ์ทรงช้างพระที่นั่ง
 

การแสดงการต่อสู้ระหว่างเสือกับช้าง กีฬาที่แสดงให้ทูตฝรั่งเศสชม
 
เมื่อเห็นคณะพระสังฆราชมาถึง  เสนาบดีคนหนึ่งได้นำเข้าไปกราบทูลพระเจ้าอยู่หัว  พระสังฆราชโค้งคำนับสามครั้ง  พระเจ้าอยู่หัวทรงต้อนรับอย่างไม่ถือพระองค์  ทรงให้เข้าใกล้จนกระทั่งงวงช้างที่พวกท่านนั่งอยู่สัมผัสพระวรกายของพระองค์  นำความประหลาดใจมาสู่ทุกคนที่นั่น  เพราะยังไม่เคยมีชนชาติไหนได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดเช่นนี้มาก่อน
 
พระองค์มีพระราชปฏิสันถารกับมิชชันนารีนานถึง  3  ชั่วโมง  ทรงไตร่ถามถึงพระพลานามัยของพระเจ้าหลุยส์ที่  14  รายละเอียดเกี่ยวกับราชสำนักของพระองค์  จำนวนพระบรมวงศานุวงศ์  กองทหาร  และเมืองที่พระเจ้าหลุยส์ทรงไปตีมาได้
 
จากนั้นพระองค์รับสั่งถามพระสังฆราชว่า  เหตุใดจึงเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาด้วยความยากลำบาก  และเหตุใดพระเจ้าหลุยส์จึงส่งพวกท่านมาไกลถึงที่นี่  พระสังฆราชตอบว่ามีเพียงสิ่งเดียวที่นำมาพวกท่านมาที่นี่คือ การช่วยวิญญาณให้รอด  และพระเจ้าหลุยส์มีพระราชประสงค์จะเผยแพร่พระอาณาจักรของพระเป็นเจ้าออกไป คำตอบของพระสังฆราชเป็นที่พอพระราชหฤทัยพระองค์มีพระราชประสงค์จะสร้างเมืองหนึ่ง  และถวายนามว่าหลุยส์มหาราช  การสนทนานี้มีคุณพ่อลาโนทำหน้าที่เป็นล่าม
 
จากนั้นพระองค์รับสั่งถามเกี่ยวกับสมเด็จพระสันตะปาปา  เชื้อชาติของพระองค์  รัฐที่พระองค์ทรงปกครอง  เมื่อพระเจ้าอยู่หัวตรัสถามถึงเรื่องราวของสมเด็จพระสันตะปาปา  บรรดาพระสังฆราชได้ฉวยโอกาสเล่าเรื่องการกลับใจของจักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช  การรับศีลล้างบาปของจักรพรรดิ  และพระอุปถัมภ์ที่พระจักรพรรดิและผู้สืบตำแหน่งของพระองค์ทรงมีต่อพระศาสนจักรคาทอลิก
 
ต่อมาวันที่ 27 พฤศจิกายน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงส่งกระจาดทองใบใหญ่บรรจุผลไม้และผลไม้กวนจากญี่ปุ่น  สยาม และจีน  และกว่างป่าอีก  2  ตัว  มาพระราราชทานแก่บรรดาพระสังฆราช
 
ไม่กี่วันต่อมาพระองค์ทรงส่งช้าง 3  เชือก มารับพระสังฆราชและมีรับสั่งให้เข้าเฝ้า การเข้าเฝ้าครั้งนี้นานหนึ่งชั่วโมงครึ่ง  พระองค์ตรัสถามเรื่องต่างๆ ที่พระองค์สนพระราชหฤทัย  คุณพ่อลาโน ทำหน้าที่ตอบคำถามได้อย่างดี  การเข้าเฝ้าที่พระราชท่านแก่มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสนำความประหลาดใจมาสู่บรรดาขุนนางอย่างมาก  และนำความไม่พอใจมาสู่ชาวฮอลันดาที่อิจฉามิชชันนารีชาวฝรั่งเศส
 
หลังจากการเข้าเฝ้าครั้งนี้แล้ว  บรรดาพระสังฆราชอยากกลับไปกรุงศรีอยุธยา  ดังนั้น เย็นวันที่  1  ธันวาคม  พวกท่านจึงไปอำลาเสนาบดีและขุนนางผู้ใหญ่  และออกเดินทางวันรุ่งขึ้นตั้งแต่เช้าตรู่ ส่วนคุณพ่อลาโนยังคงอยู่ที่ลพบุรีต่อไป