-
Category: ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฝรั่งเศสและประเทศสยาม
-
Published on Friday, 26 October 2018 03:39
-
Written by หอจดหมายเหตุ
-
Hits: 2497
ข้อมูลจากหนังสือ พระสังฆราชหลุยส์ ลาโน
พระสังฆราชผู้ยิ่งใหญ่ ชาวคริสต์ ผู้มีชัยและเป็นผู้ตื่นรู้ในธรรม
ซิสเตอร์ซีมอนนา สมศรี บุญอรุณรักษา เขียน
หลังจากได้พระราชทานวโรกาสให้มิชชันนารีฝรั่งเศสเข้าเฝ้า ค.ศ. 1673/พ.ศ. 2216 สมเด็จพระนารายณ์ทรงตั้งพระทัยจะส่งทูตไปยุโรป พระสังฆราชลังแบร์ตเขียนจดหมายไปถึงผู้บริหารคณะมิสซังต่างประเทศว่า “ยังคงมีแผนการจะส่งทูตมายุโรป พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้ข้าพเจ้าเดินทางมากับคณะทูตด้วย แต่ข้าพเจ้าพยายามสุดความสามารถที่จะปฏิเสธ”
ท่านลังแบร์ตเขียนไปถึงพระคุณเจ้าฟรังซัวส์ ฮาร์เลย์ เดอ ซ็องวาลลอง พระอัครสังฆราชแห่งกรุงปารีส เช่นเดียวกันว่า “พระเจ้ากรุงสยามมีพระราชประสงค์จะส่งคณะทูตเพื่อนำพระราชสาส์นตอบพระเจ้าอยู่หัว (พระเจ้าหลุยส์) ที่ทรงมีไปถึงพระองค์เกี่ยวกับพระเมตตาที่ทรงมีต่อพวกเรา พระองค์มีพระราชประสงค์จะเชื่อสัมพันธไมตรี และทรงปรารถนาจะยกท่าเรือแห่งหนึ่งในราชอาณาจักรของพระองค์ให้ชาวฝรั่งเศสสร้างสถานีการค้า เราหวังว่าความคิดเห็นที่เราได้กราบทูลเสนอต่อพระเจ้าอยู่หัว และเมอซิเออร์กอลแบรต์ มาถึงประเทศฝรั่งเศสแล้ว แต่ถ้ายังมาไม่ถึง ขอพระคุณเจ้าช่วยกราบทูลและแจ้งแก่ท่านรัฐมนตรีให้ด้วย”
พระสังฆราชลาโน ได้เขียนไปถึงคุณพ่อเจ้าอาวาสที่วัดนักบุญยาก๊อบ เดอ บูเชอรี ว่า “พระเจ้ากรุงสยามยังคงมีพระดำรจะส่งคณะทูตไปยังราชสำนักฝรั่งเศส และกรุงโรมอยู่เสมอ ของกำนัลได้เตรียมพร้อมแล้ว ถ้าไม่มีสงครามกับชาวฮอลันดา พระองค์คงจะทรงส่งคณะทูตไปแล้ว พระองค์มีพระราชประสงค์ให้พระสังฆราชฝรั่งเศสองค์หนึ่งเดินทางไปกับคณะทูตด้วย”
ในจดหมายฉบับนี้ ท่านกล่าวว่า “…. พระเจ้าอยู่หัวพระองค์นี้ทรงให้ความรักใคร่อย่างหาที่เปรียบมิได้ พระองค์มีพระมหากรุณาธิคุณต่อคริสต์ศาสนาเป็นอย่างมาก มีพระบรมราชานุญาตให้เราปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างเปิดเผย เช่นเดียวกับพระมหากษัตริย์ที่นับถือศาสนาคริสต์จะทรงอนุญาตพระองค์ทรงสร้างวัดพระราชทานให้เรา และพระราชทานสิ่งที่จำเป็นให้การดำรงชีวิต ถ้าเราเข้าไปกราบทูลขอเมื่อมีความจำเป็น”
พระสังฆราชลาโน ไม่ประสงค์จะเดินทางไปกับคณะทูตด้วยเช่นกัน พระคุณเจ้าให้เหตุผลว่า “ขอพูดเพียงคำเดียว คือ พระองค์ทรงแสดงต่อพวกเราเหมือนพ่อ เป็นการยากที่จะปฏิเสธคำขอร้องของพระองค์เรื่องการเดินทางไปกับคณะทูต แต่อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าจะพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิ์ เพื่อว่าจะไม่ใช่ข้าพเจ้า”
ต้นเดือนกันยายน ค.ศ. 1678/พ.ศ. 2221 สมเด็จพระนารายณ์ทรงเรียกประชุมบรรดาเสนาบดีผู้ใหญ่ และรับสั่งให้เลือกทูตที่จะเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส พวกเขาได้เลือกขุนนางสองคนและได้กราบทูลพระองค์ พระองค์กริ้วเพราะขุนนางที่พวกเขาเลือกนั้นไม่เหมาะสม และรับสั่งให้เลือกใหม่อีกครั้ง
แม้จะมีการเลือกคณะทูตแล้วก็ตาม แต่พวกเขายังไม่สามารถออกเดินทางไปได้ เพราะขณะนั้นกำลังมีสงครามในยุโรป จำเป็นต้องรอจนถึงปลาย ค.ศ. 1680/พ.ศ. 2223 หลังจากได้มีการลงนามในสนธิสัญญาที่เมืองไนเมเคิน ประเทศฮอลแลนด์ (เนเธอร์แลนด์) ที่จริงสนธิสัญญายุติสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับฮอลแลนด์นี้ได้ลงนามตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม ค.ศ. 1678/พ.ศ. 2221 แม้ว่าสงครามจะสงบแล้ว แต่ยังมีอีกเรื่องหนึ่งที่ถ่วงเวลาการส่งคณะทูตไปยุโรป นั่นคือ ราชสำนักสยามขาดกับปตันเรือที่จะพาคณะทูตไปจนถึงประเทศฝรั่งเศส แม้ว่าทางราชสำนักประสงค์ของสมเด็จพระนารายณ์แล้วก็ตาม
ในที่สุดวันที่ 3 กันยายน ค.ศ.1680/พ.ศ.2223 บริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสได้ส่งเรือ เลอ โวตูร์ เข้ามาถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา แต่เจ้าเมืองบางกอก (กรุงเทพฯ) ในขณะนั้น เป็นชาวเปอร์เซีย กลับไม่ยอมให้เรือฝรั่งเศสลำนี้แล่นผ่าน เขายอมให้เฉพาะเรือของชาวฮอลันดาเท่านั้นที่สามารถผ่านไปได้
หลังจากได้ทราบเรื่องการต่อต้านของเจ้าเมืองบางกอก นายบาร็องได้เขียนจดหมายในนามของบริษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศส กราบทูลสมเด็จพระนารายณ์ และเลือกนายบูโร-เดสลังดส์ นำจดหมายมาที่ประเทศสยาม พระสังฆราชลาโน ทำหน้าที่เป็นผู้ไกล่เกลี่ยทุกเรื่อง พระคุณเจ้าเชื่อว่าจะได้รับอภิสิทธิ์ในการนำนายบูโร-เดสรังดส์ เข้าเฝ้าเป็นกรณีพิเศษ แม้ว่าจะขัดต่อกฎหมายและขนบธรรมเนียมประเพณีก็ตาม พระคุณเจ้าให้เหตุผลว่านายบูโร-เดสรังดส์ ประสงค์จะเข้าเฝ้าถวายจดหมายและของขวัญด้วยตัวเอง
แต่ท่านต้องรอคำตอบนานถึง 20 วัน เพราะเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ หรือฟอลคอน ไม่ได้กราบทูลพระเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับข้อเสนอของพระคุณเจ้า ประจวบกับสมเด็จพระนารายณ์กำลังเตรียมแปรพระราชฐานไปที่ลพบุรี แต่ในที่สุดวันที่กำหนดให้เข้าเฝ้าก็มาถึง ขุนนางผู้ใหญ่ 3 คน ได้นำเรือหลวงพร้อมด้วยเรือสำหรับผู้ติดตามมารับนายบูโร-เดสรังดส์ ถึงสำนักพระสังฆราชเขาได้นำนาย บูโร-เดสรังดส์ นายกอร์นือแอลผู้ติดตาม และทหารฝรั่งเศสพร้อมอาวุธจำนวน 20 นาย มายังห้องประชุมที่มีอัครมหาเสนาบดีและขุนนางเชื้อชาติต่างๆ เช่น จีน เปอร์เซีย สยาม โปรตุเกส โดยจัดให้นาย บูโร-เดสรังดส์ และนายกอร์นือแอล นั่งตรงกลางห้องประชุมตรงข้ามเจ้าพระยาวิชาเยนทร์ และวางจดหมายลงบนพานทอง จากนั้นได้อ่านและแปลโดยมิชชันนารีองค์หนึ่งที่จัดให้นั่งคนเดียวในที่ของพระราชาคณะในพระพุทธศาสนา การประชุมนานประมาณหนึ่งชั่วโมงมีการซักถามเกี่ยวกับราชสำนักฝรั่งเศส และความกว้างใหญ่ของทวีปยุโรป
หลังจากการเข้าเฝ้าสิ้นสุดลง เจ้าพระยาวิชาเยนทร์ได้นำจดหมาย คำแปล และของกำนัลไปถวายสมเด็จพระนารายณ์ นายบูโร-เดสรังดส์ ได้บรรยายพระลักษณะของสมเด็จพระนารายณ์ไว้ว่า “พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระวรกายปานกลาง พระฉวี (ผิว) ไม่ขาวไม่ดำ พระชนมายุประมาณ 40 พรรษา พระพักตร์กว้างและแย้มพระโอษฐ์ พระนลาฎ (หน้าผาก) กว้าง ไม่มีพระทาฐิกะ (เครา) พระนาสิก (จมูก) แบนและเชิด และจะขยับเล็กน้อยเวลารับสั่ง พระโอษฐ์ (ปาก) ค่อนข้างใหญ่ ฉลองพระองค์ด้วยแพรต่วนสีแดงที่มาจากประเทศเปอร์เซีย ปักลายดอกไม้เล็กๆ สีทอง มีลักษณะเป็นเสื้อชั้นนอก แขนเหมือนเสื้อบาทหลวงที่ไม่มีกระดุม ฉลองพระองค์ชั้นนอกลักษณะผ้าเป็นแบบเดียวกัน แต่เป้นผ้าที่มาจากเบงกอล บางและโปร่ง ติดลูกไม้ที่ตะเข็บ ด้ามกริชของพระองค์ด้านหนึ่งเป็นทองและด้านซ้ายฝังพลอยสีต่างๆ มีดาบที่มาจากญี่ปุ่นประดับประดาอย่างงดงามวางอยู่บนพระเพลา (ตัก) ที่นิ้วพระหัตถ์ทั้งหมดสวมพระธำมรงค์ประดับด้วยเพชรนิลจินดาทุกสีและเม็ดใหญ่มาก”
ของกำนัลที่นายนายบูโร-เดสรังดส์ นำมาถวาย มีโคมระย้าหนึ่งอัน เชิงเทียนที่มีหลายกิ่งทำด้วยคริสตัลทั้งหมด ของทั้งหมดนี้ได้นำไปไว้ใช้ที่พระราชวังลพบุรี
สมเด็จพระนารายณ์พอพระทัย และแสดงพระมหากรุณาธิคุณให้นายบูโร-เดสรังดส์ เข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์อีกครั้งหนึ่งตามคำกราบทูลของพระสังฆราชลาโน เมื่อถึงวันที่กำหนด พระองค์เสด็จออกจากพระราชวังพร้อมด้วยทหารติดตามมากกว่า 600 นาย เสด็จมายังลานกว้างที่นายบูโร-เดสรังดส์ และนายกอร์นือแอล เฝ้ารอรับเสด็จ ทั้งสองนั่งอยู่บนพรม หลังจากได้มีพระราชปฏิสันถารกับเขาเล็กน้อย ก่อนจะเสด็จกลับ พระองค์พระราชทานเสื้อชั้นในและเสื้อคลุมจากเปอร์เซียให้คนละชุด
เมื่อพระองค์เสด็จกลับมาถึงลพบุรีแล้ว ทรงเร่งให้เรียกตัวพระสังฆราชลาโน และมิชชันนารีองค์หนึ่งเข้าเฝ้าเพื่อจะทรงปรึกษาเรื่องคณะทูต และมีพระราชปฏิสันถารโดยตรงกับพระคุณเจ้าโดยไม่มีล่าม การสนทนานานถึงหนึ่งชั่วโมงสิบห้านาที พระองค์สนพระทัยในเรื่องต่างๆ เช่น คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิศาสตร์การปกครอง และอานุภาพของพระมหากษัตริย์แต่ละองค์ในทวีปยุโรป และเป็นพิเศษสำหรับประเทศฝรั่งเศส ในโอกาสนี้ทรงสนทนากับพระสังฆราชเกี่ยวกับหนังสือภาษาสยามที่ท่านได้เรียบเรียงสำหรับพระองค์ด้วย
สุดท้าย ทรงวกกลับมาที่เรื่องคณะทูตที่จะส่งไปประเทสฝรั่งเศส แม้ชาวเปอร์เซียจะพยายามหาทางขับไล่มิชชันนารีฝรั่งเศสออกจากประเทศสยาม แต่พระองค์กลับสนพระราชหฤทัยที่จะสร้างความสัมพันธ์กับประเทศนี้ ก่อนที่การเข้าเฝ้าจะสิ้นสุดลง คุณพ่อวาเชต์ เล่าว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งกับพระสังฆราชลาโนว่า “อย่าเพิ่งเข้าใจผิดว่าเราจะมองมาที่พระคุณเจ้า ถ้าทำได้เราจะแต่งตั้งพระคุณเจ้าเป็นหัวหน้าคณะทูตเลยทีเดียว ความคิดที่จะตั้งให้พระคุณเจ้าเป็นรองคนอื่นนั้นเราทำไม่ได้ ดังนั้น คนที่เราจะขอจากพระคุณเจ้าก็คือ คุณพ่อเกมคนสนิทของพระคุณเจ้า ขอพระคุณเจ้าอย่าได้ปฏิเสธการขอของเรา เพราะจะทำให้เราเสียใจ”
ที่พระองค์ตรัสเช่นนั้นก็เพราะคณะทูตที่ทรงแต่งตั้งล้วนเป็นขุนนางผู้ใหญ่ ถ้าพระคุณเจ้าลาโนต้องไปกับคณะทูต ท่านจะเป็นเพียงแค่ล่ามเท่านั้น คณะทูตชุดนี้ประกอบไปด้วย ออกพระพิพัฒน์ราชไมตรี ราชทูต ออกหลวงศรีวิศาลสุนทร อุปทูต ออกขุนนครวิชัย ตรีทูต ออกพระพิพัฒน์ราชไมตรีเป็นเสนาบดีผู้ใหญ่ที่มีอายุถึง 62 ปีแล้ว ท่านเป็นคนมีประสบการณ์ในด้านการทูตเพราะเคยเป็นทูตไปประเทศจีนมาแล้ว
พระราชสาส์นที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีไปถึงสมเด็จพระสันตะปาปาและพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ทรงมอบหมายให้พระสังฆราชลาโนเป็นผู้แปล จากนั้นได้นำพระราชสาส์นสำหรับพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 วางบนแผ่นทองที่มีความหนาเท่ากับความหนาของเหรียญ ผ่านทองนี้ยากหนึ่งฟุตกว่าๆ กว้างประมาณ 6 นิ้ว บรรจุลงในกล่องทองอีกทีหนึ่ง ส่วนพระราชสาส์นสำหรับสมเด็จพระสันตะปาปาได้วางบนแผ่นทองเช่นเดียวกัน แต่ใส่ในกล่องที่ทำด้วยไม้จันทน์ เพราะมีการปรึกษาหารือกันว่า สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเป็นนักพรต การจะใช้กล่องที่ทำด้วยทองใส่พระราชสาส์นนั้นเป็นการไม่เหมาะสม เมื่อตกลงกันไม่ได้จึงปรึกษากับพระสังฆราชลาโน พระคุณเจ้าได้อธิบายถึงสถานภาพของสมเด็จพระสันตะปาปา และให้บรรดาขุนนางตัดสินเองว่า จะใช้กล่องที่ทำด้วยทองคำหรือกล่องที่ทำด้วยไม้จันทน์ สำหรับของกำนัลที่จะนำไปถวายนั้น คุณพ่อเกมเป็นผู้เลือกส่วนมากเป็นเครื่องเงินที่มาจากประเทศญี่ปุ่นและจีน
วันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.1680/พ.ศ. 2223 ได้กำหนดให้เป็นวันปิดผนึกพระราชสาส์นและอัญเชิญไปยังเรือที่จะเดินทาง เจ้าพระยาอัครเสนาบดีได้ส่งคนไปแจ้งกับคุณพ่อเกมให้เดินทางไปที่วัดพระศรีสรรเพชรญ์ตอนเช้าเวลาเก้านาฬิกา เพื่อไปดูการปิดผนึกพระราชสาส์น มีพิธีอย่างเป็นทางการ มีขุนนางผู้ใหญ่มาร่วมในพิธีเป็นจำนวนมาก คณะทูตที่เป็นคนนำพระราชสาส์นก็อยู่ที่นั่นด้วย คุณพ่อเกมอยู่ข้างๆ เจ้าพระยาอัครเสนาบดี เมื่อดนตรีเริ่มบรรเลง เจ้าพระยาอัครเสนาบดี และขุนนางผู้ใหญ่ทุกคนถวายความเคารพต่อพระราชสาส์น 3 ครั้ง คุณพ่อเกมไม่เห็นว่ามีการปิดผนึกพระราชสาส์น จึงถามเหตุผลที่ไม่ปิดผนึก เจ้าพระยาอัครเสนาบดีตอบว่าไม่มีธรรมเนียมและถ้าจะปิดจริงก็ปิดไม่ได้ เพราะวัสดุที่ปิดจะไม่สามารถติดทองคำได้ คุณพ่อเกมแจ้งว่าถ้าพระราชสาส์นไม่ได้รับการปิดผนึก จะไม่ได้รับการเชื่อถือไปถึงประเทศฝรั่งเศส ดังนั้น ท่านจึงขอให้ม้วนพระราชสาส์นที่แปลแล้ว เพราะเขียนลงบนกระดาษ เขาได้ม้วนและวางไว้กับพระราชสาสน์ตัวจรัง พระราชสาส์นสำหรับพระเจ้าหลุยส์ถูกบรรจุลงในกล่องทองคำ ส่วนของสมเด็จพระสันตะปาปาบรรจุลงในกล่องไม้จันทน์หอม จากนั้นได้นำกล่องที่บรรจุพระราชสาส์นใส่ลงในกล่องที่ทำมาจากประเทศญี่ปุ่นสองใบ คลุมด้วยผ้าสักหลาดสีม่วงปักด้วยทองจากประเทศจีน สำหรับสมเด็จพระสันตะปาปา และสักหลาดสีแดงสำหรับพระเจ้าหลุยส์ เมื่อเสร็จพิธีแล้วได้แห่พระราชสาส์นไปยังเรือพระที่นั่ง
เจ้าพระยาอัครเสนาบดีเดินไปส่งพระราชสาส์นที่ท่าน้ำ และลงเรือประจำตำแหน่งของตนเอง เพื่อไปส่งพระราชสาส์นครึ่งทาง เรือของเสนาบดีคนอื่นๆ ไปส่งพระราชสาส์นถึงเรือกลไฟ พระสังฆราชลาโนเดินทางไปด้วย พระคุณเจ้าเดินทางมาถึงเรือกลไฟในวันรุ่งขึ้นเพื่อรอต้อนรับพระราชสาส์น เมื่อเสียงสลุตดังขึ้น เขาได้เอาหีบพระราชสาส์นวางลงบนพรมเปอร์เชียที่ปูอยู่บนตั่งมีพระมหาเศวตฉัตรกางอยู่ข้างบน เมื่อเรือพระราชสาส์นแล่นผ่านตั้งแต่พระราชวังไปจนถึงปากแม่น้ำ ขุนนางทุกคนหมอบกราบเหมือนพระเจ้าอยู่หัวเสด็จด้วยพระองค์เอง
ต่อไปนี้เป็นข้อความสรุปในพระราชสาส์น ที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีไปถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ 14
“พระราชสาส์นและทูตจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ยิ่งใหญ่จากราชอาณาจักรโยธยา ได้มีมาถึงฝ่าพระบาท พระมหากษัตริย์ผู้ในยานุภาพและเจ้าเหนือหัวของราชอาณาจักรฝรั่งเศสและนาวาร์ ผู้ทรงพระเกียรติยศสูงส่งดุจดังรัศมีของดวงสุริยะ พระองค์ผู้ทรงพิทักษ์กฎหมายอย่างครบถ้วนบริบูรณ์ เพราะเหตุที่ฝ่าพระบาทได้รักษากฎหมายและความยุติธรรม จึงทำให้ฝ่าพระบาทได้รับชัยชนะและแพร่พระอานุภาพเหนือชาติต่างๆ ในจักรวาล หลังจากที่ได้รับพระราชสาส์นที่พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ทรงส่งมาทางดอมฟรังซัวส์ (พระสังฆราชปัลลือ) ถึงราชอาณาจักรแห่งนี้และหลังจากที่ได้รับทราบจุดประสงค์จากทูตที่ทรงเกียรติท่านนี้แล้ว จิตใจของข้าพเจ้าเปี่ยมไปด้วยความปีติยินดี และพยายามเอาใจใส่ที่จะรักษาสัมพันธภาพนี้เอาไว้ ด้วยพระมหากรุณาของพระองค์ที่ทรงส่งเรือมารับคณะทุต ข้าพเจ้าจึงได้ส่งทูตถือพระราชสาส์นและของกำนัลจากพวกเรามาถวาย ข้าแต่พระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ การทำเช่นนี้จะเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีและมิตรภาพที่สมบูรณื เพื่อว่ามิตรภาพนี้จะได้เข้มแข็งและถาวรสืบไปในอนาคต ข้าแต่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงอานุภาพ หากพระองค์มีพระราชประสงค์สิ่งใดในราชอาณาจักรของเรา ขอโปรดจงรับสั่งกับคณะทูตของเราเถิด
และเมื่อคณะทูตชุดนี้ได้ทำภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว ขอพระองค์โปรดอนุญาตให้พวกเขากลับมาเพื่อเราจะได้ทราบข่าวดีจากพระองค์ และขอพระองค์ได้ส่งคณะทูตของพระองค์ไปที่ประเทศของเรา เพื่อว่าคณะทูตของเราจะได้ไปมาหาสู่กันไม่ขาด ขอให้มิตรภาพนี้จงเข้มแข็งและถาวรสืบตลอดไป ข้าพเจ้าขอวิงวอนพระอานุภาพของพระเป็นเจ้า โปรดพิทักษ์รักษาพระองค์ในสิ่งที่ดีงามทุกประการ และขอพระองค์เพิ่มพูนพระพรวันละวันในการปกครองราชอาณาจักรฝรั่งเศสและนาวาร์ให้ผาสุก ขอพระองค์โปรดให้ทรงชนะอริราชศัตรู เพื่อขยายราชอาณาจักรให้กว้างใหญ่ยิ่งขึ้น ขอพระองค์โปรดประทานอายุที่ยืนยาวและความมั่งคั่งทุกประการ”
และต่อไปนี้เป็นพระราชสาส์นที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงเขียนถึงสมเด็จพระสันตะปาปาอินโนเซนต์ที่ 11
“พระราชสาส์นและทูตจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ยิ่งใหญ่จากประเทศสยาม ถึงสมเด็จพระสันตะปาปา พระบิดาของบรรดาคริสตชนทั้งหลาย ผู้พิทักษ์พระศาสนาให้แพร่ขยายไปและผู้ปกครองเพื่อชาวคริสต์ทุกคนจะได้ยึดมั่น ปฏิบัติตาม และมีความเที่ยงตรงในพระศาสนา บรรดากษัตริย์และเจ้าชายผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงเปี่ยมไปด้วยคุณความดี พละกำลัง ไมตรีจิต และรอบรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้นจากทั่วทุกมุมโลก ได้พากันมาเข้าเฝ้าพระองค์อยู่เสมอ เมื่อพระบิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้ทรงส่งดอมฟรังซัวส์ พระสังฆราช เป็นทูตเข้ามา จิตใจของข้าพเจ้าเปี่ยมด้วยความปีติยินดี หลังจากได้รับทราบข้อความในพระราชสาส์นที่ทรงส่งมากับพระคุณเจ้าผู้นอบน้อม ข้าพเจ้าจึงได้ส่งทูตถือพระราชสาส์นและของกำนัลจากพวกเรามาถวาย การทำเช่นนี้จะเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีความรักและความเป็นหนึ่งเดียวกันจนตลอดไป
และเมื่อคณะทูตชุดนี้ได้ทำภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว ขอพระองค์โปรดอนุญาตให้พวกเขากลับมา เพื่อข้าพเจ้าจะได้ทราบข่าวของพระบิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ ข่าวที่มีค่าและที่ข้าพเจ้าหวังอย่างมาก ขอพระองค์ได้ส่งคณะทูตของพระองค์ไปที่ประเทศของเรา เพื่อว่าคณะทูตของเราจะได้ไปมาหาสู่กันโดยไม่ขาด เพื่อมิตรภาพจะได้เข้มแข็งและน่าศรัทธานี้จะได้ดำรงชั่วนิรันดร์ ที่สุดข้าพเจ้าขอให้พระบิดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ จงเปี่ยมไปด้วยความสุขทุกประการ มีความชื่นชมในบทบัญญัติของคริสตชน ขอให้พระองค์ทรงมี พระชนม์ชีพยืนยาวนานในความดี ความศักดิ์สิทธิ์ ความชื่นชมยินดี และความสงบสุข”
หลังจากคณะทูตออกเดินทางไปแล้ว พระสังฆราชลาโน ได้เขียนจดหมายไปหาพระอัครสังฆราชแห่งกรุงปารีสว่า พระคุณเจ้าได้รับจดหมายยืนยันจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ว่า พระองค์ทรงมีความยินดีที่จะได้ต้อนรับคณะทูตของพระเจ้ากรุงสยาม ในจดหมายฉบับนี้ท่านลาโนบอกกับพระคุณเจ้าฟรังซัวส์ ฮาร์เลย์ เดอ ช็องวาลลอง พระอัครสังฆราชแห่งกรุงปารีสว่า ประเทศสยามเป็นประเทศเดียวที่ชาวตะวันออกอพยพมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นประเทศที่มีเสรีภาพมากที่สุด ท่านลาโนยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่าถ้าพระสังฆราชลังแบรต์ยังมีชีวิตอยู่ ไม่ท่านก็ท่านลังแบร์ตคงจะต้องเดินทางมากับคณะทูต แต่นี่เพราะเหลือท่านเพียงคนเดียว จึงไม่อาจทิ้งบรรดามิชชันนารีไปได้
วันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ.1680/พ.ศ. 2223 คุณพ่อเกมผู้ทำหน้าที่ล่ามของคณะทูตชุดนี้ ได้เขียนจดหมายไปถึงผู้บริหารบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ ให้กราบทูลพระเจ้าหลุยส์และแจ้งทางราชสำนักฝรั่งเศสว่า ไม่ต้องตกใจเพราะทูตที่จะมาไม่ใช่คนที่ชอบงานเลี้ยงสังสรรค์และเพื่อเป็นการช่วยเหลือค่าใช้จ่ายของคณะทูตชุดนี้ พระสังฆราชลาโนได้ช่วยออกให้ส่วนหนึ่งซึ่งพวกเขาสามารถรับได้เมื่อเดินทางไปถึงประเทศฝรั่งเศส ในจดหมายฉบับเดียวกันคุณพ่อเกมได้ขอให้ผู้บริหารคณะถามไปยังราชสำนักว่า พระเจ้าหลุยส์ทรงสามารถจัดหาเรือการ์แลร์ไปส่งคณะทูตที่กรุงโรมได้หรือไม่ คุณพ่อลงท้ายจดหมายว่า “ข่าวเกี่ยวกับคณะทูตชุดนี้จะแพร่กระจายไปทั่วโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคนี้ เพราะที่นี่เป็นศูนย์กลางการค้าในหมู่เกาะอินเดีย เปอร์เซีย ญี่ปุ่น จีน และยุโรป เรื่องนี้จะต้องลงในการแซท์ (หนังสือพิมพ์ที่ประเทศฝรั่งเศส) อย่างแน่นอน”
คณะทูตเดินทางออกจากประเทศสยามหนึ่งวันก่อนวันคริสต์มาส (24 ธันวาคม) ค.ศ. 1680/พ.ศ. 2223 เมื่อเดินทางมาถึงเมืองบันตัม คุณพ่อเกมได้เขียนจดหมายถึงผู้บริหารบ้านเณรคณะมิสซังต่างประเทศ เพื่อล่าเกี่ยวกับการเดินทาง จดหมายฉบับนี้ลงวันที่ 18 มกราคม ค.ศ.1681/พ.ศ. 2224 คุณพ่อได้บอกว่าจะต้องรอเรือ “โซแลย์ เดอ ลอรีอัง” (Soliel de l’Orient = พระอาทิตย์แห่งตะวันออก) ที่จะมาจากเมืองสุรัต เพื่อเดินทางต่อไปยังหมู่เกาะมากาแรนเยอส์ ปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ.1681/พ.ศ.2224 จดหมายฉบับนี้เป็นฉบับสุดท้ายที่ได้รับจากคุณพ่อเกม
จากนั้นไม่มีข่าวเกี่ยวกับคณะทูตชุดนี้อีกเลย จนกระทั่งวันที่ 13 กันยายน ค.ศ.1683/พ.ศ.2226 พระสังฆราชปัลลือและพระสังฆราชลาโนได้รับจดหมายจากกรุงปารีสที่เขียนในเดือนมกราคม ค.ศ.1683/พ.ศ.2226 จดหมายฉบับนี้ส่งมาทางเรืออังกฤษที่เดินทางตรงจากกรุงลอนดอนมายังประเทศสยาม แจ้งว่าเรือ “โซแลย์ เดอ ลอรีอัง” ที่คณะทูตสยามโดยสารยังไปไม่ถึงประเทศฝรั่งเศสที่จริงเรือ “โซแลย์ เดอ ลอรีอัง” ถูกพายุที่ชายฝั่งตะวันออกของเกาะมาดากัสกาและอับปางลงใน ค.ศ.1682/พ.ศ.2225
หลังจากได้ทรงรับทราบข่าวนี้ สมเด็จพระนารายณ์มีรับสั่งให้อัครเสนาบดีเขียนจดหมายไปหาเมอซิเออกอลแบรต์ และเมอซิเออเดอ ครัวซี และได้ส่งขุนนาง 2 คน พร้อมกับคุณพ่อวาเชต์ และคุณพ่อปัสโกเพื่อนำของขวัญไปยังประเทศฝรั่งเศส ขุนนางที่ส่งไปชุดนี้ไม่ถือเป็นคณะทูตแต่เป็นเพียงผู้เบิกทางให้คณะทูตชุดที่ 2